PlanToys บริษัทที่เชื่อว่าของเล่นที่ทำให้เด็กมีความสุข คนทำก็ต้องมีความสุข

Highlights

  • PlanToys คือบริษัทผลิตของเล่นไม้สัญชาติไทยที่ส่งต่อความสุขให้กับเด็กๆ ทั่วโลกมาแล้วกว่า 65 ประเทศในระยะเวลา 39 ปี โดยเลือกใช้วัตถุดิบและกระบวนการผลิตที่ห่วงใยต่อทั้งคนและสิ่งแวดล้อม
  • การทำงานของ PlanToys เน้นแนวคิดการทำของเล่นอย่างมีคุณภาพโดยไม่เอาเปรียบและเบียดเบียนใคร ไม่ว่าจะพนักงานด้วยกันเอง ลูกค้า สังคม หรือสิ่งแวดล้อม
  • สิ่งสำคัญคือระบบการทำงาน PlanToys จะเน้นความเป็นครอบครัวพี่น้องและตั้งเป้าเป็น happy organization มอบสวัสดิการช่วยเหลือพนักงาน เพื่อให้ความสุขกระจายตัวตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงเด็กๆ ที่จะได้เล่นของเล่น  

ถ้าให้มองหาแบรนด์สินค้าที่คิดถึงผู้บริโภคและโลกมากที่สุด เรานึกถึง PlanToys แบรนด์ของเล่นที่โดดเด่นในเรื่องการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์พัฒนาการเด็ก และเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับทั้งคนและสิ่งแวดล้อม 

ไม่ว่าจะเป็นบ้านตุ๊กตาพร้อมเฟอร์นิเจอร์หลากรูปแบบ ชุดอาหารเช้า กล้องขนาดพกพา เครื่องดนตรี ของเล่นสารพัดอย่างที่ผ่านการดีไซน์ด้วยความใส่ใจเด็กทุกช่วงวัย ล้วนผลิตมาจากไม้ยางพาราที่หมดอายุการใช้งานแล้ว พร้อมสีที่ไม่มีสารตะกั่ว กาวที่ไม่มีสารก่อมะเร็ง และยังมีกระบวนการผลิตที่ห่วงใยทั้งคนทำงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ปลายทางได้ผลิตภัณฑ์ที่ส่งต่อถึงมือเด็กๆ อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย 

ด้วยระยะเวลากว่า 39 ปีนับตั้งแต่วันแรกที่พวกเขาเริ่มเดินเครื่องการผลิตของเล่นไม้จนถึงตอนนี้ วิธีคิดและการทำงานร่วมกันแบบไหนที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของ PlanToys ส่งต่อไปสร้างความสุขให้เด็กๆ ได้อยู่เสมอ

เราตามไปคุยกับ วิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ ผู้ก่อตั้งบริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด, โกสินทร์ วิระพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ เกี่ยวกับแนวคิดการทำของเล่นของ PlanToys และตามไปดูเบื้องหลังการผลิตของเล่นไม้ที่จังหวัดตรัง พร้อมพูดคุยกับพนักงานผู้ร่วมสร้างผลิตภัณฑ์ความสุขให้กับเด็กๆ กัน   


“ทำของเล่นให้เด็กมีความสุข คนทำก็ต้องมีความสุข” – วิฑูรย์ วิระพรสวรรค์

People Management

จุดเริ่มต้นในการก่อตั้ง PlanToys คืออะไร

เริ่มจากที่ผมอยู่ในกลุ่มแปลน เป็นกลุ่มของนิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และเพื่อนต่างมหา’ลัย ที่ก่อตั้งเมื่อ 45 ปีที่แล้ว เราเรียนจบแล้วก็มีความตั้งใจกันว่าจะตั้งบริษัททำงานด้านสถาปัตย์ แล้วนำเงินส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือหน่วยงานต่างๆ หรือขบวนการทางสังคมที่ต้องการทำให้ประเทศดีขึ้น 

แต่สักพักเราก็รู้สึกว่า ไม่ว่าจะมีวิธีคิดยังไงหรือจะเชื่ออะไรก็แล้วแต่ วิธีคิดต้องผ่านการกระทำ การกระทำก็คือคนนั่นแหละ กลุ่มแปลนเลยคิดว่าในการเปลี่ยนแปลงสังคมไม่น่าจะหวังจากคนที่เติบโตแล้วเพราะเขาถูกหล่อหลอมจากสังคมเก่าและคิดแบบนั้นตั้งแต่เด็ก ถ้าจะให้สังคมดีกว่าเดิมมันน่าจะเริ่มจากเด็กหรือเปล่า เราก็คุยกันว่าน่าจะมาทำเรื่องเด็ก ก็เลยเกิดเป็นธุรกิจขึ้นมา 3 อย่างคือ โรงเรียน สื่อสิ่งพิมพ์ และของเล่นซึ่งก็คือ PlanToys

แล้วเราก็ตั้งใจว่าเมื่อเราทำธุรกิจก็จะแบ่งรายได้ไปทำงานด้านสังคมด้วย นั่นหมายถึงว่าถ้าเรามีรายได้ 100 เราจะแบ่งครึ่งหนึ่งไว้บริษัทเพื่อพัฒนางานต่อไป อีกครึ่งหนึ่งเราจะแบ่งเป็นสามส่วน คือ หนึ่ง ให้พนักงาน สอง ให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งก็จะได้ปริมาณเท่ากับพนักงานเลย ถือว่าคนหนึ่งลงทรัพย์ คนหนึ่งลงแรง ส่วนที่สามก็คือทำเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

ตอนนั้นความตั้งใจในการทำของเล่นให้เด็กคืออะไร

PlanToys อยากเป็นตัวช่วยทำสื่อหรือของเล่นเพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างสมวัย นั่นหมายถึงเราให้นักพัฒนาการเด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบร่วมกับดีไซเนอร์ ยุคนั้นของเล่นเพื่อการศึกษามีน้อยมาก ไม่ว่าในไทยหรือต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะมีรูปทรง รูปแบบแนว traditional เราเลยพยายามใช้การออกแบบมาพัฒนาของเล่นเพื่อการศึกษา สร้างความสนใจให้เด็กมากขึ้น 

แล้วเราก็มีหลักการว่าการทำธุรกิจจะใช้แนวคิด 3 อย่างคือ sustainable material วัสดุทดแทนกันได้, sustainable manufacturing และ sustainable mind

เราไม่ได้ทำธุรกิจอะไรก็ได้ เราทำโปรดักต์ เป็นธุรกิจที่เด็กได้รับการพัฒนาให้พร้อมที่จะมีชีวิตอยู่ในโลก การมีชีวิตอยู่ในโลกได้เด็กก็ต้องเข้าใจตัวเอง คือรู้จักตน รู้ว่าตัวเองมีสกิลอะไร มีความคิดยังไง รู้จักโลกด้วย โลกข้างนอกมันเป็นยังไง ก็คือเอาชุดความคิดไปเข้าใจโลกที่มันเป็นจริง 

ดังนั้น sustainable mind หมายถึงเราทำของเล่นดีๆ เน้นพัฒนาการของเด็ก ไม่ทำของเล่นที่เป็นเนกาทีฟ เช่น ปืน ดาบ ของเล่นประเภทรบราฆ่าฟัน รถถังเราไม่มี แต่เรามีรถเก็บขยะ (หัวเราะ) 

 

แล้วทำไมของเล่น PlanToys ถึงต้องห่วงใยสิ่งแวดล้อม

เราเป็นบริษัททำธุรกิจ ทำมาหากิน ไม่ได้ตั้งใจทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่ตอนเริ่มต้นก็มาคุยกันว่าแล้วธุรกิจแบบไหนล่ะที่เราจะทำ พอดีช่วงที่เป็นนักศึกษากับช่วงเริ่มทำงานด้านสถาปัตย์เรารู้สึกว่าสังคมมีคนเอาเปรียบ เบียดบังสิ่งแวดล้อม เราก็ไม่อยากทำธุรกิจแบบนั้น เราไปว่าเขาไว้เยอะ ถ้าจะทำเองมันก็อาย (หัวเราะ)

เราเลยคิดว่าถ้าอยากทำธุรกิจดีๆ วิธีทำธุรกิจก็ต้องดีด้วย ก็มาตีโจทย์คำว่าดีของเรา นั่นคือหนึ่ง ไม่เอาเปรียบ เพราะเราไม่ชอบให้คนเอาเปรียบ เราก็จะไม่เอาเปรียบใคร ทั้งพนักงานของเราเอง คู่ค้า และสังคม สอง ไม่เบียดเบียน เพราะเราไม่ชอบให้คนเบียดเบียน ไม่ว่าจะกับคนด้วยกันเอง กับสัตว์ หรือกับสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นเราเลยเอาสองอย่างนี้มาแปลงเป็นการทำงาน ซึ่งก็ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จหรือมีเช็กลิสต์ว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่อยากให้กระบวนการมันครอบคลุมวิธีคิดและการทำธุรกิจของเราทั้งหมด นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงทำของเล่นจากไม้ยางพาราหมดอายุ ใช้สีที่เป็น water-based ไม่มีสารตะกั่ว ใช้กาวที่ไม่มีสาร formaldehyde ที่เป็นสารก่อมะเร็ง เอาเศษไม้ที่ไม่ใช้ไปทำเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดก็เริ่มจากความคิดที่ว่าเราไม่อยากเบียดเบียนตัวเองและพนักงานก่อนนั่นแหละ

อย่างผมต้องเดินเข้าไปในโรงงานประจำ เจอฝุ่นเจอขี้เลื่อยในโรงงานเยอะ เราเลยติดตั้งเครื่องดูดฝุ่น ปรากฏว่าเสียค่าไฟ 40 เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนสูงมาก ไม่ไหว แล้วจะทำยังไง พวกฝุ่นมันเอาไปทำอะไรได้อีกบ้างไหม เราเลยคิดเอามาพัฒนาด้วยการผสมกับสีออร์แกนิก อัดด้วยความร้อนจนออกมาเป็นของเล่น แล้วเราก็เอาไปขาย ใช้ชื่อว่า PlanWood นี่มันก็มาจากความขี้เหนียวของเรา (หัวเราะ) 

ดังนั้นทั้งหมดที่เราทำเพราะอยากจะทำและไม่อยากเจอเรื่องที่ไม่ชอบ เราไม่ได้คิดแปลกกว่าชาวบ้าน เราทำเพราะคิดว่านี่น่าจะดีกับตัวเรา ดีกับพนักงาน ที่ต้องเดินในโรงงานทุกวัน พอถึงวันหนึ่งที่โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน มีคนบอกว่าสิ่งที่เราทำมันได้ประโยชน์กับโลกด้วย เราก็โอเค ถ้าโลกจะเอาไปเราก็ไม่ว่า (หัวเราะ) 

คุณส่งต่อวิธีคิดสองอย่างนี้กับพนักงานยังไงจนทำให้โรงงานของคุณเป็น sustainable manufacturing

หลักๆ เวลาพูดเรื่องงานกับพนักงานผมไม่ค่อยพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม sustain อะไรขนาดนั้น แต่จะพูดถึงเรื่องงานในชีวิตประจำวันที่ต้องทำให้มันดี ปลอดภัย เขาเรียกว่าสุขชีวอนามัยจากตัวเรา ทำยังไงเราถึงจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่ทำอยู่  

แล้วก็เอาสองแนวคิดที่ไม่เอาเปรียบ ไม่เบียดเบียน มาส่งต่อผ่านสองทาง ทางแรกคือทำเป็นระเบียบของบริษัท เราจะมี procedure ในการทำงานของแต่ละตำแหน่ง อย่างเช่นทีมออกแบบจะมีเรื่องการผลิตที่เป็นความปลอดภัยของเด็ก การไม่ใช้วัสดุที่เป็นอันตราย เรื่องของความเป็นธรรม ทางที่สองคือผ่านชีวิตประจำวัน โดยการเป็นแบบอย่างหรือการชักชวนกันทำ เช่น การงดใช้พลาสติก โฟม เราพยายามไม่ใช้ของที่มีปัญหาสำหรับสิ่งแวดล้อม อย่างแต่ก่อนเด็กชอบไปซื้อน้ำขวดมาดื่มกัน PlanToys เลยทำระบบน้ำกรองสะอาดมาบริการพนักงาน ไม่มีขวดมาเติมเราก็ซื้อกระบอกให้คนละอัน กรอกน้ำไปกินที่บ้านได้เลย

แค่นี้เราก็ภูมิใจในสิ่งที่เราทำแล้วนะ เราบอกพนักงานตลอดว่าเวลาทำเรื่องดีๆ ไม่ต้องสนใจหรอกว่าใครจะชื่นชมหรือเปล่า แต่เราต้องชื่นชมตัวเราเอง เราจะได้มีกำลังใจ ไม่ต้องไปโทษคนอื่นว่าไม่ทำ มีแต่เราทำ คือเราอาจจะไม่ได้เป็นบริษัทที่ดีที่สุดในโลก แต่เราพยายามทำเรื่องดีๆ ให้มากเข้าไว้ 

 

ดูคุณให้สวัสดิการกับพนักงานเยอะเหมือนกัน ทำไมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ที่จริงอย่างแรกเลยต้องพูดว่าผมทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อบริษัทก่อน หมายถึงอยากให้บริษัทมันอยู่ได้ อยู่ดี และการที่บริษัทจะอยู่ได้ อยู่ดี เพื่อนร่วมงานก็ต้องอยู่ได้ อยู่ดีด้วย เราทำของเล่นให้เด็กได้พัฒนาและมีความสุข แล้วมันเป็นไปไม่ได้หรอกที่คนอยู่เบื้องหลังมีความทุกข์ ความสุขมันต้องมีตั้งแต่คนทำไปจนถึงคนใช้สิมันถึงจะใช่ เราเองจะได้มีธุรกิจที่ยืนยาวได้

ผมมีตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งเล่าให้ฟัง ช่วงหนึ่งของการทำงานเราสังเกตว่าพนักงานไม่ค่อยมาทำงานกันเท่าไหร่ โดยเฉพาะช่วงเงินเดือนออก ถามไปถามมาก็เลยรู้ว่าเป็นหนี้นอกระบบกันเยอะ ถ้ามาทำงานวันเงินเดือนออกเจ้าหนี้จะมารอกันหน้าโรงงาน มันวุ่นวาย ชีวิตคนไม่มีความสุข ผมเลยบอกว่าถ้างั้นเอามาเข้าระบบกันไหม แล้วตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นมา บริษัทรับหนี้ไว้ทั้งหมด แล้วลงเป็น sinking fund เพื่อให้พนักงานได้กู้เงิน ออมเงินกัน ชีวิตพวกเขาก็ดีขึ้นได้ ลืมตาอ้าปากกันได้ มันก็ส่งผลไปถึงงานของเราด้วย

 

Passion for Betterment – โกสินทร์ วิระพรสวรรค์

คุณเข้ามาช่วยบริหารงานอะไรบ้างใน PlanToys

ผมเป็นคนดูแลภาพรวมทุกอย่างของบริษัท นั่นคือคุณวิฑูรย์ให้นโยบายของบริษัท แล้วผมดูแลภาพรวมต่อ ซึ่งการบริหารงานจะแบ่งออกเป็นหลายส่วนคือ ส่วนงานในออฟฟิศของกรุงเทพฯ ซึ่งจะมี sales and marketing, admin support, product development อีกส่วนเป็นส่วนงานการผลิตอยู่ที่จังหวัดตรัง ซึ่งงานในโรงงานจะมีไดเรกเตอร์ประจำโรงงานคอยดูแลและช่วยผมอยู่ เพราะงานโรงงานมีดีเทลเยอะมาก และส่วนสุดท้ายคือผมดูแลบริษัทลูกของ PlanToys ที่อเมริกาด้วย เพราะเราส่งออกต่างประเทศ เลยไปจัดตั้งบริษัทที่อเมริกาเอง ส่วนที่อื่นๆ อย่างญี่ปุ่น เบลเยียม เราเป็น joint venture คือร่วมหุ้นกับคนโลคอลเพื่อตั้งบริษัทที่นั่น

 

ในเมื่อสำนักงานของ PlanToys กระจายอยู่หลายที่มาก คุณมีวิธีดูแลยังไงให้พวกเขาทำงานโดยมีเป้าหมายและนโยบายของบริษัทร่วมกันได้

ต้องบอกก่อนว่าก่อนกลับมารับตำแหน่งที่นี่ผมเป็น president ของบริษัทลูกที่อเมริกามาก่อน ทำให้ผมรู้ว่าการทำงานของคนในแต่ละที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้แต่วัฒนธรรมการทำงานในกรุงเทพฯ และตรังยังต่างกันเลย ต้องยอมรับว่าทำให้การจัดการค่อนข้างยากเหมือนกัน

สไตล์การทำงานของผมจะไม่ใช่การสั่งงานแบบ top to down ในทุกอย่าง ดังนั้นผมจะตั้งเป้าหมายการทำงานเป็นแกนหลักๆ ให้คนของบริษัทไว้ อย่างเช่นเราอยากเป็นบริษัทที่มีความชำนาญในงานที่ทำและผลิตโปรดักต์ได้อย่างมีคุณภาพ นำออกสู่ตลาดได้ไม่ขาดทุน สิ่งต่างๆ เหล่านี้แต่ละกลุ่มงานก็จะต้องเอานโยบายไปปรับใช้กับงานของตัวเอง เช่น เราตั้งเป้ากันว่าปีหน้าจะเพิ่มผลผลิตให้ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ละหน่วยงานก็ต้องกลับไปทำการบ้านมาว่าจะเพิ่มยังไง 

เป้าหมายการทำงานอีกอย่างของเราคือ passion for betterment ทุกวันที่เรามาทำงานมันจะต้องมีอะไรที่ดีขึ้น เราจะไม่บอกว่าดีไซน์นี้ดีที่สุดแล้ว การผลิตแบบนี้ดีที่สุดแล้ว ถ้าคิดว่าทุกอย่างดีที่สุดคุณก็จะไม่มีการเติบโตในอนาคต เพราะฉะนั้นผมจะบอกนโยบายที่ใกล้เคียงกันให้กับแต่ละส่วนไปเลย ให้เขาเอาไปตีโจทย์ทำงานกัน 

ผมค่อนข้างเชื่อในการทำงานโดยให้เพียงนโยบายเพราะสิ่งที่เขาคิดและตีโจทย์มาเป็นสิ่งที่เขาอยากทำ แล้วมันจะช่วยขับเคลื่อนให้เขาตื่นเต้นที่จะทำงานมากขึ้นด้วย เพราะผมต้องยอมรับว่าพนักงานหลายคนฉลาดกว่าผม ในเมื่อเราไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นเราก็อยากให้เขาคิดมา challenge เขา ปล่อยเวทีให้เขาได้ลองของดีกว่า 

 

การทำงานแบบ challenge ความสามารถของพนักงานเป็นแนวคิดหลักในการบริหารของคุณเลยหรือเปล่า

ใช่ครับ ผมชอบ challenge คนให้ทำงาน จริงๆ คุณวิฑูรย์สอนผมเรื่องนี้ ผมจะมีกฎอยู่หนึ่งข้อเลยคือ ถ้าทุกคนเข้ามาถามอะไรผม คุณต้องเข้ามากับ solution เพราะคุณเก่งกว่าผม คุณเก่งเรื่องดีไซน์ เก่งเรื่องการตลาด คุณก็คิดมาหลายๆ ทางเลือก แล้วเอามาดิสคัสกัน ผมพยายามสร้างการทำงานแบบนี้เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมมากขึ้น 

บริษัทเราดำเนินการมานานเกือบ 40 ปีแล้ว มันก็เคยมีช่วงหนึ่งที่เวลาคิดงานหรือสั่งการอะไรทุกคนจะบอกว่าไม่ได้หรอก เพราะเคยทำมาแล้วมันไม่เวิร์ก มันยาก ดีไซน์แบบนี้มาทำไม่ได้หรอก ผมเลยเปลี่ยนใหม่ เรามาลองพูดว่า ‘ได้ ถ้าเราทำสิ่งนี้เพิ่ม’ หมายความว่ามันเป็นไปได้ถ้ามี solution ในการแก้ปัญหา เช่น งานนี้ทำได้นะถ้าพี่เพิ่มให้หนึ่งคน หรือพี่ไป outsource อันนี้ให้ผมหน่อย เราทำได้ถ้าไปเปิดโรงงานใหม่อีกโรงงานเลย ต้นทุนลดแน่นอน ซึ่งมันจะทำได้จริงหรือไม่ได้เราไม่รู้ แต่อย่างน้อยเขาได้คิดเพิ่มมากขึ้น 

ผมจริงจังมากจนเคยมีช่วงที่จะปรับเงินด้วยถ้าใครพูดคำว่า ไม่ (หัวเราะ) แต่ผมก็เข้าใจ เพราะถามว่ามันจะเปลี่ยนได้วันนี้เลยหรือเปล่า มันก็คงจะเปลี่ยนไม่ได้หรอก แต่ก็เป็นสิ่งที่ทาง HR และผมอยากผลักดันให้เกิดขึ้นในวัฒนธรรมองค์กรเรา

 

พูดถึงการดำเนินธุรกิจของ PlanToys ก่อตั้งมานานกว่า 40 ปีแล้วมีการปรับแผนการทำงานบ่อยไหม

มีเปลี่ยนครับ เพราะต้องยอมรับก่อนว่าเราเป็นบริษัทที่เอาคุณภาพผลิตภัณฑ์นำ เราให้ความสำคัญกับ product development ในยุคหนึ่งเรามั่นใจว่าดีไซน์และเทคนิคการผลิตของเราทำให้ขายของได้แน่นอน เมื่อขายได้ก็ไม่รู้จะไปทำการตลาดทำไม แต่ปัจจุบันเรารู้ว่า sales and marketing เราไม่ค่อยเก่ง ก็อยากให้ความสำคัญมากขึ้น

ช่วง 2 ปีมานี้เราพยายามให้ทุกคนทำงานร่วมกัน เมื่อก่อนการทำงานแยกส่วนค่อนข้างชัดเจน ตลาดก็ทำงานตลาด ดีไซเนอร์ก็ทำงานดีไซน์ เราก็พยายามจับเขามาทำงานร่วมกันแบ่งทีมทำงาน ซึ่งก็พบว่ามันไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่เราอยากให้เป็น มันไม่ได้ put the right man on the right job ผมว่าก็โอเค ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราลองกันใหม่ 

เพราะการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบนี้ผมออกตัวก่อนเลยว่าไม่รู้จะเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ผมรู้อย่างเดียวว่าเราต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะไม่มีอะไรใหม่ๆ เข้ามา แต่ผมว่าลองทำไปก่อน ถ้าไม่เวิร์กก็กลับมาคุยกัน ดังนั้นตอนนี้เราเลยอยู่ในขั้นตอนของการคิดแผนการทำงานแบบใหม่อยู่ว่า จะเอาทีมงานทั้งหมดกลับมาทำงานร่วมกันโดยที่ทุกคนสามารถเพอร์ฟอร์มฟังก์ชั่นของตัวเองได้ยังไง  

ผมก็บอกน้องคนใหม่เลยว่าไม่ต้องคิดนะว่ามันจะสำเร็จหรือไม่ ให้ทำใจไว้ก่อนว่ามันไม่เวิร์ก แต่ไม่เวิร์กไม่เป็นไร ลองก่อน ตอนนี้อย่าคิดมาก คิดอะไรได้ก็ลอง ตอนนี้เลยอยู่ในช่วงของการปรับตัวอยู่เหมือนกันว่าแบบไหนจะดีที่สุด 

ดูเหมือนคุณจะมีพื้นที่ให้พนักงานได้ลองผิดลองถูกเยอะอยู่เหมือนกัน

เยอะมากครับ (ตอบทันที) ผมอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้ เพราะตอนบริหารที่อเมริกาผมก็ลองผิดลองถูก ตลาดอเมริกาใหม่มาก แต่ผมค้นพบว่าการได้ลองผิดลองถูกทำให้เกิดการเรียนรู้จริงๆ ผมเลยอยากให้ทุกคนได้มีพื้นที่ตรงนี้

 

อย่างแนวคิด passion for betterment ที่คุณขับเคลื่อนในบริษัท คุณมีแนวทางที่จะทำให้พนักงานรู้สึกมีแพสชั่นในการทำงานได้ยังไง

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมให้ทางผู้จัดการเข้าไปช่วยกันขับเคลื่อน เมื่อก่อนบริษัทจะมีตำแหน่งไดเรกเตอร์ทุกแผนก แล้วก็มีผู้ช่วยฯ มีตำแหน่งเยอะมาก ถ้าใครออกไปผมก็บอกว่าไม่ขอรับตำแหน่งเหล่านี้แล้วเพราะผมอยากดันคนระดับผู้จัดการเป็น middle management ให้เขาทำงานมากขึ้น ให้เขามีภาระความรับผิดชอบที่สูงขึ้น แล้วลดเลเยอร์ของระดับตำแหน่งลง เพื่อให้การเข้าถึงกันง่ายขึ้น 

พอสามารถใกล้ชิดคนทุกระดับได้เราก็เข้าไปขับเคลื่อนและให้แนวทางได้ง่ายขึ้นในรูปแบบ human to human เข้าไปคุย เข้าไปสื่อสารกับเขา อย่างตอนทำงานถ้าไม่มีประชุมผมเปิดประตูห้องทำงานตลอดเวลา ใครจะมาคุยเข้ามาได้ตลอดเวลาเลย แล้วผมบอกทุกคนด้วยว่าเข้ามาได้ ไม่ต้องรอเลย อยากคุยอะไรเข้ามาคุยได้เลย

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราเปลี่ยนออฟฟิศจากเดิมเป็นห้องๆ เหลือห้องผมกับห้อง HR เท่านั้น ทุกคนทำงานรวมกัน ผมอยากสร้างพื้นที่การทำงานส่วนกลาง ทำงานร่วมกันมากขึ้น ผมพยายามเอาซอฟต์สกิลเข้าไปพูดคุยกับพนักงาน อย่างช่วงหนึ่งเราพยายามจะเร่งงาน Forest of Play ให้เสร็จ ทุกคนก็บ่นว่าเหนื่อย ผมเลยบอกว่าเอางี้ ไปกินข้าวเที่ยงกัน ไปกินส้มตำ (หัวเราะ)

ผมว่าการดูแลกันแบบนี้ช่วยให้กำลังใจพนักงานในการทำงานได้ เราตั้งเป้าหมายว่าจะเป็น happy organization คนมาทำงานก็แฮปปี้ ครอบครัวที่อยู่ที่บ้านก็แฮปปี้ที่พ่อแม่ลูกหลานมาทำงานที่นี่ เราก็จัดสวัสดิการให้พวกเขา ดูแลกัน ทำงานกันเป็นครอบครัว 


ผู้มีส่วนร่วมสร้างความสุขให้กับเด็ก

People

ประเวศน์ หงษ์ทอง อายุงาน 16 ปี

ตำแหน่ง ผู้จัดการแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์

“ผมทำงานในทีมดีไซเนอร์ หน้าที่หลักๆ คือรับโจทย์มาจากทางมาร์เก็ตติ้งแล้วมารีเสิร์ช หาแรงบันดาลใจว่าโจทย์นี้จะเอามาทำเป็นของเล่นได้ยังไง แล้วก็มาทำมู้ดบอร์ด มู้ดแอนด์โทน มาเบรนสตรอมกันในทีมจนออกมาเป็นไอเดีย คอนเซปต์ เสร็จแล้วก็ทำเป็นสเกตช์ แล้วเอาไปพัฒนากับหลายฝ่ายจนมันเป็นโปรดักต์สุดท้าย ก็ทำแบบส่งไปที่โรงงาน

“แนวคิดหลักๆ ในการทำงานของเราเป็นปรัชญามาตั้งแต่คุณวิฑูรย์ก่อตั้งบริษัท ทีมดีไซเนอร์จะมีดีเอ็นเอของการออกแบบ คือเรื่องของเด็กและ sustainable เป็นตัวตั้ง ใช้วัสดุที่ปลอดภัยและที่สำคัญคือพยายามให้เหลือขยะน้อยที่สุด

“ทีมเราได้รับการดูแลจากทั้งพี่วิฑูรย์และ MD อย่างใกล้ชิดเพราะเป็นต้นทางด้วย อย่างพี่วิฑูรย์จะลงมาดูเรื่องแบบเองตั้งแต่เริ่มต้นเลย แล้วช่วยคอมเมนต์งาน ช่วยดูแนวทางที่มันจะเป็นไป ทำให้ผมได้เรียนรู้งานและเอามาปรับใช้เยอะมากโดยเฉพาะตอนนี้ที่ผมเป็นผู้จัดการแล้ว ส่วนใหญ่ถ้าจะทำอะไรเราจะเริ่มทำก่อนเพื่อเป็นแบบอย่างให้น้องๆ ซึ่งอันนี้เป็นวัฒนธรรมองค์กรเราอยู่แล้ว มันเริ่มมาจากพี่วิฑูรย์ที่เขาชอบทำให้เราเห็นเป็นตัวอย่างมาตลอด

“ส่วนรูปแบบการทำงานในบริษัทนี้เราค่อนข้างเปลี่ยนแปลงกันอยู่ตลอด สมมติถ้าทำไปแล้ววิธีการนี้ใช้ไม่ได้ก็เปลี่ยนมาใช้วิธีอื่น ผมมองว่าเป็นเรื่องดีนะ เพราะบางครั้งการทำงานอะไรที่ซ้ำเดิมหรือสร้างคอมฟอร์ตโซนให้กับพนักงานมันก็จะทำให้เรารู้สึกว่าไม่อยากพัฒนา ไม่อยากเปลี่ยนแปลง เราคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่มันดีอยู่แล้ว ทั้งที่จริงๆ โลกเปลี่ยนตลอด แล้วผมว่าพวกเราไม่กลัวความล้มเหลวด้วย เพียงแต่ถ้ามันล้มเหลวก็ควรจะเป็นประสบการณ์ แล้วเอามาต่อยอดว่าครั้งต่อไปจะไม่ล้มเหลวในเรื่องเดิมๆ

“พอทำงานมาได้ 16 ปี ตั้งแต่เป็นพนักงานตัวเล็กๆ เป็นดีไซเนอร์ จนปัจจุบันได้เป็นผู้จัดการที่ดูแลเกี่ยวกับงานออกแบบ ผมก็ถามตัวเองตลอดเวลานะว่ายังชอบงานนี้ไหม ซึ่งค้นพบว่าเรารู้สึกกระหายที่จะทำตลอด งานนี้มันสนุกตรงที่ไม่ได้ออกแบบซ้ำกันไปเรื่อยๆ ถึงคุณจะทำของเล่นมา 16 ปีแต่ก็ต้องออกแบบมันไปตามยุคสมัย ทำให้ผมไม่เบื่อที่จะมาทำงานในแต่ละวันเลย”  

ธัญธนัตต์ สุ่มประดิษฐ์ อายุงาน 37 ปี

ตำแหน่ง หัวหน้าแผนกหน่วยงานประกอบใหญ่

“ผมเข้ามาทำงานที่นี่ตอนปี 2525 ตอนนั้นโรงงานอยู่ลาดพร้าว ทำได้ 2 เดือนโรงงานก็ย้ายไปสำโรง โรงงานเริ่มขยายตัวเรื่อยๆ ย้ายไปตั้งที่บางพลีอีก แล้วครั้งสุดท้ายจะย้ายไปตรังพี่วิฑูรย์แกก็จูงใจว่าลองมาอยู่ภาคใต้ไหม มาลองดูสิ แกจะปลูกบ้านให้อยู่ เป็นบ้านสวัสดิการของโรงงาน แกก็ชวนมาเที่ยวมาดูบ้านด้วย มารู้จักคนที่นี่

“คิดดูก่อนที่จะลงมาตรังนอนที่บ้านเอามือก่ายหน้าผากเลย จะมาหรือไม่มาดี เราไม่ได้เป็นคนพื้นที่ เราจะอยู่ยากหรือเปล่า แต่ก็คุยกับพี่วิฑูรย์ว่าจะลองดู ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ลาออกแล้วรับเงินชดเชย 4 เดือนไป เราก็คิดว่าไม่เสียหายเพราะถ้าอยู่ไม่ได้ก็เอาเงินไปตั้งตัวได้อยู่

“แต่อยู่ที่นี่มาได้ 37  ปีก็ไม่ใช่เล่นๆ แล้วแหละ ไม่ใช่ว่าทนอยู่นะ เราอยู่เพราะเห็นการพัฒนาอะไรเรื่อยๆ เมื่อก่อนเราเป็นแค่พนักงาน ทำทุกหน้าที่ พอเริ่มเป็นหัวหน้างาน เริ่มมีลูกน้อง มีทีมงาน มีเครื่องจักร เริ่มต้องสอนงานคนอื่น จนมาเป็นหัวหน้าแผนกประกอบใหญ่ เรารู้ว่าที่นี่จะพัฒนาไปต่อได้อีก แล้วเราก็ได้เรียนรู้การทำงานที่นี่เยอะ พี่วิฑูรย์จะส่งคนงานระดับหัวหน้าไปอบรมทุกปี

“หรืออย่างพาไปดูงานที่ Hong Kong Toys & Games Fair ก็ไป พาไปเปิดหูเปิดตา ไปดูของเล่นที่เขาไปจัดบูท เหมือนแกปล่อยให้เราไปเดินดูนะ พอเสร็จแล้วกลับมาแกจะมาหลอกถามว่าได้อะไรกลับมาบ้าง จนตอนหลังรู้แล้วว่าไปทีไรต้องเอากระดาษไปจดด้วย (หัวเราะ) พี่วิฑูรย์อยากรู้แหละว่าเวลาเราไปเราได้ไอเดียอะไรกลับมาบ้าง เขามีความก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว เรายังตามหลังเขาไหม หรือว่าเรายังเสมอตัวเขาอยู่ มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้ไปด้วยนะ

“นอกจากเรื่องที่ได้เรียนรู้แล้วที่นี่ดูแลพนักงานดีจริงๆ ยอมรับเลย ตั้งตัวกันได้ก็เพราะที่นี่แหละ มีครั้งหนึ่งตอนที่ได้มาตรฐาน ISO กันใหม่ๆ บริษัทบอกว่าจะให้โบนัส เราก็คิดว่าอย่างเก่งก็คงเดือนสองเดือน ยังพูดเล่นๆ ว่าถ้าได้เยอะจะนั่งเครื่องบินกลับบ้านที่กรุงเทพฯ เราก็ไม่คิดว่าโรงงานจะใจถึงจ่ายโบนัสถึง 5 เดือน สุดท้ายก็ได้ขึ้นเครื่องกลับบ้าน

“แต่ถ้าพูดกันจริงๆ อยู่มานานขนาดนี้ก็เคยขยับตัวจะลาออกทีหนึ่งเพราะมีปัญหากับผู้จัดการ ก็ไปบอกพี่วิฑูรย์ว่าจะขอลาออกนะ มันอิ่มตัวแล้ว มันเหนื่อยกับคน ไม่เหนื่อยงานหรอก แกก็ถามว่ามีปัญหาอะไร อย่าเพิ่งไปเลย อยู่ช่วยกันก่อน วันหนึ่งเรานั่งทำงานอยู่แกเดินมาหาเรา มาจับไหล่แล้วถามว่า ‘เป็นไงบ้าง งานเยอะไหม’ แกรู้ว่าลูกน้องเก็บกด เครียด เลยมาคุยมาเกลี้ยกล่อม ถามเราว่าย้ายแผนกไหม ย้ายไปอยู่สาทรไหม เราก็บอกว่าไม่ย้าย เราอยู่ประกอบมานาน อยู่สอนงานลูกน้องดีกว่า เราก็อยู่มาจนถึงตอนนี้”

อำไพ คำอู๊ด อายุงาน 37 ปี

หัวหน้าแผนกงานสีและพิมพ์

“เรามาเริ่มทำงานที่นี่ตั้งแต่โรงงานอยู่ลาดพร้าวแล้ว ทีนี้ก็ย้ายตามมาเรื่อยๆ จนมาอยู่ที่ตรัง แต่ก่อนก็ทำหน้าที่ทุกอย่าง พอโรงงานขยายเขาก็บอกว่าให้โตได้แล้ว มาเป็นหัวหน้าดูแลคน (หัวเราะ) เราเลยได้เป็นหัวหน้าแผนกงานสีและพิมพ์ ก็ดูแลเรื่องสีทั้งหมด

“ส่วนมากที่นี่จะทำงานกันแบบเน้นคุณภาพเพราะเราขายคุณภาพกันเนอะ เวลาแผนกเราทำงานแต่ละครั้งต้องคัดเลือกงานกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็จัดให้มีคนช่วยกันคัดกรอง ถ้ามีไม้ตรงไหนเสียก็คัดออก ทำเสร็จปุ๊บก็ช่วยกันตรวจ เอาของเสียออก ไม่เคยมีงานไหนที่ปล่อยให้ของเสียออกไปเลย ไม่ว่าจะรีบแค่ไหนก็ตาม

“แล้วเราต้องดูงานด้วยว่าเป็นของเด็กช่วงวัยไหน บางทีงานมันเป็นงานเด็กอ่อน เราก็ดูว่าตรงไหนสำคัญ อย่างเช่นไม้มีเสี้ยนเราก็ต้องเอาออก พวกที่มันเป็นมุมๆ ทั้งหลายก็ต้องละเอียดกับงานเพิ่มอีก ต้องใช้ความประณีตมากขึ้น

“ทำงานมันก็ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เราเป็นคนคอยรับงานจากแผนกอื่น คอยดูว่างานชิ้นไหนผ่านหรือไม่ ถ้าชิ้นไหนไม่ผ่านเราก็จะตีกลับตรงนั้นเลย เช่น ให้ไปขัดใหม่ ไปลบมุม มุมมันไม่ได้ ถ้ามีฝุ่นติดมาเราก็ให้ไปเอาออก ไม่ให้เข้าแผนก บางทีเราก็ต้องคิวซีเอง เพราะไม่งั้นถ้าลงสีไปแล้วมันก็เท่ากับเสียไป เราเอาของออกไปขายโดยไม่มีคุณภาพไม่ได้หรอก มันกระทบกับคนซื้ออยู่ดี

“ทำงานเรื่องสีมา 30 ปีเราก็ไม่เบื่อที่จะทำนะ ถ้าเบื่อมันจะเป็นปัญหาว่าเดี๋ยวทำงานไม่ทัน หรือถ้ามีงานรูปแบบใหม่ๆ มาเราไม่กลัวหรอก คือเราคอยเรียนรู้และระวังมันอยู่ตลอดเวลา ครั้งแรกมันอาจมีพลาดๆ บ้าง แต่ครั้งต่อไปเราจะระวังมากขึ้น เออ ตรงนี้ยังทำแบบนี้ไม่ได้นะ มันก็กลายเป็นได้เรียนรู้เรื่องใหม่ไปอีก

“แต่ก็เคยจะขอลาออกนะ ตอนนั้นจะกลับไปดูแลแม่ เดินไปบอกพี่วิฑูรย์ว่าจะลาออกนะ แกถามว่าเงินเดือนเท่าไหร่แล้ว เราตอบว่าขนหน้าแข้งพี่ไม่ร่วงหรอก (หัวเราะ) แกเลยถามว่าลูกเรียนจบหรือยัง อยู่ต่อไปก่อน ช่วยกันไปก่อน ไม่รู้รั้งไว้ทำไม (หัวเราะ) เลยบอกว่าขออยู่อีก 2 ปีละกัน แต่นี่ก็เกินแล้วยังไม่ออกเลย (หัวเราะ)

“แต่ปีหน้าก็จะเกษียณแล้ว นี่เกษียณก่อนพี่วิฑูรย์อีก แกยังไม่ยอมเกษียณ ยังทำงานอยู่เลย ถ้าให้พูดถึงแกเราว่าแกเป็นผู้ใหญ่ที่มีความอดทนและมีความมานะสูง อายุขนาดนี้แล้วแต่สมองแกไม่เคยอยู่นิ่งไง แกชอบทำโน่นทำนี่ สมองแกคิดจะทำหลายอย่าง แกดูแลพนักงานดี เพราะถ้าแกปล่อยมือก็กลัวว่าถ้าโรงงานเป็นอะไรไปมันไม่ใช่แค่แกคนเดียว กี่ครอบครัวล่ะ แกคิดไปไกลถึงคนที่อยู่ทางบ้าน ไม่ใช่แค่คนที่ทำงานอย่างเดียว แกมองไปถึงครอบครัวของคนที่เดือดร้อน แกก็เลยยังทำอยู่ตรงนี้” 

สามารถ โต๊ะดำ อายุงาน 27 ปี

เจ้าหน้าที่ส่งงาน

“ผมเริ่มมาทำงานที่นี่ตอน PlanToys ย้ายมาที่ตรังใหม่ๆ พี่วิฑูรย์ชอบไปนั่งกินกาแฟที่ตลาด แกเห็นผมเลยบอกว่า ‘บัง ไปทำงานที่ PlanToys นะ’ เช้าวันต่อมา 6 มกราคม 2535 ผมเลยไปสมัคร ก็ได้ทำงานเป็นคนแบกไม้ขึ้นรถ แล้วก็ส่งงาน

“ตอนนั้นตัดสินใจมาทำเพราะมีลูกแล้ว ชีวิตก็ลำบาก สมัยนั้นค่าแรงวันละ 102 บาทก็ดีใจแล้ว พอมีพอใช้ จนปี 2548 มีช่วงหนึ่งผมมีปัญหาเรื่องสุขภาพ หูมีปัญหา เลยไปบอกพี่วิฑูรย์แกก็ให้ผมย้ายจากผลิต 1 ที่เป็นแผนกเสียงดังมาอยู่ประกอบใหญ่

“ตอนนั้นผมบอกพี่วิฑูรย์เลยว่า ผมจะอยู่ทำงานจนปลดเกษียณ ไม่ไปไหน ผมจะทำงานให้ที่นี่เพราะที่นี่ดูแลผมมา พี่วิฑูรย์ก็ช่วยเหลือผม ให้คำปรึกษามาโดยตลอด ผมได้ทำงานจนผมส่งลูกเรียนจบ ลูกผมได้มาทำงานที่นี่ต่ออีก ผมเลยสัญญาไว้

“พอย้ายมาที่ประกอบใหญ่ผมก็ทำงานทุกอย่างเลย ใครให้ช่วยอะไรผมไปช่วยหมด ไม่เคยบ่น เราทำได้เราก็ช่วยเขา ไม่ยึดติดว่าทำตรงนี้ได้แล้วจะไม่ทำตรงอื่น ไม่ได้ งานบริษัทนี้เราต้องช่วยกัน บริษัทช่วยเราเราก็ต้องช่วยบริษัท ไม่ว่าแผนกไหน เขาใช้ให้ไปแผนกนั้น ทำอันนี้ๆ ผมไม่เคยปฏิเสธเลย ขับรถ ขัดบ้านของเล่นหลังใหญ่ เขียนบันทึกสมุดส่งรายงานตอนเช้า ผมทำทุกวัน

“ผมจะปลดเกษียณวันที่ 28 ธันวาคมปีนี้แล้ว ทำงานมา 27 ปี ผมภูมิใจมากนะ ดีใจที่ทำงานกับพี่วิฑูรย์ แกเป็นคนดี เราประทับใจ เคยมีครั้งหนึ่งที่ผมกำลังขัดบ้านแวนเดอร์อยู่ ลูกค้าฝรั่งเดินมาบอกว่าเยี่ยมๆ ผมก็พูดด้วยไม่รู้เรื่องหรอก แล้วพี่วิฑูรย์ก็บอกว่า บัง คุณทำงานสม่ำเสมอนะ’ ผมรู้สึกประทับใจมาก เหนื่อยๆ อยู่ก็หายเหนื่อยหมดเลยเพราะเราทำให้มันดี แล้วเราเลือกทำดีมาตลอด เรารู้ว่าถ้าทำงานไม่ดีเวลาส่งงานไปลูกค้าจะเคลมแล้วบอกว่าของไม่ดี คุณทำมายังไง ดังนั้นเราต้องคิดไปก่อนว่าต้องทำให้ดี เราต้องมี QA (quality assurance in laboratory) อยู่ในตัวแล้ว เราต้องรู้มาตรฐานของงานและทำมันออกมาให้ดี” 


ผลงานความสุขที่อยากส่งต่อให้กับเด็กๆ

Product

ทุกปี PlanToys จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้เด็กๆ ได้สนุกและเสริมสร้างพัฒนาการผ่านการเล่น โดยผลิตภัณฑ์ของที่นี่จะแบ่งออกเป็นหมวดต่างๆ เช่น Water Play, Babies, Push & Pull, Active Play, Learning & Education, Games & Puzzle, Music, Pretend Play

ส่วนครั้งนี้เราอยากคัดเลือกของเล่นที่ทำให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบของ PlanToys เพราะนอกจากความสนุกแล้วยังแฝงไปด้วยแนวคิดที่ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ไปพร้อมกันด้วย

Dancing Alligator

วิธีเล่นจระเข้ตัวนี้น่าจะถูกใจเด็กหลายคน เพราะเมื่อเริ่มลากให้มันเดินแล้วจะได้ยินเสียงคลิกแคล็กดังขึ้นตลอดเวลา นอกจากมีเสียง ชื่อเสียงของจระเข้ตัวนี้ก็โด่งดังไม่แพ้กัน จนกลายมาเป็นสินค้าไอคอนิกของ PlanToys ทันที Dancing Alligator เกิดจากไอเดียของโมเดลเมคเกอร์ที่เห็นว่ามีชิ้นไม้เหลือใช้อยู่ในการผลิต เลยลองหยิบขึ้นมาทำเป็นเจ้าจระเข้สีเขียวให้เด็กๆ ได้สนุกกัน  

Green Dollhouse with Furniture

คอลเลกชั่น Dollhouse มีออกมาหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบร่วมสมัยหรือวิกตอเรียน แต่บ้านที่ PlanToys ออกแบบด้วยความตั้งใจอยากพูดถึงเรื่อง sustainable mind มากที่สุดน่าจะเป็น Green Dollhouse ที่มีฟังก์ชั่นความอีโค่ครบ ทั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา พื้นที่สีเขียว กังหันลม มุมแยกขยะ ให้เด็กๆ สนุกไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย

Wonky Fruit & Vegetables

ผลไม้และผักรูปร่างแปลกตานี้คือของเล่นที่ได้ไอเดียมาจากการเห็นพืชผักรูปร่างไม่สวยที่มักโดนคัดออกจากแผงในตลาด ทั้งๆ ที่ข้างในยังไม่เน่าเสีย เพื่อให้ความรู้เด็กๆ ว่าแม้รูปร่างข้างนอกไม่สวย แต่ก็ยังทานได้เหมือนเดิมนะ ของเล่นเซตนี้จึงมีมีด (ที่ไม่แหลมคม) ให้เด็กๆ ได้ลองหั่นดู แอบบอกว่าตอนหั่นลองฟังเสียงด้วยแล้วจะรู้ว่าเหมือนกำลังหั่นผักจริงๆ เลยล่ะ


พื้นที่ผลิตของเล่นที่เป็นมิตรกับทุกคน

Space

ระยะเวลาเกือบ 4 ทศวรรษของการผลิตของเล่น PlanToys ส่งออกสินค้าไปกว่า 65 ประเทศ ทำให้บริษัทมีสำนักงานอยู่หลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ญี่ปุ่น โดยมีกรุงเทพฯ เป็นเฮดออฟฟิศในการออกแบบของเล่นให้กับเด็กๆ 

แม้ว่าจะส่งออกความสนุกให้กับเด็กทั่วโลก แต่แหล่งผลิตของ PlanToys ตั้งอยู่ที่เดียวคือจังหวัดตรัง ที่นี่เป็นโรงงานผลิตของเล่นที่เริ่มตั้งแต่กระบวนการแปรรูปไม้จนบรรจุลงกล่อง แต่ละอาคารแบ่งส่วนงานชัดเจน และยังมีพื้นที่พักผ่อนเล็กๆ เพื่อให้พนักงานกว่า 600 ชีวิตได้ทำกิจกรรมอื่นๆ ในช่วงพักด้วย

อาคารเก็บไม้ เป็นโกดังเก็บไม้ยางพาราที่ผ่านการแปรรูปมาเป็นไม้ solid ไม้อัดแบบ plywood ไม้วีเนียร์ ไม้อัดโค้ง แต่เนื่องจากที่นี่ไม่ได้อัดน้ำยากันมอดจึงไม่มีการสต็อกไม้เก็บไว้ แต่จะทำตามจำนวนที่ทีมออกแบบคำนวณจำนวนไม้ที่จะใช้ผลิต และเมื่อมีแผนงานผลิตสินค้าชิ้นใดเจ้าหน้าที่ส่งงานจะนำรถมารับไม้เหล่านี้ไปส่งให้กับแผนกที่จะแปรรูปไม้ให้เป็นรูปร่างต่างๆ ด้วยการไส ขัด ตัด เจาะไม้ต่อไป

อาคารแปรรูปและขึ้นรูป เป็นพื้นที่ทำงานขั้นตอนแรกของการผลิต คือการนำไม้ท่อนยาวหรือแผ่นใหญ่มาตัดแบ่งให้ได้ตามขนาดที่จะเข้าเครื่องเพื่อไส ตัด ขัด และเจาะตามผลิตภัณฑ์ในแผนงาน ที่นี่ใช้เครื่องจักรเป็นตัวช่วยหลักเพื่อให้ได้ไม้ตามรูปร่างที่ต้องการ รวมทั้งยังมีเครื่องมือที่เรียกว่า ‘จิ๊ก’ ซึ่งจะช่วยให้พนักงานไม่ต้องสัมผัสกับเครื่องจักรโดยตรงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และสิ่งสำคัญอีกอย่างในอาคารนี้คือเครื่องดูดฝุ่นที่ติดอยู่ทุกโต๊ะทำงาน เพื่อดูดขี้เลื่อยจากการแปรรูปไม้ไม่ให้รบกวนการทำงานของพนักงานทุกคน 

อาคารประกอบ ตกแต่ง และทำสี อาคารนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นพื้นที่แผนกประกอบของเล่น โดยนำไม้ที่ผ่านการไส ขัด ตัด เจาะ หรือลงสีแล้ว มาขึ้นรูปประกอบที่แผนกนี้ ไม่ว่าจะตุ๊กตาชิ้นเล็กๆ ไปจนถึงบ้านหลังใหญ่ก็ผ่านมือของพนักงานฝ่ายนี้ทั้งนั้น 

ส่วนที่สองคือแผนกสี ที่มีการลงสีของเล่นไม้หลายเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นการย้อม การพ่น การพิมพ์ โดยเน้นใช้สีที่ปลอดสารตะกั่ว ไม่ใช้ทินเนอร์ และเน้นใช้สีและการเคลือบแล็กเกอร์แบบ water-based เป็นหลัก

ส่วนที่สามเป็นพื้นที่ของ PlanWood นวัตกรรมของ PlanToys ที่นำขี้เลื่อยไม้ซึ่งได้จากการดูดฝุ่นในโรงงานมาผสมสีออร์แกนิก อัดด้วยความร้อนตามโมเดลต่างๆ จนออกมาเป็นของเล่นที่มีสีสวยงามกว่าเดิม

ด้านหลังของอาคารประกอบและทำสี ยังมีเตาเผาไม้ไร้ควันซึ่ง PlanToys นำไม้ที่เหลือใช้หรือของเล่นที่ทำแล้วไม่ได้มาตรฐานจากการผลิตมาเผาเพื่อเป็นพลังงานความร้อนส่งต่อไปทำ PlanWood เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าอีกด้วย

ห้องตรวจคุณภาพสินค้า เนื่องจากของเล่นเป็นสินค้าสำหรับเด็ก แต่เด็กยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ กฎหมายจึงเข้ามาช่วยคุ้มครองความปลอดภัย ด้วยเหตุนี้เองทีม QA จึงต้องนำสินค้าที่ได้รับการออกแบบทุกชิ้นมาตรวจสอบตามมาตรฐานในแต่ละประเทศอย่างเคร่งครัดก่อนออกไปสู่มือเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็น drop test ทดสอบการตกในระดับความสูงของตัวเด็กแต่ละวัย การทดสอบสารตะกั่ว การทดสอบขนาดของเล่นที่จะไม่เป็นอันตรายหากเด็กกลืน ฯลฯ

อาคารบรรจุและขนสินค้า เป็นพื้นที่ของการนำสินค้าที่ผ่านกระบวนการผลิตมาบรรจุลงกล่อง โดยของทุกชิ้นจะผ่านมือก่อนไปสู่ผู้บริโภคเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพ กล่องที่ใช้บรรจุเป็นกล่องกระดาษรีไซเคิลพร้อมบอกจำนวน carbon footprint ในกระบวนการผลิตของเล่นแต่ละชิ้น เพื่อเป็นหมุดหมายของ PlanToys ที่จะลดการปล่อยมลพิษสู่โลกในปีต่อๆ ไป

อาคารพิพิธภัณฑ์ เดินออกมาจากส่วนของการผลิตจะมีอาคารแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวมของเล่นหลากหลายรูปแบบ เพื่อต้อนรับเด็กๆ จากทุกที่ที่มาเรียนรู้และเล่นกันอย่างสนุกสนาน ชั้นล่างของอาคารยังมีร้านค้าของเล่นให้ได้เลือกซื้อสินค้าของ PlanToys กลับไปเล่นที่บ้านด้วย


ช่วงเวลาในการเติมเต็มและพักผ่อน

Activity

โรงอาหาร

เวลาพักผ่อนของพนักงานแบ่งออกเป็น 3 เวลา โดยจะเป็นการพักทุก 2 ชั่วโมงเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นคือช่วงประมาณ 10 โมง พัก 15 นาที เพราะพนักงานบางคนมีอาชีพกรีดยางตอนเช้ามืด จึงต้องขยายเวลาพักเป็น 15 นาทีเพื่อให้ได้ทานอาหาร อีกช่วงคือประมาณบ่าย 3 จะพักอีก 10 นาที พนักงานแอบมาเติมพลังกันได้ด้วยการซื้อของที่สหกรณ์ข้างโรงอาหาร

ส่วนช่วงเที่ยงทุกคนจะมารวมตัวทานอาหารกลางวันกันที่นี่เช่นกัน บริษัทจะเตรียมข้าวไว้ให้ พนักงานสามารถมาตักกินได้ฟรี แล้วเลือกซื้อกับข้าวที่ร้านค้าได้ในราคา 10 บาท ทั้งหมดเป็นสวัสดิการที่ PlanToys ต้องการลดรายจ่ายที่อาจสร้างภาระให้กับพนักงาน

สนามกีฬา 

ยามว่างจากเวลางาน สิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญไม่แพ้การผลิตของเล่นเด็กคือ การพักผ่อนหย่อนใจด้วยการเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็นเปตอง แบดมินตัน หรือตะกร้อ เรียกได้ว่าทุกคนสนุกสนานกันจนมีการแข่งขันกีฬาสีในโรงงานเลยล่ะ

ตลาดขายของ

นอกจากพื้นที่โรงอาหารจะเป็นสถานที่พักผ่อนแล้ว ที่นี่ยังเป็นพื้นที่ช้อปปิ้งยามเช้าที่บริษัทสนับสนุนให้พนักงานได้นำสินค้าที่ผลิตเองเข้ามาขายได้ เพื่อเป็นรายได้อีกช่องทางให้กับพนักงาน ทำให้เราได้เห็นกล้วยจากสวนในบ้าน ไข่ไก่ยกแผง เผือก พืชผักหลากหลายชนิด หรือแม้แต่กุ้ง หอย ปู ก็มาวางขายกันคึกคัก

โครงการปลูกข้าว

อย่างที่บอกว่า PlanToys มีสวัสดิการหุงข้าวให้พนักงานได้ทานกันฟรีๆ ในเดือนหนึ่งบริษัทหุงข้าวไปทั้งหมด 1.5 ตัน แต่เนื่องจากที่นี่มีนโยบายสนับสนุนการเกษตรท้องถิ่นด้วย อ๊อฟ โกสินทร์ กรรมการผู้จัดการ เลยคิดโครงการให้พนักงานไปปลูกข้าวออร์แกนิกช่วยชาวนาจังหวัดตรังเพื่อเรียนรู้และจะได้มีข้าวกินไปด้วยเลย


คอลัมน์ Working Culture คือภาคต่อของ a day 225 ฉบับ Working Culture หากสนใจสามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่  godaypoets.com/product/a-day-225

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย