เบรุต เมืองหลวงของเลบานอน คงไม่ใช่เมืองที่คนไทยคุ้นชินมากเท่าไหร่ ซ้ำร้ายเหตุการณ์ที่ทำให้เมืองนี้ถูกพูดถึงในสื่อทั่วโลกเมื่อปีที่แล้วกลับไม่ค่อยน่าจดจำ นั่นคือโศกนาฏกรรมท่าเรือเบรุตระเบิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2020 ที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับเลบานอนไปไม่น้อย
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นยังรวมไปถึงความเสียหายของสถาปัตยกรรมสำคัญและบ้านเรือนของชุมชนรอบข้าง เหตุการณ์นี้นอกจากจะส่งผลกระทบถึงเจ้าของธุรกิจ ชาวเมือง และกลุ่มผู้อพยพที่อาศัยอยู่ในเลบานอนแล้ว UN ประเมินว่ามีเด็กและเยาวชนกว่าหนึ่งแสนคนที่สูญเสียพ่อแม่และได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้เช่นกัน และจำเป็นที่พวกเขาจะต้องได้รับการเยียวยาสภาพจิตใจอย่างเร่งด่วน
ที่น่าสนใจก็คือ หลังเมืองถูกระเบิดทำลาย สิ่งที่ชาวเมืองเบรุตรวมพลังกันฟื้นฟูขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ ไม่ใช่สิ่งอื่นใดแต่คือพื้นที่สาธารณะของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มคุยถึงโครงการพื้นที่สาธารณะริมน้ำบริเวณท่าเรือเบรุตที่เป็นจุดเกิดเหตุ หรือการมองหาย่านชุมชนที่จะตอบโจทย์เรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเยียวยาจิตใจเด็กๆ ผู้ได้รับผลกระทบ
ที่จริงแล้วการทวงคืนพื้นที่สาธารณะในเมืองเบรุตไม่ได้เป็นผลมาจากเหตุการณ์ระเบิดเท่านั้น เพราะชาวเมืองเองก็ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สาธารณะกันมานาน
พวกเขาตั้งคำถามว่าทำไมเมืองถึงไม่มีพื้นที่เปิดกว้างให้เข้าไปนั่งเล่นฟรีๆ พื้นที่ริมทะเลที่น่าจะเป็นจุดรวมตัวชั้นดีกลับถูกครอบครองโดยเอกชนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจและการท่องเที่ยวเป็นหลักโดยที่คนเมืองต้องจ่ายเงินหากจะเข้าไปใช้งาน รวมไปถึงการขาดแคลนสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่นเล็กๆ ให้เด็กๆ วิ่งเล่นหรือคนในชุมชนพบปะเจอหน้ากัน
ว่ากันตามตรง สิ่งเหล่านี้เป็นผลลัพธ์จากวัฒนธรรมของชนชาติอาหรับในตะวันออกกลางที่ไม่ได้เอื้อให้คนแปลกหน้ามาพูดคุยหรือเจอกันนอกบ้าน แถมยังข้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างซีเรียกับเลบานอน การใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่มาอย่างยาวนานก็อาจทำลายความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน
ช่วงแรกเริ่มฟื้นฟูเมือง ชาวเลบานอนเองยังไม่เข้าใจถึงคำว่าพื้นที่สาธารณะเลยด้วยซ้ำ จึงไม่แปลกหากบทบาทของพื้นที่สาธารณะในเลบานอนจะถูกให้คำนิยามต่างออกไปจากประเทศแถบยุโรปหรืออเมริกา ที่พื้นที่สาธารณะถูกใช้เป็นศูนย์กลางให้คนออกมาพักผ่อนหย่อนใจ ใช้ชีวิตนอกบ้าน และหลายแห่งก็กลายเป็นแลนด์มาร์กของเมืองเพื่อดึงดูดให้คนจากทั่วโลกเดินทางมาเยือน
หลังเหตุการณ์ระเบิด โครงการฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะในเบรุตที่เราว่าน่าสนใจคือ Kan Ya Makan หรือการปรับปรุงสวนสาธารณะ Karantina Public Park ซึ่งเริ่มต้นในปีที่แล้วและต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ สวนแห่งนี้เป็นหนึ่งในสวนสาธารณะที่อยู่ไม่ไกลจากท่าเรือที่เกิดเหตุและได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดครั้งนี้เช่นกัน
ต้องเล่าย้อนกลับไปก่อนว่าสวนแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2016 ในย่าน Karantina ทางตอนบนของเบรุต ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนรายได้น้อยและเต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนามากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมี CatalyticAction องค์กรอิสระสัญชาติอังกฤษที่ขยันทำงานเพื่อเด็กและชุมชนเป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์ร่วมกับบริษัทภูมิสถาปนิกและเทศบาลเมืองเบรุต ที่ต้องการฟื้นฟูย่านนี้ให้มีพื้นที่ส่วนกลางที่ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหนศาสนาใดก็มาพบปะเจอกันได้โดยไม่มีข้อขัดแย้ง
กระบวนการที่ CatalyticAction ทำนั้นน่าสนใจตรงที่เขาพยายามดึงชุมชนมามีส่วนร่วมในการออกแบบตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดถึงเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้ใช้งานหลัก ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาคือสวนที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนปั่นจักรยานที่คนในชุมชนใช้เป็นยานพาหนะหลัก เลือกใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้เพื่อให้เด็กๆ ได้ตระหนักถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ยังเล็ก และยังถูกใช้เป็นพื้นที่จัดเวิร์กช็อปและกิจกรรมสนุกๆ ให้เด็กๆ ทั้งการสอนซ่อมจักรยาน พากันหาข้าวของเหลือใช้มาทำเป็นเครื่องดนตรี หรือชวนเด็กๆ มาเพนต์ภาพลงบนกำแพงในย่าน
Karantina Public Park จึงไม่ใช่แค่สวนสาธารณะและสนามเด็กเล่น แต่เป็นงานออกแบบที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการพูดคุยและทำเวิร์กช็อปร่วมกันของผู้ใช้งานหลากกลุ่มหลายความต้องการ
แต่ภายหลังเสียงระเบิด ดูเหมือนว่าพื้นที่แห่งนี้กำลังได้รับหน้าที่ใหม่ผ่านโปรเจกต์ Kan Ya Makan ซึ่งแปลว่า ‘once upon a time’ ในภาษาอารบิก มีความหมายโดยนัยคือการฟื้นฟูให้พื้นที่นี้กลับไปสู่สภาพเดิมที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะความเจ็บปวดทางจิตใจของเด็กๆ ที่ประเมินความเสียหายไม่ได้ คือโจทย์ใหญ่ที่ทางโปรเจกต์ต้องแก้ไข
งานนี้เป็นความร่วมมือของโต้โผอย่าง CatalyticAction กับพาร์ตเนอร์หลายภาคส่วนเช่นเดิม ทั้ง UNICEF Lebanon, Terre des Hommes Italy และ AUB Neighborhood Initiative ส่วนกระบวนการบำบัดทางจิตใจนั้น พวกเขาได้ชักชวนนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย American University of Beirut (AUB) ให้เข้ามารับหน้าที่ฟื้นฟูสภาพจิตใจให้แก่เด็กๆ
Karantina Public Park ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางชุมชนและพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ มานานกว่า 4 ปี เลยเหมาะที่จะเป็นพื้นที่เริ่มต้นสำหรับสร้างกระบวนการออกแบบและเวิร์กช็อปที่ทำงานกับเด็กโดยเฉพาะ
กระบวนการที่ว่าไล่เรียงตั้งแต่การปรับพื้นที่สวนให้เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน สร้างและออกแบบห้องอเนกประสงค์อย่าง Mukani ไว้ใช้จัดกิจกรรมของชุมชน รวมไปถึงการดึงเด็กๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการออกแบบกิจกรรมหรือพื้นที่ในสวน
ในเชิงรายละเอียด กระบวนการเหล่านี้คือการบำบัดพวกเขาผ่านศิลปะ การเล่าเรื่อง และการแชร์ความคิดเห็น เพื่อให้เด็กๆ รู้สึกว่าพื้นที่นี้ปลอดภัยและเป็นเกราะป้องกันไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยวหรือเสียใจกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา อีกนัยหนึ่งกิจกรรมเหล่านี้ก็ช่วยให้พวกเขาค่อยๆ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนในชุมชนที่แตกต่างหลากหลาย สร้างความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของย่านและชุมชนตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งจะติดตัวพวกเขาต่อไปในอนาคต
ขณะที่พาร์ตเนอร์ผู้มีส่วนร่วมในโปรเจกต์นี้ยังขยายประเด็นพูดคุยไปถึงปัญหาสังคมอื่นๆ ในเลบานอน ทั้งเรื่องการต่อต้านการแต่งงานในวัยเด็ก ความรุนแรงในครอบครัว หรือเรื่องของสิทธิทางเพศที่เท่าเทียมกันของชาย-หญิง
ท้ายที่สุด โปรเจกต์ฟื้นฟูนี้ก็ขยายไปถึงย่าน Karantina ทั้งย่าน โดยยังมีเป้าหมายเดิมคือการเพิ่มพื้นที่สาธารณะจากกระบวนการออกแบบร่วมกับชุมชน เป็นทั้งพื้นที่ปลอดภัยและสร้างกิจกรรมร่วมกันอย่างสนุกสนาน ซึ่ง CatalyticAction ก็ออกแบบโปรเจกต์ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงขั้นตอนสร้างและกระตุ้นให้เกิดการใช้งาน ผ่านการชวนเครือข่ายที่มาร่วมงานที่กว้างขวางขึ้น ทั้งศิลปินสตรีทอาร์ตหรือแม้กระทั่งชวนสมาคมสเกตบอร์ดมาช่วยสอนเด็กๆ เล่นสเกตบอร์ดท่าใหม่ๆ
ตัวอย่างโปรเจกต์ในย่าน Karantina ดูจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการชวนชาวเมืองเบรุตมาพูดคุยกันถึงรูปแบบพื้นที่สาธารณะที่พวกเขาอยากให้มีและเป็น ซึ่งนับว่าเป็นมุมมองที่แตกต่างจากภาครัฐบาลหรือเอกชนที่เน้นเรื่องตัวเลขเม็ดเงินเป็นหลัก
สำหรับเรา ข้อแตกต่างที่น่าสนใจมากของพื้นที่สาธารณะในประเทศที่เพิ่งผ่านสงครามมาไม่นานอย่างเลบานอน อยู่ที่การมอบนิยามใหม่ของพื้นที่เหล่านี้ให้มีความหมายในเชิงพื้นที่ปลอดภัยร่วมกันของคนในชุมชน (ที่รวมไปถึงคนชายขอบอย่างเด็ก ผู้หญิง และเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่เชื่อมโยงกับย่าน) ซึ่งสำคัญยิ่งหากมันจะช่วยสะท้อนประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ของผู้ใช้งาน เพื่อให้พื้นที่นี้เป็นของพวกเขาอย่างแท้จริงโดยไม่ถูกปิดกั้น และไม่มีรั้วรอบขอบหนามกั้นขวางพวกเขาอย่างที่ต้องเผชิญมาตลอดช่วงสงครามอีกต่อไป
อ้างอิง