สุรชัย พุฒิกุลางกูร : illustrator โฆษณาระดับโลกผู้ค้นหาดินแดนใหม่ 3/4

8

ไม่ว่ามนุษย์ยุคไหนก็ค้นหาดินแดนใหม่เสมอ

“ชีวิตเราเป็นภาคขยายตัวเราตอน 1 ถึง 7 ขวบ”
สุรชัยพูดถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง

เขามองว่า ความสนใจของชีวิตช่วงนั้นจะเป็นตัวกำหนดความสนใจของเราทั้งชีวิต
ชีวิตของเด็กชายในจังหวัดน่านช่วงนั้นสนใจหนัง ศิลปะ และกีฬา แน่นอนว่ามันคือส่วนสำคัญต่อชีวิตของเขาในเวลาถัดมา

เหตุการณ์ที่ยานอพอลโล
11 ลงดวงจันทร์ เป็นอีกเรื่องที่ส่งผลกับชีวิตของเด็กชายสุรชัยจนถึงนายสุรชัยในวันนี้

“ตอนนั้นผมอายุ
4 ขวบ จำได้ว่าวิ่งกับเพื่อนไปที่สนามแล้วชี้ว่ายานอพอลโลอยู่ตรงไหนบนฟ้า” สุรชัยย้อนนึกถึงชีวิตวัยละอ่อน “มันน่าทึ่งมากที่มนุษย์เดินทางไปที่ที่ไม่มีใครจับจองได้
ผมสนใจเรื่องที่ว่างที่ไม่มีใครจับจอง ผมชอบดูหนังเกี่ยวกับการไปขุดทอง ตอนเด็กๆ
ผมชอบเล่นเดินทางไกล ไปขุดกระดูกไดโนเสาร์”

พอเริ่มโตเขาก็พบว่า
ไม่ว่ามนุษย์ยุคไหนก็ค้นหาดินแดนใหม่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการไปดวงจันทร์
การค้นพบอเมริกา หรือการหาดินแดนใหม่ของประเทศในยุโรป
ทั้งหมดนี้เป็นการเดินทางเพื่อหาดินแดนใหม่ วัตถุดิบใหม่ การค้นพบสิ่งใหม่ๆ
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการโลก

“มันไม่มีอะไรมากไปกว่าการไปหาพื้นที่ใหม่ๆ
ที่ยังไม่มีคนจับจอง แล้วหาสิ่งที่มีมูลค่าในนั้นเอามาพัฒนาต่อ” สุรชัยหยุดเรียบเรียงความคิด “ผมถามตัวเองว่า ในโลกปัจจุบันยังมีที่ไหนที่ยังไม่มีคนจับจอง
หนังสือการตลาดเรียกพื้นที่นี้ว่า Blue Ocean เป็นทะเลที่ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของ
วิธีการทำงานของอิลลูชั่นก็เป็นแบบนั้น
ทำยังไงถึงจะไปให้ถึงดินแดนนั้นแล้วจับจองให้ได้”

เกาะที่อิลลูชั่นพบแล้วมีชื่อว่า
CGI

การจับจองเกาะ CGI ไม่ใช่การติดป้ายบอกหน้าบริษัท แต่ต้องทำให้คนทั้งโลกรับรู้
ซึ่งไม่มีวิธีการไหนจะดีไปกว่าการได้รางวัลในระดับโลก และการเปิดบูทที่คานส์


9

เริ่มต้นน้ำ

สุรชัยได้รับมรดกเป็นที่ดินริมแม่น้ำน่านจากปู่ของเขา

ปู่ของสุรชัยซื้อที่ดินผืนนี้ไว้เพื่อทำโรงน้ำแข็ง
แต่เมื่อน้ำเปลี่ยนทิศก็ไม่อาจทำโรงงานน้ำแข็งได้
ที่ดินแปลงนี้เลยถูกปล่อยทิ้งร้างไว้

“วันนึงเรานั่งหาปลาในแม่น้ำแล้วเห็นว่าปลาลดลง
อาจจะเกิดจากฤดูกาล หรือกระแสน้ำที่เปลี่ยนทิศทาง ถ้าเราไม่รู้ตัวล่วงหน้า
อาชีพเราก็จบ” สุรชัยเริ่มต้นเล่าถึงทฤษฎีดูต้นน้ำของเขา

ตลอด 20 ปีของการทำงาน
เขาไปดูงานที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเขาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา การพิมพ์
และคอมพิวเตอร์ ช่วงแรกที่เขาเปิดบริษัทอิลลูชั่นของตัวเอง
อาร์ตไดเรกเตอร์ทุกคนที่มาหาเขาต่างบอกว่า อยากได้คานส์ สุรชัยเลยบอกแฟนว่า
ต้องพาทีมไปดูงานของจริงที่คานส์ ไม่มีเงินก็ต้องกู้

ตอนที่เขาเพิ่งกลับมาจากญี่ปุ่นแล้วทำงานในบริษัทของพี่ชาย
เขาโดนผู้ใหญ่ในฝ่ายบริหารบอกว่าบิลลิ่งปีนี้ต้องเพิ่มขึ้น 2 เท่า
สุรชัยเลยคิดต่อว่า ถ้าเขาทำเพิ่มขึ้นได้ 2 เท่าได้แล้ว โดนบอกให้เพิ่มอีก 2 เท่าจะทำยังไง สุรชัยเลยศึกษาว่าโลกนี้มีอะไรที่ทำให้เร็วขึ้นได้บ้าง คำตอบคือ อุตสาหกรรมรถยนต์
เมื่อก่อนรถ 1 คันใช้เวลาผลิตหลายเดือน เดี๋ยวนี้เหลือแค่ไม่กี่นาที
เขาเลยบินไปดูพิพิธภัณฑ์ของโตโยต้าที่เมืองนาโกย่า แล้วก็พบรหัสอะไรบางอย่าง
โตโยต้าเริ่มจากการเป็นโรงงานทอผ้า
ด้วยความที่เข้าใจระบบกลไกดีเลยพัฒนามาผลิตรถยนต์ มีโรงงานทอผ้าอีกแห่งพบความสัมพันธ์ว่าการทอลายบนผ้าเหมือนกับจุดสี
CMYK เลยเปลี่ยนมาผลิตคอมพิวเตอร์สำหรับตกแต่งภาพยี่ห้อชิมาเซกิ

ช่วงที่เรียนที่ญี่ปุ่น
บริษัทตกแต่งภาพที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นชื่อ Nippon Color
Engineering กำลังทำ 3 เรื่องในเวลานั้น งานหลักคือแต่งฟิล์ม
ซึ่งถือเป็นยุคปลายแล้ว งานต่อมาคือการแต่งภาพด้วยคอมพิวเตอร์ชิมาเซกิ
และงานใหม่ล่าสุดคือการใช้โปรแกรม 3D สร้างโมเดลทำโลโก้ง่ายๆ
สำหรับใช้ในงานโฆษณา

สุรชัยเห็นแล้วว่าทิศทางของงานตกแต่งภาพจะไปทางไหน

เขาพบรหัสลับอีกอย่าง
ถ้าอยากรู้ว่าการใช้ภาพในวงการโฆษณาจะไปทางไหนให้ดูจากโฆษณารถยนต์
เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีเงินเยอะ
ตอนนี้งานโฆษณารถยนต์ในยุโรปไม่มีการถ่ายรูปมารีทัชแล้ว แต่ใช้ภาพจาก CGI ทั้งหมด โดยใช้ภาพจากไฟล์ที่ดีไซเนอร์ออกแบบรถเลย
เลยไม่มีทางที่จะไม่เหมือน เผลอๆ เหมือนกว่าของจริงอีก

