คามิน เลิศชัยประเสริฐ : ศิลปินหนุ่มผู้เชื่อมั่นว่าทุกคนมีความดีหนึ่งอย่างในตัว

จากการสนทนาหลายครั้ง ผมพอจะสรุปได้ว่าชีวิตของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ แบ่งเป็น 2 ช่วงหลักๆ โดยสิ่งที่แบ่งชีวิตของเขา คือนามธรรมอย่าง ‘ศิลปะ’

ช่วงแรกคือช่วงที่ชีวิตยังไม่รู้จักโลกศิลปะ เป็นช่วงเวลาที่แม้จะกินเวลาไม่นานแต่แฝงฝังอยู่ใต้จิตสำนึกของเขามาจนทุกวันนี้ ในตอนนั้นเขาคือเด็กที่สอบได้ที่โหล่ เรียนชั้นประถม 7 ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดนหมายหัวจากอาจารย์ว่าเป็นเด็กที่เกเรที่สุดในชั้นเรียน

ส่วนช่วงหลังคือช่วงที่ศิลปะเริ่มเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนชีวิต หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณและปากท้อง

เริ่มจากสอบเข้าวิทยาลัยช่างศิลป์ ต่อด้วยเข้าศึกษาที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินรุ่นเยาว์ดีเด่นจากมหาวิทยาลัย เดินทางไปนิวยอร์ก เข้าศึกษาที่ The Art Students League of New York

ปี 2534 คามินแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรก ชุด ‘ก เอ๋ย ก ไก่’ ก่อนจะสร้างสรรค์ผลงานแปลใหม่ให้วงการศิลปะไทยมาอย่างต่อเนื่อง ไล่เรียงไม่หมดด้วยหน้ากระดาษแผ่นนี้ โดยหลายๆ คนเริ่มรู้จักเขาผ่านผลงาน Conceptual Art ที่มีแนวคิดทางพุทธศาสนาและการวิปัสสนาสอดแทรก ในปี 2541 ก่อตั้ง ‘โครงการที่นา’ ร่วมกับฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่โด่งดังระดับโลก เพื่อเป็นพื้นที่ทดลองดำรงชีพแบบพึ่งพาตนเอง

และในปี 2551 เขาก่อตั้งพิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัย แห่งศตวรรษที่ 31 หรือ 31st Century Museum of Contemporary Spirit ที่เมืองคานาซาว่า ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะเปิดพิพิธภัณฑ์นี้ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2554

ทุกวันนี้ในวัย 50 เขายังคงทำงานศิลปะอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ในแววตาของเขายังคงมีไฟลุกโชน เมื่อบอกเล่าถึงสิ่งที่กำลังทำ ไม่แตกต่างจากแววตาของเด็กหนุ่มในวันวาน

ถึงวันนี้ ‘ศิลปะ’ นำพาชีวิตของเขามาไกลเหลือเกิน

“ผมคิดว่ามันเป็นโชคชะตา” คามินอธิบายถึงปรากฏการณ์ในชีวิตสั้นๆ ว่าอย่างนั้น

และอาจเป็นเหตุผลเดียวกัน ที่ทำให้ผมมานั่งอยู่ที่บ้านเขาในจังหวัดเชียงใหม่


1

ความดียังมีข้อเสียเลย

“กำลังทำถ้วยหรืองานศิลปะ”

ผมถามชายตรงหน้าขณะที่เขากำลังนวดดินเหนียว

“แยกไม่ออกมั้ง” เขาตอบรวดเร็วโดยไม่ละสายตาจากก้อนดินในมือ

ทุกวันหากไม่ติดธุระจำเป็น หลังนั่งสมาธิในช่วงเช้า คามิน เลิศชัยประเสริฐ จะมานั่งประจำการที่สตูดิโอแห่งนี้ ลงมือปั้นถ้วยชาวันลำ 1 ใบ กิจวัตรเป็นเช่นนี้มาต่อเนื่อง 3 – 4 เดือน

ถ้วยชาทุกใบเมื่อปั้นเสร็จเขาจะเขียนคำหนึ่งคำลงไป

“ผมชอบอ่านหนังสือเซน วันหนึ่งผมจะอ่าน 1 บท จากบทนั้นถ้าประทับใจความหมาย หรือแก่นของเรื่องใด ผมจะเอามาเขียน เหมือนกับเราเอามาวิเคราะห์อีกที พยายามทำความเข้าใจบทความที่เราอ่านให้ลึกขึ้น โดยเอามาขบคิดในแต่ละวันที่เราทำถ้วย”

เป้าหมาย มีชีวิต พึ่งพา อิสระ เหล่านี้คือตัวอย่างถ้อยคำเหล่านั้น

ไม่ใช่เพียงงานนี้ คามินใช้การทำงานศิลปะเพื่อทำความเข้าใจความหมายของชีวิตเสมอมา เขาตั้งคำถามและทดลองเพื่อแสวงหาคำตอบของสิ่งที่หัวใจสงสัย

เขาตั้งใจทำให้ครบ 365 ใบ แล้วนำไปจัดวางไว้ที่ 31st Century Museum of Contemporary Spirit มิวเซียมที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งเมื่อราว 6 ปีที่แล้ว เผื่อว่าผู้มาเยือนจะได้ดื่มชาจากถ้วยเหล่านี้ และบางทีบทสนทนาที่น่าจดจำระหว่างลิ้มรสชาอาจเกิดขึ้นจากถ้อยคำที่กำกับอยู่ที่ข้างถ้วยแต่ละใบก็เป็นได้

ที่ผนังสตูดิโอขณะนี้มีถ้วยชาที่เสร็จสิ้นแล้วเรียงรายกว่าร้อยใบ เป็นหลักฐานยืนยันถึงวินัยในการทำงานของเขา แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ออกตัวว่าปัจจุบันได้ผ่อนปรนการทำงานมากกว่าจะแข็งขืนให้เสร็จสิ้น

“เราทำงานมาหลายชุดแล้ว สมัย 20 – 30 ปีก่อนต้องทำให้จบ ต้องทำทุกวันห้ามหยุด 24 ชั่วโมงต้องได้ 1 ชิ้น เป็นการสร้างเงื่อนไขให้ตัวเองทำงาน ซึ่งบางครั้งเหมือนฝืนตัวเอง ช่วงหลังเลยตัดสินใจว่าไม่จำเป็นต้องเสร็จทุกวัน แรกๆ ก็ลำบากเพราะเราเคยชินกับการใช้เวลา 1 ชิ้นต่อ 24 ชั่วโมง ทำให้รู้สึกว่า เฮ้ย เราขี้เกียจหรือเปล่า แต่ไม่หรอก เป็นการตระหนักรู้มากขึ้น

“แทนที่เราจะต้องวาดรูป ทำประติมากรรม แล้วเรียกว่าทำงานศิลปะ บางครั้งเราต้องพาครอบครัวไปไหน ใช้เวลากับพวกเขา สิ่งเหล่านี้ก็เป็นงานที่สำคัญในชีวิต ผมว่าการทำงานศิลปะถูกละลายมากขึ้น เราไม่มองว่าเป็นงานแล้ว แต่กลายเป็นวิถีชีวิต มากกว่าจำเป็นต้องบังคับให้ทำ ตั้งใจมากเกินไปก็กลายเป็นข้อเสีย”

“ความตั้งใจมีข้อเสียด้วยหรือ” ผมถามตามที่สงสัย

“ความดียังมีข้อเสียเลย ถ้าเราตั้งใจทำความดีมากเกินไป บางทีก็ไปทำร้ายคนอื่น ทุกวันนี้เขาถึงฆ่ากันเพื่อสันติภาพ ฆ่ากันเพื่อความถูกต้อง เพราะคนอื่นผิดหมด เราเชื่อว่าตัวเองถูกที่สุด บางคนตั้งใจทำงานให้ดีจนอดหลับอดนอน ตัวเองป่วยก็มีเยอะแยะ ทำงานจนไม่เข้าห้องน้ำ ไม่กินข้าว เพื่อให้งานเสร็จ เพื่อให้งานดี ซึ่งความดีนี้ก็ไม่ใช่ว่าดีแล้ว ผลของมันอาจจะสวยงามสะอาดเรียบร้อย แต่คุณอาจสูญเสียคุณค่าบางอย่างระหว่างทางก็ได้

“ความดีสำหรับผมคือความสมดุล” เขาสรุปอย่างกระชับในขณะที่มือเริ่มขึ้นรูปดินเหนียวให้เป็นรูปทรงถ้วยชาอย่างเนิบช้า

จะเป็นถ้วยชาในมือ วิถีชีวิตที่กำลังดำเนิน หรืองานศิลปะที่กำลังทำ

ณ ขณะนี้ สำหรับเขาอาจแยกไม่ออก

2

ผมเคยได้รางวัลเด็กเกเรที่สุดในโรงเรียน

ก่อนจะมาเจอกันที่บ้านของเขาในจังหวัดเชียงใหม่ ผมพบคามินครั้งแรกที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในงานศิลปะสนทนา 2557 (BACC
Art Talk 2014)

ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะร่วมสมัยโดยไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมคัดสรรบางส่วนจากที่เคยทำมาทั้งชีวิตมาบอกเล่าถึงแรงผลักดันเบื้องหลัง พร้อมทั้งสอดแทรกทัศนคติ ความเชื่อ ที่ได้เรียนรู้จากการทำงานให้ทุกคนในห้องประชุมได้ฟัง

เมื่อสิ้นสุดการบรรยายกว่า 3 ชั่วโมง ทุกคนในห้องปรบมือให้เขาเสียงดัง บางคนลุกขึ้นยืนเอ่ยถ้อยคำขอบคุณผ่านเครื่องขยายเสียงเพื่อบอกว่าประทับใจสิ่งที่เขาบรรยายแค่ไหน

ยอมรับว่าเสียงปรบมือและเสียงเชิดชูทำให้ผมนึกภาพเด็กที่คุณครูมอบรางวัลเด็กเกเรที่สุดในโรงเรียนให้ไม่ออก

คามินเติบโตมาในครอบครัวคนจีน บ้านของเขาเป็นร้านโชห่วยเล็กๆ ในจังหวัดลพบุรี บรรยากาศรายล้อมด้วยธรรมชาติแบบชนบทแท้ๆ เขาถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประทำที่ชลบุรีตั้งแต่เรียนชั้นประถม 5 และหลายคนอาจไม่รู้ว่าศิลปินที่ปัจจุบันมีผลงานอยู่ในหลายประเทศนั้น ตอนเรียนประถม 7 ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ กว่าจะอ่านคำแรกได้ต้องรอถึง มศ.3

“โชคดีสมัยนั้นเป็นข้อสอบแบบวงกลม ผมเลยมั่วได้” คามินเล่าเคล้าเสียงหัวเราะให้กับเรื่องตลกร้ายในวันวาน

“ตอนเด็กผมเป็น Dyslexia (ภาวะบกพร่องด้านการอ่านเกิดจากความผิดปกติของเซลล์สมอง) ซึ่งทำให้ผมอ่านหนังสือไม่ออก สอบได้ที่โหล่มาตลอด ทำให้รู้สึกว่าเราโง่ เป็นคนมีปมด้อย ขาดความมั่นใจในตัวเองเพราะเรียนไม่เก่ง แต่เราวาดรูปได้ ทุกคนจะเอามาให้เราวาดในวิชาวาดเขียน เป็นวิชาที่ได้คะแนนเต็ม การวาดภาพจึงเป็นสิ่งเดียวที่เราภูมิใจเพราะทำได้ดีที่สุด”

ตอนใช้ชีวิตที่โรงเรียนประจำ เขาได้ฝากวีรกรรมไว้มากมาย หลายเหตุการณ์ผ่านไปไม่มีอะไรน่าจดจำ แต่บางเหตุการณ์ส่งผลสะเทือนรุนแรงกับความคิดและฝั่งอยู่ในจิตใต้สำนึกของเขาจนถึงปัจจุบัน

“ครูทุกคนหมายหัวเราว่าเป็นเด็กดื้อ แต่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ดื้อ เด็กผู้ชายก็เป็นเหมือนกันหมด ไปแอบดูผู้หญิงอาบน้ำก็ไปกันทั้งกลุ่ม แต่พอถูกจับได้ เพื่อนวิ่งหนี ครูเขาจำผมได้คนเดียว ถูกถามว่ามีใครบ้างผมก็ไม่กล้าบอก

“ผมเคยได้รางวัลเด็กเกเรที่สุดในโรงเรียน แล้วผมก็ทำเหมือนเราภาคภูมิใจ โชว์กับเพื่อนว่าเราเจ๋ง แต่ลึกๆ ผมเจ็บปวดนะ มีครั้งหนึ่งผมอธิษฐานกับพระเจ้าว่าเราอยากเป็นคนดีบ้าง จะทำได้ไหม”

ชีวิตของเด็กผู้ชายคนอื่นยังดำเนินไปด้วยความคะนอง แต่เขาเลือกแล้วว่าจะกลับตัวกลับใจ และในค่ำคืนหนึ่งที่ครูสาวเดินเข้ามาในห้องเพื่อส่งเด็กเข้านอน ในขณะที่เด็กผู้ชายบางคนรีบมุดเข้าใต้เตียงเพื่อหวังแอบดูใต้กระโปรง บางคนปีนขึ้นเตียงชั้นสองหวังลอบมองหน้าอก เขายืนสงบนิ่ง สายตาสนใจที่ดอกกุหลาบสวยงามซึ่งปักอยู่ที่หน้าอกเสื้อ

“เอาสายตาสกปรกของคุณออกไป”

ครูผู้นั้นเอ่ยประโยคนี้กับเขาด้วยน้ำเสียงเหยียดหยาม เพราะเข้าใจว่าเขาเพ่งมองที่อวัยวะต้องห้าม ประโยคนี้ก้องดังในหูเขาขณะนั้น และยังคงดังในใจของเขาจนทุกวันนี้

“พอถูกครูว่าแบบนั้นเพื่อนก็มาบอกเราว่าโง่ ทำให้ครูจับได้ เราก็มาคิดว่าเราโง่ หรือว่าเราทำอะไรก็ผิดหมด เหตุการณ์นี้เหมือนเป็นตราบาป มันโคตรเจ็บปวด และทำให้รู้สึกสนใจว่าความดีมีอยู่จริงเหรอ”

แม้จะฟังดูเหมือนเป็นช่วงเวลาที่ขมขื่นน่าลืมเลือน แต่คามินกลับเชื่อว่า ช่วงเวลาเหล่านั้นมีคุณค่า และหล่อหลอมให้เขามายืนอยู่จุดนี้

“ชีวิตมีคุณค่าทุกช่วงแหละ ถ้าเราไม่เจออย่างนั้นชีวิตเราก็ไม่เป็นอย่างนี้ เหมือนตอน ป.4 ที่สูบบุหรี่ ตอนนั้นเราไปเจอบุหรี่ที่คนทิ้งไว้ เราก็ไปเก็บมาสูบ สูบครั้งแรก โห ดี เย็นมาก ก็เลยสูบใหญ่เลย พอครั้งที่สองสำลักควัน ตั้งแต่นั้นมาผมก็ไม่สูบบุหรี่อีกเลย ถ้าผมไม่สูบบุหรี่ครั้งนั้นผมอาจจะติดยาแล้วตายเหมือนเพื่อนสนิทของผมตอน มศ.3 ก็ได้ ตอนนั้นเพื่อนผมสูบบุหรี่กันหมด แต่ผมไม่สูบอยู่คนเดียวเพราผมสำลักตอน ป.4 ถือว่าโชคดีไหม

“เหมือนรางวัลที่มอบให้เด็กเกเรที่สุดในโรงเรียน มันก็เป็นสิ่งที่ทั้งเลวที่สุดและดีที่สุด เป็นประสบการณ์ที่ทำให้มุมมองในชีวิตผมต่างออกไป ณ เวลานั้นอาจไม่มีความสุข แต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ดี”

เขาว่าถ้าไม่เกิดเหตุการณ์นั้น เขาจะไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็นคุณค่า ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์นั้น เขาจะไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้งเช่นทุกวันนี้

และแน่นอน ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์นั้น คงไม่เกิดสถานที่ที่เรานัดพบเจอกัน

พิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัย แห่งศตวรรษที่ 31 หรือ 31st Century Museum of Contemporary Spirit

 

3

คนบ้าหรือเปล่า

แดดเช้าส่องทะลุเข้าไปกระทบสิ่งที่จัดแสดงอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ เรามาถึง 31st Century Museum of Contemporary Spirit ตามเวลานัดหมายในเช้าวันหนึ่ง มิวเซียมแห่งนี้ประกอบด้วยตู้คอนเทนเนอร์ 7 ตู้ หากมองด้วยมุมมองนก เราจะเห็นว่าแต่ละตู้วางเรียงต่อกันเป็นเลข 31

อาจเพราะยังอยู่ในช่วงเช้า มิวเซียมแห่งนี้จึงยังสงบเงียบ ไร้ผู้คน สิ่งมีชีวิตที่พอเห็นได้ด้วยตาเปล่ามีเพียงสุนัข 2 ตัวซึ่งหลงมาอยู่ที่นี่แล้วไม่ยอมไปไหน จนกลายเป็นหน้าที่ของเขาที่ต้องคอยดูแลหาอาหารให้

ส่วนอีกหนึ่งชีวิตเป็นชายไร้บ้านผมเผ้ารุงรังที่มาอาศัยอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ว่างตู้หนึ่ง ขัดกับบรรยากาศโดยรอบที่ดูรื่นรมย์ สบายตา

“คนบ้าหรือเปล่า”

หลายคนที่มาเยี่ยมเยีนมักถามศิลปินเจ้าของสถานที่ด้วยคำถามนี้ และด้วยเหตุนั้น ผมจึงเก็บความสงสัยไว้ ไม่ถามเพราะแน่ใจว่าเขาได้เคยให้คำตอบอย่างกระจ่างไปแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

“ความฝันที่อยากใช้ชีวิตกับศิลปะจริงๆ เกิดขึ้นตอนไหน” ผมถามเขาขณะที่กำลังเอื้อมมือเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อให้เราสามารถเข้าไปภายในได้

“เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง”

คามินหัวเราะหลังคำตอบที่ชวนประหลาดใจไม่น้อย เพราะเท่าที่รู้เส้นทางชีวิตของเขา หลังจากจบชั้นมัธยมต้น เขาก็เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยช่างศิลป์ ก่อนจะสอบเข้าคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ สาขาวิชาภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ย้ายไปอยู่ที่เมืองศูนย์กลางของศิลปะโลกอย่างนิวยอร์กถึง 5 ปี เพื่อขยายขอบเขตโลกศิลปะของตัวเอง คำนวณด้วยตาเปล่าก็ย่อมรู้ว่าเขาอยู่กับศิลปะมานานกว่าคำตอบนั้น

“บางช่วงเราก็หลง บางช่วงเราก็อยากได้รางวัล อยากมีชื่อเสียง อยากขายงานได้ ตรงนั้นสำหรับผมมันเป็นธุรกิจ ไม่ใช่ศิลปะ มันคืออาชีพที่อยู่ในคราบการทำงานศิลปะ เราเพียงแค่สร้างโปรดักต์ขึ้นมาแล้วเอาไปขาย ไม่ต่างจากคนทำเสื้อ ทำเก้าอี้ ทำเฟอร์นิเจอร์ขาย ตอนนั้นเรามองศิลปะเป็นเพียงแค่ object อย่างหนึ่งที่จะทำให้เรามีอาชีพ มีชื่อเสียง มีบ้าน มีรถ ไม่ใช่คำว่าศิลปะในความที่ผมเข้าใจในปัจจุบัน พอเติบโต เราเริ่มเห็นว่าศิลปะไม่ใช่แค่การสร้างวัตถุเอาไปขายคนอื่น แต่เป็นสิ่งที่ให้อะไรกับเรา ให้ความมั่นคงทางจิตใจ ให้ความเข้าใจ ให้คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ สร้างสรรค์ความรู้บางอย่างที่ทำให้เราก้าวข้ามข้อจำกัดขององค์ความรู้ในอดีต ทำให้เราไม่มีความกลัว มีความเชื่อมั่นในการมีชีวิตอยู่มากขึ้น

“โลกเราถูกคิดด้วยนิยามแบบว่า จะเก่งต่อเมื่อได้รางวัล งานศิลปะที่ทำต้องแพงงานถึงจะดี เราลืมไปเลยว่าเป้าหมายของการทำศิลปะคืออะไร คุณทำงานศิลปะที่ขายไม่ได้ แต่มันเติมเต็มให้รู้สึกมีคุณค่ากับการมีชีวิตอยู่ มีความมั่นใจ มั่นคงในการดำเนินชีวิตที่เหลือ รู้สึกมีคุณค่า ดีกว่าคุณขายงานได้ล้านนึงแต่ใครๆ บอกว่าคุณไปลอกงานคนนั้นคนนี้ ได้อิทธิพลฝรั่งมา เหมือนการทำงานที่คุณมีเป้าหมายเป็นเงิน 1 ล้านบาท แต่คุณลำบากฉิบหายเลยกว่าจะได้มา กับการมีความสุขทุกขณะที่ไปให้ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งอาจจะได้ไม่ถึงเลยนะ แต่ที่ที่คุณอยู่คือเป้าหมายแล้ว

“ทุกวันนี้เราเหมือนตั้งคำถามผิดกันหมดเลย เช่น เราถามว่าเมื่อไหร่เราจะรวย คำตอบคือต้องไปทำงาน จนลืมไปว่าต้องการรวยทำไม เพราะต้องการความสุข แล้วสุขโดยที่ไม่ต้องรวยได้ไหม เราตั้งคำถามผิดก็ได้คำตอบที่ผิด”

แล้วทุกวันนี้คุณยังทำงานศิลปะเพื่อขายอยู่ไหม-ผมถาม

“ผมไม่ได้ทำงานศิลปะเพื่อขาย ผมทำงานศิลปะเพื่อทำความเข้าใจและตอบสนองความเชื่อของผม ถ้ามันขายได้ถือว่าโชคดี ถ้าได้รางวัลถือว่าดีมาก ถ้าคนยอมรับผมก็ยังต้องทำไปจนตาย เพราะไม่มีอะไรประเทืองปัญญาไปมากกว่าศิลปะ เป็นเครื่องมือที่ท้าทายที่สุด ทำให้ผมอยู่ในโลกแล้วมีคุณค่า

“ถ้าจะต้องตายเมื่ออายุ 70 ผมอยากใช้เวลาที่เหลือเข้าใจว่าสัจจะคืออะไร เกิดมาเพื่ออะไร คน 99.99 เปอร์เซ็นต์มีชีวิตอยู่กับสิ่งที่เอาไปไม่ได้ แม้แต่ความสุขก็เอาไปไม่ได้นะ เมื่อรู้ว่าเอาไปไม่ได้ ทำไมเรามีชีวิตอยู่กับสิ่งที่เอาไปไม่ได้ล่ะ” ศิลปินที่เพิ่งเริ่มความสัมพันธ์ใหม่กับศิลปะมาไม่กี่วันตั้งข้อสังเกต

เมื่อเขาพูดถึงตรงนี้ ผมคิดถึงประโยคหนึ่งที่เขาเขียนไว้ในหนังสือสูจิบัตรงาน ก่อนเกิด-หลังตาย ถึงชายไร้บ้านที่ชื่อ พี่ทอม

ชายคนที่ใครหลายคนสงสัยว่า “คนบ้าหรือเปล่า”

‘เราทุกคนรู้อยู่แล้วว่าวันหนึ่งต้องมาถึง
ความตายเป็นสิ่งที่เราไม่อาจจะเลี่ยงได้
และเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าไม่สามารถที่จะนำพาอะไรติดตัวไปได้เลย
ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ ฯลฯ เรามาตัวเปล่า แล้วก็ไปตัวเปล่า
แต่ในสังคมปัจจุบัน เราดำรงชีวิตอยู่เพื่อสิ่งเหล่านี้ที่เราไม่สามารถเอาติดตัวไปได้เลย
ส่วนพี่ทอมดำเนินชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ เขาอาศัยข้าวก้นบาตรและนอนข้างถนนมาก่อน
ไม่กังวลถึงอนาคต เป็นอิสระจากสิ่งที่พวกเรามุ่งหวัง ผมเลยไม่แน่ใจว่า
ใครกันแน่ที่เป็นคนบ้า’

 

4

ทุกคนมีความดีหนึ่งอย่าง

Our Body, Our Museum, Spirit is Art.

ประโยคนี้ถูกเขียนไว้บนตู้คอนเทนเนอร์ด้วยสีขาวตัดกับพื้นหลังสีแดงเข้ม ตัวอักษรใหญ่พอที่แม้ไม่ใช่คนช่างสังเกตก็ต้องมองเห็น เป็นประโยคที่อธิบายความหมายของพิพิธภัณฑ์ในอีกพันปี

จุดเริ่มต้นของมิวเซียมแห่งนี้มาจากเมื่อครั้งที่คามินเดินทางไปยังเมืองคานาซาว่า ประเทศญี่ปุ่น ตอนปี 2551

“ตอนนั้นผมถูกเชิญไปพูดเรื่องการใช้ศิลปะกระตุ้นเมืองที่มิวเซียมชื่อ 21st Century Museum เป็นมิวเซียมที่ถูกแทนค่าว่าเป็นมิวเซียมที่สำคัญของยุคสมัยนี้ ภายในรวบรวมศิลปะแนว Contemporary ชั้นเยี่ยมของศตวรรษที่ 21 เขาอยากให้ผมทำงานกับเมืองนี้โดยใช้ศิลปะกระตุ้นเมือง ผมบอกเขาว่า โอเค ถ้าผมคิดออกภายใน 4 วันผมจะทำ ถ้าคิดไม่ออก ผมกลับบ้าน”

เจ้าหน้าที่พาเขาเยี่ยมชมบ้านเมืองเพื่อเก็บเกี่ยววัตถุดิบมาใช้สร้างงาน และเขาก็พบแรงบันดาลใจในโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่ง

“ผมไปเจออาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง เขาเขียนใบจบการศึกษาแล้วพูดถึงความดีของเด็กหนึ่งอย่างต่อหนึ่งคน เขาหาความดีของเด็ก 500 คน ในโรงเรียนเพื่อเขียนความดีของเด็กทุกคน ผมรู้สึกว่ามันมหัศจรรย์ มีครูอย่างนี้เหลืออยู่ด้วยหรือในโลกใบนี้

“เราก็เลยถามว่า มีเด็กคนไหนที่เป็นเด็กไม่ดี เป็นเด็กเกเร จนคุณไม่รู้จะเขียนอะไรไหม เขาบอกว่าไม่มี เขาเชื่อว่าทุกคนมีความดีหนึ่งอย่าง มันทำให้ผมช็อกมาก ตอนเด็กๆ ทำไมไม่เจอครูแบบนี้ ครูที่ทำให้เรามีกำลังใจ ถ้าเป็นคนอื่นอาจไม่คิดเหมือนผมและไม่รู้สึกอะไรกับสิ่งนี้ แต่กับผมนี่มันแรงมาก เหมือนถูกชกหน้า เฮ้ย มันมีอย่างนี้เว้ย แสดงว่าคุณค่านี้มันมีอยู่

“ผมถามเขาว่าแล้วถ้าหาไม่เจอ ไม่รู้จักเด็กคนนั้นจะทำยังไง เขาตอบว่าก็ถามเพื่อนในห้อง เดี๋ยวก็ต้องมีคนบอกว่าเขาดียังไง แล้วก็เอามาเขียน ผมเลยบอกว่างั้นช่วยเขียนคำนี้ให้ผมได้ไหมว่า ทุกคนมีความดีหนึ่งอย่างในตัว เพื่อให้กับผมในวัยเด็ก เพราะผมเคยได้รับแต่รางวัลเด็กเกเรที่สุดในโรงเรียน และเขาก็เขียนให้ผมว่า มอบให้คามิน ทุกคนมีความดีหนึ่งอย่าง”

กระดาษที่มีตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นซึ่งติดอยู่ภายในมุมหนึ่งของตู้คอนเทนเนอร์ คือกระดาษแผ่นที่เขาได้รับจากอาจารย์ใหญ่

คามินว่าครั้งนั้นเป็นการเปลี่ยนมุมมองของเขาที่มีต่อศิลปะครั้งใหญ่ จนเป็นที่มาของโปรเจกต์ 31st Century Museum of Contemporary Spirit

“ผมเชิญคนทั้งเมืองคานาซาว่า ให้นำสิ่งของหนึ่งชิ้นที่มีความดีหนึ่งอย่างที่ประทับใจมาแสดงร่วมกัน แล้วทุกคนก็ให้เหตุผลว่ามีความหมายกับชีวิตเขายังไง ยกตัวอย่าง มีอยู่คนหนึ่ง เขาเลือกภาพในโทรศัพท์มือถือที่เขาจะได้รับจากพ่อตอนปีใหม่ ทุกปีพ่อเขาจะถ่ายใบไม้สี่แฉก ซึ่งมีความหมายว่าจะโชคดี ทุกครั้งที่เขาไม่สบายใจ มีความทุกข์ ดูแล้วเขาจะมีกำลังใจ และรู้สึกถึงความผูกพันของเขากับพ่อ ทุกวันเขาจะดูภาพนี้ ซึ่งผมรู้สึกว่าความหมายแบบนี้ คุณค่าแบบนี้ มันไม่เกี่ยวกับใครเลย แต่มันสามารถทำให้คนคนนึงขับเคลื่อนชีวิตได้ และผมว่าสังคมเราขับเคลื่อนด้วยมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่องค์กรใด ประเทศใด คนใดคนหนึ่ง แต่ขับเคลื่อนด้วยคนทุกคน และสิ่งนี้แหละที่โลกศิลปะไม่เคยพูดถึง พิพิธภัณฑ์ไม่เคยพูดถึง แล้วผมให้ทุกคนมายืนถือสิ่งเหล่านี้ ล้อมรอบพิพิธภัณฑ์ศตวรรษที่ 21 ถ่ายรูปร่วมกันจากมุมสูงด้วยเฮลิคอปเตอร์

“ผมกำลังจะบอกว่าอีกพันปีข้างหน้า พิพิธภัณฑ์ก็คือร่างกายของเราทุกคน Spirit ก็คืองานศิลปะ มิวเซียมที่มีอยู่ในศตวรรษนี้เป็นแค่สถานที่รวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นสิ่งภายนอก แต่เราไม่เคยพูดถึงคุณค่าที่อยู่ภายใน ในโลกความเป็นจริง เราไม่เคยมองมันและพูดถึงคุณค่านี้ เราพูดแต่คุณค่าที่ถูกยอมรับหรือมีมูลค่า ซึ่งมันต่างกัน”

เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย เวลาผ่านไป 2 – 3 ปี ความคิดนั้นยังคงหลงเหลือในใจ เขาจึงก่อตั้ง 31st Century Museum of Contemporary Spirit ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2554

“นี่แหละคือสิ่งที่ผมหามาทั้งชีวิตแต่ไม่เคยเข้าใจ แล้วผมอยากเข้าใจมัน ก็เลยสร้างตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้ขึ้นมาข้างบ้าน เพื่อรวบรวมประสบการณ์ในชีวิตทั้งหมดที่เห็นและผ่านมาในความทรงจำ ว่าอะไรที่ทำให้ผมเข้าใจชีวิตมากขึ้น เข้าใจคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ แล้วผมก็รวบรวมสิ่งเหล่านั้นกับเหตุการณ์เรื่องราวเอามาไว้ในตู้คอนเทนเนอร์”

วันนี้ในศตวรรษที่ 21 พิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยของศตวรรษที่ 31 ปรากฏอยู่ตรงหน้าเรา ไม่ต้องรอยาวนานเป็นพันปี

 

5

นี่ไม่เรียกว่าสร้างสรรค์เหรอ

หลังเสร็จสิ้นบทสนทนายาวนาน เรานัดหมายพบเจอกันอีกครั้ง ก่อนที่คามินจะอาสาขับรถพาผมไปส่ง

บนรถยนต์ของศิลปินเราคุยกันสั้นๆ เรื่องนิยามศิลปะ

“พอพูดถึงศิลปะ หลายคนจะเข้าใจว่าเป็นสุนทรียศาสตร์ หรือเป็นงานศิลปะตามแบบอย่างตะวันตกเท่านั้น ซึ่งมาถึงจุดหนึ่งผมจึงเข้าใจว่าศิลปะเป็นกระบวนการเรียนรู้จากชีวิต ธรรมชาติ และสังคม สำหรับผมขอใช้คำว่าสร้างสรรค์ดีกว่า ซึ่งทุกศาสตร์มีความสร้างสรรค์อยู่

“เหมือนมูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) ที่ทำไมโครเครดิตปล่อยสินเชื่อคนจนที่ไม่มีหลักทรัพย์ คนไม่มีเงินจะกินข้าวจะเอาหลักทรัพย์ที่ไหนมาค้ำประกัน ระบบเศรษฐศาสตร์ไม่ได้คิดมาเพื่อกลุ่มคนที่ต้องการมันจริงๆ ไมโครเครดิตจึงเกิดขึ้นเพราะมีความรักเข้าไปในเศรษฐศาสตร์ เหมือนมหาตมะ คานธี ที่นำความรักเข้ามาใช้กับการเมือง เขาถึงได้ยิ่งใหญ่ แล้ววิธีการของคานธีคือการเมืองเหรอ สำหรับผมนั่นโคตรอาร์ตเลย เพราะนักการเมืองทุกคนไม่เคยเอาความรักเข้ามาในโลกการเมือง”

เหตุการณ์ไหนกันที่ทำให้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อศิลปะ-ผมสงสัย

“พูดยาก ทุกช่วงก็ค่อยๆ สะสมมาหมด ช่วงที่สนใจพุทธศาสนา ช่วงที่ปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิทั้งวัน ช่วงที่ทำงานศิลปะเป็นบ้าเป็นหลัง ช่วงที่เราส่งประกวดได้รางวัล ช่วงที่เราไม่ได้รางวัล ช่วงที่ขายรูปได้เงินมากมาย ช่วง 10 ปีที่ขายงานไม่ได้เลย ทุกช่วงสอนเราหมด

“ทุกช่วงหล่อหลอมให้เราเป็นทุกวันนี้ แยกไม่ได้เหมือนรอยต่อของกลางวันกลางคืน เหมือนรอยต่อของฤดูฝนร้อนหนาว

“ทุกวันสำคัญหมด” คามินย้ำคำในขณะด้านนอกกระจกรถฟ้าเริ่มเปลี่ยนสี

ทุกวันนี้ศิลปะสำหรับเขาเป็นอิสระ ไร้กรอบและไร้ข้อจำกัด ผู้สร้างงานไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปิน และสถานที่ทำงานไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ในสตูดิโออีกต่อไป

“ศิลปะกว้างขึ้น เพราะมันอาจเป็นทั้งวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมือง เป็นทุกอย่าง การให้สัมภาษณ์ก็คือขั้นตอนหนึ่งของการทำงาน ผมต้องการแบ่งปันความรู้ แบ่งปันข้อมูลให้คนอื่น บางทีมันตรงกว่านั่งทำงานศิลปะอีก

“ทำไมผมต้องไปทำศิลปะให้คนเข้าใจสัจธรรมในเมื่อนั่งคุยกับคุณแล้วทำให้เข้าใจสัจธรรมได้ มันอาจเป็นศิลปะมากกว่าหรือเปล่า พอเข้าใจตรงนี้ เราจะเห็นคุณค่าของทุกอย่าง ผมจึงให้เวลากับสิ่งนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อพูดให้ดูดี ดูฉลาด แต่สังคมอาจเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของผมก็ได้ แล้วไม่ต้องมาซ้ำรอยผม คนที่อ่านจะได้เดินต่อไปได้เลย ไม่ต้องมาใช้เวลา 50 ปีเพื่อค้นหาแบบผม เราคิดว่าจะทำยังไงให้บทสนทนานี้มีประโยชน์ที่สุด

“นี่ไม่เรียกว่าสร้างสรรค์เหรอ” คามินถามโดยไม่ต้องการคำตอบ

6

ที่เหลือเราควบคุมไม่ได้

เราพบกันอีกครั้งยามเย็นของวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันที่ 31st Century Museum of Contemporary Spirit ปิดทำการ

ผมเดินผ่านประตูมาสู่ตัวบ้านที่เขาใช้สร้างสรรค์งานศิลปะ ผลงานต่างๆ วางกระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ทั้งที่เสร็จสมบูรณ์แล้วและกำลังค้างคา ภาพเหล่านี้บอกผมว่า เขาเป็นศิลปินคนหนึ่งที่สามารถใช้ศิลปะหล่อเลี้ยงชีวิตได้อย่างสมดุล

หมายถึงทั้งสนองสิ่งที่หัวใจเรียกร้องและหล่อเลี้ยงปากท้องได้จริง

“คุณมองเห็นภาพตัวเองในอีก 20 – 30 ปีข้างหน้าไหม” ผมชวนศิลปินวัย 50 คุยเรื่องอนาคตที่โต๊ะญี่ปุ่นมุมหนึ่งในบ้าน

“ไม่เห็นเท่าไหร่” เขาตอบขณะยื่นแก้วชาร้อนให้ผม

“เคยคิดว่าตอนแก่จะทำอะไร แต่ตอนนี้ก็รู้สึกว่าเราแก่แล้ว ตายพรุ่งนี้คุ้มแล้ว เพราะเคลียร์ทุกเรื่องที่คาใจแล้ว ทำเต็มที่ทุกอย่างทุกวัน ตายไปก็ไม่คิดแล้วว่าลูกจะอยู่ได้ไหม เมียจะอยู่ยังไง เพราะคิดมาหมดแล้วว่า ถ้าต้องตายจะเสียใจไหม
ไม่ เพราะเราทำเต็มที่ที่สุดแล้ว ที่เหลือเป็นหนึ่งส่วนที่เราควบคุมไม่ได้ การเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่เคล็ดลับก็คือการยอมรับส่วนนี้ ยอมรับความไม่สมบูรณ์แล้วชีวิตจะสมบูรณ์

“เมื่อไหร่ที่ทำดีที่สุดแล้วไม่ได้รับผลดี เราต้องยอมรับว่ามีส่วนที่เราควบคุมไม่ได้ ชีวิตจะมีความสุข เหมือนวันหนึ่งคุณเดินออกไปแล้วต้องตายคุณก็ต้องยอมรับ แต่คุณจะกลัวความตายแล้วไม่ใช้ชีวิตที่เหลือเหรอ

“ยังไงคุณก็ต้องตาย แล้วเราจะอยู่กับความกลัวจนตาย หรือจะมีความสุขจนตาย”

โดยไม่ต้องเอ่ยปากยืนยันทางเลือก ผมเห็นคำตอบของเขาปรากฏตรงหน้าชัดเจน

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR