นะรุโอะ มะซะทะกะ : พี่เลี้ยงใหญ่ของคุมะมง หมีหน้าเด๋อมาสคอตเมืองคุมะโมะโตะ

ก๊อก! ก๊อก!

ก่อนเปิดประตูสำนักงานที่ทำหน้าที่ดูแลคุมะมงอย่าง Kumamoto
Brand Promotion เข้าไป แอบหวังนิดหน่อยว่าจะได้เห็นพนักงานใส่หมวกหมีนั่งทำงาน

ภายในดูเรียบง่ายกว่าที่คิด โต๊ะเรียงเป็นแถว
พนักงานในชุดปกติหันหน้าเข้าหากันแบบออฟฟิศทั่วๆ ไป นะรุโอะ มะซะทะกะ หัวหน้าแผนกในชุดสูทไม่มีลายหมีเดินมาต้อนรับพวกเรา

เขาเริ่มเล่าให้เราฟังว่า
งานหลักของหน่วยงานนี้คือการจัดการกับคำร้องยื่นขอคุมะมงไปทำสินค้า ออกอีเวนต์และสื่อต่างๆ
พูดง่ายๆ คือ เป็นเหมือนผู้จัดการส่วนตัว

“ที่นี่เราแบ่งเป็น 3 ทีมใหญ่ ทีมดูแลเรื่องขออนุญาตทำสินค้า 9 คน
ทีมดูแลเรื่องออกสื่อต่างๆ 6 คน อีก 5 คนช่วยกันดูแลเรื่องอื่นๆ ที่เหลือ”
นะรุโอะอธิบายพลางชี้ให้ดูกลุ่มคนที่นั่งทำงานในแต่ละแถว

สาเหตุที่ทีมดูแลสินค้าคุมะมงมีจำนวนคนมากที่สุดเป็นเพราะว่าในแต่ละเดือนมีคนยื่นเรื่องเข้ามาไม่ต่ำกว่า
700 ราย และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อก่อนที่ใช้เวลาแค่ 7 – 10
วันในการเดินเรื่อง ตอนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 2 – 3 เดือน

เกณฑ์ในการอนุญาตให้นำคุมะมงไปใช้หรือทำสินค้าต่างๆ
นั้นอยู่ภายใต้แนวคิดเดียว คือ การทำประโยชน์เพื่อจังหวัดและชาวคุมะโมะโตะ เช่น ต้องใช้สินค้าหรือวัสดุในท้องถิ่น
อย่างกูลิโกะ ป๊อกกี้ รุ่นนมวัวคุมะโมะโตะ
เป็นบริษัทใหญ่ระดับประเทศที่ช่วยพีอาร์และยกระดับแบรนด์ได้
แต่ก็ต้องไม่ทำให้คุมะมงเสียภาพพจน์

คนส่วนมากมักขอคุมะมงไปทำเครื่องเขียน เสื้อผ้า แต่ที่แปลกมากก็คือ
โต๊ะหมู่บูชา ส่วนที่ทำออกมาแล้วประทับใจมากคือ คุมะมงเท็ดดี้แบร์ที่ทำร่วมกับเยอรมนี
กับคริสตัลคุมะมงของฝรั่งเศส
ในฐานะคนดูแลก็รู้สึกขอบคุณบริษัทระดับโลกเหล่านั้นที่เห็นความสำคัญ”
พี่เลี้ยงใหญ่ตอบด้วยรอยยิ้ม

เขายังบอกเราอีกว่า สินค้าที่มีหน้าคุมะมงไปแปะอยู่นั้นทำรายได้มหาศาลให้แก่บริษัทต่างๆ
อย่าง คาโงะเมะที่ทำน้ำสมเดะโกะปง ส้มท้องถิ่นของคุมะโมะโตะออกมาขาย
แม้จะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ 3 เดือน แต่ยอดขายทะลุเป้าเกินกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
หรือกูลิโกะ ป๊อกกี้ ยอดขายก็ทะลุเป้าไป 200 เปอร์เซ็นต์
ส่วนโต๊ะหมู่บูชาอาจจะขายไม่ดีนัก
แต่เจ้าของร้านบอกว่าเรียกแขกเข้ามาได้ดีมากเลยใช้เป็นหมีกวักแทน

ขณะที่นั่งคุย เราเหลือบไปเห็นกองสินค้าคุมะมงจำนวนมากที่อยู่ใกล้ๆ
เราถามเขาถึงด้านดีไซน์ว่าทำไมคุมะมงทำแต่ท่าซ้ำๆ และบางอันก็ดูผิดสัดส่วน

“เรื่องดีไซน์ เราจำกัดสีหน้าและท่าทางให้คนเลือกใช้ได้เฉพาะที่มิสุโนะออกแบบไว้
จริงๆ แล้วก็อยากจะเพิ่มและคุมการผลิตให้เข้มงวดกว่านี้
แต่ก็ติดปัญหากำลังคนและเวลาที่จำกัด
เลยให้ผู้บริโภคเป็นคนเลือกเองว่าชอบหรือเปล่าน่าจะดีกว่า” หัวหน้าทีมหมีแจกแจง

“แต่ที่กลุ้มใจกว่าคือเรื่องของปลอมในต่างประเทศ
ที่ไต้หวันคุมะมงดังมาก มีคนเอาคุมะมงไปใช้กับพวกบุหรี่ เหล้า
ทำให้คุมะมงดูไม่ดีเลย” เขาแสดงความกังวล

ด้านงานอีเวนต์ ทีมออกสื่อซึ่งเดินวุ่นรับโทรศัพท์ตลอดเวลาตั้งแต่พวกเราเข้าออฟฟิศมาก็ยุ่งไม่แพ้กัน
ปีที่แล้วพวกเขาต้องพาคุมะมงไปออกอีเวนต์ต่างๆ รวมแล้วประมาณ 2,400 งาน
มีทั้งงานในท้องถิ่นเล็กๆ อย่างการไปร่วมงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ของโรงเรียน
ไปจนถึงงานใหญ่ๆ เช่น งานอีเวนต์กับเพื่อนมาสคอตต่างเมือง รายการโทรทัศน์และวิทยุ
ละครคะบุกิ หรือการไปโชว์ตัวร่วมกับคิตตี้ที่ Sanrio Puroland

“จริงๆ แล้วถ้าว่างคุมะมงก็พยายามจะไปทุกงานนะ”
เขาหัวเราะเมื่อเราถามถึงการเลือกรับอีเวนต์ แล้วเสริมว่า “ทุกคนสามารถใช้คุมะมงได้ฟรีทั้งในการทำสินค้าและพาไปออกงาน
ทางจังหวัดจะให้ทีมงานคอยตามไปดูแลคุมะมงด้วยตลอดทุกที่โดยออกค่าใช้จ่ายเอง
แต่ก็มีบ้างที่ทางนั้นเขาออกค่าเดินทางให้”

แต่งานอีเวนต์หลักที่ไม่ว่าจะยุ่งแค่ไหนคุมะมงจะปลีกเวลามาให้เสมอก็คือ การพบปะแฟนๆ ที่คุมะมงสแควร์ทุกวันศุกร์กับวันอาทิตย์

ทางจังหวัดเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าทำเวทีกิจกรรมและมุมขายสินค้าต่างๆ
เพื่อเอาใจแฟนคลับเจ้าหมีจอมทะเล้นโดยเฉพาะ

ตอนแรกไม่ได้คิดจะทำเลย แต่แฟนๆ
ร้องขอเข้ามากันเยอะมากว่าอยากให้มีที่ที่สามารถเจอคุมะมงได้อย่างใกล้ชิด
เราก็เลยทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดขึ้นมาซะเลย” นะรุโอะเล่าที่มา

ผลตอบรับดีเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก
แม้จะเปิดมายังไม่ถึงปีแต่ก็มีคนมาคุมะมงสแควร์มากกว่า 200,000 คนทุกเดือน
โดยเฉพาะวันที่คุมะมงมีคิวโชว์ตัว มีคนมาที่นี่ถึง 1,000 คน

“ปกติคนจะมาเที่ยวคุมะโมะโตะแค่วันเดียวแล้วไปนอนค้างที่จังหวัดดังๆ
อย่างโอะอิตะ แต่พอมีคุมะมงสแควร์
กลายเป็นว่าคนจากต่างจังหวัดจำนวนมากมานอนรอเจอคุมะมงในวันรุ่งขึ้น”
เขาพูดด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

สาเหตุหลักที่ทำให้คนอยากมาเจอคุมะมงตัวเป็นๆ ก็เพราะชื่นชอบความขี้เล่นและท่าทางตลกๆ
ที่ทำให้ยิ้มได้อยู่เสมอ

เราสงสัยมาตลอดว่า
คนกำหนดบุคลิกท่าทางของคุมะมงคือพ่อผู้ให้กำเนิดหรือพ่อที่เลี้ยงดูมากันแน่
คำตอบคือไม่ใช่ทั้งคู่

“คุมะมงคิดเองทั้งหมดนะ” คำเฉลยนั้นทำเอาเราเซอร์ไพรส์

“ตั้งแต่ได้รับมอบหมายหน้าที่ คุมะมงก็คิดอยู่ตลอดว่าจะทำยังไงให้คนสนุก
จะทำยังไงให้ทุกคนดีใจ แล้วก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาจนมีวันนี้
ส่วนท่าเต้นในเพลงนั้นมีมืออาชีพช่วยคิดให้”

คนอาจจะมาเที่ยวคุมะโมะโตะเยอะขึ้นเพราะคุมะมง
แต่ดูยังไงคุมะมงก็ไม่ค่อยมีความเป็นชาวเมืองสักเท่าไหร่

“จริงอยู่ คุมะมงอาจจะไม่ได้ถือของในท้องถิ่นหรือมีปราสาทคุมะโมะโตะเป็นฉากหลัง
แต่ด้วยความเรียบง่ายตรงนี้แหละที่ทำให้เข้ากับคนอื่นได้ง่าย
นำไปทำแบรนด์ร่วมกับบริษัทต่างๆ ได้หลากหลาย” เขาเว้นจังหวะแล้วเสริมว่า “อ้อ!
แก้มสีแดงจะหมายถึงจังหวัดคุมะโมะโตะก็ได้นะ
เพราะเมื่อก่อนที่นี่ถูกเรียกว่า ดินแดนแห่งไฟ”

ถึงคุมะมงจะมีดีกรีเป็นถึงแชมป์มาสคอตทั่วประเทศและประสบความสำเร็จในระดับที่เรียกได้ว่าเกินหน้าเกินตาเพื่อนมาสคอตด้วยกัน
สำหรับนะรุโอะแล้ว เขามองว่าคุมะมงก็ไม่ต่างจากมาสคอตตัวอื่น

“หน้าที่ของมาสคอตทุกจังหวัดเหมือนกัน ทุกๆ
ตัวต่างก็กำลังพยายามเต็มที่เพื่อจังหวัดของตนเอง
แต่คุมะมงอาจได้รับความสนใจจากแฟนๆ และสื่อมวลชนมากหน่อย เพราะคอยสร้างความประหลาดใจ
พยายามลองทำสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ตามสโลแกน คุมะโมะโตะ เซอร์ไพรส์! ที่ถูกตั้งให้ตอนเกิด”
พ่อเลี้ยงถ่อมตัว

ตลอดการสนทนา บรรยากาศในการทำงานที่ดูจริงจังขัดกับความทะเล้นของคุมะมงในสินค้าชิ้นเล็กบ้างใหญ่บ้างซึ่งกระจายอยู่แทบทุกมุมในออฟฟิศ
ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความทุ่มเทของทีมงานที่พยายามทำให้คุมะมงเป็นที่รักของทุกคน

ก่อนจากกัน
นะรุโอะยื่นดีวีดีเพลงและเอ็มวีเซ็ตใหม่ของคุมะมงที่เพิ่งวางจำหน่ายมาให้
พร้อมฝากเจ้าหมีตัวดำไว้ในอ้อมใจคนไทย

“ถ้ามีเวลา อย่าลืมแวะไปคุมะมงสแควร์นะ”

(จากคอลัมน์ main course – a day 162 กุมภาพันธ์ 2557)

ภาพ a team, Kyushu Tourism Promotion Oraganization และ Kumamoto-Brand Promotion Division

AUTHOR