ไม่อยากกลับบ้าน เพจที่อยากออกแบบความกตัญญูและนิยามของครอบครัวในรูปแบบใหม่

Highlights

  • ฝ้าย–บุณฑริกา แซ่ตั้ง คือแอดมินเพจ ‘ไม่อยากกลับบ้าน’ เพจที่เชื่อว่าบ้านไม่ใช่เซฟโซนของทุกคน
  • จากเรื่องราวของตัวเองและคนรอบตัว ฝ้ายเชื่อว่าปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาเฉพาะตัวของแต่ละคน เราไม่สามารถเอาชุดความเชื่อเดิมๆ หรือความเชื่อส่วนตัวไปตัดสินคนอื่นได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือการนำเสนอเพื่อให้คนได้รู้ว่าความเชื่อเรื่องครอบครัวนั้นมีหลากหลาย และคนที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้คือคนที่อยู่ในปัญหานั่นเอง

 

วิธีการนำเสนอที่เพจ ‘ไม่อยากกลับบ้าน’ ใช้คือการหยิบเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคมมาตั้งหัวข้อและเปิดพื้นที่ให้เกิดการแชร์ประสบการณ์ แน่นอนว่าประเด็นหลักที่พูดถึงสอดคล้องกับชื่อเพจนั่นคือปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัว แต่สิ่งที่เพจจุดประกายต่อคือการพยายามลงลึกถึงรากของปัญหานั้นๆ ตั้งแต่เรื่องความหมายของความกตัญญู แนวคิดเรื่องการเคารพความเป็นส่วนตัว ไปจนถึงความแตกต่างด้านจุดยืนทางการเมืองระหว่างคนในครอบครัว ไม่บ่อยนักที่จะเห็นใครสักคนหยิบเรื่องแบบนี้ขึ้นมาพูดในที่แจ้งอย่างตรงไปตรงมา เพราะเหตุนั้น ในบ่ายวันหนึ่งผมจึงได้มานั่งคุยกับ ฝ้าย–บุณฑริกา แซ่ตั้ง แอดมินเพจ ‘ไม่อยากกลับบ้าน’ อย่างที่ตั้งใจไว้

ผมรู้จักเพจ ‘ไม่อยากกลับบ้าน’ ครั้งแรกจากโพสต์ที่พูดถึงพ่อแม่ผู้ถือวิสาสะแกะกล่องพัสดุของลูกโดยที่ลูกไม่ได้ยินยอม ด้วยความสนใจส่วนตัว ผมเข้าไปดูและกดติดตามเพจนี้ตั้งแต่นั้น

วิธีการนำเสนอที่เพจ ‘ไม่อยากกลับบ้าน’ ใช้คือการหยิบเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคมมาตั้งหัวข้อและเปิดพื้นที่ให้เกิดการแชร์ประสบการณ์ แน่นอนว่าประเด็นหลักที่พูดถึงสอดคล้องกับชื่อเพจนั่นคือปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัว แต่สิ่งที่เพจจุดประกายต่อคือการพยายามลงลึกถึงรากของปัญหานั้นๆ ตั้งแต่เรื่องความหมายของความกตัญญู แนวคิดเรื่องการเคารพความเป็นส่วนตัว ไปจนถึงความแตกต่างด้านจุดยืนทางการเมืองระหว่างคนในครอบครัว 

ไม่อยากกลับบ้าน

ไม่บ่อยนักที่จะเห็นใครสักคนหยิบเรื่องแบบนี้ขึ้นมาพูดในที่แจ้งอย่างตรงไปตรงมา เพราะเหตุนั้น ในบ่ายวันหนึ่งผมจึงได้มานั่งคุยกับ ฝ้าย–บุณฑริกา แซ่ตั้ง แอดมินเพจ ‘ไม่อยากกลับบ้าน’ อย่างที่ตั้งใจไว้

ความเป็นมาของเพจคืออะไร ความหมายของคำว่าครอบครัวของฝ้ายเป็นแบบไหน และเพราะเหตุใดเธอถึงไม่อยากกลับบ้าน

เราคุยกันนอกบ้าน แต่ผมหวังเหลือเกินว่าถ้อยคำที่เกิดขึ้นจะส่งเสียงไปถึงในบ้านของใครหลายๆ คน

ไม่อยากกลับบ้าน

จุดเริ่มต้นของเพจคืออะไร

เพจ ‘ไม่อยากกลับบ้าน’ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันแม่ที่ผ่านมา เพจนี้มีที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของเราและประสบการณ์ของคนรอบตัว ที่เติบโตมาด้วยการถูกครอบครัวกดดันหรือถูกว่าด้วยคำพูดที่ไม่ดี เวลาไปเล่าเรื่องแบบนี้ให้คนอื่นฟังเรามักได้ยินคำตอบว่า “พ่อแม่ทำไปเพราะความรัก” ในฐานะของคนที่เจอ การทำแบบนี้ไม่ได้ดีกับเราเลย เราจึงอยากนำเรื่องราวเหล่านี้มาบอกว่ามันส่งผลกระทบต่อคนที่โดนยังไงบ้าง และคนที่มีครอบครัวอบอุ่นก็ไม่มีสิทธิไปตัดสินว่าครอบครัวคนอื่นต้องเป็นแบบนั้น

อย่างคำพูดที่ว่า “พ่อแม่ด่าคือพ่อแม่รัก” กับบางครอบครัวอาจเป็นแบบนั้น แต่ในบางครอบครัวก็ไม่ใช่ บางคนอาจถูกผู้ปกครองทำร้ายจริงๆ แต่พอเขาระบายออกมา มันน่าเศร้าที่เขากลับถูกไล่ให้ไปคุยกับที่บ้านทั้งที่เขาแค่อยากระบายให้ใครสักคนฟัง ดังนั้นอย่าไปคิดแทนว่าการกลับไปคุยกับพ่อแม่จะใช้ได้กับทุกครอบครัว เพราะท้ายที่สุดเราเชื่อว่าคนที่รู้วิธีแก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือคนคนนั้นเอง

 

คุณมีเกณฑ์ในการเลือกเรื่องลงเพจยังไง

ก่อนหน้านี้ถ้าเจอเรื่องที่น่าสนใจเราจะเอามาตั้งคำถามกับสังคมทันที เช่น เรื่องม็อบที่เราโพสต์ในคืนที่มีการสลายการชุมนุม แต่กับหัวข้ออื่นๆ ก็มีทั้งเรื่องที่เราเจอด้วยตัวเองและเรื่องที่คนอื่นเล่าให้ฟังหรือส่งเข้ามาในอินบอกซ์ จริงๆ อินบอกซ์เรามีข้อความทุกประเภทเลยนะ ด่าก็มี อย่างล่าสุดก็โดนด่าว่า “ชาติหมา” งงมาก คุณเอาอะไรมาตัดสินว่าเรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่เราคิดว่าเราทำเพจขึ้นมาก็เพื่อให้คนอย่างคุณมาอ่านนี่แหละ

ไม่อยากกลับบ้าน

ไม่อยากกลับบ้าน

เพจเคลื่อนไหวมาสักพักหนึ่งแล้ว ถือว่าเป็นไปตามที่หวังไหม

เกินกว่าที่คาดหวังมากๆ อย่างตอนลงเรื่องม็อบและเรื่องแกะพัสดุ คนมาไลก์จากไหนไม่รู้เป็นพันคน (นิ่งคิด) ส่วนตัวยอดไลก์ไม่ใช่สิ่งที่เราคาดหวังอยู่แล้วนะ สิ่งที่เราสนใจคือคอมเมนต์ มันออกมาเกินกว่าที่เราคิดไว้เยอะเลย 

ตอนแรกเราตั้งรับไว้อย่างดีว่าเพจนี้จะต้องเกิดการปะทะทางความคิดจาก generation gap หรือช่องว่างของวัยแน่ๆ ต้องมีผู้ใหญ่มาว่าเราว่าเป็นเด็กเปรตหรืออกตัญญูแน่นอน แต่ปรากฏว่าคอมเมนต์เหล่านั้นถือเป็นส่วนน้อยมาก ผู้ใหญ่บางคนเห็นด้วยกับเราด้วยซ้ำเพราะตัวเขาเองก็เจอเรื่องแบบนี้มา มันลึกกว่าที่เราคิดไว้ ยิ่งถ้าเจ้าของเรื่องในแต่ละโพสต์มาอ่านเขาจะเห็นเลยว่าเขาไม่ได้กำลังเผชิญหน้ากับโลกแบบนี้อยู่คนเดียว

สิ่งที่เกิดขึ้นอีกอย่างที่เรารู้สึกดีคือแต่ละคนที่มาคอมเมนต์มักเล่าวิธีการจัดการปัญหาของตัวเองลงไปด้วย เช่น บางคนก็เพิกเฉยกับที่บ้านไปเลยเพื่อความสบายใจ บางคนก็หันไปพึ่งธรรมะ มันตอกย้ำความเชื่อของเราว่าทุกคนมีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างกัน ดังนั้นเราไปตัดสินใครไม่ได้

 

คุณคิดว่าความแตกต่างของวัยทำให้เกิดปัญหาในบ้านมากขนาดไหน

เราคิดว่าเป็นเรื่องหลักแต่มันก็คงประกอบกับเรื่องอื่นด้วย เช่น ยุคสมัยที่นำเอาความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลเข้ามา 

อย่างสมัยก่อนพอไม่มีเทคโนโลยี เวลาพ่อแม่สอนอะไรลูกก็จะฟังโดยไม่ตั้งคำถาม เช่น การที่พ่อแม่บอกว่า ‘เขาบอกมาว่าลูกต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้’ ตอนนี้เราสามารถตั้งคำถามและหาคำตอบได้ทันทีว่า ‘เขา’ ที่ว่าคือใคร มีตัวตนจริงไหม ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความคิดของสมาชิกแต่ละวัยในบ้านจะแตกต่างกัน ในขณะเดียวกันเด็กๆ ก็ยังคงเชื่อว่าบ้านเป็นที่ที่เขาสามารถเล่าทุกอย่างให้ฟังได้เหมือนเดิม ดังนั้นมันเลยเกิดความขัดแย้ง เพราะเด็กๆ หลายคนเกิดคำถามว่าทำไมพ่อแม่ถึงไม่เข้าใจเขา

ไม่อยากกลับบ้าน

โพสต์ในเพจคุณเคยพูดถึงแนวคิดเรื่องความ ‘กตัญญู’ และการ ‘ทดแทนบุญคุณ’ คุณคิดยังไงกับสองคำนี้

ในสังคมที่เราโตมา เราได้ยินตั้งแต่เด็กว่าต้องมีลูกสิ ลูกจะได้เลี้ยงเราตอนแก่ โอเค สุดท้ายอาจต้องเป็นแบบนั้น แต่ที่เราสงสัยคือระหว่างทางล่ะ เกิดอะไรขึ้นกับเด็กที่เกิดมาด้วยแนวคิดแบบนั้นบ้าง เด็กเหล่านั้นถูกทำร้ายมากแค่ไหนเพื่อแนวคิดนี้

ในความคิดเรา คำว่า ‘กตัญญู’ อาจต้องถูกนิยามใหม่ได้แล้ว ถ้ายึดตามหลักวิทยาศาสตร์ เราว่าแอ็กชั่นควรเท่ากับรีแอ็กชั่น เพราะในปัจจุบันหลายๆ ครั้งความกตัญญูก็ตั้งอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์นี้ เช่น การที่พ่อแม่คิดว่าตัวเองมีสิทธิทำร้ายจิตใจลูกยังไงก็ได้เพราะเป็นคนให้เงินเลี้ยงดูมาและยังหวังให้ลูกทดแทนบุญคุณ มันไม่เท่ากันหรือเปล่า

 

แล้วคุณคิดยังไงกับประโยคที่ว่า ‘อย่างน้อยพ่อแม่ก็ทำให้เราเกิดมา’

เราอยากตั้งคำถามกลับว่าแล้วพ่อแม่แต่ละคนทำให้ลูกเกิดมาเพราะอะไร บางคนอาจมีลูกเพื่อเป็นโซ่ทองคล้องใจจริงๆ แต่บางคนก็อาจมีลูกเพื่อให้มีคนคอยเลี้ยงดูตอนแก่หรือตอบสนองความต้องการที่เขาไม่เคยได้ แม้กระทั่งบางคนที่มองว่าการเกิดมาของลูกคือภาระก็มี อย่างที่บอกไปว่าเราควรหานิยามใหม่ให้คำพูดเหล่านี้ 

 

มีคำกล่าวที่ว่า ‘เรื่องของครอบครัวเขา เราไม่ควรเข้าไปยุ่ง’ ในฐานะของคนที่ทำเพจนำเสนอเรื่องของครอบครัว คุณคิดยังไง

มองในภาพรวมใหญ่ ในความคิดของเรา ‘สถาบันครอบครัว’ มีโอกาสปลูกฝังระบบอำนาจนิยมให้กับคนคนหนึ่งได้สูงมาก ดังนั้นจึงมีโอกาสที่สถาบันนี้จะเป็นพื้นที่ที่ผลิตซ้ำความคิดเรื่องอำนาจนิยมสู่สังคม ซึ่งถ้าเราไม่หยุดวงจรการผลิตนี้ปัญหาจากระบบอำนาจนิยมก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ คำถามคือเราจะปล่อยไปแบบนี้จริงๆ เหรอ 

ในเมื่อผลกระทบจากสถาบันครอบครัวมันเกิดขึ้นเป็นห่วงโซ่ขนาดนี้ ทำไมเราจะนำเสนอไม่ได้ล่ะ เรามายอมรับว่าสังคมมีปัญหากันก่อนได้ไหม เพื่อที่หลังจากนี้เราจะได้คุยกันว่าจะแก้ไขปัญหายังไงได้บ้าง เราอยากให้กระบวนการเป็นแบบนี้เพราะในเมื่อโลกหมุนไปทุกวัน เราจะมาย่ำอยู่กับที่ทำไม

ในความเห็นคุณ คำว่า ‘ครอบครัว’ คืออะไร 

สำหรับเราครอบครัวคือคนที่มีความรัก ความห่วงใย และความสบายใจต่อกัน อาจมีจุดที่เข้ากันไม่ได้ แต่ครอบครัวก็จะยอมรับในความเปลี่ยนแปลงของกันและกัน (นิ่งคิด) แต่เราก็ไม่เอาสิ่งที่ตัวเองนิยามไปตัดสินครอบครัวของคนอื่นหรอก ใครจะนิยามต่างออกไปก็ไม่เป็นไร 

อย่างการทำเพจก็มีคนคอมเมนต์บอกเหมือนกันว่าเพจนี้ไม่สร้างสรรค์เลย เอาแต่จี้ใจดำ ไม่ช่วยอะไรเลย (ขำแห้ง) เรายืนยันว่าตัวเองไม่ได้อยากอาสาเป็นคนกลางสื่อสารระหว่างลูกกับพ่อแม่ของคนอื่นเพราะเราไม่ใช่หมอหรือนักจิตบำบัด อาชีพหลักเราเป็นดีไซเนอร์ด้วยซ้ำ เพียงแต่เราไม่เชื่อในนิยามหรือวิธีการแก้ปัญหาแค่วิธีเดียว เราจึงมีหน้าที่แค่นำเสนอคำว่าครอบครัวให้มีความหลากหลายเท่านั้นเอง 

 

สุดท้ายแล้วคุณคิดว่าคนที่เกิดมามีบ้านที่ไม่สมบูรณ์จะสามารถสร้างบ้านที่สมบูรณ์ได้ไหม

ได้สิ เราคิดว่าได้ 

สำหรับเรา การที่คนสองคนจะสร้างครอบครัวร่วมกันมันเกิดจากที่สองครอบครัวมารวมกัน ดังนั้นเรายังเชื่อว่าทุกคนมีโอกาสสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์แบบได้ ถึงเราขาด คู่ของเราก็อาจจะเข้ามาเติม เช่นเดียวกับเรื่องที่เขาขาด เราก็อาจจะเข้าไปเติม จริงอยู่ที่ทุกอย่างต้องใช้เวลาหรืออาจไม่ใช่ทุกคนที่โชคดีเสมอไป แต่เราก็ยังเชื่อมั่นว่ามีโอกาสเป็นไปได้

ไม่แน่นะ วันหนึ่งเราอาจจะอยากกลับบ้านขึ้นมาบ้างก็ได้ 


AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone