ปอ-ภราดล พรอำนวย : นักดนตรีและนักเดินทางที่ใช้ชีวิตด้วยจังหวะอิมโพรไวส์ 2/4

3

ย้อนกลับไปเกือบ
10 ปีที่แล้ว หากใครเดินผ่านย่านไทม์สแควร์
นิวยอร์ก คุณอาจเห็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งนั่งร้องไห้จนตัวโยน

คำชวนของอาจารย์ป้อมสัมฤทธิ์ผล
ปอตัดสินใจดรอปเรียนเย็นวันนั้นทันที เขาขายมอเตอร์ไซค์คันงามได้เงินมา 50,000
บาทใช้เป็นค่าตั๋วเครื่องบิน อาจารย์ป้อมพาเขาบินไปอยู่ซานฟรานซิสโก 2 อาทิตย์
เวียนแวะแจ๊สคลับชื่อดังและพบปะนักดนตรีเก่งๆ
ก่อนจะปล่อยให้ปอดำเนินชีวิตด้วยตนเอง

“มึงไม่ต้องกลับ
เป็นระดับโลกแล้วค่อยกลับมา” อาจารย์ว่าอย่างนั้น

ทักษะภาษาอังกฤษของเขาในช่วงนั้นเรียกได้ว่าทุพพลภาพ
สั่งอาหารไม่ได้ นั่งรถไฟใต้ดินไม่เป็น
เขาตัดสินใจนั่งรถไฟไปนิวยอร์กเพราะมีคนรู้จักอยู่ที่นั่น ดั้นด้นจนมาถึงไทม์สแควร์
เหลือเงินอยู่ 93 เหรียญ สิ่งแรกที่เขาทำคือ ร้องไห้

“ผมคิดถึงบ้าน
คิดถึงแม่” เขาเล่าความรู้สึกช่วงเวลาขมขื่น

แต่ด้วยหัวใจนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้
เขากัดฟันอดทนจนได้ที่พักเป็นบ้านร้างแห่งหนึ่ง ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา หากอยากทำธุระส่วนตัวต้องเดินไปอีก
2 มุมถนนถึงจะเจอห้องน้ำ

ปอทำงานหลายอย่าง
ตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อซ้อมแซกโซโฟน เที่ยงทำงานที่ร้านสักได้เงินชั่วโมงละ 7 เหรียญ
กลับมาซ้อมดนตรีต่อตอนค่ำ ก่อนจะเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นกรรมกรแบกไม้แบกปูนช่วงดึก

“อาจารย์ป้อมบอกเราว่า
ให้ถามตัวเองทุกครั้งว่าเรามาที่นี่เพื่ออะไร เราก็จะตอบตัวเองทุกครั้งว่า
มาเพื่อเป่าแซกโซโฟน เราไม่เคยลืม เราจะไม่ไขว้เขว ถึงแม้เหนื่อยยากลำบาก
ก็ยังให้กำลังใจตัวเองว่า เอาวะ! มันต้องได้สักวัน”

เมื่อเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง
เขาตัดสินใจควักสตางค์เรียนแซกโซโฟนกับอาจารย์ชาวอเมริกันด้วยค่าเรียนชั่วโมงละ 50
เหรียญ แต่ก็ได้รับการลดลงครึ่งหนึ่งในภายหลัง เพราะอาจารย์มองเห็นถึงความตั้งใจและอดทน โดยปอวาดรูปเป็นการตอบแทน

ช่วงเดือนสุดท้ายของการอยู่ดินแดนเสรีภาพ
ปอลาออกจากงานแล้วเอาเงินที่ได้ใช้จ่ายไปกับการท่องเที่ยว
เขาเดินชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะหลายแห่ง เข้าออกบาร์แจ๊สชื่อดัง ชะเง้อคอดูคอนเสิร์ตระดับโลก

6 เดือนผ่านไปไวเหมือนโหก
เขาบินกลับมาตุภูมิด้วยจิตใจที่แข็งแกร่งมากขึ้น ความลำบากที่อเมริกาสอนให้เขามองเห็นคุณค่าของสิ่งเล็กน้อย
เขาตั้งใจเรียนจนจบ และเป็นทหารเกณฑ์อยู่ 6 เดือน

การเดินทางโดยมีแซกโซโฟนและสมุดสเก็ตช์วาดรูปเริ่มต้นขึ้นหลังจากนี้

4

“ใช้ได้ไหม”

ปอยกภาพสเก็ตช์แซกโซโฟนให้ดู
ผมตอบไปตามความรู้ศิลปะที่มีเท่าหางอึ่ง เขาวางกระดาษลงบนพื้นอีกครั้ง
นั่งขัดขาขึ้นข้างหนึ่ง ก้มหน้าแล้วลงเงาเพิ่มด้วยปากกาแท่งละ 6 บาท

“ปากการาคาถูกนี่แหละดี
คุณภาพระดับปานกลาง แต่ทุกคนเข้าถึงได้
เวลาผมเดินทางไปที่ไหนก็จะซื้อสมุดสเก็ตช์และเครื่องเขียนที่นั่น
เราจะถ่ายทอดความรู้สึกต่อแต่ละสถานที่ได้ด้วยสิ่งของของพวกเขาเอง”

ผมนั่งฟัง
มือพลิกเปิดสมุดสเก็ตช์ที่บันทึกการเดินทางของเขาจำนวน 5 – 6 เล่ม
ภาพความทรงจำหลายหลากทั้งคนนอนข้างถนน หญิงสาว ชายชรา วัดไม้สง่างาม หรือต้นไม้ใหญ่
ถูกถ่ายทอดด้วยสีน้ำบ้าง ดินสอบ้าง ปากกาบ้าง บางภาพมีบทกวีหรือข้อความบันทึกไว้
ทุกตัวอักษรล้วนเต็มไปด้วยความคิดคำนึงและการตั้งคำถามกับชีวิต
ช่วงนี้เองที่ปอเริ่มตกตะกอนทางความคิด เริ่มตั้งคำถามทางปรัชญา และมีโอกาสได้คุยกับตัวเอง

หลังจากเกณฑ์ทหาร
ปอออกเดินทางโดยลำพังอย่างจริงจัง เขาแบกเป้และแซกโซโฟนไปกัมพูชา ลาว เวียดนาม
สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี นอนตามข้างถนน สถานีรถไฟ วัด
ตื่นเช้าเป่าแซกโซโฟน เปิดหมวกหาเงิน ถ้าโชคดีหน่อยอาจได้ร่วมงานกับนักดนตรีเก่งๆ
เล่นกันตามกลางจัตุรัสเมืองบ้าง แจ๊สคลับบ้าง

“ตอนนั้นไม่คิดอะไร
คิดแค่ว่าอยากเป่าแซกโซโฟนเก่งๆ อยากวาดรูป อยากเจอคนเยอะๆ
การเดินทางกับการเล่นดนตรีสนับสนุนซึ่งกันและกัน แซกโซโฟนเอามาจากการเดินทางเยอะ
เวลาเราอิมโพรไวส์ก็มีภาพการเดินทางเข้ามา
อารมณ์ของการเล่นมาจากความรู้สึกที่เราเผชิญและประสบการณ์ที่เราสัมผัสได้ในที่แห่งนั้น
การเล่นดนตรีข้างถนนเป็นการโชว์อารมณ์และความรู้สึกต่อหน้าคนอื่น
ถ้าเราเปิดประตูสู่สภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมก็จะเปิดประตูให้เราเช่นกัน
แค่ถือแซกโซโฟนหรือวาดรูปข้างถนน คนก็เข้ามาทักเราแล้ว ซื้อไอศครีมมาให้
ชวนไปกินข้าวที่บ้าน บางคนขับรถวนทั่วเมืองเพื่อตามหาเราเพราะอยากเล่นดนตรีด้วย
ครั้งหนึ่งที่เกียวโต ผมวางแซกโซโฟนอยู่ข้างถนน ฝรั่งถือคีย์บอร์ดเดินมาคุยกับเราว่า
แซกโซโฟนตัวนี้เหมือนของพ่อเขา เรามาเล่นแจ๊สด้วยกันไหม เขาพาผมไปเล่นที่บาร์
ให้เงินและเลี้ยงข้าวเรา ได้เพื่อนเยอะมาก”

ปอรอนแรมไปมาระหว่างบ้านเกิดกับต่างประเทศหลายครา
แม้จะพยายามประหยัด แต่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย เมื่อถึงคราวขัดสน
เขาเดินทางไปเกาะสมุย ทำงานเป็นนักดนตรีตามโรงแรม เล่นเพียงวันละ 2 ชั่วโมง
ได้ค่าจ้างงดงามถึง 35,000 บาทต่อเดือน ชีวิตดูมั่นคง
แต่ทำได้ไม่นานก็ตัดสินใจลาออก

“ไม่ไหวจริงๆ ฝืนทำอยู่ครึ่งปีต้องลาออก
ผมไม่ชอบให้ใครมาบังคับสิ่งที่เราทำ ผมไม่เคยเข้าใจเลยว่า การงานคืออะไร
จนวันนั้นถึงได้เข้าใจรางๆ ว่า ถ้าสิ่งที่เราทำไม่ได้สะท้อนถึงสิ่งที่เราเป็นภายใน
มันจะไม่มีความหมายอะไรเลย
ต่อให้เป็นผู้จัดการใหญ่ได้เงินเดือนห้าแสนก็แทบไม่มีค่า
สุดท้ายแล้วเงินไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่สุด”

เขาวางปากกา สบตากับผมตรงๆ
สีหน้าจริงจัง

“ร่างกายเราเกิดจากพ่อแม่มารวมกัน
เราโตขึ้นจากสิ่งที่กินเข้าไป จิตใจก็ไม่น่าจะต่างกัน จิตใจเกิดจากพ่อแม่
และมันจะเติบโตขึ้นจากจิตใจที่เรากินเข้าไป เป็นจิตใจรวมของสังคมมนุษย์ จิตใจโลก
จิตใจของจักรวาล ถ้าเราเสพจิตใจของจักรวาล เราก็จะมีจิตใจจักรวาลอยู่ข้างใน
ถ้าเราเสพจิตใจของต้นไม้ใบหญ้า เราก็จะเป็นต้นไม้ใบหญ้า มันมาจากทุกทิศทาง ตาดู
หูฟัง สิ่งเหล่านี้ที่หล่อหลอมเป็นจิตใจ
แต่จิตใจตรงนี้ไม่เสถียรเหมือนร่างกายที่ตั้งอยู่และดับไป ด้วยความไม่เสถียรนี้
ทำให้เราต่อสู้กับตัวเองตลอดเวลาจนเกิดเป็นความสับสน เพราะเราเอาจิตใจมารวมกันให้เสถียรและสงบนิ่งอย่างสม่ำเสมอไม่ได้”

“เพราะฉะนั้น
การงานที่เราทำจะช่วยควบคุมจิตใจให้เสถียร ซึ่งทำให้เกิดความสุข
ความสุขในที่นี้หมายถึง กูไม่ต้องมาเถียงตัวเองว่า กูจะทำหรือไม่ทำดี
ต่อให้มีเงินเท่าไหร่ มีรถ มีบ้าน มีแฟนสวย ก็ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย
เพราะจิตใจไม่มีความสามารถที่จะจับความสุขนั้นไว้ได้ ไม่มีพลัง ไม่มีแรงหน่วง
แต่การงานจะช่วยทำให้จิตใจสงบ ทำให้เราเห็นภาพรวมของจิตใจแต่ละชิ้นได้”

“ชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน
จิตใจจะบอกเราเอง เราต้องเปิดใจว่าเขาต้องการจะบอกอะไร ถ้าเราไม่ทำ
เขาก็จะทำร้ายเรา เราจะทุกข์ระทม ผมเคยเป็นสถาปนิกที่บริษัทแห่งหนึ่ง
เขาสั่งให้เราเขียนแบบ เราก็เขียน แต่ลึกๆ ข้างในรู้สึกว่ากูมาทำเหี้ยอะไรที่นี่
มันไม่ใช่กู กูอยากเดินทาง ไปเก็บของสิ
ลาออกวันนี้เลย พรุ่งนี้ไปแม่งเลย จิตใจจะปลุกให้เราตื่นขึ้นในทุกเช้า
แล้วเดินถือแซกโซโฟนออกไปเป่า
ถ้าไม่ได้เป่าจิตใจจะไม่สงบเพราะระหว่างที่เป่าเราก็จะได้พบเจอกับจิตใจของเราเอง”

สิ้นประโยค
เขาก้มหน้าจดจ่อกับการงาน ความเงียบสงบโรยตัวลงมา

“ผมไม่ชอบให้ใครมาบังคับสิ่งที่เราทำ ผมไม่เคยเข้าใจเลยว่า การงานคืออะไร จนวันนั้นถึงได้เข้าใจรางๆ ว่า ถ้าสิ่งที่เราทำไม่ได้สะท้อนถึงสิ่งที่เราเป็นภายใน มันจะไม่มีความหมายอะไรเลย ต่อให้เป็นผู้จัดการใหญ่ได้เงินเดือนห้าแสนก็แทบไม่มีค่า สุดท้ายแล้วเงินไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่สุด”

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 127 มีนาคม 2554)

คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่

ตอนที่ 1

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR