ขอสารภาพ …ทันทีที่ทราบว่าจังหวัดสงขลาจะมีห้องสมุดประจำเมือง (บ้างสักที) นั่นทำให้เราวาดภาพไปก่อนแล้วว่าห้องสมุดต้องเปี่ยมด้วยบรรยากาศเงียบขรึมเข้ากับย่านเมืองเก่าอย่างที่เราคิดไปเองเป็นแน่
แต่กลับไม่ใช่
ย้อนไปสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เราคนหนึ่งชอบนักหนากับการขลุกตัวอยู่ในห้องสมุด คราวที่อาจารย์มอบหมายงานหรือต้องการยืมหนังสือไว้อ่านเล่น จุดมุ่งหมายแรกของเราก็คือ ‘ห้องสมุด’ เพราะสำหรับเรา ห้องสมุดคือพื้นที่ที่มีไว้ค้นหาคำตอบและเปรียบเสมือน supporter ตัวยงคอยแก้ปัญหาให้เราทุกเมื่อ เราจึงหลงรักการเข้าห้องสมุดเอามากๆ ที่สำคัญคือ ‘ความเงียบ’ อัตลักษณ์ประจำห้องสมุดคล้ายเป็นหลุมหลบภัยชั่วคราวจากภายนอกชั้นดีทีเดียว
ส่วนห้องสมุดประจำเมืองสงขลาอย่าง ‘ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย’ ที่เปิดให้บริการเป็นทางการไปเมื่อปลายเดือนกันยายน เรียกได้ว่าเป็นห้องสมุดที่ไม่เหมือนห้องสมุด ไม่ว่าจะสถานที่ตั้งในย่านเมืองเก่า ตัวอาคารที่คงเอกลักษณ์ หนังสือน้อยแต่คัดสรร บรรยากาศริมทะเลสาบเหมาะแก่การอ่านหนังสือ การจัดกิจกรรมซึ่งจะเริ่มขึ้นในปีหน้า เป็นสถานีสำหรับนักเดินทางต่างถิ่นต่างแดน กระทั่งบรรณารักษ์หญิงที่เพิ่งพ้นขอบรั้วมหา’ลัยหมาดๆ นั้นเหมาะจะเป็นสถานที่นัดพบหรือห้องสมุดทางวัฒนธรรมในอนาคตก็ว่าได้
จากข้อมูลบางส่วนในสูจิบัตร ‘ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย’ คือห้องสมุดประจำเมืองในโครงการพัฒนาระบบหนังสือต้นแบบ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิวิชาหนังสือ ที่ดำเนินงานสนับสนุนจัดตั้งห้องสมุดประจำเมืองร่วมกันกับภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมหนังสือท้องถิ่นทั่วประเทศ ทั้งนี้ โครงการพัฒนาระบบหนังสือนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2561 โดย ‘ชาย นครชัย’ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมหารือกับ ‘มกุฏ อรฤดี’ เลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ ต่อมา ‘อิทธิพล คุณปลื้ม’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ชาย นครชัย และอาจารย์มกุฏ ร่วมหารือแนวทางความเป็นไปได้ต่างๆ ให้เกิดขึ้น ทั้งแนวทางส่งเสริม พัฒนา และสร้างความร่วมมือด้านวัฒนธรรมหนังสือ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ณ ห้องดอกไม้สด หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ
หนึ่งเดือนให้หลัง วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ‘เกล้ามาศ ยิบอินซอย’ เจ้าของโกดังข้าวเก่าบนถนนนครนอก สงขลา ได้ยกพื้นที่ส่วนตัวและอาคารให้กับโครงการพัฒนาระบบหนังสือต้นแบบ เพื่อปรับปรุงเป็นห้องสมุดสำหรับโครงการห้องสมุดประจำเมืองสงขลา ซึ่ง ชาย นครชัย อาจารย์มกุฏ และคณะได้เริ่มสำรวจพื้นที่ดังกล่าว สามปีต่อมา (พ.ศ. 2565) โกดังข้าวจึงกลายโฉมเป็นห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย ต้นแบบโครงการห้องสมุดประจำเมืองแห่งแรกของจังหวัดสงขลาและแห่งแรกในประเทศไทย
“ ‘ยับ เอี่ยน ฉ่อย’ มาจาก ‘ยิบ อิน ซอย’ ชื่อ-สกุลผู้ก่อตั้งบริษัท บรรพบุรุษของคุณเกล้ามาศ ยิบอินซอย เจ้าของอาคารซึ่งอนุญาตให้โครงการฯ ดำเนินกิจการห้องสมุด ที่นี่จะเป็นแหล่งรวมของกิจกรรมด้านวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยที่สอนศิลปะ การแสดง ดนตรี จะมีกิจกรรมเวที ดนตรี แสดงภาพ และศิลปะแขนงอื่น โดยกิจกรรมเหล่านี้จะมีปฏิทินศิลปวัฒนธรรมในเดือนมกราคม ปี 2566 นอกจากนั้น เราจะเป็นศูนย์กลางสำหรับข้อมูลท่องเที่ยวสงขลา ทั้งในอำเภอเมืองและอำเภอต่างๆ ตลอดจนเมืองใกล้เคียง เป็นสื่อกลางประสานระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชนและชาวบ้าน” อาจารย์มกุฏอธิบาย
ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย เดิมเป็นโกดังฝากข้าวสาร ‘กิมฮ่วนฮวด’ หรือ ‘โกดังโกเซ่ง’ รับฝากข้าวสารจากที่ต่างๆ เพื่อส่งขายทั้งทางบกและทางน้ำและเป็นศูนย์กลางค้าข้าว โกดังแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 7 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ซึ่งเราสัมผัสถึงความขลังในรูปรอยของตะไคร่น้ำที่เกาะตามผิวผนัง ห้อมล้อมด้วยบรรดาโต๊ะ เก้าอี้ ตู้เก็บหนังสือสไตล์วินเทจ บนขื่อเพดานประดับด้วยหลอดไฟห้อยระย้าให้แสงส้มระเรื่อดูแล้วไปด้วยกันได้ไม่ขัดตา อีกทั้งอาคารของห้องสมุดแห่งนี้
เกล้ามาศ ยิบอินซอย กล่าวไว้ว่าเป็นหนึ่งใน 6 อาคารของเมืองเก่าสงขลาที่ซื้อและอนุรักษ์รูปแบบเดิมไว้และได้รับรางวัล
อนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
นอกเหนือจากนี้ บรรยากาศในห้องสมุดยังชวนให้ (อยาก) นั่งอ่านหนังสือหรือนั่งเล่นได้เพลินๆ ที่แยกออกเป็นสองโซน ทั้งโซนด้านหน้าจะเห็น ‘เสาหนังสือ’ ตั้งเด่น อยากนึกสนุกให้ลองกวาดตาดูหนังสือบนเสาที่พบว่าส่วนใหญ่เป็นหมวด
นวนิยาย-ความเรียงแถบเอเชียอย่างเกาหลีและยุโรป ทั้งหนังสือไทยวางเรียงประปรายสลับกันไป ส่วนโซนด้านหลังเป็นพื้นที่โล่งกว้างติดริมทะเลสาบ มีเรือนไม้แยกต่างหากให้เลือกนั่งเป็นมุมส่วนตัว แนะนำว่าในช่วงบ่ายแก่บรรยากาศบริเวณรอบๆ นี้ถือว่าสวยเอาเรื่อง และแน่นอน ที่นี่มีบรรณารักษ์สาวซึ่งอยู่ประจำการห้องสมุดชื่อ ‘ใบเตย’ รอต้อนรับผู้ใช้บริการทุกคน
บรรณารักษ์ใบเตยเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงสดใสว่า สมัยที่เธอเรียนชั้นมัธยมในตัวเมืองสงขลา เธอขับรถผ่านหน้าห้องสมุดเป็นประจำแล้วพูดกับตัวเองว่าที่ตรงนี้ดูทึบทึมแถมยังน่ากลัว แต่ก็ไม่นึกว่าวันหนึ่งจะเข้ามาเป็นบรรณารักษ์ที่นี่ ‘ช่างบังเอิญ’ เราพูดกับเธอ ขนาดเราเองยังไม่เคยสังเกตที่ตรงนี้มาก่อนเลย แล้วก็พากันหัวเราะร่วน
ที่ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย ใบเตยมีความสุขกับการได้เจอผู้คนหลากหลายและสนุกที่จะรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ จนทำให้เธอกลายเป็นคนกล้าตัดสินใจ จากคนที่ไม่กล้าตัดสินใจอะไรเลย และเป็นคนกล้าที่จะพูดมากขึ้น
เธออธิบายความหมายของบรรณารักษ์ในมุมมองของเธอให้เราฟังว่า สิ่งแรกของการเป็นบรรณารักษ์ที่ต้องคำนึงถึงคือ ‘การบริการ’ ในห้องสมุดอย่างไรเพื่อให้คนกลับมาใช้บริการอีก ทั้งการจัดทรัพยากร การดูแลสิ่งแวดล้อมก็สำคัญ และต้องสร้างห้องสมุดให้น่าดึงดูด “แปลกใจมากว่าจริงๆ แล้วคนอ่านหนังสือเยอะ (เน้นเสียง) จะมีขาประจำเยอะมาก อย่างช่วงนี้ขาประจำคือน้องหัวหอม อายุประมาณสองสามขวบ ตอนแรกคิดว่าน้องคงแค่แวะมาถ่ายรูป แต่น้องจะให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟังที่ห้องสมุดทุกวันจนตอนนี้สนิทกันไปแล้ว มารู้ทีหลังว่าที่น้องมาทุกวันเพราะน้องบอกพ่อกับแม่ว่าคิดถึงบรรณารักษ์ (หัวเราะ)”
เธอเล่าเสริมอย่างออกรสไปถึงเรื่องการอ่านว่าชอบอ่านนิยายสำนักพิมพ์แจ่มใสเข้าขั้น ถ้าวันไหนไม่อ่านจะเกิดอาการกระสับกระส่าย “ตั้งแต่ ม.ปลาย หนูเห็นเพื่อนอ่านนิยายแล้วเห็นเพื่อนนั่งยิ้มไปด้วย ลองขอยืมเพื่อนมาอ่านดู พออ่านเท่านั้นแหละ…ฟินเลย (หัวเราะ)” เมื่อใบเตยอ่านนิยายจนติดเป็นนิสัย เธอบอกว่าความจำก็ดีขึ้นตามไปด้วย สมัยเรียนเธอจะอ่านหนังสือสอบช่วงก่อนนอนเพื่อที่จะไปสอบในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นทริกที่เธอลองแล้วพบว่าจำเนื้อหาที่จะไปสอบได้ดีด้วย
แล้วใบเตยก็แนะนำหนังสือที่ชอบในห้องสมุดอย่าง ‘4 ปี นรกในเขมร’ ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ว่าด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลก ดำเนินเรื่องโดยหญิงชาวญี่ปุ่นซึ่งแต่งงานกับสามีชาวเขมรที่ถูกข่มขืนรังแกและตกเป็นเบี้ยล่างของทหารอยู่เสมอ เธอเล่าตามความเข้าใจแบบนั้น
นอกจาก 4 ปี นรกในเขมร แล้ว บรรณารักษ์ใบเตยบอกอีกว่าหนังสือที่ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย เป็นแนวประวัติศาสตร์-ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งในตู้หนังสือมีทั้งนิตยสารและพ็อกเก็ตบุ๊กของสำนักพิมพ์สารคดี คู่มือต่างๆ ของราชบัณฑิตสถาน สารานุกรมไทย หนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่บรรณารักษ์ใบเตยนำเสนอว่าหาอ่านได้ยากอย่าง ‘จินดามณี เล่ม ๑’ และ ‘จินดามณี ฉบับความแปลก’ แบบเรียนเล่มแรกของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย บางคนถึงกับประทับใจเมื่อได้เห็น หรือ ‘เอนไซโคลพิเดีย’ ซึ่งอาจารย์มกุฏสรุปมาให้ว่า จะมีของสำนักพิมพ์ต่างๆ จำหน่ายไปทั่วโลก เล่มนี้เป็นของบริตานิก้า คือฉบับตัวอักษร M-N ถ้าเทียบกับหนังสือไทยก็คือ สารานุกรมไทย
หนังสือน่าสนใจในห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย ยังมีหนังสือว่าด้วยมรดกของงานเย็บปักถักร้อยในประเทศอินโดนีเซียที่ชื่อ ‘Adikriya Sulam Indonesia’ คืองานฝีมือสุดประณีตที่ใช้วิธีการปักลวดลายลงบนชุดหรือผืนผ้า เชื่อว่าคนรักงานคราฟต์ต้องกรี๊ดแน่ ส่วนหนังสืออีกตู้เต็มไปด้วยหนังสือบริจาคของ ‘เอนก นาวิกมูล’ ผู้ก่อตั้งบ้านพิพิธภัณฑ์และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจำปี พ.ศ. 2563 อย่างเช่น ‘แม่นาก’ (Mae Nak Classical Ghost of Siam) เล่าถึงความประทับใจของผู้เขียนที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ถึงขั้นตามรอยแม่นากอย่างจริงจัง
และเซตหนังสือของ ‘จ่าง แซ่ตั้ง’ มีทั้งกวีนิพนธ์เรื่อง ‘แม่กับลูก’ รวมถึง ‘เวลาอันยาวนาน’ ที่ ดร.วอลเดมาร์ ซี. ไซเลอร์ ให้คำนิยมเปรียบเปรยถึง จ่าง แซ่ตั้ง ว่าเขาคือคนเขียนหนังสือผู้มีความคิดสร้างสรรค์ในไทย เป็นนักสร้างบทกวีรูปธรรมที่สะท้อนให้เป็นวัฒนธรรมตะวันออก ซึ่งจ่างคือพลังสร้างสรรค์อันปรากฏชัดอยู่ในวงการวรรณศิลป์
เราเพิ่งทราบเดี๋ยวนั้นเลยว่าเขาคือศิลปินน่าจับตาท่านหนึ่ง พร้อมกันยังมีหนังสือ ‘Mitfits Pages from a loose-leaf modernity Tang Chang, Rox Lee, and Bagyi Aung Soe’ หนังสือรวบรวมผลงานของศิลปินสามท่าน ได้แก่ จ่าง แซ่ตั้ง, ร็อกซ์ ลี และอองโซ ในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผลงานของจ่างมีชื่อว่า ‘Untitled (1963)’ โดยเขาใช้เทคนิคการวาดสีน้ำมันลงบนผืนผ้าแคนวาส กับผลงานที่สื่อถึงความเป็น Outsider ชัดเจน
นั่นคือส่วนหนึ่งของหนังสือในห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย ที่ ‘นักจัดการหนังสือ’ คัดสรรมาวางไว้ ทราบมาว่า ตั้งแต่วันนี้ หนังสือทุกเล่มในห้องสมุดมีไว้ให้ผู้เข้าใช้บริการยืมกลับไปอ่านที่บ้านได้แล้ว
ทิศทางของห้องสมุดประจำเมืองสงขลาอาจจะเห็นคนสัญจรทั้งขาประจำ นักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมห้องสมุดจนเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นในรูปแบบของบ้านอีกหลังสำหรับใครหลายคน อย่างที่บรรณารักษ์ใบเตยคาดหวังไว้
อ้างอิง > สูจิบัตรห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย
ขอขอบคุณ > อาจารย์มกุฏ อรฤดี, บรรณารักษ์ใบเตย สำหรับข้อมูล
รูปภาพ > บรรณารักษ์ใบเตยและอาจารย์มกุฏ
ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย > โกดังข้าว ถนนนครนอก สงขลา เปิดให้บริการทุกวันพฤหัสบดี-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. (ในปีหน้าเริ่มเปิดให้บริการเป็นวันพุธ-วันอาทิตย์)
ติดตามความเคลื่อนไหวของห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย ได้ที่เฟซบุ๊ก >www.facebook.com/YipInTsoiLibrary และ www.facebook.com/makutonrudee