Rainforest the Wedding : บริษัทสุดฮอตที่ช่วยเนรมิตงานแต่งในฝันให้คู่บ่าวสาว

สำหรับคู่รักหลายคู่
งานแต่งงานคือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิต
เจ้าของงานแต่งส่วนใหญ่จึงมักทุ่มเทเพื่อสร้างสรรค์งานแต่งของตัวเองให้ออกมาดีที่สุด
ซึ่งแน่นอนว่าถ้าไม่ลงมือทำเอง ก็ต้องพึ่งพาตัวช่วยอย่างบริษัทรับจัดงานแต่งงานมาช่วยทำความฝันให้เป็นจริง หนึ่งในบริษัทที่ทีมงานประจักษ์ถึงการสร้างสรรค์ผลงานได้สวยงาม
และแตกต่างไม่เหมือนใคร คือ Rainforest the Wedding บริษัท Wedding Consultant Design and Decoration ชื่อดังที่มีหัวเรือใหญ่คือ คุณโจ้-ชยวัสส์ ปัญจภักดี
ตัวอย่างผลงานของบริษัทนี้หลายท่านอาจจะได้เห็นผ่านตามาแล้วบ้าง เช่น
งานแต่งอลังการของคุณชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต นักแสดงสาวสุดฮอต
เราจึงขอนัดคุยกับโจ้เพื่อพูดคุยถึงเบื้องหลังการรังสรรค์ผลงาน
รวมถึงการบริหารธุรกิจการจัดงานแต่งงานจนกลายเป็นบริษัทชั้นนำของเมืองไทย

เรื่องราวจะสนุก
น่าสนใจแค่ไหน ลองอ่านได้ตั้งแต่บรรทัดถัดไป

เริ่มจากความสนใจส่วนตัว
“งานจัดดอกไม้ของผมเริ่มจากการจัดงานแต่งงานให้เพื่อนเมื่อเกือบสิบปีก่อน
ตอนนั้นเพื่อนจะแต่งงาน
ซึ่งเป็นช่วงที่การจัดงานแต่งงานเริ่มมีสีสันและการออกแบบสวยงามมากขึ้น
เพื่อนก็มีงบประมาณในการตกแต่งสถานที่อยู่ในใจแต่เป็นตัวเลขที่จัดว่าเป็น minimum spending ของช่างดอกไม้ชื่อดังในยุคนั้น ผมเลยเสนอตัวขอจัดดอกไม้ให้
เพราะตอนนั้นผมก็อยากทำอะไรที่แตกต่างจากที่วงการทำอยู่ในตอนนั้น
ความจริงผมไม่ได้เรียนเรื่องการจัดดอกไม้มาเลย แต่สนใจงานศิลปะหลากหลายแขนง
และชอบศึกษาแบบครูพักลักจำมากกว่า หลังจากที่มีโอกาสจัดงานให้เพื่อน
ไม่คิดเหมือนกันว่ามันจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต
เพื่อนเอาผลงานการจัดดอกไม้ไปรีวิวในเว็บไซต์เกี่ยวกับงานแต่ง
เลยทำให้มีคนสนใจติดต่อถามมาว่าใครจัดดอกไม้ให้ อยากให้ผมไปจัดให้บ้าง
เลยเริ่มมีลูกค้ามาให้แสดงฝีมือต่อ พอผลงานเริ่มทำออกมาเรื่อยๆ คนก็เริ่มรู้จัก
ลูกค้าก็เริ่มเข้าเยอะจนผมต้องลาออกจากงานประจำเพื่อมาดูแลบริษัท Wedding Organizer ของตัวเองอย่างเต็มรูปแบบ”

