ความคิดสร้างสรรค์เป็นคล้ายแสงสว่าง | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

ช่วงที่กำลังทำ a day ฉบับ creative entrepreneur เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เพื่อนๆ สื่อมาชวนคุยถึง a day ในยุคปัจจุบัน คำถามต่างๆ ที่พวกเราหอบไปถามผู้ประกอบการในเล่มแต่ละคนผมจึงต้องตอบมันด้วยเช่นกัน 

เชื่อในอะไร มองเห็นตัวเองเป็นยังไง ผ่านเผชิญกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรุนแรงยังไง อนาคตของอุตสาหกรรมจะเป็นยังไง หรือในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้จะทำยังไง

ข้างต้นคือบางส่วนของคำถามที่ผมต้องตอบในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

แต่ไม่หรอก ผมไม่ได้เพิ่งต้องตอบคำถามเหล่านี้

แม้ไม่ใช่ผู้ประกอบการ แต่ด้วยตำแหน่งหน้าที่มันหลบมันเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตอบคำถามเหล่านั้นกับตัวเองให้ได้ก่อนที่จะมีใครชิงถาม ไม่อย่างนั้นมันเหมือนเรือไม่มีหางเสือ เหมือนสิ่งมีชีวิตไม่มีกระดูกสันหลัง ไม่รู้ว่าทิศทางข้างหน้าจะไปทางไหน ไม่รู้ว่าจะหยัดยืนยังไงทั้งในทางเนื้อหาและธุรกิจ ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรและไม่รู้ว่าไม่ต้องทำอะไร

การรู้ว่าเราต้องทำอะไรทำให้เราเห็นหนทาง การรู้ว่าเราไม่ต้องทำอะไรทำให้เราไม่หลงทาง

คำตอบหนึ่งที่ผมตอบผู้ที่ถามหลายคนเหมือนๆ กันคือพวกเราเชื่อใน creativity หรือความคิดสร้างสรรค์ เราจึงพยายามบอกเล่าถึงพลังของมันออกมาด้วยหวังว่าจะช่วยทำให้สิ่งนี้แข็งแรงขึ้นในบ้านเมืองของเรา ทำให้ผู้คนเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์มันแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ไม่เฉพาะคนบางกลุ่มที่อยู่ในบางแวดวงเท่านั้น

ใน a day ฉบับ creative entrepreneur พวกเราพยายามบอกเล่าแง่มุมความคิดสร้างสรรค์ที่แต่ละธุรกิจใช้เอาตัวรอดและต่อยอดจนประสบความสำเร็จในเส้นทางของตัวเอง

ในพื้นที่อื่นๆ ของ a day บนโลกออนไลน์ พวกเราพยายามบอกเล่าแง่มุมความคิดสร้างสรรค์ที่ถูกใช้ในประเด็นที่หลากหลาย ไม่เว้นแม้กระทั่งประเด็นทางสังคม

คำถามคือความคิดสร้างสรรค์จำเป็นยังไง ทำไมเราจึงเชื่อในสิ่งนี้

สำหรับผม ความคิดสร้างสรรค์เป็นคล้ายแสงสว่าง ในยามมีชีวิตปกติทั่วไปเราอาจไม่ค่อยเห็นความสำคัญของมันเท่าไหร่ แต่ยามชีวิตมืดหม่น อับจนหนทาง หรือยามต้องการผลักดันบางสิ่งไปสู่สถานการณ์ที่ดีกว่าเดิม ผมคิดว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งจำเป็น

หรือในอีกความหมายหนึ่งอาจพูดได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์คือความไม่ยอมจำนนต่อข้อจำกัดหรือกรอบที่ต้องเผชิญ

ท่ามกลางคำถามมากมายที่ได้รับระหว่างสัมภาษณ์ มีคำถามหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจ

สังคมแบบไหนเหมาะกับการเติบโตของความคิดสร้างสรรค์?

มันคงง่ายถ้าให้ตอบเป็นชื่อประเทศหรือชื่อเมือง ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าสิ่งนี้งอกงามในดินแดนใด แต่พอต้องลงลึกไปถึงรายละเอียดว่าลักษณะสังคมแบบไหนที่เป็นดินที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของความคิดสร้างสรรค์ มันจึงตอบได้ยาก

ครั้งหนึ่งผมเคยถามคำถามคล้ายๆ กันนี้กับพี่หนึ่ง–วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ตอนเขาจัดงาน Nan Poesie เทศกาลบทกวีที่น่าน

สภาวะบ้านเมืองแบบไหนเหมาะแก่การเจริญเติบโตของกวี?

วันนั้นนักเขียนนักสัมภาษณ์ซึ่งเป็นผู้จัดงานตอบว่า “มันเป็นได้ทั้ง 2 อย่าง เนื้อหน้าดินที่ดีมาก ไม่มีความทุกข์ทรมานเลย ก็อาจจะส่งเสริมให้ต้นไม้ชนิดหนึ่งงอกงาม หรือดินที่เหี้ยมากก็อาจจะสร้างสิ่งที่งดงามได้ เพียงแค่มันสร้างจากความกดดัน ในขณะที่อีกสิ่งมันสร้างจากความสุข เพราะฉะนั้นมันไม่แน่ สิ่งที่สร้างจากความสุขอาจจะได้ผลิตผลที่ดีมาก หรือสิ่งที่สร้างจากความทุกข์ก็อาจจะได้สิ่งที่ดีมากเช่นกัน มันเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง”

โดยส่วนตัวผมคิดคล้ายกัน แน่นอน ความคิดสร้างสรรค์ย่อมงอกเงยอย่างงดงามในดินแดนที่เปิดกว้าง มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก โครงสร้างต่างๆ ในสังคมแข็งแรง ผู้คนได้รับการปลูกฝังให้เห็นค่าและสนับสนุนสิ่งนี้ 

แต่ขณะเดียวกัน ในสถานการณ์ที่บีบคั้น ในสังคมที่ปิดกั้นความคิดที่แตกต่าง โครงสร้างทางสังคมไม่เอื้อให้ประชาชนเติบโตอย่างเท่าเทียม มันก็เป็นสิ่งที่ปลุกเร้าและกระตุ้นให้ความคิดสร้างสรรค์แสดงพลังออกมา

สภาพสังคมบ้านเรายามนี้เป็นแบบใดคงไม่ต้องบอก ใครที่ไม่ได้ปิดหูปิดตาคงเห็นภาพตรงกัน

การดิ้นรนเอาตัวรอด ความไม่แน่นอน ความหวาดกลัว ความกดดัน ความอัดอั้น ความเดือดดาล ความอยุติธรรม สารพัดความทุกข์ร้อนที่ทุกคนต้องเผชิญ–ไม่ว่าจะในมุมปัจเจกหรือธุรกิจ ทำให้ผมได้เห็นความคิดสร้างสรรค์เปล่งประกาย 

รอบปีที่ผ่านมาผมเห็นใครหลายคนลุกขึ้นมาต่อสู้กับกรอบและกฎของสังคมที่ไม่แฟร์ด้วยวิธีการแสนสร้างสรรค์ ขณะที่หลายธุรกิจก็พยายามดิ้นรนสร้างหนทางใหม่ๆ ในสถานการณ์อันยากลำบาก

ในวันนี้ที่สังคมและสถานการณ์ต่างๆ คงไม่ได้เปลี่ยนผ่านในเร็ววัน สิ่งที่พวกเราพอทำได้คงหนีไม่พ้นวิธีการเหล่านี้ นั่นคือไม่ยอมจำนนและพยายามถางหาหนทางใหม่ๆ ใช้อุปสรรคและความคับข้องใจเป็นวัตถุดิบผลักดันความคิดสร้างสรรค์ออกมา

แล้วรอเวลาที่สังคมข้ามผ่านไปสู่วันที่ดินสำหรับปลูกความคิดสร้างสรรค์ให้งอกงามไม่ใช่ความทุกข์ร้อนของผู้คน

AUTHOR