4
ผมคือนักก๊อปปี้ตัวฉกาจ
สุรชัยเรียนมาทางสายวิทย์ และทำคะแนนได้ค่อนข้างดี แต่สุดท้ายเขาก็หลงเสน่ห์ศิลปะจนกลายมาเป็น 1 ใน 20 ของนักศึกษาสาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่นแรก ในปี 2526
ตอนเด็กๆ เขาคิดว่า วิชาศิลปะคือการวาดรูป แต่พอไปเรียนกลับพบว่า นี่คือโลกอีกใบที่เขาไม่รู้จักเลย ไม่รู้เลยว่าสีน้ำมัน สีน้ำ ต้องวาดยังไง ไม่ได้ชำนาญเหมือนเพื่อนที่มาจากช่างศิลป์หรือเพาะช่าง อดีตนักกีฬาระดับหัวแถวอย่างสุรชัยกลายเป็นศิลปินติดกลุ่มรั้งท้ายของรุ่น
“เวลาผมยืนดรอว์อิ้งข้างใคร สไตล์รูปจะออกมาเหมือนคนนั้นเลย” สุรชัยเล่ากลั้วเสียงหัวเราะ การแปลงภาพวัตถุทรงสามมิติให้มาเป็นลายเส้นนั้นยากสำหรับเขา ไม่เหมือนการก๊อปปี้ภาพวาดของเพื่อน เห็นใครวาดสไตล์ไหนแล้วได้คะแนนดีก็ทำตาม “ตอนเด็กๆ ผมมีคุณสมบัติอย่างนึง เห็นนิดเดียวแล้วจำได้เลย ดูบาส NBA แป๊บเดียวผมทำท่าตามได้ ตาผมพิเศษมาก ดูหนังสือรวมภาพวาดของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ก็จำชุดสีได้ พอเอาไปใช้ในงานอาจารย์ก็ชมว่าสีของผมสวยมาก ผมเป็นนักก๊อปปี้ตัวฉกาจเลย” สุรชัยหัวเราะอีกรอบ
แนวคิดในการวาดรูปของสุรชัยเปลี่ยนไปตอนเรียนปี 3 ช่วงนั้นเขาชอบใช้กล้อง Leica M3 ของคุณพ่อออกไปถ่ายรูป แต่ค่าฟิล์มมันแพงเขาก็เลยไม่ใช่ฟิล์ม เล็งวิวไฟน์เดอร์ ดูองค์ประกอบภาพให้ลงตัว แล้วกดชัตเตอร์ “แม่งสวยว่ะ” เขาพูดถึงภาพที่ตัวเองมองเห็นผ่านวิวไฟน์เดอร์ “ผมอยากวาดภาพให้ได้แบบนี้บ้าง เลยเปลี่ยนมาวาดแนวเหมือนจริงแบบซูเปอร์เรียลิสติก เขียนแก้วให้เหมือนแก้ว เขียนผ้าให้เหมือนผ้า ซึ่งเป็นเบสิกสุดๆของงานศิลปะ ใครๆ ก็เขียนได้ แต่ตรงกับจริตของผมมาก”
จะบอกว่าเขาเปลี่ยนจากการก๊อปสไตล์ของเพื่อนมาเป็นก๊อปของจริงก็ไม่ผิด
โปรเจกต์จบของเขาทำเรื่อง ‘สภาพแวดล้อมลวงตา’ งานของเขาจะแขวนโชว์บนกำแพงอิฐ เขาก็วาดภาพขนาด 3 x 3 เมตร เป็นรูปกำแพงอิฐนั้น ดูเผินๆ จะไม่เห็นว่านี้คือภาพวาด พอไปเรียนที่ญี่ปุ่นเขาก็ยังคงวาดรูปในคอนเซปต์นี้ งาน CGI ที่เขาทำอยู่ทุกวันนี้ก็คือการทำภาพเหมือนแบบซูเปอร์เรียลิสติกนั่นเอง
illusion กลายมาเป็นชื่อบริษัทของเขาในที่สุด
ฝีไม้ลายมือด้านศิลปะของเขาไม่ธรรมดา ได้ร่วมแสดงในงานศิลปกรรมแห่งชาติสาขาจิตรกรรม ซึ่งคัดจากศิลปินทั่วประเทศ และในการประกวดศิลปกรรมเฉพาะนักศึกษาในเชียงใหม่ เขาก็ได้รางวัลที่ 1
แต่เขาไม่เลือกเป็นศิลปิน
“ผมไม่ชอบไลฟ์สไตล์ของศิลปินเมืองไทยที่ผมเห็นตอนนั้น อีกอย่าง ผมชอบทำงานสั้นๆ เสร็จเร็วๆ” ในที่สุดก็พบว่าตัวเองชอบงานออกแบบโปสเตอร์ โลโก้ พอเรียนจบมหาวิทยาลัยเขาเลยไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นด้วยความมุ่งมั่น รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร
เขาอยากเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์โฆษณา
5
ญี่ปุ่นห่างจากเมืองไทย 2 ชั่วโมง แต่ต่างกัน 40 ปี
“ผมได้อะไรกลับจากญี่ปุ่นเยอะมาก
ทุกวันนี้ยังใช้ไม่หมดเลย” สุรชัยหมายความตามนั้นจริงๆ
ด้วยความสนใจในงานกราฟิกดีไซน์ของญี่ปุ่นและเซน
ทำให้สุรชัยตัดสินใจบินมาเรียนต่อที่โตเกียว
บัณฑิตจิตรกรรมคนนี้มีเป้าหมายว่าจะกลับมาทำงานที่บริษัท
การลดชั้นกลับไปเรียนระดับอาชีวะจะได้ฝึกปฏิบัติทุกวัน
ซึ่งน่าจะดีกว่าการทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท
สุรชัยเลือกเรียนโฆษณาซึ่งที่นั่นใช้คำที่กินความหมายกว้างกว่า Communication
Design ในโรงเรียน Tokyo Design Gakuin
“ผมเลิกเชื่อว่าต้องเรียนให้สูงถึงจะประสบความสำเร็จ
เรียนให้ถูกต้องต่างหากที่จะประสบความสำเร็จ” สุรชัยเคยเขียนอธิบายการเลือกเรียนอาชีวะไว้แบบนั้น
“ญี่ปุ่นห่างจากไทยแค่
2 ชั่วโมง แต่ดูต่างกันตั้ง 40 ปี นี่กูเดินผ่านอุโมงค์มหัศจรรย์ออกมานี่หว่า” สุรชัยย้อนนึกถึงความรู้สึกตอนที่ไปถึงญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อปี
1988 เขารู้สึกเหมือนตัวเองกำลังอยู่ในหนังที่ตัวเอกได้ออกเดินทางไปในอนาคต
เลยเหมือนในหนังว่า จะเอาทุกอย่างที่ใช้เป็นอาวุธในการทำงานกลับมาเมืองไทย
สุรชัยบอกว่า
เขาโชคดีมากที่ได้เจอครูดีๆ มากมาย ทีครั้งหนึ่งเขาเอางานที่วาดมาวางหน้าห้อง
ครูก็ถามกลับทันทีว่าไปลอกงานใครมา เพราะคนจากประเทศร้อนไม่มีทางใช้ชุดสีแบบนี้ ว่าแล้วก็ไล่ให้เขาเข้ามิวเซียมไปดูงานไฟน์อาร์ต
ดูการใช้สีและเทคนิคแบบต่างๆ เมื่อเขารู้ตัวว่าความรู้เรื่องไฟน์อาร์ตเขาว่างเปล่ามาก
สุรชัยเลยต้องเริ่มต้นเรียนใหม่ผ่านการมองนอกห้องเรียน
เดินทางทุกซอกซอยในญี่ปุ่น เจอมิวเซียมที่ไหนเข้าฟรีก็เข้าไปทุกวัน
ดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า
สิ่งที่มีอิทธิพลกับตัวเขาอีกอย่างในญี่ปุ่นก็คือ
เพื่อนชาวจีนในโรงเรียนสอนภาษา “แม่งโคตรขยันเลย ผมทำงานเก็บขยะตามสำนักงานวันละ 2
ชั่วโมงก็โอเคแล้วนะ แต่มันทำควบ 3 กะ เกือบถึงเช้า แล้วก็ตื่นมาเรียนต่อ ท่องศัพท์ได้ด้วย” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
เมื่อเห็นเพื่อนจีนใช้ชีวิตแบบสุดคุ้ม เขาก็เอาบ้าง “ผมถนัดเรียนแบบสิ่งรอบตัว”
สุรชัยหัวเราะเสียงดัง เขาไม่ได้ใช้เวลาไปกับการทำงานเหมือนเพื่อนจีน
แต่เขาเอาเวลาไปดูงานศิลปะ
ในปีแรกเพื่อนร่วมรุ่นของเขาซึ่งเพิ่งจบมัธยมกันมา
ไม่มีใครดรอว์อิ้งสู้บัณฑิตจิตรกรรมอย่างเขาได้ แต่พอขึ้นปี 2 งานของน้องๆกลับพัฒนาแซงหน้าเขา “เด็กพวกนี้โตมากับสภาพแวดล้อมจริงๆ” สุรชัยวิเคราะห์
“ผมเรียนวาดรูปโดยดูรูปจากหนังสือ ไม่เคยได้นั่งเก้าอี้ดีๆ ไม่เคยใช่ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบบดีๆ
วัตถุดิบที่มีในหัวผมแทบจะเป็นศูนย์ แต่เด็กพวกนี้มีประสบการณ์ตรง อย่างที่ผมเรียกว่าได้เห็นสัดส่วน
1 ต่อ 1 เขาจับขวดแก้วสวยๆมาเป็นสิบปี
เวลาออกแบบเลยดูดีมีรสนิยม”
สุรชัยเล่าถึงเพื่อนร่วมคลาสออกแบบคนหนึ่งของเขา
“มันบ้ามนุษย์อวกาศมาก เวลาโรงเรียนมีงานเลี้ยงสำคัญๆ แล้วตรงกับ NHK ถ่ายทอดสดเกี่ยวกับอวกาศ มันจะไม่มาเลย ต้องดูถ่ายทอด ในวิชาครีเอทีฟ ครูให้โจทย์ว่าออกแบบอะไรก็ได้
มันออกแบบอะไรรู้ไหม มันออกแบบท่าเดินในอวกาศ” เขาสบถให้ในความสร้างสรรค์ของเพื่อน
“ผมไม่มีทางคิดได้เลย พอถามว่าทำไมต้องเดินแบบนี้
มันก็มีข้อมูลบอกว่าในเงื่อนไขแบบนี้ๆ ต้องเดินแบบนี้ การเอางานอดิเรกที่เราชอบซึ่งมีข้อมูลอยู่แล้วมาดีไซน์ที่มัน…
จบเลย ไม่เหมือนเมืองไทย ให้เด็กดีไซน์เรื่องวัด ก็มีแต่เงาแบบอาจารย์ปรีชา เถาทอง
เพราะเราไม่มีอะไรในหัวเลย”
เครื่องเริ่มติด
เขาก็เล่าต่ออีกเรื่อง
ตอนเรียนปี
2 มีวิชาหนึ่งที่เก็บผลงานตั้งแต่ต้นปีรวมมาส่งเป็นพอร์ตโฟลิโอปลายปี
หน้าสุดท้ายเป็นประวัติของศิลปิน
สุรชัยเอารูปถ่ายติดบัตรของเขาใส่ซองพลาสติกอย่างดีแล้วแม็กรูปติดไว้กับพอร์ตอย่างเรียบร้อย
งานทุกชิ้นในเล่มเขาได้เกรด A มาหมด
แต่พอร์ตโฟลิโอเล่มนี้เขาได้เกรด D
“อาจารย์เรียกผมมาคุยเลย เขาบอกว่าครั้งนี้จะสอนให้ผมจำไปตลอดชีวิต
อะไรก็ตามที่เป็นของลูกค้า มีรูปเดียว คุณห้ามทำมันเสียหายเด็ดขาด
นี่คือคุณสมบัติที่จะทำให้ผมเป็นมืออาชีพในอนาคต ตอนนั้นผมไม่เข้าใจ
ไม่มองหน้าอาจารย์เป็นอาทิตย์ สุดท้ายสิ่งนี้ก็ฝังแน่นอยู่ในตัวผม
การลงโทษบางอย่างก็สำคัญ ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา
ไปถามลูกค้าของผมคนไหนก็ได้ ไม่เคยมีใครเห็นงานของลูกค้าคนอื่นนะ
ผมถือเป็นความลับที่สุด” สุรชัยหยิบชาร้อนขึ้นจิบ
ก็คงจะเป็นอย่างนั้น
ขนาดผมขอดูงานชิ้นใหม่เอี่ยมที่เขาทำให้เอเจนซี่ชื่อดังอย่าง Droga5 ออสเตรเลีย และ Y&R ปานามา
ซึ่งเขาภูมิใจเป็นหนักหนา เขายังไม่ยอมให้ดู และไม่บอกด้วยว่าเป็นงานของสินค้าอะไร
และเป็นงานรูปแบบไหน
ไม่เป็นไร
ผมจะรอดูงานนี้ที่คานส์
6
เริ่มเรียนเมื่อเลิกเรียน
สุรชัยมีความฝันอยากเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์
ช่วงเวลา
2 – 3 ปีที่อยู่ในญี่ปุ่น ฝีไม้ลายมือของเขาได้รับการพิสูจน์แล้วโดยรางวัลจากหลายเวทีประกวด
เขาคิดว่าน่าจะลองเริ่มต้นอาชีพนี้ที่แดนอาทิตย์อุทัย เลยสมัครงานกับบริษัทเล็กๆ
เจ้าของบริษัทถามเขาว่า ชอบกราฟิกดีไซเนอร์คนไหน สุรชัยตอบไปว่า คัตซุมิ อะซะบะ เจ้าของบริษัทเลยบอกว่ารอเดี๋ยว
แล้วต่อสายหาอะซะบะเพื่อนัดให้นักออกแบบหนุ่มชาวไทยเข้าไปพบ
ประมาณว่าเป็นช่างสกุลเดียวกันควรได้พบกัน
“การเรียนมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นเป็นแค่การปรับตัวจากเด็กสู่คนทำงาน
คนที่เรียนจบมาจะไม่ค่อยเก่งเมื่อเทียบกับคนไทย
ไม่ว่าจะเข้าบริษัทเล็กบริษัทใหญ่ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่หมด นับไปเรื่อยๆ
พออายุสัก 35 เขาจะเก่งกว่าคนไทยทุกคน เพราะพอเราออกจากมหาวิทยาลัยก็หยุดเรียน
ถ้าคิดว่าจบมหาวิทยาลัยแล้วเริ่มเรียน ยังไงก็ชนะทุกคน” สุรชัยอธิบายต่อว่า
การที่เจ้าของบริษัทนัดให้เขาไปเจอกับอะซะบะ ก็ถือเป็นการเรียนรูปแบบหนึ่ง
เขาอยากให้สุรชัยได้เรียนรู้กับครูถูกคน
สุรชัยก็ไม่รู้เหมือนกันว่า
ทำไมบริษัทนี้ถึงดูแลคนที่มาสมัครงานซึ่งก็ไม่ได้รับดีขนาดนี้
ที่ออฟฟิศของอะซะบะมีโต๊ะปิงปองตั้งอยู่ สุรชัยรู้ภายหลังว่าเขาเคยเป็นนักปิงปองทีมชาติญี่ปุ่นมาก่อน
นั่นทำให้เขานึกถึงสถาปนิกคนโปรดอย่าง ทาดาโอะ อันโดะ ซึ่งเคยเป็นนักมวย “คนที่มีพื้นฐานกีฬาเมื่อมาทำงานศิลปะมันจะมีอะไรบางอย่างที่พิเศษ
ผมชอบสเปซในงานของอันโดะมาก ผมไม่เคยเจอที่ไหนเลย
เวทีมวยเป็นสเปซที่ต่างจากกีฬาทุกชนิด เพราะมีเชือกที่ยืดหยุ่นเป็นรั้ว
จะมีสถาปนิกกี่คนที่เคยได้อยู่บนสเปซอย่างเวทีมวย” อดีตนักบาสวิเคราะห์
ในเมืองไทยไม่ค่อยมีใครอยากเป็นกราฟิกดีไซเนอร์
มีแต่คนอยากเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์เพราะรู้สึกว่าใหญ่กว่า
แต่อะซะบะกลับเป็นกราฟิกดีไซเนอร์จนแก่
เขาบอกว่าสองอาชีพนี้เป็นงานคนละแบบที่ไม่มีตำแหน่งไหนใหญ่กว่ากัน
ใครถนัดยังไงก็ควรทำอย่างนั้น
อะซะบะชอบงานของสุรชัย จนได้ร่วมงานกันในอนาคต
แต่วันนั้นกราฟิกดีไซเนอร์รุ่นใหญ่ของญี่ปุ่นให้คำแนะนำง่ายๆ
ที่ส่งผลต่ออาชีพของสุรชัยถึงทุกวันนี้ “เขาถามว่า ทำไมผมไม่เป็นอิลลัสเตรเตอร์
จะเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ทำไม ผมก็งงว่าจะมาลดชั้นผมทำไม เขาอธิบายว่า งานส่วนใหญ่ของผมเป็นงานเพนต์
ผมเป็นอิลลัสเตรเตอร์ในญี่ปุ่นได้ทันที
แต่ถ้าจะเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ต้องเรียนรู้ใหม่ และสิ่งที่สำคัญ
ถ้าผมจะเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ ผมต้องทำงานกับลูกค้า นักการตลาด ซึ่งพูดคนละภาษากับผม
แต่ถ้าผมเป็นอิลลัสเตรเตอร์ ผมจะได้ทำงานกับอาร์ตไดเรกเตอร์ซึ่งพูดภาษาเดียวกับผม
นั่นคือ ภาษาศิลปะ” สุรชัยรินชาจากกาเติมลงในแก้วที่ว่างเปล่า
วันนั้นเขายังไม่ยอมรับความคิดนี้
แต่สุดท้ายเขาก็เป็นอิลลัสเตรเตอร์มา 20 ปีพอดี
และเป็นอิลัสเตรเตอร์อันดับ
1 ของโลกด้วย
7
ชีวิตก็เหมือนรถไฟที่เปลี่ยนรางไปเปลี่ยนรางมา
“ตอนจับเมาส์คอมพิวเตอร์ครั้งแรก
ผมรู้สึกว่านี่มันบาสนี่หว่า นี่คือภาคต่อของบาส”
สุรชัยเล่าถึงการลองใช้คอมพิวเตอร์ครั้งแรกในบูทที่แอปเปิ้ลเอาคอมมาให้คนลองใช้
ครั้งนั้นมีหลายคนสับสนว่าต้องมองมือหรือมองเคอร์เซอร์
แต่สุรชัยใช้ได้คล่องแคล่วตั้งแต่ครั้งแรก
หลังจากนั้นเขาก็ไม่มีโอกาสได้เข้าใกล้คอมพิวเตอร์อีกเลย
จนกระทั่งมาทำงานในร้านอาหารไทย
มีชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเดินเข้ามาถามหาคนไทยในร้านที่สุรชัยทำงาน
เขาอยากหาคนที่อ่านภาษาไทยได้ไปช่วยทำคาราโอเกะภาษาไทยให้ผู้หญิงไทยร้องในบาร์
พอรู้ว่าสุรชัยเรียนดีไซน์เลยชวนทำรูปกราฟิกนิ่งๆ ประกอบเพลงด้วย
สุรชัยสนใจแต่ทำคอมพิวเตอร์ไม่เป็น บริษัทนี้เลยบอกว่า ไม่เป็นไร พวกเขาจะสอนให้
โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมาเรียนทุกวัน
สุรชัยวิเคราะห์ว่า
ถ้าสอนจนทำงานได้แล้ว การจ้างคนที่มีฝีมืออย่างเขาในเรตของวุฒิอาชีวะมันคุ้มกว่าการจ้างคนจบปริญญาตรีเป็นไหนๆ
แล้วก็อาจจะเป็นเพราะดวงตาที่เป็นประกายพร้อมเรียนรู้ของเด็กหนุ่มจากเมืองไทย
ช่วงนั้นทางบ้านไม่ได้ส่งเงินให้สุรชัยแล้ว
รายได้ทั้งหมดของเขามาจากการทำงานในร้านอาหาร
การลาออกไปเรียนคอมพิวเตอร์จึงทำให้เขาไม่มีรายได้
แต่ถ้าไม่เรียนคราวนี้ก็ไม่รู้จะมีโอกาสอีกไหม เขาใช้เวลาคิดอยู่นาน สุดท้ายก็ตัดสินใจเลือกเรียนคอมพิวเตอร์
นี่คือจุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งที่สองของเขา
Zoom System เป็นบริษัทเล็กๆ ตั้งอยู่ในตึกขนาด 3 คูหา ที่นี่สุรชัยได้เจอโค้ชทีเดียว
6 คน พนักงานในบริษัทสอนให้เขารู้จักเครื่องแมคอินทอชรุ่นดึกดำบรรพ์
และลองใช้โปรแกรมตกแต่งภาพอย่างง่ายที่ทำได้แค่สีเดียว
อาร์ตไดเรกเตอร์รุ่นใหญ่คนหนึ่งเห็นเขาลองใช้คำสั่งต่างๆ อยู่หลายวัน
ก็มาแนะเคล็ดลับว่า การทำรูปก็เหมือนเขียนเรียงความนั่นแหละ
ถ้าเรารู้ศัพท์น้อยก็เลือกเขียนหัวข้อง่ายๆ แทนที่จะทดลองใช้เครื่องมือ
ก็เปลี่ยนมาใช้เครื่องมือที่ง่ายที่สุดอันเดียว วาดรูปด้วยเทคนิคที่ง่ายที่สุด
ช่วงนั้นเขาตั้งใจเรียนรู้มาก ไปตั้งแต่เช้าและกลับพร้อมคนสุดท้าย อยู่จนคนคุมห้องไว้ใจให้ถือกุญแจล็อกห้องเอง
จากโปรแกรมขาวดำก็เลื่อนขั้นมาทำโปรแกรมสี
ในที่สุดบริษัทนี้ก็รับเขาเป็นพนักงานประจำด้วยสัญญาจ้างงาน 6 เดือน
งานแรกของเขาคือทำเพลงประกอบคาราโอเกะ
2 รูป ใช้เวลาทำ 3 สัปดาห์ แล้วส่งให้ทีมปรับแก้อีกสัปดาห์ พอเสร็จงานเจ้านายก็เรียกคนทั้งบริษัทมาดูผลงานของสุรชัย
พอเปิดขึ้นมาสุรชัยพบว่า มันไม่เหมือนงานที่เขาส่งไป มันดูดีขึ้นมาก
เพลงนี้เกี่ยวกับรถไฟในป่า เขาเปิดหารูปรถไฟในห้องสมุดมาวาด
แต่รูปนั้นดันไม่ใช่รถไฟญี่ปุ่น ทีมงานเลยเอาไปแก้ใหม่ทั้งหมด
“ผมรู้สึกผิด
เพราะผมไม่ได้มีส่วนกับงานนี้เลย ผมเลยเอาเงินเดือนไปคืนเจ้าของบริษัท ผมรับไม่ได้จริงๆ
ทั้งที่นั่นคือเงินก้อนเดียวที่จะทำให้ผมมีชีวิตในญี่ปุ่นต่อไปได้” สุรชัยเว้นวรรค ถึงเขาจะไม่มีเงิน แต่ก็มีศักดิ์ศรี
“เจ้าของบริษัทบอกว่า
ไม่เป็นไร รับเงินไปแล้วเรียนรู้ไป โอ้โห ฟังแล้วน้ำตาไหลเลย ผมนั่งร้องไห้อยู่ตรงนั้น
มันเป็นโมเมนต์ที่สุดยอดมาก” สุรชัยเล่าอย่างมีอารมณ์ร่วมเต็มที่
พอเข้าเดือนที่สอง
อาร์ตไดเรกเตอร์รุ่นใหญ่คนเดิมบอกให้เด็กๆ เอาคอมมาตั้งข้างเครื่องสุรชัย
เขากระซิบความลับให้ฟังว่า สุรชัยคือแรงบันดาลใจให้อยากเรียนรู้คอมพิวเตอร์
เขาเคยรู้สึกว่าตัวเองแก่เกินเรียน
แต่วันหนึ่งก็มีเด็กจากประเทศโลกที่สามมาเรียนรู้เหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ พอพวกเขานั่งคุยกันไปนานๆ
ก็สนิทกันมากขึ้น
“เขารู้ว่าผมจบจิตรกรรม
เลยถามว่าเมืองไทยมีศิลปินเยอะไหม ผมบอกว่าเป็นพันคน
แล้วเขาก็ถามว่าวงการโฆษณาที่ผมอยากทำงานล่ะมีครีเอทีฟเยอะแค่ไหน ก็หลายอยู่ แล้ววงการคอมพิวเตอร์
มีน้อยมาก เขาแนะนำผมว่า ลืมเรื่องวงการศิลปะกับโฆษณาไปเลย
กลับเมืองไทยไปซื้อเครื่องแมคอินทอชแล้วขยันเหมือนตอนที่อยู่ที่นี่
ผมจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำภาพด้วยคอมพิวเตอร์ 1 ใน 5 ของเมืองไทยใน 5 ปี”
สุรชัยเว้นจังหวะ “มันเปลี่ยนความคิดผมเลยนะ”
ในญี่ปุ่นมีนิทรรศการขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนวงการโฆษณา
2 งาน คือ Nippon Graphic Exhibition เป็นงานกราฟิกซึ่งสุรชัยเคยได้รางวัลจากเวทีนี้แล้ว
กับ JACA Contemporary Graphic Art Exhibition
เป็นงานอิลลัสเตรชันซึ่งงานของสุรชัยเคยถูกคัดมาแสดงในงานนี้ด้วย
ปีนั้นอะซะบะผู้เป็นกรรมการอยู่ทั้ง 2 งาน อยากนำงานนี้มาแสดงที่เมืองไทย
เลยชวนสุรชัยมาเป็นล่ามให้
วีซ่าของสุรชัยใกล้จะหมดแล้ว
ถ้าเขากลับมาเมืองไทย เขาจะไม่ได้กลับไปทำงานที่ญี่ปุ่นอีก
ในที่สุดเขาก็เลือกกลับบ้าน
เพราะมั่นใจว่าเขาไม่มีทางทำงานได้ดีในประเทศนี้แน่
เขารู้จักความเป็นญี่ปุ่นแค่ภาพ องค์ประกอบ แต่ไม่ได้เข้าใจ
มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและลึกซึ้งมาก
ก่อนกลับสุรชัยไปหาวิศวกรที่คุมซอฟต์แวร์ของบริษัทเพื่อขอก๊อปปี้โปรแกรมกลับมาด้วย วิศวกรคนนั้นเข้าใจและยินดีก๊อปปี้ให้
แต่มีข้อแม้
“เขาให้ผมสัญญากับเขาว่า เมื่อผมเอาซอฟต์แวร์เหล่านี้ไปใช้ทำธุรกิจได้เงินแล้ว
ผมต้องซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์มาใช้ มันคือจรรยาบรรณ ในฐานะที่คุณเป็นดีไซเนอร์
ถ้ามีคนเอางานคุณไปใช้โดยไม่จ่ายเงิน คุณก็ไม่พอใจใช่ไหม” สุรชัยบอกว่าคำสัญญาในครั้งนั้นทำให้เขาใช้โปรแกรมถูกลิขสิทธิ์มาโดยตลอด
สิบกว่าปีให้หลัง สุรชัยกลับไปที่บริษัทนี้อีกครั้ง แต่บริษัทย้ายไปแล้ว
และเขาตามหาข้อมูลของบริษัทนี้ไม่เจอเลย เขาจึงเปรียบคนเหล่านี้ว่าเป็นเหมือนเทวดาที่โผล่มาช่วยเขา
“จังหวะชีวิตบางทีเราก็เป็นคนเลือก เหมือนรถไฟเปลี่ยนรางไปเปลี่ยนรางมา แต่ที่จุดเปลี่ยนของผมทุกครั้ง
มักจะมีคนมายืนบอกว่าควรไปทางไหน”
สุรชัยสรุปความพลิกผันในชีวิตของเขาแบบนั้น
(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 149 มกราคม 2556)
อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ภาพ นิติพัฒน์ สุขสวย