ชื่อของ กชกร วรอาคม ถูกพูดถึงในสื่อต่างๆ ทันทีที่เธอคือคนไทย 1 ใน 3 ที่ติดอยู่ในลิสต์ ‘TIME 100 Next 2019’ หรือบุคคลที่น่าจับตามองซึ่งจัดอันดับโดยนิตยสาร TIME ในสาขา Innovators ยังไม่นับเมื่อเดือนกันยายนที่นิตยสารหัวเดียวกันยกให้เธอเป็น 1 ใน 15 Women Leading the Fight with Climate Change ท่ามกลางผู้หญิงจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก
และเมื่อเดือนมิถุนายน กชกรยังเป็นสปีกเกอร์คนไทยหนึ่งเดียวบนเวที Movin’On Summit 2019 เวทีพูดคุยเรื่องการสัญจรอย่างยั่งยืนในอนาคตที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา
ไม่บ่อยที่คนไทยจะมีชื่อในอันดับโลกให้เราภูมิใจ และน้อยไปกว่านั้นคือการที่ประเทศไทยจะถูกสนใจจากทั่วโลกในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่จริง ผลงานการออกแบบพื้นที่สาธารณะของเธอในฐานะหัวเรือใหญ่ของบริษัท Landprocess เป็นที่รู้จักและถูกใช้งานมาหลายปีแล้ว ตัวอย่างที่โด่งดังและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติจากสื่อต่างๆ คือ ‘อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ’ สวนใจกลางกรุงเทพฯ ที่แอบซ่อนนวัตกรรมกักเก็บน้ำในเมืองไว้อย่างชาญฉลาด และที่เพิ่งเปิดตัวไปคือ ‘อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในฐานะสวนผักบนหลังคาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย (The Biggest Urban Farming Green Roof in Asia)
บนเวที TEDWomen 2018 กชกรนำคำว่า ‘ตั้งใจ’ ไปบอกคนทั่วโลกฟังว่าเธอยึดมั่นคำนี้ในการทำงานแค่ไหน และการสร้างพื้นที่สาธารณะใหม่ๆ ที่ตอบเทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมของโลก คือเป้าหมายที่เธอและทีมงานตั้งใจทำเพื่อประโยชน์ต่อคน เมือง และโลกเรา ไม่ใช่เพื่อการได้รับการจัดอันดับโดยสื่อเจ้าไหนเลย
บทสนทนาในเช้าวันที่อากาศเย็นใกล้บอกลากรุงเทพฯ และสภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัวเราขึ้นทุกวัน เราชวนกชกรย้อนมองปีนี้ ปีที่เธอสรุปกับเราว่าเป็นเหมือนจุดพักรับกำลังใจก้อนใหญ่ ก่อนที่เธอจะทำงานตามเป้าหมายต่อไปอย่างเดิม
ปีนี้ถือเป็นปีที่ผลงานของคุณถูกพูดถึงอย่างมากในระดับโลก ทั้งอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี หรืออุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ทำไมมันถึงได้รับความสนใจในแง่สิ่งแวดล้อมพอๆ กับแง่การออกแบบ
จริงๆ แล้วทั้งสองโปรเจกต์นี้ทำควบคู่กันมานานแล้ว อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ นี่น่าจะประมาณ 7 ปีแล้ว แต่เพิ่งรู้สึกว่ามันงอกเงยและเริ่มงอกงามปีที่ผ่านมา มันใช้เวลาประมาณหนึ่ง เราเป็นสถาปนิกทำงานด้านพื้นที่สาธารณะ ก็ลุ้นว่าที่เรากำลังทำให้มันเกิด ถ้ามันเกิดขึ้นจริงแล้วจะเวิร์กไหม และพอไปถึงสเกลระดับนานาชาติแล้วเขาจะมองเรายังไง มองย้อนกลับไป เราพบว่ามันเป็นการเดินทางที่สนุกตลอด แต่มันก็ไม่ได้ง่าย และไม่รู้ว่าจุดไหนจะเป็นจุดที่สำเร็จ
ปีที่ผ่านมา พองานเริ่มได้ฟีดแบ็กจากคนอื่น เราเริ่มเข้าใจแล้วว่ามันทำให้เรามีความสุข เรื่องรางวัลอะไรก็ดีใจนะ แต่เรามีความสุขว่า สิ่งที่เราทำอยู่มันถูกนะ อย่างน้อยมันก็ได้ฟีดแบ็กที่ดี และมีคนเข้าใจว่าเราพยายามทำอะไร ทำให้เรารู้สึกว่างานงานหนึ่งมันมีความสำเร็จหลายจุด ปีที่ผ่านมาทำให้เราเห็นจุดที่ไม่ใช่แค่ลูกค้าพอใจ แต่คนในเมืองไทยก็พูดถึงบ้าง และมันไปในสเกลที่ไอเดียได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ก็เป็นจุดที่บอกเราว่าเรามาถูกทางแล้ว
ในหลายๆ โอกาส คุณพยายามพูดถึงอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ในแง่ของการแก้ปัญหา climate change ทำไมถึงต้องเอาไอเดียเรื่องนี้ไปพูดกับคนภายนอก
งานเราไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วคนจะรู้จัก เราเองก็ไม่ใช่คนที่มีคนรู้จัก มันก็ทำให้เห็นว่าบทบาทของภูมิสถาปนิกคือถ้าเรามีไอเดีย พอไอเดียเราเสร็จแล้ว เราจะพูดไอเดียนี้กับคนทั่วไปยังไงด้วย
มันไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ไปขึ้นเวที TED ได้นะ ก็ใช้เวลาอยู่หลายปีเหมือนกัน คือเราก็มั่นใจว่าไอเดียมันดีเพราะมันผ่านกระบวนการกับทีมอาจารย์ที่จุฬาฯ มา เราสมัคร TED Fellows ซึ่งมันยากมาก แต่เราแค่เสียดายถ้าจะไม่พูดถึงสวนของเราในมุมมองที่เราคิดและตั้งใจมากกว่าการเฉลิมฉลอง 100 ปี แล้วจบไป เราอยากให้มหาวิทยาลัยของเรามีบทบาทพูดเรื่อง climate change ในระดับโลกด้วย คนทั่วโลกก็กำลังหาโซลูชั่นเรื่องนี้กัน งั้นเราก็แชร์สิ ไม่ได้ตั้งใจว่าสวนนี้จะต้องดังอะไร แต่ความตั้งใจคือเรามีไอเดีย เราต้องแบ่งปัน ถ้าไม่เวิร์กหรือไม่ได้ฟีดแบ็กกลับมาก็ต้องเรียนรู้ เป็นมหาวิทยาลัยต้องสร้างสิ่งที่จะส่งต่อความคิดไปยังคนรุ่นใหม่ได้
ฟีดแบ็กที่ดีและรางวัลต่างๆ ในระดับโลกส่งผลต่องานออกแบบอื่นๆ ของคุณยังไงบ้าง
มันทำให้เราตั้งใจขึ้นและทำให้เราอยากทำอีก อยากจะทำให้ดีขึ้นอีกเรื่อยๆ และจะเขินนิดหนึ่งถ้าจะทำอะไรซ้ำๆ ซึ่งก็จะไม่ทำอยู่แล้วนะ เราอยากมีไอเดียที่ inspire ไปเรื่อยๆ แล้วพอเป็นไอเดียจากประเทศไทย คนก็ยิ่งสนใจว่าประเทศไทยลุกขึ้นมาทำเรื่อง climate change แบบที่ไม่ได้อยู่เพียงแค่ในกระดาษ แต่เป็นการปฏิบัติจริง ก็เป็นเสียงเล็กๆ ที่อยากให้รัฐบาลหรือผู้ใหญ่เห็น
พูดจริงๆ ว่าถ้าเราไม่ให้คนข้างนอกมาพูดถึงเรา เราไปพูดกับเขา เขาคงจะไม่เข้าใจ คงรู้สึกว่าเด็กคนนี้ใคร (หัวเราะ) มันน่าเสียดายที่อาจมีคนที่มีไอเดียดีๆ อีกเยอะเหมือนกันในสังคมไทย แต่ขาดการสนับสนุน เราเลยต้องหาทางไปให้คนข้างนอกมาพูดเพื่อให้คนของเราได้ยิน ซึ่งมันอาจจะอิมแพกต์กว่าไหม
มีฟีดแบ็กที่ไม่เข้าใจไอเดียของเราไหม หรือยังไม่เห็นว่างานของเราจะแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า
เราเข้าใจเลย คนจะคิดว่าอะไรเนี่ย ทำแค่นี้ไประดับโลก แต่เราว่ามันมีหลายประเด็นประกอบกัน ไม่ใช่แค่ตัวสวนอย่างเดียวแต่มันเป็นเทรนด์ของโลกในตอนนี้ด้วย และไอเดียนี้ไม่ได้หมายความว่ามีอุทยาน 100 ปีจุฬาที่เดียวแล้วน้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ นะ เพราะปริมาณน้ำเราก็รู้อยู่แล้วว่ามันมหาศาล แต่คล้ายๆ ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหา ถ้าเมืองคิดเรื่องการรับน้ำฝนในพื้นที่ตัวเองให้เยอะที่สุด หรือตึกทุกตึก โครงสร้างมีอยู่แล้วก็ใส่ถังเก็บน้ำไว้ใช้ในตึก หรือใช้ธรรมชาติมาช่วยบำบัดน้ำ มีหลายไอเดียในสวนที่เรานำไปใช้ต่อได้
เราว่าเราเคลียร์เรื่องนี้ในทุกคอนเทนต์ที่เราพูด แต่บางทีจั่วหัวข่าวแล้วคนอาจรู้สึกหมั่นไส้ขึ้นมา (หัวเราะ) แต่เรามองเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้อธิบาย และทำให้เราชัดกับตัวเองมากขึ้นด้วย ที่เขาตั้งคำถามแบบนี้ต้องขอบคุณเขานะ ถ้าคุณเจอโจทย์ไม่ยากคุณก็ไม่เก่ง นี่เป็นคำถามที่ยาก ก็เป็นโอกาสให้เราตอบ เพราะมันเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อคนที่หลากหลายและคนทุกชนชั้น ไม่ได้เลือกกลุ่มคนที่จะมาใช้ มันจะไม่มีคำถามได้ยังไง
ปีที่ผ่านมาคุณมองความตื่นตัวเรื่องพื้นที่สาธารณะของคนไทยยังไงบ้าง
ประเด็นหนึ่งที่เราชอบในปีที่ผ่านมาคือสื่อที่พูดถึงเรื่องนี้ไม่ใช่แค่สื่อดีไซน์อย่างเดียวแล้ว แต่เป็นสำนักข่าวใหญ่ๆ อย่าง CNN, NHK World, TIME หรือ The Guardian คือไม่ใช่สื่อแบบเราคุยกันเองน่ะ เรารู้สึกว่าคนไทยจะพูดเรื่องนี้กันในวงเดิมๆ วงคนที่อ่าน a day, The Cloud, The MATTER แต่เราต้องไปคุยกับคนอื่นเพื่อให้เขาเข้าใจปัญหานี้มากขึ้น บางคนอาจมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ฉัน เดี๋ยวให้ Policy Maker ทำ หรือบางคนก็ยังห่วงเรื่องปากท้องตัวเองอยู่ ไม่ได้มีเวลามาสนใจเรื่องพื้นที่สาธารณะ
คือคนไทยไม่ได้โตมากับพื้นที่สาธารณะที่ดี แต่เรามีบุญเก่าเยอะ เรามีทรัพยากรเยอะ แต่มันไม่จริงอีกต่อไปแล้วนะ ทรัพยากรเราไม่ได้เหลือเยอะเหมือนตอนเราเด็กๆ หรือรุ่นพ่อแม่ที่เราจะสามารถใช้เท่าไหนก็ไม่หมด เราไม่ได้โตมากับข้อจำกัดในปัจจุบัน และหลายคนคิดว่าเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัว เราเลยควรต้องออกไปคุยกับคนเหล่านี้มากกว่าที่จะคุยกันเองหรือมัวแต่ชื่นชมกันเอง
แล้วควรทำยังไงให้คนตื่นตัวเรื่องพื้นที่สาธารณะมากขึ้น มันจำเป็นต่อเรายังไง
จำเป็นสิ ไม่จำเป็นเหรอ เราไม่ต้องใช้ทางเท้าเหรอ ไม่ต้องหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เหรอ ไม่ต้องออกกำลังกายเหรอ หรือไม่อยากคลายเครียดหลังเลิกงานเหรอ แต่เราประนีประนอมกับชีวิตเราและคนที่เรารักทุกวัน เราอ้างแค่มีสามมื้อก็พอแล้ว แต่มันไม่พอ มันได้อีก ฝุ่นอย่างนี้โอเคกันเหรอ เราไม่โอเคนะ เราต้องอยู่กับอากาศที่ไม่อันตราย ธรรมชาติที่ดี เราต้องมีต้นไม้มาช่วย เราต้องการพื้นที่สาธารณะที่เราเดินได้โดยไม่ต้องขับรถตลอดเวลา เราต้องมีขนส่งสาธารณะที่ดี เราต้องการพื้นที่ที่ไม่ให้คนเป็นโรคซึมเศร้าน่ะ เราต้องการพื้นที่ที่คนมาเจอกันได้
งานของ Landprocess ในตอนนี้โฟกัสไปที่การสร้างพื้นที่สาธารณะอย่างเดียวเลยหรือเปล่า
ภูมิสถาปนิกมันทำได้หลายอย่าง หลายประเภท แต่ในทุกประเภทที่เราทำเราจะใส่คำตอบเรื่องนี้ คงไม่ใช่ว่าถ้าไม่ได้สวนใหญ่ๆ เราไม่ทำ (หัวเราะ) คงไม่ต้องมีบริษัทพอดี อย่างโรงพยาบาล คุณหมอที่รักสิ่งแวดล้อมเขาต้องการสเปซยังไง ก็ถือเป็นพื้นที่สาธารณะเหมือนกัน สยามสแควร์วันมี Siam Green Sky ที่เป็น urban farming เราก็ไม่ได้คิดว่าแลนด์สเคปต้องเป็นพื้นที่สาธารณะเท่านั้น แต่เราเอาประเด็นนี้ไปตอบโจทย์ให้ลูกค้าและเปลี่ยนมุมมองให้เขามองเห็นตรงนี้ยังไง หรือแม้แต่ทำงานให้ชุมชนแออัดก็ไม่จำเป็นว่างานราคาน้อยจะสร้างนวัตกรรมให้โลกดีขึ้นไม่ได้ มันทำให้ดีได้เหมือนกัน
คุณมีโอกาสทำงานกับ UddC (ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง) ขับเคลื่อนพื้นที่สาธารณะต่อกรุงเทพมหานครเหมือนกัน ได้เรียนรู้อะไรจากงานเหล่านั้นบ้าง
ก็ได้เรียนรู้ว่าจริงๆ คนฝั่งรัฐบาลเขาก็อยากทำอะไรดีๆ แต่อาจยังไม่รู้ว่ามันมีวิธีอะไรบ้าง เขาต้องการคนไปบอกเขาว่าในเงินเท่ากัน การออกแบบสามารถตอบโจทย์ที่มากกว่า มันทำอะไรได้อีกบ้าง เราก็ต้องแทรกซึมตัวเองเข้าไปกับหน่วยงานเหล่านี้ เพื่อเปลี่ยนการตัดสินใจเหล่านั้นให้ดีขึ้น
ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของคนต่างกัน เราก็ต้องเข้าไปไม่เหมือนกัน ได้เรียนรู้จากทีมว่าเราต้องมี positive thinking กับเขานะ พอเข้าไปทำงานกับ กทม.ก็เข้าใจเขามากขึ้น เป็นโอกาสที่ดีมากเลยนะที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราจะช่วยอะไรเขาได้ ชวนให้เขามาเป็นพวกเดียวกันเพื่อทำให้เมืองดีขึ้น เพราะมันต้องช่วยกันทุกภาคส่วนแล้วตอนนี้ ทุกคนต้องร่วมมือกัน
มีโควตของนักปรัชญาชาวคิวบาเขาบอกว่า “ในช่วงเวลาวิกฤต เวลานี้เท่านั้นที่ประชากรโลกต้องเร่งรีบเพื่อจะรู้จักกัน”* ตอนแรกอ่านแล้วก็งง แต่จริงๆ แล้ว ถ้าจะสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาใหม่ ต้องรับฟัง เห็นอกเห็นใจกัน อ่านแล้วชอบมากเลย ไม่ต่างจากที่เราพยายามให้คนรู้จักปัญหาประเทศเรา รู้จักประเทศไทยว่าเราแก้ปัญหาเรื่องนี้ยังไง ประเทศนั้นแก้ยังไงแล้วมาคุยกัน ไม่ใช่การตัดสินใจโดยลอกเลียนใครที่ไม่ได้อยู่ในปัญหา
บนเวที TEDWomen คุณพูดถึงคำว่า ‘ตั้งใจ’ กับการทำงาน คำนี้มีอิทธิพลกับคุณมากแค่ไหน
เราชอบภาษาไทยคำนี้ มันไม่มีในเมืองนอกเนอะ เอาใจมาตั้งไว้ เวลาเราเจออุปสรรคมันไม่ได้หมายความว่าเราใช้กายเข้าไปสู้ มันใช้ใจน่ะในหลายๆ อุปสรรค เราต้องใช้ใจไปมั่นเอาไว้ก่อน รู้สึกว่าเป็นคำไทยที่ตรงกับความรู้สึกเวลาที่เราทำงาน
ถ้าเราตั้งใจทำงานอะไร หนึ่ง ถ้าตรรกะเราไม่ผิดเพี้ยน เราต้องมั่นใจก่อนว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดีนะ และสอง เรารักในสิ่งที่เราชอบและเราก็ตั้งใจอยากทำให้เกิดประโยชน์กับคนอื่น ให้คนอื่นได้มาใช้ ให้คนอื่นได้มาเอนจอยชีวิตในอีกมุมหนึ่ง ถ้าเราล้มเลิกไป มันไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่คนอื่นก็จะไม่ได้ประโยชน์ตรงนี้ เวลาคุณตั้งใจในรูปแบบที่ผลกระทบมันไปกว้างกว่าตัวเอง ไปไกลกว่าใจตัวเอง แต่มีคุณค่าของสิ่งที่คุณทำในนั้นด้วย เราจะมีพลังแล้วมันจะทำให้คุณไม่ล้มเลิกง่ายๆ
แสดงว่าภูมิสถาปนิกคืองานที่ไม่ได้ตอบโจทย์แค่ตัวเองอย่างเดียว
ใช่ แต่บางครั้งในการ discuss ดูเหมือนว่าเราพยายามตอบโจทย์ตัวเองเยอะนะ แต่มันต้องเกิดจากการรับฟังและเข้าใจ ไม่ใช่เราในฐานะดีไซเนอร์จะเอาอย่างนี้อย่างเดียว บางทีก็ถูกดุว่าทำไมอาจารย์ดื้อจัง แต่เรารู้สึกว่าไม่ได้ดื้อ เราแค่อยากสื่อสารมุมมองแบบภูมิสถาปนิก ที่คน และสถาปนิกเองมองข้าม ถ้าสุดท้ายมันไม่ได้เราก็ต้องปรับ หาทางอื่น ไม่ได้มองว่าไอเดียเราต้องชนะ แต่มองว่าถ้าสิ่งนี้จะถูกสร้าง เราจะทำยังไงให้ประโยชน์ของงานนี้เกิดขึ้นมา สามารถนำไปสอนคนรุ่นต่อไป เราจะเลิกล้มมันง่ายๆ ไม่ได้แม้มีคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่ต้องทำแล้ว แต่เราต้องทำสิ ทำเพื่อมหาวิทยาลัย
ทำไมเราจะไม่ทำสิ่งที่ดีที่สุดให้เด็กได้เห็น เราชอบงานที่ได้ให้มหาวิทยาลัยมากเลย เพราะงานของเราจะไปมีผลให้เด็กอีกหลายๆ รุ่น ถ้าอย่างนั้นก็ต้องตั้งใจสิ เมื่อมีโอกาสได้ทำแล้ว
รู้สึกยังไงที่ตอนนี้คุณเป็นแรงบันดาลให้กับสถาปนิกคนอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน
คงเป็นทางเลือกอีกทางดีกว่า แรงบันดาลใจฟังดูยิ่งใหญ่ เรารู้สึกดีที่งานเราสร้างมุมมองให้คนมองถึงปัญหา ในความเป็นภูมิสถาปนิกนั้น เราอยากสอน เราก็อยากจะแชร์ ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นความน่าจะเป็น เหมือนที่เราได้ inspire จากคนรุ่นก่อนว่าภูมิสถาปนิกคืออะไร
เมื่อก่อนคนอาจไม่เข้าใจวิชาชีพนี้เลย เราก็กรุยทางให้คนรุ่นต่อไปว่าไม่ได้หมายความว่าจบ landscape ต้องไปทำงานออกแบบเพื่อสิ่งสวยงามหรืองานคอนโดมิเนียมหรือ residential เพียงอย่างเดียวอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เรามีความสามารถแก้ได้อีกหลากหลายปัญหา ทำให้คนอีกหลายคนตื่นตัวเรื่องคุณค่าของสิ่งแวดล้อม อย่างเรื่องพื้นที่สาธารณะก็จะดีถ้ามีภูมิสถาปนิกช่วยคิดร่วมกันกับวิชาชีพต่างๆ
คุณภูมิใจกับรางวัลหรือการได้ถูกพูดถึงในสื่อระดับโลกในปีนี้มากแค่ไหน
ภูมิใจที่งานสร้างเสร็จเป็นทุน และรู้สึกขอบคุณทุกๆ โอกาสที่ทำให้เราได้ทำงานดีๆ ขอบคุณครูบาอาจารย์ที่ทำให้เราเป็นภูมิสถาปนิกที่ดี ขอบคุณสื่อด้วยที่เห็นความพยายามของผู้หญิงในประเทศที่ไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้สักเท่าไหร่ แต่ไม่ได้หมายความว่าฉันแฮปปี้กับตรงนี้แล้ว จุดมุ่งหมายของเราคือการสร้างงานแบบนี้ให้มากขึ้น ในโซลูชั่นต่างๆ และต้องทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้มีคนมาทำต่อไป เพราะอาชีพนี้มันทำอีก 10-20 ปีก็คงต้องพึ่งให้คนรุ่นใหม่มาทำต่อ ซึ่งเป้าหมายนี้ก็ยังไม่บรรลุนะ
ในอนาคตที่คนเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย การออกแบบพื้นที่สาธารณะก็ต้องปรับเปลี่ยนเรียนรู้ไป แต่โชคดีที่ปีนี้มันได้ฟีดแบ็กที่ดี ก็ทำไปเรื่อยๆ เป้าหมายไม่ใช่ว่าต้องได้อยู่ในลิสต์ของ TIME อีกในปีหน้า หรือปีหน้าต้องได้อยู่ใน Forbes (หัวเราะ) เป้าหมายคือทำต่อไป
มองกลับมาที่ปีนี้อีกที สรุปว่ามันเป็นปีที่คุณได้เรียนรู้อะไร
มันคงไม่ใช่จุดสุดท้ายที่ประสบความสำเร็จนะ แล้วก็ไม่ใช่จุดเริ่มด้วย เพราะโครงการเหล่านี้เริ่มมานานแล้ว หนึ่ง เรารู้สึกเหมือนคนวิ่งมาราธอนน่ะ และปีนี้คือจุดพักที่คนยื่นน้ำให้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจบแล้ว นั่งแช่ขา มันยังต้องวิ่งต่อ เป็นปีที่รู้สึกว่าไม่ได้หยุดด้วยนะ แค่กินน้ำซะ แล้วจะได้วิ่งต่อได้ เป็นปีอย่างนั้นมากกว่า
แล้วก็รู้สึกว่าสิ่งที่มันจะงอกเงยหรือประสบความสำเร็จต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าทำปีนี้ได้ปีหน้า หรือทำวันนี้ได้พรุ่งนี้ คุณต้องฝึกฝนมัน ตั้งแต่สมัยเรียนแล้วมั้ง ทุกความสำเร็จต้องเกิดจากการลงทุนที่ดี ที่ต่อเนื่อง ปีนี้ก็ถือว่าเป็นกำลังใจให้เรา ต้องขอบคุณคนที่ยื่นน้ำมาให้ และต้องขอบคุณคนที่วิ่งด้วยกันมา มันทำคนเดียวไม่ได้จริงๆ ขอจบปีด้วยการขอบคุณทุกคน 3 รอบ (หัวเราะ)
*คำพูดนั้นคือ “In a time of crisis, the peoples of the world must rush to get to know each other.” ของ José Martí กวีและนักปรัชญาชาวคิวบา (อ้างอิงจาก nytimes.com)