ภาณุ อิงคะวัต : ชายผู้ทำในสิ่งที่เชื่อว่าใช่และชอบ 3/4

ใครๆ ก็รู้ว่าคุณรักงานโฆษณาและลีโอ
เบอร์เนทท์ หมดหัวใจ ทำไมถึงตัดสินใจลาออกจากลีโอ เบอร์เนทท์ และวงการโฆษณา
มาทำงานแฟชั่นอย่างเดียว
แรงหมด ไม่มีแรงทำให้วงการโฆษณาในวันนั้นขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เราอยากให้เป็น
คือเป็นเหมือนวันที่เราพีก ไม่ใช่แค่องค์กรนะ แต่ทั้งวงการ ทั้งลูกค้า
โปรดักชันเฮาส์ ช่างภาพ ช่วงพีกหันไปรอบตัวมีแต่คนที่เราสนุกที่จะทำงานด้วย
แต่พอหันมามองรอบตัวในวันนั้นมันรู้สึกว่า หายไปไหนกันหมดวะ ไม่สนุก หมดแรง
แล้วก็มีเลือดใหม่เกิดขึ้น เขาพากันไปด้วย วิธีการอย่างนั้น (ทำสแกมแอด) เราเลยกลายเป็นคนกลุ่มน้อย
ถ้าทำแล้วไม่สนุก ก็ไม่อยากทำแล้ว

ในงานคุณคิดแบบลงรายละเอียดตลอด
แล้วกับชีวิตล่ะ คุณวางแผนละเอียดแค่ไหน
ผมไม่ได้คิดอะไรอย่างนี้เลย
ถ้าผมวางแผนอะไรมากมายผมไม่อยู่กับลีโอ เบอร์เนทท์ 25 ปีหรอก ผมคิดอย่างเดียว
ตราบใดที่ยังสนุกและมีความสุขกับสิ่งที่ทำก็ทำไป ไม่เคยคิดว่าอีก 2 ปีต้องย้ายงาน ก่อนออกทางลีโอ เบอร์เนทท์
ก็เคยเสนอให้ผมขึ้นไปดูระดับ regional ผมไม่ได้ยากไปทำตรงนั้น
ตรงนี้ก็สนุกดีแล้ว มีความสุขดีแล้ว ตรงนั้นมันจะเหนื่อย
มันเกินความต้องการที่จะทำหรือเปล่า ผมพูดจริงๆ นะ มีคนเสนอโน่นนี่ให้ตลอด
แต่เงินมันก็มาพร้อมความรับผิดชอบที่สูงขึ้น มีเรื่องปวดหัวมากขึ้น
ผมก็วัดจากความสุข สนุกกับสิ่งที่ทำ ก็ยังทำไป ถ้าผมทำลีโอ เบอร์เนทท์
แล้วยังมีความสุขอยู่ วันนี้ผมก็ยังทำอยู่ที่ลีโอ เบอร์เนทท์

หลังย้ายมาทำงานแฟชั่น
ชีวิตเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
งานแฟชั่นมันไม่หนักเท่าเอเจนซี่
แล้วก็ไม่มีขั้นตอนซับซ้อนซึ่งเป็นปัญหาหลักของผมในการทำโฆษณาช่วงหลังๆ
ขั้นตอนที่ซับซ้อนทำให้ไอเดียหลายอย่างถูกบั่นทอนออกไป พอเรามาทำของเราเองก็เหมือนเสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน
ไม่ต้องพรีเซนต์คอลเลกชันครั้งที่หนึ่ง แล้วส่งไประดับ regional regional คอมเมนต์มาที่ประเทศไทย
แล้วถูกส่งต่อมาที่เอเจนซี่ แฟชั่นมันตรงไปหาลูกค้าเลย ลูกค้าไม่ชอบก็จบ ขายไม่ได้
เราเองรู้ว่า fail ก็ต้องมาปรับ

สมัยทำเอเจนซี่มันดูดพลังผมไปเยอะมาก
วันก่อนมีเพื่อนคนนึงเอาเรื่องของบริษัทดีไซน์ที่สแกนดิเนเวียมาให้ดู บริษัทนี้ทำงาน 7 ปี แล้วปิดบริษัท 1 ปี
ให้พนักงานทั้งหมดออกไปเดินทางท่องเที่ยว ฟังแล้วมีความสุขมาก
พอกลับมาเขาก็เอาเรื่องที่ได้เจอในเวลา 1
ปีมาให้ดูกันว่าใครไปเจออะไรบ้าง
สิ่งเหล่านี้กลายเป็นวัตถุดิบที่ทำให้งานในปีที่ 9 ของบริษัทนี้ดีมาก

คุณเปิดเกรย์ฮาวนด์ตั้งแต่สมัยอยู่ลีโอ
เบอร์เนทท์ ตำแหน่งของคุณมีเวลาว่างพอจะทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองได้เลยหรือ
ผมว่ามีนะ ถ้าคุณชอบทั้ง
2 อย่างที่คุณทำ มีผู้บริหารที่ทำงานเพื่อสังคมเยอะแยะไป
เขายังทำได้เลย แล้ววันนั้นผมก็ไม่ได้ทำเกรย์ฮาวนด์คนเดียว มีคนทำประจำอยู่
ผมแค่เข้าไปเสริมเท่านั้น แต่มันก็เหนื่อย จำได้ว่าคิดงานเสร็จกลับไปถึงบ้าน 3 ทุ่ม
ลูกน้องเอาเสื้อตัวอย่างมาให้กองนึงแล้วบอกว่า พรุ่งนี้เช้าตอบด้วยนะว่าจะทำยังไงกับมัน
ก็ต้องมานั่งดู นั่งคอมเมนต์เสื้อทีละตัว เป็นความเหนื่อยที่มีความสนุกอยู่ วันนี้อาจเหนื่อยหน่อย แต่พรุ่งนี้มันก็สนุกอีก
มันเลยยังทำให้เราทำมาได้เรื่อยๆ

ความตั้งใจแรก
คุณเปิดแบรนด์เกรย์ฮาวนด์สนุกๆ หรือทำเป็นธุรกิจ
วันนั้นสนุกทุกอย่างครับ
ไม่ได้คิดอะไรเลย ไม่ได้คิดด้วยว่าต้องเป็นแบรนด์
วันนั้นแบรนด์แปลว่าอะไรยังไม่รู้เลย วันนี้เจอปัญหาแล้วไง จะเข้าไปอเมริกา
เกรย์ฮาวนด์กลายเป็นแบรนด์ของรถบัสไปแล้ว เราก็ไม่รู้ โชคดีที่เปิดมาแล้วเจอกับความสำเร็จเลยมั้ง
ความสำเร็จมันก็ต่อยอดออกไป ทำให้เรามีช่องโอกาสใหม่ๆ มีทุนเพิ่ม ก็เอามาขยายร้าน
ประกอบกับความอยาก พอสนุกกับสิ่งที่ทำ เราก็ทำไปเรื่อยๆ เปิดร้านสองดีไหม
พอเปิดร้านสองก็เป็นแบรนด์สอง ทำยังไงดี มันควรเกี่ยวกับแบรนด์หนึ่งรึเปล่า
เราเรียนรู้จากการทำโฆษณามาเป็นแบบนี้ ก็ได้ทดลองกับงานของเราเอง
ผมเรียนรู้ว่าในบริษัทที่เขาทำเป็นธุรกิจ เขาต้องมีระบบ ระเบียบ มีแผนกชัดเจน
ผมก็เอาทุกอย่างที่เรียนรู้ถ่ายทอดลงมาที่เกรย์ฮาวนด์
ที่นั่นสิ้นเดือนเขาต้องมีรีพอร์ตนี่ๆๆ มาดูกัน เราก็ต้องทำมาดูกันที่นี่นะ
ผมพยายามทำอย่างนั้น

อะไรทำให้เกรย์ฮาวนด์เป็นแบรนด์แฟชั่นชั้นนำมาได้ถึง
30 ปี
ส่วนหนึ่งคือเราพยายามไม่ให้ใหญ่จนเกินไป
stay small ทำตัวให้เล็กไว้ ถ้าจะขยายเป็นหลายแบรนด์
แต่ละแบรนด์ก็สมอลล์ ทีมงานก็สมอลล์ ใกล้ชิดกัน รู้หมดทุกอย่าง
ดีไซเนอร์ก็รู้นะว่าแบรนด์ตัวเองขายดีหรือเปล่า สินค้าประเภทไหนขายดีบ้าง
มันเลยเกิดความชัดเจน ไม่ใช่ว่าฉันเป็นแค่พนักงานตัวเล็กมากที่อยู่ในระบบที่ใหญ่
ฉันก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้ แต่พอสมอลล์ ฉันทำได้ ฉันมีส่วนขับเคลื่อนได้
พอเปิดเพลย์ฮาวนด์ก็แยกทีมเลยนะ ถึงจะอยู่ใต้ร่มใหญ่เดียวกัน
แต่ก็แยกกันเพื่อให้ทุกคนมีความเป็นเจ้าของ

สอง
เชื่อในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่เชื่อ อย่าทำในสิ่งที่คุณไม่เชื่อ ไม่ได้เป็น
เราเคยมาแล้ว เขาฮิตแฟชั่นญี่ปุ่นกัน ก็ทำกับเขา แต่ทำแล้วไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร อะไรเรียกว่าสวย
ไม้บรรทัดของญี่ปุ่นกับของเราอันเดียวกันหรือเปล่าก็ไม่รู้
ฉะนั้นคุณจะสูญเสียการตัดสินใจของเราไปเลยเมื่อไปเดินตามเขา ถ้าเขาฮิตกันอย่างนั้นแล้วเราไม่ชอบก็ไม่ต้องทำตามเขาก็ได้
มันมีวิถีทางที่เราจะเดินของเราไป แล้วก็มีกลุ่มคนที่เขาชอบเราในวิถีทางของเรา
ไม่มีทางที่เราจะเอาใจทุกคนได้ อย่าเป็นทุกอย่าง ทุกคน เป็นในสิ่งที่เราเป็น
แล้วเราจะสามารถใช้ความรู้สึกของเราวัดได้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ถูกหรือผิด
นี่คือบทเรียนที่ผมจำแม่นมาก มันทำให้เรากลับมาถามตัวเองทุกครั้งที่ออกแบบว่า
เราชอบหรือเปล่า แล้วเราจะซื้อหรือเปล่า ถ้าไม่ซื้อก็อย่าทำ
ถ้าเราจะทำกระโปรงให้ผู้ชายใส่แล้วเราไม่กล้าใส่เอง ก็อย่าทำ แต่มาร์ค จาค็อบ
ทำได้ เพราะเขาชอบอย่างนั้น มันก็เป็นเรื่องของเขา

สไตล์ของเกรย์ฮาวนด์คือ
basic with a twist มันคือสิ่งที่เรายึดถืออยู่
ผมเชื่อว่ามันทำให้เราประสบความสำเร็จ การออกแบบเสื้อผ้าในแต่ละคอลเลกชันก็ง่ายๆ
ไม่เว่อร์ แต่มี twist ในไอเดีย เปิดร้านอาหาร
อาหารของเราก็เป็นอาหารง่ายๆ แต่มี twist ในไอเดีย นั่นคือจุดยืนของเรา

อีกข้อคือ stay forever young อยู่ในวงการนี้แก่ไม่ได้
เราต้องทำตัวให้ทันต่อโลกเสมอ ไม่ได้หมายความว่าต้องวิ่งไล่แฟชั่นนะ
แต่ต้องรู้ว่าคนรุ่นนี้เขาทำอะไรกันอยู่ คิดอะไรกันอยู่ เทรนด์ตอนนี้เป็นยังไง
ไลฟ์สไตล์มันเปลี่ยนไปยังไงแล้ว เทคโนโลยีเป็นยังไงแล้ว ตามให้ทัน
แล้วหยิบมาใช้ให้เหมาะสม

ยุคนี้มีแบรนด์แฟชั่นเล็กๆ ของเด็กๆ เต็มไปหมด
คุณมองแบรนด์เหล่านี้ยังไง
สนุกดีครับ
เหมือนสมัยก่อนที่เบียร์สิงห์เป็นเจ้าของตลาด มีมาร์เก็ตแชร์ 80 เปอร์เซ็นต์ พอไฮเนเก้นเข้ามา
มาร์เก็ตแชร์ของสิงห์อาจต่ำลง แต่ยอดขายรวมสูงขึ้น
เหมือนได้ไฮเนเก้นมาช่วยปลุกกระแส เมื่อก่อนแบรนด์แฟชั่นไทยมีไม่กี่แบรนด์เท่านั้น
การที่มีดีไซเนอร์เยอะขึ้นทำให้คนแต่งตัวมากขึ้น จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

การเปิดแบรนด์แฟชั่นสักแบรนด์ตอนนี้เป็นเรื่องง่ายหรือยาก
ทั้งง่ายและยาก
ง่ายเพราะมีพลังซื้อมากขึ้น ก็เปิดช่องให้คนเข้ามาได้ง่ายขึ้น
มีข้อมูลข่าวสารมากขึ้น มีทางเรียนลัดมากขึ้น แต่ก็ยากขึ้นเพราะคู่แข่งมากขึ้น
ถ้าไม่เก่งก็พังได้ง่ายๆ

พี่เกรย์ฮาวนด์อยากสอนอะไรน้องห้องเสื้อคูหาเดียว
ถ้าคุณมองแฟชั่นเป็นงานอดิเรกสนุกๆ ก็ทำไป
แต่ถ้ามองเป็นธุรกิจจริงๆ จงไปหาพาร์ตเนอร์ของคุณที่เป็นนักธุรกิจมาร่วมทุนด้วย
เพราะนักสร้างสรรค์มักไม่ค่อยมีระเบียบแบบแผนของการคิดที่เป็นธุรกิจ
ขณะเดียวกันธุรกิจก็ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ที่แหวกแนว แปลกใหม่
คุณต้องหาส่วนผสมที่ลงตัวให้ได มันจะเป็นคู่คิดกันได้อย่างดี
ทำให้ธุรกิจเติบโตไปได้ โดยมากแล้วแบรนด์แฟชั่นมักเริ่มจากดีไซเนอร์
คนนี้แหละที่มันจะทำให้บริษัทตัวเองเจ๊ง (หัวเราะ) เพราะมันฟูมฟาย
ฉะนั้นไปหาเพื่อนคู่คิดที่เป็นนักธุรกิจมาซะ
หาสมดุลระหว่างครีเอทีฟกับธุรกิจให้เจอ

งานใหม่ของเกรย์ฮาวนด์คือรับเป็น
Design Consultant
งานนี้ทำอะไร
มันเกิดจากความคันครับ
งานแฟชั่น ร้านอาหาร ที่เราทำมันต้องคิดคอนเซปต์ ต้องดีไซน์อยู่แล้ว
วันดีคืนดีมีลูกค้ามาบอกว่าช่วยทำคอนเซปต์โรงแรมให้หน่อย ผมก็เอาสิ สนุกดี
ก็ไปชวนเพื่อนคนที่คันๆ มารวมตัวกันทำเหมือนหนังเรื่อง Mission Impossible วันนี้จะไปทำภารกิจนี้ก็ต้องเลือกนักกายกรรมเพราะมันต้องปีนตึก
เราก็ทำแบบนี้ งานนี้เหมาะกับใครบ้างก็ไปชวนกันมา
งานหน้าไม่เหมาะกับคนนี้ก็ไปดึงคนกลุ่มใหม่ มันเป็นวิธีการทำงานของคนรุ่นใหม่
เพราะอยากมีอิสระ เขาไม่อยากติดอยู่กับอะไร ทำงานแบบข้ามาคนเดียว ถ้าจับมารวมตัวกันได้
ก็เกิดอะไรดีๆ ขึ้นมาได้ ได้ทำงานกับคนโน้นคนนี้ก็สนุกดีนะ เจอโจทย์ใหม่ๆ
เปลี่ยนรสชาติไปเรื่อยๆ

งานออกแบบของคุณมักจะทำหน้าที่แก้ปัญหาอะไรบางอย่างเสมอ
ไม่ใช่แค่สวยอย่างเดียว
ก็อย่างที่บอก
ทำหนังโฆษณาสวยๆ แล้วไง การสื่อสารทุกอย่างมันสรุปรวมที่คำเดียวหรือประโยคเดียว
คุณจะพูดว่าอะไรเหรอครับ ทำไปเพื่ออะไร
ไม่งั้นมันก็จะเป็นแค่การแกะสลักเสลาไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ผิดนะ แต่ผมโตมาในแขนง Art of Communication การสื่อสารต้องมีจุดมุ่งหมาย ไม่ใช่แค่แสดงความรู้สึกลอยไปตามลมเฉยๆ
ก็เลยติดตัวมา

ถ้าถามคนรอบตัวคุณว่า
พูดถึง ภาณุ อิงคะวัต แล้วนึกถึงอะไร เกือบทุกคนตอบตรงกันว่า
perfectionist คุณว่าคุณเป็นคนแบบนั้นไหม
ผมก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นรึเปล่า
ถ้าเราเป็นนักคิดที่ดีแล้ว แต่เป็นพรีเซนต์ที่ไม่ดี เราก็ตกม้า
ถ้าเราคิดหนังดีแล้ว แต่ใช้ผู้กำกับไม่ดี งานเราก็เจ๊ง ใช้ผู้กำกับดีแล้ว
ใช้ช่างภาพดีรึเปล่า ใช้คนแต่งเพลงดีรึเปล่า ทำทุกอย่างดีหมดแล้ว ขายงานดีรึเปล่า
ผมว่ามันเกี่ยวพันกันหมด ทำร้านอาหารสวยแล้ว เมนูดีรึเปล่า อาหารอร่อยจริงไหม
บริการดีไหม เพลงเพราะไหม คำว่าดีมันมาจากอะไรที่โยงกันเยอะ กว่าจะได้อะไรดีๆ
มาสักอย่างมันไม่ง่าย ก็เลยต้องตามกลับมาเก็บในรายละเอียด

ทุกเม็ด
มันคงเป็นไปไม่ได้หรอกครับ
แต่ก็พยายาม

ทุกงานของคุณเน้นที่สไตล์และไอเดียเสมอ
2 อย่างนี้สำคัญยังไง
มันเป็นของคู่กัน
ไอเดียเป็นหน่อความคิด จะทำออกมายังไงก็เป็นสไตล์
เราจะผัดกะเพราเทราดลงมาบนข้าวเลยก็ได้ หรือจะจัดจานให้สวยงามก็ได้
มันได้ทั้งสองทาง แล้วทำไมต้องเลือกทางที่มันไม่สวย เราเติบโตมากับฝั่งอาร์ต
ทุกอย่างน่าจะทำให้สวยได้ มีรสนิยมได้ มีสไตล์ได้ ทุกอย่างที่เราทำ
จะเดินทางอย่างมีสไตล์ก็ได้ กินอย่างมีสไตล์ก็ได้ อยู่อย่างมีสไตล์ก็ได้
แล้วทำไมถึงไม่อยู่อย่างมีสไตล์ล่ะ
สไตล์ในที่นี่ไม่ได้หมายความว่าต้องหลุยส์เคลือบทองเสมอไปนะ
ที่ผมไม่ชอบที่สุดคือไปเที่ยวสมุยแล้วเขาเปลี่ยนจากกระต๊อบไม้ไผ่เป็นบ้านปูกระเบื้องคัมพานา
ผมเกลียดที่สุด ผมเลือกอยู่กระต๊อบคืนละ 150 บาท
มากกว่าบ้านกระเบื้องคัมพานาคืนละ 500 บาท
สไตล์เป็นเหมือนความสวย แต่ละคนแปลได้ไม่เหมือนกัน แล้วก็ไม่จำเป็นต้องแพง
อย่างที่นิ้วกลมกับคุณไปเที่ยวทั่วประเทศด้วยการโบกรถ
นั่นก็คือการเที่ยวอย่างมีสไตล์ คุณวางแผนมาแล้ว ถ้าวันนี้เราอยากเที่ยวแบบดิบๆ
เราก็ไปเที่ยวแบบนั้นได้ ไปเดินตลาด ไปนอนกระต๊อบ ซึ่งมันสวยงามในทิศทางแบบนั้น
หรือถ้าจะไปหรูสุดๆ แบบนั้นก็ได้ สวยได้ทั้ง 2 ทาง

“ไม่มีทางที่เราจะเอาใจทุกคนได้
อย่าเป็นทุกอย่าง เป็นในสิ่งที่เราเป็น
แล้วเราจะสามารถใช้ความรู้สึกของเราวัดได้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ถูกหรือผิด”

(จากคอลัมน์a day with a view – a day 119 กรกฎาคม 2553)

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 1
ตอนที่ 2

ภาพ นวลตา วงศ์เจริญ

AUTHOR