2 ปีก่อน สุรชัยไปดูงานของ Adobe แล้วพบว่าชีวิตนักรีทัชของเขาจบแล้ว
เพราะบริษัทมหาอำนาจด้านซอฟต์แวร์ออกแบบมีแนวคิดจะพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ลูกค้าทั่วไปใช้งานง่ายที่สุดแต่ได้คุณภาพเหมือนมืออาชีพที่สุด
นั่นแปลว่าพวกมืออาชีพต้องตายแน่ๆ

เมื่อก่อนสุรชัยไปดูนิทรรศการเพื่อเอาความรู้ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนความรู้ก็เปลี่ยน
เขาเลยเปลี่ยนใจไปเพื่อหาคีย์เวิร์ดคำเดียวจากแต่ละงาน
เขาจะแกะมันให้ได้ก่อนขึ้นเครื่องกลับ

“ถ้าไม่อยากตาย เราก็ต้องทำในสิ่งที่ยากขึ้น”
คือคีย์เวิร์ดนั้น

สุรชัยเป็นนักเก็บสถิติ ดูบิลลิ่งทุกสัปดาห์
ดูความเคลื่อนไหวของสไตล์งาน คาดการณ์ได้ว่า
บิลลิ่งเดือนไหนจะเป็นบิลลิ่งเฉลี่ยของปีหน้า เขาสนใจมันครั้งแรกตอนอยู่ญี่ปุ่น เมื่อได้ฟังข้อมูลทางวิทยุบอกประมาณว่า วันไหนฝนตกยอดขายนมจะเพิ่มเป็น
2 เท่า เขาก็เริ่มสนใจในความสัมพันธ์บางอย่างที่มีอยู่ขึ้นกับว่าเขาจะหามันเจอ

สุรชัยเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์คือการหาความเหมือนในสิ่งที่ต่าง
และหาความต่างในสิ่งที่เหมือน

สินค้าส่งออกหลักของฟินแลนด์คือ
เยื่อกระดาษ และแบรนด์ดังของฟินแลนด์คือ โนเกีย
เขาพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างของสองอย่างคือการสื่อสาร เป็นการเปลี่ยนจากแอนะล็อกเป็นดิจิทัล

คำถามที่เขาถามตัวเองมาตลอด
20 ปี คือวิวัฒนาการของบริษัทรีทัชจะกลายเป็นอะไร จากทฤษฎีดูต้นน้ำและเก็บสถิติ เขามั่นใจว่ามันคือ CGI


10

ผมไม่ได้ขุดหลุม แต่กำลังปลูกป่า

“ตอนไปญี่ปุ่นผมคิดว่าผมจะเป็นซามูไร เป็นนักรบให้กษัตริย์
ไม่ได้อยากเป็นกษัตริย์” สุรชัยเล่าย้อนถึงเป้าหมายชีวิตที่วางไว้

เขาไม่เคยคิดจะเปิดบริษัทของตัวเอง
เมื่อกลับมาก็ทำงานในบริษัทของพี่ชายที่ชื่อ Kamarart Studio งานส่วนใหญ่ของเขาเป็นกราฟิกดีไซน์ ออกแบบโบรชัวร์
สื่อสารด้วยรูปกับตัวหนังสือ เขาสังเกตว่างานที่ทำมีตัวหนังสือผิดตลอด
ตรวจกี่รอบก็ผิด เลยถามตัวเองว่ามีงานแบบไหนบ้างที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับตัวหนังสือ
ซึ่งมันก็เริ่มสอดคล้องกับความฝันอีกก้อน

ตอนเรียนปริญญาโท เขาเคยคิดว่าอยากสร้างบริษัทที่ครีเอทีฟเดินเข้ามาเล่าไอเดียหรือสเกตช์บนกระดาษ
แล้วเขาจะทำภาพให้เป็นจริงโดยไม่ต้องใช้รูปถ่าย คล้ายเขาเนรมิตภาพนั้นขึ้นมาด้วยคอมพิวเตอร์

“ผมได้อ่านหนังสือเรื่องคนปลูกป่า มีคนคนหนึ่งเดินเข้าไปในเมือง
เจอชายคนแรกขุดดินอยู่ข้างทาง เขาถามว่าทำอะไรอยู่ ชายคนนั้นตอบว่า ขุดดินอยู่ เดินไปอีกหน่อยก็เจอคนกำลังขุดดิน
ชายคนนี้บอกว่า กำลังปลูกต้นไม้ เดินไปอีกก็เจอคนขุดดินอีก แต่ชายคนนี้บอกว่า
เขากำลังปลูกป่า 3 คนนี้ทำสิ่งเดียวกัน แต่สิ่งที่อยู่ในหัวไม่เหมือนกัน” สุรชัยเล่าได้เห็นภาพ “ภาพป่าในหัวผมชัดมาก
และต่างจากคนรอบตัวมาก”

หลังจากที่ทำงานกับพี่ชายมา 7 – 8 ปี
สุรชัยก็ตัดสินใจเปิดบริษัทของตัวเองชื่อ illusion ในปี 2001
ชื่อนี้สื่อความหมายถึงวงการโฆษณาที่เป็นวงการแห่งการสร้างภาพมายา
และความตั้งใจที่บริษัทของเขาจะสร้างภาพที่ไม่มีอยู่จริงให้เหมือนจริง เขาเริ่มต้นจากการทำงานรีทัช
แต่มีปลายทางที่ชัดเจนรออยู่แล้วว่าจะทำ CGI

ยุคนั้นโปรดักชันเฮาส์ส่วนใหญ่นิยมตั้งออฟฟิศย่านทาวน์อินทาวน์
แต่เขาคิดต่าง “จะให้ลูกค้ามาหาเราหรือเราไปหาลูกค้า
ถ้าให้ลูกค้ามาหา เราทำงานที่บ้านก็ได้ ผมคิดว่าเราควรไปหาลูกค้า
เลยเอาแผนที่กรุงเทพฯ มากางแล้วเขียนตำแหน่งเอเจนซี่ทั้งหมดลงไป
ลากเส้นจากจุดที่อยู่ตรงกลาง ที่นี่คือจุดที่อยู่ตรงกลางพอดี” สุรชัยชี้นิ้วลงกับพื้น

ป่าของสุรชัยเลยขึ้นมาตั้งอยู่บนชั้นเพนเฮาส์ของตึกหรูย่านหลังสวน

เริ่มแรกบริษัทของสุรชัยตั้งอยู่ที่ชั้น
25 ตอนนั้นเขามีพนักงาน 10 คน แต่เช่าพื้นที่ไว้เผื่อสำหรับพนักงาน 20 คน
เพราะคิดว่าบริษัทของเขาต้องโต ภายในเวลาปีเดียวเขาก็ย้ายขึ้นมาอยู่ที่ชั้น 26
ซึ่งเป็นชั้นเพนต์เฮาส์บนสุดของตึก เหมายกชั้น

“ผมไม่ได้รวยขึ้นนะ วันที่ผมมาอยู่ตึกแถวนี้ร้างหมด
ผมชอบเดินดูที่ว่าง วันนึงได้เดินขึ้นมาดูชั้นนี้
วิวมันสวยที่สุดแห่งนึงในกรุงเทพฯ เลยนะ ผมจะเอาตรงนี้แหละ เอาทั้งชั้น
ใหญ่แค่ไหนก็จะเอา ผมเรียนรู้แล้วว่า ต้องทำให้ไปถึงภาพสุดท้ายที่เรามีให้เร็วที่สุด
ถ้าต้องทำอะไรแลกเพื่อให้ได้มาก็ต้องทำ” สุรชัยเปรียบเทียบว่า
มันก็เหมือนกับตอนที่เขาเลิกทำร้านอาหารไปเรียนคอมพิวเตอร์ที่ญี่ปุ่น

ไม่มีอะไรที่เราจะได้มาโดยไม่เสียอะไร

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 149 มกราคม 2556)

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่

ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ตอนที่ 4

ภาพ นิติพัฒน์ สุขสวย

AUTHOR