ผ่อนกาย คลายใจ ใกล้ชิดธรรมชาติที่ White Wood Green สปาสีขาวของคนรักสปาตัวจริง

Highlights

  • White Wood Green Spa คือสปาน้องใหม่ในซอยเอกมัย 12 ภายใต้คอนเซปต์ nature & nurture สปาที่อยากใกล้ชิดกับธรรมชาติที่สุดในทุกด้าน
  • นอกจากบรรยากาศแสนผ่อนคลายที่สปาพึงมี ที่นี่ยังออกแบบตัวอาคารให้มีหน้าต่างกระจกในทุกห้องเพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสถึงธรรมชาติอย่างแท้จริง
  • White Wood Green ยังหยิบธรรมชาติไปเป็นส่วนผสมหนึ่งของน้ำมันนวดประจำร้าน ซึ่งมีกลิ่นพิเศษที่มีเฉพาะที่นี่เท่านั้น นอกจากนี้หากแขกถูกใจความสบายของชุดนอนที่ใส่นวด หรือสินค้าใดๆ ก็สามารถซื้อกลับบ้านไปได้เลยที่ช็อป White Wood Green Wear

ลัดเลาะเข้ามาในซอยเอกมัย 12 ท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่ของผู้คนและรถราสัญจร อาคารชั้นเดียวสีขาวของ White Wood Green Spa ตั้งตระหง่านท่ามกลางสีเขียวของต้นไม้น้อยใหญ่ ดูแตกต่างจากรอบข้างจนเกือบรู้สึกผิดที่ผิดทาง แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าเป็นทำเลที่ถูกต้อง เหมาะสมไปกว่านี้ไม่มี

Outside White Wood Green

จากถนนไม่กี่ก้าว ฉันเดินถึงประตูไม้สีน้ำตาล ผลักเบาๆ เข้าสู่ห้องสีขาวที่มีผนังเป็นกระจก แปลกดี, แม้อยู่ในย่านที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ แต่พื้นที่นี้ก็มอบความรู้สึกสงบแบบที่หาได้ยากในกรุงเทพฯ ราวกับก้าวเข้ามาในอีกดินแดน

ไม่ใช่แค่บรรยากาศที่รื่นรมย์เยียวยาจิตใจ แอน–ชลิตา ตฤณขจี หญิงสาวเจ้าของร้านยังออกแบบประสบการณ์ทุกส่วนเพื่อให้ลูกค้าได้รับความผ่อนคลายเต็มรูปแบบ ทั้งดนตรีบรรเลงสุดรีแลกซ์ ห้องนวดที่แบ่งเป็นสัดส่วนเพื่อความเป็นส่วนตัว และคอร์สนวดหลากหลายที่ลูกค้าออกแบบได้ตามใจ มากกว่านั้น White Wood Green Spa ยังมีบางอย่างที่ชวนหลงใหลซ่อนอยู่ในรายละเอียด

เป็นบางอย่างที่พิเศษจนใจคนไม่ค่อยได้ไปสปาอย่างฉันเริ่มหวั่นไหว

 

“วงการนวดเข้าแล้วออกไม่ได้นะ”

“ชอบนวดไหม”

ชลิตาถาม ฉันยิ้มแล้วส่ายหัวเบาๆ แทนคำตอบ

จะว่าไม่ชอบก็ไม่ใช่ เรียกว่าไม่ได้ชอบมากจนต้องไปบ่อยๆ ดีกว่า หลายครั้งที่ฉันมักได้ยินเพื่อนในออฟฟิศพูดว่า “อยากนวด” “ปวดตัว” หรือ “มีที่นวดที่ไหนแนะนำไหม” ประสบการณ์ร่วมเกี่ยวกับหัวข้อสนทนานั้นของฉันแทบจะเป็นศูนย์

เพราะฉะนั้น นี่จึงถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ฉันจะได้นวดแบบจริงๆ จังๆ

“วงการนวดเข้าแล้วออกไม่ได้นะ” เจ้าของร้านเตือนแกมหัวเราะ แล้วยกตัวอย่างเคสที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างตัวเธอเองให้ฟัง ในวัยเด็ก ชลิตาเป็นลูกสาวคนแรกของครอบครัวที่แม่มักพาไปไหนมาไหนด้วยเสมอ และสถานที่ที่แม่พาไปบ่อยที่สุดเท่าที่จำได้คือสปาและร้านนวด

ชลิตาบอกฉันว่า เธอตกหลุมรักการนวดตั้งแต่ครั้งแรก “มันเป็นความทรงจำดีๆ ระหว่างแอนกับแม่ หลังจากนั้นก็ติดนวดมาตลอด” เธอหัวเราะ เท่าที่จำได้เธอไปร้านนวดแทบทุกอาทิตย์ บางทีอาจเป็นบรรยากาศแสนผ่อนคลายและการบริการดีๆ ที่ทำให้เธอตกหลุมรัก

“แอนหลงเสน่ห์ทุกๆ อย่างของสปา คือสปาต้องสร้างบรรยากาศผ่อนคลายอยู่แล้ว บางเวลาแอนก็ชอบอยู่คนเดียว มีโลกส่วนตัว เรารู้สึกว่าตอนเรานอนนวด นอกจากจะได้ความผ่อนคลาย มันยังทำให้เราได้อยู่คนเดียวเงียบๆ ได้คิดไอเดียใหม่ๆ หรือได้คิดทบทวนชีวิต มันก็เลยเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่แอนชอบ”

หลังเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอเรียนต่อด้านมาร์เก็ตติ้งที่ประเทศอังกฤษแล้วกลับมาทำงานด้านการตลาดอยู่พักใหญ่ ก่อนจะตัดสินใจออกมาเปิดสปาของตัวเอง-แบบที่เธอชอบ

“คุณพ่อถามว่าอายุประมาณนี้แล้ว อยากมีธุรกิจของตัวเองไหม” หญิงสาววัย 30 เผยจุดเริ่มต้น

“สปาเป็นสิ่งแรกและสิ่งเดียวที่เราพูดออกไป”

เราอยากเป็นสปาที่ใกล้ชิดธรรมชาติที่สุด

แม้จะไม่ได้ร่ำเรียนเกี่ยวกับสปามาโดยตรง แต่ชลิตาอาศัยการสังเกตสปาที่เธอชอบหลายๆ แห่ง บวกกับปรึกษาคุณน้าผู้มีธุรกิจสปาของตัวเอง รวมทั้งถามจากคนรักสปารอบตัวว่า อะไรในสปาคือสิ่งที่พวกเขาชอบมากที่สุด

“ธุรกิจสปาคือธุรกิจบริการ หลักๆ คือต้องมีเซอร์วิสที่ดี” ชลิตาบอกคำตอบ เซอร์วิสที่ว่าไม่ใช่หมายถึงแค่การบริการนวดจากพนักงาน แต่ยังรวมถึงการต้อนรับ รายละเอียดพิเศษที่ซ่อนอยู่รายทางก่อนลูกค้าจะไปถึงห้องนวด เช่น เวลคัมดริงก์ การเปลี่ยนสลิปเปอร์ให้ลูกค้าทันทีที่มาถึง การถามไถ่ความเป็นไปของลูกค้าอย่างจริงใจ

“อันนั้นคือ core ของเรา อย่างที่สองคือบรรยากาศโดยรวม โจทย์คือจะสร้างสปาที่มีบรรยากาศผ่อนคลายที่สุดได้ยังไง ส่วนปัจจัยอย่างอื่นก็เป็นสิ่งที่ปรับไปตามความชอบของเจ้าของ บางคนมีความชอบเรื่องโมเดิร์น เขาก็จะครีเอตสปาออกมาแบบโมเดิร์น แต่อย่างแอนชอบธรรมชาติ ชอบสีขาว มันเลยเป็น White Wood Green”

มากกว่าความชอบ เหตุผลที่ชลิตาเลือกสามคำนี้มาตั้งเป็นชื่อและคอนเซปต์การออกแบบอาจเพราะมันคือคำที่พูดแล้วเห็นภาพชัด White สื่อถึงสีขาวและความสะอาด Wood คือองค์ประกอบของไม้ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนบ้าน และทุกห้องในอาคารจะได้เห็นวิวต้นไม้สีเขียว (Green) สุดผ่อนคลายผ่านหน้าต่าง ไม่ว่าจะห้องขนาดเล็กหรือใหญ่

“หลังจากแอนไปเซอร์เวย์มาหลายๆ ที่แล้วพบว่าสปาในกรุงเทพฯ จะเป็นรูปแบบตึกแถวหรือห้องอินดอร์มากกว่า เราเลยคิดในใจว่า มันคงจะดีถ้าเกิดมีสปาที่มีแสงธรรมชาติ มีต้นไม้ มีองค์ประกอบที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย แล้วก็ใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจริงๆ เพราะส่วนตัวแอนแพ้น้ำหอม เคยไปบางสปาที่ใช้น้ำหอมเป็นส่วนผสมของน้ำมันนวดก็คัน พอได้เปิดสปาของตัวเองก็เก็บรายละเอียดพวกนี้มาประกอบกัน นำมาซึ่งคอนเซปต์ nature and nurture เราอยากเป็นสปาที่ใกล้ชิดธรรมชาติที่สุด ทั้งวิวและผลิตภัณฑ์ที่ใช้”

“ให้อบอุ่นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้สำหรับสปา

ในอดีต พื้นที่กว้างขวางของสปาแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของร้านอาหารดังร้านหนึ่ง ชลิตาเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นให้ฉันฟังว่า เธอรู้สึกโชคดีมากแค่ไหนที่มาเจอสถานที่นี้โดยบังเอิญระหว่างการมองหาทำเล

“ที่นี่มีต้นไม้เยอะ เป็นต้นไม้ใหญ่ เราแค่ปลูกต้นเล็กๆ เพิ่มเข้าไป ไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมาก แล้วพอบอกว่าอยู่เอกมัยซอย 12 ทุกคนน่าจะมาง่าย เพราะไม่ไกลจากรถไฟฟ้า ที่จอดรถก็มีให้” เธออธิบายเหตุผลที่ตัดสินใจขอเช่าพื้นที่นี้ทันทีโดยไม่มองหาที่อื่นต่อ

เมื่อได้ทำเลที่ใช่ การรีโนเวตอาคารใหม่ก็เกิดขึ้นจากการออกแบบอย่างเป็นสัดเป็นส่วน เมื่อเดินเข้ามาจะพบล็อบบี้สำหรับนั่งรอที่มีเบาะนุ่มๆ กับเวลคัมดริงก์น้ำใบเตยที่ทางร้านปลูกเองคอยเสิร์ฟอยู่ ติดกันเป็นห้องล้างเท้าที่ผนังเป็นกระจกทั้งบาน ให้เราได้มองภาพพืชพรรณไม้สบายตา

ถัดเข้าไปด้านในคือห้อง waiting room ที่ให้ผู้นวดได้มานั่งจิบชาระหว่างรอได้ ในห้องเดียวกันยังมีส่วนช้อปปิ้งสินค้าที่ผู้นวดได้ลองใช้แล้วติดใจ อาทิ ชุดนอนจากผ้าใยไผ่ธรรมชาติ

“ปกติถ้านวดไทยต้องเปลี่ยนเป็นชุดนอน นวดอโรม่าต้องเปลี่ยนเป็นบาธโรฟ เราจึงให้ความสำคัญกับการคัดสรรผ้าเป็นพิเศษ แอนไปเจอผ้าใยไผ่ที่เราใส่เองแล้วชอบมาก เพราะมันมีความเย็น สบาย พอเอามาใช้ที่สปาก็มีฟีดแบ็กดี เราเห็นสปาอื่นเขาขายเป็นครีมทาหน้า แต่แอนคิดว่าอยากมีสินค้าที่แตกต่าง ถ้าสปาคือความสบาย ชุดนอนก็ตอบโจทย์นั้นเหมือนกัน สุดท้ายก็ออกมาเป็น White Wood Green Wear ที่เน้นชุดนอนจากผ้าใยธรรมชาติทั้งหมด” เธอขยายความ

white wood green room

white wood green service

เดินลึกเข้าไปเราจะพบห้องนวดทั้งหมด ซึ่งแบ่งเป็น 1 ห้องนวดเท้า 3 ห้องนวดไทย (แตกต่างจากสปาอื่นตรงที่ไม่ได้เป็นห้องกั้นผ้าม่าน แต่นวดไทยของที่นี่จะบริการในห้องเพื่อความรู้สึกส่วนตัวมากขึ้น) และสุดอาคารคือห้องนวดอโรม่าจำนวน 4 ห้อง

ชลิตาพาฉันไปดูห้อง suite ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มันคือห้องเพดานสูงให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง ในห้องเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างสตีมซาวน่า อ่างอาบน้ำน่าลงแช่ เตียงนวดที่แค่เห็นก็อยากล้มตัวลง และแน่นอน ผนังกระจกที่เปิดรับแสงธรรมชาติ มอบความสว่างให้กับทั้งห้อง

จากการสำรวจ ฉันคิดว่าสิ่งที่ชลิตาเน้นย้ำไม่ใช่แค่การออกแบบสัดส่วนของอาคาร แต่คือประสบการณ์โดยรวมที่ผู้เยี่ยมเยียนจะได้รับ

white wood green building

“แอนชอบดู pinterest สิ่งที่โดนใจจนเซฟเก็บไว้บ่อยที่สุดคือบรรยากาศที่เข้ามาแล้วรู้สึกว่ากำลังอยู่ ‘บ้านพักตากอากาศ’ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ลูกค้าเราหลายคนบอกเหมือนกัน ที่นี่จะไม่ได้หรูมากแต่มีความพิถีพิถันในการเลือกเฉดสี รวมทั้งดีเทลเล็กๆ น้อยๆ อย่างของตกแต่งที่ให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน พวกแจกัน ดอกไม้ ให้รู้สึกอบอุ่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับสปา หรือเพลงบรรเลงที่เราเปลี่ยนตลอดเพื่อไม่ให้ลูกค้าประจำเบื่อ แต่สิ่งที่ยังคงมีเหมือนเดิมคือเสียงนก เสียงใบไม้ไหว เสียงน้ำ เพื่อความกลมกลืนกับต้นไม้สีเขียว”

ในอนาคต ชลิตายังมีแผนขยับขยายธุรกิจไปสู่ร้านช้อปปิ้งของกระจุกกระจิกกับงานฝีมือชื่อ ‘ข้าวของ’ ซึ่งตั้งอยู่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยเน้นขายสินค้าจากผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะช่างฝีมือในชุมชนเป็นหลัก

“กลิ่นเหล่านี้ทำให้ลูกค้าเข้าใจเรามากขึ้น”

นอกจากบรรยากาศ ชลิตายังหยิบจับธรรมชาติให้กลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทุกคนสัมผัสได้

ไม่ใช่แค่ตาดู หูฟัง แต่ยังรู้สึกไปถึงชั้นผิวหนัง

ฉันกำลังพูดถึงน้ำมันนวดที่มีวัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นส่วนผสม

“คอร์สนวดของที่นี่รองรับความต้องการหลายแบบ เรามีการนวดเท้าเพื่อกดจุด นวดไทย คอ บ่า ไหล่ สำหรับคนที่ชอบนวดหนักเพื่อคลายปวด นวดแบบ deep tissue ที่เน้นน้ำหนักเยอะมากขึ้นอีกขั้น นวดหน้าบำรุงผิวพรรณ เราใช้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ endota ซึ่งเป็นแบรนด์ออร์แกนิกจากออสเตรเลียที่อ่อนโยนต่อผิวบอบบางเป็นพิเศษ และมีการนวดน้ำมันหรืออโรม่าซึ่งเป็นประเภทที่แอนชอบที่สุด เพราะมันเบา ไม่ค่อยเจ็บมากเท่าไหร่ ซึ่งนวดน้ำมันของเราจะพิเศษคือเราให้ลูกค้าเลือกกลิ่นได้

massage

endota

แอนพยายามหา ingredient ที่ช่วยบำรุงผิว น้ำมันของเราจะมี avocado oil และ grape seed ซึ่งที่อื่นๆ จะไม่ค่อยใช้กันเนื่องจากต้นทุนสูง น้ำมันก็ต้องบำรุงและซึมได้ดี ไม่เหนียว และเราก็ไม่อยากได้กลิ่นอย่าง lemon glass หรือ jasmine ที่มีอยู่ทั่วไป เราเลยไปหาคนเบลนด์กลิ่นให้ใหม่”

แล้ว White Wood Green ก็ไม่ได้เป็นแค่ชื่อและคอนเซปต์หลักของร้านอีกต่อไป แต่ยังรวมไปถึงชื่อน้ำมันนวดสูตรเฉพาะของที่นี่อีกด้วย

“ลองดมดูแล้วบอกแอนว่าชอบกลิ่นไหน” ชลิตาหยิบขวดน้ำมันแล้วยื่นเข้ามาหาเราทีละขวด “อันนี้กลิ่น White เป็นกลิ่นที่มาจากดอกไม้สีขาวนานาพันธุ์ คอตตอน และคาโมมายล์ ให้ความรู้สึกเบาสบาย

“กลิ่นที่สอง Wood” ขวดนี้ให้ความรู้สึกอบอุ่น “สกัดมาจากพวก cedarwood, sandalwood และวานิลลา”

ชลิตาหยิบขวดต่อมา ไม่ต้องบอกก็พอจะเดาได้ว่าชื่อ Green “อันนี้มีสารสกัดจากใบไม้ มะนาว” ต่างจากสองกลิ่นก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง เพราะขวดนี้รู้สึกถึงความสดชื่น ดมแล้วเหมือนดมกลิ่นหญ้าตัดใหม่ๆ รีเฟรชอารมณ์ได้ในทันที

หลังจากนั้นหญิงสาวเจ้าของร้านหยิบขวดสุดท้ายขึ้นมา แนะนำฉันว่านี่คือกลิ่นลาเวนเดอร์ พอดมแล้วบอกได้เลยว่าไม่ใช่ลาเวนเดอร์ทั่วไปที่เราเคยได้กลิ่นกันแน่นอน “แอนเพิ่งรู้มาเหมือนกันว่า จริงๆ ลาเวนเดอร์ของแต่ละพื้นที่ในโลกมีกลิ่นไม่เหมือนกัน ทุกที่มีเสน่ห์ของมันเอง แอนจึงเลือกหยิบลาเวนเดอร์ที่ชอบมาเบลนด์กัน มาจากสามสายพันธุ์คือไทย อังกฤษ และฮังการี”

การมีกลิ่นน้ำมันเฉพาะของร้านนั้นดียังไง สำหรับชลิตาแล้วมันช่วยแสดงตัวตนของที่นี่ให้ชัดเจนมากขึ้น

“มากไปกว่านั้นคือกลิ่นเหล่านี้ทำให้ลูกค้าเข้าใจมากขึ้นว่าเราอยากให้เขารู้สึกยังไง” นอกจากนี้หญิงสาวเจ้าของร้านยังแอบกระซิบว่า ในแต่ละเดือนยังมีกลิ่นพิเศษที่รอเซอร์ไพรส์ลูกค้าอยู่ที่ร้านด้วยล่ะ

ฉันใช้เวลาครู่หนึ่งตัดสินใจ แล้วบอกกลิ่นที่ชอบเป็นพิเศษกับเธอ ชลิตาพาฉันไปยังห้องอโรม่าเพื่อพบพนักงานนวด แล้วคอร์สของฉันก็เริ่มต้นขึ้น

White Wood Green Spa Bathtub

“ไม่ได้นวดเพื่อรีแลกซ์ร่างกาย แต่เข้ามาเพื่อดูแลหัวใจด้วย”

รู้สึกยังไงบ้าง คือคำถามที่ฉันโดนถามบ่อยที่สุดในห้องนั้น ทุกจังหวะ ทุกการเคลื่อนไหว พนักงานจะถามฉันก่อนเสมอว่าอนุญาตไหม

ฉันเดาว่าน่าจะเป็นความใส่ใจที่ชลิตาเน้นย้ำกับพนักงานเป็นพิเศษ

“แอนเป็น HR คัดพนักงานเข้ามาตั้งแต่แรก ได้สัมภาษณ์ทุกคน เราพยายามมองหาคนที่เขามีแอตติจูดที่ดี เอาใจใส่ลูกค้าจากใจจริง เรารู้ว่าจะทำให้ลูกค้าประทับใจ เพราะเราเคยประทับใจกับการบริการแบบนี้ตั้งแต่เด็ก” เธออธิบาย

“โชคดีของแอนด้วยที่เจอพี่ๆ ที่ดี อยู่ด้วยกันมาตั้งหลายเดือน เราเทรนกันตั้งแต่ซีเควนต์ เข้าไปแล้วสิ่งที่เขาต้องทำมีอะไรบ้าง 1 2 3 4 5 เลือกน้ำมันเสร็จที่ล็อบบี้ เข้าไปก็ให้ลูกค้าดมอีกรอบเพื่อเพิ่มความผ่อนคลาย นวดตัวเสร็จจะมานวดหัวก็ต้องล้างมือก่อน แล้วมันก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีนะ แอนก็คอยอ่านรีวิวตลอดเลย ก็ดีใจ เหมือนลูกค้ารู้ว่าเราพยายามใส่ใจเขาตลอด

แอน ชลิตา ตฤณขจี

“สิ่งที่เราต้องการที่สุดคืออยากให้ลูกค้าเข้ามาแล้วรู้สึกผ่อนคลายเลย เพราะเดี๋ยวนี้ทุกคนทำงานกันตลอดเวลา เล่นมือถือ อยากให้เขาเข้ามาแล้วได้หนีออกจากกรุงเทพฯ ไปสักพักหนึ่ง ได้อยู่กับตัวเอง แอนคิดตลอดเลยว่าทุกคนไม่ได้นวดเพื่อรีแลกซ์ร่างกาย แต่เข้ามาเพื่อดูแลหัวใจตัวเองด้วย ได้คิดทบทวนสิ่งที่ดีๆ รู้สึกแฮปปี้กับชีวิต มันควรจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แอนอยากให้ลูกค้ารู้สึก”

นอกจากผนังสีขาวและต้นไม้สีเขียว ความเอาใจใส่จากใจจริงอาจเป็นเหตุผลพิเศษที่ทำให้ใครต่อใครต่างตกหลุมรักที่นี่ ฉันสรุปกับตัวเองเช่นนั้น

White Wood Green Spa Front Door


White Wood Green Spa

ที่ตั้ง : 53 ซอยเอกมัย 12 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ (มีที่จอดรถ)

เวลาทำการ : เปิดทุกวัน 10 โมงถึง 4 ทุ่ม

เบอร์โทรศัพท์ : 061 802 2244

ติดตามโปรโมชั่นประจำเดือนได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย