เล่มห้า: เรือนไทย นักเขียนไทย
เรือนไทยไม้อายุไม่ต่ำกว่า 50 ปีแทรกตัวอยู่ในซอยสุขุมวิท 60 โอบล้อมด้วยแมกไม้นานาพันธุ์เขียวชอุ่มดกครึ้ม ทั้งไม้ใหญ่ ไม้เล็ก ไม้เลื้อย ไม้ดอก ตรงกลางคือลานอเนกประสงค์ไว้จอดรถหรือนั่งจิบกาแฟ ส่วนอีกฝั่งปลูกเป็นบ้านอีกหลัง
ลมหอบกลิ่นดินอมฝนสดชื่น
เดินขึ้นบันไดไปบนตัวเรือน บรรยากาศแบบในละครไทยพีเรียดยังมีอยู่ครบครัน ธรณีประตู หน้าต่าง ช่องลม จะมีก็แต่ความสว่างที่มากกว่าปกติเพราะผนังและเพดานถูกทาด้วยสีขาวทั้งหมด
“มันมืดไปครับ เขียนหนังสือตอนกลางคืนไม่ได้” ยรรยงอธิบายเหตุผล
“สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นสัมพันธ์กับทุกๆ อย่าง วิถีชีวิต การกิน วัฒนธรรม บ้านไทยมีการวางทิศทางลมที่ฉลาดมาก ลมโกรก แต่พอมาอยู่ก็ได้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเวิร์กต่อเมื่อคุณไม่ใส่เสื้อ ต่อให้ลมโกรกแค่ไหนก็ยังร้อน เพราะเหงื่อไม่ระเหย ถ้าถอดเสื้อแล้วเย็นทันที ยิ่งกินอาหารเผ็ดด้วย เหงื่อออกเยอะก็ยิ่งเย็น ฉะนั้นเมื่อวิถีชีวิตเราเปลี่ยน ตอนนี้ใส่สูท กินแซลมอนแล้ว สถาปัตยกรรมไทยก็ต้องปรับตัวตาม”
บ้านหลังนี้เป็นบ้านเก่าของคุณย่า ยรรยงย้ายเข้ามาอยู่หลังกลับมาจากสหรัฐอเมริกา (บ้านสมัยเด็กย่านซอยคาวบอยขายทิ้งไปแล้ว ปัจจุบันคือโรงแรมอมารี บูเลอวาร์ด) เขาค่อยๆ ปรับแต่ง ‘รัง’ นี้ให้กลายเป็น ‘เรือน’ ของชีวิต
ใต้ถุนเรือนถูกต่อเติมเป็นห้องสมุดและห้องทำงาน ตู้เหล็กเก่าๆ 2 ตู้บรรจุหนังสือภาษาอังกฤษเต็มเอี้ยด ไล่ตั้งแต่หนังสือสถาปัตยกรรม สารคดี ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ส่วนห้องทำงาน เปิดพื้นที่โล่งๆ ไว้กลางห้อง มีโต๊ะและเปียโนตั้งอยู่ชิดผนัง เขามักทำงานที่โต๊ะตัวนี้ ปล่อยให้ลูกสาวนั่งเล่นอยู่ที่พื้น
อันที่จริงช่วงที่กลับมาเมืองไทยใหม่ๆ นอกจากงานหลักคือการเลี้ยงลูกแล้ว เขายังรับเขียนคอลัมน์ให้กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ลงพื้นที่ชุมชนแออัดทั่วกรุงเทพฯ เก็บข้อมูลแล้วรายงานเป็นภาษาอังกฤษให้ชาวต่างชาติอ่าน เช่น เนปาล มองโกเลีย ญี่ปุ่น เขาบอกว่า เมืองไทยถือเป็นต้นแบบในเรื่องบ้านมวลชน (collective housing)
เขียนไปเขียนมาก็มีคนคะยั้นคะยอให้เขียนถึงประสบการณ์ในย่านเนื้อสันใน จนสุดท้ายนักเขียนคนหนึ่งมาอ่านเจอ และชวนให้เขียนเป็นเล่ม
หนังสือเล่มนั้นชื่อ บันทึกลับสถาปนิกโรบินฮูด ส่วนนักเขียนคนนั้นชื่อ ศิริวร แก้วกาญจน์
นักเขียนที่มีผลงานเข้ารอบซีไรต์มากที่สุดในประเทศไทยบอกเราว่า เรื่องเล่าของยรรยงมีกลิ่นอายแปลกๆ เป็นวรรณกรรมที่มองด้วยสายตาของสถาปนิก เต็มไปด้วยพละกำลังและไฟของการสร้างสรรค์
“หลังคุยกัน เขาจะกลับไปอ่านต้นฉบับของตัวเองใหม่ หลายครั้งก็เสนอมาเองว่าจะต้องแก้ไขตรงไหนบ้าง เขาไม่ได้เป็นแค่นักเขียนแต่เขาเป็นบรรณาธิการด้วย บางคืนผมนั่งทำงานตีสามตีสี่ จู่ๆ ยรรยงก็โทรมาหาว่าเขาแก้บทนั้นบทนี้ใหม่แล้ว ลองอ่านดูว่าดีขึ้นกว่าเดิมไหม บางทีผมยังไม่ได้อ่านต้นฉบับที่เขาแก้มาใหม่ เขาก็ส่งข่าวกลับมาอีกรอบว่า เขาอ่านที่เขาแก้ใหม่อีกครั้ง มันยังไม่ดีพอ เลยแก้ไขใหม่อีกรอบ บันทึกลับสถาปนิกโรบินฮูด ที่เห็นเล่มเล็กๆ ผมอ่านต้นฉบับไม่รู้สักกี่ร่าง บอกตามตรงผมชอบการทำงานลักษณะนี้ ผมชอบทำงานกับนักเขียนแบบนี้ ผมเห็นความเป็นมืออาชีพของเขาจากตรงนี้”
ยรรยงทำงานเขียนชิ้นนี้ตอนกลางคืน เลี้ยงลูกตอนกลางวัน นอน 7 โมงเช้า ตื่นเที่ยง มองย้อนกลับไป เขาบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ดี ได้ทบทวนตัวเอง ภายหลังที่งานชิ้นนี้ออกสู่สายตาผู้อ่าน เขาก็ได้รับการเชิญชวนจากสถาปนิกนักเขียนชื่อดัง อนุสรณ์ ติปยานนท์ ให้มาเขียนคอลัมน์ประจำในนิตยสารสถาปัตยกรรม B-1
รู รัง เรือน ก็เป็นการคัดเลือกจากข้อเขียนคอลัมน์นี้ กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล บรรณาธิการเล่ม หรือที่รู้จักกันในนามกราฟิกดีไซเนอร์มากฝีมือ Wrongdesign ตั้งข้อสังเกตว่า งานเขียนของเขามีวิธีเขียนแบบ non-fiction และ fiction
ในบทเดียวกัน สะท้อนออกมาทั้งเกร็ดความรู้ และความหลากหลายที่ไม่ได้โฟกัสแต่เรื่องงานสถาปัตย์ ทั้งแง่คิดแบบมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ และโพสต์โมเดิร์น
“ผมใช้สถาปัตยกรรมเป็นแว่นในการมองสังคมแทนที่จะมองแค่ตัวสถาปัตยกรรมว่าสวยยังไง โครงสร้างแบบไหน เพราะจริงๆ แล้วสถาปัตยกรรมสัมพันธ์กับคนอย่างแยกไม่ออก”
ปัจจุบันเขาสนุกกับการเขียนหนังสือมาก กำลังจะมีหนังสือเล่มใหม่คล้ายๆ กับ รู รัง เรือน แต่เป็น ‘ความรัก’ ที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรม อย่างไรก็ดี เขายังมองว่างานของสถาปนิกสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ชัดกว่า
“สถาปนิกก็คือนักเขียน แต่เขียนด้วยแปลน ไม่ได้เขียนด้วยตัวหนังสือ ถ้าเขียนดีๆ มีศักยภาพก็จะเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้เป็นล้าน ทั้งในแง่บวกและลบ ในขณะที่หนังสืออาจจะมีคนอ่านล้านคน แต่คงไม่สามารถเปลี่ยน กระชากชีวิตคนได้โดยตรงเช่นนั้น”
ยรรยงบอกว่า สิ่งที่ความรู้สถาปัตยกรรมช่วยตัวเขามากที่สุดในการเขียนหนังสือ คือการวางโครงสร้าง มีแก่นเรื่องเป็นเสาเข็ม แล้วค่อยๆ ต่อเติมองค์ประกอบจนสมบูรณ์ พูดจบ เขาเดินไปหยิบสมุดสเกตช์ตัวอย่างมาให้ดู สิ่งที่อยู่ตรงหน้าทำให้ผมตาลุกวาว
เล่มหก: การคิดเป็นความบันเทิงที่ถูกที่สุดของมนุษย์
มันคือสมุดสเกตช์นวัตกรรมต่างๆ ที่เขาคิดไว้ ตัวหนังสือภาษาอังกฤษขะยึกขะยือเหลื่อมซ้อนกับภาพสเกตช์เต็มพรืดหน้ากระดาษสุดพิลึก ราวกับหลุดออกมาจากหนังวิทยาศาสตร์
ผมเปิดดูภาพแล้วอ่านแนวคิดแปลกๆ อย่างเพลิดเพลิน แม้บางงานจะดูมีความเป็นไปได้ แต่สารภาพตามตรงว่าบางชิ้นก็ดูบ้า เพี้ยน พิลึก ประหลาดเกินกว่าจะจินตนาการ
“เคยมีคนว่าคุณเพี้ยนไหม”
เขาหัวเราะ
“ถือเป็นคำชม เราต้องกล้าทดลองอะไรที่คนอื่นเขาหัวเราะ มีสำนวนของ counterculture พวกบุปผาชน ฮิปปี้ว่า ถ้าคิดอะไรดีๆ เขาจะเรียกว่า That’s a crazy idea! ไอ้นี่มันบ้าเว้ย ถือว่าใช้ได้
“ผมไม่แคร์นะ ไม่แปลกที่คนอื่นจะมองแบบนี้ การคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่โลกไม่เคยมีมักดูแปลกประหลาดอยู่แล้ว ต้องมีข้อถกเถียง ข้อสงสัย ผมคิดว่าจริงๆ แล้วความรู้อยู่นอกห้องเรียน อยู่ที่หนังสือนอกรีตที่อาจารย์ห้ามอ่าน อยู่ที่ความคิดเพี้ยนๆ ที่เราทิ้งไป แต่ผู้อื่นกลับเอาไปทำได้สำเร็จ อยู่ที่การทำอะไรที่สังคมหัวเราะเยาะแต่ต้องมาแอบดูทีหลัง ผมแค่อยากเสนอไอเดีย จุดประกายความคิดให้คนอื่นได้คิดต่อ ถ้ามัวแต่ตรวจสอบความถูกต้องทั้งหมด แก่ไปก็คงไม่ได้ทำอะไรออกมา
“ถ้าถามว่าจะคิดไปถึงเมื่อไหร่ ก็ต้องถามกลับว่าทำไมต้องหยุดคิดด้วยล่ะ การคิดเป็นความบันเทิงที่ถูกที่สุดของมนุษย์ ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย ผมมองไม่เห็นเหตุผลใดๆ ที่จะต้องเลิกใช้จินตนาการ”
เล่มเจ็ด: เริ่มบันทึก
ผมเขียนบันทึกนี้หลังจากได้เจอผู้ชายคนหนึ่ง
อันที่จริงผมควรจะสารภาพว่า ไม่ใช่แค่ชายคนนั้นที่ทำให้ผมเริ่มบันทึก อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญมาจากเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ อีกคน
เธอชื่อเบบี๋ อายุ 2 ขวบ ไว้ผมทรงบ๊อบน่ารัก เพิ่งพูดเป็นได้ไม่นาน เดินยังไม่คล่อง ตอนที่ผมเจอเธอครั้งแรก เธอขี้อาย ยกมือไหว้ปะหลกๆ แบบเขินๆ ก่อนจะหนีไปซ่อนตัวอยู่หลังคุณยาย
เธอชอบวาดรูป วาดไปก็จินตนาการเล่าเรื่องไปด้วย วาดทั้งวันไม่เคยหยุด
พ่อของเธอเล่าว่า เด็กเป็นสิ่งมหัศจรรย์ สามารถคิดอะไรได้ไม่มีขีดจำกัด
“เด็กไม่ค่อยมีกระบวนการคิดหรือวิธีการที่ตายตัว เวลาคลานจากจุดเอไปจุดบี ผู้ใหญ่จะบอกว่าคุณต้องลุกขึ้นมาแล้วเดิน 2 ขา แต่เด็กจะทั้งคลาน เกาะ กลิ้ง ปีนป่าย ซึ่งก็ถึงจุดหมายเหมือนกัน ถ้าเด็กลุกขึ้นยืนแบบที่ผู้ใหญ่บอกอาจจะล้มลงตรงนั้นเลยก็ได้”
“ผมไม่ได้เป็นคนวางผังชีวิต ไม่ต้องรีบก้าวต่อไป เสียเวลาหน่อยไม่เป็นไร ถ้าเสียเวลาแล้วได้อะไรแปลกๆ ถือว่าคุ้ม คนไทยเป็นอเมริกันดรีมมากนะ เรียนมหาวิทยาลัยดังๆ ทำงานเงินเดือนเยอะๆ ซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อประกัน ผมไม่เคยมองเรื่องราวในชีวิตเป็นการเสียเวลา ประสบการณ์แปลกๆ หรือความคิดที่คนอื่นหัวเราะเยาะล้วนเป็นตัวจุดประกายในอนาคต สุดท้ายเราก็ตายอยู่ดี จะรีบไปไหน”
ตอนที่ผมกำลังจะเริ่มบันทึก ภาพในหัวที่เห็นไม่ใช่ตึกสูงระฟ้า ไม่ใช่ชุมชนแออัดริมคลอง ไม่ใช่คนเร่ร่อนในย่านเนื้อสันใน แต่เป็นห้องใต้ถุนบ้าน
เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ นอนกระดิกเท้าวาดรูปอยู่ที่พื้น เธอคลานมาหาพ่อที่นั่งสเกตช์งานอยู่ข้างๆ เล่าเรื่องที่จินตนาการจากภาพวาดให้ฟัง
แล้วทั้งคู่ก็หัวเราะ
“การคิดเป็นความบันเทิงที่ถูกที่สุดของมนุษย์”
“ความรู้อยู่นอกห้องเรียน อยู่ที่หนังสือนอกรีตที่อาจารย์ห้ามอ่าน อยู่ที่ความคิดเพี้ยนๆ ที่เราทิ้งไป แต่ผู้อื่นกลับเอาไปทำได้สำเร็จ อยู่ที่การทำอะไรที่สังคมหัวเราะเยาะแต่ต้องมาแอบดูทีหลัง”
คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 146 ตุลาคม 2555)
ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