ยรรยง บุญ-หลง : สถาปนิกนักเขียนสุดเท่ที่น่ารู้จักมาก 2/4

เล่มสอง: ดาวินชี ในรู ฮิปปี้ในเบิร์กลีย์ และเนิร์ดในซิลิคอนวัลเลย์

ในหนังสือ รู รัง เรือน ยรรยงแบ่งประเภทที่อยู่อาศัยไว้อย่างน่าสนใจ

‘รู’ มักจะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายประเภท (รวมทั้งมนุษย์) เป็นสิ่งที่มีอยู่เดิม ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่

‘รัง’ เป็นที่อยู่ของสัตว์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการอยู่อาศัยโดยเฉพาะ แม้ว่า ‘รัง’ จะมีสถานภาพที่ถาวรและมีความเป็นทางการมากกว่า ‘รู’ แต่ลักษณะของ ‘รัง’ ก็ยังขาดศิลปะและความละเอียดอ่อนของสัตว์ผู้มีรสนิยมอันเลิศหรู

‘เรือน’ เป็น ‘รัง’ ที่สามารถจะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้ดีขึ้น

สุดท้ายแล้วอะไรคือ ‘รู’ หรือ ‘รัง’ หรือ ‘เรือน’ ก็แล้วแต่จินตนาการและรสนิยมของผู้อ่าน

เมื่อจับหลักวิเคราะห์นี้ เขาบอกเราว่าบ้านในวัยเด็กของเขาคือ ‘เรือน’ ที่ตั้งอยู่ใน ‘รู’

“บ้านหลังแรกของผมตั้งอยู่ข้างๆ ซอยคาวบอย พลุกพล่านไปด้วยคนทุกประเภทที่กำลังตามหาสีสันของความเป็นมนุษย์ เป็นย่านที่เป็นรูมากๆ”

ในวัยเด็ก ยรรยงไม่ชอบอ่านหนังสือ เขารักการวาดรูป

อายุ 9 ปี เขาหลงใหลงานและนวัตกรรมของศิลปินเอก Leonardo da Vinci ภาพสเกตช์เฮลิคอปเตอร์ เครื่องกลทางการทหาร รวมทั้งภาพการชันสูตรโครงกระดูกและกล้ามเนื้อมนุษย์ ทำให้เขาสนใจศึกษากายวิภาค เมื่อพ่อเห็นดังนั้นจึงซื้อหัวหมูไหว้เจ้ามาทำการผ่าชันสูตร พอรู้ว่าดา วินชี เขียนกลับหัวจากขวาไปซ้ายเพื่อตบตาสถาบันและศาสนา เขาก็ลองเขียนเลียนแบบดูบ้าง

อายุ 15 ปี ทั้งครอบครัวตัดสินใจบินไปอยู่อเมริกา ยรรยงเข้าเรียนที่ Davis Senior High School จบแล้วจึงไปต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ที่ที่ความแปลกเป็นเรื่องธรรมดา คนเพี้ยนคือคนปกติ Steve Wozniak ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ล ก็เคยเรียนที่นี่

ช่วงเวลานั้นสหรัฐอเมริกาใช้นโยบายมุ่งเน้นให้คนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย คนที่ไม่มีสตางค์ก็เรียนได้ ถ้าสอบเข้ามหา’ลัยแล้วทางรัฐมีหน้าที่หาทุนให้ เขาจึงได้ทำความรู้จักกับคนจากทั่วโลก อาทิ คนยิว เม็กซิกัน เปอร์โตริโก เอธิโอเปีย เยเมน ฯลฯ

และได้ลองเป็นฮิปปี้

เขาเล่าเหตุผลของความชอบว่า ฮิปปี้มุ่งเน้นความคิดแปลกใหม่ มีความเป็นกันเองไม่มีพิธีรีตอง เน้นการสร้างสังคมใหม่ สร้างยูโทเปีย ซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มอำนาจโดยสิ้นเชิง

แน่นอนว่าผู้ปกครองย่อมไม่ปลื้ม

“พ่อแม่ไม่ได้ว่าตรงๆนะ แค่พูดอะไรบางอย่าง พอผมเริ่มใส่เสื้อคลุมอาบน้ำไปเรียน เพราะหลังอาบน้ำเสร็จก็เดินไปคณะเลย พวกเขาก็เอาเสื้อคลุมสูทยาวสีดำมาให้ใส่แทนแล้วพูดว่าเอาไว้ใส่กันหนาวได้ดีกว่าเสื้อคลุมอาบน้ำนะลูก พอผมเริ่มยาว พวกเขาก็เอาหมวกสักหลาดมาให้ใส่แล้วพูดว่า เอาไว้ใส่กันหนาวนะลูก พอหนวดเคราเริ่มยาว พวกเขาก็ซื้อผ้าพันคอสีดำมาให้คลุมแล้วพูดว่า ใส่กันหนาว พอผมเริ่มกินแต่ผักผลไม้กับถั่ว พวกเขาก็ซื้อเครื่องทำกาแฟเอสเปรสโซมาให้แล้วพูดว่า เอาไว้ดื่มกันหนาวนะลูก การเป็นฮิปปี้คงต้องเป็นเรื่องที่หนาวมากในสายตาผู้ปกครอง

“ชาวเบิร์กลีย์มักจะพูดเสมอว่าถ้าคุณใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่งถึงขีดสุดแล้ว คุณคงจำมันไม่ได้หรอก ถ้าคุณจำได้แปลว่าคุณยังไม่สนุกพอ” เขาหัวเราะ

แต่ใช่ว่าชีวิตจะเกกมะเหรกกับการเรียน เขาพบตัวเองสิงสถิตตามห้องเรียนและห้องสมุดบ่อยครั้ง คณะสถาปัตยกรรมที่เบิร์กลีย์สอนไม่เหมือนที่เมืองไทย มีวิชาเลือกให้ลงมากมาย เรียนก่อน 2 ปีแล้วค่อยเลือกเอก เขาจึงได้เรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ อย่างปรัชญา ประวัติศาสตร์หนัง ฟิสิกส์ ชีววิทยา และพบว่าความรู้เหล่านี้มีประโยชน์มากในอนาคต

“นักศึกษาสถาปัตย์ควรเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา หรือวิทยาศาสตร์แขนงใหม่ๆ ให้มาก แอบเข้าไปนั่งฟังในห้องเรียนก็ได้ ไม่ต้องลงหน่วยกิต สถาปนิกควรมีวิทยาศาสตร์ไว้เป็นเครื่องมือในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ”

เขาใช้เวลา 4 ปี จบมาด้วยเกรดเฉลี่ยสามกว่าๆ ผ่านการรับรองเป็นสมาชิกสมาคมสถาปนิกอเมริกัน (The American Institute of Architects) ได้งานแรกในบริษัทสถาปัตย์ทั่วไป ทำอยู่ 2 ปีก็ย้ายไปเป็นสถาปนิกสร้างโรงงานสร้างออฟฟิศให้พวกไมโครซิสเตมในย่านซิลิคอนวัลเลย์ แถวสแตนฟอร์ด ที่ซึ่งเต็มไปด้วยโปรแกรมเมอร์สุดเนิร์ด วัฒนธรรมกินโค้ก เล่นกีตาร์เฮฟวี่ร็อก และคำนวณตัวเลขตลอดเวลา

แม้ประสบการณ์ในซิลิคอนวัลเลย์จะสนุก แต่งานที่อยู่กับคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ไม่ได้คุยกับคนเขาคิดกับตัวเองว่าต้องหาจุดเปลี่ยน

“ผมอยากหาแฟนครับ”เขาสารภาพ

ยรรยงเดินเข้าไปในย่านเนื้อสันในด้วยสัญชาตญาณของวัยหนุ่ม

ทว่าสิ่งแรกที่เขาเจอกลับไม่ใช่คน

แต่คือกลิ่นปัสสาวะ

เล่มสาม: แล่เนื้อสันใน

ย่านเนื้อสันในเป็นอย่างไร? หลายคนสงสัย

Wikipedia ให้ข้อมูลว่าชื่อนี้มาจากคำว่า ‘เนื้อสด’ เพราะเป็นแหล่งโสเภณีอันเลื่องลือ หรืออาจหมายถึงการติดสินบนตำรวจด้วยเนื้อสันในชั้นดีที่สุด

วิล สมิธ ตอบว่าฉากในหนัง The Pursuit of Happyness ที่เต็มไปด้วยคนไร้บ้าน คือย่านเนื้อสันใน

ไกด์บุ๊กแทบทุกเล่มจำต้องยอมบันทึกลักษณะและสถานที่ตั้งไว้อย่างละเอียดหลายหน้า เพื่อเตือนไม่ให้ผู้อ่านพลัดหลงเข้าไปโดยลำพัง เพราะมันตั้งอยู่ห่างจากจุดขึ้นรถรางประวัติศาสตร์เพียงหนึ่งซอย

ยรรยงบอกกับเราว่าเขาได้กลิ่นปัสสาวะ

“มันไม่มีห้องน้ำ ฟุตพาทคือห้องน้ำของพวกเขา”

ปะปนกับกลิ่นน้ำยาล้างถนน กลิ่นซิการ์ กลิ่นกามราคะ กลิ่นดินปืน และกลิ่นคาวเลือด

ยรรยงบอกว่าเขาไม่กลัวการได้อ่านเรื่องการปฏิวัติสังคมแนวมาร์กซิสต์และบันทึกการขี่มอเตอร์ไซค์รอบทวีปอเมริกาใต้ของเช กูวาร่า ทำให้เขาคิดเพียงแค่ว่า ถ้าอยากรู้เรื่องอะไรต้องลงไปทำจริง

เขาทำงานกับองค์กร Asian Neighborhood Design ที่รับงานจากเอ็นจีโอต่างๆ ในย่านเนื้อสันใน หรือบางทีก็รับงานโดยตรงจากเถ้าแก่ในชุมชน ลูกค้าของเขามีตั้งแต่ตำรวจฟิลิปปินส์ นักเขียนนิยายรัสเซีย แขกแอลจีเรีย นักปั้นโดนัทเขมร ไปจนถึงมาเฟียฮ่องกง

งานส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงสร้างระบบใหม่ เช่น การปรับปรุงร้านคาราโอเกะ ซึ่งไม่ต้องการแสงแดดจากข้างนอกมาก เขาสร้างประตูคล้ายรูเป็นทางเข้าเล็กๆ แล้วด้านในกว้างขึ้น ทำให้ด้านหน้าเหลือพื้นที่เปิดกว้าง สามารถขายผัก ขายหนังสือพิมพ์ เพิ่มเติมได้

หรือการปรับปรุงแฟลตในไชน่าทาวน์ที่มีปัญหาอาชญากรรมบ่อยครั้ง เขาย้ายหอกระไดจากด้านหลังมาด้านหน้า ทำให้คนเดินไปมาสะดวก เพิ่มทั้งพื้นที่การขายของ สร้างรายได้ และลดอาชญากรรม

ยรรยงบอกว่าสิ่งที่ทำจริงๆ สเกลเล็กมาก ใช้เวลานานกว่าจะคิดออก เงินก็ได้นิดเดียว แต่ถ้าเปลี่ยนวิธีการทำมาค้าขาย และเผยแพร่วิธีนั้นจนภาพรวมของย่านเปลี่ยน เขาจะรู้สึกดีมาก

“ก๊อปไปเลยผมไม่ถือ” เขาพูดติดตลก

“คนจะก๊อปปี้อยู่แล้ว Le Corbusier เป็นคนแรกๆ ที่คิดเรื่องเมือง high-rise ใช้คอนกรีต ก็ก๊อปปี้ทั่วไปอยู่ดี อีก 200 ปีคนอาจจะลืมชื่อ เลอ กอร์บูซีเย ไปแล้วก็ได้ สถาปัตยกรรมที่เจ๋งจริงๆ เป็นแนว collective คิดร่วมกัน ไม่มีฮีโร่
ประวัติศาสตร์การพัฒนาของมนุษย์เกิดจากการก๊อปปี้ของดี และไม่ก๊อปปี้ของไม่ดี มันคือ natural selection ทางความคิด หรือที่เรียกกันว่า meme”

ที่นี่เขาได้ใช้ความรู้สถาปัตย์เต็มที่ แต่สิ่งที่ไม่คาดคิด คือการได้เป็นอะไรอีกหลายอย่าง

เป็นนักสัมภาษณ์

“ผมคุยกับคนในชุมชนตลอดเวลาเคยมีโปรเจกต์ปรับปรุงตึกที่มีประมาณ 170 ห้อง ต้องเคาะประตูทุกห้อง เข้าไปคุยว่าเขาต้องการอะไร ถามว่าจะย้ายยังไงช่วงก่อสร้าง บางทีเขาก็ไม่ไว้ใจเรา จนต้องเล่าเรื่องตัวเองก่อนจึงจะเปิดใจ ซึ่งการคุยกับคนจริงๆ หลายครั้งเขามักเล่าเรื่องชีวิตตัวเอง มีป้าแก่ๆ คนหนึ่งชื่อ วีร่า เคยเป็นนางแบบในนิวยอร์ก แกเล่าชีวิตตอนสาวๆ เป็นชั่วโมงจนออกจากห้องไม่ได้ สุดท้ายผมก็นำเรื่องของแกมาเขียนหนังสือ”

เป็นอาจารย์

“ทางองค์กรมีโปรแกรมสอนหนังสือให้กับนิโกร คนพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นช่างไม้และอยากมีรายได้เพิ่มขึ้น บางคนอยากเป็นผู้รับเหมา ผมก็ไปสอนวิธีเขียนแบบ สำคัญที่สุดคือผมสอนประวัติศาสตร์ด้วย เพราะคนดำส่วนใหญ่จะถูกคนขาวกดว่าคุณเก่งแค่กีฬาหรือดนตรี ผมบอก เฮ้ย ไม่ใช่คนที่คิดพีระมิดยุคแรกๆ สมัยอียิปต์ คือ Imhotep เป็นนักคณิตศาสตร์ นักปรัชญา แพทย์ หน้าตาเหมือนคนดำเลย แต่เขาไม่เคยรู้มาก่อน พอเอารูปให้ดูก็ภูมิใจ เพราะป๊อปคัลเจอร์ของอเมริกากดเอาไว้นาน 200 ปีว่าคุณเป็นแค่ทาส คิดอะไรเองไม่ได้หรอก ผมพยายามทำให้คนดำเห็นว่า คุณเป็นปัญญาชน”

เป็นนักเจรจา

“ไชน่าทาวน์ต้องการจะสร้างตึกมหาวิทยาลัยมวลชน San Francisco City College ความสูง 17 ชั้น คนจีนและคนดำอยากให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือ แต่โครงการนี้ถูกล็อบบี้โดยโรงแรมฮิลตัน ซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ ไม่ให้สร้าง เพราะกลัวว่าตึกอาจจะมาบังวิวของแขกที่มาพักอาศัย ผมในฐานะสถาปนิกประจำย่านก็ถูกเชิญไปให้ความเห็น ฝั่งฮิลตันยก พ.ร.บ.ควบคุมความสูงอาคาร และอ้างว่าเงาของตึกใหม่จะบังสวนสาธารณะชุมชนอยู่ในความมืดทั้งวัน ผมจึงใช้คอมพิวเตอร์คำนวณการเดินทางของแสงเงา และพิมพ์ภาพนิ่งในเวลาต่างๆ พบว่ามีช่วงเวลาเดียวที่เงาจะพาดทับพื้นที่สาธารณะ สุดท้ายก็เสนอให้กระจายห้องเรียนบางส่วนไปตามตึกข้างๆ และออกแบบตึกเป็นสามเหลี่ยมเพื่อให้ไม่บังวิว คนตบมือทั้งห้องเลย”

เขาได้เป็นอะไรหลายอย่าง ได้เรียนรู้ ‘คน’ อย่างที่ต้องการ และสุดท้าย ‘คน’ ก็เป็นสิ่งที่เขาประทับใจที่สุด

“เวลาพูดถึงโลกาภิวัตน์เรามักจะนึกถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไปลงทุนต่างประเทศ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ คนพวกนี้ต่างหากที่เป็นคนสร้างโลกาภิวัตน์ ชนชาติที่แพร่ไปทั่วโลก ไปสร้างธุรกิจเล็กๆ ไปเปิดร้านชำ นี่คือทูตของโลกาภิวัตน์อย่างแท้จริง

“ผมได้รู้ว่าสลัมหรือที่อยู่อาศัยนอกระบบมีเยอะมาก จะว่าไปมันคือที่อยู่อาศัยของคนส่วนใหญ่บนโลกด้วยซ้ำ ผมสนุกกับการได้ทำงานในสลัม”

ช่วงเวลานั้นมหาอำนาจของโลกเริ่มโอนถ่ายจากตะวันตกมาสู่เอเชีย จีน และอินเดียกลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ เขาสนใจการขยับตัวของโลกตะวันออก

เป็นเวลา 7 ปี ที่เขาใช้ชีวิตอยู่กับกลิ่นปัสสาวะ

เป็นความรู้สึกอิ่มตัว เขาบอกตัวเองว่าต้องหาจุดเปลี่ยนชีวิตอีกครั้ง

ไม่กี่ปีถัดมา กลิ่นคลองในกรุงเทพฯ เตะจมูกยรรยงเข้าอย่างจัง

“ควรเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา หรือวิทยาศาสตร์แขนงใหม่ๆ ให้มาก สถาปนิกควรมีวิทยาศาสตร์ไว้เป็นเครื่องมือในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ”

 

คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่

ตอนที่ 1

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 146 ตุลาคม 2555)

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!