โปรดรักฉันแม้ในส่วนที่มืดมิดและบิดเบี้ยว Words on Bathroom Walls หนังรักของผู้ป่วยจิตเวชและคนชิดใกล้

ครั้งแรกที่ฉันบอกแม่ที่เป็นคนเจนฯ เอกซ์ว่าฉันเป็นโรคซึมเศร้า แม่ตอบรับฉันด้วยประโยคที่ว่า Words on Bathroom Walls

“ถ้าเป็นบ้านักก็ไปอยู่หลังคาแดงไป” 

ดังนั้นคงไม่แปลกนักที่ฉันจะร้องไห้สะอึกสะอื้นเมื่อดูภาพยนตร์เรื่อง Words on Bathroom Walls (2020) มาถึงฉากที่ผู้เป็นแม่ปลอบลูกชายที่กำลังคลุ้มคลั่งด้วยโรคจิตเภท (schizophrenia) ว่า

“ฟังเสียงของแม่ เสียงของแม่เป็นสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดตอนนี้ และแม่กำลังบอกว่าลูกคือโลกทั้งใบของแม่” 

เด็กน้อยในตัวฉันแค่อยากได้ยินอะไรทำนองนี้ในชีวิตจริง แต่โชคไม่ดีพอ

ดังนั้นคงไม่แปลกอีกเช่นกันที่ฉันจะอิจฉา Adam (Charlie Plummer) หนุ่มน้อยตัวเอกของเรื่องจากก้นบึ้งของหัวใจ ตอนที่เขาค้นพบว่าเงาสีดำในดวงตาหาใช่ความบกพร่องของจอประสาทตา หากแต่เป็นภาพหลอนที่โรคจิตเภทสร้างขึ้น Beth (Molly Parker) แม่ของเขาขับรถพาอดัมไปหาหมอคนแล้วคนเล่า แล้วยังพาเขาสมัครเข้าร่วมโครงการทดสอบยาตัวใหม่เมื่อพบว่าไม่มีหมอคนไหนช่วยลูกของเธอได้

การเล่าเรื่องช่วงนี้เป็น montage สั้นๆ แล้วจบลงด้วยโครงการทดสอบยาคล้ายบอกว่าเบธสิ้นหวังจนพร้อมทำทุกอย่าง แต่ในสายตาของฉัน ซีนนี้เป็นซีนที่ประกายความหวังของเธอเจิดจ้าที่สุด 

ยิ่งคลิเช่ ยิ่งดี

Words on Bathroom Walls ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกันของนักเขียน Julia Walton หากคุณเป็นเหมือนฉันที่คิดว่าตัวเองแก่เกินจะร้องไห้ให้กับหนังที่มาจากวรรณกรรมเยาวชนแล้วล่ะก็​ จงทำใจไว้เลยว่าคุณจะได้ลิ้มรสทุก ‘สูตร’ ที่หนังหรือหนังสือประเภทนี้กุลีกุจอเสิร์ฟให้ ทั้งเรื่องไฟฝันอันลุกโชนของวัยหนุ่มสาว รักแรกและจูบแรกในโมเมนต์ต้องมนตร์ ความขัดแย้งภายในครอบครัวที่คลี่คลายอย่างอบอุ่นหัวใจ หรือกระทั่งงานพรอมที่มาพร้อมกับฉากไคลแมกซ์ของเรื่อง 

ภาพจาก paperfury.com

แต่ก็เป็นความคลิเช่ทั้งหมดนี้แหละที่เป็นดั่งแคปซูลเคลือบประเด็นสำคัญที่เป็นดั่งยาขมเอาไว้ นั่นคือตราบาป (stigma) ที่สังคมมอบให้ผู้ป่วยจิตเวช นอกจากครอบครัวที่ย่อมรู้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อดัมพยายามปิดบังเรื่องอาการป่วยของตัวเองไม่ให้ใครรู้เห็น ด้วยกลัวเหลือเกินว่าชื่อของตนจะไปปรากฏบนผนังห้องน้ำโรงเรียนในประโยคทำนองว่า ‘อดัมเป็นบ้า’ แม้กระทั่งในจังหวะที่อาการกำเริบหนัก อดัมยังไม่กล้าบอก Maya (Taylor Russell) เด็กสาวพราวเสน่ห์และเฉลียวฉลาดที่เขาตกหลุมรัก เขาทำได้เพียงผลักไสเธอออกไป สร้างระยะห่างในความสัมพันธ์ที่กำลังไปได้สวยเสียอย่างนั้น

Words on Bathroom Walls

ในบทสนทนาหนึ่งระหว่างอดัมกับจิตแพทย์ที่เราไม่เคยเห็นหน้า เขาตั้งข้อสังเกตถึงความแตกต่างระหว่างเด็กที่ป่วยด้วยโรคทางกายและเด็กที่ป่วยด้วยโรคจิตเวช

“ถ้าคุณเป็นเด็กที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ทุกคนล้วนรุมล้อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือ กระตือรือร้นที่จะทำให้ฝันคุณเป็นจริงก่อนคุณตาย แต่ถ้าคุณเป็นเด็กที่ป่วยด้วยโรคจิตเภท ทุกคนผลักให้คุณเป็นปัญหาของคนอื่น เราถึงลงเอยที่ริมถนน ร้องตะโกนอย่างไม่มีเหตุผล รอวันที่จะตาย”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่วรรณกรรมเยาวชนพูดถึงเรื่องสุขภาพจิต ยิ่งในเวอร์ชั่นหนังสือที่ผู้เขียนเลือกเล่าเรื่องผ่านจดหมายที่อดัมเขียนหาจิตแพทย์ ก็ยิ่งทำให้นึกถึงงานโมเดิร์นคลาสสิกที่หลายคนยกขึ้นหิ้งไปแล้วอย่าง The Perks of Being a Wallflower (1999) ที่ตัวเอกผู้มีปัญหาสุขภาพจิตก็เขียนจดหมายหาตัวละครนิรนามเช่นกัน

ผู้เขียนอย่างวอลตันเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Young Entertainment Mag ไว้ว่า ช่วงวัยรุ่นเธอเองก็มีปัญหาสุขภาพจิต นั่นคืออาการวิตกกังวล (anxiety) เธอจึงอยากสื่อสารเรื่องสุขภาพจิตกับวัยรุ่น “ทุกเรื่องที่ถูกบอกเล่าเป็นโอกาสที่จะเรียนรู้ว่าในชีวิตประจำวันผู้คนต้องแบกอะไรที่เรามองไม่เห็นเอาไว้บ้าง เรื่องเล่าจะค่อยๆ กะเทาะตราบาปที่เกาะติดประเด็นเรื่องสุขภาพจิตออกไป คนจะได้เลิกมองสุขภาพจิตด้วยความหวาดกลัว และมีโอกาสที่คนจะเห็นอกเห็นใจกันและกันมากขึ้น”​

นั่นแหละสาเหตุที่ฉันมองข้ามทุกความคลิเช่หรือความซ้ำเดิม แถมพอดูจบยังจะหาทำเขียนบทความถึงมันอีก ยิ่งเรื่องสุขภาพจิตถูกพูดถึงในวงกว้างขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่เด็กๆ เจนฯ นี้จะไม่เติบโตไปเป็นแม่แบบแม่ฉันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

เรียกได้ว่า ยิ่งคลิเช่ก็ยิ่งดีเลยล่ะ

ไม่มีใครอยากป่วย ไม่มีใครอยากให้คนที่รักป่วย

แม้จะมีจุดคล้ายคลึงกับหนังและหนังสือ coming-of-age เรื่องอื่นๆ ที่แตะประเด็นสุขภาพจิตเหมือนกันอย่างที่บอกไป แต่สิ่ง (ที่ฉันคิดว่า) ใหม่ที่ Words on Bathrooms Walls มอบให้คนอ่านและคนดู คือการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยจิตเวชและผู้ดูแลหรือคนชิดใกล้ ฉันรู้สึกคุ้นเคยอย่างบอกไม่ถูกในฉากที่อดัมถกเถียงกับแม่เรื่องแนวทางการรักษา แล้วต่างฝ่ายต่างระบายความรู้สึกอัดอั้นคับข้องจากการรับมืออาการป่วยไข้ที่ไม่ยอมหายไปง่ายๆ สักที 

“ลูกไม่ใช่คนเดียวในบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ลูกคิดเหรอว่าแม่อยากให้ลูกมีชีวิตแบบนี้ หรือให้ตัวเองมีชีวิตแบบนี้” แม่ของอดัมขึ้นเสียง แน่นอนว่าคำถามของเธอไม่ต้องการคำตอบ

ประโยคนั้นชวนให้นึกถึงเมื่อครั้งที่ฉันมีปากเสียงกับแฟนในช่วงที่จมดิ่ง แล้วมันจบลงด้วยน้ำตาของเราทั้งคู่ แฟนฉันบอกว่า “เธอไม่ได้อยากเป็นโรคซึมเศร้า และฉันก็ไม่ได้อยากมีแฟนเป็นโรคซึมเศร้า เธอจะหาย เธอจะต้องหาย” 

ทุกครั้งที่ใครสักคนล้มป่วย ไม่ว่าจะด้วยอาการทางกายหรือทางใจ ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยเท่านั้นที่เจ็บปวด แต่ผู้ดูแลก็รู้สึกถึงความเจ็บปวดไม่ต่างกัน 

ในอีกครั้งที่อดัมคุยกับจิตแพทย์นิรนาม เขาเปิดใจว่า “มันอาจเจ็บปวดที่จะยอมให้ใครคนหนึ่งเห็นคุณในส่วนที่มืดมิดและบิดเบี้ยว แต่คุณต้องหวังว่าพวกเขาจะเห็น เพราะนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง แต่การยอมให้มายารักผมแบบที่ผมเป็นมันเหมือนการยอมให้เธอติดโรคด้วย เธอไม่สมควรถูกรักโดยคนที่ไม่สามารถมองโลกอย่างที่เป็นจริงได้ ถูกไหม”

ถึงอดัมจะพูดอย่างนั้น แต่ในฐานะคนที่เคยผลักไสคนอื่นมาก่อนเหมือนกัน ฉันตีความสายตารวดร้าวของเขาเป็นอีกความหมายหนึ่งโดยสิ้นเชิง 

“โปรดรักผมในแบบที่ผมเป็น รักผมแม้ในส่วนที่มืดมิดและบิดเบี้ยว” สายตาเขาเหมือนจะพูดอย่างนั้น

และเมื่อฉากสุดท้ายมาถึง ตอนที่มายารู้ว่าเขาป่วยเป็นโรคจิตเภท เธอก็ยังเลือกที่จะอยู่กับเขาอยู่ดี 

“นายไม่ยอมให้ฉันเลือกสักนิด นายไม่ให้โอกาสฉันอยู่ด้วยเลย” เธอต่อว่าเด็กหนุ่มที่ปิดบังเรื่องนี้จากเธอมาเนิ่นนาน

“แล้วเธอจะอยู่เหรอ” เขาถาม

บทสนทนาจบลงแค่นี้ เพราะอ้อมกอดของทั้งคู่เป็นคำตอบในตัวมันเอง

เราไม่ใช่โรคนี้ เราคือเรา

วอลตันบอกว่าตอนลงมือเขียนหนังสือเล่มนี้ เธอได้ค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคจิตเภทอย่างละเอียด รวมทั้งได้ให้ผู้มีประสบการณ์ตรงกับโรคจิตเภททดลองอ่านและวิจารณ์เพื่อปรับปรุงแก้ไข แม้ฉันจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคจิตเภทมากพอจะประเมินได้ว่ากลุ่มควันสีดำและตัวละครเพี้ยนๆ 3 ตัวที่เห็นในเรื่องนั้นสมจริงหรือไม่ แต่ในฐานะผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิตคนหนึ่ง ฉันคิดว่าวอลตันค้นพบอินไซต์สำคัญที่เหล่าผู้ป่วยจิตเวชไม่ว่าโรคไหนๆ ล้วนเชื่อมโยงได้

ในฉากท้ายๆ ของเรื่อง อดัมกึ่งนั่งกึ่งนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล แม่ของเขานั่งอยู่ข้างๆ

Words on Bathroom Walls

“แม่เคยบอกให้ผมมองตัวเองว่าเป็นคนที่เผชิญกับโรค แต่ไม่ใช่โรคซะเอง แต่ดูผมสิ” อดัมว่า พยักพเยิดไปที่ตัวเขาซึ่งเต็มไปด้วยบาดแผล ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น

“แม่กำลังดูลูกอยู่ แม่เห็นลูกชายของแม่ คนที่แม่รักเหนือสิ่งอื่นใด”  

บนเส้นทางลุ่มๆ ดอนๆ ของการต่อสู้กับโรค มันง่ายมากที่เราจะหลงลืมไปว่าเราคือเรา คนที่มีความฝันและความหวัง คนที่มีความรักและอยากถูกรัก 

ขอแค่ใครสักคนที่บอกว่าเห็นเรา และรักเราแม้ในส่วนที่มืดมิดและบิดเบี้ยว แค่นั้นก็เพียงพอให้สู้ต่อแล้วล่ะ

AUTHOR