พี วิศรุต เด็กหนุ่มผู้พาหนังสั้นเกี่ยวกับบิลลี่ พอละจี ไปฉายถึงเทศกาลหนังรอตเทอร์ดาม

วันที่บทสนทนานี้ก่อตัวขึ้นผ่านโปรแกรม zoom คือวันที่ สุสานใต้ดิน หรือ Underground Cemetery หนังสั้นซึ่งเป็นโปรเจกต์จบของ พี–วิศรุต ศรีพุธสมบูรณ์ กำลังฉายอยู่ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเทอร์ดามรอบ International Premier ในสาย Short & Mid-length พอดี

แต่ด้วยเหตุผลเรื่องโรคระบาดและความปลอดภัย ทำให้พีไม่สามารถออกเดินทางไปร่วมงานเทศกาลหนังที่เนเธอร์แลนด์ 

“เสียดายนะ” เขาบอก ทว่าก็ยังยิ้ม “แต่ไม่เป็นไรหรอก แค่หนังได้ฉายให้คนดู ผมก็ดีใจมากแล้ว”

ปีนี้เป็นปีที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติรอตเทอร์ดามครบรอบ 50 ปี งานจัดรอบแรกไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพร้อมฉายหนัง พญาโศกพิโยคค่ำ ของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ขณะที่รอบสองซึ่งจัดต้นเดือนมิถุนายนนั้น สุสานใต้ดิน หรือ Underground Cemetery หนังสั้นที่ว่าด้วยความเชื่อ การเมือง และความตาย ก็ได้เป็นตัวแทนไปฉาย 

อย่างคร่าวๆ หนังบอกเล่าถึงเรื่องราวของ ‘ทองอยู่’ (พงศ์สวัสดิ์ ชยธวัช) ชายเฒ่าที่พบว่าชีวิตกำลังสั่นคลอน เมื่อบ้านหลังเก่าทำท่าว่าจะทรุดตัวลง ขณะที่สื่อก็รายงานข่าวการอุ้มหายของนักสิทธิเพื่อคนชายขอบชวนให้นึกถึงความผิดบาปในอดีต พร้อมกันกับที่การปรากฏตัวของผี ‘ทองใบ’ (ปรมะ วุฒิกรดิษกุล) น้องชายแท้ๆ ผู้ตายจากด้วยการอัตวินิบาตกรรมเพราะทนความรู้สึกผิดบาปไม่ไหวปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งในเรือนร่างบอบช้ำ ทองอยู่ขอให้น้องชายพาเขาไปไถ่บาปกับพระอาจารย์วิเศษในป่าลึก เพื่อจะหลีกหนีและชำระล้างตัวเองจากความรู้สึกผิดจากอดีตที่เกาะกินชีวิต

หากวัดกันที่ความยาวไม่ถึง 30 นาที สุสานใต้ดิน หยิบจับเอาประเด็นแหลมคมในสังคมรวมกับวัฒนธรรม ความเชื่อของชาวบ้าน ไม่ว่าจะโลกหลังความตายหรือพระผู้วิเศษอันลี้ลับมาร้อยเรียงได้อย่างน่าจับตา โดยมีบรรยากาศเจ็บช้ำคุกรุ่นจากชะตากรรมของ บิลลี่–พอละจี รักจงเจริญ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นฉากหลังของเรื่อง ขับให้เห็นความเลวทรามและรุนแรงของรัฐที่กระทำกับคนเล็กคนน้อย ขณะที่ไกลออกไปจากนั้น ก็ดูเหมือนจะมีอำนาจที่ใหญ่กว่าครอบงำรัฐหรือผู้กระทำอีกทีหนึ่ง 

บทสนทนาของเราต่อจากนี้ได้ลัดเลาะจากเรื่องหนังสั้นไปยังอำนาจในสังคม แตะเล็มไปยังเรื่องการเมืองและเพดานการพูดคุยในสายตาของคนทำหนังรุ่นใหม่ที่น่าจับตาอีกคนหนึ่งของแวดวงภาพยนตร์ไทย

พี วิศรุต

อยากให้เล่าขั้นตอนการคิดพล็อตและประเด็นของหนังเรื่องนี้ให้ฟังหน่อย

เราจะเริ่มจากประเด็นที่สนใจก่อน อย่างช่วงก่อนหน้านี้มีคดีเรื่องบิลลี่พอดีซึ่งเราสนใจมากๆ แต่ก็ทดมันเอาไว้ในใจก่อน จากนั้นเราก็ลองหาหนังดู หาหนังสืออ่านเผื่อจะเจอ material อะไรที่มันเอามาใช้กับหนังได้

พอดีว่าช่วงนั้นเราได้ลองอ่านหนังสือแปลกๆ ที่ปกติจะไม่ค่อยอ่าน เช่นพวกมิติลี้ลับ มิติที่หก เท่าที่จำได้รางๆ มันมีส่วนที่พูดเรื่องศาสนา กับส่วนที่บอกว่า มันมีมิติที่ไม่ได้มีแค่มนุษย์อยู่ แต่ยังมีมิติของคนธรรพ์ซึ่งเป็นจำพวกสัตว์กับมิติของศาสนาที่มี ‘พระบังบด’ ซึ่งเขาอธิบายว่า เป็นพระวิเศษที่อยู่ในป่ามาเป็นเวลาหมื่นปี สองหมื่นปี หรือกระทั่งแสนปี เพื่อจะเฝ้ารอพระพุทธเจ้าอีกคนมาเกิด 

เราเขียนบทหนังขึ้นมาจากเรื่องราวของพระบังบดนี่แหละ แต่ก็รู้สึกว่ามันเล่าโดยไม่มีจุดหมายไปหน่อย เลยลองเอามารวมกับคดีบิลลี่ที่เราทดไว้ในใจ

อีกอย่างคือ ก่อนหน้านี้ช่วงอยู่ปี 3 เราเคยทำหนังสั้นกับเพื่อนเรื่อง ‘หมายเลขคดีแดง’ เกี่ยวกับครอบครัวที่ยังเหลือของนักโทษทางการเมือง และคนที่โดนลูกหลงจากรัฐบาล เพียงแต่พอเป็นหนังเรื่องนี้เราเลยอยากเล่าเรื่องจากฝั่งของผู้มีอำนาจบ้าง แต่ถ้าจะเล่าเรื่องของคนพวกนั้นเราก็อยากให้มันทรมานสักหน่อย สุดท้ายก็เลยออกมาเป็นอย่างที่เห็นในหนัง คือผู้มีอำนาจคนหนึ่งที่กำลังตกอยู่ในความกลัวจากกรรมที่ตัวเองเคยสร้างไว้จนต้องไปพึ่งสิ่งลี้ลับในป่าโดยให้ผีน้องชายพาไป วิธีเล่าของหนังเรื่องนี้เลยจะค่อนข้างสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) อยู่สักหน่อย

เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าคุณทำงานกับนักแสดงยังไง

มีเวิร์กช็อปก่อนรอบหนึ่ง แต่มันก็ค่อนข้างยากเหมือนกันนะที่จะอธิบายเรื่องพวกนี้ให้นักแสดงเข้าใจ เพราะเราก็ไม่ได้อธิบายเก่งด้วย พรีเซนต์ในห้องทีก็โดนอาจารย์สวดกลับมาตลอด เราเป็นคนแรกในรุ่นที่ร้องไห้ น้ำตาไหลในห้องจุลนิพนธ์ เพราะพรีเซนต์ไปแล้วอาจารย์ลุกขึ้นมาถามว่า มีเพื่อนคนไหนเข้าใจบ้างครับ (หัวเราะ) มันก็ยากอยู่

ช่วงแรกๆ เราชอบคิดหนังเป็นวิชวลมากกว่า ซึ่งตอนที่คุยกับนักแสดงก็อธิบายเท่าที่จะอธิบายได้ว่าหนังมันกำลังพูดถึงเรื่องอะไร ตอนแคสต์ติ้งทองใบผมเคยเห็นเขาเล่นหนัง ปอบ ของพี่เป็นเอก รัตนเรือง ที่ออกฉายช่อง HBO Asia และรู้สึกว่าอย่างน้อยแกน่าจะเข้าใจอะไรบางอย่างที่เราจะสื่อสารออกไปได้ แล้วผมก็ไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้นด้วยว่านักแสดงทั้งสองจะเข้าใจร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม เพียงแต่ถ้าเขาสามารถแสดงออกมาได้อย่างที่เราอยากได้ เราก็โอเคแล้ว

แต่ว่าในส่วนของพาร์ตกำกับการแสดง ถ้าให้คะแนนตัวเองก็คงให้ 6/10 เพราะเราคิดว่ามันสามารถละเอียดได้มากกว่านี้ ตอนที่ดูหนังตัวเองยังรู้สึกว่ารายละเอียดต่างๆ มันมีความเป็นมนุษย์น้อยไปหน่อย หนังมันยังแข็งไปนิด

คิดว่าข้อจำกัดในงานกำกับการแสดงมันอยู่ตรงไหน

คืออย่างตัวเราเองถึงจะเข้าใจเรื่องราวก็จริงแต่การจะอธิบายออกไปมันยาก แล้วจริงๆ ตัวเราก็อาจจะเข้าใจแค่ 70-80 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นก็ได้นะ ซึ่งพอสุดท้ายเราส่งสารออกไป มันก็อาจจะได้แค่ 50-60 เปอร์เซ็นต์ การจะเล่าเรื่องนี้มันก็ค่อนข้างยากอยู่เหมือนกัน

เห็นพูดเรื่องการเอากรรมมาใช้กับผู้มีอำนาจคุณมองเรื่องศาสนากับรัฐยังไง

รัฐกับศาสนามันเหมือนวินัยของคนล่ะมั้งครับ หมายถึงทุกศาสนาสุดท้ายมันคือการสอนให้เราทำความดี มันก็เพื่อคุมคนไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง หรือถ้าไปมากกว่านั้นคือการมีพระสังฆราช มีสถาบันฯ มันเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ ให้คนทำตาม เราว่าแต่ละองค์กรมันก็ไปในทางเดียวกัน สุดท้ายมันก็มีเพื่อไม่ให้คนทำโน่นทำนี่อยู่ดี

ทั้งเรื่อง สุสานใต้ดิน กับ หมายเลขคดีแดง มันมีฉากหลังเป็นบริบททางการเมืองหมดเลยคุณมองเห็นอะไรจากประเด็นเหล่านี้

สมัยมัธยมนี่เราแทบไม่ได้สนใจเลยดีกว่า มันคือเรื่องการรับสารด้วย ถ้าเด็กรุ่นผม 80-90 เปอร์เซ็นต์น่าจะเป็นสลิ่มเพราะรับสารทางเดียว สมัยเรียนมัธยมผมมีเพื่อนเป็นเสื้อแดงตั้งแต่เด็ก เขาอ่านหนังสือ The King Never Smiles ตั้งแต่ ม.1 แล้วก็จะโดนแซวว่าไอ้ควายแดง 

แต่สำหรับเรา สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจริงๆ มันคือโซเชียลว่ะ มันทำให้เราเห็นหลายมุมขึ้น ประกอบกับโตขึ้นมันก็มีคนรอบตัวที่เป็นเสื้อแดง สารข่าวที่เรารับมันก็เริ่มเปลี่ยนไปด้วย

พอตอนนี้สังคมมันดันเพดานไปไกลมากมองว่าจากนี้ไปคนทำหนังจะตามเพดานที่ผู้คนผลักออกไปจนไกลนี่ได้ยังไงบ้าง

(พยักหน้า) นึกออกเลยครับ

เราก็เคยคิดเรื่องนี้ แต่ก็คิดไม่ตกเหมือนกัน เรารู้สึกว่าในยุคสมัยก่อนที่เพดานมันจะถูกดันสูงขึ้น ส่วนหนึ่งของหนังอาร์ตเฮาส์มันก็สร้างขึ้นมาในลักษณะที่จะสามารถเล่าเรื่องพวกนี้ได้โดยไม่ถูกแบน

เราเคยคิดพล็อตหนังเรื่องหนึ่งขึ้นมาว่า สมมติถ้าในอนาคตหนังมันสามารถถูกเล่าได้โดยไม่ต้องมีลับลมคมใน ไม่ต้องผ่านวิธีการเล่าแบบหนังอาร์ต แล้วคนทำหนังอาร์ตเฮาส์ล่ะเขาจะอยู่ยังไง ถ้าจุดประสงค์แรกของพวกเขาคือการเล่าเรื่องการเมืองโดยที่ยังต้องเอาบางสิ่งมากั้นไว้อยู่เพื่อไม่ให้โดนแบน เขาจะอยู่ยังไงในโลกที่เราสามารถเล่าทุกอย่างออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา 

พี วิศรุต

หรืออย่าง หมายเลขคดีแดง หนังสั้นเรื่องก่อนหน้าที่คุณทำกับเพื่อนก็พูดถึงการเมืองอย่างตรงไปตรงมานะ

ช่วงนั้นเรื่องนักโทษทางการเมืองยังไม่ถูกพูดถึงเท่าไหร่ ยังไม่มีการดันเพดาน ซึ่งสำหรับเรา มันก็เป็นประเด็นที่น่าทำแน่ๆ แหละเพราะเราก็สนใจเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว

แต่ตอนนั้นมันก็เสี่ยงที่จะเล่าเรื่องนี้ แล้วมันไปไกลกว่าที่เราคิดด้วยเพราะทีแรกคิดจะทำส่งอาจารย์แล้วจบ แต่พอมันถูกส่งไปประกวดเทศกาลภาพยนตร์สั้น ซึ่งมันก็ดันได้ฉาย ตอนแรกก็คิดเหมือนกันว่า เชี่ย ถ้ามันออกไปฉายนอกห้องนี่ซับเจกต์ในเรื่องกับครอบครัวของเขาจะเป็นยังไง แต่นั่นแหละ ด้วยความที่วงการหนังมันแคบ สุดท้ายหนังมันก็ไม่ได้ออกไปไกลขนาดนั้น

กลับมาที่ สุสานใต้ดิน บ้างช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าคุณส่งหนังไปประกวดในเทศกาลยังไง

ไม่รู้เลย (หัวเราะ) เหมือนว่าที่ปรึกษาจากห้องอื่นมาดูหนังของเราแล้วชอบมาก แนะนำว่าลองส่งไปฝั่งยุโรปไหมเพราะสไตล์ของหนัง ภาษาภาพ และภาษาการเล่าเรื่องมันค่อนข้างไปทางยุโรป เราก็เลยลองส่งไปดู อีกอย่างคือพี่อุ้ย (รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค) ผู้กำกับเรื่อง อนินทรีย์แดง ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยของเราก็แนะนำว่าให้ลองส่งหนังไปตามเทศกาลเหล่านี้ดูสิ ซึ่งสุดท้ายมันก็ไปติดที่รอตเทอร์ดาม

อย่างหนังสั้นเรื่องนี้ก็ถูกคนดูเอาไปตีความหลากหลายมากเหมือนกันนะคุณมองมันยังไง

สนุกมากเลยเวลาเห็นคนเขียนถึง เรารู้สึกว่าสุดท้ายมันอาจไม่ตรงกับที่เราคิดในตอนแรกก็ได้ แต่เพราะเรารู้สึกว่าทันทีที่ทำหนังเสร็จ เราก็หมดหน้าที่ตรงนั้นแล้ว จากนั้นก็เป็นความสนุกของการดูว่าคนดูจะรู้สึกยังไง 

ภาพถ่ายโดย Sethawut Mueangkaeo, Supakorn Wasoontararat , Bamsu

AUTHOR