ปอ-ภราดล พรอำนวย : นักดนตรีและนักเดินทางที่ใช้ชีวิตด้วยจังหวะอิมโพรไวส์ 1/4

ชายหนุ่มร่างสูงโปร่งกำลังจดจ่ออยู่กับเทเนอร์แซกโซโฟนตัวเก่า
เขาใช้นิ้วกดบนแป้นอย่างเป็นธรรมชาติ เปลี่ยนนิ้วสลับไปมาด้วยความชำนาญ
เมื่อเหลือบไปเห็นหญิงสาวส่งสายตา จึงถอนปากออกจากเครื่องดนตรี

“นี่แค่ซ้อมครับ ของจริงเริ่ม 1 ทุ่ม” กล่าวเสร็จ เขาหันไปนัดแนะกับมือคีย์บอร์ดเพื่อซ้อมต่อ

หญิงสาวเดินผ่านต้นลีลาวดีเข้าห้องทางซ้ายมือ
ภายในห้อง ผนังปูนสีขาวรอบด้านถูกแขวนด้วยภาพพิมพ์ที่ขยายจากรูปในสมุดสเกตช์
มีเพียงภาพแซกโซโฟนขนาดใหญ่ภาพเดียวที่วาดด้วยมือ
บริเวณตรงกลางของผนังอีกด้านมีตั๋วรถไฟที่ถูกกล่องพลาสติกครอบไว้ มองใกล้ๆ
จะเห็นข้อความ Trans-Siberian Railway

ภาพและตัวอักษรภายใน Gallery Seescape กลางเมืองเชียงใหม่
บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของนักแซกโซโฟนวัย 30 ปี-ภราดล พรอำนวย เขาโบกรถจากเชียงใหม่ เข้าสู่ประเทศลาว จีน มองโกเลีย
ก่อนจะตีตั๋วขึ้นขบวนรถไฟสายที่ยาวที่สุดในโลกอย่างทรานส์ไซบีเรีย ผ่านระยะทางกว่า
9,000 กิโลเมตร ข้ามช่วงเวลาแตกต่างกันของโลก 8 ช่วง จนถึงมอสโก เมืองฝั่งตะวันตกของประเทศรัสเซีย
ลัดเลาะเข้าสาธารณรัฐลัตเวีย ติดคุก 1 วัน
แล้วมุ่งหน้าสู่เยอรมนี เบลเยียม สเปน สิ้นสุดการเดินทางกว่า 3 เดือนที่ฝรั่งเศส

การเดินทางครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของเขา
แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว สัมภาระมักประกอบไปด้วย เสื้อยืด 2 ตัว กางเกงยีนส์ 1 ตัว เสื้อกันหนาว 1 ตัว และแซกโซโฟนหนัก 10 กิโลกรัม 1 ตัว!

เขาเดินทางไม่เหมือนคนอื่น
ถึงเมืองไหน พักที่ไหน ถนนเส้นไหน เขาจะหยิบแซกโซโฟนขึ้นมาเป่า ได้เงินบ้าง
ได้เพื่อนบ้าง ถ้าโชคดีหน่อย อาจได้เล่นแจมกับนักดนตรีมืออาชีพตามแจ๊สผับชื่อดัง
แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นเราอาจเห็นผู้ชายคนหนึ่งเป่าแซกโซโฟนในปั๊มน้ำมันร้างท่ามกลางความเหน็บหนาวจนนิ้วแข็งเกร็ง

เขาเดินทางไม่เหมือนคนอื่น
แทนที่จะใช้กล้องถ่ายรูป เขากลับเลือกใช้ปากกาหรือพู่กันวาดบนกระดาษเพื่อบันทึกความทรงจำ
ฝีมือการเขียนรูปจากการเรียนปวส. เทคโนสถาปัตย์
และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้บ่อยครั้ง
เขาถูกรบเร้าให้วาดรูปเหมือนจากชาวรัสเซียบ้าง ชาวจีนบ้าง ชาวมองโกเลียบ้าง
และภาพจำนวนหนึ่งถูกนำมาขยายเป็นภาพพิมพ์ในนิทรรศการ Trans Siberian Sketch
Book Exhibition ซึ่งกำลังจะมีการเปิดงานในค่ำคืนนี้

เขาเดินทางไม่เหมือนคนอื่น
ไม่สิ, กรณีอาจคล้ายกับบางคนทุกครั้งที่กลับมาจากการเดินทาง
เขาจะใคร่ครวญถึงเรื่องราวที่ผ่านพบ ประคับประคองอดีตที่ประสบ ดำดิ่งลงในห้วงลึก
เพื่อรักษาความสมดุลของการเติบโตทั้งภายนอกและภายใน

นาฬิกาบอกเวลา
1 ทุ่มตรง แขกเหรื่อในงานทยอยเดินออกจากห้อง ต้นลีลาวดียืนอยู่ที่เดิม
ใบของมันถูกลมปลิดขั้วร่วงหล่นบนสระน้ำเล็กๆ

จังหวะกลองเริ่มดังขึ้นก่อน
ตามมาด้วยเสียงทุ้มของกีต้าร์เบสและเมดี้จากคีย์บอร์ด

ชายหนุ่มร่างสูงโปร่งคล้องสายแซกโซโฟนไว้บนลำคอ
พรมนิ้ววางลงบนแป้น เขาหลับตาฟังครู่หนึ่ง ก่อนบรรจงประกบปากที่เมาท์พีซ

เสียงแซกโซโฟนแผดก้องกังวาน
แหบโหยและนุ่มลึกในคราวเดียวกัน

1

ภาพจอห์น โคลเทรน-นักแซกโซโฟนนามอุโฆษแขวนอยู่หน้ากระจกห้องน้ำ ปอ-ภราดล
พรอำนวย ปิดก๊อกน้ำเดินมาหาพวกเรา “ตอนกลางคืน
เสียงดนตรีจากข้างล่างจะดังหน่อย นอนได้ไหม”
ชายหนุ่มในเสื้อแขนยาวสีดำ กางเกงขาสั้นกล่าว

ผมและช่างภาพพยักหน้าโดยพร้อมเพรียง
เราวางกระเป๋าสัมภาระเดินตามเขาลงไปด้านล่าง

เก้าอี้ไม้วางซ้อนบนโต๊ะระเกะระกะ
กลิ่นแอลกอฮอล์เจือจาง สภาพ The North Gate-แจ๊ซคลับในตอนเช้าตรู่คล้ายคนเมาค้างที่สะลึมสะลือพึ่งตื่น
เราเดินออกจากร้าน เลี้ยวซ้ายซอกแซกไปตามตรอกซอกซอย
ปอเข็นจักรยานนำทางพร้อมสนทนากับเราไปพลาง

“ช่วงนี้คุณทำอะไรบ้าง” ผมเริ่มถาม

“ผมเขียนหนังสือและทำงานศิลปะ
ภาพพิมพ์ที่จะโชว์ในนิทรรศการวันพรุ่งนี้เป็นการคัดเลือกภาพที่ผมเคยวาดไว้ในสมุดสเกตช์ระหว่างการเดินทาง
วันนี้ผมต้องเขียนภาพแซกโซโฟนให้เสร็จ เมื่อก่อนผมเล่นดนตรีทุกวัน รับงานเยอะด้วย
ระยะหลังผมเล่นแซกโซโฟนน้อยลง ตอนนี้เหลือเล่นที่นอร์ทเกตแค่วันอังคารวันเดียว แต่ผมก็ยังซ้อมอยู่ทุกวันนะ
เพราะผมรู้ว่าอะไรมีความหมายสำหรับเรา เพียงแต่เอาเวลาทุ่มให้งานศิลปะมากขึ้น”

“งานอะไรที่มีความหมายกับคุณ”

“เป่าแซกโซโฟน
วาดรูป อ่านหนังสือ เล่นหมากรุก เล่นโกะ แต่ละอย่างก็มีความหมายแตกต่างกันออกไป
นอกจากนั้นผมยังเปืดนอร์ทเกตที่จะกลายเป็นห้องนอนคุณวันนี้ และร้านกาแฟ Birds
Nest”

พูดยังไม่ทันจบ ร้านกาแฟ Birds
Nest ก็อยู่ตรงหน้าเรา

เป็นที่สนุกสนานในการคาดเดาว่าชื่อ
Birds
Nest มีที่มาจากอะไร ผมเดาว่า ‘นก’ เป็นสัญลักษณ์ถึงอิสรภาพและนักเดินทาง
ช่างภาพหนุ่มคิดว่าเป็นชื่อที่ยืมมาจากสนามกีฬาโอลิมปิกของจีน คนแถวนั้นเดาว่า คือ
Charlia ‘Bird’ Parker ตำนานนักดนตรีแจ๊ซ

“นี่แหละบ้านผม”

โถตรงกลางเปิดโล่งคล้ายบ้านไทยโบราณ
เปลญวนน่านอนแขวนอยู่กลางบ้าน ใกล้ๆ มีภาพสเกตซ์แซกโซโฟนที่ยังไม่สมบูรณ์วางอยู่
ปอนั่งลงหยิบแซกโซโฟนออกจากกล่อง แล้วลงมือวาดต่อด้วยปากกาดำแท่งละ 6 บาท เขาเหลือบมองแบบเป็นระยะ ปากพูดไป มือก็วาดไปด้วย

“ถามเต็มที่เลยนะ
ผมสามารถวาดไปคุยไปได้”

ผมเดินไปนั่งข้างๆ เขา
วางเครื่องอัดเสียง

“หากย้อนไปวัยเด็ก
ภาพแรกที่คุณนึกถึงคืออะไร”

2

ภาพแรกที่ปอนึกถึงคือบ้านเช่าที่อยู่ติดกับโรงเรียนสอนคนหูหนวก

“ตอนเด็กผมไม่ค่อยมีบทสนทนามากนัก
ผมอยู่กับยาย เพราะแม่ทำงานหนัก ครอบครัวลำบาก ส่วนใหญ่ผมเล่นคนเดียว
บางครั้งก็ไปเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียนสอนคนหูหนวกข้างบ้าน ไม่มีคำพูด ไม่มีเสียง
ไม่เคยคุยกันเขาชื่ออะไรก็ไม่รู้ แต่ด้วยความเป็นเด็กจึงเล่นกันได้ไม่มีปัญหา
ใช้ความรู้สึกกันอย่างเดียว น่ารักดีนะ”

เข้าสู่ชั้นมัธยมต้น
ปอได้รับกีตาร์จากคุณลุงเป็นของขวัญ เครื่องดนตรีชิ้นนี้สร้างความสุขให้เขามาก ปอฝึกซ้อมอย่างหนัก
เรียนดนตรีหลังเลิกเรียนทุกวันจนได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันกีตาร์ ประเภท Non-Classic
ชิงแชมป์ประเทศไทยของสยามยามาฮ่า
แต่ความคลั่งไคล้ในดนตรีกลับเปลี่ยนทิศทางเป็นศิลปะตอนเรียน ปวส. เทคโนสถาปัตย์ ที่นี่จุดชนวนวิญญาณนักเดินทางให้กับเขา

“ตอนที่ย้ายมาเรียนเทคโนสถาปัตย์
ผมเริ่มหัดวาดรูป เอาหุ่นมาวางแล้ววาดทั้งวัน
พอวาดเก่งก็อยากเรียนรู้มากขึ้นจึงไปหาหนังสือมาอ่าน การอ่านหนังสือมากๆ
ทำให้เรารู้ว่า สถาปนิกระดับโลกส่วนใหญ่ไม่ได้จบสถาปัตย์ แต่เป็นนักมวย นักปรัชญา
หรืออะไรก็ได้ ที่สำคัญคือองค์ความรู้ที่พวกเขามีล้วนได้มาจากประสบการณ์การเดินทางทั้งนั้น
นักออกแบบสร้างสรรค์ทุกคนต้องเดินทาง ไม่ใช่เฉพาะด้านความคิด
แต่ต้องเดินทางเพื่อสัมผัสสภาพแวดล้อมจริงๆ”

ความฝันของปอเป็นจริงเมื่อผลงานการวาดรูปผ่านเข้ารอบไปแสดงงานที่ญี่ปุ่น
การออกนอกประเทศครั้งแรกสร้างความตื่นเต้นให้กับเด็กอายุ 17 ปีมาก แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงอาทิตย์เดียวก็ตาม

“ผมตื่นเต้นกับทุกอย่าง
บ้านเมือง รถไฟฟ้า เสาญี่ปุ่น ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวคือสิ่งใหม่ที่ผมไม่รู้จัก
ผมเคยเรียนสถาปัตยกรรมเกี่ยวกับวัดต่างๆในประเทศญี่ปุ่น
แต่ในห้องเรียนเราศึกษาแค่ในสไลด์ ไม่เคยเห็นของจริง
การมาอยู่เพียงอาทิตย์เดียวเป็นคนละเรื่องกับการเรียนเป็นเทอม
เราเห็นหมดว่าอากาศเป็นยังไง ต้นซากุระเป็นยังไง วัดที่เราเห็นก็ไม่ได้มีแค่วัด
แต่ยังมีคน ร้านขายอาหาร ขอทาน ต้นไม้ ภูเขา นก มีอะไรมากกว่าภาพในหนังสือเยอะ
ซึ่งนั่นทำให้รู้ว่า สิ่งที่เราคิดว่าเรารู้มันแคบมาก ไม่ใช่เนื้อหาสาระที่แท้จริง
กลับจากญี่ปุ่นเราคิดเลยว่าจะต้องเดินทางรอบโลก ต้องออกไปเผชิญโลก”

ในขณะที่ความฝันการเดินทางรอบโลกคุกรุ่นอยู่ในใจ
โชคชะตาก็นำพามารู้จักกับเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง
ซึ่งกลายเป็นความหมายของชีวิตในเวลาต่อมา

