WEAVING THE OCEAN ศิลปะผืนผ้าที่ทอจากขยะชายหาดของ Ari Bayuaji ศิลปินชาวอินโดนีเซีย

แม้การได้เห็นสถานที่ที่เคยสวยงามกลายเป็นดินแดนขยะจะเป็นเรื่องน่าเศร้าและเจ็บปวด แต่แทนที่จะโกรธและก่นด่าสังคม ศิลปินหนุ่ม Ari Bayuaji อดีตวิศวกรโยธาชาวอินโดนีเซียที่ผันตัวมาเรียนต่อด้านศิลปะที่ประเทศแคนาดา จนกลายมาเป็นศิลปินที่ใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน กลับเลือกที่จะลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อสื่อสารประเด็นนั้น

ผืนผ้าหลากลวดลายที่แขวนโชว์อยู่รอบๆ ห้องแสดงงานศิลปะขนาดกะทัดรัดใจกลางกรุงเทพฯ​ ดูสวยงามราวกับผ้าทอชั้นดี แต่ถ้าหากได้ลองอ่านข้อความที่บรรยายไว้ที่ด้านหน้าของนิทรรศการแล้ว ก็จะพบว่าเบื้องหลังของเส้นใยทุกเส้นที่ประกอบร่างขึ้นมา ล้วนมีที่มาจากขยะชายฝั่ง

ภาพ > Preecha Pattara
ภาพ > Preecha Pattara

“เศษเชือกที่นำมาทอทั้งหมดนี้ ผมเก็บมาจากป่าชายเลนที่บาหลี ผมเคยไปบาหลีตั้งแต่สมัยเด็กๆ และประทับใจในความสวยงามของที่นั่น แต่พอกลับไปอีกครั้งก็พบว่า สถานที่ต่างๆ เต็มไปด้วยขยะพลาสติก” Ari Bayuaji กล่าว

พอดีกับว่าเป็นช่วงโควิดที่ทำให้ชุมชนแถบนั้นขาดรายได้เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว เขาจึงผุดไอเดียนี้ขึ้นมาและชวนชุมชนมาร่วมกัน

“ตอนเริ่มต้น เราไม่มีความรู้เรื่องการทอเลย จนไปเจอชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ทำเรื่องทอผ้า แต่ขาดรายได้เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว เลยเข้าไปคุยและถามว่าเส้นใยเชือกที่เก่าๆ พวกนี้เอามาทอได้ไหม เขาบอกเป็นไปไม่ได้ ผมก็ถามว่าต้องทำยังไงถึงจะเป็นไปได้ เขาก็บอกต้องทำให้สะอาดและทำให้เป็นเส้นใยก่อน”

ภาพ > Ari Bayuaji
ภาพ > Ari Bayuaji

ศิลปินเจ้าของงานจึงบรรจงเก็บรวบรวมขยะเศษเชือกมาล้างทำความสะอาด แปลงร่างเป็นเส้นใย ทีละชิ้นๆ และส่งต่อให้ชุมชนช่วยกันถักทอขึ้นมาใหม่จนกลายเป็นงานศิลปะที่จัดแสดงอยู่นี้ ซึ่งนอกจากจะได้เก็บขยะออกจากชายฝั่งและแปลงร่างเป็นสิ่งสวยงามแล้ว โครงการนี้ยังสร้างรายได้ให้ชุมชนไปพร้อมๆ กันด้วย

จากจุดเริ่มต้นที่อินโดนีเซีย วันนี้ผลงานเขาเดินทางมาถึงประเทศไทย จัดแสดงในแกลเลอรีศิลปะย่านเจริญกรุงที่ชื่อ Warin Lab Contemporary ซึ่งเป็นแกลเลอรีที่นำงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาจัดแสดงแล้วหลายครั้ง รวมทั้งจัดงานเสวนาที่ชวนคนในวงการสิ่งแวดล้อมมาพูดคุยกับศิลปินในหัวข้อต่างๆ เป็นประจำ

สำหรับครั้งนี้ เป็นการพูดคุยในหัวข้อ ‘Clean coasts: เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อลดขยะพลาสติกในทะเล’ มีผู้ร่วมเสวนาคือ Ari Bayuaji – ศิลปินเจ้าของผลงาน, น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ – นักวิจัยและประธานมูลนิธิโลกสีเขียว, ดร.เพชร มโนปวิตร – นักอนุรักษ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef และ ใบตอง-จรีรัตน์ เพชรโสม Miss Earth Thailand 2021 โดยมี ศิริพร ศรีอร่าม – ผู้อำนวยการแผนงานพัฒนาความร่วมมือของมูลนิธิโลกสีเขียวเป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเราได้สรุปเนื้อหาที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังแล้ว

ภาพ > Preecha Pattara

THROW AWAY CULTURE – ต้นตอของปัญหา

ในวันนี้คงไม่มีใครอีกแล้วที่ไม่เคยเห็นขยะตามชายฝั่ง ไม่ว่าจะชายฝั่งแม่น้ำหรือชายฝั่งทะเล ดร.เพชร เล่าว่า ในวันที่เขาได้ไปเยือนเกาะร้างที่ห่างไกลผู้คน ก็ยังต้องพบกับกองขยะมากมายที่ลอยมาเกยตื้นชายหาด ส่วน ดร.บริพัตร ก็แชร์ประสบการณ์ว่า เคยจัดกิจกรรมเก็บขยะที่ชายหาดแห่งหนึ่งแล้วพบว่า แค่หาดแห่งเดียวมีขยะรองเท้าที่เก็บได้มากถึง 400-500 ชิ้น

“มันน่าเศร้ามากที่ได้เห็นภาพแบบนั้น” ใบตอง จรีรัตน์ กล่าว ในฐานะคนชุมพรที่เติบโตมากับทะเล เธอจำได้ว่าชายหาดที่เธอเคยเดินเล่นสมัยเด็กๆ นั้นสวยงามมาก แต่เมื่อได้กลับไปหาดแห่งเดิมอีกครั้งเมื่อไม่นานนี้ก็พบว่า สวรรค์วัยเด็กของเธอกลายเป็นเพียงที่ทิ้งขยะของคน

ดร.เพชรให้ข้อมูลตัวเลขที่น่าตกใจว่า ทะเลทุกวันนี้กลายเป็นแหล่งรองรับขยะจากมนุษย์ แม้ว่าพลาสติกเริ่มผลิตขึ้นแค่ 70 กว่าปีที่ผ่านมา แต่อัตราผลิตเพิ่มอย่างรวดเร็วมากจาก 2 ล้านตันต่อปี มาเป็น 300 ล้านตันต่อปี ซึ่งรวมแล้วทำให้เรามีพลาสติกกว่า 9,000 ล้านตันที่ถูกผลิตขึ้นมา ซึ่งราว 6,000 ล้านตันตกค้างในสิ่งแวดล้อม “น่าเศร้าที่ว่า ทุกวันนี้เราจับปลาและสิ่งมีชีวิตมากมายออกจากมหาสมุทร แล้วแทนที่มันด้วยขยะ”

ภาพ > Preecha Pattara

แม้พลาสติกคือสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ในทุกวันนี้ แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือพฤติกรรมของมนุษย์ พฤติกรรมที่ว่านี้ก็คือ วัฒนธรรมการ ‘ใช้แล้วทิ้ง’

“ยุคนี้สังคมเราเป็น throw away culture เพราะพลาสติกราคาถูกมาก บางทีก็ฟรีด้วยซ้ำ ต่างจากสมัยก่อนที่ซื้อน้ำก็จะเป็นขวดแก้วที่มีค่ามัดจำขวด พอเอาขวดไปคืนก็ได้เงินคืน มันคือการมองว่าวัสดุมีมูลค่า แต่เมื่อพลาสติกเข้ามา มุมมองเหล่านี้เปลี่ยนไป เพราะมันผลิตได้เยอะและราคาถูก ทำให้คนไม่ต้องแคร์ ก็แค่ทิ้งมันไป ซึ่งนี่คือรากของปัญหาสิ่งแวดล้อม ยิ่งระบบการตลาดที่ส่งเสริมให้คนซื้อมากขึ้น เพื่อบริษัทจะได้กำไรมากขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ โลกเต็มไปด้วยขยะ” ดร.เพชร กล่าว

Transform our relationship with plastic – ทางออกของปัญหา

ดร.เพชร ชี้ให้เห็นถึงหัวใจสำคัญที่จะพาเราออกจากปัญหาขยะพลาสติกท่วมโลกว่า ด้วยตัวเลขการผลิตในระดับนี้ เราไม่มีทางรีไซเคิลหรือจัดการได้หมด สิ่งสำคัญอันดับแรกคือต้องลดการผลิต และปรับรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพลาสติกใหม่

“อันดับแรกคือต้องลดการผลิตและลดการใช้ ทางออกหนึ่งที่ง่ายและควรทำคือการตั้งราคาพลาสติก เพราะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว อย่างที่จุฬาฯ ก็เริ่มต้นจากคิดเงินค่าถุง แค่ถุงละ 2 บาท แต่ลดการใช้ได้ถึง 80% ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายมาก แต่ปัญหาคือจะทำยังไงให้แนวคิดแบบนี้ขยายสเกลในระดับที่ใหญ่ขึ้นได้”

ถัดจากการลดการใช้ สิ่งสำคัญถัดมาก็คือ พลาสติกทุกชิ้นที่ถูกผลิตขึ้นแล้ว จำเป็นต้องวนเข้าสู่ระบบเพื่อกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ซ้ำ อัพไซเคิล หรือรีไซเคิล ซึ่งก็คือแนวคิดที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ หรือ ‘circular economy’ ที่จำเป็นต้องทำให้เป็นกระแสหลักและมีกฎหมายบังคับ

ภาพ > Preecha Pattara
ภาพ > Preecha Pattara

“เราต้องไม่มองว่าพลาสติกเป็นของฟรีที่ใช้แล้วโยนทิ้ง แต่ต้องมองว่ามันคือทรัพยากร ที่สามารถวนกลับมาใช้อีกได้ในทางใดทางหนึ่ง ผมชอบแนวคิดของงานคุณ Ari ที่มองว่าพลาสติกคือวัสดุที่มีมูลค่า เพราะถ้าขยะพวกนี้อยู่ในทะเล มันคือสิ่งที่ฆ่าชีวิตอื่นได้ แต่ตอนนี้มันกลายเป็นสิ่งที่สวยงาม ซึ่งในอนาคตอาจมีศิลปะแขนงใหม่ในยุค Anthropocene ที่นำวัสดุเหล่านี้มาใช้ และผมก็เห็นว่าศิลปินหลายคนก็นำขยะพลาสติกเหล่านี้มาทำงานศิลปะ ซึ่งเหมาะสมมากสำหรับยุคนี้”

ดร.บริพัตร ยกตัวอย่างเสริมว่า “ผมไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้จะได้ซื้อเสื้อที่ทำมาจาก PPE หรือได้เห็นจีวรที่ทำจากขวดพลาสติก ทุกวันนี้ เรามีหนทางมากมายที่นำขยะมาชุบชีวิตให้เป็นสิ่งที่ใช้ได้นานขึ้น อย่างห้างใหญ่ๆ บางแห่งก็ใช้พรมที่ทำมาจากขยะทะเล ซึ่งผมก็ยังมีหวังว่าเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์จะพาเราไปได้อีก อย่างเช่นที่คุณ Ari ทำ แม้จะเป็นส่วนเล็กๆ แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ขยะแปลงร่างได้สวยขนาดนี้นะ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของการเปลี่ยนความโกรธให้เป็นผลงาน และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น”

Future in Our Hands – อนาคตอยู่ในมือทุกคน

“ปัญหาขยะทะเลไม่ได้มาจากแค่คนที่อยู่ชายฝั่ง แต่คือทุกคนที่อยู่ในเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ด้วย”

ใบตอง จรีรัตน์ กล่าวถึงความจริงที่ทุกคนจำเป็นต้องตระหนัก

“ตอนนี้มันถึงเวลาที่เราทุกคนต้องรับผิดชอบโลกนี้ร่วมกัน มันเป็นหน้าที่ของเราทุกคนเพื่อโลกที่ดีขึ้น ใบตองเชื่อว่า ทุกคนมีหนทางการสร้างความเปลี่ยนแปลงในแบบของตัวเอง แค่ลงมือทำ อะไรก็ได้ แบบไหนก็ได้ จะซ้ำกับคนอื่นก็ได้ ขอแค่ลงมือทำ เพราะโลกต้องการทุกคน และขอให้รู้ว่าคุณไม่ได้ทำอยู่เพียงลำพัง แค่ทำในจุดเล็กๆ ในสิ่งที่คุณทำได้ เหมือนที่คุณ Ari ทำ ซึ่งถึงจุดหนึ่งมันก็จะสร้างแรงกระเพื่อมหรือสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ หรือบางทีคุณอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบไม่รู้ตัวก็ได้ อย่างเช่นใบตองเองก็ได้แรงบันดาลใจจากคนรุ่นก่อนๆ ที่ทำมา”

ภาพ > Preecha Pattara

ดร.บริพัตร ซึ่งเคยทำงานร่วมกับกลุ่ม EEC ที่จัดค่ายสิ่งแวดล้อมให้เด็กๆ ก็ยืนยันว่า เขาได้เห็นคนรุ่นใหม่มากมายที่เป็นความหวัง

“ผมได้เห็นคนรุ่นใหม่มากมายที่มีความตั้งใจที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อม คนกลุ่มนี้คือความหวัง แค่หนึ่งคนในนี้เติบโตไปเป็นคนที่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องสำคัญ เขาก็จะเลือกปกป้องธรรมชาติ ดังนั้น การที่เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติคือเรื่องสำคัญ เพื่อให้พวกเขาเติบโตมาอย่างไม่ถูกตัดขาดจากธรรมชาติ ซึ่งทุกวันนี้ก็มีหลายกลุ่มหลายองค์กร ที่จัดกิจกรรมพาเด็กๆ ไปเรียนรู้”

ดร.เพชร เสริมว่าคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้มีความเข้าใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นมาก เพราะนี่คือโลกที่พวกเขาต้องอยู่ในอนาคต และพวกเขาก็คือกลุ่มคนที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว ปัญหาขยะพลาสติกทุกหนแห่ง รวมถึงในอาหาร ซึ่งพวกเขาย่อมเข้าใจดีว่า การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นตอนนี้

“บางครั้งอาจดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่แคร์เรื่องสิ่งแวดล้อมจะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยในสังคม แต่ แม้จะเป็นส่วนน้อย ทุกคนก็กำลังสร้างพลังขับเคลื่อนสำคัญ ที่จะทำให้คนที่เข้าใจและแคร์สิ่งแวดล้อมค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น ผมเชื่อว่าเรากำลังเข้าใกล้ critical mass ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสังคมให้มีความตระหนักเรื่องการอนุรักษ์และความยั่งยืน เราต้องทำต่อไป และไม่หมดหวังในมนุษยชาติที่สามารถสร้างโลกที่ดีกว่าให้คนรุ่นต่อไปได้”

และประโยคที่ว่า A small group of determined people can change the world – กลุ่มคนเล็กๆ ที่มีความมุ่งมั่นก็สามารถเปลี่ยนโลกได้ ก็น่าจะเป็นหนึ่งในบทสรุปที่ดีที่สุดของการเสวนาในครั้งนี้

สนับสนุนบทความโดย Warin Lab Contemporary

AUTHOR