ลี-อายุ จือปา : ผู้ก่อตั้ง ‘อาข่า อ่ามา’ แบรนด์กาแฟเพื่อสังคมสุดฮอต 2/4

2

รุ่งเช้าวันถัดมา

สิ่งแรกที่ผมหยิบหลังตื่นนอนคือแปรงสีฟัน
แต่สิ่งแรกที่ลีหยิบคือดริปเปอร์

ใช่,
เขากำลังจะดริปกาแฟให้เรากิน

“ผมชอบวิธีการชงกาแฟแบบดริป
เพราะง่าย เป็นธรรมชาติ ใช้แรงโน้มถ่วงโลก รสชาติที่ไม่บีบบังคับ แต่สุภาพนุ่มนวล
จางๆ ไม่เข้มเกินไป”

ลีในสภาพผมเผ้ากระเซอะกระเซิง
เทเมล็ดกาแฟลงในที่บดแบบมือหมุน ใช้เวลาไม่นานเมล็ดกาแฟก็กลายเป็นผงหยาบๆ
สีน้ำตาลเข้ม เขากรอกมันลงบนดริปเปอร์ที่มีกระดาษกรองรองอยู่แล้ว จากนั้นค่อยๆ รินน้ำร้อนจากกาวนเป็นก้นหอยช้าๆ
ควันลอยละล่อง กลิ่นหอมกรุ่นจนทนไม่ไหว สุดท้ายก็ออกมาเป็นกาแฟดริปง่ายๆ
ทำเองที่บ้าน

ลีเทน้ำดำๆ
ขมๆ ร้อนๆ แบ่งเป็นแก้วเล็กๆ ยื่นให้ผม ช่างภาพ
และไม้ที่กำลังอุ้มเจ้าธนกร-ลูกชายวัยกำลังน่ารัก

“กาแฟจะอร่อยเป็น
2 เท่า เมื่อได้กินกับเพื่อน” ท่ามกลางความหนาวยามเช้าตรู่
วงสนทนากรุ่นกลิ่นกาแฟก่อตัวขึ้นแล้ว ลีเริ่มเล่าถึงอดีต “ตอนเด็กๆ
ผมก็เหมือนธนกรนี่แหละ วิ่งเล่นไม่เคยเหนื่อย ล้มลุกคลุกคลาน ไม่เคยรู้สึกลำบาก
มารู้สึกลำบากตอนต้องตื่นตี 5 หุงข้าว พาน้องไปโรงเรียน
ช่วงฤดูฝนฤดูหนาวยิ่งขี้เกียจมาก” เขาลากเสียงยาว

ชื่อจริงของลีคือ
‘อายุ จือปา’ เป็นพี่ชายคนโตในจำนวนพี่น้อง 4 คน ชื่อ
‘อายุ’ เพี้ยนมาจากคำว่า ‘อาโย’ ในภาษาอาข่าซึ่งแปลว่า ‘หัวแก้วหัวแหวน’ พ่อของลีได้รับการแต่งตั้งจาก พอ.สว.
(มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) เป็นหมอพื้นบ้านอาข่า
ดูแลชาวบ้านในชุมชน ความใฝ่ฝันอยากเป็นผู้นำช่วยเหลือสังคมของลีก็ได้รับอิทธิพลมาจากพ่อ

ในวัยเด็ก
ลีทำงานหนักทั้งภาคปฏิบัติและทฤษฎี ด้วยความที่เป็นลูกคนโต
เมื่ออยู่บ้านเขาต้องช่วยแม่ทำงานบ้านทุกอย่าง ทั้งทำอาหาร ซักผ้า ปลูกผักผลไม้
เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ ในขณะที่อีกด้าน เขาต้องตั้งใจเรียนหนังสือ
ลีบอกว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดคือเรื่องภาษาไทย (ภาษาแรกของลีคือภาษาอาข่า)
เขาใช้เวลานานมากกว่าจะอ่านออกเขียนได้เหมือนทุกวันนี้

เมื่อจบประถม
6 ลีตัดสินใจต่อมัธยมต้น แม้ทางบ้านจะไม่มีเงินแต่พวกเขาก็เห็นดีเห็นงามด้วย
“พ่อกับแม่บอกว่า ชีวิตของลีจะไม่เหมือนคนสมัยก่อนที่อยู่แต่บนดอย โลกกว้างขึ้นมาก
ฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น” ลีบังเอิญเจอกับพระที่ธุดงค์มาจากวัดนครเจดีย์
จังหวัดลำพูน เมื่อบอกความต้องการ ท่านจึงพาไปบวชเณรฤดูร้อน
และให้เรียนหนังสือที่โรงเรียนธรรมสาธิตศึกษา จังหวัดลำพูน สามเณรลีบอกว่าที่นี่เปลี่ยนชีวิตเขาหลายอย่าง

“แนะนำตัวเป็นภาษาไทยที่โรงเรียนวันแรกเพื่อนล้อเลย
เป็นครั้งแรกที่รู้สึกถึงความแตกต่าง เราเป็นตัวตลกหรือเปล่า อายมาก ไม่พูดกับใคร
ปิดปากเงียบ จนวันหนึ่งทนไม่ได้ บอกครูภาษาไทยว่าหลังเลิกเรียนขอเรียนเพิ่มได้ไหม
ครูก็บอกว่าเอาสิ”

ในขณะที่เพื่อนๆ
ไปวิ่งเล่นหรือพักผ่อน หลังเลิกเรียนทุกวันใต้ต้นมะขาม ลีจะนั่งเรียนภาษาไทยเพิ่มเติม
มีเวลาว่างก็เข้าห้องโสตศึกษา ดูและอ่านตามโทรทัศน์ เจอเพื่อนก็พูดกับเพื่อน
เจอต้นไม้ก็พูดกับต้นไม้
เขาถึงกับลงทุนขอพระอาจารย์ซื้อเครื่องอัดเสียงเพื่อใช้ฟังเสียงตัวเอง

“ผมเป็นคนเรียนรู้ช้า
แต่ที่ทำได้ทุกวันนี้เพราะขยัน เพราะสู้ นี่เป็นปรัชญาเล็กๆ ในชีวิตผมเลยว่า ถ้าอยากจะตามคนอื่นให้ทัน
ต้องทำงานหนักกว่าเขา ถ้าเขาเดิน 1 ก้าว เราต้องเดิน 2 ก้าว”

ด้วยนิสัยกัดไม่ยอมปล่อย
ทำให้เด็กชายชาวอาข่าพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว
แต่ความมุ่งมั่นเกินร้อยไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป ประสบการณ์ช่วงสอบปลายภาค ม.3
ทำให้เขาได้รับบทเรียนครั้งสำคัญ

“อยากสอบได้ที่หนึ่งสักครั้ง
ตั้งใจอ่านหนังสือมาก แต่ใจร้อนเกินไปจนอ่านไม่รู้เรื่อง
พระอาจารย์เห็นเราเครียดจึงเดินมาบอกว่า ตึงเกินไปอ่านไม่รู้เรื่องหรอก
ต้องผ่อนคลาย ผมโกรธมาก ผิดตรงไหนที่ตั้งใจ พระอาจารย์ก็ตอบกลับมาว่า
ถ้าทุกคนอยากเป็นที่หนึ่ง แล้วใครจะเป็นที่สอง โห ยิ่งโกรธใหญ่ เพราะตอนนั้นใครๆ
ก็สอนว่าต้องเป็นที่หนึ่ง” ลีพูดใส่อารมณ์

“พระอาจารย์สอนว่า
การเป็นผู้ชนะมันง่ายมาก มีแต่คนชื่นชม ทว่าการเป็นผู้แพ้ต่างหากที่ยากยิ่งกว่า
เราต้องเป็นผู้แพ้ให้เป็น เพื่อวันหนึ่งจะได้เป็นผู้ชนะที่ดี รู้ว่าผู้แพ้เป็นยังไง
ผู้ชนะเป็นยังไง ผู้ตามเป็นยังไง ผู้นำเป็นยังไง โลกนี้ไม่สามารถเป็นที่หนึ่งได้ถ้าไม่มีที่สอง
ไม่สามารถมีผู้ชนะได้ถ้าไม่มีผู้แพ้ คำพูดนี้ทำให้เราเข้าใจว่า
ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่งที่สุด แต่ต้องเป็นคนดี วันนั้นอ่านหนังสือชิลล์มาก
สรุปสอบได้รองโหล่” ลีหัวเราะชอบใจ

เมื่อเข้าสู่มัธยมปลาย
ลีตัดสินใจสึกเป็นเด็กวัด เขาได้ลองทำกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งเรียนภาษาอังกฤษ
เข้าค่ายอบรมการเป็นผู้นำ เล่นกีฬา ทำงานพิเศษ
และได้ร่วมงานกับองค์กรเพื่อสังคมระหว่างประเทศอย่างยูนิเซฟ
หรือสมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมสำหรับชาวไทยภูเขา เวลา 3 ปีผ่านไป
ลีรู้ตัวเองชัดเจนแล้วว่าอยากทำอะไรในอนาคต

“ผมอยากทำงานเพื่อสังคม
โดยเฉพาะองค์กรที่ช่วยเหลือด้านการศึกษาให้เด็ก เพราะเราโตมาในชุมชนที่ยากลำบาก”
ลีกล่าว “ตอนนั้นมีทางเลือกว่าจะเรียนต่อหรือกลับบ้าน ถ้าเรียนต่อ เรียนเพื่ออะไร
ผมนึกถึงคำพูดพ่อได้ว่าถ้าอยากเป็นผู้นำช่วยเหลือคนอื่น
สิ่งแรกที่ต้องทำคือพัฒนาศักยภาพตัวเอง”

ศักยภาพที่ว่าคือ
ภาษาอังกฤษ

ลีเริ่มเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษตอนที่ทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ
เขาพบว่าองค์กรเหล่านี้มีกำลังสูงมาก แต่ติดปัญหาที่คนไทยมักพูดภาษาอังกฤษไม่ได้
ทำให้การช่วยเหลือไม่เต็มที่ เขาสมัครเรียนที่คณะมนุษย์ศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ
หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย

“ครูคนนึงเคยบอกว่า
วันข้างหน้า ภาษาอังกฤษจะเป็นพาสปอร์ตของเธอ” ลีเล่า

“แต่ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพาสปอร์ตคืออะไร”

ประโยคสุดท้ายทำเราหัวเราะครืนใหญ่

3

แล้วภาษาอังกฤษก็เป็นพาสปอร์ตของเขาจริงๆ

อาจพูดได้ว่า
ความสำเร็จส่วนหนึ่งของแบรนด์กาแฟอาข่า อ่ามา มาจากการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
ลีใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการหาความรู้ ติดต่อ ประสานงาน และประชาสัมพันธ์
แบรนด์อาข่า อ่ามา จึงไม่ได้โด่งดังแค่ในเมืองไทย แต่สร้างชื่อเสียงในระดับโลก

ใครได้ฟังสำเนียงภาษาอังกฤษของเขาเป็นต้องทึ่ง

อย่าลืมว่าตอนประถมต้น
เขายังพูดภาษาไทยไม่ได้ด้วยซ้ำ

ชีวิตในมหาวิทยาลัยใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก
ลีใช้วิธีการฝึกฝนแบบเดิมกับตอนที่หัดพูดภาษาไทย เจอโต๊ะก็พูดกับโต๊ะ
เจอเก้าอี้ก็พูดกับเก้าอี้ มีเวลาว่างก็ขลุกอยู่ในห้องโสตศึกษา
ดูหนังฝรั่งเป็นตั้งแล้วพูดตาม
จากที่ฟังอาจารย์สอนไม่รู้เรื่องกลายเป็นเริ่มเข้าใจ กล้าพูดกล้าตอบมากขึ้น

ลีบอกว่า
ใครจะนำวิธีนี้ไปใช้บ้างก็ได้ เขาไม่หวง

วิธีการฝึกภาษาว่าน่าสนใจแล้ว
แต่ผมชอบวิธีการเรียนของเขามากกว่า

ลีเล่าว่า
ธรรมชาติของเขาเป็นคนไม่ชอบอ่าน ใกล้ช่วงสอบทีไรต้องอ่านหนังสือเป็นตั้งๆ
เขามักทำได้ไม่ดี เพราะเครียดเกินไป

ธรรมชาติของลีเป็นคนชอบฟัง

ลีเริ่มทดลองวิธีการเรียนแบบใหม่ของตัวเอง
ด้วยการเตรียมสมุด 1 เล่ม จดทุกอย่างที่อาจารย์พูดในห้องเรียน
ฟังเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็จดไว้ก่อน ทำแบบเดียวกันนี้ทุกวิชา

เมื่อถึงช่วงสอบ
แทนที่จะอ่านหนังสือเป็นตั้งๆ แบบเพื่อน ลีนำสมุดจดเล่มนั้นลอกซ้ำในสมุดอีกเล่ม
การเขียนทำให้จดจำได้มากกว่าการอ่าน
มากไปกว่านั้นยังเป็นการเข้าถึงประเด็นที่อาจารย์แต่ละท่านต้องการจะสอนจริงๆ
ย้ำตรงไหนมาก พูดตรงไหนบ่อย ลีก็จะเน้นทำความเข้าใจตรงนั้นเป็นพิเศษ มากไปกว่านั้น
เขายังเดานิสัยของอาจารย์แต่ละท่านด้วยว่าเป็นคนแบบไหน
คนนี้ชอบให้ตอบแบบบรรยายเยอะๆ หรือคนนี้ชอบให้ตอบแบบเนื้อๆ

ผลปรากฏว่าเทอมนั้นเขาได้เกรดเฉลี่ย
3.89 เป็นอันดับหนึ่งในชั้นเรียน

ผมถามเขาว่า
ฟลุกหรือเปล่า ลียักไหล่ ก่อนจะตอบกลับด้วยผลการเรียนตอนจบการศึกษา

เกรดเฉลี่ยสูงสุดอันดับหนึ่งในชั้นเรียน
เกียรตินิยมอันดับสองของมหาวิทยาลัย ขออนุญาตเขียนดอกจันตัวโตๆ ด้วยว่า ‘ภายในเวลาเพียง
2 ปี 8 เดือน’
ล่าสุดเขายังได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายพิเศษให้กับนักศึกษาภาควิชาการบริหารธุรกิจ

ผลการเรียนระดับนี้สามารถสมัครงานบริษัทใหญ่ๆ
ที่ไหนก็ได้ แต่น่าแปลกที่เขากลับไม่ลืมความฝันเดิม

“แปลกใจตัวเองเหมือนกัน
มีความคิดเดียวว่าอยากทำงานเพื่อสังคม คนอื่นก็ไม่เห็นด้วย แม่บอกว่า เอาตัวเองให้รอดก่อนดีไหม
แต่ผมคิดง่ายๆ เอาเองว่า ถ้าทำให้คนอื่นมีความสุข เราก็น่าจะมีความสุข
จึงบอกพ่อแม่ว่าอยากลองทำ สัญญาว่าจะดูแลครอบครัวได้แน่นอน”

ลีขอฝึกงานกับองค์กรเพื่อสังคม
‘มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก’ ที่ก่อตั้งโดยประเทศสวิตเซอร์แลนด์
โครงการแลกที่เขามีส่วนร่วมคือ การสร้างหอพักให้กับเด็กนักเรียนที่บ้านห่างไกล ในโรงเรียนบ้านห้วยน้ำขุ่นวิทยา
หลังจากฝึกงานได้ 3 เดือน ทางมูลนิธิรับเขาเข้าทำงานทันที ได้เงินเดือนก้อนแรก
9,000 บาท ลีดีใจมมาก เพราะได้ทำงานที่ชอบ และมีเงินช่วยที่บ้าน

การทำงานในมูลนิธิเกื้อฝันเด็กมอบประสบการณ์อันมีค่าให้กับลี
เขาได้ทำโครงการช่วยเหลือสังคมอย่างที่ตั้งใจไว้มากมาย เช่น ซ่อมแซมอาคาร สร้างสนามเด็กเล่น
ส่งเสริมการศึกษาพื้นฐาน ไปจนถึงการได้คุยกับเอกอัครราชทูตจากสวิตเซอร์แลนด์
ลียังได้เดินทางไปที่ต่างๆ ไม่ว่าจะพื้นที่ภาคเหนือของไทย พม่า ลาว กัมพูชา
เขากลายเป็นคนหนุ่มทำงานหนัก ใช้ชีวิตบนรถ 70 เปอร์เซ็นต์ กลับบ้านปีละ 2 ครั้ง

ลีบอกว่า
หัวใจของการทำงานเพื่อสังคมคือการ ‘ฟัง’

“ถ้าชาวบ้านไม่พูด
ผมยอมไปอยู่ด้วยเลยนะ จะได้รู้ว่าเขาใช้ชีวิตยังไง เพราะบางทีสิ่งที่เราอยากให้
อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่เขาต้องการก็ได้ การทำงานของผมคือการฟัง ผมถามตัวเองเสมอว่า เราทำให้เรา
หรือเราทำให้เขา ถ้าทำให้เขาก็ต้องฟังเขาพูด
บางทีความหวังดีของเราก็ไม่เกิดประโยชน์ถ้าไม่เคยฟัง”

เขายกตัวอย่างการสร้างห้องน้ำให้กับชนเผ่าหนึ่งในเหตุการณ์ภัยพิบัติ
ห้องน้ำนั้นมีแต่เจ้าหน้าที่ใช้กันเอง เพราะชาวบ้านไม่เคยมีห้องน้ำมาก่อน

“ผมทำงานแบบ
bottom-up หรือล่างขึ้นบน ไม่ใช่ top-down approach”
เขาสรุปแนวคิดตัวเอง

ลียอมรับว่า
เขามีความสุขมากกับการทำงานที่มูลนิธิเกื้อฝัน แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 เขาเริ่มเกิดความสงสัยในทุกครั้งที่ได้กลับบ้านว่า
ทำไมการพัฒนาจึงยังไม่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา
ทำไมคุณภาพชีวิตของชาวบ้านยังไม่ดีขึ้น แม้ว่าทุกคนยังทำงานหนัก 365 วัน
เขาอยากทำอะไรสักอย่างที่สามารถช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ยั่งยืน

แน่นอน,
มีแต่คนคัดค้าน แม้แต่แม่ยังพูดทำนองว่า “คิดอะไรบ้าๆ
ได้ทำตามความฝันแล้วจะเลิกทำไม” แต่ลีไม่สนใจ เขาเริ่มมองหาโอกาสจากต้นทุนที่มีอยู่แล้ว
คือ การเกษตร

ผลไม้-เก็บยาก
เน่าง่าย แปรรูปยาก

ผัก-ฤดูกาลสั้น
ปลูกต่อเนื่องยาก

ขิง-มีคนอื่นปลูกได้ดีกว่า

วิเคราะห์อยู่นาน
ในที่สุดเขาก็เจอพืชชนิดหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ มันเป็นไม้พุ่มยืนต้น สูงประมาณ
3-4 เมตร ใบสีเขียว ผลค่อนข้างกลม มีสีเขียวและสีแดง

ลีเรียกมันว่า
‘ผลไม้มหัศจรรย์’

“ถ้าอยากจะตามคนอื่นให้ทัน ต้องทำงานหนักกว่าเขา ถ้าเขาเดิน 1 ก้าว เราต้องเดิน 2 ก้าว”


www.akhaama.com

Facebook.com l Akha Ama Coffee

คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 1
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 155 กรกฎาคม 2556)

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR