Philip Jablon ชายผู้ถ่ายภาพโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายหมื่นภาพ

หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ a day with a view นิตยสาร  a day 186 กุมภาพันธ์ 2559

 

เทคโนโลยีและความก้าวหน้าของโลกที่อยู่อาศัยทำให้เราพบกัน

หากไม่มีเฟซบุ๊กก็ไม่แน่ใจว่าชีวิตนี้ โลกจะหมุนวนให้คนอย่างผมมาเจอชายชาวอเมริกันผู้นี้ได้อย่างไร

ผมรู้จัก ฟิลิป แจบลอน (Philip Jablon) จากเพจของเขา ‘The Southeast Asia Movie Theater Project’ ภาพถ่ายโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลน (stand alone) เก่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เขาทยอยโพสต์ต่อเนื่อง พร้อมข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านด้วยตัวเองบอกผมว่า เขาหลงใหลโรงภาพยนตร์แค่ไหน

นับจากวันแรกเมื่อ 6 ปีก่อนจนถึงวันนี้ ฟิลิปตระเวนถ่ายโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนมาแล้วเกือบ 300 แห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีไฟล์ภาพโรงภาพยนตร์หลายหมื่นภาพ

ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาเขาเพิ่งจัดนิทรรศการภาพถ่ายโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนเก่าในประเทศไทยที่ H Gallery ต่อด้วยอีกหนึ่งนิทรรศการที่เป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Edge Festival ที่เขาตั้งใจจัดวางรูปโรงภาพยนตร์ในประเทศพม่าจำนวนมากเป็นฉากหลังของโรงภาพยนตร์สกาล่า เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงปริมาณโรงภาพยนตร์ในไทยที่เหลือน้อยจนน่าเป็นห่วง

ยอมรับว่าทุกครั้งที่ผมกดไลก์ภาพของเขาเพื่อแสดงออกถึงความชื่นชอบและชื่นชม ผมมักสงสัยว่าอะไรทำให้ชายสัญชาติอเมริกันรอบรู้เรื่องโรงภาพยนตร์เก่าในดินแดนห่างไกลบ้านเกิดขนาดนี้

เมื่อไม่มีคำตอบในโลกเสมือน ผมจึงนัดพบเขาในโลกจริง โดยให้เขาเป็นผู้เลือกสถานที่ในการพบเจอ

เดาได้ไม่ยากใช่ไหมว่าฟิลิปจะนัดผมที่ไหน

 

1

“คุยกันตรงนี้ดีกว่านะ ได้บรรยากาศ”

ฟิลิปบอกผมด้วยภาษาไทยเมื่อเราพบหน้ากันครั้งแรกในโลกจริง

‘ตรงนี้’ ที่เขาว่าคือ โรงภาพยนตร์สกาลา สถานที่ที่เขาเป็นคนเลือกเมื่อผมติดต่อขอนัดพบเจอไปในกล่องข้อความ

“สกาลาเป็นโรงหนังพิเศษนะ หรูหรามาก มีสถาปัตยกรรม มีรายละเอียดเยอะ” เขาว่าอย่างนั้นเมื่อเรานั่งลงที่โถงใหญ่ใจกลางโรงภาพยนตร์ที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน ภาษาไทยของฟิลิปแข็งแรงระดับสื่อสารได้ดีมาก

“ถ้าพูดถึงความสวยงาม สกาลายังเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แน่นอน มันใหญ่ สภาพดี สถาปัตยกรรมสวยงาม น่าชื่นชม ทุกคนที่มาที่นี่ก็คงคิดเหมือนกัน ไม่เคยได้ยินคนบอกว่าไม่ชอบ ทุกคนรักสกาลา ชาวต่างชาติทุกคนที่ผมพามาเขาร้องว้าว แล้วบอกว่าสวยมาก ชอบมาก มีคนอเมริกันเจอที่นี่แล้วเขาบอกผมว่านี่เป็นสถานที่ที่เขาชอบมากที่สุดในกรุงเทพฯ”

สิ้นประโยคของเขา ผมกวาดสายตามองโรงภาพยนตร์ที่ชายชาวอเมริกันยกย่องตรงหน้า

ไม่มีความเคลือบแคลงใดๆ สำหรับความงดงามของสถานที่แห่งนี้ รายละเอียดสถาปัตยกรรมตรงหน้านั้นน่าทึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏชัดเช่นกัน แกล้งทำเป็นมองข้ามไม่ได้ คือร่องรอยความเก่าและทรุดโทรมอันเป็นผลกระทบจากกาลเวลา ยังไม่นับเทคโนโลยีทั้งภาพและเสียงที่ตามหลังโรงภาพยนตร์ทันสมัยอยู่กว่าช่วงตัว

และก็เป็นเขาเองที่บอกว่า สิ่งเก่าเหล่านี้จะล้มหายตายจากไปในโลกยุคใหม่ หากไม่มีใครเฉลียวใจหันมอง

“ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยนะ สถานการณ์เดียวกันทุกที่ เทคโนโลยีเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป ของเก่าได้รับผลกระทบ ถ้าไม่ปรับมันจะตายแน่นอน เป็นธรรมชาติ ทุกคนมีโทรทัศน์ในบ้าน มีโทรศัพท์มือถือ ไม่ต้องไปโรงหนังดูหนัง แล้วอีกด้านหนึ่งคือหลายๆ คนมีรถยนต์ แล้วหลายคนออกจากบ้านไปดูหนังด้วยรถ เขาขับรถเอง ต้องมีที่จอดรถ ซึ่งโรงหนังเก่าไม่มีที่จอดรถ คนจึงเลิกไปดูหนังในโรงหนังเก่า มันเลยตาย

“น่าเสียดายนะ มันเป็นสิ่งที่ฉายภาพให้เราเห็นบางสิ่งบางอย่างในอดีต” ฟิลิปย้ำที่ประโยคท้ายโดยมีภาพตรงหน้ายืนยัน

บรรยากาศตรงหน้าไม่ถึงกับเงียบเหงา แต่ก็ไม่เข้าใกล้คำว่าครึกครื้น ชายสูทเหลืองเคยทำหน้าที่อย่างไรหลายสิบปีที่ผ่านมา บ่ายวันนี้ก็ยังทำหน้าที่เช่นนั้น เป็นอย่างที่เขาว่า หลายสิ่งหลายอย่างของสกาลานั้นชวนให้เรารำลึกถึงอดีต

“แล้วคุณรู้อะไรไหม” ฟิลิปเปิดประโยคจนผมต้องเงี่ยหูตั้งใจฟัง

“ถ้าวันหนึ่งสกาลาถูกทุบทิ้ง พม่าจะมีโรงหนังสแตนด์อโลนที่สวยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

 

2

ที่ที่เรานั่งคุยกันอยู่ห่างไกลจากบ้านเกิดของเขาเกินหมื่นกิโลเมตร

ฟิลิปเกิดที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในยุคที่บ้านเกิดของเขาอยู่ในช่วงตกต่ำ

“บ้านผมไม่ค่อยรวย เป็นชนชั้นกลาง แล้วเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนตอนที่ผมเป็นเด็ก ฟิลาเดลเฟียสภาพไม่ดี” ฟิลิปเล่าเมื่อผมย้อนถามถึงชีวิตในบ้านเกิด “เมื่อประมาณยุคศตวรรษที่ 19 ฟิลาเดลเฟียเป็นเมืองที่รวยมาก เพราะเป็นจุดศูนย์กลางของอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกา เราผลิตทุกอย่าง แล้วเมืองก็แข็งแรงมาก แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจของเมืองฟิลาเดลเฟียเริ่มแย่ลง เพราะว่าอุตสาหกรรมขยายไปนอกเมือง ไปประเทศอื่นๆ แล้วเศรษฐกิจของเมืองก็ทรุดลงเรื่อยๆ

“พอถึงยุคสมัยที่ผมเกิดมา ฟิลาเดลเฟียมีหลายอย่างที่ร้างหมด มีคนว่างงานเยอะ มีคนไร้บ้านเยอะ มีอาชญากรรมเยอะ มีคนที่รังแกเด็กเยอะ ถ้าเป็นเด็กที่เติบโตในบรรยากาศนั้นก็น่ากลัวนิดหน่อย ต้องเตรียมตัวตลอด วันนี้เดินไปอาจจะเจอคนต่อสู้กัน หรือเจอคนเข้ามาทำร้าย ผมเคยเห็นคนที่หาเรื่องกันโดยไม่มีเหตุผล ผมเติบโตในสถานการณ์แบบนี้ มันไม่ค่อยดีเท่าไหร่นะ คนยากจนมาก แต่มันน่าสนใจด้วย มันมีอิทธิผลกับผม”

ฟิลิปยอมรับว่ามีบางเวลาที่เขานึกเกลียดชังเมืองที่เติบโต แต่นั่นเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ เป็นอารมณ์แบบเด็กน้อยที่ยังมองสิ่งต่างๆ อย่างไม่แตกฉานรอบด้าน

“เมื่อผมเดินทางมาเอเชียแล้วกลับไปฟิลาเดลเฟียอีกครั้ง ผมเห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงยังไง อะไรดีขึ้น อะไรแย่ลง แล้วผมก็ตระหนักว่า เป็นความน่ายินดีที่ผมมีโอกาสเติบโตในช่วงนั้น ในช่วงที่ฟิลาเดลเฟียมีความยากจน มีปัญหาเยอะมาก ไม่มีใครอยากอยู่ แต่ผมยินดีว่ามีโอกาสอยู่ในช่วงนั้น”

การเติบโตในบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยคนว่างงาน คนไร้บ้าน และอาชญากรรม มีอะไรน่ายินดีด้วยหรือ-ผมถามเขาตรงไปตรงมา

“มันทำให้ผมมีส่วนร่วมกับคนหลายชนชั้นในประเทศ คนที่มีเบื้องหลังหลากหลายแต่ต้องอยู่ด้วยกัน มีส่วนร่วมกัน ทำงานด้วยกัน เดินทางด้วยกัน เดินบนถนนเดียวกัน กินข้าวในร้านอาหารเดียวกัน มันสอนให้เราชื่นชมทุกอย่าง ต้องชื่นชมความหลากหลาย เพราะทุกอย่างล้วนมีข้อดีข้อเสีย อย่างคนจนเขาก็ประกอบอาชีพที่ตัวเองมีความชำนาญ เขามีความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของเขา ส่วนคนรวยก็มีวิธีการใช้ชีวิต และประกอบอาชีพอีกแบบหนึ่ง ทุกคนต้องเอาตัวรอด และทุกคนมีวิธีการของตัวเอง ซึ่งมันดีนะ น่าชื่นชม

“ชีวิตมนุษย์มีหลายด้าน ถ้าเราได้มุมมองความคิดจากคนที่หลากหลาย มองให้เห็นข้อดีของแต่ละกลุ่มว่าเป็นยังไง แล้วข้อเสียของกลุ่มนั้นกลุ่มนี้คืออะไร ผมคิดว่าวิธีนี้จะช่วยให้เรามีจินตนาการแล้วสร้างชีวิตที่เราอยากใช้ได้”

จากเรื่องเล่านี้ทำให้ผมได้ยินคำว่า ‘ความหลากหลาย’ จากปากเขาเป็นครั้งแรก ก่อนที่หลังจากนั้นมันจะตามมาอีกนับครั้งไม่ถ้วน กระจายอยู่ในแต่ละหัวข้อคล้ายว่ามันคือสิ่งที่เขาเชื่อมั่น ยึดถือ หรือจะใช้คำที่ใหญ่กว่านั้นอย่าง ‘ศรัทธา’ ก็ไม่น่าผิด

“ความหลากหลายทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตมนุษย์น่าสนใจ” ฟิลิปย้ำอย่างนี้กับคนต่างเชื้อชาติอย่างผม

 

3

หากคนว่างงาน คนไร้บ้าน และอาชญากรรมในฟิลาเดลเฟีย คือความทรงจำด้านมืดในวัยเด็กของฟิลิป โรงภาพยนตร์ก็คงเป็นความทรงจำในขั้วตรงข้าม เป็นด้านสว่างไสวที่คิดถึงทีไรก็มีรอยยิ้ม

ช่วงวัยเยาว์ ทุกๆ สัปดาห์หรือสองสัปดาห์ หากมีภาพยนตร์เข้าใหม่ พ่อจะเดินจูงมือฟิลิปไปชมที่โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนใจกลางเมือง

“ตอนเด็กๆ ผมมีโอกาสไปเที่ยวไม่มาก ไปแค่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา เม็กซิโก แต่ผมเริ่มดูภาพยนตร์จากเอเชียตอนอายุ 13 – 14 ปี แล้วผมประทับใจมาก โอ้ มันต่างจากชีวิตของผมมาก ไม่เคยรู้ว่าโลกมันกว้างแบบนี้ ผมอยากเข้าใจนะ อยากเข้าใจเอเชีย อยากเข้าใจวิถีชีวิตและปรัชญาชีวิตที่นั่น

“จำได้ว่าวันหนึ่งพ่อผมพาไปดูหนังเรื่อง Police Story 3: Super Cop หรือ วิ่งสู้ฟัด 3 เรื่องสนุกมาก ฉากก็ exotic มากในมุมมองของผม ตอนกลับบ้านผมเดินผ่านท้องถนนของฟิลาเดลเฟีย เห็นร้านขายของข้างทาง ผมรู้สึกว่ามันกระตุ้น ปลุกเร้าผมมากเลย เพราะความคิดจากในภาพยนตร์มันผสมกับชีวิตจริงที่ผมเจอ

“พ่อบอกผมว่า ‘ฟิลิป สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้คือคนที่เหมือนลูกกับพ่อ ที่เขาไม่มีโอกาสไปเที่ยว แต่เมื่อเราได้ดูหนัง มันก็เหมือนการได้ไปเที่ยวที่นั่น’ ตั้งแต่นั้นผมตั้งใจว่า ในอนาคตอยากจะเดินทางไปเอเชีย แต่ไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะต้องไปอยู่ที่เอเชีย”

เมื่อถึงวัยที่ต้องเข้าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย ฟิลิปเลือกเรียนครุศาสตร์ด้านพลศึกษา แต่เรียนได้ไม่นานหัวใจก็เรียกร้องให้เขาหันเหเปลี่ยนทิศทาง

“ตอนแรกอยากเป็นครูสอนพลศึกษา เพราะผมคิดว่าครูเป็นงานที่มีสวัสดิการ และไม่ยากเกินไป แต่พอเข้าเรียนแล้วรู้สึกเบื่อ เพื่อนร่วมชั้นเรียนก็น่าเบื่อมาก พวกเขาไม่มีจินตนาการเลย เรียนแบบเป็นขั้นตอน ใช้ชีวิตมองแต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า สายตาเขาไม่มองหนทางอื่น แต่เราอยากมีประสบการณ์หลากหลาย อยากทำหลายอย่าง

“ชีวิตต้องมีหลายรสชาติ โลกเราต้องมีคนหลายประเภทนะ ในสังคมต้องมีคนที่มีสายตาอย่างอื่นด้วย สังคมถึงจะแข็งแรง ความหลากหลายมันสำคัญมากในทุกด้านเลย

“สิ่งที่ผมไม่ชอบเลยในสหรัฐฯ คือบ้านจัดสรรนอกเมือง เพราะมันไม่มีความหลากหลาย ไม่รู้เขาจะคุยกับคนชนชั้นอื่นได้ยังไง มันทำให้คนในนั้นไม่มีส่วนร่วมกับสังคมอื่นๆ ในความเห็นของผมมันโคตรน่าเบื่อ ผมเข้าใจนะ คนที่อยากควบคุมทุกอย่างในชีวิต แต่ผมไม่ชอบเลย ชีวิตเราบางอย่างต้องเป็นสิ่งที่กำหนดได้ คาดเดาได้ว่าจะเป็นแบบนี้ แต่มันต้องมีความหลากหลาย ต้องมีสิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้ด้วย”

เพราะว่าโลกเป็นแบบนั้น – เขาว่าอย่างนั้น

“เราไม่รู้ใช่ไหมว่าโลกมันจะเป็นยังไง ปีนี้แห้งแล้ง ปีหน้าอาจจะน้ำท่วม เราต้องมีความสามารถเพื่อปรับตัวกับทุกอย่าง เราต้องเตรียมตัว ทุกอย่างมันจะเกิดขึ้นแบบนี้”

จริงอย่างที่เขาว่า ชีวิตทำได้เพียงคาดหวัง แต่ไม่อาจคาดเดา

หลังจากไม่อยากเป็นครูแล้วคล้ายเป้าหมายของเขาสูญหาย ตอนนั้นเขารู้เพียงว่าตัวเองชอบประวัติศาสตร์ ชอบทำความเข้าใจสังคม และผสมผสานกับความทรงจำในช่วงวัยเยาว์ เขาจึงเริ่มชีวิตใหม่ในมหาวิทยาลัยในคณะเอเชียศึกษา และหลักสูตรที่เขาเรียนบังคับให้นักศึกษาทุกคนต้องบินไปศึกษาที่เอเชียก่อนจบเป็นระยะเวลา 5 เดือน

ประเทศที่เขาเลือกคือประเทศไทย

ใช่ว่าหลงรักดินแดนแห่งรอยยิ้มแห่งนี้เป็นทุนเดิมแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เขาเพิ่งรู้จักประเทศไทยครั้งแรกตอนที่คุณลุงของเขาซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำ

“ตอนนั้นผมเองไม่รู้อะไรเลย คิดแค่ว่าอยากไปเที่ยว อยากไปสำรวจโลก สำรวจเอเชีย ในหัวใจอยากช่วยเหลือคนในเอเชีย ในช่วงนั้นคิดว่าตัวเองมีความรู้ น่าจะช่วยเหลือผู้คนในประเทศไทยได้ แต่เมื่อผมมาถึงที่นี่ครั้งแรกก็รู้ว่า โอ้ ฟิลิปต้องช่วยเหลือตัวเองก่อนนะ” ชายอเมริกันหัวเราะเยาะตัวเองเสียงดังในวันที่ยังปรับตัวไม่ได้

“ตอนที่ดูไกด์บุ๊กก่อนมาประเทศไทย คุณอยากมาเห็นอะไรที่สุด” ผมถามเขา

“อยากเห็นกรุงเทพฯ ทั่วๆ ไป เราเห็นว่านี่เป็นเมืองที่คึกคักมากเลย ตื่นเต้นมาก คนเยอะ แต่อีกอย่างที่อยากเห็นเช่นกันคือชนกลุ่มน้อย ชาวเขา อยากไปในชนบท อยากเห็นวิถีชีวิตของคนต่างจังหวัดจริงๆ”

ฟิลิปบอกว่า นี่เป็นจุดอ่อนของไกด์บุ๊ก เนื่องจากส่วนใหญ่ฉายให้เห็นเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวระดับแลนด์มาร์ก ชายทะเล ภูเขา แต่ไม่ได้อธิบายให้เห็นภาพวิถีชีวิตแท้จริงของผู้คนในบ้านเมืองนั้น ในสังคมนั้น และน่าสนใจที่ทุกไกด์บุ๊กเป็นเช่นนี้

“มันไม่เขียนถึงโรงหนังแบบนี้เลยนะ” ฟิลิปพูดแล้วมองไปรอบๆ สกาลา

“มันไม่เขียนว่าเมืองไทยมีโรงหนังสแตนด์อโลนมาตรฐานโลก มันไม่เขียนว่ามีโรงหนังสกาลาที่เป็น movie palace ที่หาได้ยากในประเทศอื่นๆ

“และมันไม่เขียนเรื่องเล่าเกี่ยวกับโรงหนังเก่าในบ้านเมืองนี้”

 

4

ฟิลิปจบปริญญาตรีที่บ้านเกิด แต่เรียนจบปริญญาโทที่ไทย

ปริญญาโทที่เขาเกือบเรียนไม่จบ

ด้วยความติดใจในบรรยากาศผ่อนคลายและความหลากหลายของประเทศไทย หลังจากเรียนจบปริญญาตรีเขาบินตรงมากรุงเทพฯ แรกเริ่มทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ก่อนจะตัดสินใจสมัครเรียนปริญญาโทหลักสูตรพัฒนาอย่างยั่งยืน (Regional Center for Social Sustainable Development) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะมีความคิดอยากทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ ช่วยเหลือมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย

“ตอนจะจบผมต้องหาประเด็นเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ ตอนแรกผมอยากทำวิจัยเกี่ยวกับบ้านจัดสรร อยากรู้ว่าทำไมเชียงใหม่มีบ้านจัดสรรเยอะ ซึ่งบ้านจัดสรรมันทำลายสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ แต่ไม่นานก็รู้สึกว่ามันไม่น่าสนใจเท่าไหร่ เลยเปลี่ยนประเด็นเป็นเรื่อง Micro Finance องค์กรที่ให้กู้เงินขนาดเล็กเพื่อคนจน แล้วพอเริ่มทำผมกลับรู้สึกว่ามันไม่ให้แรงบันดาลใจเลย จึงเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งเป็นเรื่องผู้ลี้ภัยจากพม่า เพราะที่ฟิลาเดลเฟียก็มีชาวพม่าไปอยู่ แต่หลังจากนั้นก็รู้สึกว่าเรื่องนี้มันน่าสนใจนะ แต่เราไม่ได้อยากทำวิจัย ตอนนั้นคิดว่าจะเลิกเรียนแล้ว เพราะเขียนวิทยานิพนธ์ไม่ได้”

ในช่วงเวลาที่คล้ายเจอทางตัน ฟิลิปได้ทำโปรเจกต์พิเศษควบคู่ไปด้วย โดยเริ่มตระเวนถ่ายรูปโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนเก่าๆ ทั้งในเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ เก็บไว้

ทำ – โดยความชอบล้วนๆ ทำ – โดยที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ และทำ – โดยที่ไม่ได้คิดว่ามันจะใช้เป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้ เพราะมองมุมไหนโรงภาพยนตร์เก่าก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตรงไหน

“แล้ววันหนึ่งอาจารย์ก็บอกว่า ฟิลิปทำได้นะ อันนี้เป็นประเด็นที่ไม่มีใครทำวิจัย แล้วมันเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย พอพูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน คนเรามักคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับชีวิตในชนบท ชาวนา เกษตรกร แต่ความจริงเรื่องนี้มันเกี่ยวกับชุมชนในเมือง”

เมื่อได้ไฟเขียวจากอาจารย์ที่เข้าใจ โปรเจกต์จบของเขา อันเป็นชื่อเดียวกับบล็อก และชื่อเดียวกับเพจเฟซบุ๊ก ก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ

โปรเจกต์นั้นชื่อ ‘The Southeast Asia Movie Theatre Project

“ตอนเริ่มทำผมเห็นว่าไม่มีใครทำบันทึกของโรงหนังแบบนี้ ผมคิดว่าถ้ามันมีการบันทึก วันหนึ่งมันจะมีคุณค่า ย้อนกลับไปผมตอนเด็กๆ ผมชอบดูหนังสือรูปภาพของเมืองฟิลาเดลเฟียในอดีต ชอบมาก โอ้ ฟิลาเดลเฟียเคยเป็นแบบนี้ด้วยหรือ เพราะผมเติบโตในช่วงที่ฟิลาเดลเฟียตาย แต่เมื่อก่อนมันคึกคักมากเลย มีตึกสวย มีสังคมที่มีหลายอาชีพ มีคนที่มีฝีมือหลากหลาย เมื่อดูรูปนั้นแล้วผมคิดว่าผมน่าจะเกิดในยุคนั้น และในเมืองไทย ถ้าไม่มีรูปภาพของโรงหนังเก่าก็ไม่มีใครจะมีความรู้สึกแบบที่ผมเคยมีตอนเด็กๆ แล้วถ้าเมืองไทยมี มันจะมีคุณค่า

“ผมอยากช่วยเหลือ ก่อนหน้านั้นที่ทำเรื่องบ้านจัดสรร ไมโครเครดิต มันไม่เหมาะกับผม แต่กับเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่ผมชอบมาก เป็นสิ่งที่ผมอยากเข้าใจ เป็นสิ่งที่ผมอยากแชร์กับคนอื่น เป็นสิ่งที่ผมมีแพสชั่น มีแรงบันดาลใจ เพลิดเพลินกับมัน”

“แรงบันดาลใจกับแพสชั่นสำคัญยังไงในงานที่คุณทำ” ผมโยนคำถามให้เขา

“ไม่ว่าจะเป็นการทำอะไรก็ตาม ถ้ามันเป็นแพสชั่น เราจะเต็มใจทำทุกอย่าง แล้วถ้ามีโอกาสได้เงินจากสิ่งนั้นด้วย โอ้โห คนนั้นโชคดีมาก หลายคนไม่มีโอกาสแบบนั้นนะ หลายคนแค่ทำงานหาเงินเฉยๆ ไม่ค่อยมีแพสชั่นหรอก แต่ทำได้

“และถ้ามีแพสชั่นเราจะได้รางวัล ไม่ใช่รางวัลแบบตุ๊กตาทองนะ แต่เราจะได้รางวัลชีวิต ถ้าไม่ได้กำไรที่เป็นเงิน เราก็จะได้กำไรชีวิต เป็นสิ่งที่เติมเต็มบางอย่างในใจเรา”

5

ผมชวนฟิลิปคุยถึงที่ที่เรานั่งอยู่

หากใครติดตามข่าวสารบ้านเมืองย่อมรู้ว่าสกาลาเคยมีข่าวเสี่ยงต่อการถูกทุบทำลายมามากกว่าหนึ่งครั้ง จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าโรงภาพยนตร์แห่งนี้จะยืนยงไปอีกนานแค่ไหน

ท่ามกลางเสียงค้านของชาวไทย ชาวอเมริกันคนหนึ่งร่วมแสดงจุดยืนต่อต้านเสมอม ผ่านทุกช่องทางที่เขาทำได้ ไม่ว่าจะเป็นบทความที่เขาเขียนลงคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ ในบล็อกส่วนตัว หรือในเพจ The Southeast Asia Movie Theater Project

และไม่ใช่แค่สกาลา เขาแสดงจุดยืนชัดเจนที่จะให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์โรงภาพยนตร์เก่าทั่วประเทศ

“ผมคิดว่าทุกเมืองต้องมีความหลากหลาย” เขาตอบทันทีเมื่อผมถามถึงเหตุผลที่ต่อต้าน-คัดค้าน

“ความหลากหลายที่ว่าไม่ใช่แค่เกี่ยวกับคนเท่านั้น แต่เกี่ยวกับตึก เกี่ยวกับผังเมืองด้วย เราต้องมีทางเลือก โอเค ถ้าคุณอยากไปดูหนังในห้างก็ทำได้นะ ผมไม่ได้ต่อต้านห้าง โรงหนังแบบ multiplex มีประโยชน์ แต่โรงหนังแบบนี้ก็มีประโยชน์ด้วย วันนี้อยากไปดูหนังในห้างเพราะมันสะดวกสบาย แอร์เย็น ไม่ต้องห่วงที่จอดรถ ก็ไป แต่บางวันอยากมาดูหนังในโรงหนังเก่า อยากได้บรรยากาศจากรุ่นพ่อแม่ รุ่นปู่ย่าตายาย อยากไปดูหนังในโรงหนังแบบนี้ก็มีให้เลือก ซึ่งบรรยากาศมันต่างกันนะ ที่นี่มันมีชีวิต มีสเน่ห์ มันเกี่ยวข้องกับถนนหนทาง เวลาเราเดินไปบนถนนแล้วเงยหน้าก็เห็นว่าโรงภาพยนตร์นี้มันสวย สถาปัตยกรรมแบบนี้มันหายาก

“แต่ถ้ามีโรงหนังในห้างอย่างเดียว กรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีไดนามิกเท่าไหร่นะ มันจืด มันมีแต่ของใหม่อย่างเดียว และถ้าไม่มีโรงหนังแบบสกาลาเมืองไทยจะเสียไดนามิกแน่นอน เพราะเราทุบโรงหนังสแตนด์อโลนที่เหลืออยู่น้อยมาก โรงหนังที่คนหลายๆ รุ่นเข้าไปดูแล้วได้ผลแบบเดียวกัน เขามาดูหนังที่นี่แล้วเขาได้จิตวิญญาณของโรงหนัง”

“การทุบสิ่งเก่าเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าไม่ใช่เรื่องดีหรอกหรือ” ผมชวนให้เขามองอีกมุม

“สิ่งที่ดีกว่า มันดีกว่าจริงไหม” เขาเปิดอีกมุมให้ผมมอง

“อันนี้มันแล้วแต่ความรู้สึก ใช่ ถ้าทุบของเก่าแล้วสร้างใหม่ มันก็มีโอกาสสร้างสิ่งที่ดีกว่าของเก่า แต่มันแค่บางครั้ง ไม่ใช่ทุกครั้ง หลายครั้งเราสร้างอะไรที่ดีกว่าหรือเปล่า ผมจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่นพระราชวังของกษัตริย์ทั่วโลกที่ผ่านๆ มา ถามว่าทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ได้ไหม ได้นะ แต่พระราชวังนั้นมีคุณค่ามากเลย ผ่านกาลเวลามาจากยุคสมัยก่อน มันทรงคุณค่าต่อประเทศมาก ไม่มีใครบ้าคิดว่าจะทุบมันทิ้งแล้วสร้างใหม่เพราะตอนนี้เรามีเทคโนโลยีดีกว่า ไม่มีใครคิดแบบนั้น แล้วกับบางอย่าง สถาปัตยกรรมบางแห่ง เราต้องคิดแบบนั้นเหมือนกัน บางครั้งมันจะดีกับชีวิต ถ้าเราเก็บสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว สิ่งที่อยู่มานานแล้ว”

“เหมือนคุณจะบอกว่าเทคโนโลยีสร้างคุณค่าบางอย่างไม่ได้” ผมถามย้ำ

“บางอย่างไม่ได้เลย เรามีของใหม่เยอะแล้วนะ เรามีของที่ทันสมัยเยอะแล้ว พอแล้ว ใจเย็นๆ ถ้ามีแต่ห้างสรรพสินค้าใหม่ๆ เมืองน่าสนใจไหม เราจะคิดถึงอดีตไหม เราจะคิดถึงสิ่งที่ให้เอกลักษณ์ที่เรามีในปัจจุบันนี้ไหม คนเราต้องมีราก ต้องให้ทุกคนสัมผัสรากด้วย รู้สึกได้ เข้าถึงได้ อดีตมันเกี่ยวกับปัจจุบันและปัจจุบันมันจะเกี่ยวกับอนาคต ทุกอย่างมันเกี่ยวกัน ถ้าเขาไม่ได้สัมผัส ไม่ได้รู้จัก ไม่ได้เห็น ไม่รู้เขาจะเป็นคนแบบไหนนะ คนที่ไม่มีราก”

ไม่ใช่แค่คัดค้านเอาอารมณ์เป็นตัวตั้ง เขาอธิบายเหตุผลและความจำเป็นของโรงภาพยนตร์เก่าได้เป็นฉากๆ พร้อมเสนอทางออกและยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจประกอบได้เสมอ

“สังคมเก็บทุกอย่างไว้ไม่ได้นะ แล้วผมก็ไม่ส่งเสริมให้เป็นแบบนั้น เมืองต้องวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ แต่ถ้าบางสิ่งมีเหลืออยู่ไม่มาก เราต้องเก็บไว้ บ้านเกิดของผมที่ฟิลาเดลเฟียทำผิดพลาดไปแล้วนะ ทุกวันนี้โรงหนังแบบ movie palace ที่สุดท้ายของที่นั่นถูกทุบไปแล้ว แม้ว่าจะมันจะเป็นตึกที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามมาก และสำคัญมาก โอเค เราเก็บไว้ทุกที่ไม่ได้ แต่มันมาถึงวันที่เหลือแค่ที่เดียว แล้วเราทุบมันทิ้ง ทำไมนะทำไม ถ้าไม่ทุบชาวเมืองก็ได้สัมผัสรากนี้ ได้สัมผัสประวัติศาสตร์นี้

“ถามว่ารู้สึกละอายใจไหม ผมรู้สึกละอายใจจริงๆ ทุกวันนี้ที่ตรงนั้นกำลังก่อสร้างอยู่ มันจะเป็นคอนโดฯ ทำเงินเยอะกว่าเพื่อนักลงทุนไม่กี่คน แต่เมืองฟิลาเดลเฟียเสียคุณค่าทางวัฒนธรรม เราสร้างคอนโดฯ ได้นะ ผมก็อยากเห็นว่าฟิลาเดลเฟียก็มีตึกสวยๆ แต่ต้องเลือกที่อื่น ไม่ใช่มาทุบวัฒนธรรมของเราเพื่อกำไร”

“คิดว่าคนเราปากไม่ตรงกับใจหรือเปล่า ปากเราบอกว่าคิดถึงโรงหนังเก่า แต่ตอนที่มันยังอยู่เรากลับไม่เคยสนใจ” ผมถามเขาเพราะรู้ว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงหนังเก่าตายคือไม่มีผู้ใช้บริการ

“หลายคนเป็นแบบนั้นนะ เขาเห็นในสื่อ อ่านในหนังสือ แล้วบอกว่า ใช่ สกาลามันสำคัญมาก มันสวยมาก ห้ามทุบ แต่เวลาไปดูหนังไปดูในห้างตลอดเพราะว่ามันสะดวกสบาย มันชินไปแล้ว แต่จริงๆ แล้ว ถ้าอยากแสดงออกว่าเราชอบมันมากๆ รักมันมากๆ ต้องมาสนับสนุน ต้องมาดูหนังที่นี่ ในภาษาอังกฤษเราเรียกว่า You must put your money where your mouth is. หมายความว่าถ้าพูดแบบนั้น คิดแล้วทำเลย ถ้าชอบสกาลาต้องทำอย่างนั้น จริงๆ นั่นคือเหตุผลที่ผมอยากทำโครงการนี้ต่อ ผมเคยบอกแล้วว่าน่าจะเก็บสกาลาไว้ในอนาคต ผมบอกแล้วน่าจะจบใช่ไหม หลายๆ คนบอกครั้งเดียวแล้วจบ แต่ผมคิดว่าถ้าเราไม่ทำต่อคนจะลืม”

“เพราะคนไทยลืมง่ายหรือเปล่า”

“ไม่ใช่แค่คนไทย คนทั่วไปเขาก็มีชีวิตที่ต้องใช้เวลาเพื่อทำงาน เลี้ยงลูก ใช้ชีวิตทั่วไป ไม่มีใครเขาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ตลอดหรอก แต่ถ้าเรามีการรณรงค์แล้วบอกย้ำหลายๆ ครั้งว่า สกาลามันสำคัญ สกาลามันสำคัญ สกาลามันสำคัญ ผมคิดว่ามันจะลงทะเบียนในความคิดของคนว่า ใช่ สกาลามันสำคัญ”

 

6

คนที่ยึดถือแพสชั่นเป็นสำคัญอย่างฟิลิปยอมรับกับผมตรงๆ โดยมีโรงภาพยนตร์สกาล่าเป็นพยานว่าเงินคือสิ่งสำคัญ

อย่างที่รู้กัน อุปกรณ์อย่างกล้องถ่ายรูปและเลนส์นั้นไม่ได้งอกขึ้นมาจากดิน และตั๋วเครื่องบินก็ไม่ได้ล่วงหล่นลงมาจากฟ้า ทุกอย่างจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากไปแลกมา

และเมื่อไม่มีใครจ้าง อยากทำเอง ก็ต้องดิ้นรนหาหาเงิน

ช่วงเริ่มต้นเขาใช้เงินเก็บส่วนตัวหล่อเลี้ยงโครงการ ก่อนจะได้ทุนสนับสนุนจากมูลนิธิ Jim Thomson ที่มองเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมีคุณค่า แต่ทุนที่ได้ก็มีช่วงเวลาและจำนวนอันจำกัด เขาจึงพิมพ์ภาพโรงภาพยนตร์ที่ถ่ายทำเป็นพอร์ตฟอลิโอขายทางโลกออนไลน์เพื่อหวังระดมทุนมาใช้เดินทาง แต่ยอดขายก็ไม่ได้มากมายเพียงพอ

ระหว่างเขาเล่าถึงวิธีหาเงินมาต่อลมหายใจให้โครงการ ผมก็นึกย้อนไปถึงครั้งแรกที่เราติดต่อสื่อสารกันผ่านโลกออนไลน์ วันนั้นเขาพิมพ์บอกผมว่าอยู่สหรัฐอเมริกา อีก 6 สัปดาห์จึงจะกลับมาไทย

คงไม่ใช่แค่ผมใช่ไหม ที่คิดว่านั่นเป็นการกลับบ้านปกติ

“จริงๆ แล้วทุกปีผมต้องกลับอเมริกา ใช้เวลา 5 เดือน เพื่อไปประกอบอาชีพ ผมไปสมัครทำงานกับบริษัทรับย้ายบ้าน กลับบ้านทุกครั้งผมจะไปทำงานนี้ แต่เป็นงานที่ต้องดูแลสุขภาพนะ เพราะถ้าไม่แข็งแรงก็ทำไม่ได้ ต้องยกของหนัก ต้องเตรียมใจด้วย เพราะว่าหลายคนที่นั่นเขาไม่เคารพคนที่ทำงานแบบนี้ หลายคนคิดว่าเป็นกรรมกร ดูถูกก็มี เราต้องเตรียมใจถ้าคนอื่นมองเราแบบนี้”

“แล้วคุณแคร์สายตาคนอื่นไหม” ผมถาม

“เมื่อก่อนเคยแคร์ แต่ตอนนี้ไม่แคร์เท่าไหร่ เพราะผมรู้ว่าผมทำงานนี้เพื่ออะไร ไม่ใช่ผมรักงานขนย้าย แต่ผมทำมันเพื่อสนับสนุนงานอื่น เป้าหมายของผมอยู่ที่การทำสารคดีโรงหนังเก่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

เมื่อทำงานขนย้ายของจนได้เงินก้อน เขาจึงกลับมาประเทศไทยตระเวนถ่ายรูปโรงภาพยนตร์เก่าต่อ

จากคำบอกเล่าของเขาต้องยอมรับว่าการตระเวนถ่ายภาพโรงภาพยนตร์เก่าไปทั่วประเทศไทยและเลยเถิดไปยังประเทศเพื่อนบ้านอยางพม่าและลาวนั้นกัดกินชีวิตเขาไม่น้อย

หากมองกันอย่างหยาบๆ ใช่หรือไม่ว่าชายวัย 36 ปี ที่มีวุฒิการศึกษาปริญญาโทติดตัวควรมีหน้าที่การงานที่มั่นคง มีเงินเดือนระดับพนักงานซีเนียร์ มีเงินเก็บ มีบ้าน มีรถ มีครอบครัว แต่ชีวิตของคนที่ได้ทำในสิ่งที่รักอย่างเขากลับแตกต่าง นอกจากบ้านของพ่อแม่ที่สหรัฐอเมริกาและห้องพักที่จังหวัดเชียงใหม่ ฟิลิปก็ออกตัวว่าเขาแทบไม่มีอะไร

“เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ผมก็ชินกับความรู้สึกนี้นะ ไม่รู้ผมจะต้องยากจนไปตลอดชีวิตหรือเปล่า แต่มันเป็นทางที่ผมเลือกเอง ต้องยอมรับ ไม่ใช่ไปกล่าวโทษคนอื่นว่าพ่อแม่เขาเลี้ยงผมไม่ดี หรือตอนมัธยมคุณครูไม่สอนอะไรเลย ไม่ใช่ ผมเลือกเอง และผมก็เสี่ยงแล้ว

“ผมกลุ้มใจมากนะ ผมชอบสิ่งนี้มากที่สุดในชีวิต แต่มันไปได้กับชีวิตผมหรือเปล่า ผมแก่ขึ้นทุกวัน ไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว อีกสามปีกว่าผมจะอายุ 40 แล้ว ผมไม่มีอะไรเลย หรือมี แต่น้อย แล้วผมก็ดันมาเดินบนเส้นทางที่ไม่ปกติ บางครั้งผมก็กังวล แต่หลายคนเขาส่งกำลังใจว่า ฟิลิปคุณควรจะทำต่อ ถ้าทำเรื่อยๆ มันจะดีขึ้น คุณจะมีโอกาสในการประกอบอาชีพ เพราะว่าคนจะรู้จักและสนับสนุนคุณ ผมรู้ว่าถ้าถึงเป้าหมาย ทำโรงหนังให้เป็นสิ่งที่ความหมายได้ เปลี่ยนความคิดของสังคมได้ สิ่งที่ผมทำมันจะมีคุณค่า

“ถึงวันนั้นคนจะจำชื่อฟิลิปได้ ผมมีความหวัง”

 

7

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ฟิลิปจะเดินทางไปพม่าและอยู่ที่นั่นหนึ่งเดือนเต็มๆ เพื่อตระเวนถ่ายรูปให้มากที่สุด ถ้าย้ายเมืองทุกวันได้เขาจะทำ

เขาว่านี่คือภารกิจสำคัญที่ปล่อยช้าไม่ได้

“ผมอยากถ่ายรูปที่นั่นก่อนไม่มีโอกาส เพราะว่าพม่าเพิ่งเปิดประเทศ แล้วนักลงทุนจากเมืองนอกจะเข้ามา สังคมจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว พม่าต้องปรับตัว ต้องยกระดับประเทศเพื่อลดความยากจน เพื่อพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ผลกระทบข้างเคียงของมันคือ เงินทุนจะเข้าประเทศ บางอย่างที่เรามองข้ามจะได้รับผลกระทบ พม่าเพิ่งพัฒนา ถ้าเกิดมีโรงหนังในห้างสรรพสินค้าเข้ามาคนพม่าก็อาจจะตื่นเต้นกับมัน โอ้โห สุดยอด อยากไปดูในห้าง ทันสมัย ซึ่งทุกสังคมเป็นแบบนั้น แล้วไม่มีใครจะคิดถึงว่าเราจะอนุรักษ์โรงหนังเก่าไว้”

เขายกตัวอย่างย่านใจกลางเมืองย่างกุ้งที่ครั้งหนึ่งเคยมีโรงภาพยนตร์ถึง 6 แห่งในแถบเดียวกัน สะท้อนถึงยุครุ่งเรืองของโรงภาพยนตร์ในอดีตได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันทุบไปแล้ว 4 แห่ง เหลือเพียง 2 แห่งที่อนาคตยังลูกผีลูกคน

“พม่ายังมีโรงหนังแบบ movie palace จากสมัย 60 ปีก่อนที่หรูหรามากอีกเป็นสิบแห่ง แล้วสภาพยังดีอยู่ ยังไม่นับโรงที่ไม่ได้หรูหราอีกมากมาย ถ้าผมถ่ายรูปโรงหนังทั่วประเทศ วันหนึ่งคนพม่าอาจจะมองเห็นว่าบ้านเมืองของเขาเคยมีโรงหนังเยอะมาก สถาปัตยกรรมน่าสนใจมาก แล้วเขาจะคิดถึงโรงหนังที่มีความสำคัญในชีวิตของเขาบ้าง”

ช่างภาพผู้ผูกพันกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนานยอมรับว่าตอนนี้เขาห่วงพม่ามากกว่าไทย

ห่วงว่าการพัฒนาจะพัดพาหลายอย่างให้หายไป ไม่ใช่เพียงโรงภาพยนตร์

“ตอนนี้พม่าเป็นแบบเมืองไทยประมาณ 30 – 40 ปีก่อน เมืองน่ารัก ตึกเก่ามีหลายที่ ยังไม่มีทางด่วน ไม่มีรถไฟฟ้า มีรถยนต์น้อย คนส่วนใหญ่ปั่นจักรยานหรือเดินไป ทุกอย่างเป็นท้องถิ่น ทุกเมืองมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน แต่ถ้าเขาอยากได้เงิน เขาอยากพัฒนาขึ้น วิถีแบบนี้จะหายไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าเมืองไทยถึงระดับที่โดยทั่วไปทันสมัยหมดแล้ว เมืองไทยพัฒนาถึงระดับที่หลายคนเริ่มมองหันกลับไปยังอดีต สิ่งที่เราเคยมี ที่ทรงคุณค่า ต่อชุมชน ต่อสังคม ในขณะที่พม่ามองไปข้างหน้าอย่างเดียว”

“แล้วไปพม่าครั้งนี้มีที่ไหนที่อยากไปถ่ายเป็นพิเศษไหม”

“ผมจะพยายามไปถ่ายโรงหนังแห่งหนึ่งให้ได้ เพราะไปครั้งที่แล้วเขาไม่ให้ถ่ายข้างใน ครั้งนี้คิดว่าเพื่อนชาวพม่าที่รู้จักกันจะช่วยให้ผมเข้าไปถ่ายได้ ผมมีความหวัง ข้างในมันสวยมากๆ หรูหรามากๆ”

ผมพยายามจินตนาการตามที่เขาบรรยายแต่ก็นึกภาพไม่ออก

ที่ว่าสวยนั้น สวยแค่ไหนกัน

“เป็นโรงหนังที่ผมบอกว่า ถ้าวันหนึ่งไม่มีสกาลา ที่นี่จะสวยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

สิ้นประโยคนี้ของเขา ผมพอจะนึกถึงความงามนั้นออกแล้ว

 

8

หนึ่งในสิ่งที่ผมสงสัยคือคนที่รักโรงภาพยนตร์เก่าอย่างเขารู้สึกอย่างไรเวลาเห็นโรงหนังเก่าถูกทุบทิ้ง เจ็บปวดกว่าคนอื่นไหม

หรือเข้าใจได้ว่าเป็นธรรมดา-เป็นธรรมชาติ

“ทั้งสอง” ฟิลิปตอบทันที

“ในกรณีกรุงเทพฯ สมัยก่อนเราเคยมีโรงหนังแบบสแตนด์อโลนประมาณ 200 แห่ง เมื่อเวลาผ่านไป สังคมเปลี่ยนไป มันถูกทุบทิ้ง โอเค เป็นธรรมชาติที่สังคมและเมืองต้องพัฒนาขึ้น เราอยู่นิ่งๆ ตลอดไปไม่ได้ แต่อีกใจก็รู้สึกโศกเศร้าด้วย เพราะว่ามันมีประวัติศาสตร์ของชุมชนนั้น ที่นั่นเคยเป็นพื้นที่ที่สำคัญ ผมรู้สึกแย่แต่ก็รู้ว่ามันเป็นธรรมดา โลกเราเป็นอย่างนี้

“เหมือนมนุษย์ ถ้าอนาคตปู่ย่าตายายของเราต้องตาย แน่นอน เป็นเรื่องเศร้ามากนะ แต่มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติด้วย”

“แล้วเวลาดูภาพที่ตัวเองถ่ายคุณเห็นอะไร รู้สึกอย่างไร” ผมถาม

“หลายรูปที่ผมถ่าย พอย้อนกลับไปดูก็รู้สึกยินดีที่ผมได้ไปถ่ายรูปที่นั่น เพราะตอนนี้มันทุบไปแล้ว เมื่อวานก็เพิ่งมีคนพม่าแชร์รูปโรงหนังที่ชื่อ The Win Cinema ในตองอู โรงหนังนี้ผมถ่ายมาประมาณ 6 ปีก่อน แต่ถูกทุบทิ้งไปแล้ว แล้วคนในพม่าเพิ่งแชร์ มีคนพม่าหลายคนบอกว่าคิดถึง เป็นความทรงจำของเขา ผมยินดีว่าโชคดีที่มีโอกาสถ่ายภาพนี้ สำหรับคนพม่า นี่อาจจะเป็นสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวัน เขาก็เลยมองข้าม เห็นทุกวันจนถึงวันที่ไม่เห็นแล้ว แต่พอเห็นรูปเขาก็มีโอกาสย้อนกลับไปคิดถึงอดีต”

“เหมือนเรามักจะมองข้ามสิ่งสำคัญที่อยู่ใกล้ตัวใช่ไหม”

“ใช่ ผมคิดว่ามันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของมนุษย์” ฟิลิปยังตอบด้วยรอยยิ้มแม้จะพูดในเรื่องแสนขมขื่น

ไม่ใช่แค่ภาพที่เขาถ่ายเท่านั้น บทสนทนาที่ดำเนินไปก็ทำให้ผมคิดถึงโรงภาพยนตร์ในความทรงจำที่ตอนนี้กลายเป็นภาพเลือนรางแล้ว

“จริงๆ ผมไม่ค่อยชอบถ่ายรูปเท่าไหร่นะ” ฟิลิปกล่าวประโยคชวนประหลาดใจก่อนแยกย้าย เมื่อผมสงสัยว่าทำไมวันนี้เขาไม่มีกล้องติดตัว

มันคงเข้าใจได้ง่ายกว่า ถ้าประโยคนี้ไม่ได้ออกมาจากปากของคนที่ตระเวนถ่ายรูปโรงหนังมาเป็นหมื่นภาพ โดยไม่เคยมีข้อแม้ว่าปลายทางอยู่ที่ไหน

จะใกล้จะไกลก็จะไป

“การถ่ายรูปมันเป็นงาน เป็นภาระ มันยาก แต่สิ่งที่ผมอยากแสดงออกคือคุณค่าของโรงหนัง แล้วผมไม่รู้วิธีอื่น เพื่อแสดงออกถึงสิ่งนี้ มันดีที่สุดที่เราทำได้แล้วนะ ไม่มีทางอื่นที่ดีกว่านี้ รูปภาพ ภาพวาด หรือภาพยนตร์ เป็นบันทึก ซึ่งมันดีกว่าความทรงจำ เพราะทุกคนต้องตาย แต่ภาพถ่ายจะยังอยู่

“มันจะเป็นความทรงจำที่คนมองเห็น”

 

ภาพ Philip Jablon

AUTHOR