คืนวันที่เราเพาะบ่มบางทักษะไม่ได้ไร้ค่าไร้ความหมาย | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

หนึ่งในสิ่งที่กลายเป็นกิจวัตรของพวกเราชาว a team ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาคือการติดต่อหาผู้คนในแวดวงสร้างสรรค์เพื่อชักชวนมาไลฟ์ในรายการ Meet the Master ทุกสัปดาห์

โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นช่วงเมษายนที่พวกเราต่างเผชิญวิกฤตโรคระบาด พวกเราตั้งใจชักชวนคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นตัวแทนยุคสมัยมาสนทนากับผู้เป็นมาสเตอร์ในสายงานเดียวกัน ด้วยเราเชื่อว่าความรู้และภูมิปัญญาที่สั่งสมมาจะช่วยคลี่คลายบางคำถามของชีวิตยามสับสนได้ โดยหลังจากเริ่มไลฟ์ครั้งแรกจนถึงครั้งล่าสุด ผมพบว่าบทสนทนาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีคุณค่าในช่วงวิกฤตโรคระบาดเท่านั้น หากแต่มันยังช่วยคลายเงื่อนปมให้ผู้ชมทั้งเรื่องชีวิตและการงาน

ในโอกาสที่ a day ครบรอบ 20 ปีในเดือนสิงหาคม พวกเราจึงตั้งใจนำบทสนทนาเหล่านั้นมาต่อยอดเพื่อบันทึกสิ่งที่มีคุณค่าเก็บไว้ และในอีกทางก็คล้ายเป็นการบูชาครูผู้อยู่ในแวดวงสร้างสรรค์ จนกลายเป็นนิตยสาร a day ฉบับ Meet the Master และเมื่อมีโอกาสกลับมาอ่านบทสนทนาทั้งหมดแบบรวดเดียวจบ ผมก็พบว่ามีบางประเด็นที่ผมเองไม่ทันคิดตอนฟังแยกทีละคู่

หนึ่งในนั้นคือเรื่องการเติบโต

ชีวิตของเหล่าผู้มาก่อนทั้งหลายบอกผมว่าการเติบโตของมนุษย์ไม่ได้มีรูปแบบเดียว

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสสัมภาษณ์ผู้มาสมัครงานตำแหน่งพิสูจน์อักษรหลายคน คำถาม-คำตอบในห้องเวียนวนหลายประเด็น แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมนั่งนิ่งทบทวนกับตัวเอง นั่นคือเรื่องการเติบโตในหน้าที่การงานของตำแหน่งนี้

หากหยิบยกแผนผังโครงสร้างองค์กรมากาง พิสูจน์อักษรดูจะเป็นตำแหน่งที่มองไม่เห็นเส้นทางการเติบใหญ่ทางตำแหน่งเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับตำแหน่งอื่นๆ

และเมื่อเหลียวมองผู้คนรอบตัว ผมพบว่ายังมีอีกหลายคนหลายอาชีพที่ไม่ได้มีตำแหน่งใหญ่โตเป็นแรงดึงดูดในเส้นทางการทำงาน เมื่อไม่กี่เดือนก่อนผมได้คุยกับพี่วิศ–วิศรุต สินพงศพร ผู้ก่อตั้งเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง เพจที่คนรักฟุตบอลต่างยอมรับในคุณภาพของบทความ และปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวอยู่ที่ Workpoint Today เขาเล่าว่าตอนที่ได้รับคำชวนให้มาทำงานที่สำนักข่าวแห่งนี้ เงื่อนไขที่เขายื่นให้บรรณาธิการบริหารไม่ใช่โอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน แต่เป็นการขอโอกาสในการอยู่กับที่ ไม่ต้องโตไปไหน

“ตอนนั้นเราคุยกับทาง Workpoint Today ทุกอย่างลงตัวดีหมด แต่ติดปัญหาอย่างเดียวคือ เรากลัวว่าเมื่อทำงานนานไปเขาจะดันเราไปเป็นหัวหน้า เพราะคนส่วนใหญ่ในทีมเป็นคนรุ่นใหม่ ถ้ามองตามความอาวุโสแล้ว วันหนึ่งเราอาจต้องเป็นหัวหน้า ซึ่งจุดยืนของเราชัดเจนอยู่แล้ว คือเราอยากใช้เวลาทั้งหมดไปกับการเขียนงาน เราเลยยื่นข้อเสนอว่ายินดีจะไปร่วมงานด้วย แต่มีเงื่อนไขเดียวคือเราขอไม่เป็นบรรณาธิการ ไม่เป็นหัวหน้าแผนก ไม่ขอมีลูกน้องใดๆ ขอเขียนงานอย่างเดียว

“เราอายุ 34-35 แล้ว เรารู้ว่าตัวตนของเราคืออะไร ดังนั้นไม่อยากเสียเวลากับสิ่งที่ไม่ใช่ คนอื่นอาจมองว่าการเติบโตคือมีตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่เรามองว่าการเติบโตคือการพัฒนาทักษะของตัวเองให้แหลมคมขึ้นเรื่อยๆ ต่างหาก”

ในโลกที่คนส่วนใหญ่ต่างตะเกียกตะกายเพื่อหน้าที่การงานที่ดีขึ้น ผมไม่แน่ใจว่าข้อเสนอของเขาจะเข้าข่ายคนไร้ความทะเยอทะยานไหมในสายตาผู้อื่น แต่มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าตำแหน่งสูงขึ้นแต่ข้างในของเรากลับว่างเปล่า ตอบตัวเองไม่ได้ว่าแท้จริงแล้วชีวิตเกิดมาเพื่อทำสิ่งใด สิ่งนั้นมีความหมายอะไรกับชีวิต

ตอนที่ฟังเขาเล่าจบ ผมนึกถึงบทสนทนาเมื่อราวสองปีก่อนระหว่างผมกับผู้เป็นเสมือนมาสเตอร์ในวิชาชีพคนทำสัมภาษณ์อย่างพี่หนึ่ง–วรพจน์ พันธุ์พงศ์

หลังปักหลักกับอาชีพนักสัมภาษณ์ยาวนานจนผู้คนในวงการยกย่องเขาว่าเป็น ‘นักสัมภาษณ์มือหนึ่ง’ ลึกๆ ผมสงสัยว่าเขาในวัย 48 ภูมิใจกับถ้อยคำเชิดชูที่ว่าบ้างไหม มองงานที่ทำยังไง

แทนคำตอบ เขาส่ายหน้า หัวเราะ

“เขาพูดเล่นกันแล้วคนเชื่อจริง คือเรานี่ไม่อะไรเลยเพราะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วสำหรับมุมเรา คำนี้ถึงที่สุดแล้ว มันเป็นคำด่า ไม่ใช่คำชม หมายความว่าคนฉลาดเขาจะไม่อยู่นาน ไม่มาย่ำอยู่อย่างนี้ มันไม่เติบโต มันไม่ทำให้ได้เงินเพิ่มขึ้น มันต้องพุ่งขึ้นไป ตำแหน่งใหญ่ขึ้น เงินสูงขึ้น ไม่ใช่ทำงานแบบนี้ แบบเดิม ซึ่งอันนี้เราเข้าใจ แต่ปรัชญามันคนละอย่าง บางคนพุ่งขึ้นไปอย่างนี้ บางคนลงไปอย่างนี้ ลงแต่ลงรากลึกไง มันไม่ได้ต่ำลง ซึ่งทัศนะที่มีต่อชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน คนอื่นเขามีลูกน้อง 20 คน นี่หันกลับมาก็อยู่คนเดียวเหมือนเดิม ทำอาชีพก็ทำเหมือนเดิม ถอดเทปก็ถอดเทปเองเหมือนเดิม”

อย่างที่เขาว่า เมื่อเหลียวมองวันนี้ในวัยใกล้ 50 เขาก็ยังคงทำงานเดิม นิยามหน้าที่การงานก็ยังเป็นคำเดียวกับที่เคยใช้ในวัยหนุ่ม

วันคืนหมุนผ่านไปกี่สิบปี สื่อมวลชนบางคนยังคงเป็นสื่อมวลชน นักเขียนบางคนก็ยังคงเป็นนักเขียน ศิลปินบางคนก็ยังคงเป็นศิลปิน พ่อครัวบางคนก็ยังคงเป็นพ่อครัว หรือพิสูจน์อักษรบางคนก็ยังคงเป็นพิสูจน์อักษร

ด้วยตำแหน่งในนามบัตรอาจไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไป แต่แน่นอนว่ามันห่างไกลกับคำว่าย่ำอยู่กับที่หรือไม่เติบโต ทักษะและความเข้าใจในศาสตร์ที่เลือกปักหลักนั้นเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ แตกฉานขึ้นเรื่อยๆ

คงคล้ายกับที่พี่หนึ่งว่าไว้ หากเปรียบกับต้นไม้ การเติบโตมันมีทั้งแบบแทงยอดขึ้นข้างบน และหยั่งรากลึกลงข้างล่าง คล้ายเหล่ามาสเตอร์ทั้งหลายที่ผมได้พบเจอทั้งในโปรเจกต์ Meet the Master และในชีวิต ที่บอกสอนว่าการเติบโตไม่ได้มีรูปแบบเดียว

คืนวันที่เราเพาะบ่มบางทักษะไม่ได้ไร้ค่าไร้ความหมาย หากมนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ว่างเปล่าอย่างที่ใครบางคนว่าไว้ ดอกไม้และบาดแผลที่เราได้จากงานก็บ่มเพาะให้เราเป็นมนุษย์ที่เต็มขึ้น และผมคิดว่ามีเพียงผู้ที่ฝากชีวิตไว้กับการงานนานพอเท่านั้นที่จะสามารถสร้างงานที่มีพลังพิเศษ–งานที่นอกจากจะถูกใช้ตามฟังก์ชั่นดั้งเดิมของมันแล้ว ยังส่งพลังให้ผู้ที่เดินตามมากล้าจะเลือกเส้นทางการเติบโตของตัวเอง

ด้วยเห็นว่าชีวิตยังมีอีกหลายทางเลือกที่งดงาม

AUTHOR