“ตอนแรกผมอยากเป่าขลุ่ยล้านนา
ไปเรียนอยู่ 3-4 เดือนเป็นเรื่องเป็นราว
มีวันหนึ่งไปซ้อมขลุ่นที่สวนสาธารณะ เจอคนขับสี่ล้อแดงยืนอยู่ เขาบอกผมว่า
ทำไมไม่หาคลาริเน็ตมาเป่า คลาริเน็ตมีหลายเสียง พี่เรียนดนตรีมาก่อน
ถ้าอยากเรียนเดี๋ยวพี่สอนให้ก็ได้”

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเด็กหนุ่มสนใจคำพูดของคนขับสี่ล้อแดง
เขาตระเวนหาร้านขายเครื่องดนตรีมือสองทั่วเมืองเชียงใหม่ ในมือกำเงิน 7,000 บาท

“ในร้านมีคลาริเน็ตหลายราคา
บังเอิญผมเหลือบไปเห็นแซกโซโฟนมือสองราคา 7,000 บาท
รู้สึกว่าไม่น่าจะต่างกัน แล้วเราอยากเป่าตั้งแต่เด็กอยู่แล้วด้วย
ก็เลยตัดสินใจซื้อแซกโซโฟน โดยที่ไม่รู้ว่าจะเป่าได้หรือเปล่า กลับบ้านไปแม่ด่าเละ
แฟนขอเลิกอีกต่างหาก” ปอหัวเราะกับอดีตตัวเอง

“ยิ่งไปกว่านั้น
พอกลับไปสวนสาธารณะเพื่อรอคนขับสี่ล้อแดง ปรากฏว่าเขาไม่กลับมาอีกเลย
จำได้ว่าเรายืนถือแซกโซโฟนแบบงงๆ นานเหมือนกัน”

งุนงงไประยะหนึ่ง เขารวบรวมสติแล้วไล่ล่าความฝันด้วยการตามหาอาจารย์สอนแซกโซโฟน
ถูกปฏิเสธหลายครั้ง จนกระทั่งได้มาเจอกับอาจารย์ป้อม-ภัทร ชมภูมิ่ง บัณฑิตจากชิคาโก ดีกรีแชมป์ประเทศไทยและเป็นคนคุมวง CMU
Band ในช่วงเวลานั้น ปอเข้าไปขอวิชาทั้งที่ยังเป่าแซกโซโฟนไม่เป็นเสียงเลยด้วยซ้ำ

“แกบอกว่าแกไม่สอน
เสียเวลา แต่เราก็อ้อนวอนจนแกใจอ่อน พร้อมกับให้คำสัญญาว่าจะซ้อมวันละ 3 – 4 ชม.”

เขาซ้อมเป่าโน้ตตัวเดียววันละ
3 – 4 ชั่วโมงเป็นเวลาปีครึ่ง
อาจารย์ป้อมเห็นความตั้งใจจึงเอ็นดูและดูแลอย่างใกล้ชิด จนถึงวันหนึ่ง

ก็มีโอกาสได้เล่นต่อหน้าผู้ชมเป็นครั้งแรก
และเป็นครั้งที่เขาไม่มีวันลืม

“อาจารย์เรียกเราไปเล่นในสวนสาธารณะ
คนดูเยอะมาก แกเป่าอยู่ก็หันมาทางเราบอกให้เล่น ผมก็งงว่าจะให้เล่นอะไร
ตอนนั้นยังไม่เคยเล่นเพลงเลยนะ สุดท้ายก็กลั้นใจเป่าไป
เป็นครั้งแรกที่รู้จักการอิมโพรไวส์ เล่นเสร็จรู้สึกว่า กูทำเหี้ยอะไรลงไป
ว่างเปล่า กดดัน เล่นแย่มาก รู้เลยว่าเราเป่าไม่ได้ ต้องฝึกซ้อมหนักกว่านี้”

หลังจากคราวนั้น
เขามุมานะซ้อมมากกว่าเดิม จากโน้ตตัวเดียวเป็นไล่สเกลคล่องขึ้น
และเล่นเป็นเพลงได้บ้าง วันหนึ่งอาจารย์ป้อมก็กล่าวประโยคที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต

“กูว่า…มึงไปอเมริกาเหอะ”

สถาปนิกระดับโลกส่วนใหญ่ไม่ได้จบสถาปัตย์ แต่เป็นนักมวย นักปรัชญา หรืออะไรก็ได้
ที่สำคัญคือองค์ความรู้ที่พวกเขามีล้วนได้มาจากประสบการณ์การเดินทางทั้งนั้น
นักออกแบบสร้างสรรค์ทุกคนต้องเดินทาง ไม่ใช่เฉพาะด้านความคิด
แต่ต้องเดินทางเพื่อสัมผัสสภาพแวดล้อมจริงๆ

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 127 มีนาคม 2554)

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR