06
หนังสือเล่มแรก
ทุ่งดอกไม้ คือวรรณกรรมเยาวชนเล่มแรกในชีวิตของนิพพานฯ
ตีพิมพ์ในนิตยสาร สตรีสาร ปี 2517 ก่อนจะรวมเล่มในปี 2519
เป็นงานที่เจ้าตัวไม่พอใจนัก เมื่อพิมพ์ซ้ำใหม่ต้องแก้ตอนจบ
เพราะการให้ตัวละครเด็ก 2 ตัวตายพร้อมกัน แล้วยังมีงานศพ นับว่าโหดร้ายเกินไปตามทฤษฎีวรรณกรรมเยาวชน
เขาจึงต้องเปลี่ยนให้ตัวละครฟื้นคืนชีพ
พอเขียนเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้
เขาแม่นยำศาสตร์วรรณกรรมเยาวชนมากขึ้น
“เรื่องราวที่เกิดขึ้นใน ผีเสื้อและดอกไม้
คือชีวิตของผม” อาจารย์มกุฏอธิบายว่าทำไมเขาถึงเขียนได้เร็วขนาดนั้น
“ผมรู้จักตัวละครทุกตัว ตัวละครเด็กก็เป็นเพื่อนที่โตมากับผม ตัวละครผู้ใหญ่
ผมก็เคยยกมือไหว้เขา เคยคุยเคยเล่นกับเขา ตัวละครพ่อก็เป็นกรรมกรแบกหามที่ผมเคารพ เขามาร้องเพลงให้ฟังทุกคืน
ฉะนั้นพอวางโครงเสร็จผมก็เขียนได้ไม่ติดขัด”
หนังสือเกี่ยวกับเด็กทุกเล่มเขาก็เขียนด้วยวิธีการเดียวกัน
และในอัตราเร็วเช่นนี้เหมือนกัน
“หนังสือที่ผมเขียนไม่ใช่เรื่องสูงส่ง
ไม่ได้มีปรัชญามากมาย ไม่ใช่เรื่องตามหลักวิชาการ ผมเขียนถึงธรรมชาติของมนุษย์
ธรรมชาติของความเป็นเด็ก ธรรมชาติของชีวิต ตัวละครทั้งหมดที่เขียนมีตัวผมและใจผมอยู่ในนั้น
ผมเป็นแค่คนเล่าเรื่องให้คนอื่นๆ ฟัง ส่วนเขาจะได้อะไรจากเรื่องเหล่านี้ก็แล้วแต่เขา”
‘ผีเสื้อและดอกไม้’ เริ่มตีพิมพ์ในนิตยสาร
สตรีสาร ปี 2519 ก่อนจะรวมเล่มในปี 2521 หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลจากการประกวดหนังสือแห่งชาติ
แปลเป็นภาษาญี่ปุ่น จีน อังกฤษ และมลายู ติด 1 ใน 100 หนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน กลายเป็นภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์
ถึงตอนนี้มียอดพิมพ์รวมทั้งหมดกว่าสองแสนเล่ม
หลังจากเขียนต้นฉบับ ผีเสื้อและดอกไม้ เสร็จ
ปี 2518 อาจารย์มกุฏได้รับคำชวนให้กลับมาทำงานนิตยสารอีกครั้งในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร
บีอาร์ และได้เป็นบรรณาธิการบริหารในปีถัดมา แล้วย้ายไปเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร
กะรัต นิตยสารที่บนหน้าปกมีสติกเกอร์ใสพิมพ์ข้อความสองภาษาติดไว้ว่า
โปรดทราบ —- นิตยสารกะรัตฉบับนี้
พิมพ์ด้วยกระดาษคุณภาพพิเศษ สำหรับจำหน่ายต่างประเทศ
แม้นิตยสาร กะรัต จะปิดไปแล้ว แต่วิธีการสื่อสารกับผู้อ่านและความใส่ใจเรื่องกระดาษเช่นนี้ยังคงปรากฏเด่นชัดอยู่ในหนังสือทุกเล่มของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
เมื่ออาจารย์มกุฏออกจากนิตยสาร บีอาร์ มาตั้งสำนักพิมพ์ผีเสื้อร่วมกับอาจารย์ผกาวดี
อุตตโมทย์ และอาจารย์ผุสดี นาวาวิจิต
คณะบรรณาธิการอยากได้ต้นฉบับวรรณกรรมเยาวชนจากนักเขียนไทยบ้าง
อาจารย์มกุฏจึงปลอมตัวเป็นนักเขียนใหม่นามว่า ‘วาวแพร’
เขียนด้วยสำนวนภาษาอย่างผู้หญิง ซึ่งเขาคุ้นเคยมาตั้งแต่ทำ ลลนา
ส่งต้นฉบับเรื่อง พราวแสงรุ้ง ซึ่งเขียนจบในเวลา 7
วัน ให้อาจารย์ผุสดีพิจารณาทางไปรษณีย์
ด้วยความคิดว่าถ้านักเขียนหน้าใหม่มีผลงานรวมเล่มได้ นักเขียนอื่นๆ ทั้งเก่าและใหม่คงอยากส่งต้นฉบับให้พิจารณาบ้าง
หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมเยาวชน
จากการประกวดหนังสือแห่งชาติ ปี 2530
เด็กน้อย
หนังสือเล่มที่สองของ ‘วาวแพร’ ได้รับรางวัลกวีนิพนธ์เยาวชนดีเด่นปีเดียวกัน
เพลงดวงดาว
หนังสือเล่มที่สาม ก็ได้รับรางวัลเดิมในปี 2531
เด็กชายจากดาวอื่น
หนังสือเล่มที่สี่ ได้รับรางวัลชมเชยจากเวทีเดิม ในปี 2532
สถิติ 3 ปี 4 รางวัล ทำให้ชื่อของ ‘วาวแพร’
ถูกพูดถึงดังขึ้นเรื่อยๆ
แต่นั่นยังไม่เท่ากับการพูดถึงในแง่ที่ว่า
วาวแพรเป็นใคร ทำไมจึงไม่เคยมารับรางวัล ไม่เคยปรากฏตัว ไม่เคยออกสื่อ
ไม่เคยติดต่อรับค่าเรื่อง ขนาดบรรณาธิการยังไม่รู้ว่าเป็นใคร
คนในวงการวรรณกรรมต่างคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่า น่าจะเป็นนักเขียนดังคนนั้นคนนี้ กระทั่งหลายเสียงเดาว่าหรือจะเป็นนามปากกาจากในรั้วในวัง
เจ้าของนามปากกาตัวจริงจึงต้องออกมาเฉลยผ่านนิตยสาร ไรท์เตอร์ เมื่อปี 2537
ถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของ วาวแพร และให้สัมภาษณ์สื่อครั้งแรกของนิพพานฯ
ในรอบ 15 ปี เป็นจังหวะพอเหมาะพอดีที่ ปีกความฝัน นวนิยายเรื่องใหม่ของ
นิพพานฯ ได้เข้าชิงรางวัลซีไรต์ และเป็นตัวเต็งจ๋า ก่อนที่เรื่อง เวลา ของ ชาติ
กอบจิตติ จะพลิกโผคว้าซีไรต์ไปครอง
หนังสือเรื่องไหนก็ตาม ตัวละครหลักมักเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์แบบ
เว้าแหว่ง ไม่สมประกอบ แต่มีความฝันเด่นชัด
“ผมรู้จักคนเหล่านี้
พวกเขามีความฝันมากกว่าคนปกติธรรมดา เพราะเขามีส่วนขาดไป” อาจารย์มกุฏอธิบาย
“สมมุติเรามีเงิน
10 บาท ถ้าเราจะต้องจ่าย 1 บาทเราไม่เดือดร้อนเลย แต่ถ้าเขามีเงิน 1
บาทแล้วต้องจ่าย 1 บาท เขาจะขาดทันที สิ่งที่ผมอยากทำก็คือ จะถ่ายทอดให้คนที่มี 10
บาทรู้สึกว่า คนที่ขาดตกบกพร่องมีตัวตนอยู่จริงๆ นะ อย่าได้มองข้ามคนเหล่านี้ไป
นึกถึงเขาบ้าง”
การสื่อสารเรื่องของคนด้อยโอกาสเหล่านี้จำเป็นต้องรู้จักวิธีหีบห่อให้ดี
เหมือนตอนที่เขาทำนิตยสาร หนุ่มสาว ร่วมกับปกรณ์ พงศ์วราภา
(ที่นั่นเขาเคยทำหน้าที่ถ่ายนู้ดด้วย) คนหนุ่ม 2 คนคุยกันว่า
ต้องเอาวิตามินมาใส่ในขวดเหล้าที่ยื่นให้คนดื่ม ใส่ครั้งละหยดสองหยด
แล้ววันหนึ่งพวกเขาจะยื่นขวดเหล้าที่มีวิตามินเต็มขวดให้ดื่มแทน
“เราเริ่มหาทางเอาตัวรอดกันมากขึ้น
เหมือนเราว่ายน้ำไม่ค่อยแข็ง พอว่ายออกไปแล้วมีคนมาเกาะเราก็พยายามปัดออก”
อาจารย์มกุฏพูดถึงสังคมที่เปลี่ยนไป
ยุคนั้นเขียนเรื่องคนเป็นโรคเรื้อนเกือบได้ซีไรต์ แต่ถ้าเขียนในวันนี้ไม่รู้จะมีคนอ่านหรือเปล่า
“แต่ถ้าเราจับมือกันคนละข้าง เราอาจถึงฝั่งได้แม้ไม่ต้องว่ายน้ำเลย
ผมอยากให้คนคิดแบบนั้น”
จากประสบการณ์ที่เขียนวรรณกรรมเยาวชนมาทั้งหมด 8 เรื่อง และที่เกี่ยวกับเด็กอีกหลายเรื่อง
เขาพบแล้วว่าหนังสือที่ดีสำหรับเด็กควรจะเป็นอย่างไร
“ไม่ต้องไปสั่งสอนอะไรเขามากหรอก
ให้เขาสนุกที่จะอ่าน
บางทีการตั้งใจจับความดียัดใส่เข้าไปทำให้อ่านแล้วไม่สนุกตั้งแต่ต้น
แต่ถ้าทำให้เขาเห็นว่าตัวสนุกมาแล้ว ให้ไปเล่นกับตัวสนุกก่อน แล้วค่อยบอกว่า
แบ่งตัวสนุกให้เพื่อนเล่นบ้างสิ คุณเล่นมาตั้งนานแล้ว เท่านั้นเอง
เราไม่ต้องบอกเขาว่า แบ่งปัน เห็นแก่คนอื่น หรือ ทำความดี มันเป็นสิ่งที่เขาจะรู้ได้เอง
“หนังสือที่ดีคือ หนังสือที่จรรโลงชีวิตมนุษย์
ตัวสนุกจรรโลงชีวิตเด็ก เพราะเด็กชอบสนุก
คนเศร้าก็ควรจะมีหนังสืออะไรสักเล่มที่จรรโลงความเศร้าของเขาให้หายไป จรรโลงชีวิตให้ดีขึ้น
นั่นแหละคือหนังสือที่ดีที่สุดในแต่ละขณะของแต่ละคน
เราไปบอกไม่ได้หรอกว่าหนังสือคลาสสิกคือหนังสือที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน บางทีเราอาจจะหลงไปกับการกำหนดคำนิยามแต่ไม่ดูความแตกต่างของผู้คน”
ชายผู้เชื่อว่าการทำหนังสือดีก็เสมือนสร้างโบสถ์วิหารอธิบาย
มกุฏ อรฤดี นิพพานฯ และ วาวแพร คือ
นักเขียนที่เขียนหนังสือดี เขียนหนังสือขายดี และเขียนหนังสือเร็วมาก
แต่เขากลับไม่ได้เขียนงานใหม่มา 26 ปีแล้ว
เขาเคยตั้งใจจะเขียนหนังสือประวัติชีวิตถวัลย์
ดัชนี เช่นเดียวกับระวี ภาวิไล หลังจากตามเก็บประวัติชีวิตมาหลายสิบปี
สุดท้ายเขาก็ล้มเลิกโครงการทั้งสองไปเพราะติดขัดเรื่องเวลา
แล้วเขาเอาเวลาไปทำอะไรหมด
“ทำหนังสือให้คนอื่น” เขาตอบทันที
“เพราะงานของคนอื่นมีสัญญาบังคับอยู่ว่าต้องเสร็จเมื่อไหร่ ไหนจะงานจัดการ วันหนึ่งข้างหน้าถ้างานไม่เยอะขนาดนี้
จัดการภาระที่ค้างเสร็จ หรือมีใครมาช่วย แล้วมีเวลาสัก 11 คืน
ผมก็อาจจะเขียนหนังสือได้อีก”
วันนี้ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์จึงมีงานเขียนให้เราติดตามเพียงบันทึกความคิดในเฟซบุ๊ก
เป็นการฝึกเขียนบันทึกยาวๆ ให้สั้นที่สุด จบภายในหนึ่งถึงสองประโยค
เมื่อสะสมสิ่งเหล่านี้ได้มากพอ อาจได้นำไปใช้ในการเขียนเรื่องยาวคราวต่อไป
ด้วยสถานะนักเขียนระดับรางวัลล้นตู้ และครูผู้พร่ำสอนคนมากมายเรื่องหนังสือ
เขาบอกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีความกดดันอะไรกับงานเขียนชิ้นต่อไปเลย
“ถ้าผมจะพิมพ์งานชิ้นใหม่ มันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับงานชิ้นเก่า
ถ้ามันจะเลวลงก็เพราะฝีมือของเราไม่ได้ดีขึ้น วิจารณ์ผมได้ ผมรับได้
ยิ่งเป็นคำวิจารณ์ที่ดีก็ยิ่งมีประโยชน์”
07
หนังสือทุกเล่มคือชีวิตของผม
บทสนทนาของเราหยุดลงชั่วคราว เพื่อหลีกทางให้จาน ‘เปาะเปี๊ยะดอนฯ’ อาหารว่างยามบ่าย
ร้านขายเปาะเปี๊ยะเคลื่อนที่เจ้านี้เริ่มมาขายช่วงที่ชาวผีเสื้อปิดสำนักพิมพ์
2 ปี ไม่ทำงานอื่นใดนอกจากหนังสือเรื่อง ดอนกิโฆเต้ฯ
พวกเขากินเปาะเปี๊ยะเจ้านี้ทุกบ่ายจนตั้งชื่อให้ตามหนังสือที่กำลังง่วนทำ
พอท้องอิ่มเราก็ทำงานต่อ “อาจารย์ทำงานหนักไหมครับ”
“หนัก”
ผู้ทำหนังสือจนได้รับอิสริยาภรณ์ศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ชั้นอัศวินจากรัฐบาลฝรั่งเศส
ตอบทันทีแบบไม่ต้องคิด “ผมทำงานหนักตลอดทั้งชีวิต
ผมทำงานหนักมากมาตั้งแต่เด็ก ตอนทำสำนักพิมพ์บางช่วงเราไม่มีสตางค์จ้างคนมากนัก
ผมต้องทำงานวันละ 15 ชั่วโมง”
ชีวิตประจำวันของเขาในวันปกติไม่หนีจากนี้สักเท่าไหร่
เขาพักอยู่ชั้นบนของสำนักงาน ตื่นนอนราวสิบโมง เริ่มทำงานบ่ายโมง
เลิกงานประมาณตีสามตีสี่ เขาบอกว่าตอนนี้บ้างานน้อยลง เมื่อก่อนเลิกงานราวแปดโมง
ทักทายพนักงานที่เข้ามาทำงานตอนเช้าก่อนเข้านอน พักนอนสัก 5
ชั่วโมง ตอนบ่ายก็กลับมาทำงานต่อ
เขาไม่มีเวลาหลังเลิกงาน
วันธรรมดาหรือเสาร์อาทิตย์ไม่แตกต่าง
เขาหยุดงานเพราะป่วยปีละครั้ง นอกนั้นทุกวันคือวันทำงาน เขาทำงาน จนนึกภาพตัวเองตอนไม่ได้ทำงานไม่ออก
“โห ผมกลัวมาก
ผมเข้าใจเลยว่าทำไมนักเขียนหลายคนถึงฆ่าตัวตายเมื่อทำงานไม่ได้
หรือดูถูกงานที่ตัวเองกำลังทำ อยู่ไปก็เสียชื่อ แต่ผมโชคดีตรงที่ผมไม่ได้เก่งมาก
จึงไม่กลัวว่างานที่ทำจะไม่ดีเท่าของเดิม แล้วก็คงไม่ฆ่าตัวตาย” เจ้าของรางวัลช่อการะเกดเกียรติยศจากสำนักช่างวรรณกรรม หัวเราะ “ผมนึกไม่ออกจริงๆ
ว่า ถ้าถึงวันที่ไม่ได้ทำงานจะอยู่ยังไง สาบานได้ว่า ผมไม่เคยคิดที่จะเลิกทำงาน”
อาจารย์ผู้เป็นที่เคารพรักของลูกศิษย์ลูกหาบอกว่า
คนที่เขาเคารพนับถือที่สุดคือ คนที่ทำงาน
“การทำงานมันมากกว่าแค่ทำงาน
ถ้าใครสักคนทำงานได้ดี ทำอย่างรับผิดชอบ อย่างรอบคอบ อย่างประณีต
มันไม่ใช่ยานพาหนะที่สักแต่แล่นได้ แต่มีวิญญาณบางอย่างอยู่ในการทำงานด้วย
และงานนั้นต้องเป็นงานซึ่งไม่หวังประโยชน์ให้ตัวเองไปเสียทั้งหมด
มีบางส่วนที่เจือจานไปหาผู้อื่นด้วย นั่นคือคนทำงานที่ผมเคารพ เขาจะอายุน้อยแค่ไหนก็ตาม”
ชายผู้ทำหนังสือจนได้รับยศเป็นอัศวินอธิบาย
“เวลาที่เราประสบปัญหายุ่งยากเรื่องงานนี่มันเศร้านะ
ตอนทำนิตยสารผมเคยนั่งร้องไห้ น้ำตาไหลเลย ถามตัวเองว่าเราทำสิ่งนี้ไปทำไม
พอวันรุ่งขึ้นได้รับจดหมายจากคนอ่าน ความรู้สึกนั้นหายไปหมดเลย ช่วงนี้สิ่งที่ผมทำยิ่งชัดเจน
ผมไม่มีคำถามนั้นอีกแล้ว
“ตั้งแต่เมื่อก่อนจนถึงตอนนี้ พอได้หนังสือเล่มแรกจากโรงพิมพ์
คืนนั้นผมต้องนอนอ่านจนหลับ เอามานอนกอด หนังสือที่ผมทำทุกเล่มคือชีวิตของผม มีวิญญาณของผมอยู่ในนั้นทุกเล่ม
วันข้างหน้าถ้าผมตายไป ผมไม่จำเป็นต้องทำหนังสือบอกเล่าชีวิตของตัวเองแล้ว”
รอยยิ้มของชายวัย 64 บอกว่า
เขามีความสุขกับการทำหนังสือจริงๆ
เขาอยากให้โลกจดจำชายชื่อมกุฏอย่างไร
“ปรัชญาในการดำเนินชีวิตของผมง่ายนิดเดียว
ผมแค่ปรารถนาให้ทุกคนในประเทศนี้มีโอกาสได้อ่านหนังสือดีเสมอกัน
ผมรู้สึกอย่างนี้มาตั้งแต่อายุสิบสาม บัดนี้เป็นเวลาห้าสิบปี นั่นคือสิ่งสูงที่สุดเป็นยอดเจดีย์
แต่รากฐานของเจดีย์ที่ผมสร้างอยู่คือ ผมพยายามทำหนังสือให้ดี ไม่ใช่เพื่อให้มีหนังสือดีสำหรับคนมีปัญญาอ่านหนังสือดี
แต่ทำเพื่อให้เป็นแบบอย่างของหนังสือดี จะได้มีคนทำหนังสือดีเยอะๆ ” นักทำหนังสือตอบ
หลายคนคงสงสัยว่า
การทุ่มเทพลังและเวลาทั้งชีวิตเพื่อทำหนังสือเป็นสิ่งที่คุ้มค่าแล้วหรือ
“ผมคิดว่าคุ้มค่านะครับ”
อาจารย์มกุฏเว้นจังหวะเพื่อเรียบเรียงความคิด
“เหมือนผมมีเมล็ดพันธุ์อยู่หนึ่งกระสอบ แล้วผมแบกมันมา
ขณะเดินแต่ละก้าวผมก็หยิบหนึ่งเมล็ดโยนลงไป มันอาจจะเกือบหมดกระสอบแล้ว
กระสอบรั่วหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ถ้าผมหันหลังกลับไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในรายทาง
ผมเห็นบางเมล็ดงอกและบางต้นโต บางต้นมีดอกมีผล ผมไม่มีโอกาสเก็บกิน
ไม่มีโอกาสอาศัยร่มเงา ไม่มีโอกาสได้ยินเสียงร้องเพลงของนกที่มาอาศํยต้นเหล่านี้
แต่อย่างน้อยที่สุดเมื่อหันหลังกลับไปมอง ผมเห็นครับ มันยิ่งกว่าคำว่าคุ้ม เช่น ลลนา
ประกาศว่านิตยสารทุกเล่มที่คุณได้ไปแล้วชำรุดเราจะเปลี่ยนให้ฟรี
ขณะนั้นและหลายสิบปีหลังจากนั้นไม่เคยมีคนทำ
แต่วันนี้แทบทุกสำนักพิมพ์รับเปลี่ยนหมด
หรือสิบกว่าปีก่อนเราพูดเรื่องกระดาษถนอมสายตา มีคนบอกว่าบ้า
แต่ตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่ากระดาษสีแบบนี้ดีต่อสายตา
ผมไม่รู้นะว่ามันคือเมล็ดที่หล่นจากถุงเองหรือผมเป็นคนหย่อน
แต่เมื่อผมหันหลังกลับไปมอง มันงอกแล้ว”
ชายผู้มีความทรงจำเป็นสมบัติ มีงานเป็นเพื่อนสนิท
และนับว่าหนังสือคือชีวิต ยิ้มอีกครั้ง
(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 170 ตุลาคม 2557)
อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ภาพ นวลตา วงศ์เจริญ