ชีวิตและศิลปะในคืนวันไร้ปาร์ตี้ของ โน้ต Dudesweet – พงษ์สรวง คุณประสพ 4/4

6. บ้านที่ผมไม่เคยอยู่เต็มไปด้วยรูปของผม

เมื่อแม่จากไป เขาเริ่มกลับไปยังบ้านที่ไม่เคยอยู่

บ้านหลังนี้เขาซื้อให้แม่สมัยทำงานนิตยสาร โดยมีตาอาศัยอยู่ด้วย ช่วงเวลา 4 ปีตั้งแต่แม่เข้าอยู่อาศัยจนจากโลกไปโน้ตบอกว่า เขากลับบ้านได้ราว 6 ครั้ง

“นิ้วมือนับได้สบายเลยนะ” โน้ตเรียกเสียงหัวเราะ

เขาใช้ช่วงเวลาที่ได้กลับบ้านอีกครั้งไปกับการคุ้ยข้าวของของแม่ที่ยังคงตั้งอยู่ที่เดิมคล้ายแม่ยังไม่จากไปไหน ซึ่งนั่นทำให้เขาพบสิ่งของหลายอย่าง และพบความจริงบางอย่าง

“ผมพบว่าแฟนคลับของคุณพงษ์สรวงนี่คือแม่หมายเลขหนึ่งเลย หลังงานศพที่เราไปคุ้ยของแม่ เราเจอสมบัติที่เกี่ยวกับเราหมดเลย”

สิ่งที่เขาว่าสอดคล้องกับบางประโยคในการ์ตูน บ้านของแม่ ที่เขาเขียนไว้

บ้านที่ผมไม่เคยอยู่เต็มไปด้วยรูปของผม รูปวันรับปริญญา วันบวช โปสการ์ดที่ผมส่งมาหา แม่ภูมิใจในตัวผมเหลือเกิน

“พอรู้อย่างนั้นมันเกิดความรู้สึกละอายใจ ซึ่งเราพบว่าความรู้สึกแบบนี้บางที่แม่งเจ็บกว่าความตายอีกนะ (หัวเราะ) เพราะมันต้องแบกไปเรื่อยๆ เราพยายามสะกดจิตของเราว่าให้ลืมๆ เราทำดีที่สุดแล้ว แต่มันก็ไม่ได้หรอก มันมีฝันร้ายต่อเนื่องอยู่เรื่อยๆ บางทีก็ฝันเรื่องไอ้การไม่ใส่ใจ การนัดแม่แล้วเบี้ยว คือตอนเขาเสียเราจะนึกถึงเรื่องพวกนี้ เราพยายามกดมันไว้ แต่พบว่ามันไม่ได้ไปไหนหรอก อยู่ข้างในนี่แหละ

“เรารู้สึกว่า ที่ผ่านมาเราทำร้ายจิตใจคนที่รักเราไปหลายคนมาก อาจจะตั้งแต่เกิดเลยมั้ง ทั้งเพื่อน ทั้งครอบครัวที่เป็นห่วง ซึ่งเราก็ไม่ได้สนใจความรู้สึกดีๆ ที่เขาให้เราอย่างลึกซึ้ง รู้สึกผิดว่าทำไมถึงทำให้เขาเสียใจขนาดนั้น และทำไมเราถึงยังโชคดีขนาดนี้ที่มีคนเป็นห่วงตั้งเยอะแยะทั้งที่ไม่เคยซาบซึ้งความรู้สึกดีๆ ของคนเหล่านั้นเลย พยายามสะกดจิตตัวเองให้ลืมไป แม่เราเสียไปตั้งแต่ปี 2553 แต่ความรู้สึกแย่ที่เราซ่อนอยู่ มันก็วนกลับมาเล่นงานตลอด เราเลยคิดว่าต้องระบายออกแล้ว”

เมื่อครั้งวาดการ์ตูน บ้านของแม่ แม้ไม่ได้ลงสี แต่เขาค้นพบว่าตัวเองได้ระบาย น้ำตาที่ไหลออกมาขณะวาดคล้ายมันพาความเศร้าโศกในหัวใจออกมาด้วย ซึ่งตรงกับทฤษฎีในหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาได้ยินมา

“เขาบอกว่าในเชิงจิตวิทยา เวลามีความสุข เศร้า หรืออะไรก็ตามที่มันรุนแรงมากๆ แค่มาบอกต่อมันไม่พอ วิธีที่ดีที่สุดคือเขียน เขียนบันทึกหรืออะไรก็ได้ เพราะมันจะทำให้ความรู้สึกนั้นเกิดเป็นภาพขึ้นมา ซึ่งเราว่ามันจริง เพราะตอนนั้นพอได้เขียนปุ๊บเรารู้สึกดีขึ้นมากเหมือนกัน เหมือนเราได้ระบายอะไรออกมาเป็นรูปธรรม คือคำพูดยังเป็นนามธรรมอยู่ นึกออกไหม แต่พอมีอะไรที่จับต้องได้ความรู้สึกเรามันเหมือนได้ถูกถ่ายเทสู่สิ่งนั้นไปแล้ว

“เหมือนมันถูกทิ้งไปแล้ว” เขาย้ำคำ

ในวันที่ความรู้สึกผิดล้นทะลัก เขาจึงหันหน้าหาผืนแคนวาสเป็นที่รองรับ

ได้เวลาลงโทษตัวเอง-โน้ตว่าอย่างนั้น

“ถ้าเป็นคนที่วาดรูปไม่เป็น เขาอาจไปพบจิตแพทย์ แล้วจิตแพทย์ก็อาจพูดอะไรแบบนี้แหละว่า มีปัญหา ต้องเจอปัญหา ต้องพูดถึงปัญหา ต้องเห็นปัญหาตัวเอง ไม่ใช่ซ่อนไว้ แล้วจึงหาทางผ่านไปได้ เราคิดว่ามันน่าจะเป็นวิธีบำบัดแบบเดียวกัน คือมีปัญหาแล้วเอาออกมาให้ดู เอาออกมาให้ตัวเองดู ให้คนอื่นดู แล้วก็ยอมรับมันซะว่าเรามีปัญหาอะไรบ้างเพื่อให้เราสามารถก้าวต่อไปได้

“การแสดงนี้จึงคล้ายการปิดฉากชีวิตวัย 20 ถึง 30 ของผม แล้วก็จะก้าวไปข้างหน้าแล้ว ซึ่งเราเห็นผลจริงๆ พอเราทำไปแล้วรู้สึกสบายใจขึ้น เพราะเวลาวาดภาพแต่ละภาพเราได้อยู่กับมันนาน”

ห้องเช่าของเขาจึงเปรียบเสมือนสถานบำบัด โดยมีพู่กัน ถาดสี และแคนวาสขนาดเท่าปกแผ่นเสียง เป็นยารักษา

“ทำไมต้องวาดมือ ทั้งที่ทำในคอมพิวเตอร์เป็นกราฟิกแบบที่ถนัดก็ได้” ผมถามในขณะที่เขากำลังลอกคราบสีที่แห้งกรอบในถาดทรงกลม

“เพราะว่าการเพนต์ สิ่งหนึ่งที่เรารู้แน่ๆ ว่าต้องเกิดขึ้นคือมันไม่สามารถ undo คล้ายๆ กับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว มันอาจใช้สีกลบได้แต่มันก็ยังอยู่ ถ้าลงสีผิดก็ต้องถมจนกว่ามันจะหายไป และมันไม่เร็วดี ทำไปแล้วได้คิดไป ระบายเสียทีนึงต้องเสียเวลารอให้สีแห้ง แล้วค่อยทาใหม่

“เราชอบความรู้สึกที่มัน undo ไม่ได้ ซึ่งพอมาคิดดู ชีวิตจริงคนเราก็เป็นอย่างนี้”

7. มันเป็นความทรงจำที่ดีนี่

ท่ามกลางภาพที่ลงสีเสร็จเรียบร้อย สวยงาม มีภาพภาพหนึ่งที่ดูรู้ว่ายังอยู่ในขั้นตอนการสเกตช์ ลายเส้นดินสอเป็นรูปหญิงคนหนึ่งนอนบนเตียงและชายหนุ่มยืนอยู่ข้างเตียง

อันนี้ยังไม่ได้วาด เพราะสเกตช์แล้วมันเศร้าเลยข้ามไปก่อน บางภาพที่เราวาดแล้วรู้สึกว่าอยู่กับมันนานไปแล้ว รู้สึกว่ามันกัดกินตัวเอง เราก็ต้องสลับไปวาดเรื่องที่มันแฮปปี้บ้างไม่งั้นมันจะเศร้า ซึ่งเราไม่อยากให้งานมันออกมามืดหม่นขนาดนั้นเราต้องการมองชีวิตให้เป็นบวก

นอกจากเรื่องแม่ เขายังวาดถึงความสัมพันธ์ที่มีความสำคัญต่อชีวิตอย่างเพื่อนและคนรัก รวมถึงบางเหตุการณ์ที่เข้ามาเกาะแน่นในความทรงจำ “เราไม่ได้ต้องการทำเป็นอัตชีวประวัติ เราแค่อยากเล่าถึงช่วงเวลาที่มีผลกับความรู้สึก ไม่ว่าจะประทับใจ เศร้า หรือช่วงเวลาเล็กๆ น้อยๆ”

“ได้อะไรจากการไม่ออกไปไหนยาวนานที่สุดในชีวิตครั้งนี้” ผมโยนคำถามให้เขา

เสียงเพลงที่เปิดได้ยินชัดเจนขึ้นเมื่อเขานั่งเงียบ นิ่งคิด

“ได้เห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น เวลาวาดเราต้องคิดเสมอ อย่างตอนวาดรูปตอนโต๋ (นุติ์ นิ่มสมบุญ แห่ง Slowmotion) แต่งงาน ฉากวันนั้นเรานึกภาพออกอยู่แล้วใช่ไหม แต่มันแว้บไปไกลกว่านั้นอีก ย้อนไปถึงว่าเรารู้จักกันได้ยังไง แล้วมันดีกับเราแค่ไหน ซึ่งมันกลับมาที่คอนเซปต์หลักของเรา ก็คือความไม่สำเหนียกความรักที่คนอื่นให้ ซึ่งมันดีนะ ถึงแม้จะกัดกินตัวเองก็ตาม แต่มันทำให้เราได้รู้ว่าเราพลาดอะไรหลายๆ อย่างไป ถึงได้ตั้งชื่อนิทรรศการว่า Ungrateful Records ไง แปลตรงตัวว่า ร้านแผ่นเสียงไม่สำนึกบุญคุณ” เล่าเสร็จเขาก็หัวเราะเสียงดังให้สิ่งที่ผ่านไปแล้ว

เขาว่านิทรรศการนี้จะถูกออกแบบจัดวางเป็นลักษณะของร้านแผ่นเสียง จัดแสดง 2 ชั้น ชั้นบนจะเป็นคาราโอเกะ ซึ่งฉายมิวสิกวิดีโอที่ได้เพื่อนรักมาร่วมแสดง ส่วนชั้นล่าง เราเคยเข้าร้านแผ่นเสียงแล้วเห็นภาพเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น

“ในร้านจะมีกระบะใส่แผ่นเสียงให้คนคุ้ยได้ มันเลยต้องการจำนวนเยอะ และมีมุมนึงเป็นมุมทดลองฟัง จะเป็นเสียงของตาที่อัดไว้ เล่าเรื่องสมัยเขาหนุ่มๆ ทุกอย่างถูกทรีตเป็น installation

จะมีโต๊ะตัวหนึ่งเป็นโต๊ะคิดตังค์ เราสมมติว่าร้านนี้เป็นร้านของแม่ สมัยก่อนคนชอบเอากระจกมาวางบนโต๊ะแล้วเอารูปมาสอด ใต้กระจกใสแผ่นนั้นก็จะเป็นโปสการ์ดที่เราเคยส่งให้แม่ เป็นรูปเราที่แม่เก็บไว้ แล้วบนโต๊ะก็จะมีพวกสมุดเรียนตอนเราเด็กๆ ที่กลับไปค้นเจอตอนได้กลับบ้านอีกครั้ง เป็นบรรยากาศเหมือนเรากลับมาจากโรงเรียนแล้วมานั่งทำการบ้านที่โต๊ะของแม่”

“เดินเข้าไปคงเศร้าน่าดู” ผมพูดตามที่รู้สึกเมื่อนึกภาพตาม

“เราไม่เศร้าหรอก มันเป็นความทรงจำที่ดีนี่” เขาว่าอย่างนั้น

และเชื่อว่าถ้าเจ้าของร้านได้ยิน เธอก็คงคิดเช่นเดียวกัน

facebook | DUDESWEET

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 165 พฤษภาคม 2557)

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่

ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3

ภาพ พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์

AUTHOR