ยรรยง บุญ-หลง : สถาปนิกนักเขียนสุดเท่ที่น่ารู้จักมาก 3/4

เล่มสี่: ออฟฟิศ low-rise หลังฉากกรุงเทพฯ

โผล่จากสถานีรัชดาภิเษก หากออกประตู 1 เดินเพียง 5 นาที คุณจะพบโรงแรมหรูระดับ 4 ดาวชื่อเจ้าพระยาปาร์ค แต่หากออกประตู 4 เดินไม่ถึง 2 นาที คุณจะพบสลัมชื่อชุมชนริมคลองบางซื่อ

นี่คือความย้อนแย้งสุดขั้วของใจกลางเมืองกรุงเทพฯ

ยรรยงบอกเราว่า แทบทุกย่านที่มีความศิวิไลซ์ หลังฉากมักมีชุมชนเหล่านี้ซ่อนตัวอยู่เงียบๆ

ที่ไหนมีคลอง ที่นั่นมีคน

พ.ศ. 2551 ยรรยงกลับคืนแผ่นดินเกิด พร้อมภรรยาและลูกสาว เขาต้องการรีเฟรชตัวเองหลังจากทำงานติดต่อกันมา 10 ปี เวลา 2 ปีแรกถูกใช้ไปกับการเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน

ผศ.พงศ์พร สุดบรรทัด ที่ปรึกษาด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบกลุ่มบริษัทดีที และประธานประชาคมเขตห้วยขวาง ผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์ก 30 กว่าปี มองเห็นศักยภาพและความตั้งใจของเขา จึงชักชวนมาทำงานด้วยกัน

“คนหนุ่มเก่งๆ แบบนี้จะมานั่งอยู่บ้านได้ไง” คือคำพูดโน้มน้าวที่ ผศ.พงศ์พรใช้

“ผมมองเห็นแววในตัวเขา คนแบบนี้มีโอกาสสูง อยู่อเมริกาทำงานเงินเดือนดีๆ ไม่ดีกว่าเหรอ ทำไมต้องมาเป็นสถาปนิกให้ชุมชน ทำไมต้องมาเป็นนักเขียนในเมืองไทย ความตั้งใจเขาดี ผมอายุมากแล้วจับงานนี้มา 20 ปี ตั้งใจจะให้เขาสืบทอดต่อจากผม”

งานของเขาแบ่งเป็น 2 ด้าน หน้าฉากคือสถาปนิกในระบบ หลังฉากคือสถาปนิกชุมชน เขาลงพื้นที่ชุมชนเดือนละหลายครั้ง ไม่ขึ้นต่อสังกัดใด เรียกว่ามาด้วยใจล้วนๆ เพราะไม่ได้สตางค์สักบาท

จากออฟฟิศบนตึกหรู high-rise ตอนนี้เราอยู่ที่ออฟฟิศ low-rise ชุมชนริมคลองบางซื่อ

เรือขนาดเล็กจอดเทียบท่ารออยู่แล้ว ทันทีที่เสียงเครื่องยนต์ดังกระหึ่ม ใบพัดใต้น้ำหมุนติ้ว เรือก็แล่นฉิวเลียบคลองบางซื่อ ผ่านคลองลาดพร้าว ปิดท้ายด้วยบึงพระราม 9

สองฟากฝั่งคือที่อยู่อาศัยเรียงชิดแออัดแทบไม่มีที่หายใจ ลึกเข้าไปซอยย่อยเป็นทางเดินวกวนราวเขาวงกต มีร้านรวงขนาดย่อมกระจายตัวอยู่ทั่ว

กลิ่นสาบคลองโชยเตะจมูก

ไม้ผุๆ พังๆ มุ้งลวดเก่าๆ หรือสังกะสี ถูกนำมาประยุกต์เป็นกำแพงบ้าน บางหลังก็ดัดแปลงกระถางต้นไม้เป็นฝาผนัง ยรรยงบอกว่า การปรับตัวของชาวบ้านถือเป็นนวัตกรรมที่น่าศึกษา ในฐานะสถาปนิกเขาไม่ค่อยห่วงเรื่องที่อยู่อาศัยในสลัม สิ่งที่ต้องเน้นคือการเพิ่มรายได้ให้กับคนจน

“เรายังไม่ควรสร้างบ้านให้ชุมชนแออัดในไทย แต่ควรจะสร้างตลาดก่อน คิดเรื่องอาชีพเรื่องรายได้ก่อน ถ้าคนมีรายได้เดี๋ยวเขาไปสร้างบ้านเอง”

สิ่งที่เขาทำจึงไม่ใช่การออกแบบบ้าน แต่คือเครื่องมือที่ช่วยสร้างรายได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น สหกรณ์ศุภนิมิต ชุมชนริมบึงพระราม 9 พัฒนา เริ่มต้นด้วยเงินออมเพียง 200 บาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม 13 เปอร์เซ็นต์ และอัตราเงินปันผล 7 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีจำนวนบัญชี 850 ครัวเรือน เงินออม 4 ล้านบาท และเงินหมุนเวียนเกือบ 6 ล้านบาท คนในชุมชนหลายคนบอกว่า “นี่คือสมบัติที่เราหวงแหน” ตอนนี้มีโครงการจะสร้างเป็นตึกใหม่ ประกอบไปด้วยธนาคารชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ รวมไปถึงตลาดนัด

อีกงานที่เขากำลังทำร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หลักสูตรนานาชาติ คือ การดีไซน์รถเข็นแบบใหม่ ตั้งใจให้สามารถขายของหลายอย่างได้พร้อมกัน หากทำได้จะเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจยิ่ง

“คนไทยแทบทุกคนเป็นนักธุรกิจรายย่อยอยู่แล้ว ขายของเก่ง ซึ่งจะต่างจากคนจนย่านเนื้อสันในที่ไม่มีทักษะทางธุรกิจเลย แต่เขามีระบบที่เกื้อหนุน เมืองไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบเยอะมาก ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ จริงๆ อาจเป็นภาคเศรษฐกิจที่รวยที่สุด เรามีรถเข็นขายหมูปิ้ง ส้มตำ เต็มไปหมด แต่มันเก็บภาษีไม่ได้ อยู่อย่างนี้ไม่มีใครรู้ ไม่มีข้อมูล ถ้าเราทำอะไรกับตรงนี้ได้ก็คงดี”

“ดูคุณเชื่อในทุนนิยมมาก”

“ใช่ แต่ทุนต้องบริหารโดยคนในชุมชน พวกเขาต้องมีสิทธิ์เข้าถึง ผมไม่ปฏิเสธลัทธิบริโภคนิยมเลย แต่เบื้องต้นต้องบริโภคทั่วถึงทั้งสังคม ไม่ใช่กระจุกอยู่ที่ใครคนหนึ่ง คนในชุมชนแออัดต้องมีสิทธิ์ไปเที่ยวต่างประเทศบ้างสิ จะมาบอกว่าคุณต้องอยู่อย่างนี้ตลอดได้ไง ถ้าชนชั้นกลางทำได้ ทุกคนต้องมีสิทธิ์ทำได้”

“คิดว่าตัวเองเป็นคนทำเพื่อสังคมไหม”

“เปล่า ผมคิดว่าถ้าสถาปนิกสามารถคิดค้นรูปแบบอาคารใหม่ๆ ที่คนหมู่มากสามารถนำไปใช้ได้ มันน่าจะได้ตังค์มากกว่าการออกแบบบ้านให้คนรวยๆ เพราะจำนวนคนรวยมันมีน้อยกว่าจำนวนคนธรรมดาๆ อย่างพวกเรา ผมสนใจเงินนะ สถาปนิกที่ดีต้องรวย ไม่ใช่จน ที่ผมยังจนอยู่เพราะยังไม่สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่โดนใจคนส่วนใหญ่ได้ คงต้องรอคนรุ่นต่อไปคิดให้”

“เชื่อว่าทุกคนมีเซนส์ในการออกแบบไหม”

“มีคำพูดของเฮนรี่ ฟอร์ด ว่า ถ้าคุณไปถามชาวบ้านว่าต้องการอะไร เขาจะบอกว่าต้องการม้าที่วิ่งเร็วกว่าเดิม เขาจะไม่บอกว่าต้องการรถ เพราะสมัยนั้นไม่มีรถ ฉะนั้นเวลาทำงานกับชาวบ้านต้องคุยละเอียด ทำประชาพิจารณ์วิเคราะห์ออกมาว่าเขาต้องการอะไร จากนั้นหน้าที่เราคือแปลความคิดออกมาให้เป็นความจริง ถ้าเขาตอบได้ว่ารถ เขาก็ไม่ต้องมีเราแล้วสิ หน้าที่เราคือต้องคิดรถ”

“คิดนวัตกรรมต่างๆ ไว้เยอะแค่ไหน”

“ไม่แน่ใจ ผมพกสมุดบันทึกติดตัวตลอดเวลา เจอเหตุการณ์แปลกๆ ก็จดเก็บไว้ บางทีมันอาจจุดประกายความคิดในอนาคตได้ นวัตกรรมหลายอย่างก็ได้มาจากสิ่งที่จดไว้เมื่อหลายปีก่อน ถ้าอยากรู้ว่าเยอะแค่ไหนต้องลองกลับไปค้นที่บ้าน”

“เรายังไม่ควรสร้างบ้านให้ชุมชนแออัดในไทย แต่ควรจะสร้างตลาดก่อน คิดเรื่องอาชีพเรื่องรายได้ก่อน ถ้าคนมีรายได้เดี๋ยวเขาไปสร้างบ้านเอง”

 

คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่

ตอนที่ 1
ตอนที่ 2

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 146 ตุลาคม 2555)

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!