KHON KAEN MOVER เวิร์กช็อปที่คนตัวเล็กๆ มาช่วยกันเขยื้อนเมืองขอนแก่นโดยเริ่มจากรถสองแถว

KHON KAEN MOVER เวิร์กช็อปที่คนตัวเล็กๆ มาช่วยกันเขยื้อนเมืองขอนแก่นโดยเริ่มจากรถสองแถว

ทุกวันนี้ เรามักได้ยินชื่อ ‘ขอนแก่น’ อยู่ในบทสนทนาแทบทุกวง ขอนแก่นสร้างหัวข้อการพูดคุยในหลากหลายวงการตั้งแต่ข่าวชาวบ้านสุดเซอร์เรียลไปจนถึงโครงการใหญ่ระดับพันล้าน ที่โดดเด่นไม่แพ้ใครก็คงเป็นเรื่อง ‘การเดินทาง’ ในจังหวัดนี้ ทั้งสมาร์ตบัส รถไฟรางเบา ต่างก็สร้างความตื่นเต้นให้ทุกคนจับตามอง

เมล์เดย์เองก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน สองปีก่อน เรานั่งรถทัวร์เที่ยวดึกมุ่งตรงไปสังเกตการณ์ ขอดูงาน City Bus ระบบรถเมล์สายใหม่เอี่ยมของขอนแก่นโดยเฉพาะ ไปเรียนรู้ว่าทำไมขอนแก่นถึงทำได้และทำอย่างไรบ้าง เราเก็บไอเดียหลายอย่างไว้ในใจและหวังว่าวันหนึ่งจะได้กลับมาขอนแก่นอีกครั้ง จนกระทั่งปีที่ผ่านมา เทศบาลนครขอนแก่น TedxKhonKaen มหาวิทยาลัยขอนแก่น และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ก็มาชวนเมล์เดย์จับมือกันช่วยเปลี่ยนสองแถวขอนแก่นให้สมาร์ตกว่าที่เคย

ความยากในการต้องไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในเมืองที่เราไม่คุ้นเคย คือการที่เราต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ทำความรู้จักธรรมชาติของคนที่นั่น เขาใช้ชีวิตกันยังไง กินอาหารที่ไหน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นตัวกำหนดการเดินทางของผู้คน เราเลือกชวนชาวขอนแก่นและคนที่สนใจเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไปด้วยกัน ผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อป ‘KHON KAEN MOVE เปลี่ยนสองแถวขอนแก่นให้แลนหัน’

ทำไมต้อง ‘สองแถวขอนแก่น’ ?

ก่อนจะเริ่มจัดเวิร์กช็อปให้คนอื่นได้ชาวเมล์เดย์เองก็ต้องรู้จักขอนแก่นให้ถ่องแท้เสียก่อน เราลงพื้นที่กันหลายครั้ง บินไปขอนแก่นบ่อยกว่าไปตลาดแถวบ้านในรอบ 2-3 เดือนจนเพื่อนถามว่าไปทำอะไรเนี่ย เราก็ได้แต่ตอบติดตลกว่า “ไปนั่งรถสองแถว”

ทุกคนในทีมต้องขึ้นคันนั้น ลงคันนี้ นั่งข้างคนขับบ้าง หลังกระบะบ้าง เพื่อจะได้คุยกับทั้งผู้ให้บริการและผู้โดยสารอย่างทั่วถึง เก็บเรื่องราว ปัญหา ที่แต่ละคนได้พบมาแชร์กันตอนท้ายของวัน รวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

สาเหตุที่รถสองแถวได้เปรียบการเดินทางอื่นๆ ในขอนแก่นเพราะราคาถูก เส้นทางครอบคลุม ตอบโจทย์การเดินทางของคนขอนแก่นมากที่สุด แต่ปัจจุบันรถสองแถวก็กำลังประสบหลายปัญหาจากรูปแบบการใช้ชีวิตของคนขอนแก่นที่เปลี่ยนแปลงไป เห็นได้ชัดจากจำนวนรถยนต์ส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารจากกลางเมืองออกไปนอกเมืองหลายกิโลเมตร ทำให้หลายคนเปลี่ยนไปใช้พาหนะอื่นแทน จากที่อาชีพคนขับรถสองแถวได้ค่าตอบแทนกระเป๋าตุงในอดีต ก็กลายเป็นว่าทุกวันนี้ต้องแบกรับภาระทั้งค่าน้ำมันที่สูงขึ้น ระยะทางวิ่งที่ไกลขึ้นแต่ค่าโดยสารเท่าเดิม ผู้โดยสารก็น้อยลงไปอย่างน่าใจหาย จนหลายคนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าหากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อ รถสองแถวอาจจะหายหรือถูกทำให้หายไปจากขอนแก่นภายในเวลาไม่ถึง 5 ปี

