ชีวิตคนทำหนังสือชื่อ มกุฏ อรฤดี 3/4

04

หนังสือเด็ก

มกุฏ อรฤดี
เป็นคนที่จดจำภาพชีวิตในวัยเด็กของตัวเองได้ชัดมาก นั่นคือคลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่เขานำมาใช้เขียนหนังสือ

“ผมนอนดึกมากตั้งแต่เด็ก
ตอนไปอยู่โรงเรียนประจำนี่ลำบากมาก”
เขาหมายถึงการย้ายจากโรงเรียนแถวบ้านที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
ไปที่โรงเรียนแสงทอง อำเภอหาดใหญ่ โรงเรียนชื่อดังที่โดดเด่นเรื่องภาษาอังกฤษ เขาได้เปิดโลกผ่านการสนทนากับบาทหลวงชาวอิตาลี
สเปน และฝรั่งเศส ได้เล่นละครเวที เป็นนักร้องประจำโบสถ์
รวมถึงเป็นนักดนตรีในวงโยธวาทิตของโรงเรียน

“ที่นั่นบังคับให้เข้านอนตามเวลา
สามทุ่มต้องเข้านอนแล้ว แต่ผมยังนอนไม่ได้ บาทหลวงเขาก็ตั้งให้ผมเป็นคนปิดสวิตช์ไฟตามที่ต่างๆ
ในโรงเรียน ผมมีสิทธิ์เข้าตึกช้ากว่าคนอื่น กลัวผีก็กลัว แต่ก็ยินดีทำหน้าที่นี้
เวลาพิมพ์ข้อสอบตอนกลางคืนผมก็ได้เข้าไปช่วยใช้เครื่องโรเนียว เปิดไฟสลัวๆ
เราก็ไม่เห็นข้อสอบ จนบัดนี้ผมก็นอนหัวค่ำไม่ได้”

ที่โรงเรียนแห่งนี้ เขาเริ่มอ่าน วีรธรรม
และ กองหน้าร่าเริง นิตยสารในเครือคาทอลิก มีการ์ตูนฝรั่งชื่อดังอย่าง แตง
แตง (
Tin Tin) แฟลชกอร์ดอน และเริ่มเขียนวรรณกรรมเป็นครั้งแรกบนบอร์ดที่ติดตามเสาในโรงเรียน
นักเรียนคนไหนอยากเขียนอะไรก็เอามาแปะไว้ได้บนบอร์ด ทั้งบทความ เรียงความ และกลอน

พอกลับมาเรียนต่อมัธยมที่โรงเรียนมัธยมเทพา
อำเภอเทพา เขาก็เอาความคิดนี้มาทำที่โรงเรียนบ้าง เขาเรียกด้วยชื่อที่สวยหรูว่า magazine
board จากนั้นเขาก็ทำหนังสือเล่มตั้งแต่อายุสิบสาม เริ่มต้นด้วยการเขียนลายมือ
ตอนหลังจึงไปตีสนิทเสมียนที่ที่ว่าการอำเภอเพื่อขอใช้พิมพ์ดีดทำหนังสือ

พอทำหนังสือเป็นเล่มสำเร็จ
เขาก็ข้ามขั้นไปทำห้องสมุด

ที่นี่แม้เป็นโรงเรียนมัธยมก็ยังไม่มีห้องสมุด เขาจึงเรี่ยไร่เงินเพื่อนคนละบาทเพื่อซื้อหนังสือทำห้องสมุดของตัวเอง
ได้มา 13 บาท ก็เอาไปซื้อนิตยสาร 3
เล่ม คือ อสท. แม่บ้านการเรือน และ สตรีสาร
แล้วเข้าไปจัดระเบียบห้องเก็บอุปกรณ์เกษตร เอาเถาวัลย์จากป่ามาผูกกับไม้แขวนเป็นชั้นวางหนังสือ
เพื่อนๆ ก็มาเวียนกันอ่านจนหนังสือฉ่ำมือไปหมด
ทำไปสักพักเขาก็รู้สึกว่าไม่ค่อยสร้างสรรค์ เพราะมีแต่จ่ายเงิน
เด็กชายมกุฏเลยคิดหาเงินทำห้องสมุดด้วยการตั้งทีมบาสเกตบอล

ยุคนั้นบาสเกตบอลเป็นกีฬาที่ใหม่มาก
เขาคิดว่าถ้าจัดแข่งขันต้องขายบัตรได้แน่ แต่โรงเรียนเพิ่งเปิดมาได้ 2 ปี ยังไม่มีสนามบาสฯ
เขาจึงชวนเพื่อนชวนภารโรงเอาจอบมาปรับพื้นดินให้เป็นสนาม แล้วหาไม้มาทำแป้น
เอาเงินไปซื้อลูกบาสฯ ราคา 75 บาท
ในยุคที่ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 5 บาท ซ้อมได้สักพักพวกเขาก็นั่งรถไฟไปแข่งกับโรงเรียนต่างอำเภอ
พอเจอสนามปูนมาตรฐานพวกเขาก็แพ้ยับจนถอดใจไม่อยากกลับมาซ้อมกับสนามดินอีกแล้ว

เด็กชายมกุฏเกิดความคิดใหม่ว่าวิชาเกษตรแทนที่จะให้นักเรียนปลูกผักบุ้ง
น่าจะเปลี่ยนมาปลูกถั่วลิสงเพราะขายได้ราคากว่า แต่สุดท้ายรายได้จากการขายถั่วก็ไม่มากนัก
เขาจึงเสนอให้ครูใหญ่ตั้งวงดนตรีของโรงเรียน จะได้จัดแสดงดนตรีเก็บเงินค่าตั๋วได้
ซึ่งความคิดนี้ลุล่วงก็เมื่อเขาเรียนจบไปแล้ว

ครั้นเข้าสู่วงการวรรณกรรม
ศิษย์เก่าคนนี้ก็ทยอยส่งหนังสือดีๆ มาให้โรงเรียนไม่ขาด และช่วยหาเงินมาสร้างห้องสมุด
กว่าจะสำเร็จได้ต้องใช้เวลาถึง 25 ปี

นักเขียนที่เคยเข้าชิงรางวัลซีไรต์ในหมวดนวนิยายคนนี้
เริ่มเข้าสู่สถานะนักเขียนตั้งแต่อายุ 13-14 ปี
เขาเขียนกลอนส่งสถานีวิทยุท้องถิ่น และนิตยสารรายเดือนของสถานีโทรทัศน์ที่หาดใหญ่
เมื่อเรียนวิทยาลัยครูเรื่องสั้นของเขาก็ได้ลงพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
บทความวิจารณ์เรื่องคอร์รัปชันก็ได้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ

“มันไม่ง่ายหรอก ผมมีผลงานตีพิมพ์สัปดาห์ละชิ้น
แต่ที่เขียนแล้วทิ้งน่ะมีเป็นร้อย” ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ยืนยันว่า
ไม่มีความสำเร็จใดได้มาง่ายๆ หากไม่พยายาม “ผมไม่เก่งเรื่องการใช้ภาษา
ผมไม่ใช่นักประดิดประดอยถ้อยคำ ผมเขียนด้วยภาษาง่ายๆ
ด้วยความรู้สึกว่ามนุษย์ธรรมดาเขาก็พูดกันง่ายๆ ทำไมต้องเขียนให้ตัวละครพูดยากๆ
ด้วย เมื่อผมไม่เก่ง ก็ต้องพยายามให้มากกว่าคนอื่นเขา”

05

โรงเรียนหนังสือ

มกุฏ อรฤดี เรียนจบประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง
วิชาเอกภาษาอังกฤษ จากวิทยาลัยครูสงขลา

แต่เขาเรียนการทำหนังสือจากการโดดเรียนวิชาขับร้องไปขอฝึกงานกับโรงพิมพ์
ฝึกทำตัวเรียงพิมพ์ ดูเขาจัดหน้า ดูเขาพิมพ์ เจ้าของโรงพิมพ์บอกว่าไม่มีเงินให้นะ
เขาตอบว่า ไม่เป็นไร เขาอยู่ใกล้ๆ นี่เอง
นั่งรถจากสงขลามาหาดใหญ่หนึ่งชั่วโมงก็ถึงแล้ว

เขาได้วิชาการพิมพ์ แลกกับการสอบตกวิชาขับร้อง

เมื่อเรียนจบ เขาอยากทำหนังสือ
และสนใจเรื่องการเมือง หนุ่มใต้คนนี้จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ
มาทำงานกับนิตยสารของพรรคการเมืองใหญ่ และยังคงเขียนเรื่องสั้นส่งไปตามที่ต่างๆ
งานแรกทำให้เขามีรายได้เลี้ยงชีพ งานหลังเขาใช้คำว่า ‘เป็นการประดับประดาชีวิตอย่างหนึ่งในวัยหนุ่ม’

พอคลุกคลีกับวงการการเมืองมากเข้า
เขาก็เริ่มเบื่อหน่าย เมื่อจอมพลถนอม-ประภาส ปฏิวัติ ปี 2514
นิตยสารที่เขาทำงานถูกสั่งปิด เขาจึงออกเดินทาง แล้วเขียนต้นฉบับวรรณกรรมที่มีฉากหลังเป็นการปฏิวัติในประเทศไม่ปรากฏชื่อ
แต่มีฉากเป็นหิมะและตัวละครมีชื่อรัสเซีย เขาใช้นามปากกา ‘นิพพานฯ’ ชื่อที่ใช้ตั้งแต่สมัยเป็นบรรณาธิการ ทำวรสารที่วิทยาลัยครู
เขาต้องเขียนต้นฉบับครึ่งเล่มแทนเพื่อนที่ไม่ส่งงานตามกำหนด ก็เปลี่ยนนามปากกาไปเรื่อย
จนนึกชื่อไม่ออกเลยเปิดพจนานุกรม เขาชอบคำว่า ‘นิพพาน’ เพราะจังหวะคำสวย แต่ความหมายยิ่งใหญ่เกินไป
เขาคิดว่าตัวเองยังไม่ถึงขนาดนั้น จึงใส่ ‘ฯ’ ต่อท้าย หมายความว่า ‘ยังไม่จบ ยังมีต่อจากนี้อีก’

เขาส่งต้นฉบับเรื่องนี้ไปที่ ลลนา สัปดาห์ต่อมาเขาได้รับโทรศัพท์ให้ไปพบบรรณาธิการ
สุวรรณี สุคนธา ทุกคนใน ลลนา เข้าใจผิดว่านี่คือต้นฉบับของเพื่อนคุณสุวรรณี
ซึ่งไปเป็นผู้ประกาศวิทยุที่มอสโคว์ พอรู้ว่าเข้าใจผิดก็เลยชวนคุยไปเรื่อย
เมื่อรู้ว่านักเขียนหนุ่มกำลังว่างงาน บรรณาธิการเลยถามว่าช่วยปรู๊ฟได้ไหม เพราะตอนนี้กำลังเร่งปิดต้นฉบับ
เขาตอบตกลง ทีมงานก็เอาปรู๊ฟรอบสุดท้ายมาให้อ่าน เขาพบคำผิดพอสมควร คุณสุวรรณีถูกใจจึงชวนมาปรู๊ฟอีก
จ่ายค่าแรงให้วันละ 30 บาท
ทำไปได้หนึ่งสัปดาห์ก็ชวนมาทำประจำ ได้เงินเดือน 950 บาท

นักเขียนหนุ่มทำงานสารพัดทั้งตรวจทานต้นฉบับ
เขียนคอลัมน์ คัดเรื่องสั้น ทำไปได้ 4-5 เดือน
บรรณาธิการก็มอบหมายให้ดูแลคอลัมน์ตอบจดหมาย เขาทำได้ไร้ปัญหา
เพราะว่าใช้สำนวนภาษาแบบผู้หญิงได้ดีอยู่แล้ว

เมื่อทำงานถึงเดือนที่หก
ชีวิตของเขาก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อคุณสุวรรณีแก้วหูหลุด ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
เธอโทรตามเขาให้มาพบที่โรงพยาบาล เพื่อมอบหมายให้รับผิดชอบงานทั้งหมดแทนบรรณาธิการ
รวมถึงเขียนบทบรรณาธิการ และต้องปิดเล่มให้ได้ในระยะเวลา 3-4
วัน

ทุกอย่างผ่านไปอย่างราบรื่น
เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ

นิตยสาร ลลนาฉบับนั้น
มกุฏ อรฤดี เป็นคนเสนอให้สัมภาษณ์ผู้กำกับหนังที่ชื่อ ยุทธนา มุกดาสนิท
หลายปีผ่านไป ผู้กำกับคนนี้ได้ติดต่อขอนำหนังสือเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้
ของเขาไปสร้างภาพยนตร์ซึ่งคว้ารางวัลตุ๊กตาทองมาได้ถึง 7
สาขา แล้วยังไปคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังที่อเมริกาด้วย

ลลนา เปรียบเหมือนโรงเรียนสอนทำหนังสืออีกแห่งของอาจารย์มกุฏ

ที่นี่เขาได้ทำงานกับบุคคลสำคัญในวงการวรรณกรรมมากมาย
เช่นนักเขียนอย่างสุวรรณี สุคนธา, ทมยันตี, กฤษณา อโศกสิน หรืออังคาร กัลยาณพงศ์
ซึ่งเขามีหน้าที่รับต้นฉบับจากกวีซีไรต์ท่านนี้มาพิมพ์และตรวจทานให้ถูกต้อง
นักวาดภาพประกอบดังๆ ที่เขาต้องทำงานด้วยก็มี จักรพันธุ์ โปษยกฤต เทพศิริ สุขโสภา
ช่วง มูลพินิจ และศิริสวัสดิ์ พันธุมสุต
ส่วนเพื่อนพ้องรุ่นราวคราวเดียวที่เติบโตมาด้วยกันก็มี ปกรณ์ พงศ์วราภา พิบูลศักดิ์
ละครพล และนิเวศน์ กันไทยราษฎร์

ยุคนั้น พันศักดิ์ วิญญรัตน์ คือนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องอินโดจีนมาก
ซึ่งสมัยนั้นไม่มีใครเดินทางไป เขาแอบหาทางเข้าไปแล้วเขียนต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษส่ง
ลลนา
เพราะเขาเขียนภาษาไทยไม่ถนัด กองบรรณาธิการต้องแปลเป็นภาษาไทยเสร็จแล้วก็ยกโขยงไปอ่านให้เจ้าตัวฟัง
พันศักดิ์ได้ฟังมักจะหัวเราะ เพราะตอนที่เขาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ
สำนวนไม่ได้นุ่มนวลอ่อนหวานอย่างนี้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนแปลเป็นผู้หญิง

“ผมเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้แหละ”
อาจารย์มกุฏเล่าถึงบทเรียนสำคัญ “ก่อนแปลเราต้องรู้ว่าคนเขียนเป็นใคร คิดอะไรอยู่
แปลออกมาแล้วเราใช้ถ้อยคำเหมือนที่เขาคิดหรือเปล่า นี่คือวิธีการเป็นบรรณาธิการต้นฉบับ
ผมเก็บสิ่งเหล่านี้มาทีละนิดทีละหน่อย”

อาจารย์มกุฏเล่าว่า ชีวิตในช่วงนั้นสนุกมาก
ทำเองทุกอย่าง ช่วยทำอะไรได้ก็ช่วย ทักษะการเรียงตัวพิมพ์ตัวตะกั่วที่เคยฝึกงานจากโรงพิมพ์ก็ได้นำมาใช้ที่นี่
นั่นทำให้เขาสนใจจำนวนตัวอักษรในแต่ละคำ
และระยะห่างของช่องว่างในประโยคจนถึงปัจจุบัน
อย่างที่คนซึ่งเคยแต่จัดหน้าด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีระบบตัดคำ บีบคำ ถ่างคำให้
คงงงว่าจะสนใจไปทำไม

“ช่วงนั้นผมทำอะไรได้มากทีเดียว
ยุคนั้นนิตยสารไม่ค่อยเน้นเรื่องสมาชิก เพราะพอส่งหนังสือไปแล้วมีคนบอกว่าชำรุด หน้าหาย
ผมจึงเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่าการสั่งซื้อทางไปรษณีย์ไม่อันตรายหรอก
เพราะถ้าคุณได้รับฉบับที่ชำรุด คุณส่งกลับมา เราจะส่งกลับไปเปลี่ยนให้
ไม่ว่าจะชำรุดตรงไหนก็ตาม เรารับผิดชอบหมด คนบอกว่าจะบ้าเหรอ
เพราะเราต้องเสียเงินค่าหนังสือ ค่าแสตมป์ แต่ผมบอกว่า ไม่หรอก
ถ้าเราทำงานเป็นวงจรมากขึ้นก็เอาเงื่อนไขนี้ไปพูดกับโรงพิมพ์ว่า
คุณต้องรับผิดชอบด้วย เขาก็ระมัดระวังมากขึ้น”
อาจารย์มกุฏเริ่มแนวคิดนี้เป็นคนแรกตั้งแต่ปี 2516
และเป็นแนวทางปฏิบัติของสำนักพิมพ์ผีเสื้อตลอดมา

อาจารย์มกุฏเริ่มทำ ลลนา ปี 2516 พอถึงปี 2518 เขาก็ลาออกกลับไปอยู่บ้านที่สงขลา
สร้างกระต๊อบริมทะเล ทำตัวเป็นไอ้บ้า หมกตัวเขียนหนังสือ

11 คืนผ่านไป เขาได้ต้นฉบับ ผีเสื้อและดอกไม้
หนังสือที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขามากมายเหลือเกิน

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 170 ตุลาคม 2557)

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่

ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ตอนที่ 4

ภาพ นวลตา วงศ์เจริญ

AUTHOR