SAILING THE PACIFIC

สมัยนี้การเดินทางข้ามโลกเป็นเรื่องง่ายเพราะผู้คนล้วนใช้เครื่องบินซึ่งทั้งประหยัดเวลาและสะดวกสบาย

การเดินเรือใบขนาดใหญ่จึงเกือบถูกลืมไป
ทว่าการเดินเรือใบนั้นก็มีเสน่ห์และความยากลำบากในแบบของมัน
หนึ่งในอารยธรรมโบราณที่มีการเดินเรือเป็นหัวใจสำคัญคืออารยธรรมโพลินีเซีย ซึ่งได้แผ่ปกคลุมเกาะกว่า
1,000 เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกในระยะเวลาไม่ถึง 300 ปี!

ผมจึงตัดสินใจเดินทางไปเกาะตาฮิติ
(ซึ่งเป็นเกาะหลักๆ ของอารยธรรมโพลินีเซีย)
ครั้งนี้ด้วยการล่องเรือใบไปจากนิวซีแลนด์ ซึ่งใช้เวลา 39 วัน และกินระยะทางกว่า
3,500 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 6,480 กิโลเมตร

ตลอดการเดินทางมีทั้งวันฟ้าโปร่งที่สวยงามและวันที่สุดแสนทรมานที่มาพร้อมกับมวลอากาศของขั้วโลกใต้

การเดินทางครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่าตัวเราเล็กแค่ไหนเมื่อเทียบกับธรรมชาติโดยเฉพาะในมหาสมุทรเปิดนั้นที่เราไม่สามารถทำอะไรได้เลยนอกจากปรัปตัวให้เข้ากับมัน

คุณพร้อมจะไปเห็นการเดินเรือและใช้ชีวิตอยู่ในมหาสมุทรหรือยัง
ถ้าพร้อมแล้วก็ไปกันเลย!

เราเริ่มต้นการเดินทางของเราที่ท่าเรือของเมือง Lyttelton ในประเทศนิวซีแลนด์ทางตอนใต้ ที่นี่เป็นหนึ่งในเมืองท่าที่สำคัญที่สุด
ตลอดฝั่งเต็มไปด้วยเรือบรรทุกของ เรือสำราญ และเรือประมงขนาดใหญ่ เราไม่รีรอรีบตรงไปที่เรือใบขนาดใหญ่ของเรา
(ถึงจะไม่ใหญ่เท่าเรือรอบๆ แต่ก็เด่นเป็นสง่าเห็นแต่ไกล อิอิ) ว่าแล้วก็ออกเดินเรือกันเลย!

Robert
C. Seamans เป็นเรือใบชนิด Brigantine ซึ่งจะมีเสากระโดงอยู่
2 แท่ง และมีใบเรือ 2 ชนิดได้แก่
Stays’l (ใบสามเหลี่ยม) ซึ่งดัดแปลงจากเรือใบอียิปต์โบราณ
และ Squares’l (ใบสี่เหลี่ยม) คิดค้นโดยชาวตะวันตก
การนำใบเรือทั้งสองแบบมาใช้ภายในเรือลำเดียวกันทำให้เกิดเรือใบรูปแบบที่เห็นกันในปัจจุบัน

ความยากลำบากในการเอาใบเรือขึ้นนั้นไม่ต่างจากที่เห็นในหนังเลย
ภาพที่เห็นเป็นการดึงเชือกเพื่อเอา Mains’l ซึ่งเป็นใบที่หนักและใหญ่ที่สุดบนเรือขึ้น การดึงเชือกขึ้นต้องออกแรงพอๆ กับการเล่นชักเย่อนัดใหญ่และใช้คนตั้งแต่
15 ถึง 20 คนกันเลยทีเดียว!

ใบเรือขนาดมโหฬารนี้จะถูกยืดด้วยห่วงเหล็กที่ถูกร้อยเข้ากับเชือกสลิง
ทำให้เราชักใบเรือขึ้นลงได้ โดยมีกลไกคล้ายๆ กับการชักเสาธง

หนึ่งในคุณสมบัติที่เด่นที่สุดของนักเดินเรือคือความเชี่ยวชาญในการใช้เชือก
ภาพที่เห็นเป็นการยืดเชือกดึงใบเข้ากับตัวเรือโดยใช้การมัดเชือกเป็นรูปเลข 8 รอบๆ ตัว ยึดซ้ำกันสามครั้งก่อนที่จะม้วนเชือกแขวน
จากตอนแรกที่เราใช้เวลาอย่างน้อย 5 นาทีในการผูกเงื่อน ภายในหนึ่งอาทิตย์เราสามารถทำทุกอย่างเสร็จได้ภายในหนึ่งนาที!

ออกมาพ้นเกาะนิวซีแลนด์ เมฆก็เริ่มจางหายไป ทำให้เห็นฉากดวงอาทิตย์ตกที่สมบูรณ์ที่สุดที่จะเห็นได้
ถ้ามองในภาพดีๆ แล้ว จะเห็นเชือกสองเส้นที่ลากออกมาจากท้ายเรือ เชือกเส้นแรกคือเชือกตกปลา
ที่สำคัญกว่าคือเชือกเส้นที่สอง ซึ่งมีไว้ลากอุปกรณ์วัดระยะทางเรือในน้ำเรียกว่า Taffrail log คิดค้นตั้งแต่สมัยศตวรรษที่
18 และยังใช้กันมาถึงทุกวันนี้

แต่การเดินทางในทะเลไม่ได้สบายอย่างที่หลายคนคิดโดยเฉพาะเวลาเจอมวลอากาศหรือสภาพทะเลที่แปรปรวน
ในขณะที่เราเข้าใกล้เกาะ Chatham ที่อยู่ห่างออกไปจาก New Zealand เกือบ 700 กิโลเมตร

เราพบกับกระแสคลื่นสูง
3 – 5 เมตรที่ซัดมาทางข้างตัวเรืออย่างไม่หยุด ทำให้การควบคุมเรือเป็นเรื่องที่ลำบากและการเดินไปเดินมาเป็นเรื่องที่อันตราย!

การทำงานบนเรือมีหลายตำแหน่ง หนึ่งในนั้นคือผู้สังเกตการบนหัวเรือ
ซึ่งจะยืนประจำการคอยดูการจราจรและสภาพอากาศรอบๆ เรือ ถึงแม้ว่าผู้สังเกตการณ์จะเป็นตำแหน่งที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศมากที่สุด แต่ก็เป็นตำแหน่งที่มีโอกาสเห็นทัศนียภาพที่สวยที่สุดเช่นกัน
ภาพดวงอาทิตย์ขึ้นทำให้ทั้งท้องฟ้าเป็นสีชมพู ภาพนี้เกิดขึ้นเวลาประมาณตีห้าครึ่ง

การหาตำแหน่งเรือโดยการดูดาวนั้น ไม่จำเป็นต้องทำเวลากลางคืนก็ได้
ในภาพคือการใช้เครื่องมือทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า
sextant เพื่อวัดองศาระหว่างดวงอาทิตย์กับเส้นขอบฟ้า เพื่อที่เราจะเอาข้อมูลนั้นมาใช้ควบคู่กับตารางดาราศาสตร์เพื่อคำนวณจุดที่เรืออยู่คร่าวๆ
ได้

ถึงแม้อาหารส่วนใหญ่ที่เรากินจะเป็นอาหารแห้ง อาหารกระป๋อง
หรือ อาหารแช่แข็ง เราก็มีวันโชคดีที่เราจับปลาทะเลน้ำลึกได้ อย่างเช่น ปลาทูน่า หรือ
ปลามาฮิมาฮิ ปลามาฮิมาฮิที่เราจับได้ตัวนี้ยาวถึง
115 เซนติเมตร ทำเอากระเพาะเกือบแตกไปกับสเต็กปลาสดๆ (ที่ปกติราคาแพงมาก) ไปเลยทีเดียว

ถึงแม้ว่าสภาพอากาศในแต่ละรูปนั้นจะดูดี แต่จริงๆ แล้ว นั่นเป็นส่วนน้อยมากๆ
ที่เราเจอ คนส่วนใหญ่ไม่ล่องเรือในแถบแปซิฟิกตอนใต้เพราะมีอากาศที่แปรปรวนและคาดการณ์ไม่ได้
ภาพนี้ไม่ได้มาจากฉากในเรื่อง Game of Thrones หรือ Lord of the Rings แต่อย่างใด แต่เป็นเมฆฝนยักษ์ที่เราเจอตอนกลางวันแสกๆ!

ภาพนี้ได้มาขณะเรือจอดอยู่ที่เกาะ Moorea ใน French Polynesia และแสดงถึงโครงสร้างการทำงานของเรือที่สลับซับซ้อน การที่จะแล่นเรือใบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เราต้องจำส่วนประกอบและการใช้งานของแต่ละส่วนให้ได้หมด ชิ้นส่วนเหล่านี้ต่างกันไปตามเรือแต่ละลำ
หมายความว่าเราต้องเริ่มจำใหม่หมดเวลาเปลี่ยนเรือ!

ถึงแม้ว่าทุกอย่างจะมืดสนิทในเวลากลางคืน (นอกจากวันที่พระจันทร์เต็มดวงและฟ้าเปิด)
เรายังคงต้องเดินเรือต่อไป แสงทั้งหมดที่ใช้บนเรือเป็นสีแดง เพราะไม่ทำให้รูม่านตาปิดเหมือนแสงสีขาว
เราจึงมองเห็นได้ในความมืดได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนนี้เป็นห้องควบคุมซึ่งเป็นศูนย์รวมการบัญชาการทุกอย่างบนเรือ

ใครมีเซ็ตภาพถ่ายสวยๆ อยากส่งมาลงคอลัมน์นี้บ้าง คลิกที่นี่เลย

AUTHOR