Women-Only Co-Working Space ที่ทำงานของผู้หญิง โดยผู้หญิง และเพื่อผู้หญิง

Women-Only Co-Working Space co-working space ไม่ใช่คอนเซปต์ใหม่ แต่พอเราคิดว่าตัวเองเข้าใจฟังก์ชั่นของ ‘สเปซสำหรับทำงานร่วมกัน’ อย่างถี่ถ้วนแล้ว กลับมีโคเวิร์กกิ้งสเปซคลื่นลูกใหม่ซัดสาดเข้ามาท้าทายความเข้าใจของเรา

คลื่นลูกใหม่ที่เรากำลังจะพูดถึงคือ ‘โคเวิร์กกิ้งสเปซสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ’

ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ในซีกโลกฝั่งตะวันตกมีโคเวิร์กกิ้งสเปซสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะผุดขึ้นมาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น The AllBright และ We Heart Mondays ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ, Make Lemonade และ Shecosystem ในโตรอนโต ประเทศแคนาดา รวมทั้งอีกหลายแห่งในดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างสหรัฐอเมริกา เป็นต้นว่า Paper Dolls ในลอส แอนเจลิส, Rise Collaborative Workspace ในเซนต์หลุยส์, Hera Hub ในซานดิเอโก และโคเวิร์กกิ้งสเปซที่ฮิปที่สุดในตอนนี้อย่าง The Wing ในมหานครนิวยอร์ก

Make Lemonade

Shecosystem

The AllBright

The Wing

โดยส่วนใหญ่แล้ว เหล่าผู้ก่อตั้งโคเวิร์กกิ้งสเปซสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะมีความคิดเห็นคล้ายคลึงกัน อย่างแรกคือพวกเขามองเห็นช่องว่างในตลาดที่กำลังเติบโตอันเกิดจากปัญหาเฉพาะของผู้หญิงที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเสียที ซึ่งอาจสรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้

หนึ่ง-แม้กระทั่งในพื้นที่แห่งการแบ่งปัน ผู้หญิงก็ยังคงรู้สึกไม่ปลอดภัยจากแนวคิดเหยียดเพศและการล่วงละเมิดทางเพศ

และสอง-โคเวิร์กกิ้งสเปซดั้งเดิมไม่ตอบทุกความต้องการของผู้หญิง ตั้งแต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไม่มีห้องสำหรับคุณแม่ให้นมลูก ไปจนถึงเรื่องบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้หญิงพูดคุยเรื่องที่สำคัญกับพวกเธอ เช่น การถูกลิดรอนสิทธิเกี่ยวกับสุขภาพระบบสืบพันธุ์ (reproductive system) หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดี

มุมมองของเหล่าผู้ก่อตั้งล้วนสมเหตุสมผลในตัวของมันเอง จนเกิดเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซที่เพียบพร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานสำหรับผู้หญิง มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจากการถูกคุกคาม มีบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างสรรค์ และที่ขาดไม่ได้คือมีความสวยงามชนิดที่ ‘instagramable’ ถ่ายรูปอวดลงในอินสตราแกรมได้สวยไม่น้อยหน้าใคร ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ก็ตามแต่วิสัยทัศน์และรสนิยมของผู้ก่อตั้ง อย่างเช่นที่ The Wing โคเวิร์กกิ้งสเปซในกรุงนิวยอร์กมีห้องสมุดที่เต็มไปด้วยผลงานของนักเขียนหญิง ร้านคาเฟ่ ห้องให้นมลูก ห้องอาบน้ำ ไปจนถึงห้องเสริมสวย

อย่างไรก็ดี สองผู้ก่อตั้ง The Wing อย่าง Audrey Gelman และ Lauren Kassan มองว่าองค์ประกอบเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนขยายของจุดประสงค์ที่ใหญ่กว่า สำหรับพวกเธอ The Wing ไม่ใช่แค่โคเวิร์กกิ้งสเปซ แต่เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของเหล่าผู้หญิงนักขับเคลื่อนสังคมในสมัยแห่งความก้าวหน้า (Progressive Era) ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ในตอนนั้น สหรัฐอเมริกามีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมาก แต่ในขณะเดียวกันปัญหาสังคมก็พุ่งสูงจากการอพยพของแรงงานต่างถิ่น การกดขี่ลูกจ้างในโรงงาน รวมทั้งความแออัดของเมือง

‘Women’s Club Movement’ ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลานี้เอง แรกเริ่มเดิมที Women’s Club คือการรวมตัวของผู้หญิงชนชั้นกลางผิวขาวเพื่ออ่านและพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือ ศึกษาหาความรู้ด้านต่างๆ หรือกระทั่งเพื่อพบปะพูดคุยเข้าสังคมเฉยๆ สำหรับผู้หญิงยุคนั้น (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน) คลับคือการเพิ่มพื้นที่ให้กับพวกเธอ นอกจากบ้านและโบสถ์ก็มีคลับนี่แหละที่ผู้หญิงสามารถอยู่ได้โดยปราศจากคำครหาของสังคม

จากนั้นจุดประสงค์ของ Women’s Club ก็เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปเองตามธรรมชาติ เมื่อผู้หญิงมารวมตัวกันในบรรยากาศที่เอื้อให้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเธอตัดสินใจลุกขึ้นมาขับเคลื่อนสังคมในด้านต่างๆ ตั้งแต่ระดมทุนสร้างห้องสมุดและสนามเด็กเล่นสาธารณะ ผลักดันให้โรงเรียนตรวจสอบคุณภาพอาหารอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสร้างห้องพยาบาลประจำโรงเรียน ต่อต้านการลงประชาทัณฑ์โดยศาลเตี้ย สนับสนุนการให้ความรู้เกี่ยวกับการคุมกำเนิด กดดันให้โรงงานอุตสาหกรรมกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ไปจนถึงเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งให้กับผู้หญิงทุกคน

ตัดภาพกลับมาปัจจุบัน โลกทุกวันนี้ยังคงมีปัญหาสังคมอีกมากมายที่ต้องการการแก้ไข ซึ่งทั้งเกลแมนและคาสสันเชื่อว่าโคเวิร์กกิ้งสเปซสำหรับผู้หญิงจะเป็นเวทีสำหรับไอเดียที่เปลี่ยนแปลงสังคมได้ ไม่ต่างอะไรจาก Women’s Club ในยุคสมัยแห่งความก้าวหน้า

และเมื่อผสมผสานกับวิถีชีวิตของผู้หญิงวัยทำงานแห่ง ค.ศ. 2018 บทสนทนาที่เกิดขึ้นภายใต้หลังคาของ The Wing จึงหลากหลายเหลือเกิน ตั้งแต่เรื่องการเมือง สังคม เศรษฐกิจ งานออกแบบ วรรณกรรม ภาพยนตร์ สุขภาพ ไปจนถึงเรื่องความสวยความงามและเคล็ดลับการดูแลลูก โดยนอกจากบริการพื้นที่ในการทำงานแล้ว สองผู้ก่อตั้งยังจัดอีเวนต์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น คลาสสอนวิชาการป้องกันตัว เทรนนิ่งเรื่องต่อรองเงินเดือน การบรรยายเรื่องโภชนาการ และกระทั่งงานเสวนาที่มีฮิลลารี คลินตันเป็นแขกรับเชิญพิเศษ

หากมองด้วยสายตาของผู้หญิงส่วนใหญ่ โคเวิร์กกิ้งสเปซสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะย่อมเป็นเหมือนที่พักใจ แต่แน่นอนว่าเมื่อมองด้วยสายตาของผู้ชาย (และผู้หญิงบางส่วน) การจัดพื้นที่แยกสำหรับเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะอาจดูเป็นการกระทำสุดแสนล้าหลังในยุคที่เส้นแบ่งทางเพศพร่าเลือน แถมห้องน้ำไร้เพศยังเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกทีๆ

อย่างไรก็ตาม นอกจากความรู้สึกสบายใจของผู้หญิง (ซึ่งก็เป็นปัจเจกเหลือเกิน) ยังมีหลายงานวิจัยที่ชี้ว่า ผู้หญิงสามารถทำผลงานได้ดีกว่าในพื้นที่ที่มีแต่ผู้หญิงด้วยกัน เช่น งานวิจัยเมื่อปี 2016 ของ SchoolDash ในสหราชอาณาจักรระบุว่า เด็กผู้หญิงที่เรียนโรงเรียนหญิงล้วนสามารถทำคะแนนข้อสอบระดับชาติได้ดีกว่าเด็กผู้หญิงที่เรียนโรงเรียนสหศึกษา เพราะพวกเธอรู้สึกกดดันน้อยกว่าเมื่อถูกรายล้อมด้วยผู้หญิง

อีกงานวิจัยในปี 2015 โดย Indiana University พบว่า ผู้หญิงที่ทำงานในออฟฟิศที่มีผู้ชายมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์มีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนแห่งความเครียด สูงกว่าผู้หญิงที่ทำงานในออฟฟิศที่ผู้หญิงและผู้ชายมีสัดส่วนเท่าๆ กัน

ในประเด็นนี้ Anna Jones ผู้ร่วมก่อตั้ง The AllBright กล่าวว่า “เวลาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ผู้ชายมักจะเป็นผู้ควบคุมบทสนทนา ส่วนผู้หญิงมักจะเก็บความคิดเห็นไว้กับตัว ในขณะที่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ผู้หญิง พวกเธอมีแนวโน้มมากกว่าที่จะแสดงความคิดเห็น แชร์ประสบการณ์ พูดคุยเกี่ยวกับความสำเร็จของตัวเอง รวมทั้งยินดีเปิดเผยอุปสรรคที่ตนกำลังเผชิญอยู่”

The AllBright

ด้านผู้ก่อตั้ง Make Lemonade อย่าง Rachel Kelly ก็บอกว่า โคเวิร์กกิ้งสเปซของเธอเปิดประตูต้อนรับผู้ชายที่ต้องการเข้าประชุม ร่วมอีเวนต์ หรือเยี่ยมเยียนสมาชิกที่ตนรู้จัก

เช่นนี้คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า จุดประสงค์หลักการสร้างพื้นที่เฉพาะสำหรับผู้หญิงจึงไม่ใช่เพื่อกีดกันผู้ชาย แต่เพื่อฟูมฟักผู้หญิงต่างหาก

“โลกทั้งใบเป็นคลับของผู้ชายอยู่แล้ว” เกลแมนกล่าวติดตลก “เราจึงตั้งใจสร้างคอมมูนิตี้ที่ปลอดภัย เต็มไปด้วยพลังงานบวก เอื้อให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ผู้หญิงเติบโตและก้าวไปข้างหน้าได้ เรายังคงเชื่อว่าผู้หญิงควรมีพื้นที่เป็นของตัวเอง”

Make Lemonade

อ้างอิง

blogto.com, businessinsider.com, dailymail.co.uk, dwell.com, entrepreneur.com, nytimes.com, swaay.com, thespaces.com, treehugger.com, washingtonpost.com, web.archive.org, wired.co.uk

AUTHOR