เดินทางไปกับ ‘ในครึ่งที่ยังว่างของกระเป๋าเดินทางสีฟ้า’ เพื่อเรียนรู้ว่าใครๆ ต่างมีเส้นทางชีวิตเป็นของตัวเอง

Highlights

  • หลังจากที่ 'คาเฟ่ลูส เมนูที่รักจากการเดินทาง' ได้สร้างความประทับใจให้นักอ่านชาวไทยไปเมื่อปีที่แล้ว สำนักพิมพ์ซันเดย์อาฟเตอร์นูน ก็นำงานเขียนของฟูมิเอะ คนโด ที่ว่าด้วยการเดินทางมาสร้างความประทับใจครั้งใหม่ในปีนี้
  • 'ในครึ่งที่ยังว่าง ของกระเป๋าเดินทางสีฟ้า' วรรณกรรมแปลจากภาษาญี่ปุ่นที่เล่าถึงเรื่องราวของหญิงสาวผู้บังเอิญไปพบกับกระเป๋าสีฟ้าสไตล์คลาสสิกทำด้วยหนัง และตัดสินใจซื้อมันทันทีราวกับมีแรงดึงดูด ก่อนที่กระเป๋าใบนั้นจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของเธอและคนอื่นๆ
  • เรื่องเล่าจากประสบการณ์หลากหลายเหล่านี้ อาจช่วยผลักดันและเป็นแรงบันดาลใจให้คุณหยุดพักแล้วออกเดินทางไปพบกับโลกกว้าง หรือช่วยมอบพลังใจให้คุณสู้ต่อ ในช่วงเวลาเหนื่อยล้า ท้อแท้ หรือรู้สึกแปลกแยกจากสังคมหรือผู้คนรอบข้าง

“ถ้าอยากได้ดอกไม้ฉันก็จะซื้อ อยากดื่มกาแฟก็ดื่ม ในเมื่อความปรารถนาเรื่องใหญ่ๆ มันมักไม่เป็นจริงอยู่แล้ว เราก็น่าจะทำความปรารถนาเล็กๆ ให้เป็นจริงสิ จริงมั้ย” (หน้า 42)

ตอนที่เห็นโพสต์ประกาศพรีออร์เดอร์หนังสือเล่มนี้ของสำนักพิมพ์ Sunday Afternoon ฉันตาลุกวาวด้วยความดีใจ กดสั่งซื้อโดยไม่ต้องคิด และใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงกับการอ่านหนังสือจำนวนกว่า 300 หน้าจนจบท่ามกลางเสียงเพลงบรรเลงของศิลปินชาวญี่ปุ่น อากิระ โคเสะมูระ

ในครึ่งที่ยังว่างของกระเป๋าเดินทางสีฟ้า เป็นวรรณกรรมแปลภาษาญี่ปุ่นเขียนโดย ฟูมิเอะ คนโด ผู้เคยสร้างความประทับใจให้ฉันจากงานเขียนเรื่อง คาเฟ่ลูส เมนูที่รักจากการเดินทาง เมื่อปีก่อน ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่น่าติดตามและให้แง่คิดด้วยน้ำเสียงที่ไม่ใช่เชิงสั่งสอน ทำให้ฉันจดจำชื่อนักเขียนคนนี้ไว้ในใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

มามิ ยามากุชิ คือพนักงานห้างสรรพสินค้าวัยยี่สิบเก้า ผู้ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศมาก่อน ตัดสินใจตามฝันไปเที่ยวนิวยอร์กคนเดียวแม้จะขัดใจสามี การตัดสินใจของมามิเกิดจากความบังเอิญที่เธอไปพบกระเป๋าสีฟ้าสไตล์คลาสสิกทำด้วยหนัง วางขายที่ตลาดฟลีมาร์เก็ต เธอซื้อกระเป๋าใบนั้นทันทีราวกับมีแรงดึงดูดบางอย่าง

ต่อมากระเป๋าสีฟ้าใบนี้ได้กลายเป็นกระเป๋าที่มามิและเพื่อนสาวอีกสามคนของเธอใช้ในการท่องเที่ยวไปยังเมืองต่างๆ ตั้งแต่นิวยอร์ก ฮ่องกง อาบูดาบี ไปจนถึงปารีส ไม่เพียงแต่เรื่องราวระหว่างทางของพวกเธอเท่านั้น แต่กระเป๋าเดินทางที่พวกเธอคิดว่าเป็น ‘กระเป๋านำโชค’ ใบนี้ ยังมีที่มาเชื่อมโยงถึงผู้คนที่เกี่ยวข้องคนอื่นๆ ซึ่งมีวิถีชีวิต วิธีมองโลก และเส้นทางชีวิตแตกต่างกัน’

เรื่องย่อบนปกหลังของหนังสือเล่มสีขาวขนาดพอดีมือเขียนไว้อย่างนั้น ทีแรกฉันนึกว่าจะได้อ่านเรื่องราวจากมุมมองของมามิเพียงคนเดียวที่น่าจะเป็นตัวเอก แต่กลับไม่ใช่

แท้จริงแล้วตัวเอกของเรื่องนี้คือเจ้ากระเป๋าเดินทางสีฟ้าที่มามิตัดสินใจซื้อมา มันถูกส่งต่อให้คนอื่นๆ พร้อมกับมุมมองการดำเนินเรื่องจากบทหนึ่งสู่บทถัดไป จากมามิสู่เพื่อนในกลุ่มอีก 3 คน ได้แก่ ฮานาเอะ ยูริกะ และยูโกะ และค่อยๆ ขยายวงไปเรื่อยๆ จนถึงบทสุดท้ายที่คลี่คลายถึงที่มาของ ‘กระเป๋านำโชค’ ใบนั้น

ว่าไปแล้วการดำเนินเรื่องแบบนี้ก็ชวนให้นึกถึงวรรณกรรมญี่ปุ่นเรื่อง Revenge ของโยโกะ โอกาวะ อยู่เหมือนกัน แต่เป็นคนละรสชาติโดยสิ้นเชิง

การออกไปท่องเที่ยว ขนมหวาน ผู้หญิง และสายสัมพันธ์ระหว่างตัวละครผู้หญิงที่ส่งเสริมกัน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของ ในครึ่งที่ยังว่างของกระเป๋าเดินทางสีฟ้า เลยก็ว่าได้ (เล่ม คาเฟ่ลูสฯ ก็ด้วย) ตั้งแต่บทแรกจนบทสุดท้าย ฉันพบว่าผู้หญิงในเรื่องแม้มีคาแร็กเตอร์และมุมมองที่แตกต่างกันสุดขั้ว แต่ท้ายที่สุดแล้วทุกคนล้วนเติบโตไปอีกขั้นผ่านประสบการณ์ที่ได้พบเจอ โดยมี ‘การเดินทาง’ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

ฉันหวนกลับไปนึกถึงการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรก ทั้งที่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนไม่ชอบออกไปไหน ห่างไกลจากการเป็นคนประเภทชอบท่องเที่ยวด้วยซ้ำ แต่พอได้เห็นสภาพแวดล้อม สถาปัตยกรรม และผู้คนในประเทศอื่นก็รู้สึกแปลกตาแปลกใจไปหมด ยิ่งในวันที่ฉันแยกเที่ยวคนเดียวจากเพื่อน ได้เดินชมบ้านเมือง สำรวจวิถีชีวิตของคนที่นั่น และเดินทางไปที่โน่นที่นี่ด้วยตัวเอง กลายเป็นว่าฉันเอนจอยและสนุกมาก จนอยากใช้ชีวิตต่ออีกนานๆ เพื่อเดินทางไปยังประเทศอื่นๆ

ที่เป็นแบบนั้นฉันคิดว่าไม่ใช่เพราะแค่ความสวยงามและแปลกใหม่ของสถานที่อย่างเดียว แต่น่าจะเป็นเพราะฉันค้นพบอีกส่วนเสี้ยวหนึ่งของตัวเองระหว่างเดินทางด้วย

เหมือนกับมามิ  เพื่อนในกลุ่มของเธอ และตัวละครอื่นๆ ของ ในครึ่งที่ยังว่างของกระเป๋าเดินทางสีฟ้า ที่ต่างค้นพบบางสิ่งบางอย่างในเส้นทางการเดินทางของพวกเขาเช่นเดียวกัน

หลายเหตุการณ์และคำพูดที่เกิดขึ้นในระหว่างพลิกหน้ากระดาษอ่านชวนกระตุกใจให้ฉันคิดตามและอดเห็นด้วยไม่ได้ นี่คือมนตร์เสน่ห์ของงานเขียน ฟูมิเอะ คนโด ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจริงๆ ไม่ว่าจะเรื่องการเปรียบเทียบชีวิตกับการกินทับทิมของฮารุนะ เด็กสาวที่ได้ทุนแลกเปลี่ยนไปเรียนที่ประเทศเยอรมนี 1 ปี ผู้ไม่ค่อยสนใจผู้คน หรือความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนของมามิที่แม้ทุกคนไม่เหมือนกันสักนิดแต่ก็เข้าใจกันและกัน

ไม่ใช่การอธิบายสอนกันโต้งๆ แต่เป็นการชวนเราเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับตัวละคร

ยิ่งไปกว่านั้นจุดที่ทำให้ฉันชอบงานเขียนของนักเขียนหญิงญี่ปุ่นคนนี้อีกอย่างคือ การสะท้อนวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ฝังลึกในสังคมญี่ปุ่นผ่านการห่อด้วยขนมหวานหน้าตาน่ากินอย่างวรรณกรรมฟีลกู้ด

“การที่ผู้หญิงขึ้นรถไฟแล้วโดนลวนลามหมายถึงการต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่จะต้องเจอเหตุการณ์แบบนั้น? ถ้าใครโดนคนมีพิรุธบุกรุกเข้าบ้านก็แปลว่าคนคนนั้นผิดเองที่อยู่บ้านหลังนั้น?” (หน้า 35)

มามิโต้กลับสามีอย่างเหลืออด เมื่อเขาพูดทำนองว่าเธออาจเป็นอันตรายและโดนข่มขืนได้หากเดินทางไปนิวยอร์กคนเดียว หรือยูริกะ เพื่อนของมามิที่ไปเที่ยวอาบูดาบีกับแฟนหนุ่มแล้วโดนทิ้งให้กลับเอง ด้วยเหตุผลว่าเธอเอาแต่โอ้อวดภูมิความรู้อีก

แม้จะเจออุปสรรคขนาดนั้น แต่พวกเธอก็สามารถยืนหยัดผ่านพ้นไปได้ด้วยตัวเอง บอกตามตรงว่าขนาดฉันเป็นคนอ่านยังรู้สึกดีใจไปด้วย

หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ หลอดชีวิตที่เหลือเกือบถึงขีดแดงของฉันเหมือนได้รับการเติมพลังขึ้นมานิดหน่อย  แน่นอนว่าที่ผ่านมาฉันลองผิดลองถูกกับเส้นทางที่เลือกเดินมาไม่น้อย ยอมทิ้งสิ่งหนึ่งเพื่อคว้าเอาอีกสิ่งทั้งที่ไม่รู้ว่าใช่สิ่งที่ดีที่สุดหรือเปล่า ทั้งยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าในอนาคตชีวิตฉันจะกระเด็นกระดอนไปทางไหนอีก จะได้ทำตามใจและใช้ชีวิตแบบที่เชื่อหรือเปล่านะ

แต่ฉันคิดว่าคงไม่เป็นไรหรอก เพราะการเป็นกระเป๋าเดินทางที่ได้ไปนู่นไปนี่จนเก่าโทรมก็คงสนุกกว่าการเป็นกระเป๋าสำหรับไปงานปาร์ตี้

‘จะแก่แค่ไหน การเดินทางก็ยังเป็นเรื่องสนุกอยู่ดี’ (หน้า 281)

ฉันหลับตาจินตนาการถึงการเดินทางครั้งใหม่ กับส่วนเสี้ยวที่ได้ค้นพบในครึ่งที่ยังว่างของกระเป๋าเดินทางของตัวเอง

หวังว่าเมื่อเวลานั้น ฉันจะออกเดินทางโดยสวัสดิภาพ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย