ธงสีรุ้งโบกสะบัดต้อนรับความรักที่เบ่งบานอย่างสวยงามเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา นี่คือวันแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
ชัยชนะที่สวยงามนี้ แลกมาด้วยการต่อสู้ของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ ไม่ใช่แค่ในปัจจุบัน แต่รวมถึงชาว LGBTQIAN+ ในอดีตที่กล้าออกมาทลายกรงขังเหล็กของสังคม และแสดงให้เห็นว่าพวกเขาก็มีความรักที่บริสุทธิ์ไม่แพ้เพศไหนๆ
หนึ่งในผลงานชิ้นโบแดง ที่เป็นหมุดหมายสำคัญในการเรียกร้องความเท่าเทียมในยุคศตวรรษที่ 20 คือ ‘Medallion (YouWe) (1937)’ ภาพวาดเลสเบี้ยนชิ้นสำคัญของประวัติศาสตร์ โดยจิตรกรชาวอังกฤษที่ไม่มีคำนำหน้า ไม่มีคำต่อหลัง มีเพียงแค่ Gluck นามสมมุติที่สร้างขึ้นมาเพื่อสะท้อนตัวตนอันเป็นเอกลักษณ์
ท่ามกลางกรอบความคิดอนุรักษนิยมที่กัดกินจิตวิญญาณของชาวอังกฤษ ภาพวาดสีน้ำมันชิ้นนี้ กลับกลายเป็นแสงสว่างที่เปิดทางให้กลุ่มผู้หลากหลายกล้าออกจากกรอบ และก้าวเดินในเส้นทางของตัวเอง Medallion (YouWe) จาก Gluck จึงเป็นดังสัญลักษณ์ของความเท่าเทียมในโลกศิลปะ ที่เราอยากพาทุกคนไปย้อนรอยการต่อสู้ผ่านฝีแปรงนี้ไปด้วยกัน
ตัวตนที่ถูกกดทับ ละทิ้งเพศสภาพด้วยชื่อ Gluck
ก่อนจะมาเป็น Gluck ในโลกศิลปะ เขาเคยใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ชื่อ Hannah Gluckstein ลูกสาวเจ้าของธุรกิจร้านอาหารผู้ร่ำรวยในอังกฤษ แต่แทนที่จะสืบทอดธุรกิจของครอบครัว เขาเลือกที่จะเบนสายไปในเส้นทางศิลปะ และเริ่มจับพู่กันวาดภาพโดยการเข้าศึกษาที่สถาบัน St John’s Wood School of Art และเริ่มรวมกลุ่มกับศิลปินชาวอังกฤษในยุคนั้น

ท่ามกลางกระโปรงสุ่มผ้าชีฟอง และหมวกปีกกว้างของสาวผู้ดีอังกฤษในยุคนั้น Gluck เลือกที่จะเป็นตัวเองโดยการใส่ชุดสูทแจ็กเก็ต สวมกางเกงยีนส์ และตัดผมสั้นทรงแฟชั่น ภาพลักษณ์ที่ขัดกับเพศสภาพคือสิ่งแรกที่เขาเลือกจะขบถต่อบรรทัดฐานของสังคม
และเมื่อคำนำหน้าชื่อ กลายเป็นอุปสรรคในการเป็นตัวเอง เขาจึงตัดสินใจละทิ้งตัวตน และใช้ชื่อใหม่ในวงการศิลปะว่า Gluck ไม่มีคำนำหน้า หรือคำต่อท้าย มีเพียงแค่ชื่อที่แสดงถึงอิสระในการออกจากการตีกรอบของสังคม
Gluck มักจะกล่าวถึงอุดมการณ์อันแน่วแน่ของเขา เอาไว้บนชิ้นงานศิลปะ โดยประโยคไฮไลต์คือการเขียนเตือนให้กับภัณฑารักษ์ผู้จัดนิทรรศการว่า
Please return in good condition to Gluck,
no prefix, suffix or quotes
หมายถึงการขอให้ส่งผลงานศิลปะกลับคืนมาที่ Gluck แบบที่ไม่มีคำนำหน้าชื่ออย่าง Mr., Miss, หรือ Mrs. รวมไปถึงการใส่เครื่องหมายคำพูด “Gluck” ที่อาจทำให้ดูเหมือนเป็นชื่อเล่น แม้จะเป็นประโยคเตือนให้รักษาผลงานธรรมดา แต่สิ่งที่สอดแทรกมา คือการยืนหยัดในความเป็นตัวเองของ Gluck ที่ไม่อยากถูกลดคุณค่าด้วยสัญลักษณ์ที่ไม่จำเป็น
ภาพ Portrait ที่ท้าทายกรอบความเท่าเทียม

ความประณีตที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านฝีแปรง คือเอกลักษณ์ของผลงาน Gluck ที่ยากจะเลียนแบบ แม้ภาพดอกไม้และธรรมชาติจะเป็นดังท่าไม้ตายของเขา แต่ผลงานที่โด่งดังที่สุดและสร้างแรงกระเพื่อมสู่การเรียกร้องความเท่าเทียมในยุคถัดมากลับเป็น Medallion (YouWe) (1937)
ภาพวาด Portrait ที่มองครั้งแรกอาจเห็นเป็นชายหนุ่ม 2 คน แต่ถ้าสังเกตดูดีๆ พวกเธอกลับเป็นผู้หญิงที่ตัดผมสั้นและแต่งกายด้วยเสื้อผ้าผู้ชายสีเข้ม ทั้งสองยืนซ้อนกัน หันหน้าไปทางซ้ายราวกับกำลังจดจ้องบางสิ่งบางอย่างอยู่ นี่ไม่ใช่ตัวละครในจินตนาการ แต่เป็นรูปเหมือนของคนจริงที่มีชีวิตอยู่จริงๆ
Gluck ตั้งใจวาดภาพนี้ แทนตัวเขาในวัย 41 ปี และคนรักอย่าง Nesta Obermer นักเขียนและผู้จัดการละเวที Constance Spry โดยภาพนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ทั้งสองได้ไปชมการแสดงโอเปร่า Don Giovanni ของโมสาร์ทในปี 1936 ด้วยกัน และพลังของเสียงดนตรี ณ ช่วงเวลานั้นก็ได้หลอมรวมเขาและเธอให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน
การจัดองค์ประกอบภาพที่หันหน้าด้านข้างไปในทิศทางเดียวกัน ให้ความรู้สึกสมมาตรและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มองเผินๆ เหมือนรูปบุคคลสำคัญในเหรียญหรือธนบัตรที่เราใช้จ่าย นี่จึงเป็นที่มาของชื่อภาพวาดอย่าง Medallion ที่หมายถึงเหรียญกษาปณ์
นอกจากการแสดงจุดยืนของตัวเองผ่านภาพวาดแล้ว Gluck ยังเป็นศิลปินที่ให้ค่ากับงานศิลปะ โดยการคิดค้นสิ่งที่เรียกว่า Gluck Frame หรือกรอบภาพสไตล์ใหม่ที่เน้นความเรียบง่ายไม่ฉูดฉาด ใช้เทคนิคการวางชั้น (Tiered Frame) เรียงให้ลดหลั่นกันออกไปด้านนอกอย่างสมมาตร เพื่อให้ผู้ชมได้โฟกัสกับภาพวาดให้ได้มากที่สุดโดยไม่มีสิ่งใดดึงสายตา

ทั้งภาพ Medallion และ Gluck Frame ได้สะท้อนให้เราเห็นถึงความกล้าหาญในการเป็นตัวเองของ Gluck ที่ปฏิเสธขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของวงการศิลปะในยุคนั้น แล้วนำเสนอตัวตนของตัวเองอย่างไม่เกรงกลัวต่อค่านิยมสังคม
Medallion จึงไม่ใช่เพียงแค่ภาพวาด
แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ
ความเท่าเทียมในสังคมที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด
เสียงเรียกร้องที่ดังก้องมาถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันภาพ Medallion ได้ถูกจัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์เทตบริเตน ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกลายเป็นหนึ่งในงานศิลปะชิ้นสำคัญที่ใช้ในการเรียกร้องความเท่าเทียมให้แก่กลุ่มผู้หลากหลายทางเพศในศตวรรษที่ 20
แม้ปัจจุบันความเท่าเทียมจะเริ่มเบ่งบานในหลายประเทศ แต่ถ้าย้อนกลับไปในยุคกลางศตวรรษ 20 ที่ Gluck มีชีวิตอยู่ หลายคนน่าจะจินตนาการไม่ออกเลยว่า การเลือกเดินในเส้นทางที่ต่างจากเพศสภาพแต่กำเนิดนั้น ต้องใช้ความกล้ามากขนาดไหน
ในช่วงปี 1920 – 1940 สังคมอังกฤษรวมถึงประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ ยังคงมีกรอบความคิดอนุรักษนิยมที่ยึดติดกับเพศชาย เพศหญิง และไม่มีพื้นที่ให้กับเหล่าผู้หลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะในอังกฤษ ความรักเพศเดียวกันระหว่างชายชาย ถือว่าเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายจนถึงปี 1967 (Sexual Offences Act) ในขณะที่ความรักระหว่างผู้หญิง แม้จะไม่ถูกระบุชัดเจนในกฎหมาย แต่ยังคงถูกตีตราในทางสังคม
มีคู่รักเพศเดียวกันจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับการถูกจับกุม ทำร้าย และถูกกีดกันจากสังคม การที่ Gluck เลือกที่จะก้าวออกมาจากกรอบค่านิยม และสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคมผ่านงานศิลปะอย่าง Medallion ทำให้เขากลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระและความหลากหลายทางเพศในยุคนั้น รวมไปถึงยุคต่อมา

ภาพ Medallion ถูกนำไปใช้เป็นหน้าปกนิยายเรื่อง The Well of Loneliness ที่เขียนโดย Radclyffe Hall ในฉบับตีพิมพ์ใหม่เมื่อปี 1982 เนื้อเรื่องเล่าถึงความสัมพันธ์ของคู่รักเลสเบี้ยนสุดแสนจะลึกซึ้ง โดยนิยายเล่มนี้เคยตีพิมพ์ออกมาแล้ว 1 รอบ และโดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง จนถูกสั่งห้ามเผยแพร่ แต่ผู้เขียนกลับไม่ละทิ้งความตั้งใจ และนำกลับมาตีพิมพ์ใหม่โดยใช้รูป Medallion เป็นภาพปก นี่แสดงให้เห็นว่าภาพวาดนี้ ทรงพลังมากขนาดไหนในวงการ LGBTQIAN+ ทั้งในยุคอดีต จนมาถึงปัจจุบัน
ถ้าเทียบความโด่งดังในแง่ตัวบุคคล Gluck อาจไม่ได้โดดเด่นเท่าศิลปินระดับโลกท่านอื่นๆ แต่ถ้าพูดถึงอิมแพ็กที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ผลงาน Medallion ก็ไม่ได้น้อยหน้าใคร และความกล้าเป็นตัวเองที่สะท้อนออกมานั้น ก็ยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนยุคหลังเสมอ ราวกับว่ามันคือจิตวิญญาณและตัวตนของ Gluck ที่มีคุณค่ามากกว่าเพศที่ระบุบนใบเกิดเป็นไหนๆ
I insist on my freedom in everything
including the freedom to paint as I want. – Gluck