ผสานตัวตนของบริษัทและความต้องการลูกค้า
“ต่อให้ลูกค้าศึกษาหรือเตรียมงานมาดีแค่ไหน
ลูกค้าก็มีประสบการณ์ในการเตรียมงานที่น้อยกว่าเรา
เพราะในวงการนี้คนส่วนใหญ่จะเริ่มให้ความสนใจกับงานแต่งงานก็ต่อเมื่อคุณกำลังจะแต่งงาน มันไม่ใช่เรื่องที่คนส่วนมากจะคุ้นเคย
หรือมีข้อมูลแน่นอยู่แล้ว อีกเหตุผลหนึ่ง การออกแบบงานแต่งเป็นเรื่องของศิลปะ
และเป็นเรื่องขอการจัดงานที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยในแต่ละครอบครัว
ดังนั้นลูกค้าหลายคนอาจจะไม่ถนัด และไม่มีความรู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร
ดังนั้นลูกค้าจึงมักอธิบายถึงรูปแบบการจัดงานและความชอบในแนวกว้างๆ มากกว่า
เราจึงมีหน้าที่แนะนำและเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้ลูกค้า
รวมถึงทำความเข้าใจไอเดียของลูกค้าให้ชัดขึ้น ดูเฉพาะเจาะจงขึ้น
การดีไซน์งานแต่งงานแต่ละงานจึงเป็นเหมือนการเจอกันครึ่งทาง
โดยเรามีหน้าที่ตีโจทย์ว่าสิ่งที่เขาชอบคืออะไร
แล้วจะเอาสิ่งที่เขาชอบไปปรับให้เป็นเนื้องานของเราอย่างไร
และอะไรคือแรงบันดาลใจในการออกแบบงาน เช่น
เจ้าบ่าวเจ้าสาวเอางานที่มีเชิงเทียนคริสตัล มีคริสตัลห้อยเต็มไปหมดมาให้ดู
สิ่งที่เขาชอบก็คือสิ่งที่เป็นคริสตัลหรือเป็นวัสดุที่เป็นประกายเล่นกับไฟได้ดี
เราก็จะเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นองค์ประกอบในการออกแบบร่วมกับดอกไม้
เพื่อให้เนื้องานออกมาดูเฉพาะตัว เป็นตัวตนของเจ้าบ่าวเจ้าสาว ไม่ใช่การก๊อปปี้ต้นแบบ”

เงินคือกรอบ
“ลูกค้าอยากจัดงานยิ่งใหญ่แค่ไหน ถ้าคุณมีงบประมาณ
แพงแค่ไหนผมก็ทำได้แต่ในโลกของความเป็นจริง
งานแต่งทุกงานถูกจำกัดขอบเขตด้วยงบประมาณ ดังนั้นในแต่ละรูปแบบการตกแต่ง
จะมีตัวบ่งบอกถึงต้นทุนที่ถูกแพงต่างกันไป แต่งานที่ดีไม่ใช่งานที่แพง แต่เป็นงานที่มีความลงตัวกับงบประมาณ
เช่น การมีงบน้อยแต่จัดงานธีมเจ้าหญิง เป็นการยากมากที่เราจะเป็นเจ้าหญิงที่ดูโก้หรูหรือสง่างาม แต่ถ้างบน้อย จัดงานที่น่ารัก เก๋
และมีคาแรกเตอร์ เน้นจุดที่ควรเน้น คุณก็มีงานที่น่าประทับใจได้
ดังนั้นอย่าฝืนที่จะจัดงานในรูปแบบที่ไม่สอดคล้องกับงบที่มี”

รับมือเทรนด์ที่เปลี่ยนเร็ว
“โดยปกติแล้ว
เราจะคุยกับลูกค้าว่าให้ดราฟต์แรกของการออกแบบตัวงานแต่งเสร็จประมาณ 3 เดือนก่อนวันงานจริง ยกเว้นบางคู่ที่มาเป็นกรณีฉุกเฉิน
สาเหตุที่เราใช้กำหนดเวลานี้ เนื่องจากบริษัทผมเปลี่ยนเทรนด์ค่อนข้างเร็ว
และลูกค้าที่เห็นแบบไปนานกว่า 3 เดือน
สุดท้ายเกือบจะทุกคู่จะขอเปลี่ยนแบบเมื่อใกล้วันงาน เนื่องจากพอเห็นแบบทุกวัน
เขาจะเริ่มรู้สึกไม่ตื่นเต้นกับสิ่งที่อยู่ในมือแล้ว และพอผ่านไปสัก 2 – 3
เดือนก็จะเริ่มมีดีไซน์ของคนอื่นที่ก้าวหน้ามากกว่ามาปรากฏขึ้นในเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม
เขาก็จะเริ่มรู้สึกว่างานตัวเองสวยสู้งานที่เห็นไม่ได้
ก็จะเริ่มอยากเปลี่ยนแบบ สุดท้ายเราก็เลยบอกว่า
ดราฟต์แรกจะส่งตอนที่ใกล้วันงานจริงหน่อย แล้วถ้าถูกใจหรือไม่ถูกใจ
เราก็จะแก้ไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้แบบค่อนข้างเป็นดีไซน์อัพเดตที่สุด”

ประณีตและสร้างสรรค์
“ผมคิดว่าเราทำงานได้หลากหลายรูปแบบ
แต่ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์คือการทำงานที่ดูแล้วประณีตเรียบร้อย
เหมือนกับเวลาซื้อเสื้อผ้าที่ดูภายนอกแล้วคล้ายก็จริง
แต่การคัตติ้งที่ใส่แล้วสบายหรือว่ามีตะเข็บที่เย็บเก็บเรียบร้อย
มันคือความแตกต่างของการตัดเย็บเสื้อผ้า อีกจุดเด่นนึงคือ ความคิดสร้างสรรค์
ผมคิดว่าเราค่อนข้างทำงานหนีวงการมากกว่าตามกระแสของวงการ
หมายถึงว่าช่วงนี้เทรนด์นี้มา เราพยายามที่จะทำอะไรที่หนีไปจากเทรนด์
หรือพยายามออกแบบงานของเราให้ดูแตกต่าง มีความเป็นตัวของตัวเอง และแปลกใหม่
อย่างเช่นปีนี้ เราก็จะมีการทำเวทีที่เป็นอะคริลิกใส
ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวยืนตัดเค้กโดยมองไปด้านล่างแล้วเห็นเป็นทุ่งดอกไม้
นอกจากนี้ก็มีการใช้งานสถาปัตยกรรมเข้ามาช่วยในเรื่องของการออกแบบ
มีดีไซน์ที่ดูเป็นแลนด์สเคปมากขึ้น
มากกว่ารูปแบบจัดงานที่เห็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน”

สิ่งชั่วคราวที่อยู่กับเราตลอดไป
“บางคนบอกว่าเราเห็นดอกไม้แค่แป๊บเดียว เดี๋ยวก็ต้องทิ้งหมด
แต่หากเราพิจารณาให้ดี จะเห็นว่าทุกอย่างในงานแต่งก็อยู่กับเราชั่วครู่เดี๋ยวเดียว
การแต่งหน้าแสนแพงให้เราสวยที่สุด ชุดเจ้าสาวที่จะใส่แค่ครั้งเดียวในชีวิต อาหาร
เครื่องดื่มในงานก็หมดในมื้อเดียวเหมือนกัน มันอยู่ที่การให้ความสำคัญ
ว่าสิ่งที่คุณจะเหลือจากงาน มันไม่ใช่ดอกไม้ หรืออาหาร
แต่มันเป็นความทรงจำที่ทำให้คุณยิ้มได้ทุกครั้งเมื่อหวนนึกถึง เพราะฉะนั้น
สิ่งที่เราขายทุกวันนี้คือขายประสบการณ์และความทรงจำให้กับลูกค้า ไม่ใช่ขายแค่ดอกไม้ที่ทำให้งานดูสดชื่น
แต่ขายสิ่งที่จะเป็นเรื่องราววันสำคัญของเขามากกว่า
ที่จริงผมมองว่าทุกวันนี้คนให้ความสำคัญกับการตกแต่งสูงขึ้น
บางคู่ให้ความสำคัญกว่าเรื่องอาหารด้วยซ้ำ
เพราะว่าบางครั้งพอเราไปจัดงานที่โรงแรมเดิมๆ มันก็จะมีมาตรฐานอาหารที่ไปกี่ครั้งหน้าตาอาหารก็จะใกล้เคียงกับงานอื่นที่จัดไปก่อนหน้า
แต่สิ่งหนึ่งที่จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็คือบรรยากาศการตกแต่ง
สิ่งนี้เลยกลายเป็นสิ่งที่คนให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น”

หาแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัว
“ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันมันเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบได้หมด
เราขับรถผ่านเห็นอันนี้น่าสนใจ ก็จะ pick up เอาไว้
หรือบางทีเราก็เป็นเฟรนด์ ตาม follow ช่างศิลป์ ช่างเสื้อผ้า
ทุกอย่างมันกลายมาเป็นดีไซน์ได้หมด ไม่ใช่ว่าคุณจะไปตามแต่คนที่ทำงานแต่ง
คุณก็จะอยู่แต่ไอเดียที่วนเวียนอยู่ในกรอบของงานแต่งของคนอื่น มันอยู่ที่เราจะเอามาปรับใช้ยังไง
เช่น คุณไปดูของแต่งบ้าน เห็นสิ่งของที่เอามาดัดแปรงประยุกต์ใช้กับงานแต่งได้
เราก็นำมันมาต่อยอด หรือเจอรูปปั้นเก๋ๆ เราก็อาจเอาดอกไม้มาทำเป็นรูปปั้นก็ได้
การทำงานศิลปะคุณทำคอกล้อมตัวเองไม่ได้
เป็นเรื่องที่คุณจะต้องเปิดตัวเองกับเรื่องในทุกสาขา”

ขับเคลื่อนชีวิตด้วย passion
“ในการมาทำงานแบบนี้
คุณต้องมีความรอบรู้ในหลากหลายเรื่องเกี่ยวกับการแต่งงาน ต้องเป็นคนช่างสังเกต
อยากรู้อยากเห็น และที่สำคัญคือ ถ้าคุณทำงานแบบไม่มี passion ไม่มีความอิน คุณแค่ตั้งตัวเลขว่างานนี้รายได้ดีนะ
ยังไงคุณก็ไปไม่รอด ต่อให้คุณฟลุก ก็จะฟลุกได้แค่แป๊บเดียว การทำอาชีพอะไรก็ตาม
ถ้าคุณไม่ได้มีใจกับมัน ถามหน่อยว่าคุณจะไปต่อได้ยังไงในเมื่อใจคุณหมด
และนี่คุณกำลังทำงานดีไซน์อยู่ ในแต่ละปี แฟชั่นเปลี่ยนกันรุนแรงมาก
แบรนด์หนึ่งอาจจะปังมากในปีนี้ คนเคยถือกระเป๋ายี่ห้อนึงเป็นบ้าเป็นหลัง
ถัดมาอีกสองปีไม่มีใครพูดถึงแบรนด์นี้อีกแล้ว ถ้าคุณไม่มี passion ที่จะทำสินค้าที่ดูน่าสนใจต่อไป
มันก็ถูกคนอื่นมาแทนที่ไปหมด เพราะฉะนั้น
คนที่จะทำตรงนี้ได้คือเขาไม่ได้ไปสนใจประเด็นเงิน
เงินมันมาจากสิ่งที่คุณทำแล้วออกมาดี เงินจะวิ่งมาเอง แต่ถ้าคุณเอาเงินเป็นตัวตั้งต้นก่อน
ให้ตายยังไงคุณก็ไปต่อไปได้ไม่ไกล เพราะถ้าคุณพูดถึงเรื่องเงินก่อน
ถ้าทำงานออกมาไม่มีกำไรคุณก็จะทิ้งมันแล้ว ขณะที่ผมทำงานแรกขาดทุน
แต่มีความสุขกับมัน ผมถึงได้มาต่อ และในวันหนึ่งที่สิ่งนี้กลายเป็นงานของเราแล้ว
เราก็ต้องทำเต็มที่ไม่ว่ามันจะกำไรหรือขาดทุน นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า passion”

เติบโตเพื่อตอบโจทย์หลากหลาย
“ตอนนี้จาก Rainforest the Wedding เราแตกแบรนด์ออกไปตามความเหมาะสมของรูปแบบงานและกลุ่มลูกค้า เช่น
มีลูกค้าติดต่อมาว่าอยากให้จัดงานศพที่ไม่ให้รู้สึกเศร้า
เราก็ต้องเปิดอีกแบรนด์หนึ่งขึ้นมา
เพราะเราจะเอางานศพมารวมกับตัวบริษัทจัดงานแต่งงานก็คงจะดูไม่เหมาะ หรือขยายกิจการไปสู่สายงานที่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดและทีมงานสามารถดูแลลูกค้าเองได้
เช่น การให้เช่าอุปกรณ์ต่างๆ
ส่วนผมก็จะไปดูแลโปรเจกต์ที่เป็นสเกลใหญ่ขึ้น และทำหน้าที่เป็นคนตรวจแบบ
คอยวิจารณ์ คอยสอน และสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ เพราะบริษัทเติบโตขึ้นก็ต้องมีทีมงานที่จะมาดูแลทุกภาคส่วนมากขึ้น”

งานที่ยังอยากทำต่อไป
“ถามว่างานนี้เป็นงานที่เหนื่อยมั้ย ผมตอบได้เลยว่าเหนื่อย
เพราะงานนี้เป็นงานที่ใช้พลังเยอะ ต้องดีลกับความรู้สึกคนเยอะ
ต้องมีเรื่องเครียดเยอะ มันไม่แปลกหรอกที่เราจะเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง แต่พอหายเหนื่อย
เราก็รู้สึกว่าอยากจะทำงานต่อ เพราะมันเป็นงานที่เรามีความสุขที่ได้ทำ
และเป็นงานที่ทำเสร็จแล้ว
ได้รับกำลังใจต่อมาจากความรู้สึกของลูกค้า
ลูกค้ามาบอกเราเองว่าเขามีความสุข เขาขอบคุณ เขาดีใจ นั่นคือเชื้อเพลิงที่ทำให้เราไปต่อได้ สุดท้ายนี้เมื่อเรามีโอกาสเลือกงาน
ให้เลือกทำงานที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่อตัวเองและผู้อื่น
งานที่เราสามารถทำออกมาได้ดี จะตอบสนองความต้องการเรา
และตอบสนองความต้องการของผู้อื่นด้วยในเวลาเดียวกัน”

“คนที่จะทำตรงนี้ได้เขาไม่ไปสนใจประเด็นเงิน เงินมันมาจากสิ่งที่คุณทำแล้วออกมาดี เงินจะวิ่งมาเอง แต่ถ้าคุณเอาเงินเป็นตัวตั้งต้นก่อน ให้ตายยังไงคุณก็ไปต่อไปได้ไม่ไกล เพราะถ้าคุณพูดถึงเรื่องเงินก่อน ทำงานออกมาไม่มีกำไรคุณก็จะทิ้งมันแล้ว ขณะที่ผมทำงานแรกขาดทุน แต่มีความสุขกับมัน ผมถึงได้มาต่อ”

ภาพ Rainforest the Wedding

AUTHOR