‘ภูมิคุ้มกัน’ คือปราการที่มั่นสำคัญสุดท้ายแม้ผ่านพ้นยุค COVID-19 ไปแล้ว

Highlights

  • 'ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย' คือตัวกำหนดว่าไวรัสจะเล่นงานคุณหนักแค่ไหน ซึ่งภูมิคุ้มกันของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากันและเสื่อมถอยตามอายุขัยของร่างกาย
  • แต่ในบางกรณีภูมิคุ้มกันเองก็ไม่ได้ยึดติดกับอายุ หลายคนมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง แม้ตัวเลขจะเลยไปไกลแล้ว แต่อีกคนกลับมีภูมิคุ้มกันอ่อนทั้งๆ ที่อายุยังน้อย
  • วิถีชีวิตที่โชกโชน ทั้งนอนดึก ตื่นสาย โหมงานหนัก ขาดการออกกำลังกาย รวมไปถึงการสูบบุหรี่จัดและการมีน้ำหนักตัวอยู่ในข่ายอ้วน เหล่านี้ทำให้ภูมิคุ้มกันถดถอยเกินกว่าอายุจริง

ล้างมือนาน 20 วินาทีก็แล้ว จามใส่ข้อพับแขนทุกครั้งก็แล้ว ไม่เอามือแตะหน้าแตะตาก็แล้ว อยู่ห่างจากมวลหมู่มนุษย์ 1 เมตร กักตัวนาน 14 วัน โอเค ทำตามหมดในเช็กลิสต์ พฤติกรรมที่ดูจุกจิกทั้งหลายกลายเป็นความจำเป็นเนื่องจากสามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่โควิด-19 ที่อาจจะแวะเวียนมาทักทายเราอีกหลายระลอก

แต่ปราการสุดท้ายที่สำคัญที่สุดของคุณคือ ‘ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย’ ที่เป็นตัวตัดสินโยนหัว-ก้อยว่าไวรัสจะเล่นงานคุณหนักแค่ไหน น่าเสียดายที่ไม่มีเส้นมาตรฐานชัดเจนว่าคุณควรมีภูมิต้านทานเท่าไหร่ถึงจะปลอดภัย เนื่องจากภูมิคุ้มกันของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากันและเสื่อมถอยตามอายุขัยของร่างกาย นี่จึงทำให้ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดในวงจรระบาด แต่ในบางกรณีภูมิคุ้มกันเองก็ไม่ได้ยึดติดกับตัวเลขอายุ หลายคนมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง แม้ตัวเลขจะเลยไปไกลแล้ว แต่อีกคนกลับมีภูมิคุ้มกันอ่อนทั้งๆ ที่ยังมีอายุน้อย

ในยุคต่อไปแม้วิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว ประเด็นเรื่องภูมิคุ้มกันอาจถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างกว้างขวาง มีธุรกิจต่างๆ เข้ามาหว่านล้อมคุณด้วยสินค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อเคลมว่าสามารถทำให้ภูมิคุ้มกันคุณแข็งแกร่งดั่งหินผา นี่จึงอาจเป็นความหวั่นวิตกรูปแบบใหม่ จนคุณยอมเสียทรัพย์แค่ไหนก็ได้เพื่อภูมิคุ้มกัน

 

เราสามารถหมุนนาฬิกาภูมิคุ้มกันกลับมาได้ไหม

นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาด้านวิทยาภูมิคุ้มกันต่างลงความเห็นว่า ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเป็นกลไกที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยปริศนามากที่สุดรองลงมาจากสมอง เพราะภูมิคุ้มกันมี cell type นับพันชนิด ส่งโมโลกุลที่มีความจำเพาะมากกว่า 8,000 ยีน เป็นโครงข่ายที่ยุ่งเหยิงซับซ้อนเกี่ยวพันกันไปหมด การศึกษาภูมิคุ้มกันจึงเหมือนการมองท่อน้ำใต้ดินจากแผนผังเมืองที่มีการไหลเวียนตลอดเวลา

หากคุณมีอายุไม่มาก ยืนยันว่าตัวเองมีสุขภาพดี ไม่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงให้ร่างกายทรุดโทรม ภูมิคุ้มกันก็น่าจะยังทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพพอจะกำจัดเชื้อโรคที่เข้ารุกรานร่างกาย แม้กระทั้งกลุ่มไวรัสโคโรนาที่ภูมิคุ้มกันคนส่วนใหญ่ยังรับมือได้ แต่ข่าวร้ายคือภูมิคุ้มกันอยู่กับใครไม่นาน มันค่อยๆ เสื่อมถอยตามอายุขัย เรียกว่าภาวะ immunosenescence ซึ่งเริ่มมีผลกระทบกับคนในช่วงวัย 60 ปี ยิ่งสูงวัยมากเท่าไหร่ยิ่งมีโอกาสป่วยมากขึ้นจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะช่วงที่ไข้หวัดระบาดหรือ flu season แค่ไข้หวัดใหญ่ก็เพียงพอจะทำให้ผู้สูงอายุไปนอนแอดมิตที่โรงพยาบาลได้  มีสถิติว่าคนที่มีอายุมากกว่า 75 ปีมีโอกาสเสียชีวิตจากไวรัสเพิ่มขึ้น 30-40 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

แต่สำหรับคนหนุ่มสาวคงไม่วิตกกังวลต่อภาวะ immunosenescence มากเท่าไหร่ เพราะอาจรู้สึกว่ายังไกลตัว แต่ในความเป็นจริงคุณบ่อนทำลายภูมิคุ้มกันตัวเองได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อนี่แหละ จากวิถีชีวิตที่โชกโชน ทั้งนอนดึก ตื่นสาย โหมทำงานหนัก ขาดการออกกำลังกาย รวมไปถึงการสูบบุหรี่จัดและการมีน้ำหนักตัวอยู่ในข่ายอ้วน ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันถดถอยเกินกว่าอายุจริง

อายุทางปฏิทิน (chronological age) และอายุทางชีวภาพ (biological age) มักไม่ห่างกันมากในทางทฤษฎี แต่กรณีภูมิคุ้มกันนั้นอาจห่างช่วงกันได้ถึง 20 ปี เช่น คุณมีอายุ 30 นิดๆ แต่ไม่เคยดูแลสุขภาพเลย กินจุ ดื่มหนัก เมื่อไวรัสเข้ารุกรานร่างกายภูมิคุ้มกันอาจมีประสิทธิภาพต่อต้านไม่เพียงพอ เพราะภูมิคุ้มกันคุณอาจเทียบเท่ากับคนอายุ 50 ปี การใช้ชีวิตเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ศักยภาพในการต้านโรคต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ดังนั้นการทำความเข้าใจกลไกภูมิคุ้มกันช่วยให้แพทย์พอประเมินได้ว่าโรคภัยรูปแบบใดจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย ถ้าภูมิคุ้มกันบกพร่องแพทย์จะเลือกวิธีเพิ่มภูมิคุ้มกันให้คุณหรือไม่ หากแพทย์สามารถบอกอายุโดยประเมินจากภูมิคุ้มกันคุณได้ก็น่าจะทำให้เลือกใช้กระบวนการรักษาที่แม่นยำขึ้น

งานวิจัยล่าสุดจากทีมมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพยายามหาคำตอบนี้ โดยพวกเขาใช้วิทยาการที่เรียกว่า การบูรณาการพหุโอมิกส์ (multi-omics) ที่มักกล่าวถึงบ่อยๆ ในด้านวิทยาการแพทย์แม่นยำ งานวิจัยติดตามระบบภูมิคุ้มกันของอาสาสมัคร 135 คน แบ่งออกเป็น 2 ช่วงวัย ระหว่าง 20-31 ปี และ 60-96 ปี ติดตามพวกเขาต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 9 ปี ซึ่งเป็นการติดตามที่ใช้เวลานานที่สุดเท่าที่เคยทำมา

ข้อมูลที่ได้พบว่าอายุของภูมิต้านทานร่างกายสอดคล้องกับความเสี่ยงเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย ยิ่งอายุภูมิคุ้มกันมากก็ยิ่งบอบบาง เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส และใช้ช่วงเวลาให้ร่างกายฟื้นนานกว่า จนอาจกล่าวได้ว่าศักยภาพของภูมิต้านทานในร่างกายมีส่วนกำหนดอายุขัยพวกเราได้ แต่อย่างไรก็ตามแม้คุณอยากรู้อายุภูมิต้านทานของคุณมากแค่ไหน ก็ไม่มีสถานบริการใดๆ รับตรวจให้คนทั่วไปอยู่ดี

เมื่อเราสูงวัยขึ้นความปั่นป่วนก็เริ่มมาเยือน โดยเฉพาะเซลล์ภูมิคุ้มกันที่พวกเราคุ้นเคยมากที่สุดและมีปริมาณมากที่สุด คือ neutrophil หรือเซลล์เม็ดเลือดขาว ผู้เป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับการติดเชื้อ เดินลาดตระเวนไปทั่วเส้นเลือดเพื่อค้นหาแบคทีเรีย หากพบเป้าหมาย neutrophil ก็จะกลืนกินแบคทีเรียเหมือนเกม Pac-Man หรือปล่อยสารเคมีที่ทำลายโครงสร้าง RNA ของไวรัส เม็ดเลือดขาวที่ออกสู่ภายนอกหลอดเลือดจะถูกชักนำด้วยสารเคมีเพื่อมุ่งเข้าหาบริเวณที่อักเสบ เราเรียกกระบวนการนี้ว่า chemotaxis จุดนี้เองที่ทำให้เมื่ออายุมากขึ้นการชักนำต่างๆ จะค่อยๆ ทำได้น้อยลง แม้ neutrophil จะค้นพบผู้รุกรานได้ แต่ประสิทธิภาพในการกำจัดก็ไม่ดีเท่าหรืออาจใช้เวลานานขึ้น และนั่นทำให้จุลชีพก่อโรคมีเวลามากพอที่จะทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายติดเชื้อ

นี่ยังไม่นับรวม neutrophil ที่ทำลายกันเอง ก่อให้เกิดภาวะอักเสบ ดังนั้นเราจึงต้องมีวิธีทำให้ neutrophil กลับมาทำงานอย่างเป็นปกติอีกครั้ง มีงานวิจัยพบว่ายาลดไขมันในกระแสเลือดกลุ่ม statins มีแนวโน้มช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดขาวต่อสู้โรคได้ มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ แต่วิธีดังกล่าวอยู่ในกระบวนการวิจัย ยังไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมสำหรับแพทย์เพราะมีผลข้างเคียง ทำให้ไตวาย ตับอักเสบ หากใช้ยากลุ่ม statins เป็นเวลานาน

 

ทำไมบางคนถึงภูมิคุ้มกันดี แต่ฉันไม่ดีเหมือนเขา

เราทราบกันดีว่าคนในแต่ละช่วงวัยมีภูมิต้านทานไม่เท่ากัน แล้วคนในวัยเดียวกันแท้ๆ ก็ยังมีภูมิคุ้มกันไม่เท่ากันอีก เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิต การมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมหลากหลาย และในช่วงชีวิตแต่ละคนเคยประสบโรคภัยอะไรมาแล้วบ้าง ซึ่งภูมิคุ้มกันเองมีการปรับเปลี่ยนตัวเองตลอด การที่บางคนมีภูมิคุ้มกันดีตั้งแต่เด็กๆ เป็นโรคน้อย ก็ถือว่า ถูกหวยทางพันธุกรรม’ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่พวกเราเติบโตก็สามารถชี้วัดได้

มีงานวิจัยที่น่าสนใจของ Technion–Israel Institute of Technology ซึ่งพยายามทดสอบอายุภูมิต้านทานของบรรดาเด็กๆ ที่อาศัยในโซนชุมชนแออัดของบังกลาเทศ เด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงสาธารณสุขที่ดีนัก พวกเขาเสี่ยงติดเชื้อและล้วนเคยมีโรคเกี่ยวกับปรสิต เมื่อนักวิจัยเอามาเทียบกับวัยรุ่นในเมืองแถบแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ฐานะดี กลับพบว่าเด็กๆ จากบังกลาเทศมีภูมิต้านทานดีกว่าวัยรุ่นแคลิฟอร์เนีย น่าจะเข้ากับประโยคที่ว่า ‘อะไรที่ฆ่าคุณไม่ได้ทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้น’

การที่ระบบภูมิต้านทานไม่เคยเผชิญโรคเลยก็อาจเป็นผลเสีย ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะภูมิต้านทานต่ำในอนาคต แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กบังกลาเทศจะมีสุขภาพดี แม้พวกเขาจะมีภูมิต้านทาน รับมือกับเชื้อประจำถิ่นได้ แต่ก็ยังเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่นๆ อยู่ดี

 

แล้วเรามีวิธีรักษาภูมิคุ้มกันให้พร้อมอยู่เสมอได้ยังไง

กุญแจสำคัญที่นำไปสู่กระบวนการ anti-aging ของร่างกายคือการจำกัดปริมาณแคลอรีในแต่ละวัน จากงานวิจัยที่ให้สัตว์ทดลองอดอาหารลงกว่าเดิม 60 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่แมลงหวี่จนถึงลิง ผลปรากฏว่าภูมิต้านทานของสัตว์ทดลองเหล่านี้ดีขึ้นเมื่อเข้าสู่กระบวนการอด (starvation) จากเหตุผลที่วิวัฒนาการทำให้ร่างกายปรับตัวเมื่ออยู่ในภาวะอด

แต่หากเรานำมาปรับใช้โดยที่ไม่จำเป็นต้องอดจริงๆ นักวิทยาศาสตร์ก็ก้าวไปอีกขั้นด้วยการไปปิดกลไกของเซลล์ไม่ให้รับรู้สารอาหาร จำลองกระบวนการอด เรียกว่า mTOR (mammalian target of rapamycin) เป็นกลุ่ม protein kinase ที่ทำหน้าที่เป็นตัวรับสัญญาณสารอาหารเพื่อควบคุมระดับพลังงานภายในเซลล์ เมื่อถูกปิดเซลล์จะเข้าสู่ภาวะอด จากการทดลองในสัตว์พบว่ามีส่วนทำให้ภูมิต้านทานสูงขึ้น จัดการกับจุลชีพที่ก่อโรคได้ดีขึ้น

กินอาหารให้น้อยลง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และเลือกอาหารที่มีคุณค่า ยังเป็นคำแนะนำที่ดีที่สุดในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันระยะยาว โดยที่เริ่มทำได้เลย ไม่ต้องพึ่งอาหารเสริมใดๆ

การเตรียมร่างกายให้พร้อมโดยที่ไม่ต้องรอให้ชรานั้นดี เพราะกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันกินระยะเวลาตลอดช่วงชีวิต ในยุคที่โรคระบาดหลายชนิดเตรียมจ่อเล่นงาน ‘ปราการภูมิคุ้มกัน’ ยังเป็นที่มั่นสุดท้ายสำหรับพวกเราเสมอ


อ้างอิง

Immunosenescence: emerging challenges for an ageing population

mTOR inhibition improves immune function in the elderly

mTOR Signaling in Growth, Metabolism, and Disease

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน