ตามชูใจ กะ กัลยาณมิตรไปดูเบื้องหลังโฆษณา PlanToys บริษัทที่ผลิตของเล่นเหมือนหัวอกคนเป็นแม่

Highlights

  • PlanToys คือบริษัทผลิตของเล่นไม้สัญชาติไทยที่ใส่ใจต่อการเรียนรู้ของเด็กและห่วงใยสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันแปลนทอยส์ดำเนินงานมาแล้ว 38 ปี ได้รับรางวัลการันตีคุณภาพกว่า 70 รางวัล พร้อมส่งออกของเล่นสู่มือเด็กกว่า 65 ประเทศทั่วโลก
  • แม้จะเดินทางมาเกือบ 4 ทศวรรษนี้ แต่เชื่อว่าคนไทยหลายคนยังไม่รู้จักแปลนทอยส์ ทีมครีเอทีฟเอเจนซีอย่างชูใจ กะ กัลยาณมิตรจึงมาร่วมสร้างสรรค์โฆษณาตัวแรกของบริษัทเพื่อสื่อสารงานของแปลนทอยส์ให้คนได้รู้จัก
  • แม้ว่าจะมีเรื่องเล่าของแปลนทอยส์ในหลายมุมให้เลือกเล่า แต่ทีมชูใจพบปัญหาว่าประเด็นที่อยากสื่อสารทำให้คนรู้สึกสนุกได้ยาก พวกเขาจึงใส่แรงคิด หาวิธีเล่าเรื่องที่จะช่วยให้เข้าถึงคนดูได้มากที่สุด
  • ผลของไอเดียการเล่าเรื่องในครั้งนี้ทำให้แปลนทอยส์ได้รีโนเวตอาคารโรงงานใหม่และเปลี่ยนชุดพนักงานทั้งหมดเพื่อทำให้สิ่งที่ครีเอทีฟเอเจนซีคิดไว้ในโฆษณา เรียกว่าเอามาใช้งานจริงๆ กันไปเลย

สำหรับเรา การเล่าเรื่องอย่างสร้างสรรค์ให้เข้าถึงคนไม่ใช่เรื่องง่าย 

มันไม่ง่ายยังไง บางคนอาจสงสัย  ถ้ายกตัวอย่างใกล้ๆ ตัวให้เห็นภาพ คือการเขียนงานนี้เพื่อให้คุณอ่านแล้วรู้สึกสนุก ไม่น่าเบื่อ

ความรู้สึกของเราตอนนี้คล้ายกันกับทีมครีเอทีฟจากชูใจ กะ กัลยาณมิตร บริษัทครีเอทีฟเอเจนซีที่รักการทำงานเพื่อสังคม ในวันที่เขาต้องสร้างสรรค์เรื่องเล่าของ PlanToys บริษัทผลิตของเล่นไม้สัญชาติไทยเพื่อให้คนไทยได้รู้จักมากขึ้น

สำหรับคนที่ไม่รู้จัก PlanToys เราขอเล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่าพวกเขาคือบริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด ผลิตของเล่นที่ให้ความสำคัญกับเด็กและคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยเลือกผลิตของเล่นที่เชื่อมโยงกับพัฒนาการของเด็ก และนำไม้ยางพาราที่หมดอายุการใช้งานมาผลิตเป็นของเล่นที่ประกอบไปด้วยสีสันสดใสแต่ปลอดภัย

ด้วยการทำงานของแปลนทอยส์ที่ใส่ใจทั้งคนและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีแนวคิดเป็นแรงบันดาลใจให้กับทีมชูใจ ทำให้ครีเอทีฟเอเจนซีแห่งนี้พรั่งพรูไอเดียต่างๆ ออกมาอย่างหลากหลาย แต่กว่าจะออกมาเป็นโฆษณาที่สื่อสารการผลิตของเล่นเด็กอย่างใส่ใจเหมือนคนเป็นแม่ งานในฝันของชูใจชิ้นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่เราคิด แล้วมีไอเดียอะไรบ้างที่พวกเขาได้พัฒนามันขึ้นมาจนเป็นโฆษณาแบบแม่ๆ ก่อนที่จะไปหาคำตอบลองดูโฆษณา Mom-nufacturer’s Talk กันก่อน แล้วไปนั่งฟัง เม้ง–ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ และ เป้า–ไพรัช เอื้อผดุงเลิศ พาเราเจาะทุกขั้นตอนของการสร้างสรรค์โฆษณานี้กัน

