ภาณุ อิงคะวัต : ชายผู้ทำในสิ่งที่เชื่อว่าใช่และชอบ 4/4

คุณว่าตัวเองอยู่ในระดับไหนระหว่างผู้ตามเทรนด์ที่แม่นยำกับผู้นำเทรนด์
ผมไม่ได้คิดอะไรแบบนั้น
งานผมไม่ได้โดดเด่นมาก แบบโอ้โห ล้ำว่ะ เพราะสไตล์ที่ผมชอบไม่ใช่สไตล์ล้ำๆ ผมไม่ใช่คนที่ลุกขึ้นมานุ่งกระโปรงถ้าแฟชั่นผู้ชายใส่กระโปรงกำลังมา
ผมก็เลยทำในสิ่งที่ชอบแล้วก็รู้สึกว่ามันใช่
แต่ผมก็ต้องสนใจเทรนด์อยู่แล้วว่าตอนนี้คนส่วนใหญ่กำลังสนใจอะไร แนวโน้มจะเป็นอะไร
ถ้าเราต้องเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์นั้น เราต้องไปทางไหน ไปแค่ไหน ไปจนสุดความเป็นเราหรือเปล่า
ผมรู้สึกว่าเราต้องมีตัวตน ผมก็ทำของผมไป แค่ทำในสิ่งที่เชื่อว่ามันใช่ แล้วก็ชอบ
อย่างผมทำร้านเกรย์ฮาวด์คาเฟ่ขึ้นมาเพราะผมอยากหาที่นั่งกินกาแฟแบบนี้
ผมเคยไปนั่งที่อื่นมาแล้วชอบ เลยไปหยิบมาปั้นรวมกัน
บังเอิญช่วงนั้นยังไม่มีร้านกาแฟแบบนี้ ผมก็เลยกลายเป็นผู้นำ
แต่ผมไม่ได้ทำขึ้นมาเพราะอยากเป็นผู้นำเทรนด์กาแฟ

ครีเอทีฟที่อายุมากขึ้นจะรักษาความสามารถในการคิดงานให้สู้กับเด็กๆ ได้ยังไง
สู้ไม่ได้
คุณจะไปสู้เด็กๆ ได้ยังไง (หัวเราะ) การเปิดรับเรดาร์ของเด็กเขาแรง
ผู้ใหญ่มีแต่แคบลงๆ มีกรอบที่หนาขึ้น แต่เขี้ยวยาวกว่า แกนแน่นกว่า
นี่คือสิ่งที่ผมพยายามสร้างให้เกิดความสมดุลในบริษัทเกรย์ฮาวด์
คือมีคนเก่าๆ หลายคนที่อยู่กับผมมา 20 กว่าปี
อย่างรอง (จิตต์สิงห์ สมบุญ) พวกนี้คือแกน เพราะรู้ว่าเกรย์ฮาวด์แปลว่าอะไร
ต่อให้วันนี้รองทำเพลย์ฮาวด์ แต่ก็รู้ว่าเพลย์ฮาวด์เป็นน้องเกรย์ฮาวด์
มันต้องออกมาเป็นยังไง นี่คือแกน แต่ความสดใหม่มันมาจากเด็ก
เราต้องมีเด็กมาชื่นชูความสดของไอเดีย
แล้วแกนก็ช่วยกันกุมหางเสือให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะเรารู้ลู่ทางมากกว่า
เห็นทะลุปรุโปร่งกว่า มันคือสององค์ประกอบที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ คือทิศทางต้องชัด และต้องใหม่เสมอ

คุณเขียนในบล็อกว่าไปฟังสัมมนาที่
TCDC บ่อยมาก
ครับ

ระดับคุณยังต้องไปฟังเด็กพูดอีกหรือ
ไม่อยากฟังเด็กไม่เก่งพูด
(หัวเราะ) แต่เขาเก่งน่ะ เด็กไม่เด็กไม่เกี่ยว เก่งซะอย่างยังไงเราก็จ๋อย
ดูเด็กรุ่นใหม่เขาคิดกันสิ ไอเดียมันเป็นอะไรที่ใหม่ตลอดเวลา
ในแต่ละวันมีคนคิดอะไรที่ทำให้เรารู้สึกคัน แรงบันดาลใจมันจำเป็นนะ
ต่อให้ไม่ได้ทำงานครีเอทีฟ แรงบันดาลใจแค่อยากกินอะไรก็ได้ ถ้าไม่มีแรงบันดาลใจ
ชีวิตมันจะดำเนินไปยังไง พรุ่งนี้จะทำอะไร

มีคนบอกว่าบ้านใหม่ของคุณ
คุณคิดในทุกรายละเอียด เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้น ต้นไม้ทุกต้น ผ่านการคิดมาหมด

(หัวเราะ)
ไม่ขนาดนั้นครับ

แต่ก็คิดเยอะ
ก็คิดอย่างที่อยากให้มันเป็น
คิดเหมือนทำร้าน หรือทำงานทุกงาน
ที่บ้านเก่าผมอยู่ชั้นบน ก็คิดว่าแก่แล้ว ต่อไปอาจเป็นข้อเข่าอักเสบ
ถ้าเราจะอยู่บ้านสักหลังต่อจากนี้ ก็ควรจะอยู่ติดดิน
ผมไม่อยากสร้างบ้านอยู่ต่างจังหวัด เพราะไปบ้านต่างจังหวัดทีไร
เพื่อนๆ กินข้าวกันสนุก แต่เจ้าของบ้านเขาเหนื่อยจัง
แทนที่จะมาพักผ่อนก็ต้องวิ่งซ่อมแอร์ ซ่อมท่อน้ำ ชักโครก
เลยสัญญากับตัวเองว่าจะไม่มีบ้านต่างจังหวัด บ้านตากอากาศมันมีความสุขซ่อนอยู่
ทำไมไม่ทำบ้านที่เราอยู่ทุกวันให้เป็นบ้านตากอากาศล่ะ จะได้อยู่แบบแฮปปี้ทุกวัน
ไม่ใช่ทำงานเสร็จแล้วกระเสือกกระสนไปเที่ยวบ้านพักตากอากาศ
พอได้ไอเดียแบบนี้ก็คิดต่อว่า แล้วจะทำบ้านพักตากอากาศยังไง
มันต้องมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง ก็คิดสนุกๆ ไม่ได้ซีเรียส

เห็นว่าตอนย้ายบ้านคุณโละเสื้อผ้าชุดใหญ่มาก
ผมเป็นคนไม่ทิ้งของ
รองเท้าบางคู่ที่ผมใช้ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย
กระเป๋าตั้งแต่สมัยเรียนก็ยังอยู่ ไม่ใช่ใช้ซีซั่นนึงแล้วทิ้ง
ผมไปเห็นเทรนด์ใหม่ที่ญี่ปุ่น ร้านของแบรนด์เนมมือสองนี่กำลังดังมาก
เวลาเขาซื้อของมาแล้ว เขาเก็บทุกอย่างไว้เหมือนเดิมอย่างดี ทั้งป้าย
ใบอธิบายสรรพคุณ กล่อง แท็ก ถุง พอใช้ไปแล้วไม่ชอบ หรือต้องซื้อใหม่แล้วก็ขาย
เขาก็สามารถหมุนของในบ้านได้ ผมก็คิดว่า มีของหลายอย่างที่เราซื้อมาแล้วไม่ชอบ
เราก็เก็บมันไว้ใต้สุดของกองเสมอ แล้วมันก็จะอยู่ตรงนั้นแหละถ้าเราเอาออกมาขาย
มันก็อาจเป็นสิ่งที่คนอื่นต้องการ แล้วเราก็ได้เงินไปซื้อของใหม่
ร้านมือสองเขาไม่ใช่ร้านเล็กๆ นะ เป็นห้างเลย เดี๋ยวยุโรปก็คงตามมา
คุณจะทำอะไรกับเสื้อแพงๆ ที่คุณซื้อมาแล้วใส่ไปแค่ไม่กี่ที จากศูนย์อาจจะเหลือ 25 – 30 เปอร์เซ็นต์ของราคา แต่ถ้าคุณเก็บทุกอย่างไว้อย่างดี
ก็อาจเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของราคา แล้วก็มีคนพร้อมที่จะซื้อ
แลกกันใช้ ผมกำลังชอบไอเดียนี้อยู่

ตอนที่โละของออกนอกบ้านผมยังงงเลยว่ามีของอยู่ในบ้านเยอะขนาดนี้ได้ยังไง
ผมเอามาขายที่ออฟฟิศเอาเงินไปทำบุญก็เรียงเต็มลานจอดรถหน้าออฟฟิศผมเลย ขายตัวละ 50 บาท 100 บาท
ได้เงินมา 50,000 บาท ที่โละมานี่แค่ส่วนหนึ่งนะครับ
ที่ไม่ได้ขายก็ยังมีอีก

คุณคิดว่าความเนี้ยบความเท่ทั้งในงานและการใช้ชีวิตของคุณมาจากอะไร
คนอื่นเนี้ยบกว่าผมเยอะ
ผมว่าเรื่องนี้มันอยู่ในดีเอ็นเอของเรา ทำไมพี่น้องสองคนนี้ถึงไม่เหมือนกัน ทั้งที่เลี้ยงดูมาเหมือนกัน
คนนึงเนี้ยบ อีกคนไม่เนี้ยบ คนนึงโกง คนนึงใจดี
สมัยเด็กพี่ผมเขาไม่สนใจเรื่องพวกนี้เลย แต่ห้องผมเนี้ยบมาก (หัวเราะ)
เราก็โตมาด้วยกัน พ่อแม่เดียวกัน

คุณพบว่าตนเองสนใจอะไรแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่
เด็กมาก
สิบกว่าขวบ ผมมีอาเป็นสถาปนิก (รศ.สมถวิล อุรัสยะนันทน์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์
(ออกแบบอุตสาหกรรม)) เป็นนักปั้นเซรามิก เขาก็จะปั้นถ้วยชามเอาไว้ใช้เองในบ้าน
สามีเขาก็เป็นสถาปนิก (เลิศ อุรัสยะนันทน์) ลูกเขาก็เป็นสถาปนิก (รศ.เลอสม
สถาปิตานนท์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ) แต่งงานกับสถาปนิก (นิธิ สถาปิตานนท์
เจ้าของบริษัท A49)
บ้านเขาสวยมาก สแกนดิเนเวียนตั้งแต่ผมเด็กๆ แต่บ้านผมเป็นบ้านธรรมดา
แบบที่โต๊ะกินข้าวมีของวางตลอดเวลา
กลับบ้านมากลางคืนผมก็ลุกขึ้นมาเก็บบ้านของผมบ้าง ย้ายเฟอร์นิเจอร์ เข้ามาก็โดนด่า
เพราะอยู่ดีๆ โต๊ะกินข้าวก็ย้ายไปอยู่อีกด้าน ไม่รู้ทำไม ไม่ชอบอยู่ในความรก
ความไม่สวย ไม่สบายตา

ถ้าพูดถึงเด็กชายภาณุ
ภาพแรกที่คุณนึกถึงคือ

เป็นเด็กที่ชอบวาดรูป
ดื้อ เต็มไปด้วยคำถาม ถามทั้งพ่อแม่ทั้งโรงเรียนว่าทำไมต้องอย่างนั้นอย่างนี้
แล้วก็ชอบเอาชนะ ไม่ใช่การเอาชนะในเรื่องเพื่อนหรือกีฬา แต่เอาชนะในความคิด
ถ้าเขาพูดให้ทำอย่างนี้ แล้วเราจะไม่ทำแบบนี้ ทำยังไงเราถึงจะเป็นฝ่ายถูก
มีการแอบเอาชนะระหว่างแม่กับลูกเสมอ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากผมเรียนจบจากสาธิตจุฬาฯ
ที่ช่วยเปิดความคิดอะไรแบบนี้ ถ้าเขาดุแล้วผมคิดว่าไม่ถูกต้อง ก็มีการประท้วง
มันจะเป็นแบบนี้

จำตัวเองตอนอายุ
25 ได้ไหม ความสุขในวัยนั้นคืออะไร
ผมชอบอยู่ 3 อย่าง ชอบโฆษณา ชอบนั่งร้านกาแฟ แล้วก็ชอบช้อปปิ้ง
พอเรียนจบกลับมาก็ได้ทำโฆษณา ได้ช้อปปิ้ง อยากแต่งตัวแบบนี้ อยากได้เสื้อผ้าแบบนี้
ก็ได้ทำเกรย์ฮาวด์

อะไรคือเรื่องใหม่ที่เข้ามาในวัย
35
เรื่องงานไม่ค่อยมี
สิ่งที่ใหม่ที่สุดคือ ได้บวช แล้วก็รู้จักหลักการของพุทธศาสนาจริงๆ
ช่วงนั้นผมตัดสินใจว่าควรบวชได้แล้ว อยากบวชให้แม่ด้วย ไหนๆ
จะบวชทั้งทีก็อยากเรียนรู้อะไรจริงๆ เพื่อนก็พาไปทัวร์เลือกวัดกัน
ก็ไปเจอวัดสนามใน เป็นวัดป่าอยู่ที่ฝั่งธนฯ เข้าไปก็งงมากว่ามีวัดแบบนี้ในกรุงเทพฯ
ด้วยเหรอ ต้นไม้คลุมทั้งวัด โบสถ์ก็ไม่มี ใช้โบสถ์เก่าที่พังแล้วเหลือแต่ฐาน
ที่เหลือต้นไม้คลุมหมดเลย กุฏิพระเป็นหลังเล็กๆ เหมือนบังกะโลที่สมุย (หัวเราะ)
ไปถึงเขากำลังปฏิบัติธรรมกันพอดี พอเสร็จพระท่านก็บอกว่ามีใครมีอะไรจะถาม อยากคุย
โอ้ มีวัดแบบนี้ด้วย สมัยใหม่มาก ผมก็ถามไปว่า
การจะไปสู่นิพพานจำเป็นต้องปฏิบัติด้วยเหรอท่าน ท่านก็ตอบแต่ผมไม่เข้าใจ
ตอนฉันเพลก็มีระบบ เอาอาหารที่บิณฑบาตได้ทั้งหมดมาเทรวมกันในรถเข็นใส่อาหาร แล้วเข็นผ่านพระ
พระก็หยิบอาหารที่จะฉันไว้ เข็นมาถึงคนที่มาวัดให้ทานด้วย
พอทานเสร็จก็มีกระป๋องพลาสติก 3 ใบ
เข็นผ่านหน้า เขียนว่าถุงพลาสติก อาหารเหลือ แล้วก็อาหารที่ยังไม่ได้ทาน
นี่คือเมื่อ 20 ปีที่แล้วนะ ผมก็เลือกวัดนี้
ผมได้เรียนรู้อะไรที่ไม่เคยรู้เรื่องพุทธศาสนา เมื่อก่อนพุทธศาสนาแปลว่า
ขอให้ผมสอบได้ที่ 1 ขอให้ผมรวย ขอให้ผมประสบความสำเร็จโน่นนี่
ผมเพิ่งรู้ที่นั่นว่า นะโม ตัสสะ แปลว่า เราขอเคารพผู้ที่รู้แจ้งได้ด้วยตนเอง
ผู้รู้แจ้งที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดคือพระพุทธเจ้า
แต่เราก็เป็นผู้รู้แจ้งด้วยตนเองได้ แปลว่าเรามีสิทธิ์เคารพตัวเองได้

สึกออกมาวิธีคิดงานเปลี่ยนไหม
ช่วงนั้นสับสนมากครับ
ออกมาเราก็กลับมาช่วยสร้างโลกแห่งวัตถุ มันเป็น 2 โลกที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง สุดทางของทั้ง 2 โลกมันคนละเส้นทาง พระพุทธเจ้าท่านทำถูกแล้ว
ท่านต้องหนีจากโลกนี้ไปอยู่โลกนั้น ไม่งั้นเราไม่มีทางนิพพานได้
เพราะมันเต็มไปด้วยสิ่งล่อใจ แต่มันก็ยังมีทางสายกลางที่เดินอยู่บนทั้ง 2 โลกได้ด้วยความสุข แต่มันไม่สุด

วันนี้ในวัย 55 ความสุขที่สุดของคุณคืออะไร
ก็ยังได้ทำในสิ่งที่สนุกอยู่
ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะหารูเล็กๆ เดินออกไปถึงโลกแห่งธรรมได้
ไม่รู้ว่าชาตินี้จะเจอหรือเปล่า ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าเวลาและโอกาสมันเป็นเหมือนกรรม
คือเราสั่งสมกันมา พูดด้วยภาษาสมัยนี้คือ เขาโปรแกรมมาแล้ว
แต่โปรแกรมนี้ทำจากบุญและกรรมที่เราสั่งสมมาไม่เท่ากัน
เขาโปรแกรมมาแล้วให้เราไม่เหมือนกัน เหมือนตอนสึนามิ อยู่ห้องเดียวกัน
บางคนไปตายอีก 2 กิโลเมตร อีกคนรอด ผมก็หวังว่าจะเจอรูนั้น
แต่ถ้าไม่เจอก็ขอให้ได้ทำสิ่งที่สนุกต่อไป

คุณถูกโปรแกรมมาให้ทำอะไร
นักคิด นักทำ
นักสร้างสรรค์มั้งครับ

คุณพูดถึงคำว่า
ความเชื่อ บ่อยมาก มันสำคัญยังไง
คนที่ไม่มีความเชื่อมันก็ล่องลอยสิครับ
แต่ละคนก็มีแก่นของตัวเอง คนที่มีความเชื่อคือคนที่มีคุณค่า มีความน่าเชื่อถือ
น่าสนใจ แต่ละคนไม่ต้องเชื่อเหมือนกันก็ได้ มันจะทำให้เกิดความแตกต่าง
ความเชื่อทำให้การใช้ชีวิตแต่ละวันของเรามีความหมาย

เราจะหาความเชื่อของตัวเองเจอได้ยังไง
มันเป็นดีเอ็นเอเหมือนกัน
จะเรียกว่าดีเอ็นเอ หรือเขาโปรแกรมมาแล้ว หรือบุญกรรมก็ได้
บางทีคุณอาจจะไม่มีก็ได้

ความเชื่อของภาณุ
อิงคะวัต คืออะไร

เชื่อในสิ่งที่ทำ
ทำในสิ่งที่เชื่อ ขอให้ได้ทำในสิ่งที่สนุก แล้วก็เชื่อว่าทำได้ดีที่สุด
ทำเต็มที่ด้วยศักยภาพ ด้วยความสามารถ เราจะทำสิ่งนั้นได้

“เอื้อมไปข้างบน
ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ไปสู่ความเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์
ความสมบูรณ์แบบของทุกอย่างที่ทำ”

www.greyhound.co.th
bhanuinkawat.wordpress.com

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 119 กรกฎาคม 2553)

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3

ภาพ นวลตา วงศ์เจริญ

AUTHOR