มีความฝันของเด็กมากมายเพียงใดถูกเด็ดทิ้งไปในโรงเรียน | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

ครั้งหนึ่งเมื่อ 17 ปีที่แล้ว a day เคยทำฉบับ hesheit การ์ตูนลายเส้นเป็นเอกลักษณ์ของ ตั้ม–วิศุทธิ์ พรนิมิตร ที่เขายังคงเขียนต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้และมีแฟนๆ ติดตามเหนียวแน่น ระหว่างทำ a day ฉบับ Mamuang ผมหยิบมันมาอ่านอีกครั้งด้วยอยากรู้เส้นทางที่ผ่านมาก่อนถึงวันที่เขาได้รับการยอมรับอย่างวันนี้

ในหน้า ‘จุดเริ่มต้น’ ที่ย้อนเล่าเส้นทางชีวิตของวิศุทธิ์ มีช่วงหนึ่งที่ผมอ่านแล้วรู้สึกว่ามันน่าเศร้าใจ ไม่ได้สดใสเหมือนการ์ตูนมะม่วงที่เขาวาด

วิศุทธิ์ พรนิมิตร วาดการ์ตูนตั้งแต่เรียนประถม

เขาวาดรูปไม่เก่ง

แต่เอนทรานซ์ติดคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยคะแนนวิชาดรอว์อิ้ง 30 เต็ม 100 และ 95 คะแนนจากวิชาอินทีเรียร์ดีไซน์

ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเขาหยุดวาดการ์ตูนไป 2-3 ปี เพราะมีปัญหาเรื่องเรียน

สอบตกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

อาจารย์พูดต่อหน้าว่า “อย่าเรียนศิลปะเลย”

ลายเส้นแบบของเขาได้แต่ D กับ F

เขาเริ่มเอาสไตล์เพื่อนมาผสมในงานออกแบบ

ไม่มีอะไรดีขึ้น

สุดท้ายเขาเลือกออกแบบงานด้วยการวาดให้เหมือนเพื่อน

เพื่อให้เรียนจบในปีที่ 6

เนื้อหาใน a day เล่มนั้นไม่ได้จบลงแค่ตรงนี้ เช่นเดียวกับชีวิตเขา

ทุกวันนี้วิศุทธิ์ได้รับการยอมรับเพียงใดคงไม่ต้องเสียเวลามานั่งอธิบาย เพียงแต่เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผมกลับรู้สึกบางอย่างและคิดว่ามันน่าจะมีความผิดพลาดบางประการในระบบการศึกษาบ้านเรา

ที่ผ่านมาเวลาได้ยินเรื่องเล่าทำนองนี้ ประเภทคนสอบตกในมหาวิทยาลัยแต่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ หรือลาออกจากมหาวิทยาลัยแต่สุดท้ายกลับสร้างผลงานยิ่งใหญ่จนสถานศึกษาต้องมอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นให้ เรามักเล่าถึงมันในเชิงโรแมนติไซส์–เห็นไหมว่าเรียนไม่จบหรือสอบได้ F ก็ประสบความสำเร็จได้ แต่เราไม่ค่อยได้คุยกันถึงรากของปัญหาที่แท้จริง

แม้ไม่ใช่ทุกโรงเรียน ทุกมหาวิทยาลัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโดยภาพรวม ระบบการศึกษาบ้านเรายังเป็นคล้ายแม่พิมพ์ที่พยายามผลิตมนุษย์ทุกคนให้ออกมาเหมือนกัน ทั้งที่โดยเนื้อแท้ไม่มีมนุษย์คนใดเหมือนกัน

หากเราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความงาม สถานศึกษาซึ่งเป็นสถานที่ที่เราฝากวัยเยาว์เอาไว้ แทนที่จะทำให้เด็กแต่ละคนมีโอกาสค้นพบความงามนั้น หลายครั้งกลับกลายเป็นตรงกันข้าม

เราไม่มีทางรู้เลยว่ามีความฝันของเด็กมากมายเพียงใดถูกเด็ดทิ้งไประหว่างทาง

ว่าถึงตรงนี้ผมนึกถึงสิ่งที่อาจารย์บรูซ แกสตัน ผู้บุกเบิกดนตรีไทยร่วมสมัย เคยเล่าเอาไว้เมื่อหลายปีก่อนตอนเราพบกัน ในฐานะผู้ที่เคยแปลกแยกแตกต่างจากคนอื่นๆ ในวัยเด็ก

“ผมอยากจะเห็นความหลากหลายของเด็ก ทุกวันนี้โรงเรียนพยายามสอนให้ทุกคนเป็นเหมือนกัน ทุกคนต้องไปสอบเหมือนกัน ต้องเป็นพิมพ์เดียวกันออกมา แล้วถ้าหากเด็กสักคนมีปัญหาในโรงเรียนเพราะว่าเขาไม่เหมือนเพื่อน ครูก็พยายามตำหนิว่าทำไมไม่อยู่ในกฎ ไม่อยู่ในกรอบที่โรงเรียนบอกเอาไว้ แทนที่จะส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ คนนี้ไปอย่างนี้ คนนั้นก็ไปอย่างนั้น

“ผมอยากจะบอกวัยรุ่นว่าอย่าท้อใจ ถ้าหากว่าคนอื่นมองไม่เห็นคุณค่าของเรา อย่าคิดว่าเป็นเพราะเธอโง่ แสวงหาหนทางของตัวเอง เราอาจจะพบเจอว่าเรามีความสามารถที่ไม่เหมือนกับคนอื่น สิ่งสำคัญคืออย่าว่าตัวเองว่าฉันไม่มีค่า เราต้องมองคนแต่ละคนเป็นคนละคน เราไม่เหมือนกัน โลกเรามีความหลากหลาย เราต้องหาทางที่เป็นธรรมชาติของตัวเอง เราต้องมีความเป็นปัจเจกบุคคล หลายๆ คนไม่รู้จักคำนี้นะ แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ปัจเจกบุคคลหมายความว่า ฉันไปหนทางของฉัน ซึ่งมันเกี่ยวกับพรหมลิขิต เกี่ยวกับดีเอ็นเอ เกี่ยวกับกรรมพันธุ์ เกี่ยวกับอะไรต่างๆ ที่ทำให้แต่ละคนไม่เหมือนกัน 

“แล้วก็จงภาคภูมิใจว่าฉันไม่เหมือนกับคนอื่น”

สุดท้ายเขาเลือกออกแบบงานด้วยการวาดให้เหมือนเพื่อน

เพื่อให้เรียนจบในปีที่ 6

ย้อนมองกลับไปผมคิดว่าโชคดีเหลือเกินที่การเลือกเป็นเหมือนคนอื่นของวิศุทธิ์สิ้นสุดลงแค่ในรั้วมหาวิทยาลัย ชีวิตหลังจากนั้นเขาเลือกทำในสิ่งที่เชื่อที่ชอบ จนถึงวันนี้ที่เขากลายเป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และหลายๆ สิ่งที่เขาสร้างก็ยังไม่เคยมีศิลปินไทยคนใดก้าวไปถึง

แต่ก็อดนึกไม่ได้เหมือนกันว่าหากวันนั้นการเลือกเป็นเหมือนคนอื่นด้วยระบบการศึกษาภาค ‘บังคับ’ พาชีวิตของเขาหันเหไปอีกทาง

เราจะประเมินการสูญเสียนี้กันอย่างไรดี

AUTHOR