ขั้นตอนที่ 1 : เล่าเรื่องแบรนด์ให้คนรู้จักแปลนทอยส์

 ก่อนที่ชูใจจะได้มาทำงานกับแปลนทอยส์ในโฆษณาครั้งนี้ ความจริงพวกเขาเคยรู้จักกันมาก่อนแล้วจากโปรเจกต์ Mom-made toys โปรเจกต์ให้แม่ทำของเล่นให้ลูกที่เป็นเด็กพิเศษด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นงานแรกของชูใจ และยังเป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขาในการทำงานเพื่อสังคมด้วย หลังจากโปรเจกต์สำเร็จและห่างหายกันไปเกือบ 8 ปี แปลนทอยส์ชวนชูใจมาทำงานด้วยกันอีกครั้ง 

“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้คุยกับคุณวิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ เพราะก่อนหน้านี้ตอนทำ Mom-made toys มีพี่อีกคนช่วยประสานงานให้ ตอนเจอกันเราคุยกันโจทย์แรกเป็นเรื่อง CSR เพราะเขารู้สึกว่าที่ผ่านมาเขาไม่มีไดเรกชั่นที่ชัดเจน คนในองค์กรก็ไม่เห็นทิศทาง เราเลยคุยโจทย์ CSR ว่าทำอะไรดี” เป้าย้อนเล่าจุดเริ่มต้นในวันที่ได้พบวิฑูรย์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแปลนทอยส์ครั้งแรก ก่อนจะเล่าต่อว่า

“เราเสนอทิศทางเรื่องแบรนด์ให้ พอคุยไปคุยมาเขาก็รู้สึกโอเคกับทิศทางที่เราเสนอ เพราะเขาก็จะมี trade กับคู่ค้าใหญ่ๆ ถ้าอย่างนั้นเราทำเรื่องแบรนดิ้งไปเลย มันเลยเขยิบมาเป็นโจทย์นี้”

แต่หากนับกันตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนถึงตอนนี้แปลนทอยส์ผลิตของเล่นไม้ให้ถึงมือเด็กมา 38 ปีแล้ว กวาดรางวัลมามากกว่า 70 รางวัล และส่งออกของเล่นไม้ให้กับ 65 ประเทศทั่วโลก

เรียกได้ว่าเดินทางมาเกือบ 4 ทศวรรษ แต่คำถามคือ ทำไมคนไทยไม่ค่อยรู้จัก

“เขาทำทุกอย่างและมีเรื่องให้เราเล่าเยอะมาก แต่นั่นคือปัญหา มันทำให้เขาก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไงดี มันคือปัญหาเรื่องการสื่อสารของบริษัท คนไทยก็ยังไม่ค่อยรู้จักเขา สุดท้ายเลยมาจบลงที่ทำหนังแบรนดิ้งสักหนึ่งตัวเพื่อขีดเส้นใต้หน่อยว่าเราเป็นใคร โดยเฉพาะกับคนไทย” เม้งเล่า ก่อนที่เป้าจะช่วยขยายความเพื่อไขข้อสงสัยให้เราว่าทำไมแปลนทอยส์ถึงไม่เคยมีโฆษณาเป็นจริงเป็นจัง 

“บริษัทเขาอยู่มานานครับ วิธีการขายคือเขาจะทำของเล่น ทำสื่อต่างๆ แล้วสุดท้ายก็พึ่ง distributor ที่นำเข้าสินค้าไปช่วยทำการตลาดในประเทศ ทีนี้เมื่อยุคสมัยมันเปลี่ยน โซเชียลแข็งแรง ผู้ผลิตสามารถทำการตลาดโดยตรงได้เลย คุณออฟ (โกสินทร์ วิระพรสวรรค์) หลานคุณวิฑูรย์เพิ่งกลับมาจากเมืองนอก เป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยบริหาร เขาก็คงเห็นช่องทางตรงนี้ และอยากเห็นสิ่งที่มันสื่อสารและร่วมสมัย เขาเลยขอคุณวิฑูรย์เพื่อทำโฆษณาขึ้นมา”

Plantoys

ขั้นตอนที่ 2 : ค้นหาเรื่องเล่าให้เข้าถึงคนดู

แปลนทอยส์เชื่อว่าเด็กคืออนาคต ดังนั้นการผลิตของเล่นให้กับเด็กพวกเขาจึงต้องคำนึงถึงพัฒนาการและทำให้กระบวนการผลิตส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ประโยคที่ว่า Better Kids for Better World จึงกลายมาเป็นแนวคิดหลักของบริษัทของเล่นไม้แห่งนี้ และยังเป็นประเด็นสำคัญที่ทีมงานครีเอทีฟของชูใจชื่นชอบและอยากสื่อสารกับคนดู

“สำหรับผมโจทย์นี้เหมือนฝัน ไม่มีลูกค้าที่เหมือนแปลนทอยส์เลยนะ เขาเป็นภาคธุรกิจที่ทำสิ่งที่ดีมากๆ เพราะที่ผ่านมาองค์กรส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำงานกับชูใจ ถ้าไม่เป็น NGO ชัดเจนก็จะเป็นฝั่งคอมเมอร์เชียลที่ต้องการกำไร แต่แปลนทอยส์เป็นโจทย์การทำงานที่พวกเราใฝ่ฝันถึงตั้งแต่วันแรกๆ ที่เปิดชูใจ” เม้งอธิบาย

แต่ใช่ว่าโจทย์ในฝันของพวกเขาจะเป็นเรื่องง่าย เมื่อเจอประเด็นน่าสนใจล้นทะลักจากบรรดาเรื่องเล่าของแปลนทอยส์ 

มันไม่เหมือนโจทย์คอมเมอร์เชียลที่เราเคยเจอ บางองค์กรเขาทำนิดเดียวแต่พยายามพูดให้มันใหญ่ แต่อย่างโจทย์ของแปลนทอยส์คือมันมีข้อดีเยอะมากๆ มากเกินไปสำหรับหนังหนึ่งตัวด้วยซ้ำ มันเลยเป็นจุดยากที่เราต้องรวบฟีเจอร์ดีๆ ทั้งหลายให้อยู่ในคอนเซปต์เดียวให้ได้” เป้าอธิบายให้ฟัง

ไอเดียแรกของพวกเขาคือพูดถึงแนวคิดและการทำงานของแปลนทอยส์ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม แต่ครีเอทีฟทั้งสองจากชูใจยอมรับว่าพวกเขากังวลใจกับเนื้อเรื่องว่าจะขายให้คนดูได้หรือเปล่า 

“เราเองก็ยังเป็นห่วงอยู่ว่าเรื่องนี้ใครจะฟังวะ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเรื่องมันจะสนุกไหม เพราะเรื่องมันเป็นข้อมูลหนักๆ เลย เรื่องของโรงงาน เรื่องเล่าว่าบริษัททำอะไร เหมือนพูดแต่เรื่องของกูเลย shared value อยู่ตรงไหนวะ ไม่มีเรื่องของมึงเลย” เม้งเล่า

ระหว่างทางทีมชูใจจึงพยายามหาทางแยกที่เป็นตัวเลือกในการเล่าเรื่องมากขึ้นเพื่อค้นเรื่องที่สามารถเล่าแล้วเข้าถึงคนได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นไอเดียของผู้กำกับที่คิดว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมคนน่าจะฟังมากที่สุดในยุคนี้ จึงเสนอให้เอาสัตว์อย่างโลมา กระรอกมาพูดขอบคุณ หรือแม้กระทั่งเป้าเสนอให้ดึงประวัติของวิฑูรย์เข้ามาประกอบเป็นเนื้อเรื่อง

“ตอนแรกเป้าบอกว่า หรือเอาสคริปต์ประวัติคุณวิฑูรย์มาเพิ่มลงไปหน่อยให้มัน controversial หรือให้มีเรื่องแบบที่ออนไลน์ชอบ” เม้งเล่า 

แต่เมื่อถามฝั่งลูกค้าอย่างวิฑูรย์และออฟ สองผู้บริหารจากแปลนทอยส์ยังคงยืนยันว่าอยากสื่อสารการทำงานของบริษัทที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากที่สุด แม้พวกเขาเคยถ่ายวิดีโอที่บอกเล่าเรื่องนี้มาก่อนแล้วก็ตาม

“ลูกค้าก็รู้สึกเหมือนกันว่ามันขายไม่ได้แต่เขาก็ยังอยากเล่าเรื่องนี้ เพราะคุณวิฑูรย์ชอบความจริง ไม่ชอบโกหก เป็นผู้ผลิตที่ไม่โกหกผู้บริโภค ทำทุกอย่างจริง ซึ่งมีทางเลือกหลายทางมาก แต่สุดท้ายเขาก็เลือกทางเดิมที่เขาเป็นมาตลอดคือจะพูดเรื่องโลก เรื่องทุกอย่างที่แม่งขายไม่ได้” เม้งเล่าพร้อมหัวเราะก่อนที่เขาจะอธิบายต่อว่า 

“คือที่มองว่าคนไม่ซื้อเพราะซื้อของเล่นแล้วทำไม กูซื้อของเล่นทำไมกูต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อไปซื้ออย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการเล่น เรื่องสังคมสิ่งแวดล้อมเรื่องมาตรฐาน over standard แต่ทุกอย่างแพงขึ้นมาหมดเลย” 

ความลังเลใจและทางแยกที่มีหลายตัวเลือกนี้ทำให้เม้งและเป้ายอมรับว่าพวกเขาเสียเวลาไปกับการทำสคริปต์อยู่มาก แต่ในเมื่อต้องเลือกเรื่องที่จะมาเล่าพวกเขาก็กลับมาทบทวนถึงสคริปต์แรกที่พวกเขาอยากเล่าอีกครั้ง

“แล้วมีวันหนึ่งที่ผมนั่งคุยกับเป้านี่แหละ คุยว่า เฮ้ย เราทำอะไรกันอยู่วะ อะไรคือสิ่งที่ควรเล่าที่สุดวะ และไอ้เป้านี่แหละมันเพิ่งไปประชุมบรีฟลูกค้า เขาก็ได้รางวัลมาชิ้นหนึ่ง แล้วให้ช่วยทำหนังโปรโมตว่าเขาได้รางวัล ไอ้เป้าก็บอกว่า ไอ้เรื่องที่เขาทำนี่แม่งเศษเสี้ยวกับที่แปลนทอยส์ทำเลยนะ พอคุยกันได้ 2-3 ครั้งก็ตัดสินใจว่ากลับมาที่เดิม เรายืนยันว่างั้นก็ต้องเล่าเรื่องโรงงานเขานี่แหละ ต้องเล่าให้ได้” เม้งกล่าวย้ำ

ขั้นตอนที่ 3 : สื่อสารเรื่องของแม่ให้เข้าถึงแม่

เมื่อทีมครีเอทีฟมั่นใจแล้วว่าต้องบอกเล่าเรื่องการทำงานของแปลนทอยส์ในโฆษณาครั้งนี้ให้ได้ โจทย์ที่พวกเขาต้องกลับมาคิดให้หนักขึ้นอีกครั้งคือ ทำยังไงให้สิ่งที่จะนำเสนอเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด 

“สิ่งที่เรานำเสนอคือเล่าเรื่องโรงงานแต่เอามาเกี่ยวกับเรื่องของแม่ เพราะเราคิดว่าคนที่อยากฟังคือแม่ที่เป็นทาร์เก็ตหลัก แต่เราจะเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม เรื่องความปลอดภัย เรื่องอะไรที่มันไม่เกี่ยวกับการเล่นให้แม่รู้สึกว่าเกี่ยวได้ยังไง แล้วจริงๆ ในสคริปต์เดิมเราคุยกันว่า หรือจะเล่าเรื่องเป็นสารคดีไหม สัมภาษณ์แม่” เม้งเล่า 

แต่ช่วงแรกสคริปต์ของพวกเขาธรรมดามาก จนถึงขั้นที่เม้งกับเป้าเอ่ยปากว่าไม่น่าดู แล้วมันจะรอดหรือเปล่าในยุคโฆษณาบนโลกออนไลน์

“คือสคริปต์สมัยนี้มันขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ที่อยู่ตรงกลางมาก หมายถึงว่า intersect ระหว่างเรา ระหว่างแบรนด์กับสังคม มันต้องมี intersect ตรงนี้ให้ได้ โดยเบสิกมันก็มักจะเป็นพวกเอนเตอร์เทนเมนต์ ต่อให้คอนเทนต์ดีแต่ถ้ามันไม่มี entertainment value เขาก็จะไปเลย” เป้าอธิบายถึงเงื่อนไขการทำงานครั้งนี้ให้ฟัง ก่อนที่เม้งจะเล่าต่อว่า

จำได้ว่าพูดคุยกับผู้กำกับกันเล่นๆ ว่า หรือทำเรื่องโรงงานนี่แหละ แต่แทนที่จะเป็นเสียงโรงงานเป็นเสียงแม่ไหม คุยกันเล่นๆ เพราะประโยคนี้แหละที่ทำให้เริ่มเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา ตอนแรกก็ลังเลว่ามันจะน่าดูยังไงวะ ผู้กำกับก็ไม่มั่นใจนะ คนจะดูจบไหม เราก็ค่อยๆ แก้ งั้นเอาใส่ art direction ไหม มันเป็นบริษัทของเล่นก็ทำเหมือนโรงงานช็อกโกแลต พอเป็น art direction ผู้กำกับเริ่มสนุก เริ่มรักหนังละ” 

 

ขั้นตอนที่ 4 : ไม่ได้ทำแค่โฆษณา แต่ทำทุกอย่างให้เป็น ‘ความจริง’ 

เมื่อตัดสินใจใช้สคริปต์ที่เชื่อมโยงระหว่างการทำงานของโรงงานและแนวคิดของแม่แล้ว ทีมงานไม่รอช้า พวกเขาเลือกแม่ๆ หลากหลายเชื้อชาติเข้ามานั่งบอกเล่าแนวคิดการเลี้ยงลูก โดยเม้งบอกกับเราว่าแม่แต่ละคนที่เราได้เห็นกันในคลิปนั้น พวกเขาชื่นชอบแนวคิดกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อต้องถ่ายทำพาร์ตสัมภาษณ์เพื่อไปเป็นฟุตเทจประกอบในโฆษณา ทีมชูใจจึงใช้โอกาสนี้เลือกแม่ที่เป็นไอดอลของพวกเขามานั่งพูดคุยกันไปเลย

“แม่ที่เลือกเป็นแม่ที่เราชอบ แม่ที่เป็นไอดอลเรา หรือเป็นแม่ที่เราไปเรียนด้วย ไปตามดูวิธีเลี้ยงลูก เช่น ครูอังคณา แม่เรไร หรือภรรยาพี่โจนก็อยู่ในนั้น” เม้งบอกกับเรา

เมื่อได้ฟุตเทจบทสัมภาษณ์ของแม่ตามที่ต้องการแล้ว ทีมชูใจนำคำพูดของคุณแม่ที่พวกเขาสัมภาษณ์มาคัดเลือกเพื่อประกอบเป็นสคริปต์ในโฆษณา ในกระบวนการนี้เป้าบอกว่าเมื่อได้เป็นพ่อที่มีลูกแล้ว มันทำให้มีอิทธิพลต่อการคัดเลือกคำสัมภาษณ์ของแม่ๆ มาใช้ไม่น้อย

“เวลาเราเลือกสคริปต์ที่แม่พูด เราจะเห็นตัวเราหรือว่าเห็นความคิดของเราอยู่ในนั้น บางทีก็รู้สึกว่า เออว่ะ ไม่เคยคิดอย่างนี้เลย เรารู้สึกว่า โห สคริปต์นี้ดีว่ะ อยากให้เมียได้ยินจังเลย” เป้าเล่าอย่างอารมณ์ดี

ต่อจากนี้ กระบวนการต่อไปคือการถ่ายทำในโรงงาน ซึ่งทีมครีเอทีฟและโปรดักชั่นเห็นพ้องกันว่าอยากจะได้ภาพที่ให้ความรู้สึกเหมือนโรงงานช็อกโกแลต

“แต่จากสคริปต์ทั้งหมดที่เราเล่าคือคุณวิฑูรย์ไม่ชอบนะ เพราะคุณวิฑูรย์เขาชอบความจริง เขาจะพูดตลอดแม้กระทั่งวันที่ไปถ่ายที่โรงงานที่ตรัง เขาบอกว่ามันเหมือนโฆษณาชวนเชื่อนะ แต่เวลาเราทำหนัง เราก็อยากให้หนังมันสวยไง เราก็ต้องทำ art direction เพื่อคุมสี คุณวิฑูรย์ก็บอกว่าโรงงานเขาไม่ได้สีแบบนี้” ทีมครีเอทีฟจากชูใจหัวเราะ

“ที่ฮาก็คือเราต้องไปทาสีโรงงานเพื่อให้สีมันแมตช์กับเสื้อเป็นคู่สี แล้วเขาก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นจะทาก็ได้ แต่เดี๋ยวผมทาให้ คุณไม่ต้องทา แล้วเขาก็ทาให้ ฉวยโอกาสรีโนเวตเลย” เม้งพูดจบทั้งสองก็เริ่มหัวเราะพร้อมกันอีกครั้ง

ไม่เพียงแค่การทาสีโรงงานใหม่เท่านั้น แต่ชุดเอี๊ยมที่พนักงานใส่ในโฆษณาเรื่องนี้ วิฑูรย์ก็ได้สั่งตัดใหม่ ถือโอกาสเปลี่ยนชุดโรงงานให้หมด ดังนั้น ทุกอย่างจึงไม่ได้เป็นเพียงโฆษณา แต่ความจริงก็เป็นอย่างที่ถ่ายทำ

หรืออย่างตัวแสดงเขาก็อยากให้เป็นพนักงานเขาจริงๆ ได้ไหม วันถ่ายก็เลยถ่ายกันข้ามคืนเพราะปากเขาไม่ซิงก์กับคำพูดแม่ๆ เราก็ทำจนกว่าจะได้” เป้าเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

แม้โฆษณานี้แม่จะมีบทบาทโดดเด่น แต่ในฐานะที่เม้งและเป้าเป็นพ่อแล้ว พวกเขาเคยคิดอยากให้โฆษณาตัวนี้มีพ่อบ้างไหม เราสงสัยและเริ่มถาม ทำเอาทั้งคู่หัวเราะก่อนจะตอบ 

“จริงๆ คือมี แต่สุดท้ายตัดทิ้งไป” เม้งเล่า ก่อนเป้าจะช่วยบอกเหตุผลที่พ่อไม่ค่อยมีบทบาทในนี้เพื่อคลายความสงสัยของเรา 

ตอนแรกไอ้ความเป็นพ่อนี่จริงๆ ลูกค้าเลือกมาให้ด้วย มีบางคู่เป็นพ่อแม่โฮมสคูล ความคิดเขาดีมาก เราสัมภาษณ์คู่ แต่พอจังหวะเอาไปตัดแล้วมีแม่เยอะเลย พอมีพ่อแหลมมาคนหนึ่ง ด้วยจังหวะ เราก็รู้สึกว่ามันแปลกๆ ทำไมถึงมาคนเดียว ก็เลยตัดออกดีกว่า” เม้งอธิบาย

หลังจบการถ่ายทำทั้งหมด ใช่ว่าพวกเขาจะทำให้งานสำเร็จลุล่วงได้เรียบร้อยแล้ว ในทางกลับกันระหว่างที่ต้องนำฟุตเทจทั้งหมดมาตัดต่อพวกเขาก็พบปัญหา

“ตอนตัดต่อดราฟต์แรกมีแต่พนักงาน ไม่มีฟุตเทจแม่แทรกขึ้นมา คือเละเทะเลยนะ ดูแล้วก็เบื่อกันชิบหายเลย ดูไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำ แต่ประเด็นคือไม่มีฟุตเทจแก้ด้วย หนังเรื่องนี้ถ่ายแก้ไม่ได้ เพราะเราไปสัมภาษณ์แม่ก่อนซึ่งเป็นไดอะล็อกของหนังทั้งหมด แล้วพวกเราต้องเลือกไดอะล็อกมาเพื่อไปถ่าย ซึ่งมันแทบจะเป็นการตัดต่อแล้ว แล้วถึงให้พนักงานไปพูดตาม ซึ่งทั้งหมดนี้ลูกค้า approve หมดแล้ว”

ไม่ใช่แค่ทีมชูใจ แต่ลูกค้าอย่างวิฑูรย์และออฟก็ไม่ชอบโฆษณาดราฟต์แรกเช่นเดียวกัน พวกเขาลงความเห็นว่าดูไม่รู้เรื่อง ส่วนวิฑูรย์ยังคงยืนยันคำเดิมว่าทั้งหมดดูโฆษณาเกินไป ไม่เป็นความจริง ทีมชูใจจึงเอากลับไปแก้อีกครั้ง โดยรอบนี้พวกเขาลองเพิ่มฟุตเทจภาพสัมภาษณ์แม่แทรกเข้าไป และพัฒนามาเรื่อยๆ จนกลายเป็นหนังโฆษณาที่เราได้ดูกัน

แต่ไม่ว่าจะพบอุปสรรคระหว่างทางเท่าไหร่ แต่ดูเหมือนว่าครีเอทีฟเอเจนซีทีมนี้ใช้ความพยายามที่จะทำให้โฆษณานี้สำเร็จให้ได้ เพื่อให้แปลนทอยส์ได้เป็นที่รู้จักของคนไทยตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ เม้งบอกเหตุผลว่าที่พวกเขาทุ่มเทแรงขนาดนี้ เพราะสำหรับชูใจแล้ว แปลนทอยส์เป็นเหมือนแรงบันดาลใจหลายอย่างที่ตอบโจทย์ในชีวิต

มันเป็นเรื่องที่เราอยากรู้ เพราะแปลนทอยส์ตอบทุกโจทย์ในสเตจชีวิตช่วงนี้เลย ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องลูก เรื่องแม่ เราเอาตัวเข้าไปเกี่ยวเลย แล้วเราเป็นห่วงงานนี้มาก เราห่วงลูกค้าเจ้านี้ เพราะถ้าทำมาไม่รอดคือจบเลยนะ เพราะมีลูกค้าแบบนี้แค่คนเดียว แล้วคุณวิฑูรย์ก็จะยิ่งไม่เชื่อว่าการสื่อสารในยุคสมัยนี้มันจะรอด เขาก็จะไปทางความจริง ไม่เชื่อโฆษณาอยู่แล้วด้วย” เม้งเล่าจบ เขากับเป้าหัวเราะกับเบื้องหลังการทำงานนี้อีกครั้งก่อนที่เป้าจะช่วยเสริมว่า

“พอเราทำงานนี้ เราได้เรียนรู้อยู่สองอย่าง อย่างแรกคือคุณวิฑูรย์ เขาเป็นแบบอย่างที่น่านับถือ เขาทำดีก็เพื่อตัวเขาเองและมันก็ได้ประโยชน์ทุกๆ ฝ่าย เราสัมผัสได้ว่าเขาเพียว เขาไม่ได้ดีเพราะเทรนด์โลกเปลี่ยนเลยต้องทำดี แต่เนื้อแท้ของเขาเป็นอย่างนั้นตั้งแต่จุดเริ่มต้น ส่วนที่สองเป็นคำพูดของแม่ๆ เราได้ความรู้เพิ่มเติมจากเขาเยอะมาก” 

“แล้วด้วยแนวคิดของแปลนทอยส์และของเราแล้ว การทำงานครั้งนี้มันเลยสมศักดิ์ศรี ตั้งแต่เปิดชูใจมาก็เพิ่งมาเจอเขานี่แหละที่ใกล้เคียงกับแนวคิดที่บริษัทเปิดวันแรกที่สุดแล้ว เราเลยคิดว่าต้องทำงานนี้ให้มันสำเร็จ” 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย