มนุษย์ทำงานคนไหนกำลังปวดหลังปวดไหล่ตอนอ่านข้อความนี้อยู่บ้าง ในช่วงที่มนุษย์ออฟฟิศทั้งหลายต้องย้ายมาทำงานที่บ้าน การใช้โต๊ะกินข้าวเป็นโต๊ะทำงานหรือการนั่งประชุมหน้าจอตลอดทั้งวันก็ค่อยๆ สร้างความปวดเมื่อยให้กับเราทีละน้อย คอ บ่า ไหล่เริ่มตึงแปลกๆ แน่นอนว่าอาการเหล่านี้ย่อมไม่ใช่ office syndrome เพราะเราทำงานที่บ้าน! แต่เราขอตั้งชื่อให้กับมันว่า ‘work from home syndrome’ ซึ่งเป็นฝาแฝดอาการปวดเมื่อยที่ร้ายไม่แพ้กับอาการที่เกิดที่ออฟฟิศเลย
เพื่อสวัสดิภาพของคอ บ่า ไหล่ วันนี้เราจึงอยากช่วยทุกคนหาทางบรรเทาอาการ work from home syndrome ที่อาจจะกำลังคุกคามชีวิตคุณด้วย 5 วิธีทำงานที่บ้านอย่างสำราญใจ ไม่ปวดเมื่อยตัว
1. เสริมฟีเจอร์ ให้กับเก้าอี้ของคุณ

พูดถึงความเจ็บปวดของคนทำงาน หนึ่งในนั้นต้องมีอาการปวดหลัง!
เรื่องนี้อาจเป็นเพราะเก้าอี้ตัวดีที่คุณต้องใช้ชีวิตอยู่บนนั้นยาวนานถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน หากปวดหลัง เราอยากชวนสำรวจเก้าอี้ของตัวเองให้ดีว่ามันช่วยให้คุณนั่งทำงานได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ โดยท่านั่งที่ดีคือท่าที่ทำให้ร่างกายของคุณผ่อนคลายลดความตึงของกล้ามเนื้อ สังเกตได้จาก 4 จุดง่ายๆ คือ 1. หลังต้องเหยียดตรงไม่คดงอ (โดยที่ต้องไม่เกร็งด้วยนะ) 2. คอตั้งตรงไม่ก้มหรือเงย 3. ไหล่ไม่ยกสูงกว่าปกติ 4. ฝ่าเท้าสัมผัสกับพื้นอย่างพอดีโดยที่เข่าตั้งฉากกับเก้าอี้
หากเก้าอี้ของคุณไม่สามารถจัดท่านั่งให้ตอบทุกโจทย์ได้ทุกข้อ คุณก็สามารถที่จะเสริมฟีเจอร์ต่างๆ ให้กับเก้าอี้ตัวเองเพื่อบรรเทาอาการ work from home syndrome ได้ เช่น หาหมอนมาช่วยรองหลังส่วนล่าง หรือลงทุนซื้อเก้าอี้ใหม่เพื่อสุขภาพหลังในอนาคต หากเพียงแค่เก้าอี้ยังไม่พอ แนะนำว่าอาจจะลองหาของมารองหน้าจอให้อยู่ในระดับสายตาหรือหาที่วางเท้าเพื่อที่เข่าจะได้สามารถตั้งฉากกับเก้าอี้ได้ด้วย
2. อย่าลืมพักเที่ยง

หากคุณใช้ชีวิตอยู่ที่ออฟฟิศ ช่วงเวลาพักเที่ยงดูเหมือนจะเป็นช่วงที่หลายคนรอคอยเพราะมันไม่เพียงเป็นช่วงเวลาแห่งการรับประทานอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นเวลาสำหรับการพักผ่อนกายใจ ช่วยให้คุณได้มีโอกาสพักยืดเหยียดร่างกาย พร้อมลุยกับงานช่วงบ่ายต่อไป
แต่เมื่อเราต้องทำงานจากที่บ้าน หลายคนอาจทำงานเพลินจนเลยช่วงเวลาพักเที่ยง บางคนก็ประชุมไหลยาวจนต้องเอาข้าวมากินหน้าคอมฯ และบ่อยครั้งที่การนั่งยาวๆ ไม่ได้ลุกไปไหนเลยก็ส่งผลให้อาการปวดตรงนั้น ตึงตรงนี้ตามมา
ดังนั้นคราวหน้าที่เริ่มต้นนั่งทำงาน จงพึงระลึกไว้เสมอว่าแม้ทำงานอยู่บ้านก็ต้องพักกลางวันให้เหมาะสม เพราะมันจะช่วยให้ร่างกายของคุณได้พัก ทำให้รู้สึกสดชื่นมากขึ้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น
3. เชื่อมต่อกับเพื่อน

หนึ่งในวิธีผ่อนคลายที่ดีที่สุดยามอยู่ในออฟฟิศคือตอนที่เราได้คุยเล่นกับเพื่อน ฟังดูเผินๆ อาจเหมือนเป็นข้ออ้างอู้งาน แต่อันที่จริงความคิดใหม่ๆ หลายอย่างก็มักจะเกิดตอนที่เราได้ห่างจากเรื่องงานและพูดคุยในประเด็นอื่นๆ รอบตัวกับเพื่อนๆ นี่แหละ
ที่สำคัญการที่ได้พักเดินไปหาเพื่อนโต๊ะนั้น แวะคุยกับเจ้านายโต๊ะนี้ ยังมีประโยชน์กับร่างกายเพราะการพักเดินออกกำลังกายบ้างจะทำให้คุณไม่นั่งนานจนเกิดอาการปวดหลังนั่นเอง
โชคดีที่ด้วยเทคโนโลยี ถึงจะอยู่บ้านแต่เราก็สามารถเชื่อมต่อกับเพื่อนๆ ได้อย่างง่ายดาย เช่น คุณอาจจะตั้งห้องพูดคุยออนไลน์ไว้สนทนากับเพื่อนร่วมงานระหว่างทำงานเพื่อที่จะยังคงช่วงเวลา ‘เมาท์มอย’ เอาไว้ หรือชวนเพื่อนเล่นบอร์ดเกมออนไลน์กันหลังเลิกงาน นอกจากการคุยเล่นจะช่วยลดความเครียดลงได้แล้ว ยังทำให้เรามีอิริยาบถที่ผ่อนคลายขึ้น ส่งผลต่อความตึงเกร็งของร่างกายที่เราอาจจะทำไปโดยไม่รู้ตัว
4. ใช้ตัวช่วยบรรเทาความปวดเมื่อย

ถ้าการเปลี่ยนอิริยาบถยังแก้ความปวดเมื่อยไม่ได้ ตัวช่วยถัดไปคือการพ่นสเปรย์บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ
นอกจากสมุดจดและเครื่องเขียน ถ้าเกิดอาการปวดหลังปวดไหล่ มนุษย์ออฟฟิศอาจจะต้องพกสเปรย์ Perskindol กระป๋องสีเหลืองที่ช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อไว้ติดโต๊ะด้วยอีกอย่าง สเปรย์แก้ปวดนี้มีบุญคุณต่อคนทำงานจอมปวดเมื่อยมานักต่อนักด้วยสูตรร้อนที่พอพ่นลงบนร่างกายแล้วเราจะรู้สึกผ่าวๆ ที่บริเวณผิวหนัง หลังจากนั้นมันจะซึมเข้าไปอย่างรวดเร็วไม่ทิ้งร่องรอยความเหนอะหนะไว้เลย
และแม้ว่าเราจะดูแลร่างกายดีแค่ไหน แต่แค่นั่งผิดท่าแป๊บเดียวอาการปวดเมื่อยก็กลับมาทักทายได้เสมอ ดังนั้นการมีตัวช่วยกระป๋องนี้ติดบ้านไว้ย่อมอุ่นใจกว่านะ
5. เคารพเวลาเลิกงาน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายคนหลังจากที่ต้อง work from home คือการขาดการเลิกงานแบบเป็นรูปธรรม เมื่อไม่ต้องออกจากออฟฟิศเพื่อเดินทางกลับบ้านแล้วเราก็ทำงานแบบไร้กาลเวลา ส่งผลเสียทั้งกับจิตใจที่ห่อเหี่ยวลงทุกวันๆ และหลังที่ร้องว่าเมื่อไหร่จะลุกจากที่นั่งสักที
สิ่งที่สำคัญสำหรับการทำงานที่บ้านจึงเป็นวินัยด้านเวลา ที่เราจะต้องเคารพทั้งกับตัวเองและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งนอกจากจะทำให้เรามีความเป็นมืออาชีพแล้ว ยังส่งผลดีต่อร่างกาย ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้อีกด้วย