ด้วยข้อจำกัดด้านระยะทางระหว่างกรุงเทพฯ และขอนแก่น ทีมงานเมล์เดย์ต้องวางแผนการทำงานอย่างรัดกุมถึงจำนวนครั้งและจำนวนคนที่จะลงพื้นที่ไปทำงานร่วมกับชาวขอนแก่นในเวิร์กช็อปครั้งนี้ ทีมงานจากกรุงเทพฯ จะทำหน้าที่เป็น facilitator คอยแนะนำวิธีคิด จับประเด็นไอเดียของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน และช่วยประสานกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการรถสองแถว ร่วมกับความช่วยเหลือของทีมงาน TedxKhonKaen เพื่อให้การทำงานภาคสนามเป็นไปด้วยความราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เวิร์กช็อปครั้งที่ 1

เรียนรู้และเข้าใจการใช้งานและปัญหาที่เกิดขึ้นของรถสองแถว / 10-11 กุมภาพันธ์ 2018

โจทย์ในครั้งแรกคือ เราจะทำอย่างไรให้รถสองแถวตอบโจทย์พฤติกรรมของคนเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปได้มากขึ้น ในวันแรกของเวิร์กช็อป เราได้เห็นว่าเมืองนี้ผูกพันกับรถสองแถวมาแต่ไหนแต่ไร เพราะผู้คนหลากหลาย ตั้งแต่อาจารย์อายุห้าสิบกว่าปี นักออกแบบ เจ้าของธุรกิจ นักข่าว น้องนักศึกษา ก็มานั่งรวมอยู่ในห้องเดียวกัน ต่างแสดงความคิดเห็นและมุมมองของตัวเองที่มีต่อการใช้งานและปัญหาเกี่ยวกับรถสองแถวกันอย่างเต็มที่ ก่อนจะจับกลุ่มรวมคนที่สนใจเรื่องเดียวกันแล้วลงพื้นที่ไปสำรวจสมมติฐานของแต่ละกลุ่ม

กลุ่มที่สนใจเรื่องการสื่อสารไปคุยกับคนใช้งาน ยังมีกลุ่มที่อยากพัฒนาคุณภาพชีวิตคนขับรถสองแถว การให้ข้อมูลรถสองแถว การบริหารคิวรถสองแถว ทุกคนนำปัญหาที่พบมาจัดเรียงต่อกันตาม user journey ว่าตั้งแต่รอรถจนถึงลงจากรถ ผู้โดยสารจะต้องเจอปัญหาอะไรบ้าง ทำให้มองเห็นภาพรวมของปัญหาในส่วนต่างๆ ที่แฝงอยู่ในการใช้บริการรถสองแถว ซึ่งที่ผ่านมาอาจไม่เคยสังเกตมาก่อน จากนั้นจึงมาลองคิดหาวิธีการแก้ปัญหาที่ดูน่าจะเป็นไปได้ร่วมกัน

เวิร์กช็อปครั้งที่ 2

ลงพื้นที่ ทดลองใช้ Prototype ทดสอบสมมติฐาน / 24 กุมภาพันธ์ 2018

นี่คือวันแห่งการทดลองเพื่อหาข้อผิดพลาดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทุกคนมีเวลาหนึ่งวันที่จะทดสอบเครื่องมือ วิธีการแก้ปัญหาแบบที่ตัวเองคิดไว้ พร้อมกับรวบรวมความคิดเห็น คำแนะนำจากผู้ใช้งานที่ได้ร่วมทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นคนขับรถสองแถว คนปล่อยคิวรถสองแถว ผู้โดยสารที่กำลังรอรถ หรือกำลังนั่งอยู่บนรถก็ตาม

กลุ่มที่สนใจพัฒนาเรื่องป้าย ทดลองทำป้ายบอกเส้นทางรถสองแถวสาย 4 อย่างง่ายๆ ด้วยฟิวเจอร์บอร์ดติดสติกเกอร์ เพื่อให้ผู้ที่กำลังรอรถอยู่ได้รับข้อมูลว่ารถสายนี้จะผ่านจุดสำคัญที่ใดบ้าง จากการไปลงพื้นที่จริง พบว่า หากเป็นคนที่ใช้งานเป็นประจำแทบไม่ต้องดูป้ายด้วยซ้ำเพราะจำเส้นทางของรถได้ รวมถึงคนมักสังเกตจากสติกเกอร์ที่ติดอยู่บนตัวรถมากกว่า ผู้โดยสารคนหนึ่งแนะนำว่าควรเพิ่มข้อมูลภาษาต่างประเทศ รวมถึงทำป้ายบอกเส้นทางบนตัวรถให้ผู้โดยสารเห็นภาพเส้นทางโดยรวม เพื่อให้เข้าใจได้ว่าตัวเองอยู่ตรงจุดใดของเส้นทางแล้ว รวมถึงอาจนำภาษาภาพเข้ามาใช้ร่วมด้วย เพื่อบอกสถานที่สำคัญและความถี่ของรถแต่ละสาย

กลุ่มที่สนใจชีวิตความเป็นอยู่ของคนขับรถสองแถว ได้ลองนำไอเดียการส่งต่อผู้โดยสารไปอธิบายให้พี่ๆ คนขับรถสองแถวช่วยเสนอความคิดเห็น ได้ข้อมูลน่าสนใจที่นำไปพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาต่อได้อีกหลายอย่าง เช่น คนขับไม่ติดใจเรื่องการปรับเส้นทางให้เหมาะสมกับทุกสาย แต่หากจะปรับก็ควรปรับพร้อมกันทั้งหมดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แม้จะมีการจัดคิวแต่หากยังไม่สร้างระบบประกันรายได้ให้สองแถว คนขับที่ต้องเสียเงินเช่ารถวันละหลายร้อยบาท ก็มีโอกาสวิ่งออกนอกเส้นทางของตัวเองเพราะจะตามไล่เก็บผู้โดยสารให้ได้มากที่สุด ทีมนี้จึงต้องมาคิดกันต่อไปว่าจะแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีใดได้บ้าง

กลุ่มที่สนใจเรื่องการเดินทางระหว่างจุดสำคัญของรถแต่ละสาย ยังไม่พอใจกับการเก็บข้อมูลคราวที่แล้วจึงลงพื้นที่เพิ่มอีกรอบ อาศัยความอึดนั่งรถออกนอกเมืองไปหลายสิบกิโลเมตรเพื่อเก็บข้อมูลการเดินทางจนพบว่าสมมติฐานที่พวกเขาตั้งไว้ว่าหากมี ‘สองแถว express’ จะทำให้รถวิ่งไปรับผู้โดยสารได้เร็วขึ้นนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากการจอดทุกป้ายหรือไม่จอดเลยก็ไม่มีผลแตกต่างนักด้านเวลา การแก้ปัญหาด้วยวิธีการอื่นจึงน่าจะตอบโจทย์มากกว่า

กลุ่มที่สนใจเรื่องการทำแอพพลิเคชั่นแจ้งให้คนขับรู้ว่ามีผู้โดยสารรออยู่ที่ป้ายใดบ้างแล้ว ใช้วิธีให้อาสาสมัครไปยืนเป็น ‘ป้าย interactive’ ที่ส่งข้อมูลไปยังท่ารถต้นทางได้ว่าตอนนี้แต่ละป้ายมีคนรออยู่กี่คน พบว่าการให้คนขับรถได้เห็นจำนวนผู้โดยสารก่อนไม่มีประโยชน์มากนักในทางปฏิบัติ เนื่องจากเส้นทางของรถสองแถวสาย 4 ซ้อนทับกับอีกหลายสาย เมื่อสายอื่นๆ ผ่านมาผู้โดยสารก็เปลี่ยนใจไปขึ้นคันอื่นแทน แถมยังมีรถสาย 4 ฟรีสไตล์ที่วิ่งวนรับคนไปเรื่อยๆ มากวาดคนตัดหน้าไปอีก ทำให้กลุ่มนี้ต้องกลับมาคิดทบทวนกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้แก้ปัญหานี้ได้

เวิร์กช็อปครั้งที่ 3

ครั้งสุดท้ายของการทดสอบ Prototype / 10 มีนาคม 2018

ครั้งนี้แม้จะมีจุดโฟกัสในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนตกลงว่าจะทดสอบร่วมกันทีเดียวแบบอลังการ ด้วยการเหมารถสองแถวสาย 4 ทั้งสาย ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ต่างคนต่างเก็บข้อมูลที่แต่ละกลุ่มต้องการให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

กลุ่มที่สนใจเรื่องการทำแอพพลิเคชั่นใช้วิธีการเดิมคือ ประจำจุดต้นทางปล่อยรถสองแถวที่ บขส.3 แล้วมีคนคอยสอบถามคนที่อยู่ประจำจุด จากนั้นใช้โปรแกรมติดตามจำนวนคน เพื่อให้รถสองแถววิ่งไปรับผู้โดยสารได้อย่างมั่นใจว่ามีลูกค้ารออยู่แต่ละป้าย ส่วนกลุ่มที่จับเวลาในการเดินทางก็กระจายตัวกันไปเก็บข้อมูลแต่ละคัน กลุ่มที่ทำป้ายสัญลักษณ์ออกแบบป้ายแสดงข้อมูลเส้นทางรถสองแถว ซึ่งผลลัพธ์ทั้งหมดนี้จะนำไปแสดงในงาน TedxKhonKaen ในวันที่ 7 เมษายนนี้

ก่อนจากกันมูฟเวอร์แต่ละคนได้เล่าให้เราฟังว่าอะไรคือเหตุผลที่พวกเขาสละเวลาวันหยุดสุดสัปดาห์มาตากแดดเก็บข้อมูลเพื่อช่วยให้คนอื่นเดินทางได้สะดวกขึ้น มุ่งหวังให้คนขับรถสองแถวมีชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน เพื่อให้ขอนแก่นเป็นเมืองในแบบที่พวกเขาอยากใช้ชีวิตอยู่จริงๆ หรือต่อให้ไม่ได้เป็นคนขอนแก่น หลายคนก็ยอมลงทุนนั่งเครื่องบิน ตีตั๋วรถทัวร์ข้ามจังหวัดมาร่วมกิจกรรมนี้ ด้วยความหวังว่าจะนำเครื่องมือบางอย่าง วิธีการบางแบบไปปรับใช้กับบ้านของตัวเองได้บ้าง และนี่คือ 3 คนจากมูฟเวอร์กว่า 30 คน ที่มาช่วยกันสร้างคอมมูนิตี้ของคนตัวเล็ก ๆ ที่อยากเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้น

“เราติดตามเมล์เดย์มาก่อนหน้านี้แล้ว เคยคิดเล่นๆ ว่าถ้ามีกิจกรรมแบบนี้ในขอนแก่นบ้างคงจะดี พอมีโครงการสองแถวขอนแก่นก็เลยอยากมาลองเข้าร่วมดู ครั้งนี้เราได้รับรู้อีกหลายมุมมองจากหลายคนที่มาทำงานร่วมกัน ได้เรียนรู้ว่ากับบางปัญหา คนอื่นไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาเลยด้วยซ้ำ ทำให้เราเข้าใจว่า เราคิดเอาเองไม่ได้ ต้องไปคุยกับคนจริง ๆ เพราะนี่คือเรื่องของสาธารณะ ยังมีคนอื่นที่เกี่ยวข้องอยู่เต็มไปหมด การลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่จริง ก็ทำให้เราได้รู้ว่าบางอย่างเราไม่อาจแก้ไขมันได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนอื่นประกอบกันด้วย”

องุ่น-พิชยา โพธิปัสสา ดีไซเนอร์และ Account Executive

“เราอยากมาเจอประสบการณ์ใหม่ เจอเพื่อนใหม่ เจอคนต่างอาชีพ ได้พาตัวเองออกมาจากคอมฟอร์ตโซนบ้าง ประกอบกับการที่เราทำงานด้าน service design ใช้ design thinking ทุกวัน แต่ยังไม่เคยเอามาแก้ปัญหาที่คิดจากบริบทสังคมแบบนี้มาก่อน พอได้มาลงสนามจริง มันทำให้เราเห็นความสำคัญของระบบขนส่งสาธารณะ เข้าใจความเชื่อมโยงในสังคมและเข้าใจอะไรบางอย่างในชีวิตมากขึ้นว่าสังคมมีอีกหลายมุม หลายมิติมาก เมื่อก่อนเราจะรู้สึกว่าการพัฒนาเมืองเป็นเรื่องของภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใหญ่กว่าตัวเรา แต่ความจริงแล้วคือหน้าที่ของเราทุกคน”

กี้-ภูวเดช เขม็งกิจ Experience Designer

“เราได้เห็นพัฒนาการของขอนแก่นมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน ประกอบกับทำงานด้านสื่อภาคพลเมือง สื่อสารประเด็นสาธารณะจากคนตัวเล็กตัวน้อย และกำลังตามข้อมูลเรื่องการพัฒนาเมืองของจังหวัดต่างๆ ตอนที่อ่านรายละเอียดโครงการเรารู้เลยว่าคนที่มาน่าจะเป็นคนขอนแก่น แต่พอมาเจอจริงๆ เกินคาดมาก เพราะมีคนที่นั่งเครื่องบินมาจากกรุงเทพฯ ภูเก็ต เพื่อร่วมเวิร์กช็อปนี้ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์โดยเฉพาะ ได้เห็นพลังของคนที่อยากจะทำอะไรดีๆ กันจริงจังมาก เช่น เขียนแอพพลิเคชั่นมาทดลองใช้จริงๆ ทั้งที่ต่างคนต่างมีภาระส่วนตัว บางคนทำงาน บางคนเรียน แต่ก็พยายามใช้เวลาที่ได้มาคิดร่วมกันทำร่วมกันให้ดีที่สุด”

เปีย-วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง ผู้สื่อข่าว

AUTHOR