นี่เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ผมเดินทางมาค่ายมวยนครหลวงโปรโมชั่น
เมื่อช่วงต้นปี ในนิตยสาร a day ฉบับ Working Culture ผมมีโอกาสได้มาสัมภาษณ์บุคลากรหลายคนของที่นี่เพื่อลงลึกในวิธีการทำงานและดีเอ็นเอความเป็นแชมป์ ในวันนั้นค่ายยังมีเข็มขัดแชมป์โลกถือครองไว้ นั่นคือแชมป์ WBC ของ แหลม ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น
การสัมภาษณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นไม่ถึงเดือนก่อนที่แหลมจะป้องกันแชมป์กับฮวน ฟรานซิสโก้ เอสตราด้า เราจึงพลาดการสนทนากับเขาด้วยเหตุผลเรื่องการเก็บตัวและการรักษาสมาธิในไฟต์สำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น
เพียงแต่เรื่องราวกลับไม่เป็นดังหวัง
วันที่ 27 เมษายน แหลม ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น เดินลงเวทีด้วยสถานะผู้แพ้
เขาเสียแชมป์โลกสมัยที่สองของตัวเองในวันนั้นนั่นเอง
ย้อนกลับมาปัจจุบัน เมื่อปราศจากเหตุผลด้านการแข่งขัน ในที่สุดการพูดคุยระหว่างเราก็เกิดขึ้น โดยมีเสี่ยฮุย–สุรชาติ พิสิฐวุฒินันท์ เจ้าของค่ายนครหลวงโปรโมชั่นร่วมวงด้วย
เป็นเวลากว่า 8 เดือนแล้วที่รอบเอวของแหลมและตู้โชว์ของค่ายไร้เข็มขัดแชมป์โลก ถ้ามองด้วยสายตาคนนอก นี่คงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่กระทบขวัญกำลังใจของทุกคนในค่าย แต่กับคนที่เกี่ยวพันโดยตรงอย่างแหลมและเสี่ยฮุย พวกเขาคิดเห็นกับเหตุการณ์ทั้งหมดในปีนี้ยังไง–คือสิ่งที่ผมสงสัยและเป็นหัวข้อที่เราสนทนา
อาจเป็นความบังเอิญก็ว่าได้ ที่กติกามวยสากลกำหนดให้ในหนึ่งแมตช์การแข่งขันจบลงภายใน 12 ยก เหมือนกับวันเวลาในหนึ่งปี ที่จบลงหลังจากผ่านไป 12 เดือน
ใช่ บนสังเวียนผ้าใบครั้งที่ผ่านมาแหลมจบด้วยความพ่ายแพ้ แต่บนสังเวียนชีวิตของเขาในปีนี้ล่ะ เแหลมและเสี่ยฮุยคิดเห็นยังไงบ้าง พวกเขาคิดว่าตัวเองพ่ายแพ้หรือเปล่า ผมถือโอกาสนี้ชวนพวกเขาลองทบทวนเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่เดินขึ้นเวที
ถ้าพร้อมแล้ว ยกที่หนึ่ง เริ่ม!
ยกที่ 1–มกราคม, สถานะ : แชมป์โลก
กิจวัตรประจำวันของนักมวยในค่ายนครหลวงโปรโมชั่นนั้นคล้ายกัน ต่างแค่เพียงความหนัก-เบาในการซ้อมสำหรับคนที่กำลังจะมีแมตช์แข่งขัน
ในหนึ่งสัปดาห์ พวกเขาจะซ้อม 6 วัน เว้นว่างแค่วันอาทิตย์ ทุกคนต้องตื่นตอนตี 5 ครึ่ง วิ่งจากค่ายแถวรัตนาธิเบศร์ไปศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี วิ่งวน 8 รอบและกลับมาที่ค่าย หลังจากนั้นช่วง 7 โมงครึ่ง พวกเขาต้องซ้อมต่อยกระสอบทรายและต่อยเป้าซึ่งจะเสร็จสิ้นประมาณ 9 โมง หลังจากนั้นนักมวยส่วนใหญ่จะนอนพักเพื่อให้พร้อมสำหรับการซ้อมช่วงเย็นที่จะเริ่มขึ้นประมาณ 4-6 โมงเย็น ถ้าเป็นนักมวยที่กำลังมีไฟต์สำคัญ การซ้อมช่วงนี้จะเข้มข้นเป็นพิเศษโดยมีเสี่ยฮุยมาคุมด้วยตัวเอง
และสำหรับในปีนี้ ช่วงต้นปีก่อนป้องกันแชมป์ ค่ายนครหลวงโปรโมชั่นเน้นความสำคัญไปที่แหลมโดยตรง
“ตอนนั้นไม่รู้ตัวครับว่าเราซ้อมหนัก คือปกติเสี่ยจะจดไว้ตลอดว่าวันนี้ผมซ้อมอะไรบ้าง ซึ่งพอกลับมาดู มันทำให้ผมคิดเลยว่า โห เราซ้อมหนักขนาดนี้เลยเหรอ ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ขนาดนี้ 4 เดือนนั้นทุกอย่างเกิดขึ้นไวมาก เวลาผ่านไปไวมาก”
การเป็นแชมป์โลก ต้องซ้อมหนักขนาดไหนกันเชียว–ก่อนที่จะเอ่ยคำถามนี้ เสี่ยฮุยชิงเล่าให้ผมฟังด้วยข้อมูลที่ตัวเองจดไว้ตลอด 4 เดือน
วิ่งลู่ช่วงเย็นระยะทางรวม 1,905 กิโลเมตร
ซิตอัพ 127,000 ครั้ง
ลงนวม 317 ยก
เวทเทรนนิ่ง 3,810 นาที
ต่อยเป้า 5,324 นาที
ชกกระสอบ 2,032 นาที
และอีกมากมาย
“การต่อยเพื่อแชมป์โลกเป็นเรื่องที่ต้องเข้มและซีเรียส” เสี่ยฮุยเริ่มอธิบาย
“ในวันที่เขาเหนื่อยและล้า เรามีหน้าที่ผ่อนและเข้าใจ แต่ในเวลาที่สมควรเราก็มีหน้าที่ดึงเขาขึ้นมา ผมมักบอกแหลมเสมอว่าเข็มขัดเส้นนี้ไม่ใช่ของแหลมหรือค่ายหรอก มันเป็นของคนไทย จำวันที่กลับมาถึงสนามบินแล้วมีคนมารับได้ไหม คนเขาต้อนรับเราเยอะขนาดไหน ผมจะพูดให้เขานึกถึงภาพตรงนั้นและพยายามฮึด หรือเวลาซ้อมถ้าหมัดไหนที่เขาต่อยหนัก ผมก็ต้องคอยบอกว่า ‘ดี!’ สิ่งนี้จะได้เป็นกำลังใจ”
“หลายคนเวลาได้แชมป์อาจจะมีอาการเหลิงและย่อหย่อน คุณมีอย่างนั้นบ้างไหม” ผมหันไปถามแหลม
“ช่วงที่ผมเป็นแชมป์ ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นแชมป์ขนาดนั้นหรอกครับ” แหลมแย้งผมด้วยน้ำเสียงราบเรียบจริงใจ
“เข็มขัดเป็นแค่วัตถุ พอเราขึ้นไปบนเวที เข็มขัดก็อยู่ที่กรรมการข้างล่างแล้ว ดังนั้นพอเริ่มต่อยผมก็ไม่ใช่แชมป์อีกแล้ว ผู้ท้าชิงก็ไม่ใช่แชมป์ แต่เรามาชิงกันเพื่อให้คนที่ชนะเป็นแชมป์ต่างหาก
“พอคิดแบบนี้มันทำให้ผมไม่ยึดติดกับความสำเร็จมาก เพราะสุดท้าย ผมต้องซ้อมหนักตามที่เทรนเนอร์โปรแกรมมาเท่าเดิม ซึ่งถ้าถามว่าเบื่อไหม มันมีเบื่ออยู่แล้ว บางทีเบื่อ บางทีสนุก แล้วแต่อารมณ์ แต่ไม่ว่าอารมณ์ไหน ผมจะไม่มีวันให้ตัวเองหย่อนยาน วิธีที่ผมใช้คือวันไหนเบื่อก็วางโจทย์ต่อยเป้าให้ตัวเองไปเรื่อยๆ ยิ่งต่อยแรง ผมยิ่งเริ่มสนุก ยิ่งเวลาได้ยินเสี่ยบอกว่า ‘ดี! ดี! ดี!’ เรายิ่งมีกำลังใจฮึด”
“ถ้าให้มองย้อนกลับไป ถือว่าตัวเองเตรียมตัวเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม”
“ผมว่าเกินร้อย ใช้คำว่า ‘พร้อมมาก’ ได้เลย เพราะถ้าไปต่อยต่างประเทศผมต้องซ้อมหนัก ต้องซ้อมแบบเกินร้อยเท่านั้น ถ้าไม่หนักจริงเสี่ยไม่ให้ไป” แหลมตอบผมก่อนที่เสี่ยฮุยจะเสริม
“เจ็บข้างล่างเวที ดีกว่าไปเจ็บบนเวที ค่ายเราเชื่อแบบนั้น”
ยกที่ 4–เมษายน, สถานะ : เสียแชมป์โลก
“ตอนเดินเข้าไปในสนามแข่ง คุณรู้สึกยังไงบ้าง”
“ไม่ตื่นเต้น ไม่อะไรเลย เหมือนทุกทีแหละครับ เขาจะด่า จะโห่ยังไง ผมก็โบกมือให้ ให้เขารู้ว่าผมไม่ได้กลัว เข้ามาเลย ผมพร้อม”
ไม่ใช่แค่เพียงคำตอบของเขา แต่ถ้าลองย้อนไปดูแมตช์การแข่งขันวันนั้น แหลมเป็นอย่างที่เขาพูดจริงๆ เขาเดินเข้ามาในสนามแข่งด้วยความมั่นใจ ไร้ร่องรอยความกังวล ขวามือคือเสี่ยฮุยที่ถือเข็มขัดแชมป์ ซ้ายมือคืออาจารย์ป๊อบ (โชคชัย พิสิฐวุฒินันท์–ลูกชายของเสี่ยฮุย) เทรนเนอร์ประจำตัวของแหลม สิ่งที่ฝึกซ้อมและแผนการชกที่เตรียมตัวร่วมกันมาอยู่ในหัวของเขาหมด
แต่กีฬาก็คือกีฬา การเตรียมตัวเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง สุดท้ายหน้างานและการแข่งขันจริงคือผลลัพธ์
เมื่อเสียงระฆังดังบ่งบอกการเริ่มต้นแข่งขัน ในยกแรกๆ เกมเป็นของเอสตราด้าที่เหนือกว่าอยู่เล็กน้อย หมัดหนักของแหลมในสูตรที่เตรียมไว้ เมื่อเจอกับความเร็วอีกฝ่าย ผลออกมากลับไม่ค่อยสัมฤทธิ์ผล หมัดไม่ค่อยเข้าเป้า ดูด้วยตาก็พอรู้ว่าคะแนนของแหลมกำลังเป็นรอง
“เราซ้อมแบบการ์ดขวา ต่อยซ้ายไปตลอดเพราะเรารู้ว่าเขาไม่ถนัดป้องกันซ้าย เราคิดว่าเขาจะหลง แต่ปรากฏว่าเขาไม่หลง เราต่อยไม่ค่อยโดน แต่เขายิ่งต่อยโดน เหมือนแผนที่เตรียมมามันเข้าทางเขา พอเห็นแบบนี้ เทรนเนอร์ก็ให้เปลี่ยนเป็นการ์ดซ้ายทันที แต่กว่าจะจับจังหวะได้มันก็ใช้เวลา” เสี่ยฮุยอธิบาย
“ในฐานะคนที่อยู่ประจันหน้าบนเวที ในใจตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง” ผมถามแหลม
“ยังมีสมาธินะครับ ไม่ได้กดดันอะไรเพิ่ม เราต้องมีสติตามเกมไป พอหมดยกปุ๊บ ก็มาฟังเทรนเนอร์สอน แล้วก็ออกไปทำตามให้ได้”
“ข้างเวทีล่ะ เป็นยังไงบ้าง” คำถามนี้ผมหันไปถามเสี่ยฮุย
“ตรงนั้นมีอะไรหลายอย่างให้เราตัดสินใจ คือก่อนหน้าที่เราไปต่อย เราทุกคนศึกษาเทป เรารู้ว่าเอสตราด้ากันซ้ายไม่ได้ เราเลยเตรียมแบบ ‘การ์ดขวา-ต่อยซ้าย’ ถ้าผิดแผนก็ค่อยเปลี่ยนเป็นอีกแบบ แต่หน้างานมันไม่ได้ง่ายแบบนั้นน่ะครับ เขาเตรียมตัวเองมาเหมือนรู้ว่าเราจะต่อยแบบไหน พอเราจะเปลี่ยนมันก็ต้องใช้เวลา เหมือนลูกธนูที่ถูกยิงออกไปแล้ว มันแก้ยาก ใครไม่ไปอยู่ตรงนั้นคงนึกออกลำบาก”
“ตอนแหลมเข้ามาข้างเวทีระหว่างที่เป็นรอง คุณบอกอะไรเขาบ้าง”
“ผมบอกว่าต้องฮึดนะ คนไทยดูเราอยู่”
หลังจากเจอกับสถานการณ์ตรงนี้ การแข่งขันดำเนินไปเกือบครึ่งทาง แหลมเริ่มจับจังวะได้ หมัดหนักๆ ของเขาเริ่มเข้าเป้า มีช็อตแลกหมัดกันนัวกลางเวทีให้คนได้ลุ้นและเชียร์ หมัดชุด หมัดตัดลำตัวถูกประเคนออกไปภายในเวลาที่เหลือ แต่เอสตราด้าเองก็ยังรวดเร็วและแน่นอนจนหมดยกสุดท้าย
ทันที่ที่สิ้นเสียงระฆัง ยังไม่มีใครู้แน่ชัดว่าใครจะชนะ เพราะถ้าดูรูปเกม ต้องบอกว่ามวยคู่นี้สูสี แต่เมื่อพิธีกรบนเวทีประกาศว่าในแมตช์นี้ WBC มีแชมป์โลกคนใหม่ นั่นก็แปลว่าเข็มขัดได้ถูกเปลี่ยนมือแล้ว
“ในช่วงกลางๆ เราเห็นแล้วว่าคะแนนแหลมน่าจะตามอยู่ แต่ผมเองคิดว่าน่าจะยังทัน แหลมเองก็ฮึดขึ้นมาได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ทัน ผลออกมากรรมการส่วนใหญ่ในวันนั้นเห็นตรงกันว่า 6-7 ยกแรก คะแนนเป็นของเอสตราด้า แต่ช่วงครึ่งหลัง คะแนนเป็นของแหลม มันน่าเสียดาย ถ้าเราชิงเปลี่ยนจังหวะได้เร็วกว่านี้สักยกหนึ่ง เราคงไม่แพ้ เราคงไม่เสียแชมป์” เสี่ยฮุยเล่าถึงความรู้สึกของตัวเองให้ผมฟัง ในขณะที่แหลมไม่ได้แสดงท่าทีอะไรที่แสดงออกถึงความเศร้า น้ำเสียงของเขากลับเปี่ยมไปด้วยพลังเสียมากกว่า
“พอรู้ว่าเสียแชมป์ สิ่งที่คิดอย่างแรกเลยคือเราไม่น่าแพ้ครับ เราสู้กันสูสี มันน่าจะเสมอ ดังนั้นทั้งหมดนี้เลยกลายเป็นความรู้สึกคาใจ แต่เสี่ยก็กระซิบบอกผมตอนรู้ผลบนเวทีว่า ‘ไม่เป็นไร เอาใหม่’ ดังนั้นผมก็เลยคิดแบบนั้น
“ไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวมาพยายามกันใหม่”
ยกที่ 5–พฤษภาคม, สถานะ : อดีตแชมป์โลก
“ชนะก็แบบหนึ่ง แพ้ก็อีกแบบหนึ่ง แต่ผมไม่เป็นไรหรอกครับ”
เมื่อผมถามถึงสิ่งที่แหลมเจอหลังจากแพ้ไฟต์สำคัญ เขาตอบผมแบบนั้น
ฟังดูอาจจะเจ็บปวด แต่จะบอกว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องปกติของโลกกีฬาก็ว่าได้ เมื่อทีมงานนครหลวงโปรโมชั่นถึงประเทศไทย เสียงชื่นชมและคนที่มาต้อนรับระหว่างตอนแพ้กับตอนชนะย่อมแตกต่างกันเป็นธรรมดา ยังไม่นับคอมเมนต์ต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตที่มีทั้งแบบสร้างสรรค์และบั่นทอน นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคนที่อยู่ในวงการมวยมาหลายสิบปีอย่างเสี่ยฮุยก็ไม่ได้เจอกับเหตุการณ์แบบนี้เป็นครั้งแรก
“ผมอยู่ในวงการมานาน ผมเข้าใจสิ่งที่มันเป็นอยู่แล้วครับ ถึงแหลมจะบอกว่าไม่เสียใจ ไม่เป็นไร แต่ผมอยู่กับนักมวยมาเยอะ เวลาชนะ-แพ้ ผมรู้ว่าบรรยากาศที่เกิดขึ้น ในบางทีมันทำให้นักมวยไม่โอเคหรอก อย่างแหลมเอง ผมก็เห็นว่าเขาหม่นไปอยู่บ้าง
“ตอนชนะคนล้นหลาม ตอนแพ้คนหาย มันยากที่จะทำใจให้โอเค ตรงนี้แหละที่ค่ายต้องทำหน้าที่ดูแลจิตใจเขาด้วย ให้ขวัญ ให้กำลังใจ หรืออย่างคอมเมนต์ต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต ถามว่าเห็นไหม เห็นนะครับ เราคุมคอมเมนต์เหล่านั้นไม่ได้หรอก เราเข้าใจ แต่ผมก็พยายามไม่ให้แหลมอ่าน”
“เช้าวันรุ่งขึ้นที่ตัวเองไม่ใช่แชมป์โลกแล้ว คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง” ผมหันไปถามอดีตแชมป์โลก 2 สมัย
“(นิ่งคิด) ไม่ได้รู้สึกผิดหวังอะไรนะครับ ผมคิดแค่ว่าเราเสียแชมป์ไปแล้วก็เสียไป แต่เราจะเอากลับคืนมาเหมือนเดิม ยังไงเราก็จะกลับไปให้ได้ ต่อแต่นี้มันขึ้นอยู่กับตัวผมแล้วว่าจะขยันขนาดไหน”
“ไม่ได้มีความรู้สึกหมดอาลัยตายอยาก หรือท้อแท้ ไม่อยากซ้อมเลยเหรอ”
“ไม่เลยครับ” เขาตอบทันที “เวลาผมเข้าค่าย ผมก็อยู่แต่ค่าย ไม่ไปไหน จะมีรายการแข่งหรือไม่มี ผมก็ซ้อม ผมเป็นแบบนี้มานานแล้ว จริงๆ ตอนนี้ผมยิ่งอยากทำมากขึ้นอีก ความรู้สึกหลังจากแมตช์นั้นเป็นต้นมาคือผมอยากแก้มือมากๆ มันรู้เต็มอกในใจว่า เฮ้ย เราสู้ได้นะ เรายังสู้ได้ เรารู้ว่าเราไหวแน่ เราเลยอยากลองอีกทีให้มันสุดครับ”
ในวันที่เราคุยกัน ที่ประชุมสภามวยโลกลงมติเป็นเอกฉันท์แล้วว่าในแมตช์การแข่งขันหน้า แหลมจะได้กลับมาชิงแชมป์โลก WBC อีกครั้ง แม้จะยังไม่ได้ระบุวันแน่นอน แต่ในช่วงนี้แหลมก็เข้าสู่โปรแกรมการซ้อมแบบเดิมเหมือนที่เคยทำ เขายังคงเตรียมพร้อมตลอดเวลาเพื่อรอวันที่โอกาสกลับเข้ามา เช่นเดียวกับเสี่ยฮุยที่ยังคงนำซ้อมและให้กำลังใจนักมวยทุกคนด้วยพลังที่เต็มเปี่ยม
“ทุกคนต้องมีความหวังครับ สำหรับผม สิ่งนี้สำคัญมาก พอมีความหวัง ค่ายจะคึกคัก ไม่ซ้อมแบบซังกะตายไปวันๆ ดังนั้นหน้าที่ผมคือต้องให้กำลังใจและให้ความหวังกับทุกคนเหมือนเดิมว่าทุกคนทำได้
“ทุกคนเป็นแชมป์โลกได้ ผมเชื่อแบบนั้น”
ยกที่ 12 – ธันวาคม, สถานะ : นักมวยที่อยากจะเป็นแชมป์โลกอีกครั้ง
รู้ตัวอีกทีก็ใกล้ถึงเวลาซ้อมช่วงเย็นของนักมวยในค่ายนครหลวงโปรโมชั่น
ผมและช่างภาพพาเสี่ยฮุยกับแหลมมาถ่ายรูปบริเวณสังเวียนและสนามซ้อม เขาจัดแจงพันผ้าที่มือและซ้อมเบาๆ ให้เราเก็บรูป แม้จะเป็นแค่การซ้อมไม่จริงจัง แต่พอแหลมใส่นวม บรรยากาศรอบตัวของเขาเปลี่ยนเป็นเหมือนคนละคน
‘พูดน้อย ต่อยหนัก’ ดูจะเป็นคำนิยามทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เหมาะสมกับเขาที่สุด
“ถ้าให้คิดดูจริงๆ การพยายามเป็นแชมป์โลก กับ การป้องกันแชมป์ อะไรยากกว่า” ผมถือโอกาสชวนเขาคุยระหว่างนั้น
“การป้องกันแชมป์แน่นอน มันยากกว่าทุกสิ่งเลย คนที่ไม่ได้มาลองถือแชมป์โลกจะนึกไม่ออกเลยว่ามันยากขนาดไหน มันจะมีความรู้สึก ‘ไม่อยากเสียแชมป์’ เข้ามาปนด้วย มันจะเกิดเป็นความกดดัน แต่พอเราเสียแชมป์ไปแบบนี้ ไอ้ความรู้สึกที่เราอยากกลับไปต่อย อยากกลับไปชิงจะทำให้เราฮึดสู้และเป็นกำลังใจมากกว่า มันยิ่งกลับทำให้เราไม่ยอมแพ้”
สำหรับสังเวียนมวย ในแง่หนึ่งของการเอาชนะคือการบุกให้หนัก ต่อยให้แรง เล็งให้แม่น แต่ในอีกแง่หนึ่ง มวยก็เป็นเรื่องของความอดทนที่จะทนรับหมัดให้ได้ แม้จะหนักและแรงแค่ไหนก็ห้ามล้ม ถึงล้ม ก็ไม่ยอมให้นานเกินจนกรรมการนับสิบ
คล้ายๆ กับสังเวียนชีวิต ที่แหลมและเสี่ยฮุยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
“ถ้าให้ลองมองย้อนกลับไป ปีนี้สอนอะไรคุณบ้าง”
“การเสียแชมป์โลกคือบทเรียน ความพ่ายแพ้คือสิ่งสำคัญที่สอนผมในปีนี้ ความพ่ายแพ้ทำให้พลังผมเยอะขึ้น คือไม่ว่าจะเป็นแชมป์โลกหรือไม่ ผมก็ต้องซ้อมหนักเพราะนั่นคือวินัย แต่การที่เป็นแบบนี้ทำให้ผมตั้งใจซ้อมเพื่อเป้าหมายกลับไปเป็นแชมป์อีกทีให้ได้”
“เราทำงานกันเป็นทีมครับ” เสี่ยฮุยเสริมขึ้นมาช่วยแหลมสรุปความ “เรารู้กันว่าเราจะร่วมมือกัน เราจะรวมพลังกัน เราเห็นภาพเดียวกันว่าแหลมจะกลับไปเป็นแชมป์โลกได้ ทุกวันนี้ผมคิดในหัวอย่างเดียวเลยว่า งานหนักรอเราอยู่ เราต้องทำการบ้านมากขึ้นเพราะเราได้โอกาสที่จะไปชิงแชมป์คืนแล้ว ทุกวันเวลาแหลมลงนวมเสร็จแต่ละยก ผมจะให้กำลังใจเขาเสมอ เราจะเอากำปั้นมาชนกัน และผมจะให้พรเขาประจำเพื่อเป็นกำลังใจ มันคือการทำให้เขารู้ว่าเราดูแลกันอยู่ แหลมไม่ต้องห่วง ยังไงเราก็ต้องไปให้ถึง เราต้องทำให้ได้ เราจะย้ำคำนี้กับเขาตลอด”
พอสิ้นเสียงเสี่ยฮุย แหลมก็ยื่นกำปั้นมาข้างหน้าประกอบคำบอกเล่า เสี่ยฮุยก็ยื่นกำปั้นของตัวเองไปสัมผัสแหลม ทั้งสองพูดพร้อมกันอย่างไม่ต้องนัดแนะ และผมหวังเหลือเกินว่าสิ่งที่เขาพูดในวันนี้จะเป็นจริงในอนาคต
“แชมป์โลกสามสมัย!”
“แชมป์โลกสามสมัย!”