What are Kings? เมื่อคำถามง่ายๆ ของเด็กๆ ชวนผู้ใหญ่ขบคิดเรื่องที่ไม่กล้าตั้งคำถาม

Highlights

  • David Greaber คือนักมานุษยวิทยาผู้โด่งดังที่คนมักนำแนวคิดและหนังสือของเขาไปอ้างถึงอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้เขายังเป็นอาจารย์และนักกิจกรรมทางการเมืองที่เคลื่อนไหวต่อต้านทุนนิยมและปฏิบัติการของรัฐอำนาจนิยม
  • What Are Kings? คือหนังสือมานุษยวิทยาเล่มล่าสุดของ Greaber ที่ไม่ได้เขียนขึ้นสำหรับผู้ใหญ่ แต่เลือกเล่าเรื่องพระราชาให้เด็กๆ ฟังจากมุมมองของนักมานุษยวิทยา
  • ความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่ที่การเล่าประวัติศาสตร์แบบง่ายๆ เพียงอย่างเดียวแต่ยังอยู่ที่การให้ความสำคัญกับคำถามของเด็กๆ เพราะบ่อยครั้ง คำถามที่ไร้เดียงสาคือคำถามที่จริงจังที่สุด เพราะว่ามันคือคำถามที่ยังไม่แปดเปื้อนจากคุณค่า บรรทัดฐาน และอุดมการณ์ทางสังคมนั่นเอง

การด่วนจากไปก่อนวัยอันควรของ David Graeber เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2020 นับเป็นข่าวเศร้าของวงการมานุษยวิทยา เพราะนอกจากเขาจะเป็นนักวิชาการคนสำคัญที่คนมักนำแนวคิดและหนังสือของเขาไปอ้างถึงอย่างแพร่หลายแล้ว Graeber ยังเรียกตัวเองว่าเป็นนักอนาธิปไตยควบคู่ไปกับการสอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองคนสำคัญที่เคลื่อนไหวต่อต้านทุนนิยมและปฏิบัติการของรัฐอำนาจนิยมอยู่เป็นระยะ

ผมรู้จักชื่อของ Graeber ครั้งแรกในปี 2018 เมื่อได้อ่าน Bullshit Jobs: A Theory หนังสือเล่มดังของเขาที่ชี้ให้เห็นว่า ในโลกทุนนิยมทุกวันนี้ มีงานจำนวนมากที่ Graeber นิยามว่าเป็น ‘bullshit jobs’ นั่นคืองานที่ไม่สร้างคุณค่าและคุณประโยชน์ใดๆ ทั้งต่อปัจเจกบุคคลและสังคมโดยรอบ พูดง่ายๆ คืองานประเภทที่ทำๆ ไปอย่างไม่มีเป้าหมายชัดเจน ทำแค่ให้รู้สึกว่ากำลังทำอะไรสักอย่างอยู่ ไม่ใช่นั่งอู้หรือนั่งว่างๆ ผลลัพธ์ของงานในลักษณะนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ปัจเจกรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ทดท้อ และเบื่อหน่ายกับการทำงาน แต่ยิ่งนานวัน พวกเขาก็จะยิ่งรู้สึกว่าชีวิตของตัวเองช่างไร้ค่าเสียเหลือเกิน

แม้ว่า Bullshit Jobs จะเป็นหนังสือที่เปิดประตูให้ผมได้รู้จักกับโลกของการศึกษาทางมานุษยวิทยา ถึงอย่างนั้นผมก็ไม่ได้อ่านงานเขียนเล่มอื่นๆ ของ Graeber สักเท่าไหร่ จนกระทั่งเมื่อได้รู้ข่าวเศร้าว่าเขาได้อำลาโลกใบนี้ไปแล้ว นั่นเองจึงเป็นสาเหตุให้ผมกลับไปอ่านผลงานชิ้นต่างๆ ของเขาอีกครั้ง

what are kings

อาจกล่าวได้ว่า What Are Kings คือหนังสือเล่มล่าสุดและสุดท้ายของ Graeber ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือความอ่านง่ายซึ่งนับว่าแตกต่างไปจากผลงานชิ้นก่อนๆ ของเขานั่นเพราะ What Are Kings? ไม่ใช่งานด้านมานุษยวิทยาที่เขียนด้วยภาษาวิชาการแต่เป็นหนังสือสำหรับเด็ก’ นั่นเอง

หากลองนิยามอย่างหลวมๆ What Are Kings? คือหนังสือสำหรับเด็กเพราะ หนึ่ง–มีเนื้อหาสั้นกระชับ สอง–ใช้ภาษาเข้าใจง่าย และสาม–มีภาพประกอบตลอดทั้งเล่ม เพียงแต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าหนังสือเล่มนี้จะเหมาะสำหรับผู้อ่านที่เป็นเด็กเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ก็สามารถอ่านได้เช่นกัน ไม่สิ เผลอๆ ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ดูจะเป็นมิตรของหนังสือเล่มนี้ ผมคิดว่าจุดประสงค์จริงๆ ของ Graeber คือการเขียนให้ผู้ใหญ่อ่านด้วยซ้ำ

what are kings

what are kings

ใน Unbearable Lightness of Being ของ Milan Kundera มีประโยคหนึ่งกล่าวว่าแท้จริงแล้วคำถามที่จริงจังที่สุดคือคำถามที่แม้กระทั่งเด็กก็สามารถตั้งขึ้นมาได้ คำถามที่ไร้เดียงสาที่สุดคือคำถามที่จริงจังที่สุดซึ่งโครงสร้างในการเล่าเรื่องของ What Are Kings? ก็ดำเนินไปผ่านการตั้งคำถามที่ง่ายและไร้เดียงสาด้วยน้ำเสียงและความใคร่รู้สงสัยแบบเด็กๆ ตัวอย่างเช่น คำถามง่ายๆ ว่า พระราชาคืออะไร? (What is a King?) พระราชาพระองค์แรกมาจากไหน (So where did the first kings come from?) และประชาชนจะต้องทำอะไรให้กับพระราชาบ้าง (What do the people have to do for the king?)

ก่อนที่จะไปกันต่อ ลองหยุดพิจารณาคำถามเหล่านี้สักครู่ แล้วคิดเล่นๆ ว่า ถ้ามีเด็กสักคนหนึ่งเดินมาถามคุณด้วยชุดคำถามเหล่านี้เราจะตอบเขายังไง ไม่จำเป็นต้องบอกให้ผมรู้หรอกครับ เพียงแต่ประเด็นที่น่าสนใจคือแม้ว่าคำถามจะซื่อๆ ง่ายๆ หากการจะได้มาซึ่งคำตอบที่ชัดเจนและน่าพึงพอใจ กลับไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย แต่ทำไมมันถึงต้องไม่ง่ายล่ะ?

Graeber อธิบายว่าคล้ายๆ กับเกม ‘Simon Says’ นั่นแหละ เพียงแต่คนคนเดิมจะได้เป็นไซมอนอยู่ตลอดแล้วเกมก็จะดำเนินไปเรื่อยๆ” Graeber ไม่ได้เลือกตอบคำถามซื่อๆ ง่ายๆ ของเด็กๆ ผ่านคำอธิบายที่ยืดยาวและสลับซับซ้อนเพียงเพราะเขาเป็นผู้ใหญ่ ตรงกันข้าม เขากลับเลือกจะตอบคำถามว่าพระราชาคืออะไร ผ่านการเปรียบเทียบกับเกม ‘Simon Says’ ที่เด็กๆ คุ้นเคยอยู่แล้ว

หากยังจำได้ Simon Says คือเกมที่หลายๆ คนน่าจะเคยเล่นในวิชาภาษาอังกฤษสมัยประถมโดยมีกติกาง่ายๆ ว่า นักเรียนคนหนึ่งจะถูกเลือกให้เป็นไซมอนและเขาจะมีสิทธิสั่งให้นักเรียนคนอื่นๆ ปฏิบัติตามคำสั่งต่อเมื่อเขาพูดว่า “Simon says…” ในเกมนี้ นักเรียนที่ได้เป็นไซมอนจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ระหว่างที่เกมดำเนินไป ไม่มีใครสามารถดำรงสถานะของไซมอนได้ตลอด ในแง่นี้ สิทธิอำนาจจะถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ และนักเรียนทุกคนในห้องจะมีโอกาสที่จะเป็นไซมอนด้วยกันทั้งหมด แตกต่างกับสถานะของพระราชาในโลกแห่งความจริงที่จะมีเพียงคนคนเดียวที่จะถูกเลือกให้เป็นไซมอนอยู่ตลอดเวลา

ด้วยคำอธิบายนี้ นอกจากเด็กๆ ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะสามารถเข้าใจความหมายของพระราชาอย่างชัดเจนโดยทันทีแล้ว คำตอบของ Graeber ยังสะท้อนให้เห็นว่าบางครั้ง การไม่อาจจะตอบคำถามได้ง่ายๆ ของเราเป็นผลจากกับดักทางความคิดที่ถูกกำกับด้วยคุณค่า บรรทัดฐาน และอุดมการณ์ทางสังคมอีกขั้นหนึ่ง พูดอีกอย่างคือ ในบางครั้ง ความตรงไปตรงมาของคำตอบกลับกลายเป็นอุปสรรคในการที่จะตอบคำถามเสียเอง แค่เพราะความตรงไปตรงมาที่ว่านี้ ขัดแย้งและสวนทางกับค่านิยมกระแสหลักของสังคมที่ประกอบสร้างเราขึ้นมา

หากเราย้อนกลับไปพิจารณาประโยคในนวนิยายของคุนเดอราที่ยกมาข้างต้นจะเห็นว่าสาเหตุที่คำถามที่ไร้เดียงสาที่สุดคือคำถามที่จริงจังที่สุดจึงเป็นเพราะว่า คำถามจากเด็กๆ คือคำถามที่ยังไม่แปดเปื้อนจากคุณค่า บรรทัดฐาน และอุดมการณ์ทางสังคม

แน่นอน เกม Simon Says เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเปรียบเทียบ แต่กับคำถามที่ว่า ‘พระราชามาจากไหน’ ล่ะ? Graeber กล่าวว่า ปัจจุบันเรายังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนที่จะตอบคำถามได้ว่าพระราชาคนแรกของโลกมาจากไหน แต่ถึงอย่างนั้น Graeber ก็เสนอว่ามีความเป็นไปได้ที่สถานะของพระราชาจะถือกำเนิดขึ้นจากการแสดง’ (play)

Graeber เล่าว่า ข้อสันนิษฐานที่ดีที่สุดของเราคือ ไม่แน่ว่าพวกเขา (ผู้คนในอดีตผู้เขียน) อาจแสดงบทเป็นพระราชา ไม่แน่ว่าผู้คนที่ดูแปลกตาอาจถูกมองว่าศักดิ์สิทธิ์ แค่เพราะพวกเขาแตกต่างออกไป และบางครั้งพวกเขาก็อาจปฏิบัติต่อผู้คนเหล่านั้นประหนึ่งเทพเจ้า เช่น ในระหว่างพิธีกรรม หรืองานฉลองต่างๆ แม้ว่าในช่วงอื่นๆ ผู้คนเหล่านั้นอาจเป็นเพียงคนธรรมดาทั่วๆ ไป ไม่แน่ว่าในการแสดงหนึ่งๆ หรือในการละเล่นหนึ่งๆ ใครสักคนหนึ่งอาจได้รับเลือกให้สวมบทพระราชา โดยที่เขาก็สามารถจะบัญชาทุกสิ่งได้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนก็พากันหลงลืมไปว่า จริงๆ แล้วใครสักคนหนึ่งอาจกำลังแสดงบทอยู่

หลายปีก่อน ผมเคยดูละครเวทีอยู่เรื่องหนึ่ง จำได้ว่านักแสดงคนหนึ่งอินกับบทของเขาสุดๆ ในระดับที่ว่า แม้ม่านการแสดงจะปิดฉากและทีมงานจะพากันออกมาโค้งคำนับขอบคุณคนดู นักแสดงคนดังกล่าวก็ยังคงร้องไห้อยู่ เขาไม่สามารถหยุดน้ำตาที่หลั่งไหลอย่างต่อเนื่องได้ ย้อนมองกลับไปยังเหตุการณ์ในวันนั้น แน่นอนว่า คนดูทุกคนต่างก็ตระหนักชัดว่าบทบาทที่นักแสดงคนดังกล่าวเล่นอยู่บนเวทีไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ของเขา และคงเป็นเรื่องน่าตลกดีถ้าอยู่ดีๆ ไม่เพียงแค่นักแสดง หากยังรวมถึงคนดู และทีมงาน ต่างพากันเชื่ออย่างหมดใจว่าบทบาทของนักแสดงคนดังกล่าวคือตัวตนของเขาจริงๆ

 

โชคดีว่าความคิดเพี้ยนๆ นี่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเพราะคนดูทุกคนต่างก็รับรู้ตั้งแต่แรกว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏบนเวทีเป็นเพียงแค่บทละคร เรารู้ เพราะต่างก็ได้เห็นจังหวะที่ม่านการแสดงค่อยๆ ถูกคลี่ออก เรารู้ เพราะต่างก็ได้เห็นจุดเริ่มต้นของละครเวทีเรื่องนี้กันอย่างถ้วนหน้า เรารู้ เพราะต่างก็ได้เห็นช่วงเวลาที่นักแสดงคนหนึ่งก้าวขึ้นสู่เวที

บ่อยครั้ง เรามักจะอนุมานไปแล้วล่วงหน้าว่า หนังสือสำหรับเด็กมักจะบอกเล่าเรื่องราวที่เกินจริง เพ้อฝัน และไม่สลักสำคัญสำหรับผู้ใหญ่ ควบคู่ไปด้วยกัน เราก็มักจะทึกทักไปแล้วใหญ่โตว่าชีวิตที่อาบน้ำร้อนมาแล้วมากมายย่อมจะมีคุณค่ายิ่งกว่าจินตนาการของเด็กๆ อย่างเทียบกันไม่ติด แต่ผมอยากลองถามคุณเล่นๆ ว่า เรามั่นใจได้ยังไงว่าประสบการณ์ของเราคือคำตอบที่ถูกต้องแน่ๆ ส่วนจินตนาการของเด็กๆ คือคำตอบที่ยังไงๆ ก็ผิด

ในโลกยุคปัจจุบันที่โลกของเด็กๆ และผู้ใหญ่ยิ่งถูกจัดวางในลักษณะที่เป็นคู่ตรงข้ามมากขึ้นทุกที What Are Kings? คือหนังสือที่ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ทำไมการตั้งคำถามของเด็กๆ จึงสำคัญไม่น้อยไปกว่าหรือเผลอๆ จะสำคัญยิ่งกว่าคำตอบของผู้ใหญ่

คำถามของเด็กๆ นั้นโคตรจะง่าย แต่คำตอบยากๆ ของผู้ใหญ่กลับไม่เคยจะตอบอะไรตรงประเด็นสักที

AUTHOR