Why? โดย Nikolai Popov นิทานไร้ตัวอักษรที่อยากให้เราตระหนักว่าสงครามไร้สาระเพียงใด

“ทำไม” ประโยคคำถามสั้นๆ ที่เรามักได้ยินประจำจากการทำงานร่วมกับเด็กวัยอนุบาล เรียกว่าเป็นประโยคคลาสสิกที่พบเจอทั้งจากเด็กไทยและเด็กต่างชาติ หลายครั้งเป็นคำถามที่ชวนอมยิ้ม รวมไปถึงคำถามจริงจังมากๆ ขั้นปรัชญา

ในส่วนของคำตอบก็หลากหลายไม่แพ้คำถาม มีรูปแบบคำตอบตายตัว คำตอบปลายเปิด และคำตอบที่ไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นเพียงการแสดงออกให้ผู้ถามรับรู้ว่าเราอยู่ด้วยกันตรงนี้ แล้วปล่อยให้ตัวคำถามดำเนินต่อไปในความสงสัยอันบริสุทธิ์

หลายต่อหลายครั้งเรามักได้ยินคำเปรียบเปรยคำถามของเด็กๆ ว่าเป็นคำถามที่ไร้สาระ และตามมาด้วยเสียงหัวเราะราวกับคำถามนั้นมันช่างตลกจนไม่ต้องใส่ใจ หากมองโลกมุมกลับในสายตาเด็กๆ พวกเขาคงฉงนสงสัยเหมือนกันว่าพฤติกรรมและการกระทำหลายอย่างที่มนุษย์ตัวใหญ่หรือที่พวกเรานิยามตัวเองว่าเป็นผู้ใหญ่ล้วนมีเรื่องไร้สาระ และบางเรื่องเป็นเรื่องไร้สาระที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย

นิทานเรื่อง Why? หรือ ทำไม โดย Nikolai Popov มีชื่อเรื่องที่ทำให้เราคาดเดาว่า เอ๊ อาจจะเป็นนิทานเชิงความรู้ ชวนเด็กๆ หาคำตอบกับเรื่องต่างๆ หรือเปล่านะ แต่ด้วยหน้าปกราบเรียบ ใช้โทนสีเน้นเขียวสบายตา องค์ประกอบในภาพน้อย และดึงสายตาด้วยเจ้ากบหน้ายิ้ม ดูราวกับทุกอย่างนิ่ง เย็น และสงบสุข ทำให้รู้สึกว่าภายใต้คำถามจากชื่อเรื่องนี้คงมีคำตอบอะไรบางอย่างรอเราอยู่แน่ๆ

เมื่อเปิดอ่านไปทีละหน้ากลับพบว่าใจเต้นแรงขึ้นๆ นิทานเรื่องนี้นำเสนอในรูปแบบไร้ตัวอักษร (Wordless Picture Books) ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องไม่พบตัวอักษรแม้แต่ตัวเดียว เป็นการเปิดพื้นที่ให้ภาพเล่าเรื่องทั้งหมด และภาพเหล่านั้นได้เฉลยคำตอบแก่ผู้อ่านได้อย่างละเอียดอ่อนจนน้ำตาเอ่อ

นิทานเรื่องนี้นำเสนอประเด็นเรื่องสงคราม นับเป็นหัวข้อที่ละเอียดอ่อนมาก การอธิบายว่าสงครามคืออะไรช่างง่ายสำเร็จรูป แต่ถ้าชวนให้คนเกิดความเข้าใจจนเกิดการตระหนักรู้ว่าสงครามไร้สาระเพียงใด เกิดผลกระทบมากมายแค่ไหน สิ่งนี้ไม่ง่ายเลย

จุดกำเนิดของสงครามในเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการที่กบตัวหนึ่งได้ครอบครองดอกไม้แสนธรรมดาเพียง 1 ดอก รอบตัวเจ้ากบยังคงมีกอดอกไม้พันธุ์นี้มากมายหลายดอก หลายกอ แต่กลายเป็นว่าหนูตัวหนึ่งอยากได้ดอกไม้ในมือเจ้ากบเท่านั้น การปะทะจึงเริ่มเกิดขึ้น จาก 1 : 1 กลายเป็นว่ากบและหนูเริ่มเรียกเพื่อนๆ ฝ่ายตนเองมาช่วย การต่อสู้ในช่วงแรกเป็นการสู้โดยไม่ใช้อาวุธ ความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมอาวุธ สิ่งแวดล้อมที่เคยสวยงามรอบตัวค่อยๆ ถูกพิษสงครามกลืนหายไป เพื่อนๆ ของทั้งสองฝ่ายที่มาช่วยรบต่างล้มตายไปจนหมดเช่นกัน การสู้รบจบลงด้วยภาพกบกับหนู 2 ตัวบนก้อนหินที่เต็มไปด้วยความว่างเปล่า กอดอกไม้มากมายที่ทุกคนเคยชื่นชมและอยากครอบครองหายไปหมด เหลือเพียงร่องรอยของความเสียหายและความทรงจำที่หดหู่จากการสูญเสีย

ความประทับใจที่มีต่อนิทานเล่มนี้ คือการที่ภาพในแต่ละหน้า ทำหน้าที่ส่งสารถึงผู้อ่านได้อย่างมีอรรถรส ไม่ว่าคุณจะโตมาในวัฒนธรรมแบบใด ภาษาใด อ่านตอนอายุเท่าไหร่ ด้วยความชัดเจนและการใส่ใจรายละเอียดของภาพ โดยไม่ชี้นำจากภาษาตัวอักษร ผู้อ่านจึงสัมผัสได้ถึงการเคลื่อนไหวในการกระทำต่างๆ ว่าการต่อสู้เริ่มรุนแรงขึ้น ได้ยินเสียงความน่ากลัวของสงครามขึ้นมาในหัว และรับรู้ถึงอารมณ์ที่เจ็บปวดจากผลกระทบของสงคราม 

ปัจจัยหลักที่ทำให้นิโกไลผู้เขียนถ่ายทอดความเจ็บปวดของสงครามได้ลึกซึ้งขนาดนี้ เนื่องจากเขาโตมาในเมืองชนบทที่เก่าแก่และสวยงามของรัสเซีย จนวันหนึ่งสงครามเข้ามาในเมือง วัยเด็กของเขาจึงเต็มไปด้วยประสบการณ์หลบภัยใต้ดิน พร้อมเสียงเตือนภัยอันโหยหวนเพื่อให้หลบกับระเบิด วันหนึ่งเขาและเพื่อนๆ เล่นกันบนท้องถนนที่เต็มไปด้วยเศษละเอียดของกับระเบิดที่วาววับ เด็กคนหนึ่งหยิบมันขึ้นมา มันระเบิดบนมือทั้งสองข้างของเด็กน้อยจนทำให้เขาพิการไปตลอดชีวิต

นิโกไลเล่าว่า “ผมสร้างหนังสือเล่มนี้เพราะผมคิดว่า ถ้าหากเด็กๆ ได้เข้าใจความไร้สาระของสงคราม ถ้าหากพวกเขาได้เห็นว่าคนเราอาจถูกดูดเข้าสู่วงจรของความรุนแรงได้ง่ายดายเพียงไหน พวกเขาอาจจะกลายเป็นพลังแห่งสันติสุขในอนาคต และผมยังหวังด้วยว่าพวกผู้ใหญ่ที่แบ่งปันหนังสือเล่มนี้ร่วมกับเด็กๆ จะได้ย้อนทบทวนความคิดของตัวเองเกี่ยวกับความไร้ประโยชน์ของสงคราม” 

AUTHOR