สมจริงไม่มีเค้ก ! ‘Good Doctor หมอใจพิเศษ’ ซีรีส์การแพทย์ที่โอบกอดทุกความต่างอย่างเต็มใจ

‘เรานิยาม เพราะอยากจะเข้าใจในสิ่งต่างๆ ในขณะเดียวกันก็กำลังขีดเส้นให้สิ่งนั้น แตกต่าง

นี่คืออินโทรในอีพีแรกของซีรีส์การแพทย์น้ำดีอย่าง ‘Good Doctor หมอใจพิเศษ’ ที่ต้องการสะท้อนถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนออทิสติก โดยมีเส้นแบ่งว่าพวกเขา ‘แตกต่าง’ ทั้งที่ความจริงแล้ว พวกเขาก็สามารถเป็นหมอที่ดีได้ไม่ต่างจากคนปกติ

Good Doctor คือเรื่องราวการต่อสู้บนเส้นทางการเป็นกุมารแพทย์ของหมอหนุ่มออทิสติกที่ต้องฝ่าฟันกับข้อกังขาถึงความไม่เหมาะสม และโดนกีดกันในสังคมโรงพยาบาล รวมไปถึงโลกภายนอก ซีรีส์เรื่องนี้เคยสร้างปรากฏการณ์เขย่าวงการแพทย์มาแล้วทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา อินเดีย หรือแม้กระทั่งตุรกี และล่าสุดก็ถึงคราวประเทศไทย โดย True CJ Creations ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดเรื่องราวความไม่เท่าเทียมนี้ ภายใต้การนำแสดงของ ‘หมอเน๋ง-ศรัณย์ นราประเสริฐกุล’ ที่มาท้าทายความสามารถกับบทบาทหมอออทิสติกอย่าง ‘โณน’

แม้ต้นฉบับอย่างเกาหลีจะเซตบาร์มาตรฐานไว้สูงลิบ แต่หมอใจพิเศษในเวอร์ชันไทย ก็สามารถนำเสนอสีสันที่แตกต่างออกไปได้ กลายเป็นซีรีส์การแพทย์ภายใต้โรงพยาบาลไทยที่ยังคง ‘ความสมจริง’ ไม่ต่างจากต้นฉบับ จึงไม่แปลกที่หลายคนจะเกิดอาการติดหมอโณนกันงอมแงม ดังนั้นวันนี้เลยอยากชวนทุกคนไปหาเหตุผลให้รู้กันไปเลยว่าความเรียลอะไรที่ทำให้ Good Doctor หมอใจพิเศษ กลายเป็นซีรีส์อันดับ 1 ในดวงใจใครหลายคนแบบนี้

พล็อตเรื่องสุดเรียล ที่ร่วมเขียนโดยทีมหมอตัวจริง 

ความยากของซีรีส์หมอ คือการถ่ายทอดมุมมองการรักษาที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน ให้ออกมาเข้าใจง่าย และสมจริงที่สุด นี่คือสิ่งแรกที่ผู้กำกับอย่างอ๊อฟ-มณฑล อารยางกูร’ ต้องกลับไปทำการบ้านอย่างหนัก 

นอกจากทีมเขียนบทแล้ว ยังมีคุณหมออีกกว่า 10 ชีวิตที่อยู่เบื้องหลังพล็อตเรื่องสุดเรียลที่เราได้เห็นกัน โดย Good Doctor ได้เชิญหมอผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาช่วยออกความเห็น เช็กความถูกต้องในแต่ละเคสการรักษา รวมไปถึงร่วมเขียนบทพูดให้แก่นักแสดง เพื่อให้ได้บทสมจริง

อีกหนึ่งความยากของซีรีส์รีเมกเรื่องนี้ คือการที่ทีมงานต้องแบกความคาดหวังของเหล่าแฟนคลับที่เคยดูต้นฉบับเอาไว้บนบ่า ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามใส่มุมใหม่ๆ ให้กับเวอร์ชันไทย เพื่อให้เกิดความแตกต่างที่ไม่ทับไลน์กับประเทศอื่นๆ 

และจุดขายเวอร์ชันไทยที่ทีมขอหยิบขึ้นมาชู ก็คือการสอดแทรกความเป็นคอมเมดี้ ให้สมกับประโยคที่ว่า ‘คนไทยเป็นคนตลก’ นอกจากเส้นเรื่องที่เคร่งเครียด ยังมีการหยอดมุกตลกโบ๊ะบ๊ะ พร้อมเสียงเอฟเฟกต์แบบซิตคอมให้เรายิ้มมุมปากอยู่เรื่อยๆ นอกจากนั้นยังมีการหยิบเอาวัฒนธรรมไทยที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ มานำเสนอ เช่น การเดินทางโดยรถไฟไปทำงานของโณน การซิ่งรถเมล์ไปส่งเด็กชายที่ประสบอุบัติเหตุถึงโรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งซีนหมอวินทร์ง้อสาวด้วยการซื้อบัวลอยแบบไทยๆ ไปฝาก ทั้งหมดคือเสน่ห์ของประเทศไทยที่ทำให้หมอใจพิเศษเวอร์ชันนี้แตกต่างอย่างลงตัว 

ซีนผ่าตัดสุดเรียล ลงมีดจริง ภายใต้คำแนะนำของหมอ

ใครที่สามารถดูเรื่องนี้ตอนกินข้าวได้ บอกเลยว่าคุณคือยอดคน! เพราะซีนผ่าตัดแต่ละซีนของ Good Doctor ยืนหนึ่งเรื่องความสมจริง ลงมีดจริง เลือดออกจริง เห็นอวัยวะข้างในของจริง! ไม่มีอีกแล้วซีรีส์แพทย์ที่ให้เราเห็นแค่ไฟในห้องผ่าตัด 

ทั้งหมดคือความตั้งใจของทีมงานที่อยากสร้างซีนรักษาออกมาให้เรียลที่สุด ไม่ว่าจะอุปกรณ์ประกอบอย่างหุ่นจำลองที่ Mock Up มาเหมือนผิวของคนจริงๆ รวมไปถึงดีเทลเล็กๆ อย่างตัวเลขบนเครื่องวัดความดันที่ต้องเป็นตัวเลขที่เหมาะสมกับแต่ละเคสการรักษาให้มากที่สุด 

ใครที่ดูเบื้องหลัง จะเห็นว่าในตอนถ่ายทำมีคุณหมอตัวจริงมากระทบบ่านักแสดง ยืนดูอย่างใกล้ชิด พร้อมสอนอย่างละเอียดตั้งแต่วิธีการจับมีด ไปจนถึงการออกเสียงคำศัพท์ทางเทคนิคยากๆ ให้ถูกเหมือนมือโปร เรียกว่าละเอียดในทุกขั้นตอน ไม่มีการปล่อยผ่านจริงๆ

นักแสดงสุดเรียล แม้แต่คุณหมอก็ต้องทำการบ้านเต็มที่

ไม่มีใครจะเข้าใจบท ‘หมอ’ ได้ดีเท่า ‘หมอ’ ตัวจริง ทำให้นักแสดงที่มารับบทนำสุดท้าทายของ Good Doctor จึงเป็นสัตวแพทย์หนุ่มอย่าง ‘หมอเน๋ง ศรัณย์’ ด้วยความที่เรียนหลักสูตร 6 ปีมาเหมือนกับหมอทั่วไป ประกอบกับคุ้นเคยในการทำงานของโรงพยาบาล นี่จึงเป็นแต้มต่อสำคัญที่ช่วยในการแสดง 

แต่หมอสัตว์ ยังไงก็ต่างกับหมอคนอยู่วันยันค่ำ หมอเน๋งเองต้องไปทำการบ้านเพิ่มเติมเกี่ยวกับศัลยแพทย์ รวมไปถึงการทำความเข้าใจเด็กออทิสติก ผ่านการเข้าไปพูดคุย สังเกต จนพบว่าเด็กออทิสติกทุกคนล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเอง ขึ้นอยู่กับเรื่องราวในชีวิตที่พวกเขาเจอมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เมื่อนำกลับมาพัฒนาตัวละคร ทำให้เราได้  ‘หมอโณน’ ที่สมจริงมากที่สุด

ไม่ใช่แค่บทนำเท่านั้นที่ใช้หมอตัวจริงในการแสดง แต่ในเรื่องยังมีหมออีกมากมายมาร่วมแสดง เพื่อความสมจริงที่มากที่สุด ไม่ว่าจะ ‘หมอฟรัง นรีกุล’ หรือแม้กระทั่ง ‘หมอเจี๊ยบ ลลนา’ และอื่นๆ อีกมากมาย นี่คือความใส่ใจที่ทำให้เราเห็นว่า Good Doctor ให้ความสำคัญกับทุกๆ ตัวละครจริงๆ 

แม้อีก 3 นำแสดงนำอย่าง ‘แพต ชญานิษฐ์’ ‘ดู๋ สัญญา’ และ โทนี่ รากแก่น’ จะไม่ใช่หมอเหมือนนักแสดงท่านอื่นๆ แต่พวกเขาทุกคนล้วนผ่านการเวิร์กช็อป ทุ่มเท และทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อให้สามารถแสดงเป็นหมอได้อย่างไร้ข้อกังขา ซึ่งใครที่ได้ดูซีรีส์เรื่องนี้ น่าจะได้เห็นผลลัพธ์ของความทุ่มเทนี้อย่างแน่นอน 

ประเด็นสังคมสุดเรียล เพราะทุกคนต้องการโอกาสที่เท่าเทียม

ความเรียลข้อสุดท้ายที่เราไม่อยากให้มีอยู่มากที่สุด ก็คือการหยิบเอาปัญหาสังคมเรื่องความไม่เท่าเทียมมาสะท้อนออกมาได้อย่างถึงพริกถึงขิง ประเด็นแรกที่เห็นชัดสุดและเป็นตัวชูโรงของซีรีส์เรื่องนี้ คือ ‘ความไม่เท่าเทียมของกลุ่มคนออทิสติก’ 

หมอโณน แม้จะเรียนจบหมอได้คะแนนสูงกว่าใครเพื่อน แต่เพราะป่วยเป็นโรค ‘แอสเพอร์เกอร์ซินโดรม’ ตั้งแต่กำเนิด ทำให้เขาโดนกีดกันเพราะคำว่าแตกต่าง อย่างในอีพีแรก เราจะเห็นว่าหมอกว่าครึ่งของโรงพยาบาลตราหน้าหมอโณนว่าไม่มีความสามารถในการเป็นหมอ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จักเขาดี นี่คือเส้นกั้นที่คนปกติพยายามขีดไว้ไม่ให้คนพิเศษเหล่านั้นก้าวข้ามมา จนเราก็ลืมไปว่าเขาก็เกิดมาเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากเรา เหมือนอย่างที่หมอประภาสได้กล่าวเอาไว้ว่า

“โณนต้องใช้ความพยายามมากกว่าเราหลายเท่า เพื่อให้ได้โอกาสเพียงครั้งเดียว”

อีกหนึ่งประเด็นความไม่เท่าเทียม คือโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่ไม่เท่ากัน อย่างเช่น ภาพโรงพยาบาลรัฐที่คนต้องตื่นแต่ไก่โห่มาต่อคิวหลายชั่วโมง เพื่อรอเจอหน้าหมอไม่กี่นาที ใน Good Doctor เอง ก็ไม่พลาดที่จะหยิบเอาปัญหาเรื่องนี้ออกมาตีแผ่ โดยที่เห็นชัดสุดตั้งแต่ตอนแรก คือความตั้งใจของหมอพรีม ที่อยากจะลาออกจากโรงพยาบาลในเมือง และไปทำงานที่โรงพยาบาลต่างจังหวัด เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ 

แม้ Good Doctor จะไม่ใช่ซีรีส์หมอเรื่องแรกของไทย แต่สำหรับเรา นี่คือซีรีส์หมอที่ ‘จริงใจ’ ที่สุด เราเห็นถึงหยาดเหงื่อความพยายามของทีมงานเบื้องหลังที่ไม่ดูถูกคนดู พยายามทำการบ้านอย่างหนัก จนสร้างเป็น ‘หมอใจพิเศษ’ ที่พิเศษสมชื่ออย่างแท้จริง นี่คือผลงานอันทรงคุณค่าที่ไปอวดต่างประเทศได้อย่างไม่อายใคร และเป็นข้อพิสูจน์ให้โลกรู้ว่า ‘หมอไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก’

AUTHOR