ผู้กำกับชื่อดังท่านหนึ่งเคยกล่าวกับผมว่า “ไม่มีหรอกหนังที่ไม่ดี มีแค่หนังที่ถูกใจและไม่ถูกใจเรา”
ในตอนนั้นที่ได้ฟัง ผมนั่งนึกตามและได้แต่พยักหน้าเห็นด้วย เพราะถ้ามาลองขบคิด คำว่า ‘ดี’ นั้นเป็นเรื่องรสนิยมของแต่ละบุคคลที่ไม่อาจเหมือนกันได้ทั้งหมด ดีเขา ดีเรา หรือดีใครล้วนมีความแตกต่าง ยิ่งกับงานสื่อและศิลป์บนจอแก้วอย่างภาพยนตร์ ผู้กำกับท่านนั้นแสดงความเห็นว่าเราไม่อาจพูดชมหนังเรื่องไหนว่าดีหรือไม่ดีได้อย่างเต็มปากได้เลย แต่ถ้ารู้สึกกับเรื่องไหนมากๆ เราสามารถใช้คำว่า ‘ถูกใจ’ หรือ ‘ไม่ถูกใจ’ ได้
น่าแปลกที่หลักคิดนั้นย้อนกลับมาในความคิดผมตอนที่ได้อ่านเพจเล่าเรื่องภาพยนตร์อย่าง ‘Vintage Motion’ เช่นกัน
ในยุคที่ใครก็สามารถเล่าเรื่องได้ผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเอง เพจภาพยนตร์เกิดขึ้นจนนับแทบไม่หวาดไม่ไหว แต่ท่ามกลางสื่อมากมายที่ยอดไลก์เป็นแสนเป็นล้าน ‘Vintage Motion’ เป็นหนึ่งในเพจที่ผมรู้สึกว่าเล่าเรื่องภาพยนตร์ได้ ‘ถูกใจ’ แม้ยอดไลก์ยังไม่แตะหกหลัก
และถ้าวันกันตามจริง การหยิบหนังเก่าหรือปูมหลังในอดีตของนักแสดงมาเล่าก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ด้วยการเขียน จังหวะภาพ และการเล่าเรื่องที่ทำให้คนอ่านสนุกและสุขตาม ทำให้เมื่อไถฟีด ผมมักจำโพสต์ของเพจนี้ได้ทันที รู้ตัวอีกทีผมก็เป็นหนึ่งในผู้ติดตามที่ตามอ่านเกร็ดในวงการภาพยนตร์จากเพจอยู่ทุกวันเสียแล้ว
เมื่อเดือนก่อน เพจต่อยอดการเล่าเรื่องในวงการภาพยนตร์ของตัวเองออกมาเป็นหนังสือในชื่อ Back to the 90s ที่ไม่กี่วันหลังเปิดพรีออร์เดอร์รอบแรก ยอดสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ก็ครบตามจำนวน และในวันนี้ (20 พฤษภาคม) พวกเขากำลังเปิดพรีออร์เดอร์รอบสอง เรื่องราวการทำเพจไปสู่การทำหนังสือที่ผลตอบรับดีเช่นนี้เองคือเหตุผลที่ผมอยากสนทนากับเขา
ในความเป็นจริง ใช้คำว่า ‘เขา’ อาจไม่ถูกนัก เพราะในตอนแรก ผมไม่แน่ใจว่าเพจที่ลงคอนเทนต์ทุกวันมาเป็นเวลาหลายปีนี้มีผู้อยู่เบื้องหลังกี่คน แต่หลังจากแนะนำตัวและทำความรู้จักกัน คำว่า ‘เขา’ กลายเป็นสรรพนามที่ถูกต้องแล้ว เพราะตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน Vintage Motion เกิดขึ้นจากคนเพียงคนเดียวทุกขั้นตอน
และถ้าเปรียบเป็นหนัง ทีม–ธนันต์ อยู่ในศิล คือหนึ่งเดียวในหนังเรื่องนี้
ฅ คน รัก หนัง
“สำหรับผม ภาพยนตร์คือความชอบตั้งแต่จำความได้ หนังเป็นส่วนหนึ่งของหลายความทรงจำตอนเด็ก แต่ถ้าเอาความทรงจำแรก ผมจำได้ว่าคือ James Bond ภาค GoldenEye ที่ได้ไปดูในโรงภาพยนตร์ นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมรู้สึก ‘หูย!’ (หัวเราะ)
“ความมหัศจรรย์บนจอนั้นติดตาติดใจผม ภาพ Pierce Bosnan ใช้เลเซอร์เจาะพื้นรถไฟทำให้ผมประทับใจมาก และด้วยสภาพแวดล้อมที่บ้านที่มีวิดีโอหลายเรื่อง ผมกลายเป็นคนชอบดูหนังตั้งแต่นั้น เรื่อยมาจนถึงช่วงมัธยมที่ผมเริ่มมีแนวทางดูกว้างขึ้น จากดูหนังสนุกๆ ผมเริ่มดูหนังหลายแนว จนวันหนึ่งที่ได้ดูหนังเรื่อง The Princess Diaries เรื่องนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนของผมเลย
“ผมชอบ Anne Hathaway ในเรื่องมาก แต่ผมสงสัยว่าทำไมก่อนหน้านี้ผมไม่รู้จักเธอเลย หลังจากดูจบผมจึงไปหาในอินเทอร์เน็ตต่อว่าเธอเป็นใคร นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมได้รู้จัก imdb.com ที่มีทุกอย่างเกี่ยวกับภาพยนตร์ ทำให้ต่อยอดการดูหนังของตัวเองไปได้อย่างไม่รู้จบ หนังเรื่องไหนที่เขาว่าดีผมไปหาดู ผมกลายเป็นคนที่ชอบดูหนังแบบจริงจัง ถึงขนาดที่ว่าทุกวันนี้ผมดูหนังในโรงภาพยนตร์เกือบทุกเรื่อง ถ้าช่วงไหนท็อปฟอร์มหน่อย ผมดูเฉลี่ย 10 เรื่องต่อเดือน ผมอยากเก็บให้หมด ผมเปิดรับทุกแนว เป็นอย่างนี้มาตลอดจนถึงวัยทำงาน
จุดเริ่มต้นจากการเป็นที่ระบายและไม่ตั้งใจ
“แม้ชอบดูหนังมาก แต่ด้วยอาชีพผมทำงานเขียนข่าวกีฬา ภาพยนตร์เป็นแค่ความชอบที่ผมไม่ได้ยึดถือเป็นอาชีพหลัก ดังนั้น Vintage Motion จึงเกิดขึ้นจากความไม่ได้ตั้งใจ
“เวลาดูหนังจบ ผมไม่ค่อยมีเพื่อนให้แชร์หรือคุยลึกๆ เกี่ยวกับหนังที่ดูไป นานวันเข้าความรู้สึกอยากเปิดเพจจึงเกิดขึ้น เพราะนิสัยผมคือชอบเข้าไปอ่านเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของหนังใน IMDb.com การได้รู้ตื้นลึกหนาบางว่าจริงๆ แล้วหนังเรื่องนี้สร้างยังไง กว่าจะได้นักแสดงคนนี้มา หรือเบื้องหลังของแต่ละฉากคืออะไรบ้าง ทั้งหมดนี้ทำให้ผมสนุก นานวันเข้าก็อยากระบายมันออกมา ผมจึงเปิดเพจเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และเริ่มเขียนโดยที่ไม่ได้คาดหวังอะไร อยากเขียนเมื่อไหร่ก็เขียน เขียนตามใจฉัน สั้นก็ได้ยาวก็ได้ ตอนแรกไม่ได้หวังให้ใครอ่านด้วยซ้ำ ผมมองเพจเป็นที่ระบายเฉยๆ จนผ่านไป 2 ปีก็มีจุดเปลี่ยน
“วันดีคืนดีมีเพจหนังดังเพจหนึ่งแชร์คอนเทนต์ไปเพื่อโปรโมตและแนะนำให้คนมาติดตามเพจ จากคนไลก์ประมาณ 300 แค่คืนนั้นคืนเดียวคนเข้ามาหลายพัน แต่ตอนนั้นผมไม่ได้ดีใจนะครับ ผมตกใจและกลัว เหมือนผมรู้สึกว่าคนหลายพันกำลังเห็นงานห่วยของเรา นั่นตามมาด้วยความรู้สึกว่าอยากเขียนให้ดีขึ้น จากตรงนั้นเพจจึงค่อยๆ ชัดเจนและจริงจัง จากที่ตอนแรก Vintage Motion เป็นเซฟโซนสบายใจที่ผมจะเขียนอะไรก็ได้ ผมเริ่มรู้สึกว่าต้องทำอะไรมากกว่านี้”
เรื่องเล่าวินเทจของทีม
“ความจริงข้อหนึ่งเวลาเพจมีผู้ติดตามเยอะๆ คือคนที่เขาเข้ามาใหม่ เขาไม่ได้เข้ามาเพราะรู้จักคนทำ แต่เขาเข้ามาเพื่ออ่านคอนเทนต์ สิ่งนี้คือความคาดหวังที่ทำให้ผมต้องพัฒนา
“ยกตัวอย่างเช่นถ้าผมอยากเล่าถึงประวัตินักแสดง ประวัติผู้กำกับ หรือที่มาของภาพยนตร์ หลังจากเพจได้รับความสนใจ ผมไม่สามารถเล่าง่ายๆ เหมือนอ่าน wikipedia ได้ คอนเทนต์ไม่ควรเป็นการบอกว่าเขาทำงานนี้มา ทำอันนี้ต่อแล้วจบ ชีวิตของพวกเขามีเรื่องราวมากกว่านั้น กว่าจะได้ทำหนังหรือได้แสดง เขาต้องเจออะไรบ้าง ไหนจะชีวิตส่วนอื่นของเขาอีก ทั้งหมดผมเลือกหยิบมาเขียนด้วยทักษะการเขียนที่ตัวเองพอมีจากงานประจำ และเริ่มจริงจังขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นว่าผมเริ่มสนุก
“เวลาเขียน วิธีการสำคัญของผมคือการหาวัตถุดิบให้ได้เยอะๆ ไว้ก่อน หลังจากนั้นผมจะเลือกว่าเขียนมุมไหนดี หรือถ้าเขียนถึงภาพยนตร์เรื่องไหนก็ตาม ผมยึดถือว่าตัวเองต้องดูมาแล้วเท่านั้นถึงเขียนได้ ดังนั้นเวลาเขียนชิ้นหนึ่ง ถึงโพสต์ไม่ยาวแต่ผมใช้เวลาค่อนข้างมาก ด้วยเหตุนี้ผมถึงต้องรู้ล่วงหน้าว่าต้องเขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไร ตอนไหน
“ในแต่ละวันผมมีตารางกำหนดไว้ ตารางนี้กำหนดคอนเทนต์ไว้ล่วงหน้าประมาณหนึ่งเดือน ยิ่งส่วนหนึ่งของคอนเทนต์ผมคือวันเกิดของนักแสดง ผู้กำกับ หรือวันครบรอบหนังฉายด้วย สิ่งเหล่านี้จึงต้องหาข้อมูลและวางตารางไว้ก่อน นี่ทำให้คอนเทนต์ของเพจไม่ซ้ำกัน เพราะผมวางกฎไว้ว่าภายใน 1-2 เดือนต้องไม่มีคอนเทนต์เรื่องคนเดิมหรือหนังเรื่องเดิมซ้ำ เพื่อให้คนอ่านได้พูดคุยกันในเรื่องที่ต่างออกไป”
วินัยคือสิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือความสบายใจ
“เพจนี้เกิดขึ้นจากผมเพียงคนเดียว ตารางที่ผมวางไว้จึงเป็นเหมือนข้อบังคับให้กับผม ทำไปนานวันเข้าเพจก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันผม ยอมรับว่าบางทีมีขี้เกียจบ้าง บางทีตันบ้างเพราะคิดไม่ออก หรือบางครั้งก็หนักจนอยากเท แต่ทุกครั้งที่เป็นแบบนั้น อีกใจหนึ่งผมจะบอกเสมอว่าไม่ได้ ผมต้องเขียน มันผิดมากถ้าไม่เขียน
“ตั้งแต่เริ่มทำเพจจริงจังเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ไม่มีวันไหนที่ผมเว้นว่าง ทุกวันต้องมีอย่างน้อยหนึ่งโพสต์ การเขียนคอนเทนต์ลงเพจกลายเป็นการเสพติดสำหรับผม ถ้าไม่เขียนผมรู้สึกเสียดาย อาจเป็นความอยากของคนชอบเล่าเรื่องด้วย ถ้ารู้สึกอยากเล่าก็ต้องเขียน ไม่เขียนไม่ได้
“เพจผมไม่รับงานโฆษณา อันนี้เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกของผม ผมเริ่มทำเพจเพราะผมชอบ ดังนั้นผมไม่อยากให้มีเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยว ถ้ารับงานคนอื่นและต้องเขียนตามที่คนอื่นบอกผมไม่เอาดีกว่า ผมอยากให้เพจนี้คือพื้นที่ที่ผมสบายใจ เพราะแค่ด้วยงานประจำที่ทำก็ต้องโดนประเมินอยู่แล้ว ดังนั้นผมขอเว้นตรงนี้ให้เป็นที่สบายใจดีกว่า
Back to the 90s
“ถ้าเทียบกับจุดเริ่มต้น หนังสือเล่มนี้คือสิ่งที่ผมไม่คาดคิด ผมไม่เคยกล้าหวังเห็นผลงานออกมาเป็นรูปธรรม ดังนั้นต้องขอบคุณ Spacebar Design Studio ที่ทักมาชวนจนทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้น
“การมีหนังสือของตัวเองเป็นความฝันของคนชอบเขียนอยู่แล้ว พอเขาชวนมาผมจึงตอบตกลง หลังจากนั้นเราคุยกันเรื่อยๆ ว่าทำรูปแบบไหนดี ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาพอสมควร เราโยนไอเดียกันจนออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ หน้าที่หลักของผมคือการเขียน ในเล่มจะมีงานเก่าที่นำมาเพิ่มเนื้อหาประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และงานที่เขียนขึ้นมาใหม่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์
“ตอนนี้หนังสือเสร็จแล้ว ก่อนหน้านี้เปิดให้พรีออร์เดอร์รอบแรกและจัดส่งไปแล้ว วันที่ 20 พฤษภาคมนี้จะเปิดให้พรีออร์เดอร์อีกรอบ สำหรับผมผลตอบรับที่เกิดขึ้นเกินคาดมาก ต้องขอบคุณทุกคนจริงๆ ที่ติดตาม เพราะถ้าหันกลับไปมองวันแรก Vintage Motion ถือว่ามาไกลมาก จากการเขียนก๊อกๆ แก๊กๆ ในสิ่งที่ตัวเองชอบโดยไม่ได้คาดหวัง จากที่เป็นพื้นที่ที่ขอแค่ตัวเองสนุกและได้ระบาย มาถึงวันนี้ที่กำลังมีหนังสือ ผมดีใจมาก สุดท้ายนี้ หวังว่าทุกคนจะชอบกันครับ”
ภาพยนตร์ 3 เรื่องที่แนะนำโดยทีม
The Invisible Woman
“หนังเรื่องนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก นี่เป็นหนังที่ Ralph Fiennes กำกับและแสดงนำไว้ เกี่ยวกับช่วงท้ายๆ ของชีวิต Charles Dickens ที่เกี่ยวข้องกับหญิงสาวคนหนึ่ง หนังเล่าถึงความสัมพันธ์ลับๆ ของทั้งคู่ บรรยากาศในหนังเลยออกมาเหงาๆ ผมชอบเพราะหนังพูดถึงความสัมพันธ์ของคนสองคนได้ดีครับ”
In Bruges
“หนังตลกร้ายที่แสดงนำโดย Colin Farrell เกี่ยวกับมือปืนที่ไปพลาดยิงเด็กและถูกตามฆ่าโดยเพื่อนสนิท มันกลายเป็นเรื่องอลวน มั่วๆ ชุลมุน มีทั้งโรแมนติก ตลก อบอุ่น และน้ำตาไหล ผมชอบมาก”
Portrait of a Lady on Fire
“ผมชอบเรื่องนี้มาก ดูในโรงไปหลายรอบ ไม่รู้อธิบายเป็นคำพูดยังไง เอาเป็นว่าผมชอบทุกองค์ประกอบในหนังเรื่องนี้เลย”