ชีวิตคนทำหนังสือชื่อ มกุฏ อรฤดี 2/4

02

หนังสือของไดโนเสาร์

ออกจากห้องเรียน
ผมชวนอาจารย์มกุฏเข้าร้านหนังสือที่อยู่ไม่ห่างมหาวิทยาลัย

ชายผมขาวเล่าถึงวัยเยาว์ระหว่างเดิน “ผมซื้อหนังสือปกแข็งครั้งแรกตอนอายุสิบเอ็ด เรื่อง ศรีธนญชัย ราคา
7 บาท ขณะนั้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 5 บาท ผมได้ค่าขนมวันละ 6 สลึง ต้องเก็บเงินเป็นเดือนกว่าจะได้
7 บาท แบบปกอ่อนก็มี แต่ใจมันชอบหนังสือปกแข็งตั้งแต่ตอนนั้น
ช่วงนั้นผมไปร้านหนังสือทุกสัปดาห์ ไปเปิดหนังสือดู เปลี่ยนที่ยืนไปเรื่อย
เกรงใจเจ้าของร้าน พอกัดฟันเก็บเงินได้ ผมซื้อเลย เจ้าของร้านเขาดีใจมาก
มีความสุขไปกับเราด้วย เขาคงคิดในใจว่า ขอบคุณนะที่ซื้อซะที อ่านฟรีมาตั้งปีนึงแล้ว”
อาจารย์หัวเราะ “ผมจึงพยายามบอกร้านหนังสือเล็กๆ ว่า เปิดโอกาสให้เด็กเข้ามายืนอ่าน
ผมพูดแทนเด็กได้เลยว่า ถ้าวันหนึ่งเขาซื้อได้ เขาจะซื้อ เชื่อเถอะ”

จบเรื่องร้านหนังสือในวัยเด็ก
เราก็เดินเข้าร้านหนังสือพื้นที่กว้างขวางในห้างสรรพสินค้า
ร้านนี้ขายหนังสือภาษาไทย

“เมื่อก่อนผมเข้าร้านหนังสือเพื่อดูเรื่องการตลาดว่า
หนังสือเราขายได้ไหม แต่ตอนนี้พ้นจุดที่สนใจไปแล้ว เพราะจะขายได้หรือไม่ได้ อยู่เหนือการควบคุมของเราแล้ว”
นักเขียนดังพูดพลางกวาดสายตาสำรวจชั้นหนังสือขายดี
แน่นอนว่าไม่มีหนังสือจากสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และที่หนักหนากว่านั้นก็คือ
ทั้งร้านไม่มีหนังสือจากสำนักพิมพ์ของเขาวางขาย

“ผมไม่ได้สนใจแล้ว”
บรรณาธิการสำนักพิมพ์ยิ้ม

นักเขียนเจ้ารางวัลช่อการะเกดเกียรติยศ จากสำนักช่างวรรณกรรม
เดินมุ่งหน้าไปที่ชั้นวางหนังสือหมวดวรรณกรรม เขาหยิบหนังสือจากชั้นขึ้นมาดูปก
ขยับหนังสือในมือขึ้นลงคะเนน้ำหนักกระดาษ แล้วกรีดหน้ากระดาษใกล้จมูกเพื่อสูดกลิ่น
นักทำหนังสือคนนี้ดมกลิ่นหนังสือทุกเล่ม

“กลิ่นบอกอายุกระดาษ
เยื่อกระดาษคือไม้ที่ตายแล้ว กระดาษปีนี้กับห้าปีที่แล้วกลิ่นไม่เหมือนกัน
ยิ่งใหม่ยิ่งหอม กระดาษเก่าจะเหม็นสาบ เพราะเริ่มมีละอองกระดาษแล้ว
เล่มนี้เป็นกระดาษไทย ใช้เยื่อใหม่ หอม ลองดมดู” อาจารย์มกุฏส่งหนังสือมาให้
แล้วหยิบหนังสือเล่มใหม่ขึ้นมาดม “นี่ใช้เยื่อเก่าผสมด้วย เป็นกระดาษนำเข้า
พออายุสักสามปีจะเริ่มเหลือง เยื่อไม่ดี ตอนเปิดอ่านจะมีละอองฝุ่นฟุ้ง
คนที่เป็นภูมิแพ้จะอ่านไม่ได้แล้ว แต่กระดาษที่ใช้เยื่อใหม่ทั้งหมดอย่างเล่มเมื่อกี้จะอยู่ไปได้อีกสักห้าสิบปี”

ความเชื่อที่ว่ากระดาษรีไซเคิลดีกว่ากระดาษใหม่ถูกสั่นคลอนอย่างแรง

“ถ้าเป็นหนังสือที่อ่านแล้วทิ้งเหมือนญี่ปุ่น
หรือที่แบ็กแพ็กเกอร์พกใส่กระเป๋ามาอ่านแล้วขายต่อที่ถนนข้าวสารเล่มละสิบบาท
ใช้กระดาษแบบไหนก็ได้ แต่ถ้าเป็นหนังสือดีที่ควรเก็บให้อยู่ได้สักห้าสิบปีร้อยปี
หรือส่งต่อให้ลูกหลาน ก็ควรเลือกใช้กระดาษดี” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระดาษอธิบาย

เราย้ายไปเดินในร้านหนังสือภาษาอังกฤษที่อยู่ติดกัน

“ส่วนใหญ่ผมดูรูปแบบ ไม่ดูเนื้อหาแล้ว
เนื้อหามันกองอยู่ในหัวเราเต็มไปหมด ผมเข้าร้านหนังสือมาดูรูปแบบว่ามีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง
พัฒนาไปบ้าง เรื่องการออกแบบ กราฟิก สี” นักดมหนังสือหยิบหนังสือปกแข็งเล่มหนาบนชั้นขึ้นมาดู
บ่นเสียดายว่าห่อพลาสติกไว้ เลยดมกระดาษไม่ได้

เขาไม่ได้ร่ำเรียนทางด้านงานออกแบบหรือการทำหนังสือ
แต่ก็ได้หนังสือและนิตยสารจากต่างประเทศเป็นครูตั้งแต่สมัยทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร
ลลนา สื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้ชื่อว่าหวือหวาและเป็นที่กล่าวขานมากที่สุดเมื่อ 40 ปีก่อน และต่อมาเมื่อเป็นบรรณาธิการนิตยสาร บีอาร์
ครั้งนั้นเขาต้องสั่งซื้อนิตยสารมาจากฮ่องกง แต่วันนี้มีตัวอย่างดีๆ
มากมายอยู่ในร้านหนังสือ เยอะจนเขาบอกว่า ดูไม่ทัน

“เล่มนี้เคยมาสัมภาษณ์ผม”
อาจารย์มกุฏหยิบนิตยสาร Monocle ขึ้นมาพลิกดู
“เขาถามผมเรื่องอีบุ๊ก ผมบอกผมไม่สนอีบุ๊ก” นักทำหนังสือเล่มหัวเราะ

“มีหลายคนบอกว่า
วันหนึ่งหนังสือกระดาษจะหมดความหมายเพราะมีสื่ออื่นเข้ามา นั่นแหละยิ่งท้าทาย
ยิ่งบอกว่าจะหายไป ผมจะยิ่งทำ ถ้าไม่มีกระดาษแล้ว ผมก็จะทำกระดาษเอง”
ชายผู้เคยทดลองทำกระดาษใช้เองมาแล้ว ยกนิตยสารในมือขึ้นสูดกลิ่นกระดาษ สีหน้าเขาดูพึงพอใจ

“ผมจะเป็นไดโนเสาร์ตัวสุดท้ายที่ทำหนังสือกระดาษ”

03

หนังสือส่วนตัว

สำนักงานของสำนักพิมพ์ผีเสื้อเป็นบ้านขนาดย่อมในซอยสุขุมวิท
24

ภายนอกไม่มีป้ายและสัญลักษณ์ใดๆ ระบุเลยว่าที่นี่คือสถานทำหนังสือ
แต่บรรยากาศภายในดูยังไงก็รู้ว่าต้องเกี่ยวข้องกับหนังสือไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เพราะพื้นที่เกือบทั้งหมดภายในบ้านเป็นที่ตั้งของโต๊ะและตู้ไม้เก่าสวยจับใจ
บนเครื่องเรือนโบราณเต็มไปด้วยกองหนังสือของสำนักพิมพ์ที่เรียงรายอย่างเป็นระเบียบ

ชาวผีเสื้อส่วนใหญ่กำลังนั่งพักผ่อนหลังกินอาหารกลางวันร่วมกัน
ทีมงานคนหนึ่งแจ้งว่าวันนี้มีจดหมายส่งมา 9 ฉบับ จดหมาย 8 ฉบับเป็นลายมือโย้ไปเย้มาของเด็กๆ
บางฉบับก็มีภาพวาดประกอบ พวกเขาเขียนมาขอสมุดจากโครงการ ‘มอบสมุดให้เด็กเขียนบันทึกแต่วัยเยาว์’
ซึ่งอาจารย์มกุฏตั้งใจมอบสมุดบันทึกให้เด็กอายุ 5-11 ปี ที่เขียนจดหมายด้วยลายมือมาขอพร้อมคำสัญญาว่าจะเขียนบันทึก
โครงการนี้ประกาศในเฟซบุ๊ก ‘มกุฏ อรฤดี’ มาแล้วราว 2 เดือน มีเด็กน้อยเด็กเล็กส่งจดหมายมาแล้วกว่า
870 ฉบับ

คนแจกสมุดบอกว่า
เขาสนใจสมุดตั้งแต่เรียนชั้นประถมสี่

เสน่ห์ของหน้ากระดาษเปล่าๆ ที่พร้อมให้เราแต่งเติมเรื่องราวเองนั่นก็เรื่องหนึ่ง
เหตุผลอีกอย่าง เขาบอกว่า “เวลาอ่านหนังสือ
เรามักอ่านเรื่องราวที่สนุกจนไม่ได้สนใจดูรูปเล่มว่าเป็นยังไง ไม่เหมือนสมุดที่มีแต่หน้าว่าง
เราจึงสนใจรูปเล่ม ลองแบะดูสิ มีเชือกด้วย
มันทำให้ผมเริ่มสนใจเทคนิคการพิมพ์”

เขาชอบชวนคนเขียนบันทึก

เกือบทุกวิชาที่เขาสอน ผู้เรียนต้องเขียนบันทึกประจำวันมาส่งเป็นการบ้าน
ต้นชั่วโมงอาจารย์มกุฏจะนั่งอ่านสมุดบันทึกของแต่ละคนแบบเดียวกับที่บรรณาธิการตรวจต้นฉบับ
หากพบการใช้ภาษาผิดพลาดก็จะเขียนแก้ และถ้ารู้ว่าลูกศิษย์ใช้ชีวิตไม่ถูกทางก็จะให้คำแนะนำ
เขาเคยอ่านบันทึกแล้วรู้สึกว่านักเรียนมีปัญหา จึงเรียกมาคุย มาช่วยแก้ปัญหา
ก่อนที่เด็กจะสารภาพว่าคิดอยากฆ่าตัวตาย

“ความคิดของเด็กกับผู้ใหญ่ต่างกัน
ความประณีตละเอียดอ่อนก็ต่างกัน เราคิดว่าการเป็นนักเขียนจะสร้างอะไรก็ได้
แต่บางเรื่องเกิดขึ้นเฉพาะวัยนั้นจริงๆ ถ้าเราไม่ได้บันทึกความคิดนั้นไว้ เรียกยังไงก็ไม่มา”
อาจารย์พูดถึงข้อดีของการเขียนบันทึก “ถ้าเด็กทุกคนในประเทศนี้เขียนบันทึก
เราจะมีข้อมูลไว้ใช้มากมายมหาศาลขนาดไหน
นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามทำอยู่ทุกวันนี้”

จดหมายอีกฉบับที่มาถึงในวันนี้เป็นจดหมายจากผู้อ่านชาวไทยส่งมาจากฝรั่งเศส
เพราะชื่นชอบโครงการแจกสมุดบันทึกที่เห็นในเฟซบุ๊ก
จึงอยากเขียนจดหมายด้วยลายมือมาแสดงความชื่นชม อาจารย์มกุฏเล่าว่า เมื่อก่อนได้รับจดหมายจำนวนมากจากผู้อ่าน
แต่ยุคสมัยทำให้ผู้คนย้ายไปสื่อสารด้วยวิธีอื่น จนกระทั่งมีโครงการนี้
เขาจึงได้อ่านจดหมายลายมืออีกครั้ง ด้วยความรู้สึกที่ต่างไป

“เวลาอ่านจดหมายของคนที่เป็นผู้ใหญ่
เราจะระมัดระวังว่าเราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า
ถ้าเป็นจดหมายชมก็ต้องระวังว่าจะลืมข้อบกพร่องของตัวเอง
จดหมายทั้งหลายไม่ว่าจะติหรือชมทำให้เรามีพลังทำงานมากขึ้น
แต่อ่านแล้วเราจะคิดหวังเฉพาะเรื่องงานของเรา พออ่านจดหมายเด็กทำให้ผมคิดไปไกลกว่านั้นเยอะเลย
ผมคิดไปถึงอนาคตข้างหน้า ถ้าเด็กพวกนี้เริ่มคิดและบันทึก ฝึกคิดฝึกเขียนทุกวัน
จะเกิดอะไรขึ้นในอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้า บ้านเมืองนี้จะเจริญแค่ไหน”
อาจารย์ยื่นจดหมายลายมือเส้นดินสอตัวเท่าหม้อแกงให้ผมดู

นอกจากจะส่งสมุดบันทึกกลับไปให้เด็กแล้ว
อาจารย์ยังแนบจดหมายแผ่นน้อยที่เขียนด้วยลายมือไปด้วย
ข้อความในกระดาษแผ่นหนึ่งเขียนว่า

จดบันทึกไว้นะครับ

โตขึ้นจะได้รู้ว่า

ความทรงจำในวัยเด็กนั้นมีค่า

ชายผู้ใช้ปากกาหมึกเขียวเป็นนิจใส่ใจการเขียนจดหมายด้วยลายมือมาก
เมื่อก่อนเขาจ่าหน้าซองจดหมายและพัสดุทุกชิ้นด้วยลายมือตัวเอง แม้แต่จดหมายฉบับสำคัญที่คนส่วนใหญ่ใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์
เขาก็เลือกเขียนด้วยลายมือ

“ความรู้สึกมันต่างกัน
ลายมือบอกอะไรบางอย่างนอกจากข้อความในจดหมายฉบับนั้น ถ้าใครพิมพ์จดหมายให้ผม
แล้วแค่เซ็นชื่อส่งให้ ผมไม่รู้หรอกว่าเขาให้คนอื่นร่างหรือเปล่า
แต่ที่ผมเขียนด้วยลายมือ เพราะผมอยากบอกว่าผมตั้งใจส่งจดหมายให้จริงๆ นะ
ไม่ได้ส่งตามธรรมเนียมประเพณี ถ้าเป็นจดหมายเรื่องสลักสำคัญ
ยิ่งต้องเขียนด้วยลายมือ”

นักเขียนจดหมายด้วยลายมือบอกว่าเสียดายที่จดหมายสำคัญหลายฉบับเขาเก็บดีเกินไปจนไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน
ไม่ว่าจะเป็นจดหมายตอบรับต้นฉบับเรื่อง ปีกผีเสื้อ จากคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง
บรรณาธิการนิตยสาร สตรีสาร ก่อนที่เธอจะเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น ผีเสื้อและดอกไม้
หรือ จดหมายตอบกลับด้วยลายมือจากอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ลินดอน บี จอห์นสัน
ที่เขาเขียนไปขอหนังสือสมัยเรียนประถม

“เขาตอบอะไรกลับมาก็ไม่รู้ จำไม่ได้
จำได้แค่เป็นลายมือสั้นๆ ตอนเด็กๆ ผมตื่นเต้นมาก เอาไปอวดครูเลย”
เขาปิดท้ายประโยคด้วยรอยยิ้ม

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 170 ตุลาคม 2557)

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่

ตอนที่ 1
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4

ภาพ นวลตา วงศ์เจริญ

AUTHOR