ลี-อายุ จือปา : ผู้ก่อตั้ง ‘อาข่า อ่ามา’ แบรนด์กาแฟเพื่อสังคมสุดฮอต 4/4

5

เสาไฟฟ้าต้นแรกผ่านหน้าเราไป
ผมยืนอยู่ท้ายรถกระบะหันหลังมองจนลับตา หลังจากใช้เวลา 3 วัน 2 คืนบนดอย เรากำลังเดินทางเข้าตัวเมืองเชียงใหม่เพื่อจิบกาแฟ
(อีกแล้ว) ที่ร้านกาแฟของลี

ซอยหัสดิเสวี
3 อยู่ตรงไหนผมไม่เคยรู้จัก แต่คอกาแฟรู้จักเป็นอย่างดี
ขนาดวันธรรมดายังมีลูกค้ามากมาย ร้านแบ่งเป็น 3 ส่วนเชื่อมถึงกัน
มีโซนเอาต์ดอร์ไว้นั่งเล่นและชงกาแฟดริป ห้องข้างในไว้ชงกาแฟเอสเปรสโซ
และห้องแอร์เย็นฉ่ำสำหรับคนขี้ร้อน ภายในตกแต่งเรียบง่าย ใช้วัสดุไม้เป็นหลัก
ผนังด้านหนึ่งทาสีฟ้าซึ่งคือสีของเสื้อผ้าชนเผ่าอาข่า
ในขณะที่อีกด้านเป็นไม้ไผ่สะท้อนถึงวิถีชีวิตชาวอาข่าเช่นกัน
ตรงกลางห้องมีรูปถ่ายแม่ของลีขนาดใหญ่แขวนอยู่โดดเด่น

ปัจจุบันร้านกาแฟอาข่า
อ่ามา มีอายุครบ 3 ปี ร้านมีรายรับที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้สบายๆ
มีลูกค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีพนักงานประจำ (ชาวอาข่า) ดูแล 4 – 5 คน ลีเปรียบแบรนด์
อาข่า อ่ามา เหมือนเด็กกำลังจะเข้า ป.1 ที่ได้เรียนรู้พื้นฐานบ้างแล้ว แต่ยังมีเส้นทางอีกยาวไกลให้เดินทางต่อ

ผมถามลีว่าเส้นทางต่อไปคืออะไร
เขาตอบว่า อยากทำเครื่องคั่วกาแฟและเปิดร้านสาขาสอง ผมถามอีกว่า เขาอยากรวยหรือ
ถึงต้องเปิดอีกสาขา เขาตอบว่าเปล่า ถ้าอยากรวยเขารวยไปนานแล้ว

“เคยมีคนเรียกให้เปิดร้านที่ห้าง
ขอซื้อแฟรนไชส์หลักล้าน กระทั่งเดินมาวางเช็คแล้วบอกว่าคุณอยากได้เท่าไหร่เขียนเอาเลย”
ประโยคนี้ทำผมอึ้งเหมือนกัน “ไม่ได้ปิดกั้น แต่ไม่เคยมีความคิดนี้ในหัว
กลัวไม่ได้คุณภาพด้วย เพราะคุณภาพกาแฟเป็นสิ่งที่เราใส่ใจมาก”

จากการสังเกต
ผมคิดว่าลีเป็นคนสมถะ ห้องนอนในเชียงใหม่ของเขาเล็ก และแทบไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก
มีแต่กระสอบกาแฟวางเต็มห้องกับไม้แบดมินตัน 1 อัน (กีฬาโปรดของลีคือแบดมินตัน)
เสื้อผ้าก็มีไม่กี่ชุด โทรศัพท์มือถือ ACATEL
รุ่นเก่าก็ได้ฟรีมาจากเพื่อนชาวฝรั่งเศส
ลีเผยว่า ทุกวันนี้แม้ร้านจะมีรายได้สูงถึงหลักแสนต่อเดือน แต่เขาตีเงินเดือนให้ตัวเองเพียง
7,700 บาท

ใช่,
อ่านไม่ผิด-เจ็ดพันเจ็ดร้อยบาทถ้วน

น้อยกว่าพนักงานในร้านเสียอีก

“ค่าใช่จ่ายของร้านเยอะ
ทั้งค่าเช่า ค่าเมล็ดกาแฟ ค่าคั่วกาแฟ และอื่นๆ ผมไม่ได้มองว่าแปลก
แค่รู้สึกว่าตัวเองพอใช้แล้ว ไม่ได้เป็นคนฟุ่มเฟือย สิ่งที่ใช้ฟุ่มเฟือยมีอย่างเดียวคือกาแฟ
ตอนนี้ก็ไม่ต้องซื้อแล้ว ถ้าถามว่าทำไมได้เงินน้อยกว่าน้องพนักงาน
ก็ต้องถามกลับว่า ถ้าไม่มีน้องๆ ร้านนี้อยู่ได้ไหม หรือถ้าไม่มีเพื่อน
ไม่มีสื่อมวลชน ไม่มีชาวบ้าน ไม่มีคนกิน ร้านนี้อยู่ได้ไหม อย่าสำคัญตัวเองผิด
เราเป็นแค่อณูเล็กๆ เท่านั้น”

ลีบอกว่า
เขาไม่ใช่ฮีโร่ แต่เขาคือสนามแม่เหล็ก

“ผมอยากให้อาข่า
อ่ามา เป็นสนามแม่เหล็กที่ดึงดูดคนมีความคิดดีๆ เข้าหากัน
เพื่อร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีๆ อย่าลืมว่ากาแฟ 1 แก้วเท่ากับความสุขที่คืนสู่ชุมชน
จริงๆ แล้วลูกค้าคือผู้สนับสนุน ผู้บริจาค นี่เป็นเหตุผลทำให้ผมอยากเปิดร้านสาขาสอง
เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการกระจายวัตถุดิบของชาวบ้าน ยิ่งกระจายได้มากเท่าไหร่
ชาวบ้านก็ได้รับการช่วยเหลือมากขึ้นเท่านั้น
และต่อไปจะไม่ใช่แค่บ้านแม่จันใต้ที่เดียว เราจะพัฒนาหมู่บ้านอื่นๆ ด้วย”

“เป้าหมายสูงสุดของคุณคืออะไร”
ผมสงสัย

ลีตอบอย่างรวดเร็ว
“คือการที่ชุมชนยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งอาข่า อ่ามา อีกต่อไป
ถ้าถึงวันนั้นได้ผมคงมีความสุขมาก”

“ไม่เคยคิดหาความสุขให้ตัวเองบ้างหรือ”
ผมถาม

“ความสุขส่วนตัวเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน
ไม่มีใครอยากรู้ แต่ความสุขส่วนรวมเป็นความสุขที่ยั่งยืน และมีแต่คนอยากรู้ด้วย
ฉะนั้นถ้าถามว่าความสุขของผมคืออะไร ผมว่ามันคือการได้ทำให้คนอื่นมีความสุข”

“ถามจริงๆ
เคยคิดเรื่องตัวเองบ้างไหม”

คำถามนี้ลีนิ่งคิดนาน
ก่อนจะตอบ

“ผมอยากไปพอร์ตแลนด์”

6

เวลาผ่านไป
3 เดือน

ผมนัดจิบกาแฟกับลีอีกครั้งหลังจากไม่ได้เจอกันนาน
เขานั่งรออยู่โต๊ะด้านนอกร้านกาแฟ ‘Gallery กาแฟดริป’ ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ลีสนิทสนมกับเจ้าของร้านอย่าง ปิ-ปิยชาติ ไตรถาวร และ
เอ-ณัฎฐ์ฐิติ อำไพวรรณ เป็นอย่างดี กาแฟในร้านหลายเมนูก็ใช้เมล็ดกาแฟอาข่า อ่ามา

ทันทีที่ทักทายเสร็จ
เขายื่นแก้วกาแฟให้พร้อมรอยยิ้ม

“ของฝากจากพอร์ตแลนด์”

มันคือกาแฟดริปจากเมล็ดกาแฟแบรนด์
Stumptown แบรนด์กาแฟสัญชาติอเมริกันที่กำลังโด่งดังมากในปัจจุบัน
ขึ้นชื่อเรื่องการใส่ใจทุกกระบวนการผลิต เป็นกาแฟที่มีคุณภาพระดับสูง
จนได้รับการยกย่องเป็น ‘ผู้ปฏิวัติวงการกาแฟ’

ลีเพิ่งบินกลับมาสดๆ
ร้อนๆ จากพอร์ตแลนด์ ผมตามความเคลื่อนไหวจากอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กของเขาอยู่บ้าง
จึงรู้ว่าเขาได้ไปเรียนรู้กระบวนการผลิตกาแฟแบรนด์ Stumptown
ตั้งแต่ในโรงคั่วจนถึงวิธีการชงกาแฟอย่างใกล้ชิด 2 อาทิตย์

ถ้าถามว่าทำไมเด็กดอยตัวเล็กๆ
ถึงได้รับโอกาสขนาดนี้ ต้องบอกว่าเป็นตัวเขาเองต่างหากที่วิ่งหาโอกาส
ลีเขียนอีเมลไปหา Stumptown แจ้งความประสงค์พร้อมแนะนำตัว
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าแบรนด์กาแฟระดับโลกสนใจในตัวลีมาก
และยินดีต้อนรับเขาทุกเมื่อ ลีได้รับความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายจากเพื่อนสนิท Andy
Ricker เจ้าของร้านอาหารไทยชื่อดัง Pok Pok ในอเมริกา

แม้จะเพิ่งลงจากเครื่อง
เขาก็ไม่ได้แสดงความอิดโรยให้เห็นแต่อย่างใด
ลียังคงเล่าประสบการณ์จากพอร์ตแลนด์ออกรสชาติ

“Stumptown ประสบความสำเร็จจากการมีแรงกระตุ้นที่ไม่หยุดนิ่ง” ลีวิเคราะห์
“เขาไม่ได้สำเร็จเพราะเขามีอุปกรณ์ที่ดีที่สุด
แต่เขาสำเร็จเพราะไม่ปิดกั้นการพัฒนาและเรียนรู้
เขาไม่ได้สำเร็จเพราะมีตังค์แล้วซื้อๆๆ
แต่เขาสำเร็จเพราะเขาไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นที่หนึ่ง
เขาเป็นน้ำไม่เต็มแก้วตลอดเวลา พนักงานที่ทำงานมาด้วยกันเป็นสิบปียังแชร์ความรู้ใหม่ๆ
กัน เขาไม่เคยเบื่อการทำซ้ำๆๆ แล้วก็ซ้ำเพื่อให้ดีขึ้น”

ลีบอกว่า
เขาจะนำความรู้นี้มาปรับใช้กับแบรนด์กาแฟตัวเอง
ตอนนี้ร้านสาขาสองเปิดแล้วที่ถนนราชดำเนิน หน้าวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
จังหวัดเชียงใหม่ เมล็ดกาแฟที่ผลิตได้ในปีนี้ก็คาดว่าจะเป็นจำนวน 30 ตัน จากยี่สิบกว่าครอบครัว มากไปกว่านั้น เขายังผลิตเครื่องคั่วกาแฟเป็นของตัวเองแล้วด้วย

เด็กดอยคนนี้ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองเลย

สิ่งที่น่าชื่นชมคือ
เขาไม่ได้พัฒนาตัวเองเพื่อตัวเอง แต่เขาพัฒนาตัวเองเพื่อคนอื่น

คุยกันเกือบ
2 ชั่วโมง ลีขอตัวเก็บข้าวของเพื่อกลับเชียงใหม่ ก่อนจาก
ผมซื้อเมล็ดกาแฟจากร้านไปดริปกินเองที่บ้าน

บนซองสีน้ำตาลแก่
มีโลโก้รูปผู้หญิงชาวเขาและตัวอักษรเขียนว่า ‘อาข่า อ่ามา
เมล็ดกาแฟจากบ้านแม่จันใต้’

ลีหันมายิ้มๆ
กล่าวประโยคประจำตัว

“กาแฟจะอร่อยเป็น
2 เท่า เมื่อได้กินกับเพื่อน”

วินาทีนั้นผมเพิ่งเข้าใจว่า
ความหมายที่แท้จริงของประโยคนี้คืออะไร

“ความสุขส่วนตัวเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน
ไม่มีใครอยากรู้ แต่ความสุขส่วนรวมเป็นความสุขที่ยั่งยืน และมีแต่คนอยากรู้ด้วย”

www.akhaama.com

Facebook.com l Akha Ama Coffee

คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 155 กรกฎาคม 2556)

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR