White Gown Warriors เซตภาพถ่ายที่บันทึกความเหนื่อยและความหวังของคนในโรงพยาบาลช่วงโควิด-19

Highlights

  • White Gown Warriors คือแคมเปญที่ อนุสาสน์ เหล่าจูม หรือ ‘จูม’ ช่างภาพอิสระและช่างภาพกลุ่มสตรีทโฟโต้ไทยแลนด์ ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเข้าไปเก็บภาพชีวิตของเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังการทำงาน ในช่วงที่ต้องรับมือกับวิกฤตโควิด-19 
  • จูมบันทึกภาพชีวิตฮีโร่ชุดกาวน์ที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งเปลี่ยนเป็นศูนย์กลางของโรคระบาดอุบัติใหม่, โรงพยาบาลศรีธัญญา ซึ่งผันตัวมาเป็นโรงพยาบาลภาคสนาม และโรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ซึ่งต้องปิดการรักษาภาคปกติ เพื่อคัดกรองและรองรับผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเต็มตัว
  • แคมเปญนี้ต้องการเป็นกระบอกเสียงให้สังคมได้ตระหนักรู้และตื่นตัวต่อเรื่องไวรัสมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนในสังคมผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายเช่นนี้โดยเร็วที่สุด

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เราได้เห็นทุกคนลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันและกันตามแต่กำลังและความสามารถที่มี

สำหรับ จูม–อนุสาสน์ เหล่าจูม ช่างภาพอิสระ ผู้มีอุปกรณ์สำคัญเป็นกล้องถ่ายรูป เขามองว่า วิธีการช่วยเหลือที่เขาพอจะทำได้ คือการบันทึกภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานกันสุดความสามารถในเวลาเช่นนี้

“ผมคิดว่าบุคลากรทางการแพทย์ช่วยรักษาโรคและเยียวยาสภาพจิตใจผู้ป่วยมาโดยตลอด แต่ในทางกลับกันอาจไม่มีใครเยียวยาจิตใจของพวกเขา ผมเลยอยากเข้าไปเก็บภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ข้างในโรงพยาบาล แล้วนำมาเผยแผร่ให้ประชาชนได้เห็นถึงความตั้งใจจริงของพวกเขา ฝั่งประชาชนจะได้ช่วยกันส่งกำลังใจกลับมาให้บุคลากรทางการแพทย์บ้าง”

จึงเป็นที่มาของผลงานชุด White Gown Warriors หรือนักรบเสื้อกาวน์ ชุดภาพถ่ายที่จุมเก็บเกี่ยวมาได้หลังจากเข้าไปสังเกตการณ์การทำงานของเหล่านักรบด่านหน้าถึงที่ทำงานของพวกเขา โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

โดยเขาหวังว่าภาพถ่ายชุดนี้จะช่วยให้คนในสังคมได้ตระหนักรู้และตื่นตัวต่อเรื่องไวรัสมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายเช่นนี้โดยเร็วที่สุด

 

โปรเจกต์นี้เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร

ด้วยความที่เป็นช่างภาพ พอมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มันไม่ปกติแบบนี้เกิดขึ้นมา ผมก็อยากออกไปถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์แบบนี้เอาไว้ แต่พอหันไปดูเพื่อนช่างภาพคนอื่นๆ เขาก็เก็บภาพตามสถานที่ต่างๆ ไปเยอะแล้ว ผมเลยมานั่งตั้งโจทย์กับตัวเองก่อนว่าอยากถ่ายทอดหรือบอกเล่าเรื่องราวอะไร ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือผมอยากถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

 

แต่การเข้าไปถ่ายภาพในโรงพยาบาลในช่วงเวลาแบบนี้ดูเป็นเรื่องที่ยากมาก

จริงๆ แล้วการจะเข้า-ออกโรงพยาบาลในช่วงนั้นเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ผมเองในฐานะช่างภาพทั่วไปที่ไม่มีความจำเป็นต่อการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ย่อมถูกปฏิเสธอยู่แล้ว โชคดีที่ทาง สสส.เขาเห็นถึงความตั้งใจจริงของเรา ที่ต้องการเยียวยาจิตใจผู้คนในช่วงเวลาแบบนี้ ซึ่งตรงกับหนึ่งในโครงการของเขาอย่าง ‘ไทยรู้สู้โควิด’ พอดี เขาจึงมาช่วยประสานงานให้ ต้องขอบคุณจริงๆ ที่ให้โอกาสผมได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมบ้าง

พอได้เข้าไปถ่ายข้างในผมก็เข้าไปเก็บภาพแคนดิดตามสไตล์ที่ตัวเองถนัด คือปล่อยให้แพทย์ทำงานปกติเลย ส่วนตัวผมเองจะเข้า-ออกหามุมที่ต้องการเอง จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของเขา แต่หลังจากถ่ายไปได้สักพักหนึ่ง ผมก็เริ่มขยายกรอบคอนเซปต์จากเพียงแค่บุคลากรทางการแพทย์ เป็นบุคลากรในโรงพยาบาล เพราะผมเริ่มมองไปถึงเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ที่ต้องทำงานอยู่ข้างในโรงพยาบาล ทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัย คนซักผ้า หรือคนทิ้งขยะ โปรเจกต์นี้จึงขยายกว้างไปจากเดิม

ผมคิดว่ามันจำเป็นที่จะต้องพูดถึงทุกภาคส่วน เพราะเวลาที่งานออกไปสู่โซเชียลมีเดีย คนทั่วไปเขาจะได้รับรู้ว่า คนในโรงพยาบาลสู้กันจริงจัง พวกเขาอยากเห็นสังคมกลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็ว คนอื่นๆ จะได้เริ่มตื่นตัวเรื่องไวรัสและสามารถแบ่งเบาภาระแพทย์ได้บ้าง

 

ภาพไหนในแคมเปญนี้ที่คุณชื่นชอบและอยากนำเสนอมากที่สุด

ภาพยิงหัว เป็นภาพที่แพทย์วัดอุณหภูมิตัวเอง ผมรู้สึกว่ามันสื่อความหมายได้หลากหลาย ให้คนไปตีความต่อเอง ซึ่งตรงกับความต้องการของผมที่ไม่อยากชี้นำเท่าไหร่นัก แต่ถ้าในมุมมองผม ผมรู้สึกว่าภาพนี้คือการบันทึกเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ได้ครบถ้วนที่สุด คือเราเห็นแล้วต้องรู้ทันทีว่าภาพนี้ถ่ายตอนไวรัสโควิด-19 กำลังระบาด มีแพทย์ มีเครื่องวัดอุณหภูมิ มีความหวาดกลัวต่อไวรัส

ภาพ : อนุสาสน์ เหล่าจูม

 

มีสิ่งที่คุณไม่ได้เก็บภาพเอาไว้ แต่ก็อยากบอกเล่าให้คนภายนอกรับรู้บ้างไหม

ข้างในโรงพยาบาลมีสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เก็บภาพไว้แต่ผมรู้สึกได้คือความเหนื่อย ทุกคนเหนื่อยกันหมดแล้ว บางคนอยู่ข้างในนั้น 14 วันไม่ได้กลับบ้าน ไม่ได้เจอครอบครัวเลย ตอนเห็นครั้งแรกก็เศร้า แต่ผมก็รู้สึกขอบคุณพวกเขามากๆ ที่เต็มใจจะทำสิ่งนี้เพื่อสังคม ขนาดตัวผมเองที่เห็นแบบนี้ยังรู้สึกว่าตัวเองคงต้องทำอะไรบ้างแล้ว

อีกปัญหาหนึ่งที่เจอมาแล้วอยากเล่าคือ สังคมยังมีความกลัวต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานใกล้ชิดกับไวรัสอยู่ ร้านอาหารบางแห่งจะไม่ขายให้กับคนในโรงพยาบาลเลย นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผมอยากยื่นมาเข้ามาช่วยเหลือเหมือนกัน ผมหวังว่าการที่สังคมภายนอกได้เห็นการทำงานที่รัดกุมและเป็นระบบจริงๆ เขาจะได้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

 

มีตัวอย่างที่พิสูจน์ว่าแคมเปญของคุณส่งผลต่อคนในสังคมจริงๆ บ้างไหม

มีแคมเปญเล็กๆ เกิดขึ้นหลังจากปล่อยภาพชุดนี้ลงโซเชียลมีเดียแล้ว คือผมเปิดโอกาสให้คนเข้ามาขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ที่ช่วยเหลือคนในสังคม แล้วก็ให้พวกเขามาสัญญาว่าจะดูแลตัวเองเป็นอย่างดี เพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด คุณหมอจะได้ไม่ต้องทำงานหนักขนาดนี้ ปรากฏว่ามีคนเข้ามาคอมเมนต์หลักพันเลย ซึ่งผมก็เอาคอมเมนต์เหล่านั้นไปให้บุคลากรทางการแพทย์ดูจริงๆ บางคนที่เขาทำงานหนักมากๆ จนไม่เคยเข้ามาอ่านคอมเมนต์ในโลกโซเชียลมีเดียเลย พอเขาได้เห็นข้อความแบบนี้เขาก็ขอบคุณยกใหญ่ บอกว่าเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ช่วยเติมเต็มกำลังใจให้เขาได้เป็นอย่างดี

 

ทำไมช่างภาพอย่างคุณถึงตัดสินใจมาทำโปรเจกต์ที่เสี่ยงต่อสุขภาพของตัวเองแบบนี้

พูดตรงๆ ก็กลัวไวรัสโควิด-19 นะ แต่ผมมีความเชื่อว่า ถ้าเราสามารถทำอะไรที่ให้ประโยชน์ต่อสังคมได้ก็ควรทำ ถ้ามันไม่หนักหนาสาหัสอะไร อย่างน้อยช่วยให้สังคมดีขึ้นสักนิดหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรแล้วมานั่งบ่นเสียดายทีหลัง คำว่า ‘รู้แบบนี้’ หรือ ‘ตอนนั้นกูทำดีกว่า’ เป็นคำที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวผมเองมากที่สุด

 

หลังจากนี้จะมีโปรเจกต์แบบนี้เกิดขึ้นอีกไหม

หลังจากปล่อยภาพเซตนี้ไป สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกคือ สังคมได้รับประโยชน์จากผลงานที่เราทำ เลยคิดว่าโปรเจกต์ต่อไปคงจะทำงานที่สะท้อนสังคมมากขึ้น จริงๆ เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่งานศิลปะมันจำเป็นต้องสะท้อนสังคมบางแง่อยู่เสมอ แต่ผมอยากสะท้อนในแง่มุมที่สวยงาม อยากแบ่งปันความรู้สึกและเรื่องราวดีๆ ให้กับสังคม ตัวผมเองเป็นคนจุดประเด็นให้เกิดการแก้ปัญหาไม่เก่ง ยังรับมือกับความเห็นที่รุนแรงผ่านการตั้งคำถามตรงไปตรงมาไม่ค่อยได้ แต่ถ้าเป็นงานในเชิงบวกที่ชุบชูใจผู้คนได้ ผลงานแบบนั้นคงมีออกมาให้เห็นอีกแน่นอนในอนาคตข้างหน้า

 

ภาพ : อนุสาสน์ เหล่าจูม

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ธนดิษ ศรียานงค์

ช่างภาพที่ชอบการเดินทางแต่จำทางไม่ค่อยได้ นิ่งเป็นหลับขยับเป็นหลง