สำหรับฉัน การขับรถคือความอิสระ
คงเป็นเพราะเกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง แถมบ้านยังอยู่ชานเมืองที่ขนส่งสาธารณะเข้าไม่ค่อยถึง ครอบครัวจึงให้ความสำคัญกับการขับรถเป็น การมีรถ เพื่อจะได้เดินทางไปได้ทุกที่ตามต้องการ
พอรู้ว่าผู้หญิงชาวซาอุดิอาระเบียไม่ได้รับอนุญาตให้ทำใบขับขี่ ซึ่งแปลว่าพวกเธอถูกแบนจากที่นั่งหลังพวงมาลัยรถโดยสิ้นเชิง ฉันอดย้อนกลับมามองตัวเองไม่ได้ ถ้าขับรถไม่ได้ฉันจะเป็นยังไง จะได้ทำงานที่ชอบมั้ย จะต้องนั่งรอรถประจำทางกี่ชั่วโมง จะเอาชีวิตไปฝากไว้กับวินมอเตอร์ไซค์แสนฉวัดเฉวียนจริงๆ หรือ
Photo by Zohra Bensemra
สำหรับผู้หญิงซาอุฯ เวลาจะไปไหนมาไหนพวกเธอต้องอาศัยญาติผู้ชาย เช่น พ่อ สามี พี่น้อง ให้ขับรถพาไป หรือถ้าไม่มีญาติอยู่ใกล้ตัวก็ต้องยอมเสียเงินปีละหลายหมื่นจ้างคนขับรถส่วนตัวหรือนั่งแท็กซี่ (ขอละการขนส่งสาธารณะไว้ ณ ที่นี่ เพราะมีน้อย ไม่ครอบคลุม และมักไม่ให้ผู้หญิงขึ้น)
อันที่จริงผู้หญิงหลายคนก็มีความสุขดีกับระบบนี้ อย่างเด็กสาววัย 22 ปี Fayza al-Shammary ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อหนึ่งว่า “ฉันไม่อยากขับรถเลย ฉันชอบเป็นเจ้าหญิงที่มีคนคอยเปิดประตูรถให้และขับรถพาฉันไปทุกที่”
ในทางกลับกันก็มีผู้หญิงหลายคนที่ไม่มีความสุขกับระบบดังกล่าว ซึ่งโชคเข้าข้างพวกเธอ เพราะเมื่อเดือนกันยายนปี 2017 กษัตริย์ Salman ได้ลงนามในพระราชบัญญัติที่อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถทำใบขับขี่ได้ นับเป็นการปิดฉากการแบนประเภทนี้ในโลก เพราะก่อนหน้านี้ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศสุดท้ายที่ไม่ยอมให้ผู้หญิงขับรถ
หากมองไปไกลกว่าประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัจจัยที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือ หนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในฐานะที่รั้งอันดับ 7 ของการจัดอันดับประเทศที่ไม่เท่าเทียมทางเพศมากที่สุดในโลก ซาอุดิอาระเบียถูกประชาคมโลกกดดันให้ยกเลิกการแบนดังกล่าวมานานหลายสิบปีแล้ว เพราะนอกเหนือจากซาอุฯ ก็มีเพียงกลุ่มจีฮาดและตาลิบันเท่านั้นที่บังคับใช้กฎเข้มงวดเช่นนี้
และสอง เศรษฐกิจ เมื่อผู้หญิงขับรถได้ เศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียจะเติบโต เพราะพวกเธอจะออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น สอดคล้องกับแผนเศรษฐกิจระยะยาว Vision 2030 ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจำนวนผู้หญิงในตลาดแรงงานจาก 22% เป็น 30% ด้านบริษัทยานยนต์และบริษัทประกันภัยก็รับผลประโยชน์จากลูกค้าที่เพิ่มขึ้นไปเต็มๆ
Photo by Ahmed Yosri
แม้จะประกาศมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่กฎหมายเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง และในเที่ยงคืนของวันนั้น ผู้หญิงหลายต่อหลายคนก็พากันออกไปใช้สิทธิ์ใหม่ของตน หลายคนมีใบขัับขี่ต่างประเทศอยู่แล้ว เพียงขอเทียบเพื่อออกใบขับขี่ซาอุฯ ก็เรียบร้อย บรรยากาศส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความรื่นเริง ผู้หญิงบางคนผูกลูกโป่งหลายลูกเข้ากับรถเป็นการเฉลิมฉลอง ตำรวจจราจรยืนรอแจกดอกไม้แสดงความยินดีแก่ผู้หญิงที่ได้ขับรถบนถนนบ้านเกิดเป็นครั้งแรก
“เราพร้อมแล้ว และมันจะต้องเปลี่ยนชีวิตเราแน่นอน” Samira al-Ghamdi จิตแพทย์วัย 47 ปีจากเมือง Jeddah หนึ่งในผู้หญิงคนแรกๆ ที่ได้รับใบขับขี่กล่าว
“มันเหมือนได้มองเมืองของฉันในมุมมองที่แตกต่างไปสิ้นเชิง มันเป็นความรู้สึกที่แปลก แต่ฉันก็มีความสุขมาก ฉันภูมิใจจริงๆ ที่ได้ทำสิ่งนี้ในตอนนี้” Majdooleen al-Ateeq พูดอย่างตื่นเต้น แม่และป้าของหญิงสาวเคยขับรถประท้วงในปี 1990 เพื่อเรียกร้องสิทธิในการขับรถให้ผู้หญิงซาอุฯ ตัดภาพมายังปี 2018 เธอเป็นหนึ่งในคนที่ออกไปขับรถในเที่ยงคืนของวันที่ 24 มิ.ย.
หลายคนให้เครดิตการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้กับมกุฎราชกุมาร Mohammad bin Salman เจ้าชายหัวสมัยใหม่วัย 32 ปี สื่อทั้งในและนอกประเทศเรียกเขาว่าเจ้าชายนักปฏิรูป เพราะเขาเป็นเจ้าของหลายผลงานที่นำทางซาอุดิอาระเบียสู่ยุคใหม่ เช่น การอนุญาตให้ผู้หญิงลงคะแนนเสียงและลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 2015 และเมื่อต้นปีผู้หญิงก็เพิ่งมีสิทธิ์เข้าไปชมการแข่งขันฟุตบอลในสนามกีฬาเป็นครั้งแรก
ทว่าในความเป็นจริง กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีต่างหากที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่พวกเขาและเธอถูกกีดกันจากแสงไฟของสื่อมวลชน ย้อนกลับไปในวันที่กษัตริย์ Salman ประกาศยกเลิกการแบน เจ้าหน้าที่รัฐโทรไปหาเหล่านักเคลื่อนไหว สั่งห้ามไม่ให้ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ
ร้ายแรงไปกว่านั้น ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่นานก่อนที่ผู้หญิงทุกคนจะมีอิสระในการขับรถ ทางการซาอุฯ จับนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีจำนวน 17 คนเข้าห้องขังด้วยข้อหาช่วยเหลือศัตรูของรัฐและบ่อนทำลายสังคม โดย 3 คนจากในนั้นคือนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในการขับรถของผู้หญิงระดับแนวหน้าอย่าง Loujain al-Hathloul, Eman al-Nafjan และ Aziza al-Yousef หลังวันดีเดย์ เจ้าหน้าที่รัฐบอกสื่อว่าได้ปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวบางส่วนแล้ว แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่แน่นอนว่าคนอื่นๆ ที่เหลือเป็นอิสระแล้วหรือยัง
Loujain al-Hathloul
Photo by Nina Manandhar
Rothna Begum นักวิจัยด้านสิทธิสตรีในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือประจำ Human Rights Watch ให้ความเห็นกับ Vox ว่า “สิ่งที่ทางการซาอุดิฯ พยายามทำคือแสดงให้เห็นว่า การปฏิรูปใดๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลงานของมกุฎราชกุมาร Mohammed bin Salman เท่านั้น พวกเขากำลังจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ซึ่งแท้จริงแล้วเกิดจากการผลักดันของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีเหล่านั้น
“และอย่างที่สอง พวกเขาต้องการให้ทุกคนรับรู้ตรงกันว่า ในประเทศนี้มีนักปฏิรูปเพียงคนเดียวเท่านั้น นั่นคือมกุฎราชกุมาร หากต้องการการปฏิรูป คุณต้องไปหาเขาเท่านั้น คุณไม่สามารถเรียกร้องด้วยตัวเอง”
นอกจากนี้ ทาง Human Rights Watch ยังบอกด้วยว่า ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ทางการซาอุดิอาระเบียได้จับกุมนักเคลื่อนไหวไปแล้วกว่า 30 คน ไม่เฉพาะนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีเท่านั้น แต่นักเคลื่อนไหวด้านใดๆ ก็ตามที่เริ่มมีผู้ติดตามและสนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางคนถูกตัดสินให้อยู่ในเรือนจำนานถึง 10 ปีในข้อหา ‘ไม่จงรักภักดีต่อผู้ปกครอง’ และ ‘กระตุ้นให้เกิดความคิดเห็นในหมู่สาธารณชน’
Photo from Twitter @shaimaakhalil
ด้าน Hala Aldosari นักเคลื่อนไหวมากประสบการณ์ชาวซาอุฯ เขียนลงหนังสือพิมพ์สัญชาติอเมริกันหัวหนึ่งว่า การกระทำของมกุฎราชกุมารซาอุฯ เป็นเพียงการแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้มีวิสัยทัศน์ในระยะยาว และทำไปเพื่อเอาใจชนชั้นสูงในสังคมเท่านั้น
“สิ่งที่แย่ยิ่งกว่าการปฏิรูปสเกลเล็กและการปิดปากเฟมินิสต์คืือการยื้อเวลาสู่การการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายอย่างแท้จริงในสังคมซาอุดิอาระเบีย” Aldosari เสริม
โดย ‘การเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายอย่างแท้จริง’ ที่เธอพูดถึงคือการยกเลิก ‘ระบบผู้ปกครอง’ ซึ่งกำหนดว่า ผู้หญิงต้องขออนุญาตผู้ปกครอง ซึ่งอาจเป็นพ่อ สามี พี่น้อง หรือกระทั่งลูกชาย ในการทำกิจธุระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมัครงาน ทำพาสปอร์ต แต่งงาน เรียนต่อมหาวิทยาลัย หรือกระทั่งรับการรักษาทางการแพทย์ในบางกรณี
Photo by Yousef Doubisi
พอรู้อย่างนี้แล้ว ฉันอดย้อนกลับมามองตัวเองอีกครั้งไม่ได้
กลายเป็นว่าฉันและผู้หญิงซาอุฯ มีอะไรเหมือนกันมากกว่าที่คิด อิสระในการขับรถของพวกเราเป็นเพียงฉากหน้าของการลิดรอนอิสรภาพที่ฝังรากลึกกว่านั้น ใช่ เราขับรถไปไหนมาไหนได้ตามต้องการ แต่ถ้าจะแสดงความคิดเห็นเชิงการเมือง หรือถ้าจะทำ ‘กิจธุระ’ บางอย่าง เรายังต้องรอให้ ‘ผู้ปกครอง’ อนุญาตไม่ต่างกัน
แล้วเมื่อไหร่เราจะมีอิสรภาพเต็มใบอย่างที่มนุษย์ทุกผู้ทุกคนสมควรเป็นเจ้าของอย่างเท่าเทียมกัน?
อ้างอิง