ฟาน.ปีติ : เจ้าของคอลัมน์ book sanctuary กับบทเรียนชีวิตไม่ยากที่ไม่ได้ทำกันง่ายๆ

ผมจดจำ ฟาน-ปีติชา คงฤทธิ์ หรือสาวผู้ใช้นามปากกา ฟาน.ปีติ ได้จากคอลัมน์ book sanctuary ใน a day online ที่เธอเขียนมาเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับร้านหนังสือน่าเข้าในกรุงลอนดอน

เท่าที่รู้มา ฟานเคยเป็นกองบรรณาธิการของ a day แต่ล่าสุด เธอเพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท คณะ Communication Design สาขา Illustration จาก Kingston University แห่งลอนดอน นับเป็นการเรียนต่อที่ฉีกออกจากสายงานเดิมพอสมควร ผมพกความสงสัยไว้ในใจว่าอะไรทำให้ฟานกล้าเปลี่ยนสายได้ขนาดนี้ และทำไมถึงทำคอลัมน์เกี่ยวกับร้านหนังสือ เพราะครั้งแรกที่เห็น ผมไม่แน่ใจนักว่าร้านหนังสือมีอะไรพิเศษให้เราอยากรู้

เวลาที่ไทยกับอังกฤษห่างกัน 6 ชั่วโมง ตอนที่ผมกำลังจะโทรไปคุยกับฟาน ที่อังกฤษเพิ่งผ่านช่วงเวลาอาหารกลางวันมา ฟานเพิ่งทำแกงส้มชะอมไข่ทอดเสร็จหมาดๆ ก่อนเราจะเริ่มบทสนทนาเพื่อทำความรู้จักสาวไทยในลอนดอนที่ชีวิตพลิกผันจากนักเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรสู่นักเล่าเรื่องที่ใช้ภาพประกอบแสนน่ารัก

จากที่เคยเป็นกองบรรณาธิการนิตยสาร ทำไมถึงตัดสินใจหันมาเรียนต่อด้านวาดภาพประกอบ

เราชอบวาดรูปคน สัตว์ ต้นไม้ อะไรที่จับต้องได้ บวกกับชอบอ่านหนังสือมาก พอเห็นนักเขียนที่ชอบเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มา เราเลยคิดว่าคนที่เราชอบเติบโตมาจากดินแบบไหน เราจะปักตัวเองลงในดินแบบนั้น จะได้เป็นอย่างพวกเขาเวลาโตขึ้น (หัวเราะ)

แต่พอเข้าเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์แล้ว ปรากฏว่าเราไม่ได้วาดอะไรที่เราชอบเลย เราแค่ทำงานส่งอาจารย์จนค่อยๆ ลืมว่าความสุขจากการวาดรูปเป็นยังไง พอเรียนจบก็มาเป็นกองบรรณาธิการ a day นับว่าได้เติมเต็มความฝันการเป็นนักเขียนของตัวเองระดับหนึ่ง แต่เราแค่เขียนอย่างเดียว การวาดรูปเลยกลายเป็นกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด จนวันหนึ่งเรารู้สึกว่าเราทิ้งความฝันที่อยากเป็นนักวาดภาพไปเลย เหมือนเราดูแลแต่ความฝันที่อยากเป็นนักเขียนจนไม่ได้ดูแลอีกความฝันหนึ่ง เราเลยออกมาเรียนต่อด้านนี้ โดยคิดว่าถ้าเราทั้งเขียนและวาดภาพประกอบได้ มันอาจจะเสริมให้เราเป็นนักเล่าเรื่องที่พิเศษขึ้นก็ได้

อยู่ลอนดอนมานานแค่ไหนแล้ว

ปีนิดๆ ได้ นี่เพิ่งส่งธีสิสจบไปเมื่อเดือนที่แล้วเอง เกี่ยวกับการใช้ภาพวาดกระตุ้นให้คนเกิดความคิดสร้างสรรค์ เราสนใจว่าทำไมบางคนมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนอื่น เราค้นพบว่าคนที่สร้างสรรค์มักลืมเหตุผลและรู้จักเชื่อมโยง 2 สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เช่น คนเราเห็นแอปเปิ้ลตกเป็นร้อยรอบแต่อาจไม่ได้คิดอะไร ขณะที่ไอแซค นิวตัน (Isaac Newton) กลับเอาแอปเปิ้ลไปเชื่อมโยงกับแรงโน้มถ่วงที่เขาคิดอยู่ เราเลยเอาคำตอบนี้มาสร้างการ์ดเกมที่ให้สุ่มเอาการ์ดรูปภาพมาต่อๆ กัน แล้วลองสร้างเรื่องราวจากการ์ดเหล่านั้น เช่น การ์ดผู้หญิงต่อกับการ์ดใบไม้ ลองสร้างเรื่องสิว่าผู้หญิงกับใบไม้จะเกี่ยวกันได้ยังไง

ที่ทำเรื่องนี้เพราะเราอยากพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่สร้างสรรค์ และไม่ว่าเราเรียนจบไปทำงานอะไร เราควรมีทักษะของนักคิด เราเลยไม่ใส่ใจว่าธีสิสชิ้นนี้จะได้เกรดเท่าไหร่ อย่างน้อยเราได้ความรู้ติดตัวไปว่าเราจะเป็นคนที่สร้างสรรค์ได้ยังไง

แล้วระหว่างนี้ทำอะไรอยู่ที่ลอนดอน

ตอนนี้กำลังจะมีนิทรรศการจัดแสดงในโรงละครที่เก่าที่สุดในโลกที่ลอนดอน (Storybox: Tales of Absence, ‘What Ifs’ and Salvation) ทำร่วมกับอาจารย์และเพื่อนๆ กลุ่มหนึ่ง เป็นงานที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพเก่าๆ ของโรงละครนี้ งานของเราเป็นโรงละครจิ๋วที่มีนักแสดงและคนดูเป็นหนูทั้งหมด เพื่อถ่ายทอดอดีตของโรงละครผ่านสายตาของหนูที่ซ่อนตัวอยู่ตามผนังโรงละครมาโดยตลอด แสดงวันที่ 3 – 25 พฤศจิกายนนี้ เป็นงานที่สนุกนะ ได้มาลอนดอนแล้วได้จัดนิทรรศการก็คุ้มแล้ว

เห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองตลอดการใช้ชีวิต 1 ปีในลอนดอนมั้ย

ตอนแรกๆ เราเป็นคนที่มีเรเฟอเรนซ์ให้กับตัวเองตลอดเวลา ฉันต้องเป็นคนอื่นเรื่อยไป เป็นคนที่ดีกว่าตัวเอง แต่ที่นี่ทำให้เรายอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง ในโลกนี้มีฉันคนเดียว เป็นฉันให้ดีที่สุดดีกว่า เราไม่ได้เก่งขึ้นหรอก เราแค่รู้สึกรักคนๆ นี้ เราเลยกล้าทำผิดมากขึ้น กล้าทำตามที่ตัวเองคิดจริงๆ

ที่คิดแบบนี้ได้เพราะคนที่นี่เขาเปิดใจจริงๆ ไม่ตัดสินคนอื่นว่าอยากแต่งตัวหรือทำสีผมยังไง ทุกคนเป็นตัวของตัวเองได้ อาจารย์ที่นี่ก็ไม่เคยบอกว่าความคิดของใครผิด นั่นทำให้เราเปิดใจและยอมรับคนอื่นมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าชอบหรือเห็นด้วยนะ แค่เข้าใจและยอมรับว่าเขาก็มีเหตุผลของเขา

การเรียนที่ลอนดอนช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงทัศนคติเกี่ยวกับตัวเองด้วยหรือเปล่า

ใช่ เพราะตอนที่มาใหม่ๆ เราคาดหวังกับตัวเองไว้ระดับหนึ่ง แต่คนอื่นกลับทำได้ดีกว่าทั้งๆ ที่เราว่าเราตั้งใจเรียนแล้วนะ กลายเป็นเราขี้เกียจเรียนไปเลย แต่ตอนนี้ปรับตัวได้แล้วเลยไม่เจ็บปวดอย่างตอนแรกๆ

ทัศนคติของอาจารย์ที่นี่จะต่างกับที่ไทยมาก ที่เราบอกว่าเราเปิดกว้างขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะอาจารย์เลยนะ อาจารย์ไม่ตัดสินเด็ก เขาไม่เคยบอกว่าเธอขี้เกียจ เธองานแย่ หรืองานเธอสวยกว่างานคนนี้ เขาเปิดกว้างให้เด็กคิดเองว่าอยากรู้อะไร ออกไปหาคำตอบนั้นมาแล้วเอามาบอกเขา เขาให้เราเป็นตัวของตัวเอง ส่วนเขาจะเป็นเหมือนไกด์คอยแนะ คิดแบบนี้เพิ่มได้นะ มีวิธีคิดแบบอื่นหรือเปล่า หรือมีทางหาข้อมูลอื่นอีกหรือเปล่า แต่ไม่มาชี้ทางให้เราตรงๆ เราอยากไปไหนก็ไปเอง มันเลยทำให้เรากล้าเป็นตัวเองมากขึ้น เราเลยรู้ว่า อ๋อ มันไม่มีทางไหนผิดนี่หว่า เรามาที่นี่เราไม่ได้เรียนแค่วาดรูป เหมือนเราเรียนวิธีมองโลกกับเขาด้วย เราเรียนทัศนคติที่เปิดกว้างของเขาด้วย

สิ่งที่เรียนมาทั้งหมดก็ดูจะช่วยพัฒนาตัวเราจริงๆ นะ

เพราะเป้าหมายที่เรามาที่นี่คือพัฒนาตัวเอง ทุกอย่างที่เราทำจะกลับไปสู่การพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การเขียนคอลัมน์ หรืออะไรก็ตาม เราต้องกลับมาตอบตัวเองตลอดเวลาว่ามันตอบโจทย์เรื่องพัฒนาตัวเองมั้ย ถ้าตอบก็ทำ เพราะต้นทุนชีวิตมันแพง เราไม่สามารถใช้มันฟุ่มเฟือยได้

ถามเรื่องเกี่ยวกับ a day online บ้าง หนึ่งปีกับคอลัมน์ book sanctuary เป็นยังไงบ้าง

สนุกมากกก เหมือนคอลัมน์นี้พาเราไปเที่ยวอีกมิติหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้ทำคอลัมน์นี้คงไม่ได้ไปนั่งคุยกับเจ้าของร้านหนังสือหรอก ร้านหนังสือบางร้านคงไม่ได้ไปด้วย แต่พอเรามีหน้าที่เป็นนักเล่าเรื่องหรือผู้สื่อข่าว เลยคิดว่าคนอ่านของเราต้องรู้จักร้านนั้นนะ พอได้คุยกับเจ้าของร้านหนังสือ เราเลยเข้าใจธุรกิจร้านหนังสือของลอนดอนมากขึ้น ถ้าอ่านจากบทความหรือหนังสือที่ไหนก็ไม่เห็นภาพขนาดนี้ ทำให้เราเข้าใจว่าเขาดิ้นหรือสู้กับวิกฤตของวงการหนังสือยังไง

เราอยากให้เห็นคนอ่านเห็นว่าร้านหนังสือยังมีวิธีอยู่รอดนะ แค่ต้องรู้จักปรับตัว ต้องไม่คิดแค่จะวางขายหนังสือ แต่ต้องพยายามทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาใดสาขาหนึ่ง เช่น ร้าน Wellcome Shop ที่เราชอบ เป็นร้านหนังสือวิทยาศาสตร์ ฟังดูเนิร์ดๆ เนอะ แต่เขากลับคิดว่าวิทยาศาสตร์อยู่ในทุกสาขาความชอบ เขาเลยเปิดหมวดหมู่โดยมีวิทยาศาสตร์เป็นหลัก เช่น วิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก วิทยาศาสตร์สำหรับนักดนตรี มันเลยเกิดเมสเสจว่าวิทยาศาสตร์อยู่ในชีวิตของทุกคน เขาใช้แพสชันทำให้ร้านหนังสือกลายเป็นคอมมูนิตี้ของคนที่ชอบสิ่งเดียวกันและยังดึงคนอื่นๆ ให้สนใจเรื่องนี้ด้วย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ร้านหนังสือออนไลน์ให้ไม่ได้ นี่จึงเป็นพื้นที่เฉพาะของร้านหนังสือที่ให้คนอ่านได้

ส่วนตัวฟานเชื่อไหมว่า Print is dead?

ถ้าบอกว่าไม่เชื่อก็โกหกนะ เพราะสถานการณ์ที่เราเห็นบอกตรงกันว่าวันนึงมันอาจตายจริงๆ ก็ได้ แต่เราคิดว่าในฐานะคนทำหนังสือเราควรมีความเชื่อว่ามันจะอยู่รอด ถ้าเราช่วยกันผลิตงานที่ดียังไงก็ต้องมีคนอยากเสพ สุดท้ายมันก็คือการทำงานให้ดีที่สุดนั่นแหละ

ทำไมถึงรักหนังสือได้ขนาดนี้

เพราะหนังสือมันสนุกอ่ะ เราอยู่ตรงนี้แท้ๆ แต่หนังสือพาเราไปอีกโลกนึง พาเราไปใต้น้ำ พาเราเหาะไปดาวดวงอื่น หนังสือไม่ใช่แค่กระดาษที่เย็บรวมกัน มันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนความคิดความเชื่อ เป็นพลังในการมีชีวิตอยู่ของใครบางคนด้วยซ้ำ หนังสือไม่ใช่ปัจจัยสี่ แต่มันทำให้เรามีชีวิต

ถ้าผมนำถ้อยคำของฟานมาร้อยเรียงเป็นหนังสือ นี่คงเป็นหนังสือที่อัดแน่นไปด้วยการไล่ตามฝันและการพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้งของเธอ ฟานช่วยปลุกให้ผมนึกถึงความฝันและความสนุกมากมายที่ผมอาจหลงลืมไปแล้ว (หนึ่งในนั้นคือการวาดภาพ ตอนแรกผมคิดอยากวาดภาพฟานด้วยตัวเอง แต่ให้ฟานวาดแหละดีแล้ว) ผมยอมรับว่าฟานเป็นนักเล่าเรื่องที่พิเศษคนหนึ่ง เคล็ดลับของฟานเข้าใจไม่ยากแต่ทำไม่ง่าย ฟานแค่รู้จักเงี่ยหูฟังเสียงหัวใจของตัวเองและทำตามที่หัวใจกระซิบบอกอย่างไม่ลังเล และนั่นคือสิ่งที่ผมควรจะทำเช่นกัน

ก่อนจบบทสนทนา เราได้แลกเปลี่ยนหนังสือที่ชอบให้แก่กัน ฟานทวนชื่อหนังสือที่ผมชอบอีกครั้ง

“เมื่อกี้แนะนำเรื่องอะไรแล้วนะ?”

V for Vendetta ครับ เป็นกราฟิกโนเวลที่เคยอ่านสมัยเรียน”

ฟานหาชื่อหนังสือพักหนึ่งจึงบอกว่า “อ๋อ! เล่มนี้เคยเห็นใน Gosh! Comics อยู่ เล่มหนามากเลย ต้องไปที่ร้านอีกรอบแล้วล่ะ ขอบคุณมากนะ”

“ขอบคุณเช่นกันครับ”

Faan.Peeti’s Recommend

ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล โดย วินทร์ เลียววาริณ

“เป็นหนังสือ non-fiction เล่มแรกที่อ่านแล้วเปิดโลกของเด็กต่างจังหวัดอย่างเราให้มองเห็นไปไกลถึงอีกฟากของจักรวาลเลย หนังสือเล่มนี้ตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยคิดในเชิงปรัชญา อภิปรัชญา จักรวาลวิทยา ฯลฯ อย่างเช่นคนเราเกิดมาทำไม มนุษย์ต่างดาวมีจริงไหม ไสยศาสตร์เชื่อถือได้แค่ไหน เราไม่คิดว่าสิ่งที่เขียนในหนังสือเล่มนี้เป็นคำตอบที่ถูกต้องทั้งหมดหรอก แต่สิ่งที่ดีคือมันสอนให้เรารู้จักตั้งคำถามและคิดวิเคราะห์ทุกเรื่องรอบตัว เป็นหนังสือเล่มแรกที่ทำให้เราวางไม่ลง อ่านแล้วใจเต้นตึกตัก ความฝันที่อยากเป็นนักเขียนมีจุดเริ่มต้นมาจากเล่มนี้นี่แหละ”

The Moon Forgets ดวงใจในดวงจันทร์
เรื่องและรูป Jimmy Liao
แปล อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี

“หนังสือภาพสีน้ำหม่นเศร้าเล่มนี้เป็นเรื่องราวของเด็กชายคนนึงที่บังเอิญได้ครอบครองดวงจันทร์ที่ป่วยจนตกลงมาจากฟ้า เด็กชายดูแลดวงจันทร์จนหายดี แล้ววันหนึ่งดวงจันทร์ก็จากเขากลับไปอยู่บนฟากฟ้าตลอดกาล หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ทำให้เรารู้สึกว่าภาพวาดสามารถถ่ายทอดความรู้สึกที่ลึกล้ำผ่านหน้ากระดาษได้มีพลังไม่แพ้ตัวหนังสือ ลายเส้นและการใช้สีในเล่มนี้สวยมากจนเป็นแรงบันดาลใจให้เราเริ่มหัดวาดรูปตอน ม.ปลาย ตอนนี้ผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่เราว่าเราก็ยังไม่เก่งเท่าจิมมี่อยู่ดี”

ภาพ สิรินดา ฉัตรชัยชูเกียรติ
ภาพประกอบ ฟาน.ปีติ

AUTHOR