ปอ-ภราดล พรอำนวย : นักดนตรีและนักเดินทางที่ใช้ชีวิตด้วยจังหวะอิมโพรไวส์ 3/4

5

สภาพนอร์ทเกตตอนกลางคืนคล้ายคนเมากรึ่มได้ที่

ครึกครื้นแต่ไม่ถึงกับโครมคราม

วงดนตรีแจ๊สบรรเลงเพลงน่าฟังบนเวที สมาชิก 3 ใน 5 คน เป็นชาวต่างชาติ เช่นเดียวกับสัดส่วนลูกค้าในร้านที่แน่นขนัดจนล้นประตูตึกแถวขนาด 2 ห้องออกไปถึงฟุตปาท

ผมกับช่างภาพนั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์บาร์ มีเบียร์ขวดเล็กเป็นเพื่อนคุย

หลังผ่าน 4 – 5 ชั่วโมงอันยาวนานตอนกลางวัน ปอขอตัวจัดการเรื่องงานเปิดนิทรรศการวันพรุ่งนี้ เรานัดกันที่นอร์ทเกตประมาณ 4 ทุ่ม ระหว่างรอ ผมจิบเบียร์พลางทบทวนถึงท่วงทำนองชีวิตของเขา

หลังลาออกจากงานที่ไม่ได้รัก เขากลับมาเป็นนักเดินทางร่อนเร่อีกครั้ง วกกลับไปที่ญี่ปุ่นครั้งหนึ่งและจีนครั้งหนึ่ง เมื่อผ่านการเดินทางหลายครั้ง เล่นดนตรีเปิดหมวกหลายแห่ง รวมถึงการได้สัมผัสนักดนตรีเก่งๆ ตามบาร์ ทำให้เกิดความคิดริเริ่มการสร้างแจ๊สคลับในเชียงใหม่

“มือแซกโซโฟนคนนั้นเล่นเก่งมากเลยนะ” เสียงปอดังขึ้น ดึงสติผมกลับสู่ปัจจุบัน สบโอกาสเหมาะ ผมเปิดประเด็นคำถามเรื่องการก่อตั้งนอร์ทเกต

“เราเป็นนักเดินทางที่ไม่มีเงิน พอเดินทางไปแจ๊สคลับประเทศต่างๆ ก็ต้องเลือกสั่งที่ถูกที่สุดคือชาร้อน บางที่ก็แพงมากจนเราต้องบอกว่าขอคิดดูก่อน ทั้งที่เราแค่อยากฟังดนตรีดีๆ ความรู้สึกลำบากใจนี้ทำให้เรารู้สึกว่าต้องมีแจ๊สคลับสำหรับทุกคน ทำไมต้องขีดเส้นสำหรับคนมีเงินเท่านั้น ถ้าดนตรีมีความหมายต่อชีวิตของเด็กนักเรียนคนหนึ่งล่ะ”

“เชื่อไหมว่า ตอนเปิดร้านนอร์ทเกต ผมมีเงินแค่ 120 บาทเอง ผมคุยกับเพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งว่า อยากทำแจ๊สคลับ เขาบอกโอเค เขามีเงิน 20,000 บาท ผมบอกทำเลย จากนั้นเราก็ไปรวมเงินจากอีกหลายคน แล้วเอาไปมัดจำตึกวันนั้นเลย เรื่องอื่นเดี๋ยวค่อยว่ากัน ทุกอย่างจะตามมาเอง ต้องมีคนร่วมอุดมการณ์แน่นอน ถ้าเราอยากทำสิ่งที่ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองเพียงอย่างเดียวจะต้องมีคนมาช่วยแน่นอน อย่ากลัว”

นอร์ทเกตเป็นแจ๊สคลับที่มีคุณภาพดนตรีเข้มข้นที่สุดแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ เล่นสดทุกวันไม่มีวันหยุด ลูกค้าชาวไทยและต่างชาติที่มีรสนิยมเดียวกันมักมารวมตัวที่นี่จนเกิดเป็นสังคมขนาดย่อม แต่ที่น่าแปลกคือ ลูกค้าบางคนถือเครื่องดื่มจากข้างนอกมานั่งในร้าน บางคนขี่รถมอเตอร์ไซค์มาจอดข้างฟุตปาท หรือกระทั่งขอทานที่นอนอยู่หน้าร้านเป็นปี

“เงินทองไม่สำคัญเท่ากับจิตใจของมนุษย์ ร้านเราไม่ได้เงินเยอะ ค่าใช้จ่ายก็มาก 3 เดือนแรกนักดนตรีไม่ได้เงินเลย หรือบางครั้งจ่ายค่าจ้างเสร็จ ก็ต้องขอร้องให้นักดนตรีช่วยสั่งเหล้าในร้าน บางเดือนไม่มีตังค์จ่ายค่าเช่า เล่นดนตรีบนเวทีอยู่ดีๆ ตอนเบรกหนีไปร้องไห้ก็มี อย่างไรก็ตาม กำไรเหล่านี้ไม่สำคัญเท่าไหร่ สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือกำไรของสังคม ถ้าทุกคนอยากจะขับเคลื่อนสังคมแล้วมัวคิดแต่ผลกำไร มันไปได้ช้านะ ถ้าเรานอนมีความสุขอยู่ในห้อง แต่ออกไปนอกประตูมีแต่คนลำบาก เราจะมีความสุขได้ยังไง จะมีความสุขไปเพื่ออะไร ถ้าทุกคนทำเพื่อตัวเองหมด แล้วเราจะเหลืออะไรให้ใคร ในขณะที่เราร่ำรวยขึ้น คนอื่นๆ จะต้องจนลง นายอาจจะโกหกตัวเองได้ว่า ถ้าเราไม่ทำ คนอื่นก็ทำ แต่ถ้าคิดอย่างนี้แล้วเราจะเหลือแรงบันดาลใจให้ใคร”

“ถ้าดนตรีที่นอร์ทเกตทำให้เกิดความสุขในสังคมขึ้นได้แม้เพียงจุดเดียวเราก็ดีใจ เรายินดีที่เห็นคนขี่มอเตอร์ไซค์มาจอดข้างนอก ให้เขาฟังจนหนำใจไปเลย เพราะถ้าดนตรีทำให้เขามีความสุข เขาก็จะกลับบ้านไปบอกรักแฟน บอกรักลูก ส่งต่อความสุขให้คนที่บ้าน เราอาจจะไม่ได้เห็นภาพนั้น แต่เรารับรู้ได้ว่ามันมีอยู่จริง”

“การมีธุรกิจของตัวเองเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางหรือเปล่า” ผมถาม

“ใช่ เราตั้งใจเลยว่าวันหนึ่งเราจะไม่เล่นและไม่อยู่ที่นี่ เราเตือนตัวเองเสมอว่ามันไม่ใช่ของเรา นอร์ทเกตเป็นตัวของมันเอง เราอาจจะเป็นผู้สร้างขึ้นมา แต่จริงๆ แล้ว พอโตมาระดับหนึ่ง นอร์ทเกตก็มีชีวิตของเขาเอง เป็นสังคมหนึ่ง มีนักดนตรี พนักงาน คนฟัง นอร์ทเกตจะถูกปิดเมื่อไหร่ก็ได้ เราจะไม่ยึดติด เรารักและผูกพันมากนะ แต่จะให้มายึดติดว่าเป็นธุรกิจของเราคงไม่ใช่”

“ทุกวันนี้เราดีใจที่มันเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหลายคน ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีหรือว่าศิลปิน เรายินดีที่มีส่วนสร้างความสุขให้กับคนในเมือง แม้เป็นสิ่งเล็กๆ ก็จริง แต่คนเพียงคนเดียวก็สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ จริงไหม”

นักแซกโซโฟนตาน้ำข้าวกวักมือเรียกเขาขึ้นไปร่วมเวที เป็นโชคดีของผู้ฟังที่ได้ดูการเล่นสดของปอในคืนวันศุกร์ เสียงปรบมือเกรียวกราว บรรยากาศครึกครื้น แต่ไม่ถึงกับโครมคราม

สภาพนอร์ทเกตคล้ายคนเมากรึ่มได้ที่ เช่นเดียวกับผมและช่างภาพที่กำลังกรึ่มแม้จะนั่งอยู่กับที่

6

บ่ายวันรุ่งขึ้น ปอชวนเรามาช่วยงานนิทรรศการที่แกลเลอรี่ ซีสเคป

แม้จะเป็นคนนอก แต่เราก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคุณเหิร-ต่อลาภ ลาภเจริญสุข เจ้าของแกลเลอรี่แห่งนี้

ปอเล่าให้เราฟังว่า เขาเอางานศิลปะที่บันทึกระหว่างการเดินทางให้คุณเหิรพิจารณา ศิลปินหนุ่มเองก็ชื่นชอบการเดินทางสายทรานส์ไซบีเรียเป็นพิเศษ เมื่อนักดนตรีและศิลปินจับมือกันจึงเกิดนิทรรศการ Trans Siberian Sketch Book Exhibition

การเดินทางครั้งนี้ไม่ได้ยาวแค่ชื่อหรือระยะทาง แต่หากเป็นเส้นทางที่ทอดยาวลึกในจิตใจ

ปลายเดือนเมษายน 2 ปีที่แล้ว ปอประสบกับจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต ปัญหาร้านนอร์ทเกตและความรักรุมเร้า เขาโหยหาการเดินทางไกล เมื่อรวมกับคำเชิญจากเพื่อนนักดนตรีที่ปารีส และความคิดถึงแม่บุญธรรมที่เบลเยียม เขาใช้เวลา 2 เดือนวางแผนการเดินทางภาคพื้นดินจากเชียงใหม่ไปฝรั่งเศส

ทำไมไม่ไปทางอากาศ?

“ไม่มีเงินครับ” เขาหัวเราะ “ผมมีเงินแค่ 25,000 บาท เขียนเส้นทางมา 3 เส้น สรุปเลือกทางรถไฟทรานส์ไซบีเรียเพราะราคาถูกที่สุด ขอวีซ่าแค่ 2 ประเทศคือ จีนและยุโรป”

“กลัวไหม”

“ผมกลัวทุกครั้งที่ออกเดินทาง การจะต้องออกไปเผชิญกับสิ่งที่ไม่รู้มันน่ากลัวนะ เวลาเดินทางเยอะเราจะเจอความกลัวมากๆ แบบนี้ทุกวัน กลัวว่าคนจะขโมยแซกโซโฟน นอนข้างถนนต้องเอาเชือกผูกไว้กับตัวเองทุกคืน แต่ในขณะที่กลัว เราก็กล้าที่จะเผชิญเช่นเดียวกัน ภายหลังจึงได้รู้ว่าความรู้สึกเหล่านี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเรา มันทำหน้าที่ของตัวมันเอง ความกลัวทำหน้าที่ของความกลัว ความกล้าก็ทำหน้าที่ของความกล้า ดังนั้นเราก็จะทำหน้าที่ของเรา”

แต่เมื่อถึงเวลาออกเดินทาง เขาก็อดไม่ได้ที่จะโทรไปขอกำลังใจจากผู้ใหญ่ที่นับถือ-อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้รู้แจ้งด้วยการเดิน

“จงขอบคุณเวลาและโอกาส…การเดินทางที่แท้จริงไม่ใช่การเดินถืออาหารจากบ้านไปกินตลอดทาง แต่คือการที่เรามีความเชื่อว่า เราจะมีข้าวกิน มีที่นอน มีชีวิตรอดได้โดยที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นข้างหน้า การเดินทางเช่นนี้เองที่ชีวิตจะแสดงให้เห็นถึงคุณค่าแห่งพลังความรู้ ความสามารถที่เรามี”

และแล้ว…การเดินทางที่แท้จริงก็เริ่มทำหน้าที่ของตัวมันเอง

7

น้ำตาของชายหนุ่มไหลพรากโดยไม่รู้ตัว อาจเป็นเพราะความซาบซึ้งหรือตกตะลึงก็แล้วแต่ นี่คือการร้องไห้ครั้งแรกของการเดินทาง

ปอและเป้ใบเก่าที่มีสัมภาระน้อยชิ้นกับแซกโซโฟนปี 1962 โบกรถจากอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านเชียงของ ลาว ไปจนถึงจีนภายในระยะเวลาเพียง 2 วัน ทันทีที่เหยียบแผ่นดินประธานเหมา เขามุ่งหน้าสู่ต้าหลี่โดยรถบัส ครึ่งหลับครึ่งตื่นอยู่ในรถนานกว่า 24 ชั่วโมง เวลาล่วงเลยมาจนตี 3 เขาสะลึมสะลือตื่นขึ้นมาปัสสาวะช่วงรถจอดพักบนยอดเขา พอเงยหน้า น้ำตาก็ไหลโดยอัตโนมัติ

“รู้สึกเลยว่า จักรวาลเป็นอย่างนี้เองหรือ ดวงดาวเป็นล้านดวงระยิบระยับ แผ่นฟ้ากว้างใหญ่มาก มันสวยจนเราคิดว่ากำลังอยู่ในจักรวาล” เขาเล่าถึงความประทับใจ

ตลอดการเดินทางในช่วงต้น ปอหยิบแซกโซโฟนออกมาเล่นบ้าง แต่ไม่มีครั้งไหนที่รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของเครื่องดนตรีเท่าที่ประเทศมองโกเลีย

เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นที่เกสต์เฮาส์แห่งหนึ่งในเมืองอูลานบาตอร์ เขาบังเอิญเจอ Matouqin เครื่องดนตรีประจำชาติมองโกเลียแขวนอยู่ที่ผนัง ความสนใจใคร่รู้ทำให้เจ้าของเกสต์เฮาส์ตบปาก

รับคำว่าจะเล่นให้ดู โดยแลกกับการอิมโพรไวส์ของแซกโซโฟน

ภายในห้องครัวเย็นวันนั้นประกอบไปด้วยนักเดินทาง 3 – 4 คนทำหน้าที่ผู้ฟัง เจ้าบ้านเริ่มเล่นก่อน หนุ่มมองโกเลียใช้ปลายนิ้วแตะสายที่ทำมาจากหางม้าเบาๆ อีกมือหนึ่งจับไม้สีที่ตัวเครื่อง ท่าทางการเล่นคล้ายไวโอลิน ความรู้สึกของผู้มาเยือนคือ กูไม่อยากเล่นแซกโซโฟนแล้ว!

“เขาเล่นดีมาก ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กับชนชาติทั้งหมด ความหมายของเพลงเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชาวมองโกเลียที่ภูมิใจในความเป็นลูกหลานเจงกิสข่าน เสียงเครื่องดนตรีที่เหมือนเสียงร้องของม้า สัตว์ประจำชาติที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตชาวมองโกเลียในอดีต บริบทสมบูรณ์ทุกอย่าง คนมองโกเลีย อยู่ในมองโกเลีย เล่นดนตรีมองโกเลีย แล้วเทียบกับเรา ชนชาติแปลกหน้าผู้แบกแซกโซโฟนมา เราอับอายมาก ไม่อยากเล่นแล้ว แต่สุดท้ายก็เล่น พยายามทำให้ดีที่สุด”

ค่ำคืนแห่งเครื่องดนตรีผ่านพ้นไปด้วยความประทับใจ เขาพาตัวเองมาถึงรัสเซีย และในที่สุดก็ได้สัมผัสกับขบวนรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ทางรถไฟที่ว่ากันว่าคลาสสิกที่สุดในโลก ที่นี่เขาแทบไม่ได้แตะแซกโซโฟน หากสิ่งที่อยู่ในมือเขาตลอด 6 – 7 วันคือ ‘ดินสอ’

“ตอนแรกผมแค่วาดรูปเหมือนคนรัสเซียที่นั่งฝั่งตรงข้าม เขาขอดูรูปแล้วชอบมาก เพียงเท่านั้นล่ะ คนทั้งขบวนก็มายืนต่อคิว ผมวาดรูปเยอะมาก วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 คน ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน มองโกเลีย รัสเซีย วาดจนไม่เหลือกระดาษ ต้องยืมดินสอคนอื่น วาดเสร็จเขาก็เอาของมาให้เรา ทั้งชา ขนม ผลไม้ ช็อกโกแลต หัวหอม มีดแล่เนื้อ อาหารเยอะมาก กินกันไม่หมดจนแก่ เรื่องตลกที่สุดคือ มีชาวรัสเซียคนหนึ่งเอาคลิปโป๊มาเปิดให้เราดูด้วย ต้องแอบไปดูเงียบๆ กัน 2 คน เหมือนทุกคนพยายามจะตอบแทนเรา สุดท้ายก็เป็นเพื่อนกันหมดทั้งขบวน”

แล้วความคลาสสิกล่ะ?

“ธรรมชาติสวยงามมาก พระอาทิตย์ตกตอน 5 ทุ่ม วิวทิวทัศน์เปลี่ยนไปตลอดเวลา ขบวนรถไฟวิ่งทะลุภูเขาผ่านป่าและทะเลสาบ ตื่นมาเวลาก็เปลี่ยนไป ไม่รู้กลางวันกลางคืน เหมือนไทม์แมชชีน แต่…” เขาเปลี่ยนอารมณ์ “สำหรับบางคน นี่คือรถไฟแห่งความทุกข์นะ ชาวมองโกเลียหลายคนนั่งรถไฟขบวนนี้ 25 วันต่อเดือนเพื่อขนของจากเมืองจีนไปถึงมอสโก ไม่ได้อยู่กับครอบครัว เพราะต้องทำงานหาเงิน บางคนทำเป็น 10 ปี บางคนตลอดชีวิต คนที่เราเจอหลายคนนั่งนิ่ง ฟุบหน้าเงียบ ไม่พูดอะไรสักคำ ไม่มีความตื่นเต้นแปลกใหม่สำหรับพวกเขา มันทำให้เรารู้สึกเศร้าเล็กๆ”

ขบวนรถไฟแห่งความฝันล่องลอยมาเทียบชานชาลาที่มอสโก เมืองฝั่งตะวันตกของรัสเซีย วิหารเซนต์บาซิลตั้งตระหง่านสง่างาม เขารู้สึกว่าตัวเองมาไกลมากแล้ว ถ้าจะไปไม่ถึงจุดหมายก็ไม่เสียใจ สถานที่ต่อจากนี้คือกำไรชีวิต

แม้แต่ในคุก!

“เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่เชื่อว่าเรามาถึงที่นี่ได้ยังไง เงินก็มีแค่ 200 ยูโร แล้วจะกลับบ้านยังไง” เขาเล่าถึงประสบการณ์ติดคุกครั้งแรกในชีวิต การถูกขังในลูกกรง 12 ชั่วโมงไม่ได้ทำให้เขาเศร้ามากนัก ตรงกันข้าม กลับรู้สึกดีด้วยซ้ำ

“ผมไม่ได้นอนมาวันนึงเต็มๆ เดินทางมาเหนื่อยมาก อีกอย่างตอนนั้นทำใจแล้ว อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด”

เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้ต้องสงสัยบริสุทธิ์ เขาก็ได้รับการปล่อยตัว แต่ก่อนจะไป พวกเขาขอให้ปอเล่นแซกโซโฟนให้ฟังด้วย

พวกเขาอาจไม่ทราบว่า อีกไม่กี่วันข้างหน้า เสียงแซกโซโฟนตัวนี้จะเปล่งประกายที่ปารีส

การเดินทางที่แท้จริงไม่ใช่การเดินถืออาหารจากบ้านไปกินตลอดทาง แต่คือการที่เรามีความเชื่อว่า เราจะมีข้าวกิน มีที่นอน มีชีวิตรอดได้โดยที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นข้างหน้า

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 127 มีนาคม 2554)

คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่

ตอนที่ 1
ตอนที่ 2

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR