ทะเคะอุชิ ฮิโระยุกิ : นักข่าวผู้ทำหนังสือพิมพ์ทำมือเพื่อรายงานข่าวหลังสึนามิถล่ม

ช่วงหลังเกิด 3/11 ใหม่ๆ
จักรยานก็แอบได้เป็นพระเอกเหมือนกันนะ

พอไม่มีน้ำมัน ก็เหมือนรถยนต์ไม่มีอยู่จริง
การเดินทางที่สะดวกที่สุดคือ จักรยาน
และคนที่เอาจักรยานมาใช้ช่วงนั้นได้เท่ที่สุดคนหนึ่งคือ ทะเคะอุชิ ฮิโระยุกิ
นักหนังสือพิมพ์วัยเก๋า

เรามาคุยกับทะเคะอุชิที่อิฌิโนะมะกินิวเซ ตามคำบอกเล่า ทะเคะอุชิ
คือนักข่าวที่ริเริ่มทำหนังสือพิมพ์แฮนด์เมด
จุดเทียนเขียนข่าวด้วยมือเปล่าช่วงหลังเกิดสึนามิ จนทำให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเล็กๆ อย่าง อิฌิโนะมะกิฮิบิชิมบุง กวาดรางวัลจากหลายสถาบัน
รวมไปถึงสถาบันต่างประเทศอย่าง International Press Institute

เหตุเกิดวันที่ 11 มีนาคม เช้าของวันที่ 12 เขาสวมถุงขยะที่ขาทั้งสองข้างแล้วขี่จักรยานซึ่งได้รับบริจาคมาจากรัฐบาลอังกฤษออกไปเก็บข้อมูล
กลับมาเขียนข่าวแล้วนำไปแปะตามศูนย์ผู้อพยพ เพื่ออัพเดตสถานการณ์ให้ชาวเมืองที่กำลังตกใจได้คลายความตระหนก
เขาทำแบบนี้ต่อเนื่องกันตลอด 6 วัน
จนกระทั่งเริ่มใช้ไฟฟ้าได้อีกครั้ง

นี่คือความทุ่มเทของนักข่าวรุ่นเดอะที่ภัยธรรมชาติไม่สามารถพัดพาไปได้

ในหนังเรื่อง Men in Black เวลามนุษย์ต่างดาวหลุดออกมาที่สาธารณะ
พระเอกจะเรียกทุกคนมารวมกันแล้วใช้อุปกรณ์พิเศษปล่อยแสงแวบ
เพื่อทำให้ทุกคนลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นและอยู่ในความสงบ

ทะเคะอุชิก็ทำให้คนหายแตกตื่นได้เช่นกัน
แต่ด้วยการเรียกคนมามุงอ่านสิ่งที่เขาเขียน ทะเคะอุชิเล่าว่า ตอนนั้นแบ่งการทำหนังสือพิมพ์ฉุกเฉินเป็น
3 ช่วง ช่วงแรกไม่มีอะไรเลย
จึงเป็นรูปแบบกระดาษเขียนด้วยมือ ต่อมาไฟที่บ้านท่านประธานบริษัทใช้ได้
หนังสือพิมพ์รุ่นที่ 2 จึงเป็นกระดาษ A4
จากเครื่องพรินเตอร์บ้านท่านประธาน สักพักน้ำลด ไฟฟ้าเริ่มใช้ได้หลายพื้นที่
เมื่อไปสำรวจโรงพิมพ์เจอเครื่องที่ยังใช้ได้อยู่ที่ชั้น 2
เลยได้กลับมาใช้แท่นพิมพ์ตามปกติ

หนังสือพิมพ์ทำมือของทะเคะอุชิเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ทางสำนักพิมพ์จึงตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมา
เพื่อทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วง
3/11
และประวัติศาสตร์ของเมืองอิฌิโนะมะกิในช่วง
100 ปี
คำว่า NEWSée มาจากคำว่า news ผสมกับคำว่า musée ที่แปลว่า พิพิธภัณฑ์ ในภาษาฝรั่งเศส

เราถามทะเคอุชิว่า
ตอนนั้นคิดยังไงถึงได้ทำแบบนั้น

นักข่าวผู้ทำหนังสือพิมพ์ทำมือบอกว่า เขาแค่ตื่นเช้าไปทำงานตามปกติ
เพราะหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของนักข่าวคือการบอกเล่าเรื่องราว
ต้องมีใครสักคนบอกเรื่องที่เกิดขึ้นกับพวกเราให้คนนอกได้รับรู้

ในปัจจุบัน
เขาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการดูแลพิพิธภัณฑ์ที่นี่ เพราะทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าไม่มีใครเหมาะจะทำหน้าที่นี้ไปมากกว่าเขาอีกแล้ว

เรื่องราวของทะเคะอุชิสอนเราซึ่งเป็นคนทำสื่อเหมือนกันว่า งานของคนที่ขี่จักรยานออกไปเก็บข้อมูลแล้วกลับมาเขียนข่าวแบบเดียวกับที่เราทำนั้นมีค่าแค่ไหน
และชวนให้เราตั้งคำถามว่า เราทำงานของเราได้ดีที่สุดแล้วหรือยัง

อันที่จริงก็คงไม่ใช่แค่อาชีพสื่อมวลชน
แต่ทุกอาชีพก็น่าจะถามตัวเองเหมือนกันว่า
เราทำหน้าที่ของเราได้ดีและมีคุณค่าที่สุดแล้วหรือยัง

ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

จากนิตยสาร HUMAN RIDE 08 Tour de Japan


AUTHOR