จีน Viewfinder คนเล่าเรื่องหนังที่ไม่ต้องเนิร์ดหนังก็ฟังสนุกจนมีผู้ติดตามกว่าครึ่งล้าน

Highlights

  • จีน–อรากร ฤกษ์เกษม หรือ จีน Viewfinder คือหนึ่งในทีมผู้เริ่มสร้าง Viewfinder รายการเล่าหนังออนไลน์ที่หลายคนน่าจะเคยผ่านตาวิดีโอคอนเทนต์ หรือผ่านหูรายการสดและพ็อดแคสต์อยู่บ้าง 
  • ด้วยเอกลักษณ์ในคอนเทนต์และวิธีการนำเสนอ ยอดผู้ชมในแต่ละคลิปของ Viewfinder ไม่ต่ำกว่าหลักแสน ยอดผู้ติดตามในยูทูบมีกว่าครึ่งล้าน หรือในฐานะรายการพ็อดแคสต์ รายการที่เขาออกอากาศสด ก็มียอดคนดูเฉลี่ยติดท็อป 5 ทุกสัปดาห์
  • จีนบอกเราว่าเคล็ดลับความสำเร็จคือการบาลานซ์ระหว่างความต้องการของตัวเองและคนดู รวมถึงการอ่านทุกคอมเมนต์เพื่อนำมาปรับปรุงคอนเทนต์ต่อๆ ไปในอนาคต

ในส่วนแนะนำตัวของ Viewfinder Fanpage จีน–อรากร ฤกษ์เกษม หรือ จีน Viewfinder แนะนำถึงสิ่งที่เขาทำไว้ดังนี้

‘รายการหนังที่ยังไม่มีใครคิดจะทำตาม’

สำหรับคนที่ติดตามวงการภาพยนตร์ หลายคนน่าจะเคยผ่านตาวิดีโอคอนเทนต์ หรือผ่านหูรายการสดและพ็อดแคสต์ Viewfinder ของจีนมาอยู่บ้าง ด้วยเอกลักษณ์ในคอนเทนต์และวิธีการนำเสนอ ยอดผู้ชมในแต่ละคลิปของเขาไม่ต่ำกว่าหลักแสน ยอดผู้ติดตามในยูทูบมีมากกว่าครึ่งล้าน หรือในฐานะรายการพ็อดแคสต์ รายการที่เขาออกอากาศสด ก็มียอดคนดูเฉลี่ยติดท็อป 5 ทุกสัปดาห์ นั่นน่าจะเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่าสิ่งที่เขาทำถูกใจคนดูขนาดไหน

แต่สำหรับใครที่ไม่ใช่คอหนังขนาดนั้น รายการ Viewfinder ของจีนก็มีรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ให้คนธรรมดาเข้าถึงได้ ตัวอย่างเช่นตอนที่ภาพยนตร์เรื่อง Wonder Woman เข้าฉาย คอนเทนต์ที่เขาทำคือการพูดเรื่องการสร้างร่างกายเพื่อเล่นหนังในแบบฉบับนักแสดงหญิง เซนส์ในการหยิบเรื่องจากหนังมาเล่าของเขาทำให้หลายคนต้องหันมาสนใจจนผลตอบรับออกมาดีอย่างที่เห็น

จีน viewfinder

ท่ามกลางวันเวลาที่ใครหลายคนสามารถเป็นครีเอเตอร์และเล่าเรื่องหนังได้ ผมตัดสินใจเดินทางมาพบกับจีนที่ออฟฟิศของเขาย่านถนนพระอาทิตย์ 

อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้อดีตคนทำทีวีอย่างเขาผันตัวมาจับออนไลน์ได้แม่นยำ แนวคิดเบื้องหลังการคิดคอนเทนต์ของเขาคืออะไร เขารับมือกับฟีดแบ็กในโลกออนไลน์ยังไง การเป็นสื่อในยุคนี้เรียกร้องทักษะแบบไหน และหนังที่เขาอยากแนะนำให้กับคุณคือเรื่องอะไรบ้าง–นั่นคือสิ่งที่ผมสงสัยจนพาตัวเองมาสนทนากับจีนถึงที่

สารภาพว่าทั้งผมและเขา เราต่างเป็นเนิร์ดหนังด้วยกันทั้งคู่ แต่ถ้าเปรียบถ้อยคำทั้งหมดคือหนัง หนังเรื่องนี้คือหนังแมสที่ทุกคนจะอินได้ไม่ยาก และระหว่างบรรทัดนี้คงเป็นเพียงแค่ตอนต้นเรื่องเท่านั้น

ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ

เชิญร่วมฟังและทัศนา

จีน viewfinder

หนังเรื่องล่าสุดที่คุณดูคือเรื่องอะไร

เมื่อวานนี้เลย เรื่อง El Camino: A Breaking Bad Movie ใน Netflix หนังภาคต่อของซีรีส์ Breaking Bad ผมโคตรชอบ Breaking Bad อยู่แล้ว โคตรสนุกเลย ดังนั้นจะทำอะไรเป็นภาคต่อ ผมดูหมด (หัวเราะ–ใช่แล้ว หัวเราะแบบที่เป็นลายเซ็นของเขานั่นแหละ)

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น Viewfinder เกิดขึ้นมาได้ยังไง

ผมกับทีมงานเพิ่งหันมาจริงจังกับออนไลน์เมื่อ 2-3 ปีนี้เอง ก่อนหน้านี้ผมทำรายการทีวีในชื่อเดียวกัน และในแต่ละสัปดาห์ผมจะคิดและทำสกู๊ปเกี่ยวกับหนังขึ้นมาหนึ่งตัว พอมีช่องทางออนไลน์ขึ้นมา เลยคุยกับทีมงานว่าเราเสียดายสกู๊ปนะ เอามาอัพลงออนไลน์หลังจบรายการด้วยดีกว่า

ผมคิดว่าคนทำทีวีทุกคนเป็นเหมือนกับผม สมัยก่อนเราออนแอร์รายการอะไรก็ตาม ถ้าคนดูไม่ได้ดูในช่วงเวลานั้น เขาจะไม่ได้ดูตลอดกาล ดังนั้นพูดในฐานะคนทำคือเราเสียดายของ อีกเหตุผลหนึ่งคือเวลาทำทีวี เราเช็กฟีดแบ็กไม่ค่อยได้ แต่พอมาเป็นออนไลน์อย่างในตอนนี้ เรามีพื้นที่ลงของที่เราเสียดายและยังสามารถเช็กฟีดแบ็กได้อีกต่างหาก ดังนั้นพอมีสกู๊ปในแต่ละอาทิตย์ ช่วงแรกเราเลยลงออนไลน์หมดโดยไม่ได้เช็กด้วยซ้ำว่าคนดูมาก-น้อยขนาดไหน ช่องต้องมีคาแร็กเตอร์เป็นยังไง ไม่ได้คิดเรื่องพวกนี้ไว้เลย

แล้วจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาจริงจังกับออนไลน์คือตอนไหน

ตอนนั้นหนังเรื่อง Now You See Me ภาค 2 เข้าฉายพอดี แล้วมันพูดถึงการเล่นมายากลที่ผิดพลาด ผมรู้สึกว่ามันน่าสนใจเลยไปหาข้อมูลและเจอกรณีแบบนี้เต็มไปหมด ผมคิดว่าเจ๋งดี จึงเอามาเขียนเป็นสคริปต์และทำเป็นสกู๊ปรายการตามปกติ ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นหลังจากอัพลงออนไลน์ ยอดคนดูแตะล้าน ตอนนั้นผมถามตัวเองในใจเลยนะว่า เชี่ย อะไรวะ (หัวเราะ)

จีน viewfinder

ผมค้นพบว่าการทำแบบนี้มันเวิร์ก หลังจากคลิปนั้นเลยคุยกับทีมจริงจังว่าเราเปลี่ยนมาโฟกัสออนไลน์ดีกว่าไหม ถ้าเราทำสกู๊ปที่มีคนล้านหนึ่งดูได้ เราควรจะจริงจังกับมัน หลังจากนั้นคอนเทนต์ที่ออกมาจะเน้นความสำคัญกับการเป็นคอนเทนต์ออนไลน์ เพียงแค่ออนแอร์ครั้งแรกในทีวีเฉยๆ ซึ่งก็อีกสักพักใหญ่ๆ คนถึงเริ่มดูต่อเนื่อง

วิธีคิดในการทำคอนเทนต์ออกมาสักชิ้นคือยังไงบ้าง

ทุกวันนี้เราคิดและทำคอนเทนต์กันอาทิตย์ต่ออาทิตย์ ผมเคยพยายามเขียนล่วงหน้าเหมือนกันนะ แต่พอเขียนไปก็พบว่าสิ่งที่เขียนไม่ค่อยสนุกเลย ไม่สดใหม่ ดังนั้นทุกวันนี้เราจะมาดูกันว่าแต่ละสัปดาห์มีหนังเรื่องอะไรเข้าบ้าง และคนฟังอยากฟังเรื่องราวจากหนังเรื่องไหน เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ผมจะมาประมวลว่าทำอะไรดี โดยคอนเทนต์ที่ออกมาจะเป็นส่วนผสมระหว่างครึ่งหนึ่งที่เราอยากเขียนกับครึ่งหนึ่งที่คนดูอยากดู

ทำไมถึงไม่เลือกทำเอาใจฝั่งใดฝั่งหนึ่งไปเลย

เอาจริงๆ คอนเทนต์ช่วงแรกของช่องก็ตามใจผมล้วนๆ เลยเพราะยังไม่ได้จริงจังกับออนไลน์ ตอนนั้นก็มีบางคนบอกว่าบางตอนยากไป หนังที่เราใส่เข้าไปในแต่ละคอนเทนต์คนก็ไม่ค่อยรู้จัก พูดง่ายๆ ว่าคลิปไม่ค่อยแมส แต่พอเริ่มมีคนดูออนไลน์ ฟีดแบ็กที่กลับมาก็เยอะขึ้น ผมอ่านและเช็กทุกข้อความเพื่อเอามาประมวลในสมองว่าจะทำคอนเทนต์อะไรต่อไปดี แต่ก็จะไม่เป็นคอนเทนต์ที่เอาใจคนดูมากไป เพราะผมเชื่อว่าเดี๋ยวมันจะเฉา ดังนั้นการบาลานซ์ให้เท่ากันเลยเป็นคำตอบ

จีน viewfinder

ยกตัวอย่างเช่นช่วงหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ผมรู้สึกว่าไม่มีหนังเรื่องไหนที่อยากหยิบมาเล่า แต่ตอนนั้นในกรุงเทพฯ มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 พอดี ผมรู้สึกว่าเขียนเรื่องนี้ดีกว่า ผมทำออกมาเป็นคอนเทนต์เล่าเรื่องหนังที่มีฉากหลังเป็นโลกที่มีปัญหาเยอะๆ ในนั้น มีทั้งหนังแมสๆ อย่าง WALL·E ผสมกับหนังสารคดีที่ไม่ดังแต่ผมอยากแนะนำให้คนดูอย่าง The Cove การผสมกันของคอนเทนต์แมสและคอนเทนต์ที่ตัวผมอยากเล่าแบบนี้จะอยู่ในแต่ละคลิปแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นอยากพาคอนเทนต์ไปไกลแค่ไหน

ถ้าให้เปรียบเทียบ มันคล้ายกับการที่เราเข้าไปดูสื่อที่เขาจัดท็อป 10 หนัง ก่อนเราเปิดเข้าไปดู จะมีหนังที่เรารู้จักและอยู่ในใจประมาณหนึ่งว่าต้องติดอันดับ แต่ถ้าลิสต์นี้ทรยศคนดูโดยเอาหนังเหล่านั้นออกหมดแล้วใส่หนังอะไรก็ไม่รู้ลงไป คนดูจะรู้สึกไม่สนุก แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าไม่ใส่อันที่เซอร์ไพรส์ลงไปเลย นั่นก็ไม่สนุกเหมือนกัน คล้ายๆ การอ่านหนังสือในเรื่องที่เรารู้อยู่แล้วแต่ตอนหนึ่งกลับเจอเรื่องที่เราไม่รู้เพิ่ม ความเซอร์ไพรส์แบบนี้ก็สร้างความสนุกได้ ซึ่งถ้าผมทำคอนเทนต์ออกมาให้คนรู้สึกแบบนี้ได้ ผมถือว่าประสบความสำเร็จมาก พยายามใส่อยู่เรื่อยๆ เลยนะ คุณไปดูเถอะ เพราะเราคิดว่าหนังเหล่านี้ดีจริงๆ

ตั้งใจยึดแนวทางนี้ตั้งแต่แรกเลยหรือเปล่า

ไม่เลย ตั้งแต่แรกผมไม่ได้อยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์และไม่ได้ออกแบบมาก่อนเลยว่ารายการควรเป็นแบบไหน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ อย่างที่พากย์เสียงเองเพราะประหยัดงบมากกว่า หรือการที่คนจำเสียงหัวเราะ (หัวเราะโชว์หนึ่งที) แบบนี้ได้ก็มาจากความบังเอิญที่เราเอาไปใส่อยู่ในสกู๊ปหนึ่งแล้วคนชอบ ทุกอย่างค่อยๆ เป็นเอกลักษณ์โดยที่เราไม่ได้ออกแบบไว้ก่อน

จีน viewfinder

จีน viewfinder

โดยพื้นฐานจริงๆ แล้ว คุณเป็นคอหนังหรือเปล่า

ผมว่าก็ปกตินะ แค่เป็นคนชอบดูหนัง ไม่ได้เป็นนักวิจารณ์อะไร แต่ที่เห็นว่าเริ่มมีคอนเทนต์รีวิวลงในช่องเพราะมีคนดูหลายคนถามหา ในแง่กระบวนการทำก็ง่ายด้วย แต่ผมจะยืนยันในรายการตลอดว่านี่คือการพูดจากการที่ผมไปดูมานะ ไม่ใช่การวิจารณ์ ถ้าจะเป็นนักวิจารณ์ต้องมีการเรียน ซึ่งคนดูก็เข้าใจว่า Viewfinder จะเป็นประมาณนี้ เขาอยากคุยกับเราเพราะเราเป็นแบบนี้มากกว่า 

คุณอ่านทุกความเห็น แสดงว่าต้องเจอคนที่เห็นต่างอยู่บ้าง

อ่านหมด เห็นหมด คอมเมนต์เชิงลบก็เห็น แต่ผมเองน่ะไม่เป็นไร ถ้าเป็นแฟนรายการจะรู้ว่าผมชอบด้วยซ้ำที่ทำให้คนดูบางกลุ่มหงุดหงิด (หัวเราะ) ผมไม่มีปัญหากับใครหรอก ผมอ่านได้ ยิ่งเวลาอ่านมาก ผมยิ่งมีวัตถุดิบหรือไอเดียมาใช้มาก แต่ส่วนใหญ่คอมเมนต์เชิงลบจะไปโผล่ใต้วิดีโอที่ลงมากกว่า ในรายการสดที่จัดแทบจะไม่มี 

ผมมองว่าคอมเมนต์เหล่านี้เกิดจากการตั้งต้นว่าเราทำคอนเทนต์แบบไหน ถ้าเราทำสื่อออกมาด้วยวิธีการที่ไม่ดี ต่อให้ได้ยอดมารวดเร็ว แต่ก็จะได้คนที่พฤติกรรมไม่ดีมา เพราะนี่คือกลุ่มคนดูที่เราสร้างขึ้นมาเองในออนไลน์ ส่วนตัวผมไม่อยากใช้วิชามาร ผมทำสิ่งที่คิดว่าดีดีกว่า เพราะพอมีกลุ่มคนดูเฉพาะที่เราทำให้เกิดขึ้นมาแล้ว เราเอาออกไม่ได้ นอกเสียจากว่าต้องไปสร้างสื่อใหม่ สิ่งนี้สำคัญสำหรับผม คนดูน้อยไม่เป็นไร แต่ถ้าคนดูไม่มีคุณภาพ ผมว่าเราเหนื่อยเกินไปหน่อย ซึ่งโดยรวมที่ผ่านมา 2-3 ปี Viewfinder โชคดี คอนเทนต์เราดึงดูดกลุ่มผู้เสพที่มีคุณภาพ เรียบร้อย และเรียบง่าย

ทำไมคอมเมนต์แย่ๆ ถึงทำอะไรคุณไม่ได้

ผมไม่ค่อยเก็บมาใส่ใจ ไม่ได้คิดอะไรมาก ถ้าสิ่งไหนที่ผมผิดหรือพลาดจริงๆ ผมก็ฟังและพร้อมแก้ไข แต่ถ้ามาเป็นคอมเมนต์ที่แย่มากๆ ผมจะพยายามถอดเอาคำหยาบเหล่านั้นออกและดูสิ่งที่อยากสื่อสารมากกว่า เอาจริงในเวลานี้ถ้าทำสื่อแล้วไม่อ่านคอมเมนต์ ผมถือว่าพลาด ผมบอกชาวบ้านตลอดว่าทุกวันนี้คือยุคสมัยที่เราควรปฏิบัติต่อคนดูแบบหัวต่อหัว เราทิ้งไม่ได้แม้แต่คนเดียว ถ้าอ่านและตอบได้ทุกคนก็ควรทำ เราต้องรักษาคนดูเป็นคนๆ ไป

ถ้าเทียบกับสมัยก่อนที่ทำทีวี คนที่เราต้องตอบคำถามเพียงคนเดียวคือคนจ่ายเงิน แต่สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ เราต้องตอบคำถามคนเป็นแสนให้ได้ ถ้าโจทย์คือต้องทำให้ถูกใจเขา เราก็ฟังสิ ไม่ยากเลย เขาเขียนมาเต็มไปหมดว่าเขาอยากได้อะไร เราก็เข้าไปอ่านเถอะ สิ่งเหล่านี้จะบอกเราเองว่าควรทำแบบไหน โอเค ผมเข้าใจว่าจะมีการฝืนความรู้สึกอยู่บ้าง แต่ก็ควรหาตรงกลาง ไม่ใช่ทำเสิร์ฟคนดูร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าทำแบบนั้นอยู่ได้ไม่นานแน่ๆ สิ่งที่จะทำให้อยู่ได้นานคือคุณต้องหาทางของตัวเอง ทำยังไงก็ได้ให้คอนเทนต์ที่คุณทำตอบโจทย์คนดูและไม่ทำให้คุณเบิร์นเอาต์ 

อย่างการรีวิวหนัง คุณหาตรงกลางยังไง

เป็นตัวเองนี่แหละ การรีวิวเป็นความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผมให้ความสำคัญที่สุดคือคนดูต้องเชื่อเรา

สิ่งที่ผมคุยกับทีมตั้งแต่แรกเลยก็คือ ถ้ามีใครติดต่อให้ผมรีวิวหนัง ผมจะไม่รับ ผมรู้ว่าความเชื่อถือของคนดูต่อเราเป็นสิ่งที่สร้างยาก ดังนั้นผมไม่รับเลยดีกว่า หรือหนังเรื่องไหนที่เขาเชิญไปดูแล้วผมไม่ชอบจริงๆ ผมก็เลี่ยงที่จะพูดไปเลย ถ้าเราเล่าออกมาอย่างซื่อสัตย์ ผมเชื่อว่าคนดูจะเชื่อ

ทำไมความเชื่อถือของคนดูถึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณ

ถ้าคนดูไม่เชื่อใจเราสักครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นเราจะรีวิวหรือแนะนำอะไรไม่ได้เลย เราจะพูดถึงอะไรไม่ได้เลย คนดูจะเอาป้ายติดช่องเราไว้เลยว่าเป็นของเจ้านั้นเจ้านี้ 

สำหรับคุณ ทุกวันนี้หนังคืองานหรือความบันเทิง

สำหรับผมยังเป็นความบันเทิงอยู่ครับ และถ้าดูเพื่อเป็นงานอย่างเดียวผมว่าผมไม่รอดแน่ๆ ดังนั้นผมยังคงเข้าโรงหนังด้วยความสนุกอยู่ สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะผมถือว่าเรากำลังเอาความสนุกที่ดูไปแชร์กับคนดู เราต้องเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้ ถามว่าทำไมถึงรู้ เพราะผมเคยทำแบบนั้นเหมือนกัน ดูหนังเป็นงานจนค้นพบว่าไม่สนุก จนต้องเปลี่ยนความคิดมาเป็นแบบตอนนี้

สุดท้ายแล้วการเปลี่ยนผ่านจากคนทำทีวีมาอยู่ในออนไลน์ คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง

มันเป็นวิธีคิดคนละแบบ เครียดคนละแบบ แต่จากที่ผมมอง สิ่งสำคัญที่เห็นกลับเป็นเรื่องของเด็กรุ่นใหม่ที่ได้เปรียบเยอะมากในตอนนี้ คนทำทีวีมาก่อนจะติดกรอบบางอย่างที่ทำให้เขาก้าวข้ามมาออนไลน์ไม่ได้ แต่เด็กรุ่นใหม่ที่อยากเป็นสื่อเขาจะไม่ติดกรอบ ที่สำคัญคือเขาลองทำได้เลย ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ถ้าใครอยากทำรายการทีวีหรือรายการหนัง โห คุณจะไปตรงไหนวะ มันเหนื่อยมากนะ แต่ปัจจุบันน้องทำได้เลย เรามีโอกาสลองได้ตลอดเวลา น้องจะไม่ทำกรณีที่อ้างว่าไม่พร้อมแค่นั้นเอง อุปกรณ์ก็แทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ถ้าคนทำงานมานานๆ จะรู้ครับว่าเคล็ดลับในการทำงานให้เก่งคือทำบ่อยๆ ดังนั้นถ้าคุณมีโอกาสทำได้ก็ทำเถอะ ลองดู

ภาพยนตร์ที่ จีน Viewfinder อยากแนะนำให้คุณได้ชม

1. It Could Happen to You (2537)

It Could Happen to You เป็นหนังโรแมนติกคอเมดี้ ที่ถ้าพูดตรงๆ นี่เป็นหนังที่กิ๊กก๊อกมากเลยครับ แต่เพราะอะไรไม่รู้ ผมโคตรชอบเรื่องนี้ ผมประทับใจผมมากเลย หนังพูดถึงเรื่องคนเล็กๆ แล้วขยายไปสู่เรื่องใหญ่อีกทีหนึ่ง เป็นแนวที่ผมชอบมาก เวลาใครถามผมแนะนำเรื่องนี้ทุกที”

2. PK (2557) 

“โดยส่วนตัวผมตั้งคำถามกับศาสนาอยู่แล้ว และหนังอินเดียอย่าง PK พูดความสงสัยเหล่านั้นออกมาร้อยเปอร์เซ็นต์ พูดจนคิดเลยว่าฉายที่อินเดียได้ยังไงกันนะ หาได้ยากมากกับหนังที่พูดเรื่องจริงจังออกมาได้ขนาดนี้ ยิ่งเป็นบ้านเราที่มีความเชื่อคล้ายๆ กันนี้อยู่ ผมเลยอยากชวนให้ทุกคนดูมากๆ”

3. Forrest Gump (2537)

“ถ้าใครถามผมว่าหนังที่ได้คะแนน 10 เต็ม 10 ต้องเป็นแบบไหน Forrest Gump คือหนังที่ผมจะยกตัวอย่างขึ้นมาเสมอ หนังเรื่องนี้มีทุกอย่างจนผมไม่รู้ว่าจะติตรงไหนเลย โอเค มันเป็นหนังที่ยาว แต่ยาวขนาดนี้ยังดีได้เลย ถือว่าโคตรเจ๋งครับ”

ไม่ใช่!

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย